– ๑ – เลี้ยงลูก

14 มิถุนายน 2543
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

พ่อ-แม่เลี้ยงลูกดี เหมือนตามลูกไปคุ้มครองโลก

ปุจฉาแทรก: ในครอบครัว พ่อ-แม่เลี้ยงลูกอย่างนี้ ก็มองเห็นหลัก แต่ระหว่างลูกๆ คุณธรรมระหว่างพี่น้องจะเกิดขึ้นอย่างไร

วิสัชนา: พรหมวิหาร ๔ เป็นหลักใหญ่ของชีวิตครอบครัว และครอบครัวนั้นเป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เป็นต้นแบบในการฝึกเด็ก นอกจากความสัมพันธ์กับพ่อแม่แล้ว เด็กจะได้รับการฝึกจากครอบครัวในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องด้วย โดยมีพ่อ-แม่ เป็นผู้นำ เริ่มตั้งแต่การนำในด้านความรู้สึก และทัศนคติที่ดีงาม

ลูกที่ยังเป็นเด็กๆ ที่เป็นหญิง-ชาย เป็นพี่-น้อง จะมีการสร้างความรู้สึกขึ้นแบบหนึ่ง คือ ความรู้สึกอย่างพี่อย่างน้อง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดีงาม มีเมตตา คอยช่วยเหลือกัน ความรู้สึกแบบนี้อยู่เหนือหรือข้ามพ้นความรู้สึกทางเพศ คือความเป็นพี่เป็นน้องนั้นเหมือนไม่มีเพศ เหมือนไม่มีความเป็นหญิงเป็นชาย ความรู้สึกอย่างพี่อย่างน้องนี้ จะมากลบหรืออย่างน้อยมาคานความรู้สึกทางเพศ ที่มองกันระหว่างหญิง-ชาย

เด็กที่อยู่ในครอบครัวในลักษณะนี้ จะชินกับความรู้สึกอย่างพี่อย่างน้อง ถ้ามีการปลูกฝังดี เวลาออกไปอยู่ในสังคมเด็กก็จะมีความรู้สึกแบบนี้เป็นพื้นฐานอยู่ในใจ เวลาพบปะมองเห็นผู้หญิงอื่น ผู้ชายอื่น ก็จะมีความรู้สึกส่วนหนึ่งที่นึกถึงความเป็นพี่สาว น้องสาว เป็นพี่ชาย น้องชาย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดุลกับความรู้สึกทางเพศได้

ทีนี้ ถ้าไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ติดมาจากการอบรมบ่มเพาะในครอบครัวแล้ว เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ก็จะมีความรู้สึกด้านเดียว คือความรู้สึกระหว่างหญิงชาย เพราะฉะนั้น เมื่อออกไปในสังคมก็มีทางที่จะเกิดปัญหาได้มาก คิดว่าปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องนี้มากด้วย คือ ความรู้สึกที่พัฒนาจากความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ ลูก และระหว่างพี่น้อง ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าความรู้สึกฉันพ่อแม่-ลูก และความรู้สึกมองกันอย่างพี่น้อง กำลังจะเลือนหายไป เพราะฉะนั้นเวลาออกไปอยู่ในสังคม ก็จะมีปัญหาอาชญากรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น เพราะการที่คนมองกันด้วยความรู้สึกแบบญาติพี่น้องไม่มีมาช่วยดุลหรือคานความรู้สึกที่หนักไปในด้านความรู้สึกทางเพศอย่างเดียว

ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เท่ากับว่าครอบครัวเป็นพื้นฐานของสังคมที่จะจูงสังคมไปในทางที่ดี เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนา จึงมีคำสอนที่ท่านสอนพระไว้ว่า ถ้าพบผู้หญิงวัยสูงหน่อยก็ให้มองเป็นเหมือนแม่ ถ้าพบผู้หญิงที่อายุมากกว่าหน่อยก็ให้มองเป็นพี่สาว ถ้าอายุน้อยกว่าก็ให้มองเป็นน้องสาว ตรงนี้ก็คือการนำความรู้สึกแบบญาติพี่น้องมาชักนำคุณธรรมซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีงาม ถ้าโดยพื้นฐานมีการอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวที่ดี ความรู้สึกนี้ก็จะมาช่วยอย่างเป็นธรรมดาไปเอง คือความสัมพันธ์แบบพี่น้องนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันที่เคยชินอยู่เป็นประจำ

ในวัฒนธรรมไทยที่ผ่านมาจะเห็นชัดว่า การเน้นความสัมพันธ์ด้วยความรู้สึกอย่างญาติพี่น้องนี้ได้แสดงออกในทางภาษา เวลาพบหญิงชายอื่นก็จะใช้คำทักทายเรียกกันอย่างญาติพี่น้องตามอายุวัยของเขา คนอื่นที่อายุมากก็เรียกว่า คุณตา คุณยาย หรือตาโน่น ยายนี่ คนที่อายุในระดับใกล้กับพ่อแม่ก็เรียกว่า ลุง ป้า น้า อา ถ้าอายุใกล้เคียงกับตัวเอง ก็เรียกพี่นั่น น้องนี่ ช่วยนำความรู้สึกอย่างพี่อย่างน้อง ขึ้นมาเหนือความรู้สึกอย่างหญิงอย่างชาย

แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมนี้กำลังจะเลือนหายไป ไม่ค่อยได้ยินเรียกกัน คงจะเป็นเพราะวัฒนธรรมตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำ ถ้ามองกว้างออกไปถึงระบบสังคมและการเมือง ก็คือจะหันเข้าหาประชาธิปไตยใต้อำนาจธุรกิจ ซึ่งเน้นเสรีภาพและความเสมอภาคแบบแก่งแย่งแบ่งแยก โดยละทิ้งหรือยอมสูญเสียภราดรภาพ แทนที่จะนำเอาภราดรภาพที่มีอยู่ค่อนข้างดีแต่เดิม มาเป็นฐานในการพัฒนาประชาธิปไตย

ในสังคมของเราสืบๆ มา ลูกใกล้ชิดแม่มาก อยู่กับแม่ตลอดเวลา พ่อยังห่างกว่า สำหรับผู้ชายที่มีความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจในพระคุณความรักของแม่อย่างลึกซึ้งแน่นแฟ้น อิทธิพลของความรู้สึกนี้จะมีความหมายสำคัญมาก เวลาพบผู้หญิงอื่นในที่ปลอดเปลี่ยว ใจของเขาจะประหวัดไปถึงแม่ หรือภาพของแม่จะปรากฏขึ้นในใจ พร้อมทั้งความรู้สึกดีงามต่างๆ ที่พ่วงอยู่กับความสัมพันธ์กับแม่ ตลอดจนคำพูดจาสั่งสอนของท่าน ความรู้สึกนี้ก็เลยมากลบหรือมากั้นความรู้สึกอย่างหญิงอย่างชาย หรือความรู้สึกทางเพศ ทำให้จิตใจโน้มไปในทางที่จะปฏิบัติต่อผู้หญิงอื่นนั้นด้วยเมตตากรุณา

ในสังคมที่ความสัมพันธ์แบบแม่ลูกเลือนลางลงไป และสื่อมวลชนเป็นต้นมีแต่กระตุ้นเร้าความรู้สึกทางเพศและความสัมพันธ์อย่างหญิงอย่างชาย ความรู้สึกแบบนี้ก็ย่อมจะครอบงำเป็นพื้นจิตใจของคนทั่วไปเป็นธรรมดา เวลาพบหญิงอื่นชายอื่น ก็จะมีแต่การมองกันด้วยความรู้สึกในเชิงทางเพศ

ซ้ำร้ายอาจจะถึงกับย้อนกลับในทางตรงข้าม คือเมื่อสังคมบ่มเพาะคนแทนครอบครัว และเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่-ลูก และระหว่างพี่น้องน้อยลง ความรู้สึกเชิงคุณธรรมระหว่างพ่อแม่-ลูก และความรู้สึกมองกันอย่างพี่อย่างน้องก็จะเลือนลางจางหาย การมองกันด้วยความรู้สึกทางเพศ อย่างหญิงอย่างชาย ก็อาจจะเข้าไปแสดงบทบาทแม้แต่ในครอบครัว ระหว่างพี่ชายน้องหญิง และแม้กระทั่งระหว่างพ่อกับลูกสาว เมื่อถึงตอนนี้ สังคมก็จะแตกสลายลงไปถึงขั้นรากฐาน หมายความว่า อารยธรรมจะสูญเสียคุณสมบัติที่เป็นลักษณะพิเศษของสังคมมนุษย์ ที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตวโลกอย่างอื่น

ปุจฉา: ปัจจุบันนี้ในแต่ละครอบครัวจะมีลูกกันน้อย จะอบรมเลี้ยงดูกันอย่างไร เพราะว่าเมื่อออกไปสู่สังคมเขาจะปรับตัวอย่างไร เป็นไปได้ไหมว่าอาจจะมีปัญหาในการปรับตัวได้ค่ะ

วิสัชนา: เป็นไปได้อยู่ ตอนนี้พ่อแม่ควรจะหาทางชดเชย หรือแก้ปัญหา โดยให้ลูกของพี่ น้อง แทนที่จะเป็นลูกในครอบครัวเดียวกัน ก็เป็นลูกของ พี่ ป้า น้า อา คือลูกพี่ ลูกน้อง ให้มีการพบปะสังสรรค์ มีกิจกรรม เช่นการเล่นเป็นต้นด้วยกันบ่อยๆ ให้มีความสัมพันธ์กัน คุ้นเคยกันตั้งแต่เด็ก สร้างความรู้สึกเป็นพี่น้อง

ความรู้สึกดังกล่าวมีความสำคัญมากในการที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของสังคม ที่คนจะมองคนอื่นไปด้านเดียวในทางความรู้สึกระหว่างเพศ การมองเป็นพี่น้องนั้น ก็อย่างที่บอกแล้วว่า อยู่เหนือความเป็นหญิงเป็นชาย เหมือนไม่มีเพศ และแถมด้วยมีความรู้สึกในทางคุณธรรม เช่น มีเมตตา กรุณา มีความปรารถนาดีต่อกันต่างๆ ซึ่งจะมาช่วยแก้ไขปัญหาทางอารมณ์ความรู้สึกที่จะดึงไปในทางอาชญากรรม

ปุจฉา: ท่านอาจารย์มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องก็ควรมีพื้นฐานจากเมตตาพรหมวิหาร

วิสัชนา: ก็อย่างเดียวกัน คือ พ่อแม่เป็นผู้นำ เพราะความรู้สึกระหว่างพี่น้องจะเกิดจากพ่อแม่เป็นผู้นำเริ่มต้นให้ พอเกิดมาก็มีพ่อแม่คอยบอกว่า นี่น้องนะ หนูต้องรัก ช่วยเลี้ยงดู ไหนอุ้มซิ ความรู้สึกนี้จะค่อยๆ เป็นไปเอง ครอบครัวจึงเป็นรากฐานที่ดีของสังคม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (นำเรื่อง)– ๒ – ดูแลครอบครัว >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.