– ๑ – เลี้ยงลูก

14 มิถุนายน 2543
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

พ่อ-แม่เดี๋ยวนี้ดีแต่เลี้ยง แต่ไม่ได้ดู

ปุจฉา: ในสภาพสังคมตอนนี้ ที่มีความก้าวร้าว ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ทราบว่าประเด็นอยู่ตรงนี้ด้วยหรือเปล่าคะ ที่พ่อ-แม่ละเลยบทบาทตรงนี้ไป

วิสัชนา: แน่นอนเลย เพราะว่าพ่อ-แม่เดี๋ยวนี้มักจะได้แต่เลี้ยง แต่ไม่ได้ดู การเลี้ยงก็มีความหมายแค่เป็นการบำรุงบำเรอ นึกว่าตัวเองขาดความสัมพันธ์กับลูก ก็พยายามเอาวัตถุ เอาเงินทอง มาให้ แต่ไม่ได้ดูแลเขาเลย ไม่ได้ทำหน้าที่พ่อ-แม่หรอก กลายเป็นปัญหาซับซ้อนอีกประการหนึ่ง คือพ่อแม่เป็นผู้ทำให้เด็กได้รับการหนุนในแง่ค่านิยมบริโภค เพราะว่าพ่อ-แม่คอยเอาอกเอาใจ หาเงินทองสิ่งเสพบริโภคมาให้ เด็กก็ได้แต่มีความสุขจากการบริโภค พ่อ-แม่ก็แสดงความรักลูกด้วยการให้วัตถุ แทนที่จะฝึกอบรมเด็ก ให้เด็กก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาตนเองในการเรียนรู้และความดีงาม

การอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว จึงเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ซึ่งมีเรื่องที่จะต้องพูดมากมาย แม้แต่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่กับลูก ในบทบาทที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พ่อ-แม่เป็นผู้แสดงโลกแก่ลูก ความหมายตรงนี้ลึกซึ้งมาก เราจะต้องยกขึ้นมาย้ำเน้นและปฏิบัติกันให้จริงจัง

“แสดงโลกนี้แก่ลูก” เริ่มต้นก็คือ เด็กจะได้เห็นโลก เห็นธรรมชาติ เห็นผู้คนในโลกว่ามีอะไร เป็นอย่างไร แต่ไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้รับรู้ว่ามีอะไร

คนเรามองเห็นสิ่งต่างๆ มิใช่เห็นพรึบเดียวทั้งหมด แต่จะเห็นเพียงบางอย่าง บางแง่ และการที่จะมองเห็นในส่วนไหนแง่ไหน และในความหมายอย่างใด ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชี้นำ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ตัวอย่างง่ายๆ เมื่อไปพบเห็นกระรอกตัวหนึ่ง ในหมู่ไม้

หลายคน มองด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นสัตว์ตัวน้อยๆ มีรูปร่างและการเคลื่อนไหวที่แคล่วคล่องว่องไว น่ารักน่าชม อยู่ในบรรยากาศของธรรมชาติ ดูแล้วจิตใจก็สดใส เบิกบาน มีความสุข

บางคน มองด้วยความรู้สึกว่าเจออาหารอันโอชะ จ้องแต่กระรอก ไม่เห็นธรรมชาติ คิดแต่ว่า ทำอย่างไรจะจับมันได้ จะเอาไปลงหม้อแกงเป็นกับข้าว หรือเอาไปปิ้งไปย่างกินแกล้มเหล้า

คนหนึ่ง เจอกระรอก ก็คันไม้คันมือขึ้นมาทันที มองเห็นภาพกระรอกกำลังดิ้นตายล่วงหน้า กะเอามันเป็นเป้า จะเอาไม้ขว้าง หรือเอาหนังสติ๊กยิง แม้กระทั่งเอาปืนส่อง ลองฝีมือว่าแม่นแค่ไหน

อีกคนหนึ่ง มองดูมันด้วยท่าทีของนักหาความรู้ว่า กระรอกเป็นสัตว์ประเภทใด อยู่แถบไหนมาก มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

เด็กๆ จะเริ่มต้นมอง รู้สึก และมีท่าทีอย่างไหน มักจะเป็นไปตามการชักนำ เมื่อเริ่มต้นอย่างไร ต่อไปก็จะเคยชินอย่างนั้น

พ่อแม่เป็นผู้แสดงโลกแก่ลูกเพราะลูกจะพบกับพ่อแม่ก่อนใครอื่น พอลูกเกิดมา พ่อแม่ก็มีบทบาทนี้ทันที เริ่มตั้งแต่แสดงโลกแก่ลูกด้วยตัวของพ่อ-แม่เองเลยทีเดียว

พ่อแม่เป็นเพื่อนมนุษย์คู่แรกในโลกที่ลูกได้รู้จัก พ่อเป็นตัวแทนของผู้ชายทั้งหมด แม่เป็นตัวแทนของผู้หญิงทั้งโลก

ทีนี้ พอพบผู้ชาย-ผู้หญิงที่เป็นตัวแทนของคนทั้งโลก ก็เป็นคนที่มีความรัก มีเมตตา จึงเป็นการเริ่มต้นด้วยการสร้างความรู้สึกที่ดี นี่คือตัวแทนของมนุษย์ในโลก ซึ่งมีความสัมพันธ์ด้วยความรู้สึกที่ดีงามต่อกัน มิใช่มาพบกันก็จะฆ่าฟันห้ำหั่นกัน ตอนนี้ความรู้สึกเริ่มแรกที่เจอกันก็คือได้เจอมนุษย์ที่ดีก่อน ได้เห็นมนุษย์ที่มีคุณธรรม มีเมตตา มาเป็นตัวแทนของมนุษย์ เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดี พร้อมจะเป็นมิตรกับคนทั้งหลาย

ต่อจากนั้นก็เจอกับพี่น้อง พ่อแม่ก็จะถ่ายผ่านความรู้สึกให้พี่น้องมีความรักต่อกัน พอไปเจอเพื่อนมนุษย์ ความรู้สึกฉันญาติก็จะนำมาก่อน อย่างน้อยก็มาดุล ไม่ให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ไม่ใช่เป็นศัตรูกัน

นอกจากนั้น สิ่งทั้งหลายที่พ่อแม่จะแสดงต่อลูก ก็จะเป็นไปแม้โดยไม่รู้ตัวด้วยความรู้สึกรักโดยธรรมชาติ ทำให้แสดงสิ่งที่เป็นประโยชน์ และให้เห็นแง่ที่ดี แง่ที่จะใช้ประโยชน์ต่างๆ แล้วพ่อแม่ก็จะชักนำไปให้มองดูคนอื่น ด้วยความรู้สึกที่ดีงาม ด้วยความรัก มีเมตตา เช่นเมื่อได้พบเพื่อนมนุษย์อย่าง ลุง ป้า น้า อา เพื่อนของพ่อ-แม่เป็นต้น ก็จะมีการแนะนำให้รู้จัก โดยพ่วงมากับท่าทีอาการและความรู้สึกที่ดี มีความรู้สึก และทัศนคติที่งดงาม เมื่อพบเห็นสิ่งทั้งหลายก็แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้ได้เรียนรู้ รู้จักเอาไว้ ให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันไปในเชิงบวก อาจจะมีการสอดแทรกบ้างว่า พ่อแม่ก็มีการโกรธบ้างเหมือนกัน แต่ควรจะเป็นไปอย่างมีเหตุผล นี่เป็นลักษณะของบทบาทในการแสดงโลกนี้แก่ลูก

แต่ปัจจุบันนี้พ่อแม่กำลังเสียบทบาทนี้ให้กับสื่อ ให้แก่ ทีวี วิดีโอ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนตเข้ามาแทน ขณะนี้น่าเป็นห่วง อย่างที่เคยใช้คำว่า เวลานี้ พ่อ-แม่ถูกยึดครองดินแดนไปเสีย หมายความว่า ครอบครัวเคยเป็นดินแดนที่พ่อแม่ ดูแล เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้ที่นำลูก แต่เวลานี้พ่อแม่สูญเสียอำนาจปกครองนี้ไป โดยที่ว่าบ้านและครอบครัวได้ถูกสื่อ เช่นทีวี และวิดีโอเข้ามายึดครอง มาทำหน้าที่แทนพ่อแม่ ในการแสดงหรือนำเสนอโลกแก่ลูก

สื่อปัจจุบันมักแสดงโลกนี้อย่างไร ก็ให้ดูให้เห็นการยิงกัน ฆ่ากัน แย่งชิงกัน ความโหดร้าย ล้างแค้น ความหยาบคาย ความยั่วยวน ความมัวเมา การแสดงโลกแก่ลูกของพ่อแม่สูญเสียไป เด็กยุคปัจจุบันจึงได้ ทีวี วิดีโอเป็นผู้แสดงโลกแก่เขา แต่มักเป็นการแสดงสิ่งเลวร้าย ท่าทีของจิตใจที่มุ่งจะเอาชนะ กำราบ พิชิตเขา ทำลายเขา ตรงข้ามกับท่าทีของพ่อแม่แทบทั้งหมด ดังนั้นพื้นฐานทางจิตใจของเด็กตั้งแต่ในครอบครัวก็จะโน้มไปในทางร้ายหรือเสียหาย แล้วเราจะหวังให้สังคมอยู่ดีได้ยากยิ่งถ้าไม่รีบแก้ไข

การแสดงโลกแก่ลูก ที่พ่อแม่เป็นผู้นำและชี้บอกนั้น โดยทั่วไปจะทำให้เด็กพัฒนาความรู้สึก ท่าที ทัศนคติ ต่อโลก ต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ในทางที่ดี โดยเฉพาะ

• มองเพื่อนมนุษย์ด้วยท่าทีอย่างญาติมิตร มีไมตรี

• มองสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะธรรมชาติ ด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง เห็นความงาม ความสงบ ความประณีตละเอียดอ่อนลึกซึ้ง

• มองสิ่งทั้งหลายและเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความรู้สึกว่าน่ารู้ น่าศึกษา มีท่าทีของการสนองความใฝ่รู้ อยากศึกษา อยากค้นคว้า หาความจริงยิ่งขึ้นไป

• มองความสัมพันธ์ของตนเองกับโลกและสังคม ด้วยท่าทีของการที่จะออกไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ และแก้ปัญหา หรือพัฒนาทำให้ดียิ่งขึ้น

จำให้แม่นเลยว่า จะต้องสร้างท่าทีความรู้สึก หรือทัศนคติ ๔ อย่างนี้แก่ลูกให้ได้

พ่อแม่ชี้แนะนำทางโดยมีเมตตากรุณารักลูกอยู่แล้ว จึงทำให้เด็กเกิดทัศนคติและท่าทีแบบนี้ขึ้นมาได้โดยไม่ต้องรู้ตัว แต่ถ้าพ่อแม่ใช้ปัญญาในการชี้แนะนำเสนอด้วย คือใช้ทั้งเมตตา และปัญญา ก็จะได้ผลดีมากที่สุด

แต่สื่อต่างๆ ที่บุกรุกเข้ามายึดครองดินแดนของพ่อแม่ถึงในห้องกินห้องนอนของเด็กนั้น มักไม่มีทั้งเมตตาและปัญญา บางทีแฝงเอาความโลภเข้ามาจะล่อเด็กด้วย จึงมีโอกาสเต็มที่ที่จะชักนำให้เด็กมีความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ท่าที ที่ตรงข้ามกับที่พูดข้างต้น เช่นมองเพื่อนมนุษย์ด้วยท่าทีเป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรู หรือหวาดระแวง มองโลกด้วยความรู้สึกว่า โหดร้าย น่ากลัว เป็นโลกแห่งความเห็นแก่ตัว เป็นแดนที่จะต้องออกไปห้ำหั่นแย่งชิงกัน ต้องไปเอามาเพื่อตัวเองให้มากที่สุด หรือเป็นที่ไปแสวงหาความสำเริงสำราญ สนุกสนานมัวเมา ฯลฯ ซึ่งไม่มีผลที่ต้องการในการศึกษาเลย

ดังนั้นจึงต้องพยายามให้พ่อแม่ยังคงมีความสามารถที่จะครองดินแดนในครอบครัวไว้ และยังสามารถทำหน้าที่แสดงโลกนี้แก่ลูก โดยใช้ท่าทีหรือบรรยากาศแห่งพรหมวิหาร ๔ ในการสร้างคุณภาพชีวิตแก่ลูกๆ และการฝึกในเรื่องอื่นๆ เช่นที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็กโดยตรง เพื่อให้เขาสามารถเป็นที่พึ่งของตนเองได้ และเป็นส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ของสังคมเมื่อเขาเติบโตขึ้น ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ พ่อแม่จะเป็นผู้นำ

ต่อมาเด็กต้องศึกษาเอง บางทีพ่อแม่ก็ไม่ได้เอาใจใส่ ได้แต่เน้นในแง่ของการเลี้ยง ด้วยการเอาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สิ่งเสพบริโภคมาบำรุง ให้เด็กมีกินมีใช้ ได้เสพบริโภค แล้วจะได้มีความสุขและเจริญเติบโตขึ้นไป บางทีพ่อแม่มองว่าตนเองมีหน้าที่แค่นี้

ความจริงแล้ว การเลี้ยงควรมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น เลี้ยง หมายความว่า อะไรที่ตั้งตัวยังไม่ได้ เราก็ช่วยประคับประคองจนกว่าจะตั้งตัวอยู่ได้ เราต้องเลี้ยงเด็กเพื่อช่วยให้เขาอยู่ได้ด้วยตนเอง พอเขาอยู่ด้วยตนเองได้ เราก็หมดหน้าที่เลี้ยง

เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ก็ต้องนึกว่าเด็กจะตั้งตัวอยู่ได้อย่างไร เราต้องทำอะไรบ้าง นอกจากการให้อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ปัจจัยสี่ หรือเครื่องกิน เครื่องเล่น เครื่องใช้ ซึ่งเป็นเพียงสภาพแวดล้อมที่เอื้อเกื้อกูลภายนอก เพื่อเกื้อหนุนให้เขาได้สั่งสมโอกาสและปัจจัยเอื้อที่จะเตรียมตัวให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง แต่การจะอยู่ได้ด้วยตนเอง รับผิดชอบตนเองได้ ก็คือเขาต้องเรียน เพราะฉะนั้น การเลี้ยง คือการช่วยจัดสรรโอกาสให้เด็กได้เรียน จึงต้องพูดว่า เลี้ยง คู่กับ เรียน พ่อแม่ต้องจำไว้เสมอ เลี้ยงก็เพื่อช่วยเกื้อหนุนให้เด็กได้เรียน

ถ้าพ่อแม่บอกว่าการเลี้ยงคือการนำอาหาร วัตถุ ของกิน ของใช้ ของเล่น มาบำรุงเด็กให้มีความสุข สนุกสนาน ถ้ามองอย่างนั้นก็เป็นอันว่าจบกัน เพราะการทำอย่างนั้นไม่ใช่การเลี้ยง แต่เป็นการบำเรอ ดังนั้นจึงต้องมองความหมายของสิ่งที่นำมาให้ คือวัตถุต่างๆ เป็นเพียงเครื่องเกื้อหนุนในกระบวนการพัฒนาของเด็ก ซึ่งตัวแท้ตัวจริงของการเลี้ยงอยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะเป็นการจัดสรรโอกาสและปัจจัยเกื้อหนุนเพื่อให้เด็กได้เรียน นี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าพ่อแม่ที่รู้เข้าใจอย่างนี้จะไม่หยุดอยู่แค่การนำวัตถุมาให้เด็ก แต่จะคอยดูว่าเราจะจัดสรรอย่างไร เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เรียนหรือฝึกตนเองขึ้นไป จึงต้องใช้คำว่าเลี้ยงคู่กับเรียน มิใช่แค่เลียน มิฉะนั้นเมื่อพ่อแม่เลี้ยงไป แต่ลูกได้แค่เลียน

ถ้าเด็กดำเนินชีวิตถูกทาง เด็กจะเรียน โดยพ่อแม่ที่ฉลาดช่วยเกื้อหนุน จัดสรรโอกาสให้เด็กได้เรียน ซึ่งก็คือได้ฝึกหรือได้ศึกษานั่นเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (นำเรื่อง)– ๒ – ดูแลครอบครัว >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.