- (นำเรื่อง)
- – ๑ – เลี้ยงลูก
- – ๒ – ดูแลครอบครัว
- สรุป
ถ้าเลี้ยงลูกถูกทาง ความสุขของลูกจะต้องพัฒนา
ปุจฉาแทรก: ที่ว่าเลี้ยงคู่กับเรียน หรือเลี้ยงเพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนนั้น เด็กยังไม่ได้ไปโรงเรียน ในครอบครัว เด็กเรียนอย่างไร
วิสัชนา: เด็กเรียนตั้งแต่เริ่มชีวิตของเขานั่นแหละ
เมื่อเด็กเรียน ก็คือ เริ่มต้นด้วย
๑. เรียนจากการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเขา และ
๒. เรียนจากการกิน ใช้ บริโภค ในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นการศึกษาในพุทธศาสนาจึงเริ่มที่นี่ก่อน คือเริ่มที่การใช้ตา หู จมูก ลิ้น ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน แล้วก็เรื่องกินอยู่ พูดสั้นๆ ว่า เรียนด้วยการฝึกพฤติกรรมในการใช้ตาดู หูฟัง ฯลฯ และพฤติกรรมในการกินใช้บริโภค แต่การฝึกในเรื่องพฤติกรรมนี้ ก็เป็นการฝึกจิตใจ และฝึกปัญญาไปด้วยกัน พร้อมกัน นี่คือกระบวนการที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งในขั้นนี้ทั้งสามอย่างนั้นจะแสดงออกมาทางพฤติกรรมที่เรียกว่าศีล
เริ่มจากการกิน ก็ค่อยๆ หัดให้เด็กเริ่มรู้จักคิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป รู้จักถามเขาว่า ที่เรากินนี้ คิดดูซิ กินเพื่ออะไร มิฉะนั้นเด็กจะเคยชินกับความรู้สึกและท่าทีการมองว่า อร่อย ไม่อร่อย เท่านั้น ซึ่งจะไม่ได้อะไรขึ้นมา ที่จริงนั้น การกินไม่ได้จบที่ความอร่อยใช่ไหม แต่การกินเป็นความต้องการของชีวิต คือร่างกายจะอยู่ได้ ต้องมีการกินอาหาร ตรงนี้หมายถึง กินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงดีต่างหาก แล้วเราจะได้เอาร่างกายที่ดีแข็งแรงนี้ไปทำประโยชน์อะไรก็ได้ คือไปดำเนินชีวิตให้ดี ตกลงว่า กินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
อ้อ ถ้าอย่างนั้นควรกินอย่างไร จึงจะตอบสนองความต้องการของร่างกายให้ถูกต้อง เมื่อจะให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี ก็ต้องกินอาหารที่ร่างกายต้องการ จะกินมากน้อยเพียงใด ตอนนี้จะมีคำตอบ แต่ถ้ากินเพื่ออร่อยหรือเพื่อโก้เก๋แล้วจะไม่มีคำตอบ ไม่มีที่สิ้นสุด กินแค่ไหน ใช้เงินเท่าไร ก็ไม่พอ
ถ้ากินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็มีคำตอบ หนึ่ง กินแค่ไหน ตอบได้ สอง ควรกินอาหารประเภทใด กินอะไร ตอบได้หมด แล้วก็จะเกิดความพอดี แล้วการกินอาหารแบบนี้ก็ไม่สิ้นเปลืองด้วย ใช้เงินไม่มาก แต่ถ้ากินแบบอร่อย โก้เก๋ สนุกสนาน ใช้เงินเท่าไรก็ไม่พอ ไม่จบเลย
สรุปว่า กินสิ่งที่และเท่าที่ร่างกายต้องการ ไม่ใช่กินสิ่งที่และเท่าที่ตัวเราต้องการ
พอรู้จักกินหรือกินเป็นอย่างนี้ เด็กก็จะเริ่มมีสมดุล มิใช่กินเพียงเพื่ออร่อย เพื่อแสดงความฟุ่มเฟือย ซึ่งไม่ได้กินด้วยปัญญา เด็กจะเปลี่ยนมาเป็นการกินด้วยปัญญา มิใช่กินด้วยตัณหาและโมหะ ซึ่งจะเป็นการกินที่พอดี เพราะว่ากินแล้วตอบสนองความต้องการของชีวิตได้ แค่ไหน แค่นั้น ก็จะเป็นการสร้างนิสัยที่ดีงาม นี่คือการเรียนรู้ หรือการศึกษา
ด้วยเหตุนี้ในพุทธศาสนาจึงเริ่มฝึกตนด้วยการให้พิจารณาอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ว่าเรากิน เราใช้ เพื่ออะไร ตอบตัวเองให้ได้ เสร็จแล้วพฤตินิสัยนี้ก็จะมาดุลกัน ทำให้เด็กไม่กินเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการโก้เก๋ ที่เป็นการฟุ้งเฟ้อ ถูกชักพาไปตามค่านิยม แต่มีความมั่นใจในตนเอง เพราะมีความจริงและมีปัญญารองรับ ซึ่งจะเป็นความมั่นใจที่แท้จริง
คนเราถ้ามีความมั่นใจด้วยปัญญา มองเห็นความจริง จะเกิดเป็นความมั่นใจที่แท้จริงและมั่นคง เมื่อเด็กมีความมั่นใจด้วยปัญญาเป็นฐานแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในกระแสโลกที่มีค่านิยมอะไรก็ตามมาชักพา เด็กก็จะไม่หวั่นไหวไปตามกระแส การศึกษาที่แท้อย่างนี้ต้องเริ่มที่ครอบครัว ทางพระเรียกว่าเป็นศีล ขั้นต้น
อีกด้านหนึ่ง คือ การใช้ตาดู หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้มรสทางลิ้น สัมผัสทางกาย ทางพระเรียกว่า การใช้อินทรีย์ ซึ่งจะทำหน้าที่ ๒ ด้าน
ด้านหนึ่ง คือ ด้านรับความรู้สึก ว่าสบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ เช่น เห็นสิ่งสวยงาม ก็สบายตา เห็นสิ่งไม่สวยงาม ก็ไม่สบายตา หรือขัดตา เคืองตา
อีกด้านหนึ่ง คือ ด้านรับความรู้ ทำหน้าที่รับรู้ข้อมูลว่า อันนี้เป็นสีเขียว สีแดง เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นปูน เป็นโบสถ์ ทำให้เกิดความรู้
คนเราที่เป็นอยู่นี้ก็คือ รับรู้โดยเห็นได้ยินเป็นต้นแล้ว ถ้ามีความรู้สึกสบายตา ก็จะชอบใจ ถ้ารู้สึกว่าไม่สบายตา ก็ไม่ชอบใจ จะหนี ไม่เอา ถ้ารู้สึกสบายถูกตาถูกใจ ก็ชอบก็เอา สุขทุกข์ก็อยู่ที่นี่ นี้เป็นด้านรับความรู้สึก
แต่พอใช้อินทรีย์ในการรับความรู้ ก็จะมีความคืบหน้าพัฒนาไปด้วย เพราะมีการเรียนรู้
เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กได้ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เรียกว่าอินทรีย์นี้ ไปทางด้านการรับความรู้ ให้เกิดปัญญา คือเป็นการเรียนรู้มากขึ้น มิใช่แค่เพียงเสพอารมณ์ทางตา หู เพียงเพื่อเสพรูปสวย เสียงเพราะเท่านั้น แต่ให้ได้ความรู้ คือศึกษาว่านี่คืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร เป็นเพราะอะไร มีเท่าไร ใช้ทำอะไร มีคุณมีโทษอย่างไร ฯลฯ
รวมความว่า เด็กใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเสพอย่างหนึ่ง และเพื่อศึกษาอย่างหนึ่ง
อย่างเด็กประถมมาที่วัด อาตมาเคยถามว่า “หนูดูทีวีวันละกี่ชั่วโมง” เด็กก็จะบอกว่า ดูเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง “ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ก็จะดูมาก อาจจะทั้งวันเลย”
ถามต่อไปว่า “ที่หนูดูทีวีนี้ ดูเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์” เด็กจะบอกว่า “ไม่เคยได้ยินเลย” แต่เด็กงงไม่นาน แล้วแกก็บอกว่า “ดูเพื่อเสพ ๙๙% ดูเพื่อศึกษาแทบไม่มีเลย”
“อย่างนั้นเชียวหรือ แต่ที่หนูทำนี่ถูกไหม” เราไม่ได้บงการ ไม่ได้ไปตัดสินเขา ให้เขาคิดเอง เด็กจะบอกว่า “ไม่ถูกหรอก” เขารู้อยู่
“ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรดี” เด็กก็บอกว่า “ต้องแก้ไข”
“หนูจะแก้อย่างไร” เด็กก็ว่า “จะเปลี่ยนเป็นเสพ ๕๐ ศึกษา ๕๐” ก็เลยบอกไปว่า “ไม่ต้องขนาดนั้นหรอก เห็นใจเด็ก สังคมนี้ผู้ใหญ่ทำตัวอย่างไว้ไม่ดี เพราะฉะนั้นหนูไม่ต้องรีบร้อน ยังเสพเยอะหน่อยก็ได้ แต่เพิ่มศึกษามากขึ้นบ้าง”
สุดท้าย เด็กบอกว่า “เสพ ๗๐ ศึกษา ๓๐” “เอานะ เริ่มจัดสัดส่วนแค่นี้ก่อน”
เด็กที่เริ่มคิดและตกลงปฏิบัติอย่างนี้ จะเริ่มก้าวหน้า เพราะจะมีการดูเพื่อศึกษา แล้วความสุขจากการศึกษาก็จะเกิดขึ้น
ความสุขของคนเรานี้อยู่ที่การได้สนองความต้องการ พอเรามีความต้องการอย่างหนึ่ง เมื่อได้สนองความต้องการนั้นเราก็จะมีความสุข ตอนนี้เด็กเคยชินอยู่กับความต้องการเสพ คือจะดู จะฟัง เพื่อสนองความต้องการสนุกสนานบันเทิงอย่างเดียว เขาก็จะมีความสุขจากการได้เล่นได้ดูฟังเสพสิ่งบันเทิง แต่พอเขาได้คุ้นกับการศึกษา ได้เรียนรู้ และเกิดความใฝ่รู้ หรืออยากรู้แล้ว เมื่อได้รับการตอบสนองความต้องการอยากรู้ เขาก็จะมีความสุขจากการเรียนรู้นั้น ตอนนี้แหละเด็กก็จะพัฒนา แต่ถ้าเป็นการตอบสนองความต้องการเสพหรือสนุกสนานบันเทิง วิถีของการรับรู้ก็จะดำเนินไปในด้านความรู้สึก คือ ได้เจอสิ่งที่ชอบใจก็จะมีความสุข ถ้าได้เจอกับสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ วนเวียนอยู่แค่นี้
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นการตอบสนองความต้องการใฝ่รู้ วิถีของการรับรู้และการเกิดความสุขก็จะเปลี่ยนไป เพราะการเรียนรู้ ไม่ขึ้นอยู่กับความชอบใจ หรือไม่ชอบใจ เจอสิ่งที่ชอบใจ เขาก็ได้เรียนรู้ เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ เขาก็ได้เรียนรู้ และเมื่อได้เรียนรู้ คือสนองความต้องการรู้ได้แล้ว เขาก็จะมีความสุข เพราะฉะนั้นเขาก็จะบรรลุความหลุดพ้นขั้นที่หนึ่ง คือ หลุดพ้นจากอำนาจกำหนดสุข-ทุกข์ของความชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่ทางพระเรียกว่า ยินดี-ยินร้าย หมายความว่า ความชอบใจหรือไม่ชอบใจจะไม่เป็นตัวกำหนดความสุข หรือความทุกข์ของเขา แต่การเรียนรู้หรือการได้ความรู้เป็นตัวกำหนดแทน และไม่ว่าสิ่งชอบใจหรือไม่ชอบใจ เขาก็ได้เรียนรู้ และมีความสุข เขาจึงมีความสุขได้ทุกสถานการณ์
พวกปุถุชนเต็มขั้น พบกับสิ่งที่สบายตา ก็ชอบ พบสิ่งที่ไม่สบายตา ก็ชัง แล้วสุขก็อยู่กับสิ่งที่ชอบ ทุกข์ก็อยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วเขาก็เข้าสู่กระบวนการวิ่งหาสุข ดิ้นรนหนีทุกข์ แต่พอเขาเริ่มเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่ขึ้นกับสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ สิ่งที่ชอบก็ได้เรียนรู้ สิ่งที่ไม่ชอบก็ได้เรียนรู้ ทีนี้พอเขามีความสุขจากการเรียนรู้ สิ่งที่ชอบเขาก็ได้เรียนรู้ เขาก็มีความสุข สิ่งไม่ชอบเขาก็ได้เรียนรู้ เขาก็มีความสุข เขาจึงสามารถมีความสุขแม้แต่จากสิ่งที่ไม่ชอบ ตอนนี้ก็คือการพัฒนา ก็เป็นอันว่าหลุดจากการวนเวียนอยู่ในความสุขความทุกข์ ที่ถูกกำหนดด้วยความชอบใจและไม่ชอบใจ กลายเป็นว่าเขาสามารถมีความสุขทุกสถานการณ์ เพราะว่าการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานการณ์
ยิ่งกว่านั้น ต่อมาเขาจะมองเห็นเพิ่มขึ้นอีกว่า สิ่งที่เขาไม่ชอบ หรือสิ่งใดเป็นปัญหา เขามักจะได้เรียนรู้จากสิ่งนั้นมาก สิ่งที่ยาก เขาก็จะได้เรียนรู้มาก ได้ศึกษามาก ถึงตอนนี้ก็จะกลายเป็นว่าเด็กสามารถชอบสิ่งที่ไม่ชอบ ชอบสิ่งที่ยาก ชอบปัญหา และสามารถมีความสุขจากสิ่งที่ไม่ชอบ จากสิ่งที่ยาก หรือจากปัญหาเหล่านั้นได้ด้วย ตอนนี้เด็กจะเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งทางจิตใจและทางปัญญา ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาเด็กถึงขั้นนี้ คือให้เด็กมีความสามารถที่จะมีความสุขจากการเรียนรู้ หรือจากการสนองความใฝ่รู้ เด็กจะไม่สามารถก้าวไปสู่การศึกษาได้เลย ทีนี้การศึกษาในปัจจุบัน ไม่ได้จับจุดนี้ เพราะฉะนั้น การศึกษาจะเดินหน้าไปได้ยาก เพราะเราไม่ได้ฝึกคนให้ศึกษา หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า เพราะคนยังไม่พัฒนาขึ้นสู่การศึกษา
No Comments
Comments are closed.