– ๑ – เลี้ยงลูก

14 มิถุนายน 2543
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

สุขจากเสพ-สุขจากศึกษา-สุขจากสร้างสรรค์
ต้องพัฒนาความสุขให้ครบ ๓ ขั้น

ปุจฉา: พอท่านได้กล่าวถึงประเด็นนี้ มีข้อน่าคิดประการหนึ่งว่า ปัจจุบันนี้เราสอนนักเรียนสอนไปเพื่อทำมาหากิน สอนว่าต้องเรียนอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพที่ดูดี หารายได้ได้ดี เพราะฉะนั้นถ้าเป็นลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการพัฒนา

วิสัชนา: ไม่ได้เป็นการศึกษาด้วยซ้ำ คือ การศึกษาที่แท้ยังไม่ได้เริ่มเลย อาตมาเคยพูดในที่ประชุมว่า “การศึกษายังไม่ได้เริ่มต้น เพราะว่าการศึกษาเริ่มต้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่แหละ ด้วยการมีท่าทีในการรับรู้ที่ถูกต้อง” แต่ตอนนี้เด็กยังอยู่แค่ในขั้นของการใช้อินทรีย์เพื่อรับความรู้สึก และไม่ได้รับการชักนำให้มีความคิดในเชิงการศึกษาที่อยากเรียนรู้ ที่จะใช้อินทรีย์เพื่อการรับความรู้ และไม่ก้าวต่อไปสู่ขั้นของการอยากจะทำให้ดี

การอยากเรียนรู้ กับการอยากทำให้มันดีนี้ ต่อเนื่องกัน คือพอได้เรียนรู้ เขาจะสังเกตได้เองว่าสิ่งนั้นอยู่ในภาวะที่มันควรจะเป็นหรือไม่ แล้วทำให้เขาคิดว่าสิ่งนี้ควรจะเป็นอย่างไร สิ่งนี้ไม่ควรเป็นอย่างนี้ ควรจะแก้ไข ถึงตอนนี้ ความต้องการพื้นฐานทางการศึกษา ๒ อย่าง จะเข้ามาประจำอยู่ในใจ คือ

หนึ่ง อยากรู้ อยากเรียน อยากฝึกฝนตนเอง

สอง อยากทำสิ่งที่ยังไม่ถูกต้อง ที่บกพร่อง ให้มันดี

ความปรารถนาหรือความต้องการอย่างนี้ เป็นกุศล คือความอยากที่เป็นกุศล พูดสั้นๆ ว่า ความอยากรู้ และอยากทำให้มันดี เมื่อเด็กยังไม่ได้พัฒนาความอยากหรือความต้องการ ๒ อย่างนี้ เขาก็มีแต่เพียงความต้องการเสพ และความสุขจากการเสพ ความสุขจากการกระทำไม่มี คนเราจะพัฒนาได้ต้องมีความปรารถนาจะรู้ และอยากทำให้ดี ถึงตอนนี้ความสุขจะมีแหล่งใหญ่มาจากการกระทำ

เด็กปัจจุบันถ้าให้การศึกษาที่ผิด (คือไม่ได้ศึกษา) ก็จะมีความสุขทางเดียวจากการเสพ เขาไม่ต้องการทำ และถ้าให้ทำก็จะเป็นทุกข์ กลายเป็นว่า ถ้าจะมีความสุขก็คือ สุขที่ไม่ต้องกระทำ หรือต้องการได้รับการปรนเปรอโดยมีคนอื่นทำให้ เขาจึงจะมีความสุข ถ้าอย่างนี้ตัวเองก็พัฒนาไม่ได้ สังคมก็จม

ถ้ามีการศึกษาที่ถูกต้องแล้ว เด็กจะหลุดพ้นจากการใฝ่เสพ ขึ้นมาสู่การใฝ่ศึกษา แล้วจะมีความสุขจากการได้เรียนรู้ ถ้าเด็กพัฒนาขึ้นมาสู่การศึกษาอย่างนี้ ชีวิตในครอบครัวก็จะมีปัญหาน้อยลง เด็กจะไม่เรียกร้องมาก เพราะว่าพ่อแม่จะคอยหนุนให้เด็กคิดแล้วถามว่าอยากทำอะไร มากกว่าถามว่า อยากได้อะไร

เวลานี้เด็กมักจะคอยบอกแต่ว่า อยากได้โน่น อยากได้นี่ ถ้าพ่อแม่เอาแต่ถามว่าอยากได้อะไร แล้วไปหาเอามาให้ เด็กก็จะเพิ่มพูนนิสัยใฝ่เสพให้มากยิ่งขึ้น จะมีการเรียกร้องมากขึ้น ให้เท่าไรก็ไม่พอ ถ้าให้ไม่พอ เขาหาความสุขในบ้านไม่ได้ เขาก็ไปหาความสุขนอกบ้าน ไปมั่วสุมหายาเสพติด แต่ถ้าเด็กเข้าสู่การศึกษา มีความสุขจากการเรียนรู้และจากการได้กระทำ พ่อ-แม่ ก็จะเพียงคอยดูว่า เด็กอยากจะทำอะไร และจะทำอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น แล้วคอยเกื้อหนุน เด็กก็จะพัฒนา และปัญหาในครอบครัวจะก็น้อยลง เพราะเด็กแต่ละคนมีเรื่องที่ตัวเองต้องทำ บรรยากาศก็จะดีขึ้นเอง แต่ถ้าพ่อ-แม่คิดแต่จะบำรุงบำเรอลูก ก็ไม่รู้จักจบ เด็กก็จะมีการจ้องเพ่ง แข่งขันกัน และระแวงว่าคนอื่นจะได้มากกว่า แก่งแย่ง เกี่ยงงอน ไม่เป็นสุข ความรู้สึกสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องก็ไม่ดี

เพราะฉะนั้นจะต้องช่วยเด็กในการฝึกตัวให้เข้าสู่การศึกษาให้ได้ การศึกษาในครอบครัวจะเป็นพื้นฐานได้แท้จริง ถูกต้องตามหลักความจริงของธรรมชาติ และจะเกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ บรรยากาศแห่งการศึกษาเกิดขึ้นมาในบ้าน ก็จะเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นความสุขของมนุษย์ มิใช่สุขอยู่แค่เสพตามธรรมชาติของสัตวโลกที่ยังไม่พัฒนา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (นำเรื่อง)– ๒ – ดูแลครอบครัว >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.