– ๑ – เลี้ยงลูก

14 มิถุนายน 2543
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

ปลุกเร้าคุณธรรมและชักนำปัญญา

ปุจฉา: วิธีการคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม จะนำมาปฏิบัติในครอบครัวอย่างไร

วิสัชนา: การคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม ก็คือการมองสิ่งต่างๆ ในทางที่จะให้เกิดผลดีงาม หรือเป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มต้นในครอบครัว อย่างในการศึกษาของเด็ก เช่น พ่อ แม่ ไปกับลูก ขับรถไป เห็นเด็กแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าขาด สกปรก ตอนนี้ลูกมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัว เขาจะมีท่าทีจิตใจมองในแง่ใด มีความรู้สึกต่อภาพที่ปรากฏนั้นอย่างไร พ่อ แม่ จะชักนำได้ ไม่ว่าจะในทางที่เป็นการเร้ากุศลหรือเร้าอกุศล เช่น พ่อแม่บอกว่า เด็กคนนั้นน่าเกลียด สกปรก อย่าดูมัน ก็เป็นการเร้าอกุศล

แต่ถ้าพ่อแม่พูดไปในทำนองที่ว่า น่าเห็นใจเขานะ บ้านเมืองยังมีความยากจนอย่างนี้ เขาเกิดมาไม่มีเสื้อผ้าใช้ เมื่อเรามีโอกาส เราต้องช่วยกันนะ เอาเสื้อผ้าไปช่วยให้เขาได้ใส่บ้าง จะได้อยู่ดีมีสุข อย่างนี้เป็นการปลุกเร้ากุศล

พ่อแม่มีอิทธิพลในเรื่องนี้มาก เวลาไปห้างสรรพสินค้า ซื้อของ ต้องคิดว่าจะพูดอย่างไร ให้ลูกมีท่าทีมองสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ถ้าพ่อแม่พาลูกไปห้างสรรพสินค้า ไม่ได้ใช้ความคิด ก็ไม่สามารถชักนำโยนิโสมนสิการให้แก่เด็กได้ ไม่เป็นกัลยาณมิตร อาจจะกลายเป็นปาปมิตรไป คือมิตรที่ไม่ดี

ถ้าเป็นกัลยาณมิตรก็จะชี้แนะ พอลูกเห็นอะไรสะดุดตา สีแดง สีเขียว ฉูดฉาด ก็จะวิ่งรี่เข้าไป ตรงนี้ถ้าพ่อแม่กระตุ้นผิดทาง ก็จะบอกได้แค่ว่าอันนี้ไม่สวย อันนั้นสวยกว่า เอาอันนั้นดีกว่า อันนี้อย่าไปเอาเลย ฯลฯ แต่ถ้ามีโยนิโสมนสิการ ก็จะกระตุ้นในแง่ที่ว่า ของนี้คืออะไร ทำด้วยอะไร มาจากไหน ใช้ทำอะไร มีแง่ดี แง่เสียอย่างไร ควรจะใช้ประโยชน์อย่างไร ถ้าลูกเป็นคนทำ จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เป็นการให้ความรู้และปลุกเร้าฉันทะไปด้วย เด็กก็จะเกิดความใฝ่รู้ และสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ถ้าได้มากกว่านั้น เด็กอาจจะเกิดความคิดที่จะทำหรือประดิษฐ์ขึ้นบ้าง ไม่ใช่ติดอยู่กับความชอบใจ ไม่ชอบใจ สีสวย ไม่สวย แล้วจบ ซึ่งจะไม่เกิดปัญญา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (นำเรื่อง)– ๒ – ดูแลครอบครัว >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7

No Comments

Comments are closed.