- (นำเรื่อง)
- – ๑ – เลี้ยงลูก
- – ๒ – ดูแลครอบครัว
- สรุป
ประเมินการพัฒนาให้ครบ ๔ ด้าน
ปุจฉา: ตามที่ท่านอธิบายมานี้ ถ้าเราทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ต้องอบรมเลี้ยงดูลูก แล้วจะมีเกณฑ์การพิจารณาอย่างไรว่า ลูกของเราเข้มแข็งพอที่จะไปเผชิญกับสังคมภายนอก ในทางธรรมจะมีเกณฑ์การประเมินอย่างไรว่าเด็กมีความเข้มแข็งพอ สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
วิสัชนา: ดูที่การพัฒนา ๔ ด้าน คือ
๑. การพัฒนาด้านกาย นอกจากดูสุขภาพทางกายแล้ว ก็พิจารณาดูที่ความสัมพันธ์กับวัตถุ สิ่งเสพบริโภค ว่าเขาพัฒนาหรือยัง เช่นดูว่าเขารู้จักกิน ใช้ วัตถุเป็นไหม อย่างเช่น การรับประทานอาหาร ก็ดูว่าเขารู้จักกินเพื่อวัตถุประสงค์ที่แท้ คือ เพื่อบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่ใช่เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย โก้เก๋ ฟุ้งเฟ้อ อวดฐานะ อย่างนี้ แสดงว่าเขามีการพัฒนาซึ่งรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ด้วย สังเกตในการดู การฟัง ว่ารู้จักดู รู้จักฟัง ดูเป็นไหม ดูได้ประโยชน์ไหม รู้จักศึกษาจากประสบการณ์ต่างๆ ไหม หรือว่าดูสิ่งต่างๆ แล้วตกเป็นทาส หมกมุ่น มัวเมา อย่างนี้เป็นการพัฒนาทางกาย
๒. การพัฒนาด้านศีล ก็ดูการพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ดูความสัมพันธ์กับพี่น้อง ดูความสัมพันธ์กับเพื่อน เช่น รู้จักคบเพื่อนไหม ปฏิบัติหน้าที่ต่อเพื่อนได้ดีไหม เมื่อสัมพันธ์กับผู้คน มีท่าที ทัศนคติ ถูกต้องไหม การพูดจาเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในทางสังคมอย่างไร รู้จักสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลไหม นี่เป็นการพัฒนาทางสังคม
๓. การพัฒนาด้านจิตใจ ดูว่ามีคุณธรรมความดี มีเมตตากรุณา เจอสัตว์ทั้งหลายทุกข์ยากเจ็บป่วยอยากจะช่วยเหลือมันไหม มีน้ำใจต่อคนอื่นไหม มีความกตัญญูไหม ฯลฯ แล้วก็ดูสมรรถภาพของจิตใจ ว่ามีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม มีความรับผิดชอบ มีสติรักษาตัวไหม มีสมาธิแน่วแน่ในกิจที่จะกระทำหรือเปล่า พร้อมทั้งพิจารณาด้านความสุขทางจิตใจ ว่ามีความสดชื่น เบิกบาน ผ่องใส ไม่เครียด ไม่หม่นหมอง ไม่ขุ่นมัว
๔. การพัฒนาด้านปัญญา ดูว่าสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง สามารถมองสิ่งต่างๆ โดยไม่ยึดติดกับความชอบ ชัง ยินดี ยินร้ายเท่านั้น แต่มองสิ่งต่างๆ โดยรู้จักศึกษา มองหาความรู้ สืบค้นความจริง รู้จักแก้ปัญหา รู้จักวิเคราะห์วิจัย มองโลกอย่างไร มีทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร มีทิฏฐิแนวคิดอย่างไร
ก็วัดเอาทั้ง ๔ ด้าน ถ้าใช้ได้ ก็ไปได้
ปุจฉา: การแสดงออกหรือการกระทำต่างๆ ในลักษณะการพัฒนา จะขึ้นอยู่กับอายุไหมคะ
วิสัชนา: ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ อายุเกี่ยวข้องเฉพาะในแง่ที่เป็นวัยหรือขอบเขตของการเจริญเติบโต และกาลเวลาในการสะสมประสบการณ์ แต่ตัวการพัฒนาเองขึ้นอยู่กับอาการแสดงออก ลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้ง ๔ ด้านว่ามีระดับการพัฒนาเป็นอย่างไร
ปุจฉา: ดิฉันมองว่าปัจจุบันเราประเมินคน ไม่ได้ประเมินในลักษณะการพัฒนาทางกาย ศีล จิตใจ ปัญญา แต่เราไปดูกันที่วุฒิบัตร ประเมินฐานะทางเศรษฐกิจ ดูที่ตัวเลขของทรัพย์สิน หรือรายได้ บุคคลนี้เป็นผู้ที่รวยที่สุดของประเทศ การนำเสนอในลักษณะนี้ แสดงถึงสังคมกำลังแสดงโลกในทางที่ผิดใช่ไหมคะ
วิสัชนา: สังคมให้ภาพที่เพี้ยนไปจากความเป็นจริง
ปุจฉา: การฝึกอบรมลูกๆ ให้เป็นผู้มีคุณสมบัติที่เป็นต้นทุนในตัว ซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัยทำให้พร้อมที่จะก้าวหน้าไปในการศึกษาพัฒนาชีวิตของตน ถ้าพูดให้สั้นๆ เพื่อจำง่าย ควรประกอบด้วยอะไรบ้างคะ
วิสัชนา: พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลูกๆ คือเด็กทั้งหลาย เป็นฐานรองรับมนุษยชาติ1 ลูกในครอบครัวคือเด็กในสังคม ถ้าจะให้สังคมมนุษย์มั่นคง มีอนาคต เด็กก็ควรได้รับการปลูกฝังคุณสมบัติที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือรุ่งอรุณของการศึกษา ๗ ประการ คือ
๑) แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี
๒) มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต
๓) มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์
๔) มุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้
๕) ยึดถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆ ตามเหตุและผล
๖) ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท
๗) ฉลาดคิดแยบคาย ให้ได้ประโยชน์และความจริง
No Comments
Comments are closed.