– ๑ – ไทยถือพุทธ ทำไมไม่เจริญ

23 เมษายน 2539
เป็นตอนที่ 1 จาก 4 ตอนของ

เรื่องที่คนไทยควรเข้าใจให้ถูก1

– ๑ –
ไทยถือพุทธ ทำไมไม่เจริญ

ฝรั่งเจริญเพราะอะไร

มีผู้ถามว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนาทำไมเมืองไทยจึงไม่พัฒนา อยู่ในสภาพอย่างนี้ แต่ฝรั่งนับถืออย่างอื่นกลับเจริญไปไกล

เรื่องนี้มีแง่พิจารณาหลายอย่าง ข้อสำคัญคือ หลักการใหญ่และลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนาไม่มีการบังคับศรัทธา การนับถือเป็นไปโดยเสรี ให้ใช้ปัญญาพิจารณา โดยไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อกำหนดตายตัวทั้งในด้านความเชื่อและการปฏิบัติ (อย่างที่ฝรั่งว่าพุทธศาสนาไม่มี dogma) คนจะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เพียงใดก็อยู่ที่การศึกษา หลักการและลักษณะนี้ ทำให้คนที่เรียกว่านับถือพระพุทธศาสนายังอาจจะอยู่ห่างไกลจากตัวจริงของพระพุทธศาสนามาก ระดับของคนที่นับถือก็ห่างกันได้มาก และชาวพุทธก็ยังอาจจะนับถืออะไรอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลมากยิ่งกว่าตัวพระพุทธศาสนาเอง เพราะฉะนั้น

ประการแรก ไม่ใช่ว่าคนไทยเราจะเข้าถึงแนวทางของพระพุทธศาสนากันทั้งหมดและทุกสมัย เราอาจจะพยายามเข้าถึงพุทธศาสนา และในบรรดาชาวไทยทั้งหมดนั้น บางส่วนอาจจะเข้าถึงบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึง ในบางยุคสมัยคนอาจเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนามากหน่อย แต่บางยุคสมัยก็อาจจะเหินห่างมาก โดยเฉพาะ

ประการที่สอง เพราะไม่บังคับความเชื่อนี่แหละ คนไทยจึงไม่ได้นับถือเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อาจจะนับถือลัทธิศาสนาอย่างอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ ไสยศาสตร์ และลัทธิผีสางเทวดา ลัทธิความเชื่อเหล่านั้น จึงเข้ามามีอิทธิพลด้วย บางอย่างก็ถึงกับก้าวล่วงล้ำเข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ และก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปอยู่ใต้อิทธิพล จึงไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นปัจจัยหลักที่ชักนำชะตากรรมของสังคมไทยอย่างแท้จริง เรียกว่าคนไทยยังอยู่ใต้อิทธิพลของแนวความคิดและความเชื่ออย่างอื่นอีกมาก มองในทางกลับกัน อาจจะพูดใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาช่วยมาได้แค่นี้ หรืออาจจะตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงช่วยมาได้เพียงแค่นี้ และ

ประการที่สาม ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางลัทธิศาสนาหรือความเชื่ออีก เช่นปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมเป็นต้น

สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ดีมีสุขท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแวดล้อม เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับปุถุชน หมายความว่า มนุษย์ปุถุชนจะดิ้นรนขวนขวายต่อเมื่อมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม ในแง่นี้จะเห็นได้ว่า ในอารยธรรมตะวันตกนั้น ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความเจริญก็คือการถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม กล่าวคือ ความขาดแคลนปัจจัยสี่และความบีบคั้นของภัยธรรมชาติ เช่นความหนาวเย็นที่รุนแรงถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่ได้แก้ไขป้องกันแล้ว ชีวิตจะอยู่ไม่ได้

สำหรับเมืองไทยเรานี้เราอาจจะผัดผ่อนได้ เช่นว่า เอ้อ.. บ้านเราฝาผุแตก แต่เรายังไม่มีเวลา ยังไม่ซ่อมนะ เอาไว้เดือนหน้า พอถึงเดือนหน้าเราก็ผัดต่อไปอีก เอาไว้อีกเดือนหนึ่ง เดือนหน้าจึงจะซ่อม แล้วก็เดือนหน้าๆๆ จนกระทั่งครบปีก็ยังไม่ได้ซ่อม แต่ในประเทศฝรั่ง จะผัดเพี้ยนไม่ได้เลย อีกสองเดือนฤดูหนาวจะมา เดือนหน้าถ้าไม่ซ่อมจะหนาวตาย

ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและความขาดแคลนเนื่องจากธรรมชาติที่ไม่อุดมสมบูรณ์นี้เป็นอันตรายที่บีบคั้น ทำให้เขาไม่ประมาท หรือมัวประมาทอยู่ไม่ได้ คือจำเป็นต้องไม่ประมาท ต่างจากของเราที่สุขสบายอุดมสมบูรณ์ ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ไม่พัฒนาพอ ปัจจัยตัวเอื้อต่างๆ จะนำไปสู่ความประมาท เช่น ทำให้นอนเสพเสวยความสุข และชอบผัดเพี้ยนเรื่อยไป เดี๋ยวก็ได้ เมื่อโน้นก็ได้ เมื่อนี้ก็ได้ นี่ก็คือลัทธิแห่งความประมาทนั่นเอง

ตรงนี้แหละที่อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ที่ทำหน้าที่สอนพระพุทธศาสนาจึงไม่ช่วยพัฒนาคนไทยให้พ้นจากลัทธิแห่งความประมาทนี้ไปได้

นอกจากนั้น ยังมีความบีบคั้นทางอื่นอีก โดยเฉพาะทางจิตใจ และทางปัญญา สังคมตะวันตกนั้นเป็นสังคมที่ผ่านประวัติแห่งการบีบคั้นทางปัญญามาอย่างมาก พวกเราก็เรียนประวัติศาสตร์กันมา อย่างในสมัยกลางของยุโรป ศาสนาคริสต์มีอำนาจครอบงำยุโรปทั้งทวีป โดยมีวาติกันเป็นศูนย์กลาง โป๊ป (Pope) ที่แปลว่าสันตะปาปา เป็นผู้สวมมงกุฏให้กษัตริย์ของประเทศทั้งหลายทั่วไปหมด ฉะนั้น ถ้ามีกษัตริย์องค์ไหนเกิดเรื่องขัดแย้งไม่เชื่อฟัง โป๊ปสามารถสั่งลงโทษ เช่น เมื่อปี ๑๖๑๙ (ค.ศ. 1076) โป๊ป เกรกอรี ที่ ๗ (Pope Gregory VII) สั่งลงโทษคว่ำบาตรพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ (Henry IV) กษัตริย์เยอรมันและเป็นจักรพรรดิโรมันด้วย พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ต้องเดินทางข้ามเทือกเขาแอลป์ (Alps) มาขอขมาโทษโป๊ป และต้องยืนพระบาทเปล่าหนาวสั่นและอดอาหารอยู่กลางหิมะ ๓ วัน โป๊ปจึงยกโทษให้

ในยุคนั้น คำสอนในศาสนาคริสต์ ใครจะเถียงไม่ได้ สงสัยไม่ได้ สงสัยพระเจ้าไม่ได้ ถ้าพูดขึ้นมาทำนองนี้นิดหน่อยก็ถูกจับขึ้นศาล ซึ่งทางองค์กรศาสนาคริสต์และบ้านเมืองได้ร่วมกันตั้งขึ้น เรียกว่า Inquisition แปลว่า ศาลไต่สวนศรัทธา ไม่ว่าจะสงสัยในองค์พระเจ้าหรือสงสัยคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิล (Bible) ก็จับขึ้นศาลได้เลย และถ้าไม่ละความเชื่อหรือความสงสัยนั้น ก็ถูกเผาทั้งเป็น ศาลนี้มีอยู่รวม ๖๐๐ ปี โดยเฉพาะในประเทศสเปน ช่วง ๑๑ ปีแรก คนถูกเผาตายราว ๒,๐๐๐ คน2

กาลิเลโอ (Galileo) นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญในประวัติศาสตร์ก็โดนด้วย เพราะเขาไปสอนเรื่องว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่พระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง เท่านี้แหละถือว่าขัดแย้งกับคำสอนในพระคัมภีร์ ถูกจับขึ้นศาลเลย แล้วก็ถูกตัดสินจะให้ดื่มยาพิษ แต่กาลิเลโอยอมบอกว่า ตัวเองหลงผิดไป ก็เลยรอด ได้รับการลดโทษลงมาเพียงให้ขังตัวอยู่แต่ในบ้านรวม ๘ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1633 จนตายเมื่อ ค.ศ. 1642

แต่ย้อนไปก่อนกาลิเลโอตาย ๔๒ ปี คือ ในปี 1600 นักปราชญ์ฝรั่งชื่อบรูโน (Bruno) ก็ถูกลงโทษด้วยความผิดคล้ายกัน คือ บรูโนมีความเห็นขัดแย้งกับความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก เขาสอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และสอนว่าเอกภพไม่มีที่สิ้นสุด บรูโนถูกจับขึ้นศาลไต่สวนศรัทธา (Inquisition) และถูกตัดสินให้ถอนความเห็น แต่เขาไม่ยอมสละความคิดของตน จึงถูกโป๊ปคลีเมนต์ที่ ๘ (Pope Clement VIII) พิพากษาว่าเป็นคนนอกรีต (heretic) และให้ประหารชีวิตด้วยการยัดปากและเผาทั้งเป็น

กรณีของกาลิเลโอและบรูโน ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ศาสนาคริสต์บีบคั้นปิดกั้นทำให้คนไม่สามารถใช้ความคิดเหตุผลสงสัยถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับความจริงของโลกและชีวิต แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์พวกหนึ่ง อย่างพวกกาลิเลโอนี้ ก็ยิ่งรวมตัวกันแสวงปัญญา ถกเถียงหาความรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา

รวมความว่า ในตะวันตกยุคก่อนโน้น การดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากการบีบคั้นทางความคิดความเชื่อ ทำให้เกิดการใฝ่แสวงปัญญา ต่างจากในสังคมของเราที่ไม่มีการบีบคั้นทางปัญญา เลยเกิดภาวะเรื่อยเปื่อย ใครจะคิดอย่างไร ใครจะสงสัยอะไร ก็ไม่ว่า ก็ปล่อย เลยขี้เกียจคิดขี้เกียจพูด พูดไปก็ไม่เห็นใครสนใจ มีคนมาฟังไม่กี่คน แต่ฝรั่งเขาไม่อย่างนั้น พอพูดแสดงความสงสัย เขาจับเลย กลายเป็นการกระตุ้นเร้าให้พวกที่อยากรู้ยิ่งอยากมาฟัง ยิ่งลักลอบทำเป็นการลับก็ยิ่งเอาจริงเอาจัง เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งแสวงปัญญากันจริงจังยาวนานจนกระทั่งเกิดเป็นนิสัยใฝ่รู้ขึ้น

จากการดิ้นรนให้พ้นจากการบีบคั้นทางปัญญานี่แหละ ในที่สุดก็มาผุดโพล่งออก เกิดเป็นยุคคืนชีพ (Renaissance) และตามมาด้วยยุคปฏิรูป (Reformation) การฟื้นฟูทางปัญญาจึงเกิดขึ้นในยุโรป เพราะการถูกบีบคั้น จึงทำให้ฝรั่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายอย่างรุนแรง ต่างจากของเราที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็อยู่กันมาเรื่อยๆ สบายๆ จนจะมีนิสัยผัดเพี้ยน ปล่อยปละละเลย เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา ตกอยู่ในความประมาท

พูดได้ว่า ถ้าเราไม่พัฒนาคนให้ดีพอ คือไม่สามารถทำให้คนอยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ ตามหลักของพระพุทธเจ้า สังคมไทยจะเจริญในทางสร้างสรรค์ได้ยาก เพราะเราไม่มีทั้งสภาพโหดร้ายรุนแรงของธรรมชาติ และไม่มีประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บีบคั้นทางปัญญา หรือการบังคับความเชื่ออย่างในเมืองฝรั่ง

ความไม่ประมาทที่แท้ ก็คือ การเร่งรัดแก้ไข ป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญด้วยสติปัญญา ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาคนให้อยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ คนก็จะตกไปอยู่ใต้อำนาจกิเลสของปุถุชน คือ ต้องมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคามจึงจะดิ้นรนขวนขวาย เมื่อไรสุขสบายประสบความสำเร็จก็จะนอนหรือนิ่งเฉยเฉื่อยชา และมัวเมาหลงเพลิดเพลินในความสุข แล้วก็จะผัดผ่อนอะไรต่างๆ ไปเรื่อยๆ ยิ่งเรามาใช้สันโดษในความหมายว่า พอใจในสิ่งที่มีอยู่ จะได้สบายมีความสุข ก็ไปกันได้ดีเลย นี้ก็คือลัทธิแห่งความประมาทนั่นเอง

จะต้องสอนย้ำกันว่า ถ้าผู้ใดสันโดษในกุศลธรรม ผู้นั้นก็เป็นคนประมาท พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้สันโดษในกุศลธรรม คือการสร้างสรรค์บำเพ็ญกิจกรณีย์สิ่งที่ดีงาม พระองค์สอนให้สันโดษในวัตถุสิ่งเสพเท่านั้น เพราะถ้าคนไม่สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ มัวแต่วุ่นวายหาความสุขมาบำรุงบำเรอตัวเอง เขาจะเอาเวลา แรงงาน และความคิดที่ไหนมาใส่ใจทำหน้าที่กิจการงานและสร้างสรรค์ความดีงาม แต่ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็มีเวลาแรงงานและความคิดเหลือเฟือที่จะเอาไปทุ่มอุทิศให้แก่การทำหน้าที่การงานและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ พร้อมกับไม่สันโดษในกุศลธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็จะเกิดความเจริญในทางสร้างสรรค์อย่างแน่นอน แต่นี่คนไทยอยู่สุขสบายแล้วยังแถมสันโดษในกุศลธรรมอีกด้วย ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ไม่เร่งรัดตัวเอง กลายเป็นคนปล่อยปละละเลย เฉื่อยชา

เป็นอันว่า สังคมตะวันตกนี่ดีอย่าง ที่เขามีตัวเร่งทำให้คนไม่ประมาท ทั้งโดยธรรมชาติแวดล้อมที่ทารุณ และโดยการบีบคั้นกันเองในหมู่มนุษย์ เข้าหลักที่ว่าคนถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคามจึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย

ถูกบีบจึงเร่งพัฒนา เรียกว่าไม่ประมาทอย่างเทียม

ยิ่งกว่านั้น ฝรั่งยังมีทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคามที่มนุษย์สร้างขึ้นเองซ้อนเข้าไปอีก จึงยิ่งทำให้เขาดิ้นรนขวนขวายสร้างสรรค์พัฒนาในความหมายแบบของเขามากยิ่งขึ้น อาจจะพูดได้ว่า ฝรั่งคุ้นเคยหรือชินมากับระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี้กระทั่งเขาพัฒนามันขึ้นมาเป็นวิถีชีวิตในสังคมของเขา หรือเป็นวัฒนธรรมของเขาเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่ผ่านมานี้เขาใช้ระบบแข่งขัน โดยเฉพาะคนอเมริกันนั้นถือการแข่งขัน (competition) เป็นหัวใจของการสร้างความเจริญ โดยที่เขาเชิดชูลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) ซึ่งแสดงออกมาเด่นทางด้านการแข่งขัน รวมทั้งวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน

การแข่งขันนี้ อเมริกันถือว่าขาดไม่ได้ในการสร้างความเจริญ แต่การแข่งขันนั้น มองในแง่ของธรรม ก็คือการที่คนมาบีบคั้นกันเองให้นิ่งเฉยเฉื่อยชาอยู่ไม่ได้ เพราะระบบแข่งขันนั้น คือลัทธิตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ ใครแข็งก็อยู่ ใครอ่อนก็ไป ถ้าใครไม่ดิ้นรนไม่ขวนขวาย คนนั้นก็ตาย ไม่มีใครช่วย ฉะนั้น ต้องพึ่งตัว ต้องดิ้นรนขวนขวายเอาเอง จึงเท่ากับมีภัยคุกคามทำให้ต้องดิ้นอยู่ตลอดเวลา เขาจึงสร้างสรรค์ความเจริญมาได้ ระบบแข่งขันก็ดีตรงนี้ คือดีสำหรับมนุษย์ที่ยังมีกิเลส ซึ่งไม่สามารถที่จะไม่ประมาทด้วยสติปัญญา จึงเรียกระบบแข่งขันนี้ว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าต้องการให้เราพัฒนาคนให้ไม่ประมาทด้วยสติปัญญา คือ โดยที่มีสติตามระลึกเท่าทัน ตื่นตัวต่อเหตุการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปที่จะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อพระศาสนา ก็ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย แต่จับเอามาตรวจมาดูว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว จะมีผลดี หรือผลร้าย ถ้าจะเป็นผลเสีย จะก่อให้เกิดความเสื่อม ก็รีบแก้ไขป้องกัน อันไหนจะทำให้เกิดความเจริญก็รีบจัดรีบทำ

สติทำหน้าที่ คอยระลึก คอยนึก คอยจับเอามาดูอยู่เรื่อย ปัญญาก็พิจารณาวิเคราะห์เรื่องราวและสืบสาวหาเหตุปัจจัย หาเหตุหาผล แล้วก็ทำไปตามเหตุปัจจัยนั้น โดยไม่ต้องรอให้มีทุกข์มาบีบคั้นหรือภัยมาคุกคาม ถ้าเราอยู่ได้อย่างนี้ เรียกว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท คือไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจึงมาเร่ง

แต่ทีนี้มนุษย์เราทั่วๆ ไป ทำได้ไหมถึงขนาดนี้ เท่าที่เห็นกันอยู่ โดยมากก็จะอยู่ในวงจรของปุถุชนที่ว่า พอมีสุข สำเร็จ ได้ดีแล้ว ก็นอนเสวยผล ลุ่มหลงเพลิดเพลิน มัวเมา เฉื่อยชา ผัดผ่อน พอถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายกันที ฉะนั้น มนุษย์ก็เลยหนีไม่พ้นจากวงจรของความเสื่อมและความเจริญ

พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักความไม่ประมาทไว้โดยทรงเน้นว่า เป็นหลักธรรมสำคัญที่สุด ทั้งเปรียบกับรอยเท้าช้าง และเป็นปัจฉิมวาจา จึงเป็นตัวคุมทั้งหมด

ปฏิบัติธรรมไปอย่างไรๆ ในที่สุดก็มาจนที่ตรงนี้ คือ หลักธรรมต่างๆ นั้นมีไว้มากมาย เพื่อช่วยคนให้พ้นความชั่ว มาสู่ความดี ท่านอุตส่าห์สอนธรรมมามากมายให้คนปฏิบัติจนพ้นจากความชั่วมาสู่ความดี แต่พอคนนั้นมาสู่ความดีแล้ว เจริญแล้ว สำเร็จแล้ว หรือมีความสุขแล้ว ก็มาตกหลุมแห่งความประมาทเสีย คือ ยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เลยหยุดเพียร พักผ่อน นอนเสวยผล กลายเป็นนิ่งเฉยเฉื่อยชา หรือนอนใจ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนความไม่ประมาทควบไว้อีกที เพื่อให้คนที่ปฏิบัติธรรม เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ดีแล้ว สุขแล้ว จะได้ไม่ตกหลุม จะได้ไม่เสื่อมลงอีก ท่านเอาความไม่ประมาทมารั้งท้าย คุมไว้อีกที ฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นธรรมสำคัญอย่างยิ่ง แต่มีปัญหาว่า มนุษย์จะพัฒนาไปถึงจุดนี้ได้หรือไม่

นี่คือบทพิสูจน์มนุษยชาติ ว่ามนุษย์เรานี้โดยส่วนรวมที่เรียกว่าสังคม จะสามารถพัฒนาไปถึงขั้นนี้ได้ไหม คือขั้นที่อยู่ได้ด้วยความไม่ประมาท สามารถสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมา แล้วรักษาความเจริญนั้นไว้ได้ และทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปโดยไม่เสื่อม ด้วยความไม่ประมาท หรือจะต้องตกอยู่ใต้วงจรของการที่ว่า ต้องถูกทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม จึงดิ้นรนขวนขวาย แล้วเมื่อประสบความสำเร็จ สุขแล้ว ดีแล้ว ก็หลงมัวเมาเพลิดเพลินผัดเพี้ยนมัวเสวยผล นอนใจ แล้วก็เสื่อมอีก เลยต้องใช้ระบบแข่งขันที่เป็นระบบกิเลสมาบีบคั้นแทน

เป็นอันว่า ฝรั่งใช้กิเลสของมนุษย์มาเป็นอุปกรณ์สร้างระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือการแข่งขันขึ้นมา แล้วการแข่งขันนั้นก็เป็นตัวเร่งตัวบีบคั้นให้ทุกคนดิ้นรนขวนขวายช่วยตัวเอง พร้อมกันนั้นก็ให้มีปัจจัยตัวอื่นในสังคมมนุษย์มาหนุนอีก เช่น การไม่ช่วยเหลือกัน การอยู่แบบตัวใครตัวมัน และเอาหลักการของสังคมตลอดจนกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ มาบีบมากำกับ ถ้าใครไม่ทำ กฎหมายกฎเกณฑ์กติกาจะบีบให้แย่เอง ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง ก็เลยต้องดิ้นรนขวนขวายตลอดเวลา

ฉะนั้น ในแง่นี้ ถ้าเราไม่สามารถสร้างความไม่ประมาทที่แท้ขึ้นมา คือ ไม่สามารถพัฒนาคนให้มีความไม่ประมาทที่แท้ได้ การใช้ระบบแข่งขันก็อาจจะดีกว่าที่จะปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ เพราะมันจะบีบเค้นให้คนไม่ประมาท แม้ว่าจะเป็นความไม่ประมาทอย่างเทียมด้วยแรงบีบก็ตาม ขอให้พิจารณาว่าระหว่างการบีบให้ดิ้น กับปล่อยให้ประมาท อย่างไหนจะดีกว่ากัน ขอให้เลือกว่าจะเอาอย่างไหน

ไทยสบายแล้วมัวประมาท
ฝรั่งขาดปัญญาก็เจริญไม่ตลอด

อย่างไรก็ตาม จะต้องรู้ตระหนักไว้ว่า ระบบแข่งขัน ที่อาศัยกิเลสมนุษย์ เป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้จริงนี้ มีผลเสียมาก เพราะมันเป็นระบบที่เอากิเลสของมนุษย์มาปลุกเร้า และเป็นไปเพื่อสนองกิเลส คือ ทุกคนดิ้นรนเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ดิ้นรนเร่งทำเพื่อให้ตัวรอด เพื่อให้ตัวอยู่ดี เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น จึงพยายามกอบโกยเอาเปรียบให้ได้มากที่สุด จึงต้องตั้งกติกากันขึ้น เพื่อจะมากีดกั้นป้องกันไม่ให้รุกล้ำสิทธิ์กัน

สังคมตะวันตกเป็นอย่างนี้ คือ ในแง่หนึ่งเขาสนับสนุนความเห็นแก่ตัว และพร้อมกันนั้นเขาก็สร้างกติกากฎหมายและหลักการต่างๆ ของสังคมขึ้นมาเพื่อป้องกันการรุกล้ำสิทธิ์กัน การพัฒนาในทิศทางนี้จึงได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน (human rights) ที่ตะวันตกเขาภูมิใจนักหนา สิทธิมนุษยชนเกิดมีขึ้นเพราะสังคมตะวันตกเป็นมาอย่างนี้ ทั้งนี้รวมทั้งกฎเกณฑ์กติกา และกฎหมายต่างๆ ซึ่งตะวันตกชำนาญมาก

แม้ว่าสังคมตะวันตกจะใช้ระบบแข่งขัน ซึ่งเป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามแบบประดิษฐ์ ของมนุษย์เอง มาเร่งรัดคนให้กระตือรือร้นขวนขวาย มีความไม่ประมาทชนิดเทียมแล้วสร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ แต่มันก็มีผลร้ายในเบื้องปลาย คือ ทำให้คนมุ่งที่จะเอาแต่ตัวเองรอด เพื่อความอยู่ดีมีความสุขสมบูรณ์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น และไม่คำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อม

ในที่สุด เมื่อแต่ละคนมุ่งหาประโยชน์ส่วนตน สังคมก็มากไปด้วยการเบียดเบียนกัน และธรรมชาติแวดล้อมก็เสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอ ฉะนั้น ระบบแข่งขันจึงไม่ปลอดภัย และโดยนัยนี้ ระบบที่ดีที่สุด จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นระบบแห่งความไม่ประมาทที่แท้ ซึ่งเป็นไปด้วยสติปัญญา

เมื่อเราใช้สติปัญญาแล้ว มันก็คลุมหมด ปิดช่องเสียไม่ให้มี มีแต่ส่วนที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราทำอย่างไรจะพัฒนาคนให้อยู่ด้วยธรรม คือความไม่ประมาทนี้ได้ และการพัฒนาคนให้ถึงขั้นที่อยู่ด้วยความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญานี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่

อย่างน้อยที่เห็นอยู่ คือ ในสังคมไทยนี่เอง ที่มีพระพุทธศาสนาซึ่งสอนหลักความไม่ประมาท แต่คนดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความประมาท และยิ่งกว่านั้น น่าสังเกตว่า เราไม่ค่อยสอนกันด้วยในเรื่องความไม่ประมาทนี้

ตามหลักความไม่ประมาท สิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ก็คือ

๑. ทำให้คนเจริญงอกงามอยู่ในความดีงาม มีความร่มเย็นเป็นสุข

๒. เมื่อดีงาม ร่มเย็นเป็นสุขแล้วให้ไม่ประมาท เร่งสร้างสรรค์เพื่อให้เจริญก้าวหน้าต่อไป โดยไม่ผัดเพี้ยน ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่เพลิดเพลินมัวเมาตกหลุมความประมาท

เมื่อสำรวจตรวจดูสภาพสังคม จุดอ่อนของสังคมไทยน่าจะได้แก่ความประมาท คนไทยเรานี้ประสบความสำเร็จพอสมควรในการดำรงอยู่ด้วยดี สังคมของเรามีความร่มเย็นเป็นสุข แต่แล้วก็เฉื่อยชาเพราะว่าไม่เอาหลักความไม่ประมาทมาใช้ คนไทยไม่ค่อยเห็นความสำคัญของหลักความไม่ประมาทเลย ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้นักหนา ไม่รู้กี่แห่ง

จะดูคนว่าพัฒนาหรือไม่ก็ดูได้ที่ความไม่ประมาทนี่แหละ ถ้าคนไหนสังคมใดทั้งที่สุขสบายก็ยังไม่ประมาท ก็แสดงว่าเป็นคนและเป็นสังคมที่พัฒนาจริง ส่วนคนหรือสังคมที่มีความทุกข์มีภัยแล้วไม่เฉื่อยชาประมาทนั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถูกกดถูกบีบจึงต้องดิ้น แต่คนที่สุขสบายแล้วยังขวนขวายสร้างสรรค์ ท่านจึงยอมรับว่า เป็นผู้ประเสริฐจริง

ความไม่ประมาทเป็นเหมือนกับรอยเท้าช้าง ธรรมทุกอย่างรวมลงได้ในความไม่ประมาททั้งหมด เหมือนรอยเท้าสัตว์บกทุกชนิดรวมลงได้ในรอยเท้าช้าง ธรรมทั้งหลายมากมายจะกี่อย่างก็ตาม ไม่ว่าเราจะเรียนจะรู้จะจำมาเท่าไร ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการปฏิบัติ แต่ในทางตรงข้าม ธรรมกี่อย่างก็ตาม แม้เรียนเพียงน้อยข้อ แต่ถ้าไม่ประมาทเสียอย่างเดียว มีกี่ข้อก็ได้รับการปฏิบัติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นความสำคัญของความไม่ประมาท

รวมความว่า ความไม่ประมาทเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษยชาติ ว่ามนุษย์จะไปรอดไหมโดยสังคมส่วนรวม

เป็นอันว่า ตอนนี้ ถ้าเทียบกันในแง่นี้ สังคมตะวันตกอยู่ด้วยความไม่ประมาทเทียมตามระบบแข่งขัน ที่ทำให้สร้างความเจริญทางวัตถุได้สำเร็จผลอย่างดี ส่วนสังคมไทยของเรา ได้ประสบความสำเร็จในความดีงามอยู่สุขสบายพอสมควร แต่ตกหลุมความประมาท อาจจะเป็นอย่างนี้ ขอตั้งสมมุติฐานหรือข้อสังเกตให้ไปพิจารณากัน

สรุปจุดเน้นตอนนี้ว่า เกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์คือ สำหรับมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา ต้องบีบเค้นจุดไฟลนจึงจะไม่ประมาท (ไม่ประมาทเทียม) สำหรับมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ใช้สติปัญญาเร่งรัดตัวเองได้ จึงไม่ประมาท (ไม่ประมาทแท้)

เวลานี้ฝรั่ง โดยเฉพาะอเมริกัน ก็ยังหาทางออกไม่ได้ เขายังไม่เห็นต้นตอของปัญหา หรือยังไม่เห็นโทษภัยแห่งฐานความคิดความเชื่อของตนด้วยซ้ำ เขายังคิดว่า ระบบแข่งขัน (competition) เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความเจริญ ตอนนี้สังคมอเมริกันเสื่อมลง เขาก็บอกว่า เป็นเพราะอเมริกันสูญเสียความพร้อมและความสามารถในการแข่งขัน แสดงว่าอเมริกันนี่ยังคิดอยู่ในแง่ของตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถือว่าตนประสบความสำเร็จมาด้วยการแข่งขัน

เวลานี้ พอตัวเองเสื่อมลง ก็มองได้แค่ว่าเป็นเพราะคนของตนสูญเสีย competitiveness คือความพร้อมที่จะแข่งขัน หรือคุณสมบัติในการแข่งขัน หมายความว่า คนอเมริกันในยุคปัจจุบัน ไม่มีคุณสมบัติในการแข่งขัน เช่น ขาดจริยธรรมการทำงาน (work ethic) ขาดสันโดษ ไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นคนสำรวยหยิบโหย่ง เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่าเราจะต้องแก้ไขกู้ฐานะความเป็นผู้นำ และความยิ่งใหญ่กลับมา ด้วยการที่จะต้องทำให้คนอเมริกันกลับมีความพร้อมที่จะแข่งขัน (competitiveness) ก็ได้แค่นี้แหละ วนเวียนอยู่แค่การถือว่าตนจะฟื้นตัวได้ก็ต้องให้แข่งขัน (competition) เก่ง

ที่จริง สาระความเจริญของอเมริกาก็อยู่ที่ว่าในอดีตตัวเองถูกบีบคั้นคุกคามมาทุกด้าน ทั้งด้านธรรมชาติที่ทารุณขาดแคลน ทั้งด้านชีวิตแห่งการบุกฝ่าพรมแดน รวมทั้งสงครามกับอินเดียนแดง ทั้งด้านวิถีชีวิตในสังคมแห่งการแข่งขัน รวมทั้งลัทธิตัวใครตัวมัน (ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเก่าแก่ คือความบีบคั้นด้านศาสนา) ก็จึงดิ้นรนขวนขวายขยันสู้ แต่เวลานี้สังคมอเมริกันได้รับผลของความขยันหมั่นเพียรเปลี่ยนเป็นพรั่งพร้อมสุขสบาย ก็เลยเข้าวงจรปุถุชนที่ว่าพอสุขสบายก็ฟุ้งเฟ้อมัวเมาเริ่มจะเฉื่อยชาประมาท คนอเมริกันก็ได้แต่หวังให้การแข่งขันมาบีบเร่งคนของตัวต่อไปอีก

ในเวทีโลกเวลานี้จะเห็นได้ชัดว่า มีคำว่าแข่งขันนี้ใช้ทั่วไปหมด โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เวลานี้ถือกันว่าโลกเป็นเวทีของการแข่งขัน ประเทศชาติต่างๆ ก็คิดถึงแต่การที่จะแข่งขันกัน เมืองไทยเราก็พลอยรับเอาลัทธินี้เข้ามาด้วย และพูดกันเกร่อถึงการพยายามแข่งขันให้สู้เขาได้ เมื่อมองในแง่นี้ก็เป็นการเอาแต่ตัวของแต่ละประเทศ

แต่ในการแก้ปัญหาของโลก ระบบการแข่งขันแบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ มีแต่จะทำให้โลกพินาศ เพราะในที่สุด มันจะกลับมาซ้ำเติมปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด เช่นทำให้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมแก้ไม่ได้ เพราะว่าเมื่อต่างคนต่างแข่งขันหาผลประโยชน์ หรือว่าต่างคนต่างคิดแบ่งแยกกัน มันก็แก้ไม่ได้ มนุษย์จึงมาถึงจุดติดตัน

ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้มองเห็นปัญหาโทษภัยของแนวความคิดบางอย่าง แต่เขาก็หนีไม่พ้นจากแนวความคิดนั้นเองอีกด้านหนึ่งที่มองไม่เห็น เหมือนอย่างอเมริกันที่มองเห็นว่า ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติผิด แต่ก็มองไม่ออกว่าจะหาทางออกอื่นได้อย่างไร ก็ต้องมาใช้วิธีการสร้างความเจริญด้วยการแข่งขัน (competition) อีก ซึ่งก็อยู่ในลัทธิเดียวกัน คือการหาผลประโยชน์ด้วยการทำลายธรรมชาติ ก็วนไปวนมา เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าติดตัน

พระพุทธศาสนานี้มีคำตอบให้อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างจริยธรรมก็เช่นเดียวกัน จริยธรรมตะวันตกที่พูดเมื่อกี้ ก็มาติดตันที่จริยธรรมแห่งการจำใจ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้ามนุษย์จะสุขที่สุด ธรรมชาติต้องพินาศ และมนุษย์ก็พินาศด้วย แต่ถ้ายอมให้ธรรมชาติอยู่ มนุษย์ก็ไม่สามารถสุขที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องประนีประนอมด้วยการยอมให้ธรรมชาติอยู่ได้โดยมนุษย์ยอมอดยอมขาดความสุขบ้าง ซึ่งก็คือจะต้องอยู่ด้วยความจำใจ เพราะฉะนั้น เวลานี้แม้เขาจะให้ความสำคัญแก่จริยธรรม แต่ก็ได้แค่จริยธรรมแห่งความจำใจด้วยการประนีประนอม

เมื่อขัดแย้ง จำใจ จึงเจริญได้ไม่ยั่งยืน
พระพุทธศาสนาบอกทางออกให้

จากภูมิหลังในประวัติศาสร์ จริยธรรมตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบเทวบัญชา แล้วต่อมาก็เป็นจริยธรรมที่ถือว่ามนุษย์ปรุงแต่งสมมุติกันขึ้นเอง ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ครั้นถึงปัจจุบันนี้เมื่อมาประสบปัญหาทางจิตใจและทางสังคม ก็เริ่มเห็นความสำคัญของจริยธรรมขึ้นมาอีก แต่ก็ยังไม่มากนัก จนกระทั่งมาประสบปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเข้า ฝรั่งจึงได้หวนกลับไปให้ความสำคัญแก่จริยธรรมอย่างเต็มที่

เวลานี้ จริยธรรม คือ ethics จึงได้กลับมามีความสำคัญมากในสังคมตะวันตก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้เกิดมีจริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) ซึ่งก็เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจอยู่นั่นเอง เช่นบอกว่า มนุษย์ต้องมี restraint (ตรงกับ สังวร หรือ สัญญมะ) คือ ต้องมีการควบคุมยับยั้งตนเองในการที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติ โดยไม่เอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ตามใจชอบ เป็นต้น

ในเวลาเดียวกัน จริยธรรมก็ฟื้นฟู เฟื่องขึ้น ในด้านอื่นๆ ทางฝ่ายสังคมด้วย อย่างในมหาวิทยาลัยต่างๆ เวลานี้ก็มีการกลับมาศึกษาจริยธรรม เช่นมีจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไรจะดำเนินธุรกิจโดยไม่ส่งผลให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อม เพราะการแข่งขันกันมากในทางธุรกิจ จะทำให้ทุกคนต่างก็หาผลประโยชน์ แล้วก็ลงท้ายด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฉะนั้น จริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) จึงมีอิทธิพลออกไปจนถึงวงการทางสังคม ทำให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยเกิดมีจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ขึ้นด้วย จริยธรรมก็กลับฟื้นฟูมีความสำคัญขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อจริยธรรมของตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบจำใจ ฝืนใจ มันก็ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่มีหลักประกัน เพราะเมื่อมนุษย์ฝืนใจก็ทุกข์ จึงคอยหาทางเลี่ยงจริยธรรมแบบที่ว่าตลอดเวลา ฉะนั้น จึงบอกว่าติดตันไม่มีทางออก

ส่วนจริยธรรมของพระพุทธศาสนานั้น ไม่เป็นจริยธรรมแห่งการประนีประนอม ไม่ใช่จริยธรรมแบบที่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องยอมเสียบ้าง เพื่อต่างก็ได้บ้างด้วยกัน แต่เป็นจริยธรรมที่ต่างก็ประสานประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งในที่สุดจะทำให้องค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วนในอารยธรรมของมนุษยชาติอยู่ร่วมกันและเจริญงอกงามไปด้วยกันได้ด้วยดี คือ

๑. ชีวิตมนุษย์

๒. สังคม และ

๓. สิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ องค์ประกอบทั้งสามตกอยู่ในกระบวนการพัฒนาของมนุษย์ ที่เรียกว่า unsustainable คือเป็นวิธีการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของทั้งสามอย่างขัดแย้งกันไปหมด คือ ถ้าบุคคลได้ สังคมก็สูญเสีย ถ้าจะให้สังคมได้ บุคคลต้องยอมสละ ดังนั้น เพื่อบุคคล สังคมต้องยอมเสีย หรือเพื่อสังคม บุคคลต้องยอมเสีย ต่อมาระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ได้ ธรรมชาติก็สูญเสีย ถ้าธรรมชาติได้ มนุษย์ก็สูญเสีย ขัดกันหมด ระบบนี้จึงนำมาซึ่งจริยธรรมแบบจำใจ

ที่นี้ในทางพุทธศาสนานั้น เราบอกว่า คนนี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาคนแล้ว ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคนจะเปลี่ยนไป พอคนเปลี่ยนไปแล้ว เราจะทำให้สามอย่างนี้มาประสานประโยชน์กัน จนกระทั่งกลายเป็นว่า บุคคลได้ ก็ดีแก่สังคมด้วย สังคมได้ ก็ดีแก่บุคคลด้วย มนุษย์ได้ ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ธรรมชาติได้ ก็ดีแก่มนุษย์ด้วย การพัฒนาจะต้องมาถึงจุดนี้ จึงจะเป็น sustainable ที่แปลกันว่ายั่งยืน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามนุษย์จะทำได้ไหม

ถ้ามองในแง่ของปรัชญาตะวันตกตอนนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) นั้นเห็นว่าไม่มีทาง ตันหมด เพราะแนวคิดของเขาแฝงความขัดแย้งไว้ตลอดหมดทั้งสาย และมาลงที่จริยธรรมแห่งความจำใจ ซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดที่เริ่มตั้งแต่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติ แล้วจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ เพื่อเอามาสนองความต้องการของตนที่จะเสพให้มากที่สุด เพื่อจะได้สุขมากที่สุด

แนวคิดของตะวันตกนั้นต่างจากแนวคิดของพุทธ ซึ่งสอนว่า จะต้องประสาน ให้สิ่งที่ดีแก่บุคคล ก็ดีแก่สังคมด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่สังคม ก็ดีแก่บุคคลด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่ธรรมชาติ ก็ดีแก่มนุษย์ด้วย ถ้าถึงจุดนี้ได้ องค์ประกอบทั้งสามก็ประสานประโยชน์กันได้ และกลายเป็นเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ก็แก้ปัญหามนุษย์ได้ นี่คือความสำเร็จของอารยธรรม อันนี้แหละ เป็นบทสุดท้ายที่จะพิสูจน์ว่าการพัฒนามนุษย์จะทำได้แค่ไหน เป็นจุดสุดยอด เราไม่ไปยุ่งกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยซ้ำ

เอาเป็นว่า จุดศูนย์รวมทั้งหมดในการแก้ปัญหาของมนุษยชาตินี้ เราบอกว่าพระพุทธศาสนามีคำตอบให้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป– ๒ – ใช้ธรรมเพื่อก้าวไป ไม่ใช่เพื่อนอนสบาย >>

เชิงอรรถ

  1. แยกคัดมาเรียบเรียงจากตอนหนึ่งใน “พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่” (จัดทำไว้ตามคำอาราธนาของคุณนพพร บุณยประสิทธิ์ ณ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๙)
  2. ดู ตอบจดหมายใน ภาคผนวก ท้ายเล่ม

No Comments

Comments are closed.