– ๒ – วินัยสื่อธรรม

24 มิถุนายน 2537
เป็นตอนที่ 2 จาก 3 ตอนของ

– ๒ –
วินัยสื่อธรรม

จะรู้จักพระพุทธศาสนาจริง ต้องดูทั้งธรรมและวินัย

การมองพระพุทธศาสนานี้ต้องมองให้ครบถ้วน เรามักจะสนใจมองในด้านเนื้อหาหลักธรรม แต่อีกด้านหนึ่งมักจะมองข้ามไปคือวินัย พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมวินัย นะ ไม่ใช่ธรรมอย่างเดียว ถ้ามองไม่ครบทั้งสองอย่างก็อาจจะทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาผิดพลาด เห็นเอนเอียงไปข้างเดียวหรือถึงกับเขวก็ได้

ถ้าเรามองพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของบุคคล ใครทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว อันนี้ก็เป็นเรื่องของหลักความจริง ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ พระพุทธศาสนาสอนความจริงตามธรรมชาติ ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามผล ตามกฎแห่งเหตุปัจจัย มนุษย์ทำกรรมอันใด การกระทำนั้นก็เป็นเหตุที่ทำให้ผลเกิดตามเหตุนั้น ทำดีก็เกิดผลดี ทำชั่วก็เกิดผลชั่ว อันนี้ก็คือกรรม เพราะฉะนั้นคนจึงรับผลแห่งกรรมของตัวเอง ถ้ามองในแง่นี้คนก็รับผิดชอบตัวเองต่อกฎธรรมชาติ ต่อหลักความจริงซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล นี้คือ ธรรม

ทีนี้หันมาดูพระพุทธศาสนาอีกด้านหนึ่ง พระทำความผิดไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของตัวเอง แต่เป็นเรื่องของหมู่คณะ ท่านต้องถูกสงฆ์พิจารณาความผิด ท่านจะต้องถูกลงโทษหรือทำการชดใช้ตามหลักพระวินัยที่เป็นพุทธบัญญัติ นี่เป็นเรื่องของชุมชนหรือเรื่องของสังคม นี้คือวินัย

ถ้าพูดในแง่ของธรรม เราบอกว่า ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็ดีเอง แต่พูดในแง่ของวินัยจะบอกว่า แล้วทำอย่างไรจะให้ทุกคนเป็นคนดีได้ล่ะ เราไม่รอละ เราจะจัดทางด้านสังคม เพื่อช่วยให้ทุกคนเป็นคนดีเท่าที่จะเป็นได้ แล้วเราก็ใช้ความรู้ธรรม มาจัดวางเป็นวินัย โดยจัดสภาพแวดล้อม วางระเบียบชีวิตระบบสังคม และระบบการฝึกฝนพัฒนาคน ให้เอื้อต่อการที่จะให้ทุกคนเป็นคนดีเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยวิธีนี้ ธรรมกับวินัยก็มาประสานกัน

ขอย้ำเชิงสรุปว่า ธรรมเป็นกฎของธรรมชาติ วินัยเป็นกฎของมนุษย์ ธรรมเป็นความจริงแท้ วินัยเป็นความจริงตามสมมติ วินัยต้องอิงอาศัยธรรม ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม เป็นไปตามธรรม และเพื่อธรรม จึงจะมีความหมายและเป็นแก่นสาร เพราะโดยที่แท้แล้ว วินัยที่เป็นการจัดตั้ง วางระเบียบ แต่งสรรระบบต่างๆ ก็คือการจัดสภาพชีวิตและสังคมให้เอื้อโอกาสต่อการที่จะปฏิบัติตามธรรม และการที่จะให้ธรรมสำเร็จประโยชน์แก่มนุษย์นั่นเอง ส่วนพิธีกรรมก็เป็นส่วนเปลือกผิวนอกของวินัย เป็นรูปปรากฏที่ช่วยห่อหุ้มคุมรูปของวินัย และเป็นสื่อนำเข้าสู่วินัยอีกชั้นหนึ่ง

ระวัง!
อย่าให้กลายเป็นเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

ตามหลักธรรมเราเรียนรู้ความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา มันไม่ใช่เป็นของเราจริง จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ การยึดมั่นถือมั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา มันเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราบังคับบัญชามันไม่ได้ เมื่อรู้ความจริงแล้วก็จะไม่มัวไปยึดมั่นถือมั่น

บางคนฟังแล้วบอกว่าใช่ซิ ถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้วต้องเกิดความทุกข์เดือดร้อนแน่นอน เพราะฉะนั้น เราจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ต่อไปนี้ไม่เอาแล้ว อะไรต่างๆ แม้แต่สิ่งที่เคยรับผิดชอบก็ไม่ใส่ใจรับผิดชอบแล้ว ทำตัวเป็นคนเฉยๆ ปล่อยวาง ไม่เอาเรื่องเอาราว อะไรจะเป็นไปก็ให้มันเป็นไป บางคนคิดจะปฏิบัติธรรม พอมองเห็นอย่างนี้แล้วก็คิดว่าทำอย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรม

ทีนี้ลองมาดูชีวิตของผู้บรรลุธรรมแล้วบ้าง จะดูชีวิตของพระอรหันต์ก็ดูได้จากวินัย ซึ่งเป็นชีวิตจริงที่เป็นอยู่ในสังคมหรือในโลกของมนุษย์ ชีวิตของพระนี้เป็นแบบอย่างของชีวิตที่ปฏิบัติตามธรรม ตั้งอยู่บนฐานของธรรม ชีวิตที่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมก็มาปรากฏอยู่ที่วินัย

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยให้พระภิกษุทุกรูปมีความรับผิดชอบต่อสงฆ์ ต่อสังคม ต่อหมู่คณะ และรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเกี่ยวข้อง แม้แต่วัตถุสิ่งของเล็กน้อยเมื่อตกลงแล้วว่าเป็นบริขารของท่าน เป็นสมบัติส่วนตัว ท่านต้องรับผิดชอบเอาใจใส่ มีจีวรแค่สามผืนก็ต้องดูแลให้ดี จะปล่อยวางไม่เอาเรื่องไม่ได้ อยู่ขาดครองแม้แต่คืนเดียวก็ไม่ได้ เมื่อตกลงสมมติว่าเป็นของท่านแล้วท่านต้องรับผิดชอบ พระอรหันต์กลายเป็นตัวอย่างของการมีความรับผิดชอบ เมื่อรู้เท่าทันสมมติแล้วไม่มีความยึดติดถือมั่น ก็จึงปฏิบัติไปตามเหตุตามผลด้วยความรู้เท่าทันนั้น ถ้ามันมีอันเป็นไปอย่างไรก็รู้ไปตามเหตุปัจจัย แต่เมื่อมันอยู่กับเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด

ความปล่อยวางไม่ยึดมั่น ไม่ใช่การปล่อยทิ้งความรับผิดชอบ การปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้ เมื่อดูตามวินัยจะปรากฏชัด พระอรหันต์จึงเป็นตัวอย่างของความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องทุกอย่าง รวมทั้งรับผิดชอบต่อสังคมและต่อหมู่คณะ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่กระทบกระเทือนต่อสงฆ์ต่อพระศาสนาส่วนรวม พระอรหันต์ออกนำหน้าในการที่จะเรียกประชุมและพิจารณาหาทางดำเนินการจัดการแก้ไข

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสุภัทท์กล่าวคำไม่ดี พระมหากัสสปะเป็นพระอรหันต์ที่ชอบอยู่ป่า กลับมาออกหน้าเป็นผู้นำในการชวนสงฆ์พระอรหันต์ทั้งหลาย มาประชุมกันแก้ไขปัญหาของส่วนรวม จึงทำให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๑ แม้แต่พระอรหันต์จะเข้านิโรธสมาบัติก็มีหลักปฏิบัติว่า ถ้าสงฆ์เรียกเมื่อใดต้องออกทันที นี่คือเรื่องของชีวิตที่แท้จริงของผู้เข้าถึงธรรมแล้ว

เพราะฉะนั้น ด้านจิตใจให้ดูที่ ธรรมะ ซึ่งเป็นความจริงแท้ของธรรมชาติตามเหตุปัจจัย แต่ด้านชีวิตจริงที่ปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมบนผืนโลกให้ดูที่ วินัย และอันนี้เป็นเครื่องแสดงที่ชัดว่าชีวิตชาวพุทธที่แท้คืออะไร เดี๋ยวจะกลายเป็นคนที่ทำตนเป็นคนไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรแล้ว ปล่อยวาง อะไรจะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป อย่างนี้อันตรายมาก นั่นคือความไม่ยึดมั่นที่ผิด ไม่ใช่ของแท้ ที่จริงเป็นเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

คนจำนวนมากมีเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น หรือไม่ยึดมั่นด้วยความยึดมั่น เพราะเขานึกว่าที่ท่านสอนว่าไม่ยึดมั่นนั้นดี ก็เลยเอาความไม่ยึดมั่นมายึดไว้ว่าเราจะทำอย่างนี้ๆ เราจะไม่ยึดมั่นอะไรทั้งนั้น เป็นความไม่ยึดมั่นที่ตัวเองไปยึดมั่นเอาไว้ ไม่เป็นธรรมะ เพราะไม่เป็นไปเองตามธรรมดาของมัน

ความไม่ยึดมั่นเทียมแบบนี้ มีผลเสียหายที่ร้ายแรง ๒ อย่าง ซึ่งเป็นสุดโต่ง ๒ ด้าน คือ ถ้าไม่กลายเป็นคนเฉยเมย ไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยปละละเลย ไม่ทำอะไร ไม่รับผิดชอบอะไร ก็กลายเป็นว่าจะทำอะไรตามชอบใจของตัวได้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เพราะอ้างว่าไม่มีกิเลส ทำด้วยความไม่ยึดมั่น ซึ่งที่จริงเป็นความยึดมั่น อย่างหนาแน่นรุนแรง

ความไม่ยึดมั่นที่แท้ เกิดขึ้นเองด้วยปัญญา
เรียกว่าเป็นอัตโนมัติ ตามเหตุปัจจัย

ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้นเกิดจากปัญญาซึ่งจะเป็นไปเอง เมื่อเรารู้เข้าใจสัจธรรม มองเห็นความจริงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ของเราจริง เราจะไปยึดถือครอบครองเอาเป็นของเราถือมั่นเอาตามใจปรารถนาไม่ได้ จิตใจก็ปล่อยวางเป็นอิสระ เป็นความไม่ยึดติดถือมั่นที่เป็นไปด้วยปัญญาที่รู้แจ้งความจริง เป็นอัตโนมัติตามเหตุปัจจัย เมื่อญาณปัญญาเกิดขึ้นรู้ความจริงแล้วมันก็หลุดออกมาเอง เหมือนกับเราเคยหลงเข้าใจผิดยึดมั่นอะไรอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ แล้วเราก็มั่นหมายเอาจริงเอาจัง แต่ต่อมาพอเรารู้ความจริงว่าไม่มีอะไร มันเป็นเพียงขยะเท่านั้น ต่อจากนั้นก็ไม่ต้องไปตั้งใจ ไม่ต้องไปพยายามว่าไม่เอาละ ฉันไม่เอามันนะ ไม่ต้องไปพูดไปคิดไปตั้งใจ มันหลุดเอง มันไม่เอาเองเป็นอัตโนมัติตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ตัวแท้ตัวจริงของความไม่ยึดมั่นนั้นเกิดขึ้นจากปัญญาที่รู้ความจริง รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเป็นไปเองด้วยความรู้นั้น

แต่ก่อนนั้นต้องอาศัยสติเป็นตัวช่วยในการนึกอยู่ ใช้สติคอยเตือนคอยตรึงไว้ แต่พอถึงตอนนี้มันหลุดไปแล้วและไม่ห่วงไม่หวนหาอีกแล้ว จึงไม่ต้องอาศัยสติมาช่วยอะไรทั้งนั้น สติที่มีอยู่ตามธรรมดาไม่ต้องนำมาใช้กับเรื่องนี้ ถ้านำสติมาใช้ก็แสดงว่ายังต้องระลึกยังต้องนึกคอยเตือนคอยตรึงอยู่ แต่กรณีนี้ไม่ต้องไปทำอะไรกับมันแล้วเพราะจิตมันเป็นอิสระลอยตัวไปเองเลย

วินัย คือ เครื่องจัดสรรโอกาส
ให้คนพัฒนาตนตามธรรม

วินัยนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ตลอดจนจัดระบบชีวิตที่เอื้อต่อการทำกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ วินัยเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่ เพราะฉะนั้นปัจเจกบุคคลก็ต้องเสียสละบ้าง เพราะปัจเจกบุคคลก็ต้องอาศัยชุมชน ถ้าสภาพแวดล้อมของชุมชนไม่ดีก็จะเป็นอุปสรรคแก่การดำรงอยู่และกิจกรรมของปัจเจกบุคคลด้วย

จริงอยู่ ในแง่หนึ่งวินัยอาจจะทำให้เราไม่คล่องสะดวกบ้าง จะทำอะไรบางอย่างก็ต้องมาติดขัดกับเรื่องวินัยนี้ด้วย แต่เราเสียส่วนย่อยเพื่อได้ส่วนใหญ่ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นสังคมของเราก็จะยุ่งเหยิงสับสน ซึ่งจะยิ่งเป็นอุปสรรคหนักเข้าไปอีกจนทำให้เราปฏิบัติไม่ได้ วินัยช่วยสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนและของสังคม ให้เอื้อต่อการเข้าถึงจุดหมายร่วมกัน เมื่อพระภิกษุทั้งหลายอยู่ในวินัยแล้ว สภาพแวดล้อมของชุมชนที่อยู่ร่วมกันทั้งหมดนั้นจึงจะเอื้อต่อการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของแต่ละคน

วินัยก็เพื่อธรรม และต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม วินัยนั้นต้องบัญญัติขึ้น โดยอาศัยธรรมเป็นหลัก ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ววินัยก็จะไม่ชอบธรรม วินัยนั้นอาศัยธรรมและเพื่อธรรม วินัยไม่ใช่เครื่องบังคับ แต่เป็นเครื่องจัดสรรโอกาสในการที่จะพัฒนาตนเองหรือพัฒนาสังคมก็ตาม วินัยเป็นฐานเบื้องต้นของการพัฒนา ถ้าไม่มีวินัยเป็นเครื่องจัดสรรโอกาสแล้ว การพัฒนาชีวิตและสังคมจะเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น การฝึกฝนพัฒนามนุษย์จึงเริ่มต้นที่วินัยก่อน

วินัยเป็นเครื่องจัดสรรโอกาสอย่างไร ขอยกตัวอย่าง เช่น เราอยู่ในบ้านกันอย่างไม่มีระเบียบ ข้าวของวางทิ้ง เกะกะไปหมดแม้แต่จะเดินก็ไม่คล่อง และเครื่องใช้วางไม่เป็นที่ เวลาจะใช้งานอะไรก็กลายเป็นชักช้าไม่สะดวก แต่พอมีวินัยขึ้นมาทุกอย่างคล่องหมดเลย และวินัยเป็นฐานของศีล ถ้าไม่มีวินัยคนก็ไม่มีศีล คนก็จะเบียดเบียนกันมาก ทำให้เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น เช่น เมื่อมีการทำร้าย จี้ปล้น โจรกรรม ฆาตกรรมมาก ความเป็นอยู่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย คนมีความหวาดหวั่นระแวงภัย จะไปไหนก็ต้องเลือกที่เลือกเวลา ธุรกิจการงานที่จะไปทำในที่นั้นเวลานั้นก็ติดขัดชะงักงัน สูญเสียโอกาสในการสร้างสรรค์พัฒนา

วินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ ก็เพื่อให้สภาพชีวิตของสงฆ์เอื้อต่อการปฏิบัติของพระแต่ละองค์ที่จะเข้าสู่จุดหมาย สภาพชีวิตที่เป็นไปตามพระวินัยนี้แหละ จึงจะเป็นสภาพชีวิตที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา และการทำหน้าที่การงานของพระสงฆ์

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะจัดวางระเบียบจัดวางระบบขึ้นมา ก็ต้องรู้ความมุ่งหมายของวินัย แล้วทำให้เข้าสู่ความมุ่งหมายนั้น ถ้าคิดแต่เพียงว่าจะตั้งเป็นกฎเป็นเกณฑ์ขึ้นโดยไม่เข้าใจความมุ่งหมายนี้ วินัยก็จะกลายเป็นเครื่องบีบคั้นคนไป และไม่ชอบธรรม

เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป
ความหมายของวินัยก็พัฒนาตามด้วย

อีกอย่างหนึ่ง คนที่ไม่พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น จะเอาแต่ความปรารถนาของตัวเอง จะทำตามใจอยากใจชอบ วินัยก็กลายเป็นเครื่องบังคับบีบคั้น อันนี้เกิดจากตัวเขาเองที่มีความปรารถนาไม่ชอบธรรม แต่ในทางตรงข้ามคนวางกฎวินัยไม่ชอบธรรมก็มี คือไม่เข้าใจความมุ่งหมายของวินัยและไม่จัดวางบัญญัติวินัยให้เป็นไปตามความมุ่งหมาย หรือเขามีความปรารถนาส่วนตัวซ่อนเร้นหวังประโยชน์บางอย่าง แล้วจัดวางกฎเกณฑ์ระเบียบขึ้นในลักษณะที่จะหาผลประโยชน์ให้แก่ตนหรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ถ้าเช่นนี้วินัยเช่นกฎหมายก็จะไม่ได้สาระที่ต้องการ และกลายเป็นเครื่องบีบคั้นกดขี่กันไป อย่างนี้ผิด

วินัยที่แท้นั้น ท่านกำหนดวางบัญญัติขึ้นเพื่อจัดสรรโอกาสให้กระบวนการพัฒนาคน พัฒนามนุษย์ พัฒนาสังคม เดินหน้าไปได้ และช่วยให้ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตหรือกิจการของหมู่คณะของสังคมราบรื่นเป็นไปด้วยดี เมื่อคนอยู่ในวินัยที่ปฏิบัติตามจุดมุ่งหมาย แม้เขาจะยังมีความปรารถนาส่วนตน ยังไม่บรรลุธรรม แต่ถ้าเขาปฏิบัติด้วยความเข้าใจความมุ่งหมาย เขาก็จะมองวินัยเป็นเครื่องฝึกตัว ก็กลายเป็นว่าเขาไม่ได้ฝืนใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจความมุ่งหมายและไม่มีความใฝ่ในความดี ไม่คิดจะพัฒนาตน คิดแต่จะทำตามใจชอบ เขาก็จะรู้สึกฝืนใจ วินัยก็กลายเป็นเครื่องบังคับสำหรับคนที่ไม่พร้อม แต่พอรู้เข้าใจความมุ่งหมายและใจคิดที่จะทำ วินัยก็กลายเป็นเครื่องฝึก แล้วก็รู้สึกพร้อมใจที่จะปฏิบัติเพราะเป็นเครื่องฝึกตัว

ขั้นสุดท้าย พอปฏิบัติสำเร็จได้บรรลุธรรมแล้ว วินัยก็กลับเปลี่ยนความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง กลายเป็นกติกาสำหรับรู้ร่วมกันว่า ในการอยู่ร่วมกันนี้เราจะทำอะไรกันอย่างไรเมื่อไร ซึ่งเป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในคนหมู่มาก จะต้องมีวินัยในรูปของข้อตกลงร่วมกันเช่นว่า เวลาเท่านั้นนะเราจะตีระฆังเพื่อมาประชุมร่วมกัน ในขั้นนี้วินัยก็กลายเป็นเครื่องนัดหมายว่าเราเอาอย่างนี้นะ

แม้พระอรหันต์ก็ต้องมีกติกาเพื่อนัดหมายร่วมกัน วินัยสำหรับพระอรหันต์หรือผู้บรรลุธรรมแล้วไม่ใช่เป็นการฝึกแล้ว ฝืนก็ไม่ฝืน ฝึกก็ไม่ฝึก แต่มันเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่าเราจะเอาอย่างไร เพื่อให้ชีวิตหมู่เป็นไปด้วยดีโดยเรียบร้อย ตอนแรกยังไม่รู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร พอมีวินัยก็จะได้รู้กัน กลับกลายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก และความคล่องตัว แม้แต่ท่านที่ได้เข้าถึงความสมบูรณ์ของการพัฒนาแล้ว ก็ต้องมีสิ่งหมายรู้ร่วมกันนี้ไว้เพื่อให้ทำกิจได้สะดวก วินัยก็มีความหมายกลายเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกัน สำหรับการทำกิจกรรมของหมู่คณะเป็นต้น เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป ความหมายของวินัยก็พัฒนาขึ้นด้วยเป็นลำดับๆ อย่างที่พูดมานี้

รู้ความจริงแท้ของธรรมชาติ
ทำให้ปฏิบัติจริงจังตามสมมติโดยรู้เท่าทัน

วินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ทรงแสดงความมุ่งหมายไว้ ๑๐ ข้อ ตั้งแต่ความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคลไปจนถึงประโยชน์แก่ชุมชนสงฆ์และประชาชนทั่วทั้งหมด แต่รวมความว่าวินัยเป็นเรื่องของชีวิตหมู่หรือชีวิตชุมชน สำหรับทำให้สภาพชีวิตของบุคคลและสภาพแวดล้อมของชุมชนมาเอื้อต่อทุกคนในการเป็นอยู่และปฏิบัติกิจเพื่อบรรลุจุดหมายของธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมกับวินัยจึงประสานกัน

ธรรมเป็นเนื้อหา วินัยเป็นรูปแบบ วินัยเป็นเรื่องของสังคม ธรรมเป็นเรื่องของบุคคลหรือปัจเจกชน ธรรมเป็นความจริงตามธรรมชาติ วินัยเป็นเรื่องบัญญัติสมมติโดยมนุษย์ แต่วินัยนี่แหละคือชีวิตจริงที่มองเห็นของมนุษย์ เมื่อรู้ธรรม คือรู้ความจริงของกฎธรรมชาติก็รู้เท่าทันสมมติด้วย แล้วเราก็จะปฏิบัติต่อสมมติได้ถูกต้องด้วย ทำให้เรารู้จักวางใจวางท่าที ตลอดจนปฏิบัติการที่พอดีต่อสิ่งสมมติ ว่าแค่ไหนอย่างไร จึงจะได้ผลดีไม่เกิดผลเสีย

เราอยู่ในโลกท่ามกลางสังคมมนุษย์ ก็คืออยู่ในโลกของสมมติ สมมติคืออะไร สมมติคือมติร่วมกัน สม มาจาก สํ แปลว่าร่วมกัน มติ คือมติ ได้แก่ความรู้หรือความตกลง สมมติจึงแปลว่า ข้อตกลงร่วมกัน หรือความรู้ร่วมกัน เรื่องของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของการตกลงร่วมกัน จึงเป็นการสมมติขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นของเหลวไหลนะ เพราะเป็นของเกิดจากความรู้ คือเราเห็นว่าการทำอย่างนี้ดีเป็นประโยชน์ เราจึงได้สมมติคือตกลงร่วมกันว่าเอาอย่างนี้นะ แล้วมันก็ได้ผลเป็นประโยชน์ตามที่ตกลงกันนั้น แต่ทีนี้มนุษย์ไม่รู้เท่าทันความจริงตามสมมติ กลับไปยึดถือในสมมตินั้นว่าเป็นสิ่งจริงแท้ ก็เกิดความหมายมั่น แล้วปฏิบัติผิดไปไม่พอดีกับความจริง ก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ปัญหาก็เกิดจากการปฏิบัติไม่พอดี เนื่องจากไม่รู้เท่าทันความจริงตามสมมติ

สมมติก็เป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุจากผลเหมือนกัน แต่เป็นเหตุผลในสิ่งที่มนุษย์ตกลงกันให้ความหมายขึ้น มันไม่ใช่ของจริงโดยธรรมชาติแต่เป็นของจริงในความหมายของมนุษย์ ถ้าไปหลงยึดมั่นกับมันก็เป็นการไม่รู้เท่าทันสมมติ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไม่เอาใจใส่ไม่สนใจก็กลายเป็นว่าไม่รู้ตามความเป็นจริงของสมมติอีกเช่นกัน จึงต้องปฏิบัติให้จริงจังด้วยความรู้เท่าทันตามสมมติ จึงจะเป็นการปฏิบัติที่พอดีแล้วก็ถูกต้อง นี่คือเหตุผลของสมมติที่เรียกว่าข้อตกลงร่วมกัน หรือความรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นมติร่วม

เมื่อรู้ทันสมมติ แล้วทำตามสมมติ สมมติก็ให้ประโยชน์โดยไร้โทษ
เรียกว่าปฏิบัติพอดี เป็นมัชฌิมา

ขอยกตัวอย่าง เช่น สมมติว่าจ้างขุดดินจะให้เงิน ๑๐๐ บาท เป็นการตกลงกันว่าการขุดดินจะทำให้ได้เงิน ๑๐๐ บาท เราก็มองว่าการขุดดินเป็นเหตุให้ได้เงิน ๑๐๐ บาท และการได้เงิน ๑๐๐ บาท เป็นผลจากการขุดดิน ต่อมาคนก็เลยหลงสมมติคิดว่าการขุดดินกับการได้เงิน ๑๐๐ บาท เป็นเหตุเป็นผลกันจริง แต่มันไม่เป็นความจริงตามธรรมชาติ การขุดดินทำให้เกิดเงิน ๑๐๐ บาท มันไม่มีในโลก แต่มันเป็นสมมติ เงิน ๑๐๐ บาทเกิดจากการขุดดินก็ไม่มีเหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ตกลงยอมรับ ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับมันก็ไม่มี

ความจริงแท้ที่เป็นของธรรมชาติ ก็คือ การขุดดินเป็นเหตุให้เกิดหลุม และหลุมเป็นผลเกิดจากการขุดดิน ถ้าไม่ขุด ดินก็จะไม่เป็นหลุม และขุดดินทีไรก็เกิดหลุมทุกที นี่เป็นกฎธรรมชาติและนี่คือความจริงแท้ ทีนี้มนุษย์แยกไม่ถูก เพราะมนุษย์อยู่ร่วมกันมาในสังคมก็บัญญัติเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลเชิงสมมติขึ้นมามาก เสร็จแล้วมนุษย์ก็จะไปหลงในสมมติอันนี้แหละว่าเป็นความจริงแท้แน่นอน

ถ้าใครรู้ทันสมมติแล้วปฏิบัติต่อสมมติถูก ก็ได้ประโยชน์จากสมมติตามที่สมมติ เพราะเราบัญญัติสมมติขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ เรียกว่าปฏิบัติพอดี เพราะมีปัญญารู้เท่าทันความจริง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แต่ถ้าไม่มีปัญญารู้เท่าทัน ปฏิบัติไม่ถูก ก็ไปสุดทาง ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือยึดมั่นถือมั่นไปเลย ทำให้เกิดทุกข์ภัยไปแบบหนึ่ง หรือไม่ก็กลายเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น แล้วก็เกิดอัญญาณุเบกขา คือเฉยโง่ ปล่อยวางโดยไม่รู้เรื่องรู้ราว มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่เอาเรื่อง อันนี้เป็นโมหะนะ สภาพนี้ดูเหมือนจะเกิดอยู่ในสังคมไทยมาก เพราะไปหลงเข้าใจผิด เอาอุเบกขาเป็น อัญญาณุเบกขา คือเฉยโง่ เฉยไม่รู้ไปเสีย

เมื่อชีวิตในโลก ประสานสืบจากชีวิตในธรรมโดยสมบูรณ์
จิตก็ไม่ยึดมั่น ปล่อยวาง โดยทำทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบจริงจัง

พระอรหันต์มีลักษณะที่ท่านพรรณนาไว้ว่าเป็น อนุปัตตสทัตโถ แปลว่าบรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ กตัง กรณียัง กิจที่ต้องทำไม่มีอีกแล้ว หมายความว่ากิจที่ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองไม่มีอีก พัฒนาตนเองสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป

คนที่ยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีเรื่องที่จะต้องทำเพื่อตัวเอง เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเอง ทีนี้จะทำอะไร ก็อยู่ไปเพื่อสิ่งที่ดีงามตามเหตุตามผลที่รู้ด้วยปัญญา อะไรเป็นสิ่งที่ดีงามควรทำตามเหตุผลก็ทำเลย ไม่มีเรื่องของตัวมาเหนี่ยวรั้ง อะไรที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษย์ทั้งหลาย ทำให้เขาได้เจริญก้าวหน้าได้พัฒนาเป็นอิสระก็ทำเลย คนเขายังติดข้องกันอยู่ เราก็ช่วยให้เขาได้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป จนหลุดพ้นเป็นอิสระไปกับเราด้วย

เมื่อไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเอง ชีวิตที่มีอยู่ก็เหมือนกับให้เป็นของกลางไป จึงเป็นผู้ที่ทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ท่านอิ่มเต็มบริบูรณ์ในตัวแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเอง ชีวิตที่มีอยู่ก็ยกให้สรรพสัตว์ทั้งหมด

พระอรหันต์ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องที่จะทำที่จะเอาเพื่อตัวเอง ฉะนั้น อะไรที่จะเป็นประโยชน์ได้แก่เพื่อนมนุษย์หรือสรรพสัตว์ก็ทำไป พระพุทธเจ้าจึงไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากลำบาก เสด็จเดินทางไปโปรดไปสั่งสอนประชาชนเรื่อยไป ไม่ว่าจะแสดงธรรมที่ไหน จะเป็นอยู่อย่างไร พระองค์ก็เต็มอยู่แล้วสุขอยู่แล้วตลอดเวลา เมื่อไม่ต้องทำเพื่อตัวเองก็ทำไปเพื่อผู้อื่น ประโยชน์ก็เกิดแก่สรรพสัตว์ อุปมาเหมือนในหมู่คนทั้งหลายที่ถูกมัดติดอยู่ คนหนึ่งแก้มัดให้กับตัวเองได้ หลุดไปแล้ว ตัวเองก็ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเองอีก ก็ได้แต่ไปแก้มัดให้กับคนอื่นต่อไป

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าพระอรหันต์เป็นแบบอย่างของการเอาใจใส่รับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม หรือเรื่องของสงฆ์ ท่านจะเป็นผู้นำในเรื่องเหล่านี้ เมื่อมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนต่อพระศาสนาและส่วนรวม ท่านจะรีบช่วยแก้ไขปัญหา ในประวัติของพระพุทธศาสนาจะเห็นพระอรหันต์เป็นอย่างนี้ แต่ในความเข้าใจของคนไทยจำนวนมากชอบยึดถือกันว่าใครเฉยๆ ไม่เอาเรื่องเอาราว มีอะไรเกิดขึ้นทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กลายเป็นว่าจะเป็นคนหมดกิเลสไป ความเข้าใจอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นอันตรายอย่างที่สุด เพราะในพระพุทธศาสนาไม่มีอย่างนั้น เริ่มตั้งแต่พุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นตัวอย่าง พอมีเหตุการณ์อะไรไม่ดีเกิดขึ้น มีปัญหาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงรีบจัดการ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำตามอย่างพระองค์ เพราะฉะนั้น การสังคายนาก็มาจากการที่พระอรหันต์เอาใจใส่ประโยชน์ส่วนรวม และเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาอย่างนี้

ขอยกตัวอย่าง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ประมาณ ๕๐๐ ปี มีกษัตริย์สำคัญพระองค์หนึ่งในชมพูทวีป มีเชื้อชาติกรีก พระนามว่าพระยามิลินท์ พระยามิลินท์นี้เป็นนักปราชญ์ ชอบโต้วาทะ เก่งกล้ากระฉ่อนในวงการของศาสนาและปรัชญา นักบวชในศาสนาต่างๆ แพ้ไปหมด ทำให้วงการศาสนาสั่นสะเทือนไปทั่ว แม้แต่ในพุทธบริษัทตอนนั้นก็หาผู้ที่จะมาสู้วาทะกับพระยามิลินท์ไม่ได้ พระอรหันต์จึงมาประชุมกันแล้วพิจารณาว่าจะคิดแก้ไขอย่างไร มีพระอรหันต์องค์หนึ่งไม่ได้มาประชุม เพราะไปสงบอยู่ในป่า เมื่อพิจารณาเรื่องราวกันไปแล้ว ที่ประชุมพระอรหันต์ก็ได้มีมติลงโทษแก่พระอรหันต์องค์นั้น ด้วยการลงทัณฑกรรม คือมอบงานให้ทำ โดยให้ทำหน้าที่ให้การศึกษาฝึกอบรมพระนาคเสน เพื่อที่จะไปโต้วาทะกับพระยามิลินท์ จนในที่สุดพระนาคเสนก็โต้วาทะชนะพระยามิลินท์ ในประวัติพุทธศาสนามีการลงโทษพระอรหันต์หลายครั้ง โดยใช้วิธีมอบงานให้ทำ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – พิธีกรรมสื่อวินัย– สรุป – พิธีกรรมสื่อวินัยสู่ธรรม >>

No Comments

Comments are closed.