- (กล่าวนำ)
- – ๑ – ความคลาดเคลื่อนสับสนในเรื่องกรรม
- – ๒ – หลักกรรมที่แท้
- – ๓ – ทำอย่างไรจะสอนหลักกรรมให้ได้ผล
– ๒ –
หลักกรรมที่แท้
๑. การแยกจากความเข้าใจผิด
เมื่อเข้าใจหลักกรรมโดยการเปรียบเทียบกับ ๓ ลัทธิที่ว่ามานี้แล้ว ก็น่าจะแก้ไขข้อคลาดเคลื่อนสับสนข้างต้นได้ทั้งหมด คือ ความคลาดเคลื่อนในแง่ความหมายของศัพท์อย่างที่เข้าใจกันทั่วไปก็ตาม หรือความคลาดเคลื่อนในแง่ทัศนคติก็ตาม อันนี้แก้ไขได้หมด เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจหลักกรรมของเราให้ถูกต้อง อย่างน้อยอย่าปนกับลัทธินิครนถ์
ในศาสนาของนิครนถ์เขาถือลัทธิกรรมเก่า สุขทุกข์อะไรเราจะได้รับอย่างไร ก็เพราะกรรมเก่าทั้งสิ้น เขาจึงสอนให้ทำกรรมเก่านั้นให้หมดไปเสีย แล้วไม่ทำกรรมใหม่ ทีนี้กรรมเก่าจะหมดไปได้อย่างไร เขาก็บอกว่ากรรมเก่าจะหมดไปได้ด้วยการบำเพ็ญตบะ พวกนิครนถ์ก็เลยบำเพ็ญทุกรกิริยา ทำอัตตกิลมถานุโยคที่พระพุทธองค์เคยทรงไปบำเพ็ญเมื่อก่อนตรัสรู้ บำเพ็ญอยู่ถึง ๖ ปี จนแน่พระทัยแล้วก็ทรงประกาศว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ไม่ได้ผลอะไร
พวกนิครนถ์ไม่ต้องการทำกรรมใหม่ กรรมเก่าก็ทำให้หมดไปด้วยตบะ ขอให้เทียบหลักนี้กับคำสอนในทางพุทธศาสนา ใน สฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ มีพุทธพจน์ว่าด้วยเรื่องกรรมในแง่หนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “เราจะแสดงกรรมเก่ากรรมใหม่ ความดับกรรม และทางดับกรรม” แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า
“กรรมเก่าคืออะไร? จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน นี้ชื่อว่ากรรมเก่า;
อะไรชื่อว่ากรรมใหม่ การกระทำที่เราทำอยู่ในบัดนี้ นี่แหละชื่อว่ากรรมใหม่;
อะไรคือความดับกรรม? บุคคลสัมผัสวิมุตติเพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมนั้นชื่อว่าความดับกรรม;
อะไรเป็นทางดับกรรม? มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน นี้เรียกว่า ทางดับกรรม”
อันนี้จะตรงกับลัทธินิครนถ์ได้อย่างไร ในลัทธินิครนถ์เขาสอนว่าทางดับกรรมคือดับกรรมเก่าโดยบำเพ็ญตบะ กับดับกรรมใหม่โดยไม่ทำ แต่พุทธศาสนาดับกรรมด้วยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ จะเห็นว่าที่ว่าดับกรรมนั้น ไม่ใช่ไม่ทำอะไร ทำทีเดียวแหละ แต่ทำอย่างดีอย่างมีเหตุมีผล ทำอย่างมีหลักมีเกณฑ์ ทำด้วยปัญญา คือทำตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์ ๘ ประการ ต้องทำกันยกใหญ่ทีเดียว
ตามหลักดับกรรมในที่นี้ ไม่ใช่ไม่ทำ มรรคมีองค์ ๘ ประการ ต้องใช้ความเพียรพยายามในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก ต้องพยายามเพื่อให้มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง เพื่อให้มีสัมมาสังกัปปะ มีความดำริความคิดที่ถูกต้อง ให้มีสัมมาวาจา ใช้คำพูดที่ถูกต้อง ให้มีสัมมากัมมันตะ กระทำทางกายถูกต้อง ให้มีสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยสัมมาชีพ ให้มีสัมมาวายามะ มีความพยายามที่ถูกต้อง ให้มีสัมมาสติ มีสติที่ถูกต้อง ให้มีสัมมาสมาธิ บำเพ็ญปลูกฝังสมาธิที่ถูกต้อง หลักดับกรรมในพุทธศาสนาคือทำกันใหญ่เลย ไม่ใช่ไม่ทำ แต่ต้องทำจริงจัง
โดยนัยนี้ ถ้าเรามองดูหลักกรรมที่พุทธศาสนาสอนไว้ในที่ต่างๆ ให้รอบคอบสักหน่อย ก็จะเห็นว่ามุ่งหมายให้เกิดการกระทำ และที่พระพุทธเจ้าปฏิเสธหลักกรรมในศาสนาเก่าก็เพราะหลักกรรมในศาสนานั้นไม่ส่งเสริมให้เกิดฉันทะ และความเพียรพยายามในการกระทำ เพราะฉะนั้น ถ้าหลักกรรมของเราสอนกันไปแล้วทำให้ไม่เกิดฉันทะความเพียรพยายาม ก็มีเกณฑ์ตัดสินได้เลยว่า การสอนคงจะคลาดเคลื่อนเสียแล้ว
เป็นอันว่า ในที่นี้เราจะต้องแก้ความคลาดเคลื่อนออกไปเสียก่อน นี้คือจุดที่อาตมภาพต้องการชี้ว่า เราควรจะแก้ไขเพื่อทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง
๒. การทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
ขั้นต่อไป คือ เราควรจะทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องในหลักกรรมนั้นอย่างไร
ประการแรก เราจะต้องศึกษาความหมายให้ชัดเจน อย่าเพิ่งไปเชื่อหรือยึดถือตามที่เข้าใจกันสามัญว่า เมื่อพูดกันอย่างนั้นก็เป็นอันถูกต้อง อย่าเพิ่ง ต้องศึกษาให้เห็นชัดเจน ให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่า พระพุทธเจ้าต้องการอะไรแน่
ที่พูดเมื่อกี้จะเห็นว่า ความเชื่อของเราในปัจจุบันนี้ คล้ายกับลัทธิกรรมเก่ามากอย่างไร แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจเกิดความข้องใจว่า เอ พุทธศาสนานี่ไม่เชื่อกรรมเก่าเลยหรืออย่างไร ก็ไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องทำความเข้าใจขอบเขตให้ถูกต้องว่า กรรมเก่าแค่ไหน กรรมใหม่แค่ไหน
ถ้าว่าโดยสรุปก็คือ พุทธศาสนาถือหลักแห่งเหตุและผล ถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลที่จะเกิดขึ้นต้องมีเหตุ และเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว ผลก็ย่อมเป็นไปโดยอาศัยเหตุปัจจัยนั้น มันสอดคล้องกันอยู่
ในเรื่องกรรมนี้ก็เช่นเดียวกัน กรรมเป็นเรื่องของหลักเหตุผลที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ เมื่อมันเป็นหลักของเหตุผลแล้ว มันก็ต้องมีทั้ง ๓ กาลนั่นแหละ คือ ต้องมีทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ปฏิเสธกรรมเก่า แต่ที่ผิดก็คือไปฝังจิตใจว่าอะไรๆ ต้องเป็นเพราะกรรมเก่าไปหมด นี่เป็นข้อเสีย
พุทธศาสนาถือว่ากรรมเก่านั้นมันเสร็จไปแล้ว เราย้อนกลับไปทำหรือไม่ทำอีกไม่ได้ “กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ” การกระทำที่ทำไปแล้ว เราไปหวนกลับให้กลายเป็นไม่ได้ทำไม่ได้ ทีนี้ ประโยชน์ที่เราจะได้จากกรรมเก่าคืออะไร
กรรมเก่าเป็นเหตุปัจจัยอยู่ในกระบวนการของวงจรปฏิจจสมุปบาท มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นเหตุ เราปฏิเสธไม่ได้ ตามหลักของเหตุผล การกระทำในอดีต ก็คือการกระทำที่ทำไปแล้ว มันย่อมต้องมีผล ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเราควรได้ประโยชน์จากอดีตอย่างไร
กรรมเก่า หรือกรรมในอดีตนั้น ทำไปแล้วแก้ให้กลายเป็นไม่ทำน่ะไม่ได้ แต่เรามีทางใช้ประโยชน์จากมันได้ คือในแง่ที่จะเป็นบทเรียนแก่ตนเอง รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุง และการที่จะรู้จักพิจารณาไตร่ตรองมองเห็นเหตุผล ทำให้เป็นคนหนักแน่นในเหตุผล พร้อมทั้งทำให้เป็นคนรู้จักรับผิดชอบตนเอง ให้รู้จักพิจารณาว่าผลที่เกิดกับตนเองเกี่ยวข้องกับการกระทำของตัวเราอย่างไร ไม่มัวโทษผู้อื่นอยู่เรื่อย และไม่ใช่มัวรอรับแต่ผลของกรรมเก่า
โดยเฉพาะข้อสำคัญ เมื่อพิจารณาเห็นเหตุผลแล้ว ก็จะเป็นบทเรียนสำหรับคิดแก้ไขปรับปรุงตนเองต่อไป จุดที่พระพุทธเจ้าต้องการที่สุดคือเรื่องปัจจุบัน เพราะว่าอดีตเราไปทำแก้คืนไม่ได้ แต่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่เราทำได้ เรามีอิสรภาพมากทีเดียวในปัจจุบันที่จะกระทำการต่างๆ
เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อกรรมแต่ละอย่างว่า กรรมเก่าเราควรจะวางความรู้สึกอย่างไร เอามาใช้ประโยชน์อย่างไร กรรมใหม่เราควรจะทำอย่างไร นี่ขีดวงแยกกันให้ถูกต้อง แล้วจึงจะได้ผลดี
๓. วัตถุประสงค์ของการสอนหลักกรรม
ประการต่อไป เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการสอนเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้าว่า เดิมทีเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องกรรมขึ้นมานี้ พระองค์มีวัตถุประสงค์หรือต้องการอะไร มีความมุ่งหมายอย่างไร
ในการปฏิบัติธรรม สิ่งสำคัญที่สุดอันหนึ่งคือ ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ ถ้าไม่เข้าใจวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายแล้ว การปฏิบัติธรรมจะไขว้เขวเลื่อนลอย เมื่อเลื่อนลอยไปพักหนึ่งแล้วก็จะเข้าใจผิด ที่เราเข้าใจผิดเรื่องสันโดษเรื่องอุเบกขาอะไรนี่ เพราะว่าโดยมากสอนแต่ความหมาย ทำความเข้าใจแต่ความหมาย แล้วไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายว่า ในการปฏิบัติธรรมข้อนี้ๆ ท่านมุ่งหมายเพื่ออะไร และเมื่อไม่รู้ความมุ่งหมายแล้ว ความหมายเองก็ไม่ชัดด้วย
อย่างสันโดษนี่เราปฏิบัติเพื่ออะไร ถ้าจะซักถามในแง่วัตถุประสงค์ขึ้นมา บางทีก็ชักอึดอัดกันทีเดียวว่า เอ นี่จะต้องการอะไรแน่ จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติศีล เรามักจะศึกษาเฉพาะในแง่ความหมาย แต่ถ้าถามว่า ศีลนี่เราปฏิบัติเพื่ออะไร บางทีก็ชักงงไม่ชัด บางทีก็ตอบโพล่งทีเดียว เช่นว่าเพื่อพระนิพพาน ตอบอย่างนี้คลุมเครือ ข้ามไปหาวัตถุประสงค์ใหญ่ จริงอยู่วัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนาขั้นสูงสุดเพื่อพระนิพพาน แต่ว่าไม่ใช่ปฏิบัติศีลอย่างเดียวไปนิพพานได้ มันต้องมีเป็นขั้นเป็นตอน
เพราะฉะนั้น นอกจากวัตถุประสงค์ใหญ่แล้ว ยังต้องมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ว่านี้เพื่ออะไร จะตอบว่าปฏิบัติศีลเพื่อสมาธิหรือเพื่ออะไร ก็ต้องตอบมาให้ชัด สันโดษก็เช่นเดียวกัน กรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจความมุ่งหมายในการสอนในการปฏิบัติ ความหมายของธรรมนั้นก็จะชัดเจนขึ้นด้วย และก็เป็นการปฏิบัติอย่างมีหลักเกณฑ์ ไม่ใช่เลื่อนลอย ไขว้เขว สับสน
ก. ให้เลิกแบ่งชนชั้นโดยชาติกำเนิด
ทีนี้ลองมาดูความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนเรื่องกรรม ถ้าศึกษาในแง่นี้จะเห็นว่ามีหลายความมุ่งหมายเหลือเกิน
พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องกรรมนี้ อย่างแรกก็คือเพื่อขจัดความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติในสังคมของศาสนาพราหมณ์เดิมเกี่ยวกับเรื่องวรรณะ
วรรณะคือการแบ่งคนเป็นชั้นต่างๆ ตามชาติกำเนิด ศาสนาพราหมณ์ถือว่าคนเราเกิดมาเป็นลูกกษัตริย์ก็เป็นกษัตริย์ เป็นลูกพราหมณ์ก็เป็นพราหมณ์ เป็นลูกแพศย์ก็เป็นพ่อค้า เป็นลูกศูทรก็เป็นกรรมกรคนรับใช้ ใครเกิดในวรรณะไหนก็ต้องเป็นคนวรรณะนั้นตลอดไป แล้วแต่ชาติกำเนิด แก้ไขไม่ได้ อันนี้เป็นคำสอนเดิม เขาสอนอย่างนั้น
ครั้นมาถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเน้นเรื่องกรรมไม่เกี่ยวกับวรรณะว่า คนเรานั้น “น ชจฺจา วสโล โหติ น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ” บอกว่า คนเราไม่ได้เป็นคนถ่อยคนต่ำทราม เพราะชาติกำเนิด และก็ไม่ได้เป็นพราหมณ์ คือคนสูงเพราะชาติกำเนิด แต่ “กมฺมุนา วสโล โหติ กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ” จะเป็นคนทรามก็เพราะกรรม และเป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม
ในพุทธพจน์นี้ ถ้าเรามองกรรมเป็นกรรมเก่า มันก็เข้าเป็นอันเดียวกับคำสอนเดิมของพราหมณ์ไปเลย เขาก็บอกว่า อ้อ ของท่านก็เหมือนกัน ท่านบอกเพราะกรรม นี่ก็เพราะกรรมเก่าสิจึงเกิดมาเป็นพราหมณ์ เกิดมาเป็นคนถ่อยก็อย่างเดียวกัน คือตามชาติกำเนิดเหมือนกัน แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น กรรมในที่นี้หมายถึงการกระทำ
ในความหมายหยาบที่สุด การทำกรรมก็หมายถึงอาชีพการงาน อย่างในพุทธพจน์นี้ก็มีขยายต่อไป เช่นตรัสว่า ใครไปทำนาทำไร่คนนั้นก็เป็นชาวนา ไม่ใช่เป็นพราหมณ์ ถ้าคนไหนไปลักขโมยเขา คนนั้นก็เป็นโจร คนไหนไปปกครองบ้านเมือง คนนั้นก็เป็นราชา ดังนี้เป็นต้น นี่พระองค์ขยายความเรื่องกรรม
หมายความว่า การกระทำอาชีพการงานกิจการที่ประกอบกันอยู่นี้ หรือความประพฤติที่เป็นไปอยู่นี้แหละ เป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่จะวัดคน พุทธศาสนาไม่ต้องการให้ไปวัดกันด้วยชาติกำเนิด แต่ให้วัดกันด้วยการกระทำความประพฤติที่บุคคลนั้นประกอบและดำเนินไป ตั้งแต่คุณธรรมในจิตใจ
นี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก ถ้าเราอ่านในพระไตรปิฎกจะเห็นว่า มีพระสูตรต่างๆ ที่พยายามนำหลักกรรมมาแก้ไขเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะโดยชาติกำเนิดนี้มากมาย
ข. ให้รู้จักพึ่งตนเองและหวังผลสำเร็จด้วยการลงมือทำ
อีกแง่หนึ่งที่สำคัญก็คือ ความเพียรพยายามในการพึ่งตนเอง และรู้จักแก้ไขปรับปรุงตัว อันนี้เป็นข้อสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงสอนย้ำบ่อยๆ อย่างหลัก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หรืออีกอย่าง ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ ความเพียรท่านทั้งหลายต้องทำเอง อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตทั้งหลายเป็นผู้บอก เป็นผู้ชี้ทางให้ ก็เป็นเรื่องที่สอนให้คนเรามีความเพียรพยายามในการกระทำ
ท่านไม่ให้ไปมัวหวังพึ่งปัจจัยภายนอก เพราะปัจจัยภายนอกนั้นไม่ยั่งยืน และมันไม่อยู่กับตัว จึงไม่แน่นอน และถึงอย่างไรก็ตาม ในที่สุดตัวเราก็จะต้องทำ ถ้าจะให้เกิดผลสำเร็จที่แท้จริงแล้ว จะต้องทำจะต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้อยู่เสมอ พยายามให้เราหันมาพึ่งตัวเองให้มากขึ้น ลดความพึ่งปัจจัยภายนอก ตัดความเชื่อถือในเรื่องสิ่งที่จะมาอำนวยผลประโยชน์ของเราโดยทางลัด ให้มันน้อยลงไปๆ อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง
พระพุทธเจ้าทรงมีวัตถุประสงค์หลายอย่างในการสอนเรื่องกรรม แต่หลักใหญ่ๆ ก็มีอย่างนี้ ขอยกมาเพียง ๒ อย่างนี้ก่อน
การทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ที่กล่าวมานี้ จุดสำคัญก็คือต้องการให้เรามีความเพียรพยายามในการที่จะทำความดีและแก้ไขปรับปรุงตนเองขึ้นไป อันนี้แหละเป็นหลักสำคัญมากในพุทธศาสนา ซึ่งต้องถือว่าจุดมุ่งหมายจะบรรลุได้ก็โดยที่ตัวเราต้องทำ ศาสดาครูอาจารย์เป็นเพียงผู้แนะผู้บอกทางให้เท่านั้น ไม่ใช่ว่าช่วยเราไม่ได้เลย ท่านจะช่วยแบบที่ว่าส่งเราไปสวรรค์ ส่งเราไปนรก ส่งเราไปนิพพานนั้น ส่งไปไม่ได้ แต่บอกทางให้ ชี้ทางให้ แนะนำพร่ำสอนกันได้ เป็นกัลยาณมิตรให้ แต่ถึงตอนทำ เราต้องทำ
๔. ความหมายที่แท้ของกรรม
ต่อไปจะพูดถึงตัวแท้ของหลักกรรมเอง ซึ่งก็จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเหมือนกัน หลักกรรมเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง พอพูดถึงความหมายที่ลึกซึ้ง ก็กลายเป็นเรื่องเกี่ยวเข้าไปถึงหลักใหญ่ๆ โดยเฉพาะปฏิจจสมุปบาท
จะต้องระลึกไว้ว่า กรรมนี้ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องภายนอก ไม่ใช่การกระทำที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจาเท่านั้น ต้องมองเข้าไปถึงกระบวนการทำงานในจิตใจ และผลที่เกิดขึ้นในจิตใจแต่ละขณะๆ ทีเดียว ความหมายที่แท้จริงของกรรมมุ่งเอาที่นั่น คือความเป็นไปในจิตใจของแต่ละคน แต่ละขณะ กรรมที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาอะไรๆ ก็ต้องเริ่มขึ้นในใจก่อนทั้งนั้น
จุดเริ่มแรกในกระบวนการทำงานของจิตเป็นอย่างไร เกิดขึ้นโดยมีเหตุมีผลอย่างไร แล้วแสดงออกทางบุคลิกภาพอย่างไร ในขั้นลึกซึ้งจะต้องศึกษาเรื่องกรรมกันอย่างนี้ ถ้าทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ให้ชัดแจ้งแล้ว เราจะมองเห็นว่ากรรมเกี่ยวพันกับชีวิตของเราอย่างชัดเจนอยู่ตลอดเวลาทุกขณะ แต่ความเข้าใจในขั้นนี้เป็นขั้นที่ยาก อย่างไรก็ตาม ถ้าเราต้องการให้เชื่อหลักกรรมและเข้าใจหลักกรรม จนรู้หลักกรรมที่แท้จริง ก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้ทั้งๆ ที่ยากนั่นแหละ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทาง
ถ้าเราไม่สามารถศึกษาให้เข้าใจชัดเจนถึงกระบวนของกรรมในขั้นจิตใจ ตั้งต้นแต่ความคิดออกมาจนชัดเจนได้ เราก็ไม่มีทางที่จะสอนกันให้เข้าใจหรือให้เชื่อหลักกรรมได้ ความคิดที่มีผลต่อบุคลิกภาพออกมาแต่ละขณะๆ นั่นแหละคือกรรม กรรมนี้ที่แท้ก็คือเรื่องของกฎธรรมชาติ เรื่องของข้อเท็จจริง
ความจริง ปัญหาของเราไม่ใช่ว่าทำอย่างไรจึงจะเชื่อเรื่องกรรม เมื่อหลักกรรมเป็นกฎธรรมชาติ เป็นหลักแห่งความจริง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ว่าทำอย่างไรจะเชื่อ แต่กลายเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ จึงจะเข้าใจ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่มีผลต่อหลักกรรม หลักกรรมเป็นความจริง มันก็คงอยู่อย่างนั้น เราจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ มันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้นเอง เข้าหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสในเรื่องธรรมนิยาม ว่า
อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ… ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่อุบัติก็ตาม หลักความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น
แม้แต่พระพุทธเจ้าไม่อุบัติ มันก็เป็นความจริงของมัน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเราจะศึกษาให้เข้าใจชัดเจน เพราะฉะนั้น ไปๆ มาๆ จึงกลายเป็นว่า จะต้องเปลี่ยนหัวเรื่องที่ตั้งไว้แต่ต้นที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเชื่อเรื่องกรรม กลายเป็นว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้หรือเข้าใจเรื่องกรรม คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ มันก็เป็นความจริงของมัน คุณจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ชีวิตของคุณก็ต้องเป็นไปตามกรรม ถ้าทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว เราไม่ง้อคนเชื่อ
เพราะฉะนั้นจุดสำคัญอยู่ที่นี่ คือสำคัญที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจชัดเจน จนกระทั่งเมื่อแสดงให้เห็นตัวความจริงได้แล้ว เราไม่ง้อคนเชื่อ เราบอกว่าอันนี้เป็นกฎธรรมชาติ เป็นความจริงของมันอยู่เอง คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ฉันไม่ง้อ ต้องถึงขั้นนั้น
ทีนี้ก็มาถึงปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจหรือรู้หลักกรรม ตรงนี้ก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา เรื่องกรรมนี่เราพูดกันมาก แต่ก็พูดกันเพียงแค่ภายนอก โดยมากมุ่งผลหยาบๆ ที่แสดงแก่ชีวิตของคนเรา ถ้าเป็นผลในแง่ดีก็มองไปที่ถูกลอตเตอรี่หรือร่ำรวยได้ยศศักดิ์ อย่างใหญ่ๆ เป็นก้อนใหญ่ๆ จึงเกิดความรู้สึกว่าอันนี้คงจะเป็นผลของกรรมดี ส่วนในแง่ร้ายเราก็มองไปถึงการเกิดภัยพิบัติ เกิดอันตรายใหญ่โตไปอย่างนั้น จึงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องกรรม แต่ในแง่นั้นยังไม่ถึงหัวใจแท้จริงของกรรม
ถ้าจะศึกษาเรื่องกรรมให้เข้าใจชัดเจน จะต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการของจิตใจภายในนี้เป็นต้นไป ซึ่งก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ขอย้ำว่าการศึกษาแต่ด้านภายนอกให้มองเห็นกรรมที่แสดงออกเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ นั้นไม่พอ ต้องหันมาศึกษาเรื่องลึกซึ้งด้วย อันนี้อาตมภาพก็เป็นแต่เพียงมาเสนอแนะ เราจะพูดถึงเนื้อแท้ของหลักกรรมในแง่ลึกซึ้งอย่างเรื่องปฏิจจสมุปบาทในที่ประชุมนี้ก็คงไม่ไหว เป็นแต่บอกว่าควรจะเป็นอย่างนี้เท่านั้น
เป็นอันว่า ที่ตั้งเป็นหัวข้อว่าทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรมนี้ ปัญหามันมาอยู่ที่ว่า จะศึกษาทำความเข้าใจหลักกรรมให้ลึกซึ้งจนเห็นข้อเท็จจริงออกมาได้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาระยะยาว ขอผ่านไปก่อน เพราะไม่มีเวลาจะพูดลึกซึ้งไปได้ในเรื่องนี้อีก
No Comments
Comments are closed.