- (กล่าวนำ)
- ขั้นที่ ๑ นึกถึงผลเสียของความเป็นคนมักโกรธ
- ขั้นที่ ๒ พิจารณาโทษของความโกรธ
- ขั้นที่ ๓ นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ
- ขั้นที่ ๔ พิจารณาว่า ความโกรธ คือการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง
- ขั้นที่ ๕ พิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน
- ขั้นที่ ๖ พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระพุทธเจ้า
- ขั้นที่ ๗ พิจารณาความเคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ
- ขั้นที่ ๘ พิจารณาอานิสงส์ของเมตตา
- ขั้นที่ ๙ พิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ
- ขั้นที่ ๑๐ ปฏิบัติทาน คือ การให้หรือแบ่งปันสิ่งของ
ขั้นที่ ๓
นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ
ขั้นที่ ๓ นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ
ธรรมดาคนเรานั้น ว่าโดยทั่วไป แต่ละคนๆ ย่อมมีข้อดีบ้างข้อเสียบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง จะหาคนดีครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่มีข้อบกพร่องเลย คงหาไม่ได้หรือแทบจะไม่มี บางทีแง่ที่เราว่าดี คนอื่นว่าไม่ดี
บางทีแง่ที่เราว่าไม่ดี คนอื่นว่าดี เรื่องราว ลักษณะหรือการกระทำของคนอื่นที่ทำให้เราโกรธนั้น ก็เป็นจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของเขาอย่างหนึ่ง หรืออาจเป็นแง่ที่ไม่ถูกใจเรา
เมื่อจุดนั้นแง่นั้นของเขาไม่ดีไม่ถูกใจเรา ทำให้เราโกรธ ก็อย่ามัวนึกถึงแต่จุดนั้นแง่นั้นของเขา พึงหันไปมองหรือระลึกถึงความดีหรือจุดอื่นที่ดีๆ ของเขา เช่น
คนบางคน ความประพฤติทางกายเรียบร้อยดี แต่พูดไม่ไพเราะ หรือปากไม่ดี แต่ก็ไม่ได้ประพฤติเกะกะระรานทำร้ายใคร
บางคนแสดงออกทางกายกระโดกกระเดกไม่น่าดู หรือการแสดงออกทางกายเหมือนไม่มีสัมมาคารวะ แต่พูดจาดี สุภาพ หรือไม่ก็อาจพูดจามีเหตุมีผล หรือบางคนปากร้ายแต่ใจดี หรือสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ค่อยดี แต่เขาก็รักงานตั้งใจทำหน้าที่ของเขาดี หรือคราวนี้เขาทำอะไรไม่สมควรแก่เรา แต่ความดีเก่าๆ เขาก็มี เป็นต้น
ถ้ามีอะไรที่ขุ่นใจกับเขา ก็อย่าไปมองส่วนที่ไม่ดี พึงมองหาส่วนที่ดีของเขาเอาขึ้นมาระลึกนึกถึง ถ้าเขาไม่มีความดีอะไรเลยที่จะให้มองเอาจริงๆ ก็ควรคิดสงสาร ตั้งความกรุณาแก่เขาว่า โธ่! น่าสงสาร ต่อไปคนคนนี้คงจะต้องประสบผลร้ายต่างๆ เพราะความประพฤติไม่ดีอย่างนี้ นรกอาจรอเขาอยู่ ดังนี้เป็นต้น พึงระงับความโกรธเสีย เปลี่ยนเป็นสงสารเห็นใจหรือคิดช่วยเหลือแทน
ถ้าคิดอย่างนี้ ก็ยังไม่หายโกรธ ลองวิธีขั้นต่อไปอีก
No Comments
Comments are closed.