การประสานกิจกรรมแห่งทาน ศีล และภาวนา

24 กรกฎาคม 2540
เป็นตอนที่ 13 จาก 14 ตอนของ

การประสานกิจกรรมแห่งทาน ศีล และภาวนา

ในวัฒนธรรมของชาวพุทธแต่โบราณนิยมว่า ในวันที่พักผ่อนจากการงานอาชีพหรือในวันสำคัญทางพระศาสนา โดยเฉพาะในวันอุโบสถ ที่เรียกกันว่า วันพระ ชาวพุทธจะบำเพ็ญบุญกิริยาทั้ง ๓ อย่าง คือ ทั้งทาน ศีล และภาวนา ประสานพร้อมไปด้วยกัน ดังคำที่พูดติดปากกันมาว่า “วันพระ ให้ทาน รักษาศีล และฟังเทศน์ฟังธรรม” ในวันเช่นนั้น ซึ่งเป็นวันที่รักษาศีลเป็นพิเศษ ผู้คนว่างเว้นทั้งจากการประกอบอาชีพ และจากกิจกรรมในทางสนุกสนานบันเทิงมัวเมา (ไม่ต้องพูดถึงอบายมุขทั้งหลาย) จึงมีเวลาและโอกาสมากมายที่จะทำกิจกรรมที่ดีงามเป็นประโยชน์เป็นบุญเป็นกุศลที่ท่านเรียกว่า “อนวัชชกรรม”

ชาวพุทธในสมัยปัจจุบันอาจจะอนุวัตรตามคตินี้ โดยใช้วันหยุดงานเป็นวันสำหรับจัดทำกิจกรรมต่างๆ ที่ดีงามสร้างสรรค์ ตามหลักทาน ศีล ภาวนานั้น เช่น

– บำเพ็ญทาน ทั้งถวายทานแก่พระภิกษุสามเณร ช่วยเหลือเด็กกำพร้า คนชรา คนพิการ คนยากไร้ขาดแคลน และบำเพ็ญอภัยทานแก่สัตว์ทั้งหลาย

– รักษาศีล ๘ ตามกำลัง อย่างน้อยก็รักษาศีล ๕ ให้มั่นคง

– จัดกิจกรรมเสริมธรรมเสริมปัญญา เช่น บรรยาย ปาฐกถา อภิปราย และสนทนาธรรม เป็นต้น หรือจะอ่านหนังสือ จะค้นคว้าตำรับตำราเป็นส่วนตัวก็ได้

– สวดมนต์ร่วมกัน เพื่อทบทวนพุทธวจนะ และเพื่อโน้มน้อมจิตใจสู่ความสงบหรือเตรียมจิตสู่สมาธิ

– ทำกิจกรรมบริหารสุขภาพเพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตขั้นสูงขึ้นไปในทางจิตใจและปัญญา

– ทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เสียหาย รวมทั้งกีฬา ที่มีความมุ่งหมายชัดเจนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน หรือเพื่อฝึกวินัยและเสริมสร้างความสามัคคีมีน้ำใจต่อกันในสังคม

– เจริญจิตเจริญปัญญา ด้วยการฝึกสมาธิตามสมถวิธี และพัฒนาปัญญาตามวิปัสสนาวิธี

– ปลีกตัวแสวงวิเวกเพื่อสงบใจ พิจารณาธรรม และรื่นรมย์กับความสงบงามของธรรมชาติ

– ชวนกันบำเพ็ญประโยชน์ เช่น พัฒนาวัด พัฒนาโรงเรียน พัฒนาชุมชน สร้างสาธารณูปโภค ปลูกสวน ปลูกป่า เป็นต้น

ฯลฯ

ถ้าชาวพุทธพากันปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพียงให้ได้ตามหลักการใหญ่ๆ ที่เป็นพื้นฐานเพียงเท่านี้ ก็มั่นใจได้ว่า ทุกคนจะมีชีวิตที่เจริญงอกงามมีความสุข สังคมจะร่มเย็นมั่นคงปลอดภัย โลกจะรื่นรมย์คงอยู่ในความเกษมสวัสดี และพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ยั่งยืนสถาพรวัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชานิกรคู่ฟ้าคู่แผ่นดิน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — ๓. ภาวนาคำปรารภ >>

No Comments

Comments are closed.