ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา

1 เมษายน 2525
เป็นตอนที่ 5 จาก 8 ตอนของ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา
ในรอบ ๒ ศตวรรษ

 

เกล้ากระผมใคร่จะขอถือโอกาสนี้สนทนาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา ในรอบ ๒ ศตวรรษ1

เรื่องนี้ก็น่าสนใจ แต่ผมไม่ค่อยได้เอาใจใส่ เพราะเวลานี้สนใจแต่จะศึกษาว่าธรรมที่แท้จริงคืออะไร และการช่วยกันศึกษา ช่วยกันสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมที่แท้จริงนั้น ต่อจากนั้นก็อยากให้ช่วยกันคิดหาทางว่าจะนำเอาธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิต และกิจการต่างๆ อย่างไร อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถามแล้วก็จะแสดงความคิดเห็นไปตามที่นึกได้

ขอทราบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล

คำถามนี้กว้างขวางมากและมีรายละเอียดที่ต้องวิเคราะห์แยกแยะกันอีกหลายอย่าง ความจริงเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้เรื่องหนึ่งทีเดียว ในที่นี้ถ้าอนุญาตก็อยากจะขอจำกัดขอบเขตหรือเปลี่ยนคำถามให้แคบเข้ามาว่า ลักษณะความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง หรือที่ควรจะเป็นระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา หรือระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักร เป็นอย่างไร ถ้าจำกัดกันเพียงแค่หลักการอย่างนี้ ก็ตอบง่ายขึ้นสักหน่อย

หลักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนานั้น จะเห็นได้จากข้อธรรมต่างๆ เช่นอย่างใน อปริหานิยธรรม ซึ่งมี ๗ ข้อ ข้อที่ ๗ พูดถึงหน้าที่ของรัฐว่า จัดให้ความอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย โดยตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้ว พึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก หลักนี้พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่เจ้าลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี ซึ่งปกครองรัฐโดยระบอบสามัคคีธรรม หรืออย่างใน จักรวรรดิวัตร ก็จะมีข้อธรรมที่แสดงถึงหน้าที่ของผู้ครองแผ่นดินที่จะพึงปฏิบัติเกี่ยวกับทางศาสนา คือการจัดการรักษาคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย และในข้อสุดท้ายก็จะมีว่า สมณพราหมณปริปุจฉา หมายถึงการไปปรึกษา สอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดว่า การอันใดดีการอันใดชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง

นอกจากการที่จะต้องมีความสัมพันธ์กับสถาบันทางศาสนาแล้ว ผู้ปกครองก็มีหน้าที่ต่อธรรมะโดยตรง เช่นว่าเป็นธรรมาธิปไตย เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่เป็นหลักในกิจการทั้งปวง ให้ความคุ้มครองรักษาป้องกันอันชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแว่นแคว้น และรักษาความเป็นธรรม ไม่ให้มีการประพฤติหรือทำการอันผิดธรรมขึ้นในบ้านเมืองเป็นต้น ถ้าสรุปโดยย่อก็คงจะได้เป็น ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือการอุปถัมภ์บำรุงคุ้มครอง อย่างที่ ๒ คือการปรึกษาสดับฟังธรรม นำเอาธรรมะมาใช้ปฏิบัติ เพราะว่าผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมด้วยตนเอง เป็นผู้มีธรรม ประพฤติชอบธรรม และปกครองแผ่นดินโดยธรรม ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองทั้งหมด

ส่วนทางฝ่ายพุทธจักร หน้าที่ก็คือการแนะนำสั่งสอนเผยแพร่ธรรมแก่ประชาชน อันนี้เป็นหน้าที่โดยตรง เมื่อแนะนำสั่งสอนประชาชน เผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรม และรู้จักฝึกอบรมจิต ฝึกอบรมปัญญา ประชาชนอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ประพฤติดีปฏิบัติชอบแล้ว ก็เป็นผลประโยชน์แก่แผ่นดินไปเอง นอกเหนือจากหน้าที่ที่ปฏิบัติอย่างกว้างๆ ต่อประชาชนแล้ว ก็อาจจะมีความสัมพันธ์กับองค์พระมหากษัตริย์เองหรือว่าผู้ปกครองแผ่นดิน ในฐานะเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจแนะนำในทางธรรม และในเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่จะไม่เข้าไปกุมอำนาจการเมืองอย่างนักบวชบางศาสนา

เมื่อว่าตามหลักการอย่างนี้แล้ว หันไปดูในทางปฏิบัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนา ก็ปรากฏว่าได้เป็นไปในทำนองนี้ ซึ่งจะเห็นได้ในพระประวัติของพระพุทธเจ้า เท่าที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับรัฐ เช่นที่ว่าทางฝ่ายรัฐหรือผู้ปกครองแสวงหาธรรม เป็นใฝ่ใจในธรรมนั้น ก็มีตัวอย่างมากมาย อย่างในพระวินัยปิฎก มหาวรรค บันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ เสด็จมายังแคว้นมคธ ประทับอยู่ที่สวนป่าลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับข่าวก็พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมากเสด็จมาที่สวนป่าลัฏฐิวันนั้น ณ ที่นั้นก็ได้ทรงสดับพระธรรมจากพระพุทธเจ้า เป็นเหตุให้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ถวายพระเวฬุวันแด่พระพุทธเจ้าเป็นต้น หลังจากนั้นก็คงจะได้เสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าบ่อยๆ ดังมีเรื่องที่ท่านบันทึกกันมาว่า ทรงเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอุปถัมภ์บำรุงเป็นอย่างมาก ต่อมาในสมัยพระราชโอรสคือพระเจ้าอชาตศัตรู แม้ว่าจะได้เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา แต่ต่อมาก็ทรงใฝ่แสวงธรรมเช่นเดียวกัน พระเจ้าอชาตศัตรูเคยเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้า อย่างเรื่องในทีฆนิกาย สีลักขันธวรรค ในสามัญญผลสูตร พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องธรรมะหรือเรื่องทางศาสนา หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็ได้เป็นผู้อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งแรก และอย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งปกครองแคว้นโกศล ณ นครสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับที่นครสาวัตถีบ่อย จึงมีเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้ามากมายหลายเรื่อง รวบรวมไว้ ในสังยุตตนิกาย โกศลสังยุตต์ ในบาลีเล่ม ๑๕ เสด็จไปถามธรรมะต่างๆ บ่อยๆ ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับส่วนพระองค์ เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปของรัฐและประชาชน แม้ในระดับเจ้านายข้าราชการเสนาบดีต่างๆ ก็ไปแสวงหาธรรมกันอยู่เสมอ อย่างอภัยราชกุมาร โพธิราชกุมาร ก็มีเรื่องเล่ามาแต่ละสูตรๆ วัสสการพราหมณ์ก็เคยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังเรื่องในมหาปรินิพพานสูตร และในอังคุตตรนิกาย ที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสอปริหานิยธรรม และวัสสการพราหมณ์คนเดียวกันนี้ ก็ได้ไปซักถามพระอานนท์ ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เป็นที่มาของ โคปกโมคคัลลานสูตร ซึ่งแสดงเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ หรืออย่างสีหเสนาบดีแห่งวัชชี ก็มีเรื่องราวปรากฏว่านับถือนิครนถ์ และต่อมาได้หันมานับถือพุทธศาสนา มีพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ส่วนในข้อที่รัฐทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงคุ้มครองทางฝ่ายศาสนานั้น ก็มีเรื่องราวปรากฏซึ่งแสดงชัดถึงหลักการนี้ เช่นอย่างในองคุลิมาลสูตร ที่ว่าด้วยเรื่ององคุลิมาล อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าได้ไปปราบโจรองคุลิมาล ทำให้องคุลิมาลเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แล้วเข้ามาบวช เหตุการณ์ครั้งนั้น เกิดขึ้นโดยที่พระเจ้าปเสนทิโกศลยังไม่ทรงทราบ อยู่มาคราวหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นว่าเรื่องโจรองคุลิมาลนั้นเป็นเรื่องใหญ่โต ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนมาก จึงทรงยกทัพจะไปปราบ ระหว่างทางที่ไปปราบนั้นก็มาแวะเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน ทีนี้ จะขออ่านพระไตรปิฎกให้ฟัง ความในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๕๒๖ ภาษาไทยหน้า ๓๙๒ ว่า

“ได้ยินว่า ณ ที่พระนครสาวัตถีนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นหมู่มหาชนประชุมกันอยู่ที่ประตูพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่งเสียงอื้ออึงว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ในแว่นแคว้นของพระองค์มีโจรชื่อองคุลิมาล เป็นคนหยาบช้า มีมือเปรอะเปื้อนด้วยเลือด ปักใจในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย องคุลิมาลโจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้าน กระทำนิคมไม่ให้เป็นนิคม กระทำชนบทไม่ให้เป็นชนบท เขาเข่นฆ่ามนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงๆ ไว้ ขอพระองค์จงกำจัดมันเสีย

ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกจากนครสาวัตถี ด้วยกระบวนม้าประมาณ ๕๐๐ เสด็จไปทางพระอาราม แต่ยังวันทีเดียว เสด็จไปยังสุดภูมิประเทศ สุดมรรคาที่จะไปได้แล้ว ลงดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วว่า “มหาบพิตร พระเจ้าแผ่นดินมคธจอมเสนา คือพระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำให้พระองค์ขัดเคืองหรือหนอ หรือเจ้าลิจฉวีเมืองเวสาลี หรือว่าพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์เหล่าอื่น

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธจอมเสนา พระนามว่าพิมพิสารก็ดี หาได้ทรงทำให้หม่อมฉันขัดเคืองไม่ แม้เจ้าลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ไม่ได้ทรงทำให้หม่อมฉันขัดเคือง แม้พระราชาที่เป็นปฏิปักษ์เหล่าอื่น ก็ไม่ได้ทำให้หม่อมฉันขัดเคือง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในแว่นแคว้นของหม่อมฉัน มีโจรชื่อว่าองคุลิมาลเป็นคนหยาบช้า ทำชนบทไม่ให้เป็นชนบท เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวง หม่อมฉันจะกำจัดมันเสีย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “มหาบพิตร ถ้าพระองค์ทอดพระเนตรเห็นองคุลิมาลปลงผม หนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นพูดเท็จ ฉันอาหารมื้อเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มหาบพิตรจะพึงทรงกระทำอย่างไรกับเขา

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตรัสว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันพึงไหว้พึงลุกรับพึงเชื้อเชิญด้วยอาสนะ พึงบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร หรือพึงจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่องคุลิมาลโจรนั้นเป็นคนมีบาปธรรม จะมีความสมบูรณ์ด้วยศีลถึงปานนี้แต่ที่ไหน

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่าอย่างนี้ ตอนนั้น พระองคุลิมาลก็นั่งอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงยกพระหัตถ์ขึ้นชี้ตรัสบอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “พระองคุลิมาลอยู่ที่นั่น” พระเจ้าปเสนทิโกศลก็สะดุ้งตกพระทัย แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสบอกว่า ไม่ให้ทรงกลัว ไม่มีภัยจากพระองคุลิมาลแล้ว หลังจากนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้สติ เสด็จเข้าไปหาพระองคุลิมาลแล้ว ทรงสอบถามสนทนาและตรัสในตอนท้ายว่า “ท่านผู้เจริญ ขอพระผู้เป็นเจ้าคัคคมันตานีบุตร จงอภิรมย์เถิด ข้าพเจ้าจะทำการขวนขวาย เพื่อจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร แก่พระผู้เป็นเจ้าคัคคมันตานีบุตร” (คัคคะ นั้นเป็นชื่อบิดา และมันตานี เป็นชื่อมารดาของพระองคุลิมาล เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าคัคคมันตานีบุตร)

นี้ก็เป็นตัวอย่างแสดงถึงธรรมเนียมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระสงฆ์ คือในแง่ที่เป็นบุคคล ทางรัฐก็มีหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ แม้แต่ผู้ที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์เคยกระทำการร้ายมา เมื่อบวชแล้วก็ได้รับความคุ้มครองรักษาได้รับการเคารพนับถือ นี่เป็นด้านรัฐต่อฝ่ายศาสนา ส่วนทางฝ่ายพระศาสนาก็เห็นได้ชัดอยู่อย่างเดียวกันแล้วว่า เมื่อทางฝ่ายรัฐหรือทางผู้ปกครองไปถามไถ่ปรึกษาเรื่องธรรมะก็ชี้แจงสั่งสอนไป นอกจากการชี้แจงแนะนำสั่งสอนอย่างทั่วๆ ไปแล้ว บางคราวก็มีเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าเกี่ยวข้องในกิจการระดับรัฐ ที่เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง แต่เป็นแง่ที่เกี่ยวกับธรรมะ เรื่องความสงบหรือสันติภาพ ที่ปรากฏชัดก็คือเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามทัพของพระญาติสองฝ่าย ได้แก่ฝ่ายศากยะ กับโกลิยะ ที่จะรบชิงแม่น้ำโรหิณี ทรงสั่งสอนชี้แจงทำให้พระญาติทั้งสองฝ่ายนั้นได้มองเห็นสิ่งที่ควรไม่ควร ระงับโทสะกันได้ แล้วเลื่อมใสในธรรม สงบศึกกันไม่เสียเลือดเนื้อ ตกลงกันได้โดยทางสันติ นอกจากนั้น เนื่องจากเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้า จึงตกลงกันให้พวกเจ้าชายทั้งหลายที่จะมารบกันนั้น มาบวชกับพระพุทธเจ้าทั้งหมดถึง ๕๐๐ ท่าน ต่อมาก็เรื่องที่พระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพจะไปล้างเผ่าศากยะ พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปทรงประทับในระหว่างทาง ทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพกลับถึง ๓ ครั้ง หลังจากนั้นจึงทรงปล่อยไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่กรณีอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง อย่าตีความว่า พระพุทธเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมืองการรบราฆ่าฟันโดยตรง

เรื่องที่เล่ามานี้เป็นกรณีที่พระองค์ทำในฐานะพระญาติด้วย และอีกอย่างหนึ่งก็ทรงทำในแง่บทบาทเท่าที่พระจะทำได้ หรือทางฝ่ายศาสนาจะทำได้ คือมีขอบเขตที่จะทำ อย่างกรณีแรกเรื่องพระญาติแย่งแม่น้ำโรหิณีนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติด้วยการทรงแนะนำสั่งสอนให้เห็นคุณค่าของชีวิตของผู้ที่จะมารบ และเทียบกับคุณค่าของน้ำ เท่ากับให้เห็นคุณค่าของความสงบ ด้วยการแนะนำโดยทางธรรม ส่วนกรณีที่สอง ก็เสด็จไปพอเป็นการให้รู้เข้าใจเอาเอง ส่วนที่เป็นเรื่องการเมืองจะปฏิบัติต่อกันเองนั้น พระองค์ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงเอื้อต่อทางฝ่ายรัฐ คือในแง่ที่เป็นขอบเขตอำนาจของรัฐ พระองค์ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง หมายความว่าทางบ้านทางเมืองทางฝ่ายคฤหัสถ์เขาจะอยู่จะปกครองกัน ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นไปด้วยดีโดยชอบ ก็ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง ไม่ให้เขาเสียระบบระเบียบของเขา

ฉะนั้น ในวินัยจะเห็นว่าพระองค์ได้บัญญัติสิกขาบทขึ้น เพื่อไม่ให้พระสงฆ์เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของรัฐ ที่เขาดำเนินกันอยู่ตามปกติ แม้แต่การบวชก็จะมีการวางสิกขาบทไว้ เช่นว่าไม่ให้รับบวชบุคคลที่เป็นข้าราชการ หรือไม่ให้รับบวชคนที่เป็นโจรมีชื่อเสียงโด่งดัง อะไรดังนี้เป็นต้น สิ่งใดที่พอจะอนุโลมได้ก็ยังมีหลักไว้ว่า ราชูนํ อนุวตฺติตุํ คือทรงอนุญาตให้อนุวัตรตามพระราชา (พระราชาหมายถึง ทางฝ่ายรัฐหรือฝ่ายบ้านเมืองนั่นเอง) เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นขอบเขตอำนาจของรัฐที่พึงเป็นไปได้โดยชอบธรรม ที่ไม่เป็นการเสียหายแก่หลักการอะไรของศาสนา เป็นเรื่องของความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป เช่นการนับวันเวลาเป็นต้น

ทำไมทางฝ่ายรัฐจะต้องมาสัมพันธ์กับพุทธศาสนาอย่างนั้น เช่นว่าคุ้มครองป้องกันอุปถัมภ์บำรุงเป็นต้น

เรื่องนี้ยังไม่ตอบโดยตรง แต่เมื่อสรุปหลักความสัมพันธ์ดังกล่าวมาแล้ว ก็อาจเข้าใจเหตุผลได้เอง การที่รัฐสัมพันธ์กับพุทธศาสนา เราอาจสรุปหลักการได้เป็น ๒ อย่าง คือ

๑. เป็นหน้าที่เกี่ยวกับธรรม หรือหน้าที่ต่อธรรม คือ รัฐโดยเฉพาะผู้ปกครองที่ดีย่อมเป็นผู้ใฝ่ธรรมแสวงธรรมและเป็นผู้เชิดชูธรรม พระสงฆ์หรือทางฝ่ายศาสนานั้นเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งธรรม เป็นผู้เผยแพร่และสืบต่อสืบทอดธรรมให้ดำรงอยู่ในโลกในสังคม เพราะฉะนั้น รัฐก็ทำหน้าที่ในการที่จะช่วยผู้ดำรงรักษาสืบทอดธรรมเผยแพร่ธรรมนี้ ให้ทำหน้าที่นั้นได้ด้วยดี การทำอย่างนั้นก็เท่ากับรัฐได้เชิดชูธรรมด้วย การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ยกย่องพระองคุลิมาล ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวพระองคุลิมาลก็มาบวชจากโจร การที่พระองค์ทรงกราบไหว้หรือทะนุบำรุงนั้น หมายความว่าพระองค์ทรงเคารพธรรม หรือเชิดชูธรรม คือ ธรรมที่พระองคุลิมาลนี้ เมื่อได้เข้ามาบวชแล้ว จะต้องเป็นผู้รักษาประพฤติปฏิบัติและธำรงสืบทอดไว้ หรืออย่างในสามัญญผลสูตร ก็มีหลักการอย่างเดียวกันนี้ตรัสไว้ โดยพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ถ้าชาวนาออกบวช พระเจ้าอชาตศัตรูจะตรัสกับชาวนานั้นว่า “เฮ้ยเจ้าคนนั้น เจ้าจงมา เจ้าเป็นชาวนามาเสียค่าอากรเสีย อย่างนี้หรือ” พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทูลตอบว่า “จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้เขาคือพระชาวนาที่มาบวชแล้วนั้น จะลุกรับเขา จะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยและเภสัชบริขาร ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม

สืบเนื่องจากหน้าที่ที่เกี่ยวกับธรรมนี้ ก็ทำให้พระมหากษัตริย์หรือทางรัฐมีหน้าที่ต่อไปอีกคือ จะต้องพยายามให้ศาสนาบริสุทธิ์ เพื่อให้มีธรรมดำรงอยู่สืบต่อไป ในสังคมหรือในโลกนี้ การทำสังคายนาก็ดี การกำจัดชำระล้างศาสนาในบางสมัยก็ดี เป็นเรื่องที่จัดได้ว่าอยู่ในหน้าที่ข้อนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยขึ้นในวงการพระศาสนา รัฐก็เข้ามาอุปถัมภ์คณะสงฆ์ในการทำสังคายนาร้อยกรองธรรมวินัย เพื่อรักษาธรรมะที่บริสุทธิ์ไว้ สังคายนาสมัยต่างๆ โดยมากก็มีพระเจ้าแผ่นดินหรือทางรัฐเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ ทั้งในประเทศอินเดีย ในลังกา ตลอดจนกระทั่งในประเทศไทยหลายครั้งหลายสมัย และแม้ในกรณีปลีกย่อย เมื่อปรากฏว่ามีคนของรัฐ หรือพลเมืองคือคนของบ้านเมือง ที่เป็นคนร้ายคนไม่ดีเข้าไปซุกซ่อนตัวแอบแฝงอยู่ เข้าไปบวชเข้าไปเบียดเบียนทำลายศาสนา ทางรัฐหรือทางพระเจ้าแผ่นดินนี้ก็ช่วยรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนา ด้วยการไปเอาคนของตนเองหรือพลเมืองของตนเอง ที่เป็นคนไม่ดีที่เข้าไปทำลายศาสนานั้นออกมา อันนี้ก็ถือว่าเป็นการชำระล้างศาสนาด้วยการเอาคนร้ายพลเมืองไม่ดีของตนเองกลับออกมาเสีย ไม่ให้เข้าไปทำลายศาสนา

ข้อที่ ๒ เป็นหน้าที่ในฐานะที่ผู้ปกครองหรือรัฐเป็นตัวแทนของประชาชน ในการแสดงน้ำใจตอบแทนต่อทางฝ่ายสงฆ์ หรือทางฝ่ายศาสนา ข้อนี้หมายความว่า ตามปกติพระภิกษุสงฆ์หรือทางฝ่ายศาสนาเป็นผู้แนะนำสั่งสอนประชาชนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม ให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม ให้พัฒนาทางจิตทางปัญญา เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ประชาชนมีการศึกษาดี มีความรู้ความประพฤติดี มีจิตใจที่มีคุณภาพดี ก็เป็นพลเมืองที่ดี ผลประโยชน์นี้ก็ตกแก่รัฐด้วย ช่วยให้รัฐนั้นเจริญรุ่งเรืองมีความสงบสุข รัฐสำนึกในคุณของฝ่ายสงฆ์ จึงถวายความคุ้มครองทะนุบำรุงอุปถัมภ์พระสงฆ์หรือทางศาสนานั้น เป็นการตอบแทนคุณความดีหรือบูชาคุณของฝ่ายศาสนาหรือฝ่ายสงฆ์นั้นเอง และทำหน้าที่ดังกล่าวแทนประชาชน คืออุปถัมภ์บำรุงศาสนาแทนประชาชน การปฏิบัติหน้าที่อย่างนี้หรือการมีความสำนึกในหลักการนี้ จะเห็นหลักฐานเช่นในโกศลสูตร ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต บาลีเล่ม ๒๔ เล่าเรื่องว่า

ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อเข้าไปเฝ้าแล้วก็เข้าไปหมอบกราบถวายบังคมที่พระบาทของพระพุทธเจ้า ถึงกับได้ทรงกอดทรงจูบพระบาทของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสถามว่าเหตุใดพระองค์จึงได้ทรงแสดงความเคารพนอบน้อมถึงอย่างนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทูลตอบว่า พระองค์ (คือพระเจ้าปเสนทิโกศล) ทรงมุ่งจะแสดงความกตัญญูกตเวที จึงได้ทรงกระทำความเคารพนอบน้อมอย่างนั้น คือว่า พระองค์ทรงเห็นว่าพระพุทธเจ้าปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชนหรือประชาชนจำนวนมาก ทรงประดิษฐานพหูชนหรือประชาชนนั้นไว้ในกุศลธรรมในกัลยาณธรรม

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพูดให้สั้นที่สุดโดยมองในแง่วัตถุประสงค์ หลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนา สรุปได้เป็นข้อเดียว คือ การสัมพันธ์กัน หรือช่วยกันปฏิบัติกิจ เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ตามฐานะหน้าที่ของตน เพราะมีพุทธพจน์ตรัสไว้มากมาย ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ในวินัยปิฎก ในอิติวุตตกะ เป็นต้น เช่นว่า พระพุทธเจ้าและจักกวัตติราชาอุบัติขึ้นก็ตาม การประกาศสั่งสอนธรรมก็ตาม สงฆ์สามัคคีกันก็ตาม ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน

ความเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา มักจะถูกทางรัฐยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหา ชำระล้างเป็นยุคๆ เสมอมา เหตุการณ์ทำนองนี้มีขึ้นในยุคไหนบ้าง สาเหตุของเรื่องนั้นๆ เกิดจากอะไร ผลที่สุดเป็นประการใด

เรื่องอย่างนี้มีมากมายหลายครั้ง นำมาตอบในที่นี้คงจะมีรายละเอียดมากเกินไป คงจะเพียงพูดถึงก็พอ ตัวอย่างเช่นสังคายนาต่างๆ โดยมากก็มีเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นก่อน แล้วรัฐเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ วิธีของรัฐที่เข้ามาโดยมากก็เป็นเรื่องของการเข้ามาช่วยเป็นกำลังให้กับคณะสงฆ์ หรือการช่วยสนับสนุนทางฝ่ายศาสนาเอง ในการแก้ไขชำระล้างให้บริสุทธิ์ แต่บางครั้งทางรัฐยื่นมือเข้ามาจัดการโดยตรงก็มี การสังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ปรารภการที่พระสุภัททะวุฑฒบรรพชิต (พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่) กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระเถระในสมัยนั้นเกรงว่าหลักธรรมที่แท้จริงจะเสื่อมสูญไป จึงจัดให้มีการสังคายนาขึ้น และทางรัฐพระเจ้าอชาตศัตรูก็เข้ามาอุปถัมภ์ สังคายนาครั้งที่ ๒ ก็มีพระวัชชีบุตรก่อเรื่องขึ้นมา พระเถระทั้งหลายเกรงว่าพระศาสนาจะไม่บริสุทธิ์จะเสื่อมลงไป ความประพฤติปฏิบัติจะเขวออกไป จากหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา จึงจัดให้มีการสังคายนา ทางรัฐก็เข้ามาช่วย

หรือที่เห็นชัดเจนก็คือสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งสาเหตุของปัญหาก็พัวพันกันระหว่างรัฐกับทางพระพุทธศาสนา เพราะว่ารัฐเคยอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนามาก เมื่ออุปถัมภ์มากก็มีพลเมืองไม่ดีที่ต้องการลาภสักการะเข้ามาบวชในพระศาสนา เมื่อเข้ามาบวชมากก็ทำให้พระธรรมวินัยยุ่งเหยิงสับสน พวกที่เรียกว่าปลอมบวชก็มี ความไม่เรียบร้อยก็เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนา เช่นว่าพระสงฆ์รังเกียจกันเป็นต้น ผลที่สุดรัฐก็ต้องเข้ามาช่วย เพื่อให้สังฆมณฑลมีความสงบเรียบร้อย เมื่อสังฆมณฑลสงบเรียบร้อย ก็หมายถึงความสงบสุขและความเจริญของรัฐเองด้วย ประชาชนจะอยู่สงบสุขและตั้งใจทำงานประกอบอาชีพดำรงอยู่ในศีลธรรม ด้วยว่าพระสงฆ์ทำหน้าที่ของตนและหน้าที่ต่อประชาชนได้อย่างเป็นปกติ นี้คือการที่รัฐเข้ามา โดยให้กำลังแก่คณะสงฆ์ในการทำสังคายนา

แต่บางคราวที่ต้องใช้อำนาจรัฐ ต้องการเอาคนไม่ดีที่เข้ามาบวชออกไป รัฐก็ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องชำระล้างโดยจับพระสึก ในการจับพระสึกก็ให้ทางฝ่ายคณะสงฆ์เป็นผู้วินิจฉัยเสียก่อน ว่าผู้นี้ผู้นั้นหรือใครมีลักษณะอย่างไร ที่เป็นพระแท้หรือพระไม่แท้ มีความเข้าใจหรือไม่เข้าใจในหลักการของพระพุทธศาสนา เมื่อทางฝ่ายศาสนาหรือฝ่ายสงฆ์วินิจฉัยให้แล้ว รัฐก็ช่วยในด้านอำนาจที่จะนำคนเหล่านั้นออกไปจากวงการพระศาสนา ตัวอย่างในเมืองไทยนี้ก็มี เช่นในสมัยพระนารายณ์มีพงศาวดารบันทึกไว้ ตอนนั้นทางพระศาสนาเจริญ ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนมาก ก็มีคนที่อยากจะอยู่ให้สบายหลบหลีกหน้าที่พลเมืองเข้ามาบวช ถึงกับว่าทางฝ่ายรัฐต้องตั้งคณะกรรมการสอบความรู้พระเณร คนที่ไม่มีความรู้สมกับเป็นพระภิกษุสามเณรก็ถูกจับสึกออกไปเป็นจำนวนมาก และอย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก ที่ว่ามีก๊กต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่กันขึ้น ในจำนวนก๊กเหล่านี้ก็มีเจ้าพระฝางซึ่งเป็นพระภิกษุอยู่ด้วย เป็นผู้นำทัพพระภิกษุจำนวนมาก เมื่อพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์แล้วก็ได้ชำระเรื่องนี้ ได้มีการเอาพระมาพิสูจน์โดยการดำน้ำ นี้ก็เป็นกรณีที่ทางฝ่ายรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับทางศาสนา

ในสมัยต่อๆ มา ทางรัฐก็เข้าเกี่ยวข้องพยายามที่จะรักษาศาสนาให้บริสุทธิ์ ด้วยวิธีการทางด้านกฎหมายหรือนิติบัญญัติ เช่นอย่างรัชกาลที่ ๑ ก็ได้ทรงตรากฎพระสงฆ์ขึ้นมาถึง ๑๐ ฉบับ และในรัชกาลที่ ๕ ก็ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับแรก คือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็มีอีกฉบับหนึ่ง และต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็มีใหม่อีกฉบับหนึ่ง

นี้เป็นเรื่องที่จะถือว่ารัฐเข้ามาเกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาก็ได้ แต่โดยปกติแล้ว วิธีการชอบธรรมที่รัฐจะยื่นมือเข้ามา ก็คือด้วยการร่วมกันกับทางคณะสงฆ์ หรือเป็นฝ่ายให้กำลัง เพราะคณะสงฆ์โดยลำพังตัวเองนั้นไม่มีกำลังอำนาจในทางอาญา ต้องอาศัยทางแผ่นดิน อย่างไรก็ดีถ้าหากไม่ยืนหลักนี้ไว้ให้ดี ทางบ้านเมืองก็อาจจะทำการผิดพลาดได้ หรือแม้แต่ฝ่ายสงฆ์เอง เมื่อทางรัฐให้ความอุปถัมภ์ ถ้าทางฝ่ายสงฆ์เองไม่ดำรงอยู่ในหลักการที่ดีที่ชอบ ก็อาจจะทำการผิดพลาด พลอยให้ทางฝ่ายบ้านเมืองทำผิดไปด้วยก็ได้ แต่นี่ว่าโดยหลักการ เรื่องอย่างนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ และก็เป็นเรื่องที่ ถ้าปฏิบัติโดยถูกต้องโดยชอบธรรมแล้ว ก็ช่วยให้การพระศาสนานี้บริสุทธิ์ดำรงอยู่ได้มั่นคงยั่งยืน เป็นการรักษาพระศาสนา หรือช่วยสืบต่อพระศาสนาอย่างหนึ่ง ส่วนรายละเอียดของแต่ละเรื่องว่าเกิดขึ้นในยุคไหนบ้าง สาเหตุเป็นอย่างไร ผลที่สุดเป็นประการใดนั้น เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ก็เข้าใจว่า พอจะทราบๆ กันอยู่พอสมควรแล้ว เรื่องราวเหล่านี้คงจะมีเรื่อยๆ ไป อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็มีกรณีพระพิมลธรรม หรือแม้ในปัจจุบันนี้ก็ดูเค้าว่าคล้ายๆ จะมีเหตุการณ์อะไรที่จะทำให้เกิดความเป็นไปเช่นนั้น หรือการที่รัฐจะเข้ามายื่นมือเกี่ยวข้องขึ้นอีก

เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วรวมอยู่ในตัวอย่างของหลักการที่ว่านี้ แต่จะผิดจะถูกยังไงในที่นี้ไม่วิจารณ์ ข้อสำคัญว่ารัฐนั้นในเมื่อเห็นประโยชน์และคุณค่าของทางศาสนา และมีหน้าที่ในการเชิดชูดำรงธรรม มีหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ในการที่จะตอบแทนคุณต่อพระศาสนา เนื่องด้วยการที่พระสงฆ์มาช่วยสั่งสอนประชาชนให้มีศีลธรรมประพฤติดี ปฏิบัติชอบ พัฒนาจิตปัญญา มีความสงบเรียบร้อยอะไรต่างๆ เหล่านี้ เมื่อรัฐมีความสำนึกและจะปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ รัฐหรือผู้ปกครองในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นๆ จะต้องศึกษา ทำความเข้าใจให้ดีในเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนา จะต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง จะถือว่าเป็นคนละเรื่องคนละฝ่ายไม่เกี่ยวข้องและไม่เรียนรู้ไม่ได้ ถ้ารัฐหรือบุคคลที่ทำหน้าที่ปกครองไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาขึ้นเมื่อไร ก็อาจจะปฏิบัติผิดพลาดในเรื่องศาสนาขึ้นได้เมื่อนั้น แล้วก็เป็นเรื่องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน แก่บ้านเมือง และเป็นการเสียหลักสำคัญอย่างหนึ่งในทางการปกครอง

มียุคไหนบ้างที่ทางรัฐกับศาสนาเกิดการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดผลเสียหายทั้ง ๒ ฝ่าย

เรื่องนี้จะต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ดูให้ดีอีกทีหนึ่ง แต่ก็มีตัวอย่างเช่นในสมัยพระเจ้าตากสินหรือพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีเรื่องเล่า แต่เท็จจริงประการใดไม่ทราบ ว่าไปตามพงศาวดารท่านเล่าว่า ในปลายสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น พระองค์ทรงมีพระสติฟั่นเฟือน และทรงเข้าพระทัยพระองค์ว่าเป็นพระโสดาบัน เป็นอริยบุคคล ก็จะให้พระสงฆ์ไหว้ ได้ตรัสถามพระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชได้ทูลว่าพระสงฆ์ไหว้คฤหัสถ์ไม่ได้ แม้คฤหัสถ์จะเป็นอริยะ พระจะเป็นปุถุชนก็ไหว้คฤหัสถ์นั้นไม่ได้ และก็มีพระผู้ใหญ่องค์อื่นตอบว่าได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ถอดสมเด็จพระสังฆราชและพระอื่นที่ได้ตอบอย่างเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช อันนี้ก็เป็นตัวอย่างความขัดแย้งอันหนึ่ง ที่นำมาซึ่งผลเสียหายทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะว่าเมื่อถอดสมเด็จพระสังฆราชก็แน่นอนว่า ประชาชนที่เคารพเลื่อมใสพระสังฆราช ขุนนางผู้ใหญ่อะไรต่างๆ จำนวนมากก็กระทบกระเทือนใจ ก็ทำให้เสียความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว ส่วนผลเสียหายต่อคณะสงฆ์ก็แน่นอนว่า อย่างหนึ่งละที่พระสงฆ์ขัดแย้งกันเอง อย่างที่ ๒ ก็เกิดขัดกับทางรัฐ ความสัมพันธ์และอุปถัมภ์บำรุงก็ไม่เป็นไปอย่างที่เคยเป็น เหตุการณ์ก็ไม่ราบรื่น ก็ทำให้ผลเสียหายเกิดแก่บ้านเมืองแก่ประชาชน และก็เป็นเหตุอันหนึ่งที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแผ่นดิน หรือสิ้นสุดแผ่นดินพระเจ้าตากสิน ก้าวเข้าสู่ยุคกรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์

เป็นความจริงหรือไม่ตามที่มีบางคนกล่าวว่า ในประเทศไทยนี้ ทางฝ่ายรัฐหรือผู้ปกครองได้ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ หรือเอาสถาบันสงฆ์เป็นเครื่องมือในการปกครองประชาชน โดยใช้เป็นเครื่องทำให้ประชาชนปกครองง่ายตลอดมา

เรื่องอย่างนี้ก็เคยได้ยินอยู่ เช่นมีบางคนกล่าวถึงพระยาลิไท ที่ได้ทรงแต่งไตรภูมิขึ้นมา ก็ว่าเป็นวิธีการของฝ่ายปกครองหรือฝ่ายรัฐหรือพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อในเรื่องบุญเรื่องกรรม แล้วจะได้ปกครองกันง่ายๆ คือไม่มีความกระด้างกระเดื่อง ไม่มีความคิดออกไปในทางอื่น เรื่องอย่างนี้ไม่ควรวินิจฉัยโดยง่าย จะตอบตายตัวไปเลยทีเดียวเห็นจะไม่ถูก ประการที่ ๑ ก็เป็นเรื่องในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อน ยังจะต้องศึกษาวิเคราะห์กันให้ละเอียดลออ ให้รู้ถ่องแท้ยิ่งกว่านี้ ปัจจุบันคนไทยเรายังศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเล็กน้อยไม่เพียงพอ ไม่ควรจะด่วนวินิจฉัยลงไปทันที อีกประการหนึ่งในแง่เกี่ยวกับหลักการ ที่ว่าด้วยหลักการคือ ไม่ได้ว่าเฉพาะกรณี ในแง่หลักการก็เป็นธรรมดาอยู่เอง เป็นนักปกครองก็ควรจะพยายามทำให้ปกครองง่าย นักปกครองคนไหนพยายามทำให้ประชาชนปกครองได้ยาก เห็นจะเป็นนักปกครองที่วิปริต การที่ปกครองง่ายหรืออยากให้ปกครองง่ายเป็นเรื่องธรรมดา ปัญหามันอยู่ที่ว่าปกครองง่ายคืออะไรและเพื่ออะไร ถ้าหากว่าการปกครองง่ายนั้นมีความหมายในแง่ที่ว่าปกครองให้ได้ผลดี จะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั้นเอง จะได้เกิดความถูกต้องความชอบธรรม เป็นต้นอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องของสิ่งที่ดีงาม การปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ถ้าปกครองให้ง่ายเพื่อตัวเอง คือผู้ปกครองจะได้เสวยผลประโยชน์ได้สะดวกสบาย ถ้าอย่างนี้เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายส่วนตัว เป็นไปเพื่อเห็นแก่ตน ก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นจะต้องมีเงื่อนไขว่าปกครองให้ง่ายเพื่ออะไร

อาจจะเป็นไปได้ที่นักปกครองบางคนหรือบางยุคบางสมัย ต้องการให้ประชาชนปกครองง่าย ตัวเองจะได้เสวยผลประโยชน์ อยู่ได้อย่างสบาย จะได้มีความสุขครองอำนาจอยู่ได้ยั่งยืน นี้ก็ถือว่าเป็นความมุ่งหมายที่ไม่ชอบธรรม แต่ว่าถ้าเขาปกครองให้ง่าย โดยที่ว่าเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนเอง และการปกครองให้ง่ายก็คือการทำให้เกิดความชอบธรรมขึ้น อย่างที่เรียกว่าปกครองให้ได้ผลดีนั้นเอง ในแง่นี้ก็ตรงกับหลักการที่กล่าวมาข้างต้น ในเมื่อพระสงฆ์ได้ประพฤติปฏิบัติชอบ ได้ทำหน้าที่เผยแพร่สั่งสอนประชาชนให้รู้อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิดแล้ว ประชาชนมีศีลธรรมมีคุณภาพจิตดี มีปัญญาเจริญงอกงาม และก็อยู่ร่วมกันด้วยดี การปกครองได้ผลดีในแง่นี้ ก็เป็นการที่ถูกต้อง ส่วนการปกครองให้ง่ายโดยวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนตน เรากล่าวได้ว่าอาศัยพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์เป็นเครื่องมือ แต่ถ้าปกครองให้ง่ายโดยที่ว่า ให้ประชาชนได้มีความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ในศีลธรรม นี้ก็ถือว่าเป็นการปกครองที่อาศัยพุทธศาสนา อาศัยหลักธรรม อาศัยคณะสงฆ์โดยทางที่ชอบ นั้นก็มีเขตแดนกันอยู่ระหว่างการที่ว่าเป็นเครื่องมือหรือเป็นเครื่องเอื้ออำนวย การที่ว่าเป็นสิ่งเกื้อกูลเอื้ออำนวยในการปกครอง ไม่จำเป็นจะต้องถือว่าเป็นเจตนาร้ายในการใช้เป็นเครื่องมือเสมอไป

ถ้ารัฐกับศาสนาไม่มีความผูกพันกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินไปได้ด้วยดีเสมอไปไหมครับ

ในที่นี้คำว่า ผูกพัน ก็เป็นคำที่ต้องขยายความ ถ้าคำว่าผูกพันมีความหมายอย่างคำว่าสัมพันธ์ละก็ การที่จะไม่สัมพันธ์เห็นจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าศาสนาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประชาชน และรัฐก็ปกครองประชาชนอยู่ ถ้าเกี่ยวข้องกับประชาชน ก็ต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาอยู่ดี หนีไปไหนไม่พ้น แม้แต่ประเทศที่ว่าแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า แยก Church กับ State ออกจากกันเป็นคนละส่วน ก็ต้องมีความสัมพันธ์กับศาสนาอยู่ไม่ใช่น้อย เรื่องความสัมพันธ์นั้น ไม่สัมพันธ์ในแง่บวกก็ต้องสัมพันธ์ในแง่ลบ เช่นระวังไม่ให้ศาสนาต่างๆ มาปะทะกันเป็นต้น สำหรับประเทศที่ไม่มีเอกภาพทางศาสนาแล้ว ปัญหาเรื่องความระวังความสัมพันธ์ที่ต้องเป็นไปในแง่ลบนี้อาจจะมากสักหน่อย ส่วนประเทศที่มีเอกภาพในทางศาสนานั้น ก็มีโอกาสที่จะมีความสัมพันธ์ในแง่บวกมากขึ้น

ถ้าพูดถึงความผูกพันในความหมายของสถาบัน คือสถาบันฝ่ายศาสนากับสถาบันของรัฐ ถ้าแยกให้ต่างหากกัน ในแง่นี้ก็มีทั้งแง่ดีและแง่เสีย ทางฝ่ายศาสนาก็อาจจะได้รับผลเสียบางประการ เช่นว่าทางฝ่ายศาสนาต้องดิ้นรนเอง เมื่อดิ้นรนเองก็อาจจะมีความเข้มแข็ง มีการที่ต้องพยายามปรับปรุงตัวเอง ในแง่นั้นก็อาจจะเป็นผลดี แต่ว่าในเวลาเดียวกันเมื่อไม่ได้รับการปกป้องจากรัฐ ก็อาจจะมีกลุ่มมีขบวนการดีๆ ร้ายๆ ต่างๆ ตั้งขึ้นมา ทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากหลักธรรมวินัย โดยเฉพาะในสมัยที่ประชาชนขาดการศึกษา ความรู้เข้าใจธรรมไขว้เขวไปได้มาก หรือแม้แต่ในองค์การศาสนาในสถาบันใหญ่เอง อาจมีผู้ปลอมปนเข้ามา มีการประพฤติผิดพลาดเสียหายต่างๆ เมื่อไม่มีอำนาจไปจัดการ หรือว่าไม่สามารถจะจัดการด้วยตัวเองได้ และถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือ ผลเสียก็เกิดขึ้น อาจจะเกิดความเสื่อมโทรมในทางศาสนาได้เช่นเดียวกัน ส่วนทางฝ่ายรัฐถ้าไม่มีช่องทางที่จะผูกพันประสานกับศาสนา ศาสนาก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนได้ง่าย เมื่อประชาชนแตกแยกแล้วก็จะเกิดผลเสียแก่รัฐ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มองเห็นได้ไม่ยาก ส่วนอะไรนอกจากนี้จะไม่พูดให้มากสำหรับข้อนี้

อย่างที่พูดไปแล้วว่าตามปกตินี่ ความสัมพันธ์กันระหว่างรัฐกับศาสนาเห็นจะต้องมี หนีไปไม่พ้น ถ้าไม่เป็นความสัมพันธ์ในแง่บวกก็เป็นแง่ลบ บางท่านอาจจะอ้างถึงประเทศสหรัฐอเมริกาว่าแยกรัฐกับศาสนา หรือแยกรัฐกับสถาบันสงฆ์ออกจากกัน โดยให้ Church กับ State เป็นคนละส่วน แต่ว่ากันไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐในอเมริกาก็ยังมีมาก เพียงแต่จะต้องจับให้ถูกว่าเป็นความสัมพันธ์ในแง่ใด ถ้าพูดในทางประวัติศาสตร์ กิจการของรัฐหรือความผูกพันของรัฐต่อศาสนาก็เป็นไปในทางเพิ่มพูนขึ้น เช่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ (ค.ศ. ๑๙๕๖) รัฐสภาอเมริกัน (คองเกรส) ได้มีมติยกข้อความ In God We Trust (เรามอบชีวิตฝากจิตใจไว้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า) ขึ้นเป็นคำขวัญของชาติ (national motto) เหมือนกับว่าศาสนาคริสต์เป็นทำนองศาสนาประจำชาติกลายๆ หรืออย่างในคำปฏิญาณธงของอเมริกา สภาคองเกรสก็ได้มีมติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ให้เพิ่มคำว่า Under God เข้าต่อท้ายคำว่า One Nation เช่นเดียวกัน พอพูดถึงสหรัฐอเมริกาก็จะต้องมีคำว่า One Nation Under God (ประชาชาติอันหนึ่งอันเดียวภายใต้องค์พระผู้เป็นเจ้า) อันนี้ก็แสดงถึงความสัมพันธ์กับศาสนา

อย่างในเมืองไทยเรา รัฐมีความผูกพันในรัฐธรรมนูญกับพุทธศาสนา คำพูดอาจจะอ่อนเสียกว่า คือจะพูดแต่เพียงว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ แล้วเราก็บอกว่าที่ให้พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะนี่แหละ คือหมายถึงว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ความจริงนั้น คำที่พูดโดยตรงว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หามีในรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบันไม่ อันนี้ก็ให้เทียบกันอย่างที่กล่าวมาแล้ว อย่างของอเมริกาที่ว่า In God We Trust ก็ดี One Nation under God ก็ดี ของเขาก็ไม่ใช่เรื่องห่างศาสนาแต่ประการใด แม้ในทางปฏิบัติในกิจการต่างๆ ของรัฐนั้น ก็จะมีเรื่องของศาสนาเข้าไปปนอยู่ด้วยเสมอ เช่น พิธีปฏิญาณตนเป็นประธานาธิบดีอเมริกา ก็จะต้องปฏิญาณต่อคัมภีร์ไบเบิ้ล ตอนจบคำปฏิญาณก็เป็นธรรมเนียมให้ลงท้ายด้วยคำว่า So help me God และจะมีพระผู้ใหญ่ในคริสต์ศาสนา มีบาทหลวง หรือมี Minister ผู้ใหญ่ไปกล่าวนำ ที่เรียกได้ว่าเป็นการให้โอวาท และกล่าวปิดท้ายพิธีด้วยการสรรเสริญขอบคุณพระเจ้าและอำนวยพร เสร็จแล้วจึงบรรเลงเพลงชาติจบพิธีการ ในพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็จะมีบาทหลวง หรือพระของฝ่ายคริสต์ที่เป็นผู้ใหญ่ กล่าวให้โอวาทในตอนต้นพิธี กิจการทางศาสนาจึงยังมีความสัมพันธ์ในกิจการของรัฐอยู่ไม่ใช่น้อย

ถ้าพูดอย่างนี้แล้วก็พูดเลยไปอีกว่า ในเมืองไทยเรานี้ ยังให้สิทธิและยกย่องศาสนาอื่นๆ มากกว่าในอเมริกา น่าจะเป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเพื่อเป็นความรู้ คริสต์ศาสนาในเมืองไทยเรานี้ ตามสถิติว่ามีคริสต์ศาสนิกชนอยู่แสนกว่าคน และคนไทยมีอยู่ประมาณ ๔๘ ล้านคน จะเห็นว่าในกิจการบ้านเมืองโดยทั่วๆ ไป เริ่มตั้งแต่กรมการศาสนาและกิจการการศึกษาอะไรต่างๆ นี่ เราจะให้เกียรติยกย่องฐานะ ให้สิทธิ ให้โอกาสแก่ทางคริสต์ศาสนาเป็นอย่างมาก ทีนี้หันไปลองมองดูในสหรัฐอเมริกามีประชากร ๒๐๐ กว่าล้านคน ในจำนวนนี้ก็มีพุทธศาสนิกชนอยู่จำนวนมิใช่น้อย เฉพาะที่ขึ้นต่อ Buddhist Churches of America ซึ่งเป็นของสายญี่ปุ่นนิกายโจโดชินอย่างเดียว ก็เข้าไปเกือบหนึ่งแสนคน และยังมีพวกนับถือนิกายอื่น มีเชื้อสายจีน เชื้อสายญี่ปุ่นนิกายอื่น คนเชื้อสายไทย คนเชื้อสายพม่าอะไรเป็นต้น ตลอดจนชาวอเมริกันผิวขาวที่นับถือพุทธศาสนา เข้าใจว่าต้องหลายแสนคน (หมายความว่าพุทธศาสนิกชนในอเมริกาคงจะมีเปอร์เซ็นต์สูงกว่าคริสต์ศาสนิกชนในประเทศไทย) ทีเดียว แต่ในกิจการของรัฐ งานหลวงงานสาธารณะต่างๆ เขาหาได้แสดงความตระหนักรู้ถึงความมีอยู่ หรือฐานะอะไรของพระพุทธศาสนา ที่จะต้องคอยสนใจใส่ใจแต่ประการใดไม่ เรียกว่ามีการเอ่ยอ้างถึงน้อย เป็นเรื่องของเอกชนที่จะมาสนใจศึกษากันไปเอง

สำหรับคริสต์ศาสนาในอเมริกานั้น เหตุที่ต้องระวังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ก็เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่หนักไปข้างผลในแง่ลบ เพราะว่าในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นคริสต์ศาสนิกชน คือนับถือศาสนาคริสต์ แต่ว่าศาสนาคริสต์นั้นมีนิกายมากมายเหลือเกิน อย่างน้อยก็มีคาทอลิคกับโปรเตสแตนต์ และนิกายย่อยในโปรเตสแตนต์อีกนับร้อย อันนี้ถ้ารัฐจะเข้ามาผูกพันกับคริสต์ศาสนาก็มีปัญหาขึ้นมา ว่าจะต้องผูกพันกับนิกายใดนิกายหนึ่ง ถ้ายกนิกายหนึ่งขึ้นไปแล้วนิกายอื่นก็ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็จะเกิดความแตกแยกไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์จึงเน้นหนักไปในแง่ลบ ต้องระวังไม่ให้เกิดความแตกแยก เป็นเรื่องในระหว่างคริสต์ศาสนาด้วยกันเอง อันนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้มีการแยกระหว่างรัฐบาลกับสถาบันศาสนา เพื่อหลีกเลี่ยงผลในแง่ลบ คือถ้าไปผูกพันเข้าแล้ว จะกลายเป็นทำให้เกิดผลเสียแตกแยกในประเทศ เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีเอกภาพในทางศาสนา (ความจริง ในรัฐธรรมนูญและประดากฎหมายของอเมริกา ก็ไม่ได้บัญญัติว่า ให้แยกรัฐกับศาสนา เพียงแต่ไม่ให้ยกสถาบันศาสนาหนึ่งใดขึ้นเชิดชู ซึ่งสาเหตุสำคัญ ก็คือปัญหาระหว่างนิกายของคริสต์ศาสนาดังได้กล่าวแล้ว)

ส่วนในประเทศที่มีเอกภาพทางศาสนา ถ้าผูกพันให้ถูกต้องพอดีกับความชอบธรรมแล้ว มันก็ทำให้เกิดผลดีคือความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันนี้ถ้าหากไม่สัมพันธ์ก็อาจเกิดผลเสีย มันเป็นไปในทางกลับกัน คือกลายเป็นว่าถ้าไม่สัมพันธ์แล้วก็จะเกิดการแตกแยก หลักการอันนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่ในประเทศอเมริกาอย่างที่ว่ามานั้น ก็ยังต้องการความสัมพันธ์กับศาสนาชนิดที่มีผลดีต่อรัฐอยู่นั่นเอง ในเมื่อสัมพันธ์กับสถาบันศาสนาไม่ได้ คือสัมพันธ์กับ Church ไม่ได้ ก็ไปสัมพันธ์ในแง่ของตัวศาสนาที่เป็นนามธรรม ก็ออกในรูปที่เมื่อกี้พูดถึงว่าเป็น One Nation under God ; In God We Trust อะไรพวกนั้น ตลอดจนกระทั่ง เวลามีกิจการงานสำคัญ เมื่อผู้ที่มาปฏิญาณตนเป็นประธานาธิบดี นับถือนิกายไหนก็ไปเอาบาทหลวงหรือ Minister นิกายนั้น หรือที่สมควรมา นี่ก็เพื่อแก้ปัญหาสัมพันธ์ในแง่ลบ พยายามจัดให้เป็นความสัมพันธ์ในแง่บวกเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จะตัดความสัมพันธ์แท้จริงไม่ปรากฏ นอกจากในบางรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาอาจจะเป็นไปในแง่ของความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง คือการเป็นปฏิปักษ์กับศาสนา นี้ก็ถือเป็นความสัมพันธ์อีกเหมือนกัน เป็นการสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง เพราะว่าในรัฐเช่นนั้นอาจมีอุดมการณ์หรือลัทธิอย่างอื่นที่ตั้งตัวเป็นศาสนาเสียเอง แล้วก็เลยต้องเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาที่มีอยู่เดิม เพราะอุดมการณ์หรือลัทธิที่รัฐนั้นนับถือ มีหลักการทางศาสนาที่ขัดกับศาสนาแบบที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ได้พูดเลยออกไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในอเมริกา ขอให้ถือเป็นเพียงความรู้ประกอบ ไม่ใช่จะเอามาเปรียบเทียบโดยตรง เพราะถ้าเทียบกันแล้ว ก็มีหลายอย่างที่ไม่ตรงกัน เช่นแม้แต่พระภิกษุกับบาทหลวงก็ต่างกันมาก พระภิกษุเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นส่วนหนึ่งร่วมอยู่ในบริษัท ๔ เป็นกัลยาณมิตรของชาวบ้าน แต่บาทหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ศาสนา เป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ดังนี้เป็นต้น ปัจจุบันนี้ทางฝ่ายศาสนาคริสต์ในประเทศไทย มีนโยบายชัดเจนในการที่จะเข้ามาสัมพันธ์และปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนา ชาวพุทธ โดยเฉพาะพระ จะต้องรู้เข้าใจความแตกต่างเป็นต้นนี้เป็นอย่างดี เพื่อจะสัมพันธ์ได้ถูกต้อง ถ้าสัมพันธ์โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจชัดเจน ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้ขาดความรับผิดชอบ และไร้สมรรถภาพในการที่จะรักษาสืบต่อพระพุทธศาสนา นี้เท่ากับพูดว่าพุทธศาสนานอกจากสัมพันธ์กับรัฐแล้ว ยังจะต้องสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ ด้วย และความสัมพันธ์ระหว่างศาสนานั้นก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง

มีเรื่องอะไรบ้าง ที่ทางรัฐไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายในศาสนจักร

มีหลายเรื่องทีเดียว ว่าโดยหลักการก็ไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายอยู่แล้ว เพราะตามหลักความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ก็เป็นการช่วยอุปถัมภ์บำรุง คุ้มครองให้กำลัง แม้แต่การชำระล้าง ปกติก็เป็นเรื่องของการให้กำลังแก่ทางศาสนาในการชำระภายใน คือ ก็ยังถือทางฝ่ายสถาบันศาสนาเป็นหลักอยู่นั่นเอง ถ้าจะให้เข้าใจชัดในเรื่องนี้ ก็ให้พิจารณาจากหลักความสัมพันธ์ที่พูดมาแล้วข้างต้น คือฝ่ายรัฐนั้นจะเข้าช่วยอุปถัมภ์บำรุงคุ้มครองทางฝ่ายศาสนา คือช่วยให้ท่านได้มีโอกาสทำหน้าที่ของท่านในทางธรรม  ด้วยการแนะนำสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน ทีนี้ในตอนที่ทำหน้าที่ของท่านก็เป็นเรื่องที่จะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท่าน จุดที่ไม่ก้าวก่ายก็อยู่ตรงนี้ คือรัฐจะช่วยอุปถัมภ์ในทางวัตถุเป็นต้น ช่วยให้กำลังต่างๆ ให้ท่านสามารถทำหน้าที่ของท่านด้วยดี แต่ในการทำหน้าที่โดยตรงของท่านแล้ว รัฐก็ไม่ยุ่งเกี่ยวแทรกแซง

เมื่อรัฐทำถูกต้องตามหลักความสัมพันธ์นี้แล้ว ผลดีก็จะเกิดแก่รัฐเอง คือเมื่อพระสงฆ์มีกำลัง สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในทางธรรมได้อย่างดีแล้ว ประชาชนประพฤติอยู่ในศีลในธรรม ปฏิบัติการต่างๆ ที่ชอบธรรม สังคมสงบสุข มีความเรียบร้อย ก็เป็นประโยชน์แก่การปกครองเป็นประโยชน์แก่รัฐอยู่ในตัว การก้าวก่ายจะเกิดขึ้นและเป็นผลเสียหาย ในเมื่อทางฝ่ายรัฐหรือผู้ปกครองนั้นไม่ได้ปกครองเพื่อให้เกิดผลดีแก่การปกครองแท้จริง แต่ปกครองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ในการที่จะเสวยอำนาจ ในการที่จะได้มีความมั่นคงของอำนาจส่วนตัว หรือต้องการผลประโยชน์ต่างๆ และเข้าไปก้าวก่ายโดยเอาทางฝ่ายพระสงฆ์ หรือสถาบันทางศาสนา เข้ามาเป็นฐานรองรับอำนาจ หรือเป็นเครื่องสนับสนุนการมีอำนาจนั้นในแง่ต่างๆ ทำให้ท่านย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่ในการศึกษาธรรมวินัย ในการที่จะเผยแพร่แนะนำสั่งสอนธรรมที่ถูกต้องแก่ประชาชน อันนี้จะเกิดผลเสีย

เท่าที่ได้ถามมานั้นมีขอบเขตกว้างขวาง เป็นการสนทนาเกี่ยวกับความสัมพันธ์โดยทั่วๆ ไป อยากจะจำกัดเฉพาะในรอบ ๒ ศตวรรษแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาเป็นอย่างไร

ความสัมพันธ์โดยทั่วๆ ไป ก็คล้ายกับหลักการที่ได้กล่าวมาแล้ว และเป็นไปตามแนวของวัฒนธรรมไทย เนื่องด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสถาบันพุทธศาสนาในประเทศไทยที่สืบมาจากยุคก่อนๆ แต่ก็มีลักษณะพิเศษอยู่บ้าง ซึ่งจะตั้งข้อสังเกตโดยแบ่งเป็น ๒ ช่วงกว้างๆ คือ

ระยะแรก ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาถึงครบศตวรรษที่ ๑ คือถึงในราวรัชกาลที่ ๕ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนานั้นแน่นแฟ้นมาก เป็นไปตามแบบแผนประเพณี และบางทีก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รัฐกับพุทธศาสนาเรียกได้ว่ามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากทีเดียว วัดยังเป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นแหล่งการศึกษาและวัฒนธรรม รัฐก็ช่วยอุปถัมภ์ในด้านวัตถุปัจจัย ๔ การก่อสร้างปูชนียสถานวัดวาอารามเป็นไปอย่างมากมาย และเน้นมากเป็นพิเศษในบางยุคบางสมัย นอกจากนั้นทางรัฐก็ได้ช่วยคุ้มครอง ให้มีความบริสุทธิ์หมดจด เช่นการที่ได้ออกกฎหมาย กฎพระสงฆ์ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ รัฐได้ช่วยอุปถัมภ์บำรุงกิจการพระศาสนาโดยเฉพาะการศึกษามาก เช่นว่าองค์พระประมุขได้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาทางพุทธศาสนา โดยพระองค์ก็ได้ศึกษาเอง หลายพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ในทางพุทธศาสนา และอุปถัมภ์การศึกษาทางพุทธศาสนา เช่นการสอบเป็นต้น โดยถือเป็นพระราชภารกิจ และโปรดเสด็จไปในการสอบด้วยพระองค์เอง เช่น ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีเรื่องปรากฏอยู่ในบันทึกต่างๆ ว่า เสด็จไปฟังการสอบความรู้พระสงฆ์และอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ที่สอบได้ โดยที่ในปัจจุบันก็มีร่องรอยของประเพณีต่างๆ เหลือไว้ให้เห็น เช่นการพระราชทานพัดเปรียญเป็นต้น ในรัชกาลที่ ๑ ก็มีการสังคายนาด้วย และแม้ในตอนที่รับความเจริญจากตะวันตกใหม่ๆ องค์พระประมุขก็พยายามให้พุทธศาสนามีส่วนสำคัญในการดำเนินการศึกษา หรือปรับปรุงการศึกษาของบ้านเมือง

ระยะที่สอง เมื่อสิ้นศตวรรษที่ ๑ ขึ้นสู่ศตวรรษที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีการรับอารยธรรมทางตะวันตกเข้ามาเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะในยุคประชาธิปไตยนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับรัฐเป็นไปในด้านรูปแบบ โดยเฉพาะพิธีกรรมเป็นส่วนมาก ในด้านตัวท่านผู้ปกครองเอง ก็ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จากตะวันตก ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา ก็มีความรักและอยากอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาอยู่ แต่ก็เป็นไปในทำนองที่ว่ามักจะจับจุดในการอุปถัมภ์ไม่ถูก หรือว่าสัมพันธ์ไม่ถูกจุดอะไรดังนี้เป็นต้น และถึงกับได้เกิดมีความรู้สึกในทำนองที่ว่า เรื่องของรัฐกับเรื่องของศาสนาแยกกันไม่ก้าวก่ายกัน เช่นว่าการศึกษาทางฝ่ายพระสงฆ์กับของรัฐควรเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวก้าวก่ายกันดังนี้เป็นต้น

การที่พูดอย่างนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เราเห็น หรือจับได้ว่า ผู้บริหารในยุคปัจจุบันนี้ ไม่มีความเข้าใจพื้นเพเดิมในทางประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาในประเทศไทย คือ ไม่รู้จุดที่ว่าแค่ไหนควรสัมพันธ์กัน แค่ไหนควรแยกกัน ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจทั้งหลักศาสนาทั้งพื้นฐานประเพณี ก็อาจจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และสัมพันธ์กันในทางที่ไม่ถูกต้อง ส่วนที่ควรจะเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลร่วมงานกันก็ไม่ได้ร่วม ส่วนที่ไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายกลับเข้าไปก้าวก่ายกัน ก็เลยเกิดเป็นปัญหาขึ้น ที่ว่านี้รวมไปถึงว่าสิ่งที่ควรอุปถัมภ์ก็ไม่อุปถัมภ์ สิ่งที่ไม่ควรอุปถัมภ์ก็ไปอุปถัมภ์ดังนี้ด้วย เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจเสียแล้ว จะทำอะไรมันก็มีทางผิดพลาดได้มาก อย่างน้อยก็ไม่ตรงจุด อีกอย่างหนึ่งก็มีข้อสังเกตว่า ในสมัยปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐบาลมาก รัฐบาลต่างๆ มักประสบปัญหาไม่สู้จะมีความมั่นคง เมื่อห่วงในความมั่นคงของตัวเอง ก็ทำให้ไม่มีเวลา หรือว่าไม่ค่อยกล้าที่จะมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางด้านศาสนา ยิ่งตนเองไม่ค่อยจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องศาสนา และเนื้อหาของวัฒนธรรมประเพณีอยู่ด้วย ก็มีทางผิดพลาดได้มาก จึงยิ่งทำให้ไม่ค่อยกล้า เลยไปกันใหญ่

อย่างที่มีฝรั่งบางคนเขาศึกษาเรื่องเมืองไทย เรื่องพระพุทธศาสนาในเมืองไทยนี่ แล้วก็ว่ากันว่ารัฐได้พยายามดึงให้สถาบันพุทธศาสนา หรือสถาบันสงฆ์เข้ามาอยู่ในอำนาจของรัฐ หรือขึ้นต่อรัฐ ซึ่งเป็นมากขึ้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ขึ้นต่อรัฐอย่างเต็มที่สิ้นเชิง จริงหรือไม่

ขึ้นต้นก็ตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่านี่เป็นคำที่ฝรั่งว่า ทำไมต้องรอให้ฝรั่งว่า กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้มีปัญหาว่า เรื่องเหล่านี้ ในเมืองไทยเราเองไม่ค่อยได้ศึกษา กลายเป็นว่าพวกที่ศึกษาเอาจริงเอาจังในเรื่องของเราก็เป็นพวกฝรั่ง ฝรั่งศึกษากันว่างั้นว่างี้ เราก็ต้องกลับไปเอาความรู้ความเข้าใจมาจากฝรั่ง เราไม่ค่อยสนับสนุนให้คนของเราศึกษา เพราะกลัวอย่างนั้นเพราะกลัวอย่างนี้ กลัวจะทำให้เกิดปัญหาแห่งการปกครองเป็นต้นบ้าง มัวแต่สนใจเรื่องของฝรั่งบ้าง เลยทำให้ขาดการค้นคว้ากัน หย่อนในทางการศึกษา ในเรื่องการศึกษานี้ควรจะส่งเสริม และก็ชี้จุดชี้ช่องที่ควรจะศึกษา จะได้ศึกษากันอย่างถูกต้อง

เรื่องที่ว่ามีการรวบอำนาจนี้ก็มีความถูกอยู่ แต่เราก็ต้องศึกษาทั้งในแง่ดีแง่เสีย ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เรื่องศาสนานี้เป็นเรื่องที่มีผลเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เป็นเรื่องสำคัญมาก ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ปกครองจะต้องเอาใจใส่ สำหรับในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น อำนาจได้เข้ามาอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมากมาย เรียกได้ว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจ หรือดึงอำนาจเข้ามาสู่ศูนย์กลาง ทั้งอำนาจในฝ่ายอาณาจักรเองและทางฝ่ายคณะสงฆ์ แต่ก็มีเหตุผลอยู่ว่าสมัยนั้น เป็นระยะที่เรากำลังเผชิญกับอารยธรรมตะวันตก เผชิญกับลัทธิอาณานิคม เราต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการที่จะต่อสู้กับภัยจากภายนอก ในการที่จะเร่งรัดสร้างความเจริญให้ทัดเทียมตะวันตก หรือฝ่ายที่มาจากภายนอกนั้น ในเมื่อต้องการความเร่งรัด และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ นโยบายสำคัญอันหนึ่งที่จะให้สมหมาย ก็คือการดึงอำนาจมาสู่ศูนย์กลาง เพื่อความเข้มแข็งพร้อมเพรียง และทำอะไรได้รวดเร็ว

ทางฝ่ายคณะสงฆ์นั้น จะเห็นว่าได้มีการออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ซึ่งเปิดทางให้แก่การศึกษาที่พระสงฆ์จะได้จัดทำ จะได้ดำเนินออกไปจากศูนย์กลางและจัดได้ทั่วประเทศ และในด้านการปกครองคณะสงฆ์ก็ตั้งมหาเถรสมาคมขึ้น เป็นที่ปรึกษาของในหลวง โดยเฉพาะก็มุ่งเพื่อประโยชน์ในทางการศึกษาเป็นสำคัญ ทีนี้ในสมัยต่อมา พ.ร.บ. ที่ออกภายหลังก็มีลักษณะรวบอำนาจอีก แต่เหตุผลของสมัยนี้กับในสมัยก่อนจะเหมือนกันหรือไม่ สภาพแวดล้อมต่างกันหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาวิเคราะห์ออกไป และก็ดูผลดีผลเสียให้ละเอียด เช่นว่า สมัย ร. ๕ รวมอำนาจโดยมีเป้าหมายที่ว่า จะเปิดช่องทางให้แก่การดำเนินนโยบายการศึกษา แต่สมัยหลังอาจเป็นการรวมอำนาจทางการปกครองนิ่งๆ หรืออย่างไร อย่าง พ.ร.บ. ๒๕๐๕ อย่างที่ว่านี้ ฝรั่งเขาก็วิเคราะห์ในรูปอย่างที่ถามเมื่อกี้ คือเขาว่าเป็นการดึงอำนาจมารวมไว้ โดยให้คณะสงฆ์ขึ้นกับทางฝ่ายรัฐโดยเต็มที่สิ้นเชิง เราเองก็ควรจะได้ศึกษาเรื่องนี้กันอย่างมีใจเป็นกลาง ตั้งอุเบกขา อย่าเอาอารมณ์เข้าว่า แล้วก็ดูผลดีผลเสีย

แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้คำนึงถึงหลักการอย่างที่ว่ามาข้างต้น คำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ระหว่างรัฐกับสถาบันพุทธศาสนา ตราบใดที่ขอบเขตความสัมพันธ์ยังเป็นไปโดยชอบ คือทางรัฐให้อุปถัมภ์ค้ำจุน ให้พระสงฆ์มีกำลังในการทำหน้าที่ของท่าน ในการเผยแพร่ธรรมสั่งสอนประชาชนในสิ่งที่ถูกต้อง ตลอดจนสั่งสอนแนะนำธรรมแก่ผู้ปกครองเองด้วยแล้ว ถ้ามีพลเมืองของตนเข้าไปเบียดเบียน ทำลายพระพุทธศาสนาให้เสียความบริสุทธิ์ ก็ไปนำเอาคนเหล่านั้นออกมาเสีย หรือช่วยในด้านกำลังที่จะแก้ไขสิ่งเสียหายเหล่านั้น ส่วนการที่พระสงฆ์จะทำหน้าที่ของท่านนั้น ก็ให้ท่านเป็นอิสระในการเผยแพร่สั่งสอนธรรม ส่งเสริมให้ท่านศึกษาค้นคว้า ให้ท่านทำได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทำใจตั้งมั่นไว้ว่า เราจะเชิดชูธรรม และบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน อย่างนี้มันก็เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง

แต่ถ้าหากว่าไปทำโดยมุ่งจะเอาสถาบันพระสงฆ์มาเป็นเครื่องส่งเสริมอำนาจของตนเอง เป็นเครื่องช่วยให้ตนสามารถเสวยหรือแสวงหาผลประโยชน์ได้มากขึ้น ในเรื่องประโยชน์ส่วนตน อย่างนี้ก็มีแต่ทางผิดพลาด ถ้าทำอย่างนี้รัฐอาจจะอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์อย่างมากมาย แต่จะเป็นไปในลักษณะที่ทำให้พระสงฆ์เกิดความรู้สึกว่าต้องพึ่งรัฐ ต้องขึ้นต่อรัฐ หรือมีความสุขสบายด้วยการแอบอิงผู้ปกครอง แต่ว่าจะห่างเหินจากประชาชน ในตอนแรกก็อาจจะเป็นผลดีแก่ผู้ปกครอง แต่นานๆ เข้าก็จะเป็นผลเสียแก่รัฐเอง ในเมื่อพระสงฆ์นั้นห่างจากประชาชน ต่อไปพระสงฆ์ก็ขึ้นต่อรัฐต่อผู้ปกครองฝ่ายเดียว ฝากความหวังไว้กับผู้ปกครอง รอฟังผู้ปกครอง อิทธิพลหรืออำนาจในทางประชาชนที่เป็นบุญเก่าก็ค่อยๆ จืดจางเสื่อมหายหมดไป แล้วต่อแต่นั้น คณะสงฆ์ก็กลายเป็นสถาบันที่ลอยโหวงเหวง ไม่มีประโยชน์ จะช่วยอะไรแก่รัฐไม่ได้ แต่ถ้าพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างอิสระ คอยสั่งสอนแนะนำประชาชนไป ถูกต้องตามหน้าที่ของท่าน ให้ประชาชนรู้จักธรรม สิ่งที่ชอบที่ควร ประพฤติปฏิบัติชอบธรรม พัฒนาทั้งกาย ศีล จิต ปัญญา เสร็จแล้วผลประโยชน์ก็มาตกแก่รัฐนั้นเองไม่หายไปไหน และอำนาจที่เป็นไปโดยชอบธรรมของพระสงฆ์ที่มีต่อประชาชนนี่แหละ ก็กลับมาเป็นเครื่องเอื้ออำนวยแก่การปกครองที่เป็นไปโดยชอบธรรมเช่นเดียวกัน

เหตุการณ์ในพุทธศาสนาปัจจุบันนี้ ควรที่ทางรัฐจะได้เข้ามาชำระล้างหรือยัง

เห็นจะไม่ต้องใช้คำว่าชำระล้าง มันจะแรงไป อาจจะเข้ามากำจัดสิ่งเสียหาย ก็ได้ความหมายอย่างเดียวกันนั่นเอง ว่าที่จริงแล้ว มันควรจะเป็นเรื่องของการป้องกันมากกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับสมัยปัจจุบัน ถ้าได้กระทำให้ถูกก็น่าจะเป็นไปในรูปที่ว่า ได้ช่วยกันป้องกันมาแต่ต้น แต่ในเมื่อมันเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้นมาแล้วจะแก้ไขกำจัดกันอย่างไร ก็ต้องดูเหตุตั้งแต่ต้นว่าทำไมเราจึงป้องกันไม่ได้ ถ้าหากว่าผู้ที่ปฏิบัติการในเรื่องนี้ก็คือคนพวกเดียวกันกับผู้ที่ป้องกันไม่ได้หรือไม่รู้จักป้องกัน เวลาจะมาชำระล้างก็อาจจะประสบปัญหาอย่างเดียวกันอีก คือชำระล้างแก้ไขไม่ได้ เพราะตอนแรกไม่มีความรู้ความเข้าใจที่จะป้องกันไว้ ตอนนี้ก็เกิดว่า ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่จะแก้ไข แต่ข้อนี้ก็อาจจะแก้ไขได้ที่ผู้ปกครองเอง คือตอนโน้นไม่มีความรู้ความเข้าใจที่จะป้องกัน มาถึงตอนนี้ก็เรียนรู้เพื่อที่จะได้แก้ไข

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญก็คือ ทางฝ่ายรัฐจะต้องเรียนรู้ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เราจะต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่ง คือมีเรื่องน่าเห็นใจอยู่ว่า ผู้บริหารในสมัยปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะตัวระดับผู้ปกครองแท้ๆ เท่านั้น คือ แทบทุกระดับในกิจการของรัฐ มันเป็นไปตามธรรมดาของเหตุปัจจัย คือเราได้รับการศึกษามาแบบตะวันตกและห่างเหินจากวัฒนธรรมดั้งเดิมมานาน ก็ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องทางพระศาสนา ตลอดจนกระทั่งวัฒนธรรมของตนเอง ในตอนนี้ก็เพียงว่าเรายอมรับความจริงอันนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าอาย น่าเสียอะไร ยอมรับความจริงแล้วก็ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ ให้ถูกต้องและให้เพียงพอ ในเมื่อเป็นสิ่งสำคัญ เราก็จะต้องศึกษา เมื่อศึกษาให้เข้าใจดีแล้ว ก็คงจะช่วยกันแก้ไขให้เสร็จสิ้นไปได้ ถ้าหากว่าไม่ทันการ ก็ต้องหาบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจมาให้กำลัง

เป็นอันว่าคำถามข้อนี้ จะตอบก็ได้ว่า สภาพของพระพุทธศาสนาขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะรีบชำระล้าง สิ่งที่ต้องชำระล้างโดยรีบด่วนก่อนอะไร ก็คือ ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ และไม่ต้องไปชำระล้างที่อื่นที่ไหน ชำระล้างที่ตัวเองก่อน เริ่มตั้งต้นแต่รัฐเอง หรือผู้ที่รับผิดชอบกิจการของบ้านเมืองนี่แหละ ตลอดทุกระดับทีเดียว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นผู้บริหาร หรือมารับผิดชอบงานต่างๆ ต่อไป ด้วยการให้การศึกษาที่ถูกต้อง รวมทั้งพระสงฆ์ที่รับผิดชอบต่อพระศาสนา ต่อการนำธรรมเข้าถึงประชาชนด้วย ที่ว่านี้เป็นเรื่องที่เรามายอมรับความจริงกัน เป็นเรื่องของการเข้าใจกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ มิใช่จะมากล่าวหาต่อว่ากัน เป็นการมุ่งประโยชน์ส่วนรวม ช่วยกันค้นหาสมุฏฐานให้พบ จะได้แก้ไขให้ได้ผล

สมัยก่อน นอกจากเรื่องศาสนาเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิชาการอะไร อย่างที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น พระสงฆ์เป็นผู้รู้นำหน้าทั้งนั้น ท่านบรรยายเรื่องจักรวาล โลกสัณฐาน เขาหิมพานต์ พระสุเมรุ ทะเลสีทันดร สิงห์เสือสรรพสัตว์ ตลอดจนวิธีคิดคำนวณเลขต่างๆ ไว้ในคัมภีร์มากมาย ส่วนทางฝ่ายคฤหัสถ์หรือชาวบ้านคนไหนไม่รู้ถ้อยคำทางศาสนา ไม่เข้าใจข้อธรรมพื้นๆ ไม่รู้จักตัวละครสำคัญๆ ในวรรณคดีพุทธศาสนา ก็ต้องนับว่าเป็นคนล้าหลัง หรือเถื่อนเสียเป็นอย่างยิ่ง แต่สมัยนี้กลับตรงกันข้าม ถ้าพระสงฆ์ท่านใดไม่รู้เรื่องราวสมัยปัจจุบัน ไม่เข้าใจเหตุการณ์ พูดถึงศัพท์วิชาการสมัยนี้ไม่เข้าใจ แสดงความไม่รู้ออกมา ก็ดูน่ารักดี ส่วนคฤหัสถ์ผู้บริหารหรือนักวิชาการท่านใดพูดถึงถ้อยคำทางพระพุทธศาสนาผิดๆ ถูกๆ ก็เห็นเป็นโก้ดี

ย้อนหลังไป ๑๐๐ ปี ซึ่งความรู้และความเจริญในโลกยังไม่ถึงขนาดปัจจุบันนี้ สมัยนั้นผู้นำของสถาบันสงฆ์ คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นผู้รอบรู้ เท่าทันทั้งด้านพระศาสนา และวิทยาการกิจการแห่งโลกในยุคสมัยนั้น จึงทรงดำเนินกิจการพระศาสนาแก้ปัญหาต่างๆ นำคณะสงฆ์ให้เจริญมั่นคงต่อมาได้ดี ไม่ต้องพูดถึงองค์พระประมุข ซึ่งก็ทรงรอบรู้ทั้งการพระศาสนาและกิจการบ้านเมืองอย่างดีเยี่ยม ปัจจุบันนี้ในเมื่อพระศาสนาตกอยู่ท่ามกลางวิทยาการ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าต่อมาอีกมากมาย ผู้บริหารผู้รับผิดชอบพระศาสนาและกิจการบ้านเมือง ควรจะต้องมีความรู้เท่าทันสถานการณ์และวิทยาการต่างๆ มากขึ้นอีกเพียงใด

ผู้รับผิดชอบการพระศาสนาหรือกิจการบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำบริหารนักวิชาการหรือมีฐานะใดๆ ก็ตาม จะต้องเป็นผู้เข้าถึงพื้นฐานของไทย จะต้องไล่ทันความคิดและสถานการณ์ร่วมสมัย จึงจะทำหน้าที่ให้เป็นผลดีได้ ถ้าไม่เข้าให้ถึงพื้นฐานของไทย ไล่ไม่ทันความคิดและสภาพปัญหาปัจจุบันแล้ว ก็แทบไม่มีหวังเลยว่า จะสามารถแก้ปัญหา หรือสามารถนำกิจการส่วนรวมให้ดำเนินไปได้ด้วยดี คำว่าพื้นฐานของไทย ย่อมรวมถึงศาสนาและวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญ ความคิดและสถานการณ์ร่วมสมัยกินความกว้างออกไปถึง แม้แต่ความคิดของฝรั่งและสถานการณ์ของโลก เท่าที่เป็นสภาพแวดล้อมซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาสำคัญในวงการศาสนาปัจจุบันก็เกิดจากข้อบกพร่องนี้ จะเห็นว่าแม้แต่บุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจหลักพระศาสนา กล้าเดากล้าพูดอธิบายไปตามสบาย นำเอาข้อปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามไปถืออย่างผิดๆ เมื่อตั้งใจปฏิบัติทำให้คร่ำเครียดจริงจัง แม้ว่าจะงมงาย ก็สามารถชักจูงคนจำนวนไม่น้อย แม้แต่ที่เรียกกันว่ามีการศึกษาดี ให้ไปเข้าพวกถือตามได้ และสามารถก่อให้เกิดความหวั่นไหวไม่น้อยแก่คณะสงฆ์ เมื่อพิจารณาคนที่เรียกว่ามีการศึกษาจำนวนมากในปัจจุบัน ก็อาจเห็นได้ว่า เพราะการที่ไม่ได้รับการศึกษาชนิดที่ช่วยให้เข้าถึงพื้นฐานไทยนั่นเอง พวกหนึ่งก็ก้าวไปอยู่ในฐานะผู้รับผิดชอบกิจการบ้านเมือง ชนิดที่ไม่สามารถเข้าใจ ไม่อาจแก้ไขปัญหาสังคม ทางศาสนาเช่นนี้ได้ บางพวกก็เจริญก้าวหน้าไปเข้าสังกัดในลัทธิที่ แม้เขาจะปรับปรุงพระพุทธศาสนาให้คลาดเคลื่อนไปจากหลักการที่แท้จริง ก็ยังหลงไปตาม ส่วนผู้รับผิดชอบฝ่ายสถาบันพระศาสนา ก็ไม่ได้รับการศึกษาชนิดที่จะช่วยให้คนมีการศึกษาเหล่านั้นรับฟัง ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงสภาพของคณะสงฆ์เองที่ปล่อยล้ามานาน จนบนหลังกลายเป็นที่ทำนาอย่างชุ่มแฉะของสำนักหรือลัทธิต่างๆ ถ้าหากผู้รับผิดชอบการพระศาสนาและกิจการบ้านเมือง ได้มีการศึกษา และดำเนินการศึกษาชนิดที่เข้าให้ถึงพื้นฐานของไทย ไล่ให้ทันความคิดและสถานการณ์แห่งยุคสมัยแล้ว ไหนเลยสภาพปัญหาเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

ความจริงสภาพเช่นนี้ฟ้องว่า การชำระล้างอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีการปรับปรุงด้วย และการปรับปรุงสำคัญยิ่งกว่าด้วยซ้ำ สภาพปัญหาสุกงอมเต็มที่เหมือนจะเร้าคณะสงฆ์อยู่ ให้เร่งมองออกไปรอบตัว และรีบปรับปรุงกิจการของตน แต่อีกด้านหนึ่ง มองดูเหมือนน่าสงสารพระศาสนาว่า ในคราวที่ต้องการการปรับปรุงนี้ ก็มีผู้ตั้งตัวขึ้นมาปรับปรุง แต่กลับทำเลยเถิดไปเสียอีกทางหนึ่ง จนกลายเป็นจะต้องมีการปรับปรุงสองชั้น ทั้งปรับปรุงแก้สภาพเสื่อมโทรม ทั้งต้องปรับปรุงการปรับปรุงที่ผิดด้วย

ดังนั้น ก่อนจะถึงคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่ทางรัฐจะเข้ามาชำระล้างในพระศาสนา ก็มีคำถามข้อหนึ่งแทรกเข้ามาว่า ผู้ที่จะทำงานชำระล้างนั้น มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่หรือยัง ถ้าไม่พร้อม นอกจากอาจแก้ปัญหาไม่สำเร็จหรือยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นแล้ว ถึงจะแก้ปัญหาเฉพาะคราวนั้นสำเร็จ ก็จะต้องประสบปัญหาอื่นๆ ที่ยุ่งยากอีกเรื่อยไป จนในที่สุดก็จะแก้ไม่ไหว

เป็นไปได้ไหมครับที่มีคนพูดกันว่า บ้านเมืองไทยไม่เคยมีพุทธศาสนาที่แท้จริงเลย

เรื่องนี้ไม่ใช่จะวินิจฉัยกันได้ง่ายๆ หรือตอบเด็ดขาดทันทีไป เราจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ให้ละเอียดลออ วิเคราะห์ให้ชัดเจน เพราะว่าเรื่องประวัติศาสตร์เมืองไทยเรายังไม่ได้มีการศึกษาให้ละเอียดเพียงพอ ไม่ควรจะด่วนว่าไป คำถามที่ว่านั้นก็เป็นข้อสังเกตที่ควรรับฟัง และเมื่อรับฟังไปแล้วก็เป็นฐานสำหรับการพิจารณาและศึกษาค้นคว้า คนที่ฟังนี้ก็มี ๒ พวก พวกหนึ่งพอได้ยินเขาว่าบ้านเมืองไทยไม่เคยมีพุทธศาสนาแท้จริง ก็เลยพลอยเห็นตามไปเสีย อีกพวกหนึ่งก็เป็นฝ่ายตรงข้าม คือเอียงสุดไปอีกข้างหนึ่ง พอเขาว่าอย่างนี้ก็โกรธ ได้แต่ด่าตอบเขาไป ความจริงควรจะถือว่าเป็นคำเตือนสติที่มีประโยชน์ เป็นข้อสังเกตที่น่าศึกษาพิจารณา แล้วก็นำไปเป็นพื้นฐานในการที่จะศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริง ให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าอะไรกันแน่ เป็นอย่างไรกันแน่ อาจจะเป็นจริงก็ได้ หรืออาจไม่เป็นจริงก็ได้

คนที่พูดคำนี้อยู่ในยุคปัจจุบันที่สภาพห่างไกลจากพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นแล้ว หรือเรียกว่ามีการแยกทางโลกกับทางธรรมมาก หรือว่ากิจการทางฝ่ายรัฐกับฝ่ายพระสงฆ์ได้มีการแยกห่างกันอะไรทำนองนี้แล้ว คนที่เกิดในยุคนี้มีความห่างในด้านพื้นฐานทางวัฒนธรรม ภาพที่มองเห็นอาจจะไม่ชัดดีเท่าที่ควรก็เป็นได้ ยิ่งกว่านั้นสภาพของพุทธศาสนาปัจจุบันที่เราประสบอยู่ ก็อาจจะไม่ใช่เครื่องส่องที่ชัดเจน ในการที่จะเอาไปใช้มองพุทธศาสนาในยุคก่อนๆ ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และสมัยก่อนก็มีหลายยุคหลายตอนแบ่งซอยออกไปได้มาก ในสมัยก่อนบางสมัยบางตอนอาจจะมีดีๆ ที่เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจทั่วถึงชัดเจนก็ได้ บางอย่างของสมัยก่อนเราอาจจะรับมาแต่ส่วนที่เป็นเปลือกเป็นกระพี้ หรือสืบทอดกันมาในรูปที่คลาดเคลื่อนไป แล้วเราก็เหมาเอาว่า อย่างนั้นเป็นพุทธศาสนาในเมืองไทยสมัยก่อนๆ ทุกยุคทุกสมัยไป ก็อาจจะผิดพลาดได้ แต่อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า อย่างน้อยคำกล่าวที่ว่านี้เป็นข้อสังเกตชนิดเตือนสติได้อย่างดี อาจจะเป็นได้ หรือน่าจะเป็นได้ว่าในหลายยุคหลายสมัยทีเดียว เรามีพุทธศาสนาที่ไม่แท้จริง หรือคนที่เข้าถึงความแท้จริงของพุทธศาสนามีน้อยเหลือเกิน คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเช่นนั้น และในเวลาเดียวกัน สภาพปัจจุบันอาจเสื่อมทรามกว่าหลายยุคหลายสมัยของอดีต เช่นการนับถือที่คล้ายๆ กัน ซึ่งมีมาในสมัยก่อน กับที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบัน ความจริงอาจไม่เหมือนกันก็ได้ แม้แต่การนับถือผีสางเทวดา ความเชื่อในไสยศาสตร์ของคนไทยในสมัยก่อนกับสมัยนี้ ที่เขานับถือและปฏิบัติสมัยก่อน ก็อาจมีแง่มีมุมที่ถูกต้องมีหลักมีเกณฑ์บางอย่าง แต่ว่าสมัยนี้มันเคลื่อนคลาดไป ในสมัยนี้กลับเสื่อมลงไป ไปสู่ทางที่ผิดลุ่มหลงงมงายยิ่งกว่าสมัยก่อนก็อาจจะเป็นได้ เมื่อเรายังไม่ได้ศึกษาชัดเจนเราก็อาจจะมองสุ่มๆ กันไปว่า การนับถือเชื่อถือเรื่องเหล่านี้ของสมัยก่อนเหมือนสมัยนี้

ขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มขึ้นอีกหน่อยหนึ่งว่า ปัจจุบันนี้ในทางตะวันตกฝรั่งบางพวกเขาเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า อารยธรรมของเขากำลังเกิดปัญหา แล้วปัญหานี้ก็เกิดจากความงมงายในวิทยาศาสตร์และความงมงายในเทคโนโลยี ทีนี้หันมาดูในเมืองไทยเราปัจจุบันนี้เทียบสมัยก่อนๆ อาจจะมีความงมงายในพุทธศาสนาเกิดขึ้นบ้างในบางยุคบางสมัย ถ้าหากว่าไม่ทั้งหมด ถ้าในกรณีที่ว่าบ้านเมืองไทยไม่เคยมีพุทธศาสนาที่แท้จริงเลย ก็กลายเป็นว่าเคยมีแต่ความงมงายในพุทธศาสนา ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ในสมัยปัจจุบันนี้มันจะหนักกว่านั้น คือว่ามีทั้งความงมงายในพระพุทธศาสนา ความงมงายในวิทยาศาสตร์ ความงมงายในเทคโนโลยี มาผสมโรงกันเต็มที่ ตัวของพุทธศาสนาเองไม่ใช่เรื่องงมงาย วิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องงมงาย และเทคโนโลยีก็ไม่จำเป็นต้องงมงาย แต่ว่าคนไปนับถือปฏิบัติอย่างงมงาย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการแก้ไขให้มีการนับถือพุทธศาสนาชนิดที่ไม่งมงาย มีวิทยาศาสตร์ชนิดที่ไม่งมงาย มีเทคโนโลยีชนิดที่ไม่งมงาย

สถาบันพุทธศาสนาในเมืองไทยปัจจุบัน ถึงยุคที่เราจะเรียกว่า เป็นต้นไม้ที่ยืนต้นตายได้หรือไม่

คำที่ว่านี้ ก็เคยพูดเองและเคยได้ยิน ดูเหมือนว่าตอนนี้จะได้ยินมากขึ้นบ้าง และท่าทีต่อเรื่องนี้ก็เหมือนกับที่พูดเมื่อกี้ หรือเหมือนกับคำถามที่ถามมาแล้ว คือว่าอย่าด่วนใช้อารมณ์ ไม่ใช่ใครว่าอย่างนี้เราก็โมโหโกรธไป แต่เป็นข้อสังเกตสำหรับเตือนสติ และนำมาพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ดูว่าเป็นอย่างไรกันแน่ จะได้ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท ข้อสำคัญก็คือว่า คำติติง คำเตือนอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราควรจะได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น เพื่อจะทำให้เกิดความไม่ประมาทและก็เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนา

มีความจริงอยู่ไม่น้อยว่า สภาพของพุทธศาสนาที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสภาพของการได้รับผลบุญเก่า บางทีอาจจะพูดรุนแรงไปว่ากินบุญเก่า คือว่าบรรพบุรุษของเราได้สร้างกันมาสั่งสมกันมา มีวัดวาอารามมากมายใหญ่โต มีประเพณีที่เอื้ออำนวยให้ มีพระสงฆ์บวชจำนวนมากมาย และสิ่งก่อสร้างจำนวนมากที่สร้างไว้เป็นวัตถุ ดูว่าภายนอกพุทธศาสนาเจริญ สิ่งเหล่านี้แม้ที่สร้างในปัจจุบันก็เป็นผลในด้านนามธรรมจากการสั่งสมของบรรพบุรุษนั้นเอง ปัญหาอยู่ที่ว่าปัจจุบันนี้เราได้ทำอะไรที่เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญ ความดำรงอยู่อย่างมั่นคงของพุทธศาสนาในปัจจุบัน ที่จะเป็นผลดีสืบไปถึงในอนาคต ขณะนี้เรามีความมั่นใจในการกระทำของตนเองหรือเปล่า เริ่มต้นตั้งแต่ว่า เรามีความเข้าใจในพุทธศาสนาดีหรือไม่เป็นต้น มีความมั่นใจในภูมิคุ้มกันต่ออันตรายจากภายนอกจริงหรือไม่ และชุมชนหรือสังคมของเราปัจจุบันนี้ มีเครื่องหมายอะไรให้เกิดความมั่นใจว่า อยู่ในภาวะที่แน่นแฟ้นในพุทธศาสนา ซาบซึ้งในคุณค่าของพระศาสนาอย่างถึงจิตถึงปัญญา ไม่ใช่ว่าแต่ปากลอยๆ แน่ใจว่าเป็นสังคมที่จะดำรงพุทธศาสนาให้สืบต่อเจริญก้าวหน้าต่อไป นี่เรามีอะไรที่ทำให้มั่นใจ

ถ้าหากว่าไม่มีความมั่นใจในสิ่งเหล่านี้แล้ว คำกล่าวที่ว่ามาเมื่อกี้มันก็อาจจะเป็นจริงขึ้นมาได้ คือคำนั้นมีความหมายว่า เรามองเห็นตัวสถาบันพุทธศาสนา มีรูปลักษณะภายนอกโดยเฉพาะด้านวัตถุและปริมาณ เช่นว่าวัดวาอารามปูชนียวัตถุสถานที่ใหญ่โต จำนวนพระสงฆ์ที่มากมายนี้ เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ แต่ถ้าหากว่าวัตถุเหล่านั้นไม่ดำรงหรือบรรจุไว้ ซึ่งแก่นแท้หรือเนื้อหาของพุทธศาสนา เช่นพระภิกษุสงฆ์มีมาก แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ขาดการศึกษาไม่รู้หลักธรรมวินัย วัดวาอารามไม่เป็นที่ประกอบกิจกรรมในทางพุทธศาสนา ที่จะให้เกิดความรู้การประพฤติธรรม หรือช่วยให้ประชาชนพัฒนากาย ศีล จิต ปัญญาแท้จริง ก็หมายความว่าเป็นแต่ต้นไม้หรือตัวต้นไม้ที่เป็นเพียงรูปวัตถุหรือเป็นซากต้นไม้ ไม่มีชีวิตชีวา เมื่อไม่มีชีวิตชีวาก็เหมือนกับต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ถ้าอยู่ในสภาพอย่างนั้นคำกล่าวเมื่อกี้ก็เป็นความจริงได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้ไปพิจารณากันดู แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะวินิจฉัยเด็ดขาดในที่นี้ คือผู้ที่จะกล่าวอย่างนั้นจริงๆ ควรจะพูดให้ได้เหตุได้ผลหนักแน่น ก่อนจะพูด ต้องไปศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์สภาพปัจจุบันนี้ออกมาทีเดียว ให้เห็นเป็นอย่างๆ เป็นเรื่องๆ ไป เห็นเป็นรายละเอียดแสดงให้เป็นภาพที่ชัดเจน เป็นข้อเท็จจริงที่จะไม่มีใครกล่าวหาได้ว่าพูดเอาเอง

ขอย้อนไปพูดถึงตอนต้นว่า อย่างไรก็ตาม เราก็ควรจะได้รับประโยชน์จากคำที่ว่านั้นโดยถือเป็นข้อสังเกต ที่เตือนสติ เพื่อจะได้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ถ้าคำกล่าวของเขาไม่เป็นจริง เราศึกษาสำรวจตัวเองแล้ว เราก็จะได้มีความมั่นใจแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำในสิ่งที่จะเป็นเหตุแห่งความเจริญมั่นคงของพุทธศาสนาต่อไป หากว่ามันมีเค้าว่าจะเป็นความจริงเราจะได้รีบแก้ไข มันก็เป็นประโยชน์ทั้งสองทาง แต่ถ้าฟังคำเขาว่าแล้ว เอาแต่โกรธเขา ก็มีหวังว่าจะต้องเสียประโยชน์ทั้งสองทาง เพราะตกอยู่ในความประมาท และอาจจะต้องเป็นอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ คือยืนต้นตายแน่ๆ ความจริงนั้น สภาพปัจจุบันมีความซับซ้อนยิ่งกว่าที่พูดมานั้นอีก ซึ่งถ้ายังประมาทอยู่และไม่รู้เท่าทัน อาจจะไม่ใช่เพียงยืนต้นตายเท่านั้น แต่บางทีอาจจะต้องพบกับพุทธศาสนาที่กลายเป็นตอไม้ใหญ่ และบนตอนั้นมีต้นไม้อื่นยืนต้นขึ้นไปแทน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สถาปนาธรรมศาสตร์จารึกอโศก >>

เชิงอรรถ

  1. หมายเหตุ : ผู้สัมภาษณ์ คือ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญ (ดวงคิด) พิมพ์ครั้งแรก พุทธจักร ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๕

No Comments

Comments are closed.