ความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา

28 กุมภาพันธ์ 2518
เป็นตอนที่ 3 จาก 6 ตอนของ

ความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา

ชีวิตเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มากมายมาประชุมกันขึ้น องค์ประกอบเหล่านี้แยกประเภทใหญ่ๆ เป็น ๒ พวก คือ ทางร่างกายกับทางจิตใจ องค์ประกอบทุกส่วนทั้งทางร่างกายและทางจิตใจมีความเปลี่ยน​แปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงนั้นมิได้เป็นไปโดยอิสระหรือเลื่อนลอย ต้องเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบภายในของชีวิตเองบ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบภายในของชีวิต กับปัจจัยแวดล้อมภายนอกบ้าง

ในความสัมพันธ์นั้น ชีวิตพยายามเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่จะอำนวยประโยชน์แก่ตน และพยายามถือเอาประโยชน์จากปัจจัยที่ต้องเกี่ยวข้องหรือเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เพื่อให้เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ของตน ช่วยให้ชีวิตเจริญเติบโตขยายตัวออกไป พร้อมทั้งเพิ่มพูนความสามารถที่จะดำรงอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ย่อมอยู่ภายใต้ขอบเขตจำกัดเท่าที่องค์ประกอบภายในและปัจจัยภายนอกจะอำนวยให้ เวลาชั่วชีวิตหนึ่งนับว่าไม่ยืนยาวนัก ชีวิตโดยทั่วไปจึงมีความเคลื่อนไหวสืบต่อตนเองอยู่ภายในวงจรสั้นๆ แคบๆ ซ้ำซากกับวงจรที่ผ่านล่วงไปแล้ว แม้จะมีความเพิ่มพูนขยายตัวแปลกออกไป ก็นับว่าอยู่ในขอบเขตจำกัดที่น้อยอย่างยิ่ง ไม่ว่าทางร่างกายหรือทางจิตใจก็ตาม

อนึ่ง องค์ประกอบของชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องรับสืบทอดจากชีวิตด้วยกันต่อๆ มา และองค์ประกอบเหล่านั้นมีความสามารถจำกัด ไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากปัจจัยภายนอก ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้มากนัก ความเป็นไปของชีวิตโดยทั่วไปจึงต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ถูกปัจจัยต่างๆ ภายนอกกำหนดแนวทางความเปลี่ยนแปลง มากกว่าจะเป็นตัวกระทำหรือกำหนดความเปลี่ยนแปลงให้กับปัจจัยภายนอก เมื่อต้องขึ้นกับปัจจัยภายนอกอย่างมากมายเช่นนี้ อิสรภาพ คือความเป็นใหญ่ในตนเอง โดยหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำ ไม่ต้องพึ่งอาศัยขึ้นต่อสิ่งอื่น จึงมีน้อยเหลือเกินสำหรับชีวิตโดยทั่วไป

ชีวิตมนุษย์ก็เป็นชีวิตแบบหนึ่ง ซึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยการถือเอาประโยชน์จากความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก เช่นเดียวกับชีวิตอย่างอื่น แต่ชีวิตมนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้แตกต่างจากชีวิตแบบอื่นๆ คือมีองค์ประกอบภายในทางด้านจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้มนุษย์มีอิสรภาพ พ้นจากความครอบงำของปัจจัยภายนอกได้มาก และสามารถถือเอาประโยชน์จากปัจจัยภายนอกได้ อย่างแทบไม่มีขอบเขตจำกัด แม้ว่าองค์ประกอบอื่นๆ โดยเฉพาะด้านร่างกายของมนุษย์ ยังต้องพึ่งอาศัยขึ้นต่อปัจจัยภายนอกอย่างมาก และมีขอบเขตการเจริญขยายตัวจำกัด เช่นเดียวกับชีวิตอย่างอื่น แต่อิสรภาพที่องค์ประกอบข้อนี้อำนวยให้ ก็ทำให้มนุษย์สามารถทำการต่างๆ ขึ้นมาแก้ไขเสมือนจะกลับความอยู่ใต้อำนาจนั้นให้กลายเป็นความมีอิสรภาพโดยสมบูรณ์

จะเห็นได้ว่า มนุษย์สามารถล่วงรู้เข้าไปถึงความจริงอันลี้ลับของปัจจัยแวดล้อมทั้งหลายที่ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้อง มนุษย์สามารถนำความรู้นั้น มาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับผันแปรหรือจัดปัจจัยแวดล้อมทั้งหลาย ให้เกื้อกูลแก่การดำรงชีวิตของตน มนุษย์สามารถนำเอาความรู้ ความสามารถ ความชำนาญจัดเจนต่างๆ ที่มนุษย์รุ่นก่อนเรียนรู้ไว้ มาถ่ายทอดให้แก่มนุษย์รุ่นต่อไปได้โดยตรงระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์เอง เป็นวิธีการที่มนุษย์มีความเป็นอิสระในการกระทำอย่างมากที่สุด พึ่งอาศัยปัจจัยภายนอกน้อยที่สุด และทุ่นเวลาไม่ต้องให้มนุษย์รุ่นใหม่ต้องกลับไปเริ่มวงจรย้อนต้นซ้ำมาใหม่

มนุษย์มีจิตใจที่ประณีตละเอียดอ่อน ซึ่งสามารถที่จะซึมซาบในคุณค่า ความดี ความงาม ความรู้สึกนึกคิดของเพื่อนมนุษย์และสิ่งทั้งหลาย และที่สำคัญยิ่งคือมนุษย์สามารถเข้าใจเหตุผล รู้จักแยกระหว่างดีชั่ว คุณโทษ ส่วนตนส่วนสังคม เป็นต้น สามารถวินิจฉัย ตัดสินใจเลือกกระทำ หรืองดเว้นการกระทำต่างๆ ด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น หรือต่อสังคมได้ ความสามารถและความประณีตละเอียดอ่อนอันเป็นลักษณะพิเศษเช่นนี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์เล่าเรียนถ่ายทอดกันได้ ฝึกฝนให้ถนัดจัดเจนได้ อบรมให้เกิดความนิยมชมชอบ โน้มเอียง เคยชิน และแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้

องค์ประกอบภายในทางจิตใจที่มนุษย์มีเป็นพิเศษ ต่างจากชีวิตแบบอื่นๆ และทำให้มนุษย์มีคุณลักษณะความสามารถเป็นพิเศษเหนือกว่าชีวิตอื่นๆ นั้น ก็คือกุศลธรรม ที่เรียกว่าสติปัญญา ส่วนการเล่าเรียน ฝึกฝน อบรม เพื่อนำสติปัญญาที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ และทำให้แก่กล้ายิ่งขึ้น ก็คือ กระบวนการที่เรียกว่า การศึกษา ถ้ามนุษย์ปราศจากองค์ประกอบที่เรียกว่าสติปัญญา และขาดกระบวนการที่เรียกว่าการศึกษานี้เสียแล้ว ชีวิตมนุษย์ก็จะอยู่ใต้อำนาจครอบงำของปัจจัยแวดล้อมทั้งหลาย และหมุนเวียนอยู่ในวงจรสั้นๆ แคบๆ ซ้ำซากชั่วชีวิตแล้วชีวิตเล่า เช่นเดียวกับชีวิตสัตว์อื่นๆ

แต่ความมีสติปัญญาและการศึกษาได้ช่วยให้มนุษย์มีความเป็นใหญ่ในตนเอง ที่จะพ้นจากอำนาจครอบงำของปัจจัยแวดล้อมภายนอก สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตและสร้างสภาพที่เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ของตนได้อย่างมากมาย ซึ่งภาวะอันนี้ ถ้าจะหาศัพท์เรียกให้สั้น ก็คงจะได้แก่คำว่าอิสรภาพ ซึ่งมีความหมายใน ๒ ลักษณะ คือ ในทางลบได้แก่ความหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของสิ่งอื่น และในทางบวกได้แก่ความเป็นใหญ่ในตนเอง

ความที่กล่าวมานี้ นอกจากให้คำตอบเกี่ยวกับความหมายของการศึกษาแล้ว อาจถือว่าเป็นการตอบปัญหาเกี่ยวกับความมุ่งหมายของการศึกษาไปด้วย โดยถือว่า การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพ คือทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของปัจจัยแวดล้อมภายนอกให้มากที่สุด และมีความเป็นใหญ่ในตัว ในการที่จะกำหนดความเป็นอยู่ของตนให้ได้มากที่สุด วัตถุประสงค์เกี่ยวกับอิสรภาพนี้มองเห็นได้ชัด ถ้าแยกอิสรภาพนั้นออกพิจารณาเป็นแง่ๆ ไป เช่น

๑. ในแง่อิสรภาพพื้นฐานของชีวิต ตามปกติชีวิตต้องพึ่งอาศัยปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่มีอยู่ในธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมของธรรมชาตินั้น มีอิทธิพลในการกำหนดความเป็นไปและวิถีทางแห่งการดำรงชีวิตทั้งของมนุษย์และของชีวิตทุกๆ อย่างเป็นอย่างมาก บางครั้งปัจจัยแวดล้อมในธรรมชาติก็บีบคั้นให้ชีวิตเป็นอยู่โดยยาก หรือถึงกับจะให้สูญสลายไปเสียทีเดียว

นอกจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกแล้ว องค์ประกอบภายในของชีวิตเอง ก็อาจกลายเป็นเครื่องบีบคั้นตัดรอนชีวิตได้ เพราะการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต หมายถึงการสืบต่อประสานกันด้วยดีแห่งองค์ประกอบภายในทั้งหลายที่ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้เรรวนไม่ประสานกัน ความกระทบกระเทือนก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ชีวิต สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์ผู้ขาดการศึกษาย่อมขาดอิสรภาพในการดำรงชีวิตของตนอย่างนี้

แต่การศึกษาช่วยให้มนุษย์เข้าใจกลไกแห่งชีวิตของตน เข้าใจความจริงอันลี้ลับของธรรมชาติที่แวดล้อมตนอยู่ และรู้วิธีการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเหล่านั้น ในทางที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน หรือถือเอาประโยชน์แก่ตนได้ คือรู้จักปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้อย่างดีที่สุด นอกจากนั้น อาศัยความรู้ความเข้าใจและความถนัดจัดเจนในการใช้ความรู้นั้นอย่างถูกทาง แทนที่มนุษย์จะรอให้สิ่งแวดล้อมมากำหนดความเป็นอยู่ของตน มนุษย์กลับเป็นผู้จัดปัจจัยต่างๆ ในธรรมชาติให้เป็นไปตามประสงค์ของตนได้ พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ของตนได้

โดยความพยายามเพื่อเข้าถึงอิสรภาพข้อนี้ มนุษย์จึงกระทำการต่างๆ เพื่อกำจัดความอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ ความหนาวร้อนจัด และภัยธรรมชาติต่างๆ พยายามสร้างสรรค์ความอุดมสมบูรณ์ บริการเกี่ยวกับสุขภาพ ความสนุกสนานบันเทิง และการพัฒนาบ้านเมืองในทางวัตถุทุกวิถีทาง

๒. ในแง่อิสรภาพทางสังคม มนุษย์อาจมีความสามารถที่จะจัดปัจจัยแวดล้อมทางธรรมชาติ พัฒนาสิ่งแวดล้อมทางวัตถุและชีวิตแบบ อื่นๆ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนได้ ให้เกื้อกูลแก่การดำรงชีวิตของตนได้ แต่มนุษย์ด้วยกันก็เป็นปัจจัยแวดล้อมสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมนุษย์จะต้องเกี่ยวข้อง เรียกว่าเป็นปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ปัจจัยแวด​ล้อมทางสังคมนี้มีลักษณะของการที่จะต้องเกี่ยวข้องเป็นพิเศษ แตกต่างไปจากปัจจัยแวดล้อมอย่างอื่นในธรรมชาติ มนุษย์ไม่สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือมนุษย์ด้วยกันตามความต้องการของตน เหมือนกับที่จัดการกับสิ่งแวดล้อมอย่างอื่น

มนุษย์แต่ละคนเป็นส่วนประกอบหน่วยหนึ่งของสังคม การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดอิสรภาพพื้นฐานของชีวิต เช่นความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุเป็นต้น และการเสวยผลของอิสรภาพเช่นนั้น มิใช่สิ่งที่มนุษย์ผู้เดียวจะกระทำหรือเสวยผลได้ แต่เป็นการกระทำร่วมกันของสังคม และมนุษย์ที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนเท่านั้นจึงทำได้

ยิ่งบุคคลแต่ละคนที่เป็นหน่วยของสังคม เกื้อกูลต่อกันเท่าใด กลุ่มนั้นหรือสังคมนั้นก็ยิ่งเข้มแข็งอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น เรื่องของมนุษย์ที่จะกระทำต่อปัจจัยแวดล้อมทางสังคม จึงมิใช่เรื่องของการจัดการตามความประสงค์ของตน แต่กลายเป็นการที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ดีมีคุณภาพ เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ด้วยดีของบุคคลแต่ละคนที่เป็นหน่วยของสังคม แล้วเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน มนุษย์จึงต้องเรียนรู้วิธีการที่จะอยู่ร่วมกัน เรียนรู้การที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์แก่กัน การที่จะทำตนให้อำนวยประโยชน์แก่สังคม การที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งต่างๆ และการที่จะสร้างระบบการอยู่ร่วมกันด้วยดี เมื่อสังคมบรรลุถึงภาวะเช่นนี้ก็เรียกได้ว่าสังคมมีอิสรภาพรอดพ้นจากความบีบคั้น มีความเป็นใหญ่ในการสร้างสรรค์และเสวยผลแห่งความสุขสมบูรณ์ของตน บุคคลแต่ละคนในสังคมนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอิสรภาพทางสังคม

พิจารณาตามที่กล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าชีวิตเข้าถึงอิสรภาพทั้งในส่วนพื้นฐานและในทางสังคมอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะเป็นที่พอใจขนาดที่จะพูดได้ว่า เป็นชีวิตที่เข้าถึงจุดหมายแล้วอย่างแน่นอน และอิสรภาพอย่างนี้ ก็น่าจะเป็นจุดหมายของชีวิตได้ เมื่อเป็นจุดหมายของชีวิตแล้วก็ควรเป็นจุดหมายของการศึกษาด้วย

ดูตามนี้แล้วก็น่าจะเห็นอย่างนั้น แต่ปัญหาเกิดขึ้นว่า คำว่า “ถ้า” ที่นำข้อความข้างต้นนั้น จะมีทางถูกตัดออกไปให้เป็นความจริงขึ้นมาได้หรือไม่ หรือจะต้องเป็น ถ้า อยู่เช่นนั้นตลอดไป ปัญหามีตามมาว่า อิสรภาพที่กล่าวมานั้น ควรเป็นจุดหมายที่แท้จริงของชีวิตและการศึกษาหรือไม่ และอิสรภาพเช่นนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถบรรลุถึงได้จริงหรือไม่ การพิจารณาเรื่องนี้ อาจจะต้องวนกลับไปมองย้อนขึ้นมาตั้งแต่ต้นใหม่อีก จึงขอยกไว้เป็นข้อพิจารณาต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คำนำการให้การศึกษาเพื่อจุดหมายของชีวิต >>

No Comments

Comments are closed.