พระพุทธศาสนาคือเรื่องของธรรมชาติ

24 มกราคม 2524
เป็นตอนที่ 11 จาก 11 ตอนของ

พระพุทธศาสนาคือเรื่องของธรรมชาติ

ลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็คือ พระพุทธศาสนานี้ ตัวหลักแท้ๆ พูดตามภาษาสมัยใหม่ ก็คือ เรื่องของธรรมชาติ หรือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เริ่มตั้งแต่หลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจะตรัสให้เห็นสาระอันนี้ เช่น เรื่องไตรลักษณ์ก็จะตรัสว่า ตถาคตคือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นตัวหลักตัวกฎธรรมดาอยู่แล้วว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

หรือแม้ปฏิจจสมุปบาทก็เช่นเดียวกัน ก็ตรัสว่าตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงก็ดำรงอยู่ของมันอย่างนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ นี้ เป็นการแสดงหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา คือแสดงความจริงที่มีอยู่เองตามธรรมดาของธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย ฐานะของพระศาสดาก็คือเป็นผู้ค้นพบความจริงนั้นแล้วอาศัยปัญญาความสามารถ นำมาอธิบายสั่งสอนแจกแจงให้เข้าใจได้ง่าย

ในเมื่อตัวแท้ของพุทธศาสนาคือ ตัวความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาตามกฎธรรมชาติแล้ว เพราะฉะนั้น การที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็คือ การนำความรู้ในกฎธรรมชาตินั่นเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การปฏิบัติหรือระบบอะไรต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนาก็คือ การนำความรู้ในกฎธรรมชาตินี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในเมื่อความรู้ในกฎธรรมชาติหรือการรู้ความจริงนี้ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นธรรมสำคัญในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา ปญฺญุตฺตรา ธรรมทั้งปวงมีปัญญาเป็นเยี่ยม เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นหลักธรรมสำคัญตั้งแต่ต้น พระพุทธศาสนาจึงสอนคนเริ่มตั้งแต่ให้มีโยนิโสมนสิการ แม้แต่องค์ประกอบสำคัญ ๒ ประการ คือ ปรโตโฆษะที่ดีกับโยนิโสมนสิการ ปรโตโฆษะนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อมาชักนำให้คนมีโยนิโสมนสิการ ให้เขารู้จักคิด คิดเป็น เพราะคนบางคนนั้นคิดไม่ค่อยเป็น ต้องมีกัลยาณมิตรมาช่วย เมื่อเขามีโยนิโสมนสิการแล้ว เขาก็เกิดสัมมาทิฏฐิ ก็ก้าวหน้าไปในมรรคได้

เพราะฉะนั้น เริ่มต้นก็ต้องปลุกเร้านำเข้าสู่ปัญญา แล้วปัญญาก็เป็นองค์ธรรมสำคัญเรื่อยไปในทางพระพุทธศาสนา แต่ในเมื่อเราไปอาศัยปรโตโฆษะหรือกัลยาณมิตร ก็จึงมีหลักขึ้นมาอีกอันหนึ่งคือศรัทธา ปรโตโฆษะนี้เป็นตัวทำให้เกิดศรัทธา เมื่อมีศรัทธาแล้ว ปรโตโฆษะจะอาศัยศรัทธานั้น สร้างโยนิโสมนสิการทำให้คนเกิดสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น แม้แต่ถ้าเราจะมีศรัทธาเราก็บอกว่านี่เพราะอะไร ก็เพื่อเชื่อมตัวปรโตโฆษะหรือกัลยาณมิตรเข้ากับโยนิโสมนสิการ เพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิต่อไป แล้วศรัทธาก็เป็นเพื่อปัญญานั้นอีก นี้ก็เป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ขอผ่านไปก่อน

มีชื่อเรียกซึ่งเป็นการแสดงลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า คำสอนของพระองค์หรือหลักการของพระองค์นี้ รวมทั้งตัวพระองค์เองด้วย เป็นกรรมวาทะ เป็นกิริยวาทะ และ เป็นวิริยวาทะ ที่ว่าเป็นกรรมวาทะนั้นมีหลายแห่ง เรียกภาษาสมัยใหม่ก็เป็นกรรมวาท เป็นกิริยวาทและวิริยวาท

กรรมวาท แปลว่า เป็นผู้กล่าวสอนเรื่องกรรม คือ ถือการกระทำเป็นสำคัญ

กิริยวาท คือถือว่า การกระทำมีผล และสิ่งทั้งหลายสำเร็จด้วยการกระทำ

วิริยวาท ก็คือ กล่าวสรรเสริญความเพียร เป็นศาสนาแห่งความเพียร

คำว่า ‘วาทะ’ แปลว่า หลักการก็ได้ เพราะถ้าจะขยายกว้างออกก็คือ ศาสนานั่นเอง จึงว่าศาสนาแห่งความเพียร ฉะนั้น เรื่องที่ว่าคำสอนอย่างไรจะถูกหลักศาสนาหรือไม่ มีวิธีวินิจฉัยแบบหนึ่งก็ดูว่า เรื่องนี้เป็นกรรมวาท กิริยวาท วิริยวาทหรือไม่ และอันนี้ก็จะไปปรากฏในหลักตัดสินพระธรรมวินัย ๗-๘ ประการ อะไรต่างๆ ซึ่งจะมีวิริยะนี้เป็นองค์ประกอบข้อหนึ่ง อันนี้อาตมภาพก็จะขอผ่านไปก่อน

มีอีกอย่างหนึ่ง ในภาคปฏิบัติที่สำคัญก็คือ เราในหมู่ชาวพุทธนี้มักจะกลัวเรื่องความอยาก แล้วก็มีความรู้สึกว่าถ้าพูดถึงความอยากแล้ว ชาวพุทธจะต้องปฏิเสธ จะต้องพยายามเลี่ยงเว้น พวกชาวพุทธเป็นคนไม่มีความอยาก ปฏิบัติเพื่อละความอยาก อยากอะไรไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถ้าหากว่าระวังระแวงเกินไป อาจจะทำให้เสียแก่พระพุทธศาสนาได้เหมือนกัน เพราะว่าความอยากนี้เราไปหมายถึงตัณหา เราบอกว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่สอนให้ละตัณหา เพราะฉะนั้น จะอยากอะไรไม่ได้ ทีนี้ ก็มีฝ่ายตรงข้ามเขาก็บอกว่า โอ…พระพุทธศาสนาสอนให้คนไม่อยาก เมื่อไม่อยากก็เลยไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องผลิตสร้างสรรค์ ทำให้ขัดถ่วงการพัฒนา เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการแยกแยะให้เห็นว่า ความอยากในพระพุทธศาสนานี้ มันเป็นสิ่งที่ถูกประณามแท้จริงหรือไม่ ขอเข้าสู่หลักเลย ท่านบอกว่า ปตฺถนา แปลว่า ความอยากหรือความปรารถนา ปตฺถนา นั้นมี ๒ อย่าง

๑. ตัณหาปัตถนา ปรารถนาหรืออยากด้วยตัณหา

๒. ฉันทปัตถนา ปรารถนาหรืออยากด้วยฉันทะ

ตัณหาปัตถนา อยากด้วยตัณหานั้นเป็นอกุศล ฉันทปัตถนา อยากหรือปรารถนาด้วยฉันทะเป็นกุศล ฉันทะนี้เป็นองค์ธรรมสำคัญ เช่น ในอิทธิบาทเป็นข้อแรกทีเดียว ก็เป็นอันว่าที่จริงฉันทะนี้ ซึ่งเราจะแปลอย่างไรก็ตาม อาจจะพยายามเลี่ยงหน่อย ไม่อยากใช้คำว่าอยาก แปลเป็นอย่างอื่นก็ตาม แต่ก็ต้องให้รู้ว่าสาระของมันมีอยู่ว่า ในทางพระพุทธศาสนานี้ ความปรารถนา หรือความต้องการอย่างหนึ่ง ท่านสอนและสนับสนุนให้มี คือ ความต้องการที่เรียกว่า ฉันทะ

ที่จริงฉันทะนี้ก็เป็นไวพจน์ของตัณหาได้เหมือนกัน ฉันทะมีหลายอย่างอีกแหละ มีกัตตุกัมยตาฉันทะ ฉันทะคือความอยากที่ต้องการจะทำ มีตัณหาฉันทะหรืออกุศลฉันทะ คือความอยากที่เป็นตัณหา และมีกุศลฉันทะหรือกุศลธรรมฉันทะ ความอยากหรือความต้องการตัวธรรม หรือต้องการสิ่งที่เป็นกุศล ในแง่ของฉันทะที่เป็นกุศล จะมีพุทธพจน์แม้แต่ว่าฉันทะในนิพพานคืออยากนิพพานก็มี แต่ต้องแยกให้ถูกระหว่างอยากนิพพานด้วยตัณหากับอยากนิพพานด้วยฉันทะ

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ต้องการเพียงแสดงหลักการให้เห็นว่า มีความอยากประเภทหนึ่งที่พระพุทธศาสนาสนับสนุน และเป็นตัวสำคัญในการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตตามหลักการของธรรม ฉะนั้น เราควรจะต้องแยกแยะให้ถูกก่อน เมื่อแยกถูกแล้ว จะสนับสนุนคนให้อยากด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ชาวพุทธไม่ควรจะมากลัวนักกับคำว่า อยาก แต่ต้องเข้าใจคำว่าอยากนี้ให้ถูกต้อง และแยกให้ถูกและสอนให้ชัดว่า อันไหนควรอยาก อันไหนไม่ควรอยาก ควรอยากในแง่ไหน และก็สนับสนุนความอยากที่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงความอยากที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะเอาแต่ไปกดกำหราบละความอยาก เราอาจจะไม่สำเร็จผลและเกิดโทษก็ได้ นี้ก็เป็นข้อที่ควรจะเน้นอันหนึ่ง

ต่อไปก็เรื่องโลกียธรรม และโลกุตตรธรรม อันนี้ในระยะนี้ รู้สึกว่ามีความสับสนปนเปอยู่บ้าง คือว่าในความรู้สึกสามัญ ความหมายของคำว่า โลกียธรรม โลกุตตรธรรม นี้ อาจจะได้ต่างออกไปแล้วจากความหมายของโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม ที่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา บางทีเราพูดสับสนเกินไปถึงกับว่า เรื่องของชาวโลกเป็นโลกียธรรม เรื่องของพระหรือเรื่องของผู้ออกบวชเป็นโลกุตตรธรรม เป็นเรื่องของคนที่หลีกลี้ออกจากสังคมไปอยู่ป่าอยู่เขา อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่สับสนปนเป แม้จะไม่ผิดโดยสิ้นเชิงแต่ก็ไม่ถูก

ทีนี้ เอาตามหลักการท่านบอกว่า โลกียธรรม คือ ธรรมที่เนื่องด้วยโลก ที่เกี่ยวข้องกับโลก และโลกุตตรธรรม ธรรมเหนือโลก โลกุตตรธรรมท่านก็พูดเอาอย่างจำกัดตัวเลยว่า ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน มีรวมทั้งหมด ๙ อย่าง แต่ในคัมภีร์บางแห่งขยายไปถึง ๓๗ ประการ เป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เรียกว่า เป็นโลกุตตรธรรม แต่จะมาบรรยายในเนื้อหากันก็คงจะใช้เวลามากไป

สาระสำคัญก็คือ โลกุตตรธรรมนี้คือหลักการปฏิบัติหรือภาวะที่เข้าถึง ที่ทำให้บุคคลมีชีวิตจิตใจที่เป็นอิสระ หลุดพ้น ลอยเหนือกระแสโลก ทีนี้ บุคคลที่เป็นอย่างนี้โดยปกติได้แก่พระอริยบุคคล ซึ่งถึงวิมุตติบ้างแล้ว ถึงแม้จะไม่สิ้นเชิงก็ถึงบ้าง เช่น เป็นพระโสดาบัน เป็นต้น พระโสดาบันนั้นก็เป็นพระอริยบุคคลซึ่งจำนวนมากเป็นคฤหัสถ์ ยังอยู่ครองเรือน มีบุตรมีสามีภรรยา ท่านเหล่านี้ก็ถึงโลกุตตรธรรมแล้ว

ส่วนอีกด้านหนึ่ง โลกียธรรม เนื่องด้วยโลก ยังมีการติดอยู่ เช่น อยู่ในโลกก็ติดในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ออกบวชแล้ว บางทีไปบำเพ็ญธรรมในป่า ไปได้ฌานสมาบัติ ก็ติดในฌานสมาบัติ เพลินในความสุขจากฌานสมาบัติ ก็เป็นโลกียะเป็นเรื่องเนื่องด้วยโลก บางคนก็ไปพูดถึงฌานสมาบัติ นึกว่าเป็นเรื่องโลกุตตระ ซึ่งที่จริงไม่ถูกต้อง ความจริงแล้ว ฌานสมาบัติตามปกติก็เป็นโลกียธรรมทั้งสิ้น จะเป็นโลกุตตรธรรมก็ต่อเมื่อไปเป็นฌานสมาบัติของท่านผู้ที่หลุดพ้นแล้ว แม้จะเป็นพระโสดาบันอยู่บ้าน จะได้ฌานสมาบัติหรือไม่ ก็เป็นโลกุตตระ ถ้าได้ฌานสมาบัติด้วย ฌานสมาบัตินั้นก็กลายเป็นโลกุตตระไป

ฉะนั้น เรื่องโลกียะโลกุตตระนี้ จะมองแต่เพียงความเป็นอยู่ทั่วๆ ไปย่อมไม่ถูกต้อง จะต้องมองถึงภาวะจิตใจที่หลุดพ้น เป็นอันว่า ไม่พึงแบ่งแยกที่สภาพความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ต้องเข้าถึงชีวิตจิตใจ ถ้าเขาอยู่ในโลก แม้อยู่ครองเรือน แต่ชีวิตจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้น เช่น เป็นพระโสดาบัน เป็นต้น เขาก็บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า เราบัญญัติโลกุตตรธรรมว่าเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกับที่พราหมณ์บัญญัติว่า ในวรรณะ ๔ นั้น วรรณะกษัตริย์มีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว วรรณะพราหมณ์มีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว วรรณะแพศย์ วรรณะศูทรมีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว พราหมณ์เขาบัญญัติไว้อย่างนั้น เช่น บอกว่า สำหรับวรรณะศูทรนั้นให้เคียวกับไม้คานเป็นสมบัติประจำตัวอะไรทำนองนี้ แต่พระพุทธเจ้าว่า เราบัญญัติโลกุตตรธรรมให้เป็นสมบัติของทุกคน ให้มนุษย์ทุกคนมีโลกุตตรธรรม

เพราะฉะนั้น จะอยู่ที่ไหน อยู่ในโลก ในบ้านก็ตาม ออกบวชก็ตาม ก็ควรพยายามแสวงหาและเข้าถึงโลกุตตรธรรม พยายามให้ชีวิตนี้ จิตใจนี้เป็นอิสระให้ได้ มิฉะนั้น แม้จะออกบวชแล้ว ไปได้ฌานสมาบัติ ไปติดเพลินในฌานสมาบัติเสีย ก็อยู่ในโลกียธรรมนั่นเอง เพราะฌานสมาบัติเป็นโลกียธรรม หาใช่เป็นโลกุตตรธรรมไม่ ถ้าเป็นของปุถุชน ที่นี้ ก็ขอข้ามไปก่อน

หลักทั่วไปของพระพุทธศาสนานั้น ท่านถือว่า อริยสัจเป็นหลักใหญ่หลักกลางครอบคลุมได้หมด เรารู้กันอยู่แล้วว่า อริยสัจ มีความสำคัญ แต่เมื่อพูดถึงอริยสัจ ก็คงจะต้องไม่มองข้ามกิจในอริยสัจไปด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงอริยสัจ พระองค์จะตรัสกิจในอริยสัจด้วย แล้วก็ตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรถึงการที่ว่า เพราะพระองค์ได้ทำกิจในอริยสัจเสร็จสิ้นถูกต้องบริบูรณ์ จึงปฏิญาณพระองค์ได้ว่าตรัสรู้ ที่นี้กิจในอริยสัจก็มี ๔ ประการ

๑. ทุกข์ นั้น กิจของมัน คือ ปริญญา คือ ทำความเข้าใจ ทำความรู้จัก กำหนดให้ได้ ทุกข์จะแปลว่าปัญหาก็ได้ ปัญหานั้นจะต้องทำปริญญาคือกำหนดรู้ รู้จักมันตามความเป็นจริง ตามสภาวะ เหมือนตรวจโรคให้รู้ว่าเป็นอะไรก่อน

๒. สมุทัย กิจในสมุทัยก็คือ ปหานะ กำจัดหรือละเสีย หมายความว่าจะต้องสืบสาวให้ได้ว่ามันคืออะไร แล้วละมันเสีย เหมือนค้นหาเชื้อหรือตัวเหตุที่ทำให้เป็นโรค เพื่อจะกำจัดแก้ไข

๓. นิโรธ คือจุดหมาย กิจในจุดหมายก็คือ สัจฉิกิริยา การกระทำให้ประจักษ์แจ้งหรือการบรรลุ ก็จะต้องกำหนดให้ได้ว่า เป้าหมายของเราคืออะไร เราต้องการอะไร มันเป็นไปได้จริงหรือไม่ พึงประสงค์หรือไม่ แล้วก็พยายามเข้าถึง เหมือนคาดหมายผลการรักษาว่าจะหวังได้แค่ไหน

๔. สุดท้ายก็ มรรค กิจในมรรคก็คือ ภาวนา การทำให้เกิดให้มีหรือลงมือปฏิบัติ ได้แก่ วิธีการ และรายละเอียดในการกระทำ จะต้องลงมือกระทำ เหมือนวางยา วางรายละเอียดในวิธีรักษาให้ได้ผลตามที่คาด

ฉะนั้น เรื่องอริยสัจนี้จะต้องมาพร้อมด้วยกิจในอริยสัจ ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็จะผ่านพ้นการที่จะถูกกล่าวหาด้วย มีผู้กล่าวหา เช่นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้าย อะไรต่างๆ เป็นต้น พระพุทธศาสนาสอนทุกข์เพื่อปริญญา เพื่อรู้จักมันตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ใช่ให้มานั่งทอดถอนว่า โอ…โลกนี้มันทุกข์ไม่สบายเลยหนอ แล้วใจก็เศร้าหดหู่อยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์เพื่อปริญญา รู้จักกำหนดหมายให้เข้าใจมันตามความเป็นจริง ตามสภาวะ เพื่อเราจะได้ดำเนินสู่ขั้นต่อไป คือ สืบสาวหาเหตุเพื่อจะละมันเสีย แล้วกำหนดเป้าหมาย รู้จักจุดหมาย แล้วก็ลงมือปฏิบัติตามมรรค สิ่งที่เราต้องทำก็คือมรรค ท่านสอนให้เรียนรู้ปัญหา เพื่อให้แก้ปัญหาได้ รู้จักทุกข์เพื่อให้หายทุกข์

นี้เป็นเรื่องที่อาตมภาพยกขึ้นมาเป็นข้อสังเกต เป็นจุดที่พึงเน้น พึงย้ำ ก็ถึงเวลาที่คงจะเรียกได้ว่าพอสมควร เกรงว่าเรื่องเหล่านี้จะกินเวลามาก ก็เลยพยายามพูดให้สั้น อาตมภาพรู้สึกว่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปในเรื่องเวลาบ้างด้วย จึงเหลือเวลาสำหรับการพูดคุยอภิปรายกันมาก ก็คิดว่าดีเหมือนกัน ถ้าหากว่าจะได้นำเอาเรื่องราวที่พึงกล่าวหรือพึงพิจารณานำมาถกเถียง ช่วยกันให้ความคิดเห็น สำหรับส่วนที่อาตมภาพพูดแล้วนี้ ก็อาจจะมีปัญหาหรือมีข้อที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ อาจจะมีบางส่วนที่ยังไม่ได้พูดถึง ที่จะพูดแต่ตกหล่นไป ก็อาจจะนำมาพิจารณาในที่นี้ด้วย.

 

______________________________________________

หมายเหตุ : แสดงในการสัมมนา “หลักวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์” จัดโดยคณะอนุกรรมการฯเสนอหลักวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ ศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ๒๔ มกราคม ๒๕๒๔ ตีพิมพ์ครั้งแรกในพุทธจักร ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๑๐,๑๑,๑๒ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่สองในหนังสือ “ลักษณะสังคมพุทธ” สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดพิมพ์ พ.ศ.๒๕๒๗

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ประโยชน์ ๓ ประการ

No Comments

Comments are closed.