ชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม

22 กุมภาพันธ์ 2523
เป็นตอนที่ 1 จาก 4 ตอนของ

ชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม

ท่านสหธรรมิกทั้งหลาย

ขออำนวยพรแก่ท่านประธานกรรมการ พร้อมทั้งท่านกรรมการผู้จัดการและกรรมการแห่งมูลนิธิโกมลฯ และท่านสาธุชนทั้งหลาย หัวข้อเรื่องปาฐกถาในวันนี้ที่ตั้งไว้ว่า ‘ชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม’ นั้น รู้สึกว่าเป็นหัวข้อที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจ เพราะว่าเหตุการณ์ทั้งหลายในปัจจุบันไม่ว่าในระดับบ้านเมืองของเรานี้ก็ดี หรือว่าในระดับโลกก็ดี กำลังทำให้เกิดความรู้สึกน่าตื่นเต้น น่าเป็นห่วงว่าอะไรจะเกิดขึ้น บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร โลกนี้จะเป็นอย่างไร คือเป็นห่วงเรื่องชะตากรรมนั่นเอง หรือจะมาพิจารณาในแง่ที่ใกล้ตัวตามหัวข้อที่ตั้งไว้ คือเรื่องพุทธศาสนา หรือตัวชาวพุทธทั้งหลายนี้ ในสมัยปัจจุบัน เราก็มองเห็นกันอยู่ว่าสภาวการณ์เกี่ยวกับพุทธศาสนามีข้อที่ทำให้เรารู้สึกห่วงใยกันไม่น้อย มีข่าวคราวที่พุทธศาสนิกชน นำมาตั้งเป็นคำถาม เกี่ยวกับเรื่องความประพฤติของพระภิกษุสามเณรบ้าง เรื่องการกระทำต่างๆ ที่สงสัยกันว่าถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ ตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับวิธีดำเนินกิจการของสถาบันในทางพุทธศาสนา เรื่องต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีข้อที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ทั้งสิ้น รวมความว่าหัวข้อที่ตั้งในวันนี้มาประจวบเข้ากับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้น่าตื่นเต้นน่าสนใจดี

อย่างไรก็ดี เรื่องชะตากรรมนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก การที่เราจะรู้ชะตากรรมของสังคมได้ จะต้องอาศัยความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ รอบด้าน ต้องรู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นพอสมควร จึงจะหยั่งลงไปหรือทำนายได้ว่าชะตากรรมจะเป็นอย่างไร สำหรับหัวข้อเรื่องนี้อาตมภาพเป็นผู้ตั้งขึ้นเองก็จริง แต่เมื่อตั้งไปแล้วมารู้สึกตัวตอนหลังไม่ค่อยสบายใจ ที่ไม่ค่อยสบายใจก็มีเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วคือเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอะไรต่างๆ ถึงตอนนี้ก็จะต้องขอออกตัวเสียก่อนว่า ผู้พูดเองกำลังอยู่ในระยะที่ค่อนข้างปิดหูปิดตา ทั้งนี้เพราะกำลังมุ่งหน้าทำงานด้านหนังสืออย่างเดียว ก็เลยไม่ได้ติดตามเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทั้งหลาย และไม่ได้มีเวลาเตรียมเนื้อหาที่จะเป็นหลักฐานในส่วนนี้ได้เพียงพอ การที่จะพูดเรื่องทำนายชะตากรรมนี้ได้ จะต้องติดตามเหตุการณ์ได้ทัน แล้วก็มีหลักฐานต่างๆ เป็นข้อมูลได้มากพอสมควร ในเมื่อตนเองมีความไม่พร้อมเช่นนี้ก็ต้องออกตัวไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ประมาณความสำคัญของปาฐกถานี้ถูกต้อง คือไม่ให้ความสำคัญมากเกินไป ก็คงจะได้เพียงแค่การพรรณนาและแสดงความคิดเห็นประกอบ เพื่อจะช่วยกันมาหยั่งมาคิดกันต่อๆ ไป ถ้าว่าความรู้สึกของตนเองนั้นอาตมภาพคิดว่าควรจะสมัครใจเป็นผู้ฟังผู้อื่นพูดเสียมากกว่า ในเมื่อมาเป็นผู้พูดเสียเองแล้ว ก็จะต้องแสดงความคิดเห็นไปเท่าที่จะนึกจะคิดได้ตามความรู้เดิมเท่าที่มีอยู่ เมื่อพูดไป หัวข้อเรื่องที่ว่าชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคมนั้น อาจจะกลายเป็นสังคมกับชะตากรรมของชาวพุทธไปก็ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา คือธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในสังคมนี้ จะเป็นบุคคลก็ตามหรือเป็นสถาบันก็ตาม ในด้านความสัมพันธ์กับสังคมแล้วโดยทั่วไปจะมองได้ ๒ แง่คือ มองในแง่หนึ่งมันเป็นปัจจัยช่วยปรุงแต่งสังคม คือช่วยให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งแก่สังคมและอีกแง่หนึ่งมันเป็นผลผลิตของสังคม คือเป็นสิ่งที่สังคมปรุงแต่งให้เป็นไป ในทางร้ายๆ อาจจะเห็นได้ง่ายเช่นโจรผู้ร้าย ซึ่งเราพูดได้ว่าเป็นทั้งผลผลิตของสังคม และเป็นปัจจัยที่ปรุงแต่งสังคมไปด้วย การที่จะเกิดมีโจรผู้ร้ายขึ้น อาจจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างในทางสังคม เช่นความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ สภาพความเสื่อมโทรมในทางศีลธรรม เป็นต้น มาประกอบกันเข้า สังคมก็ปรุงแต่งคนทำให้เกิดมีโจรผู้ร้ายมากขึ้น และเมื่อโจรผู้ร้ายเกิดขึ้นแล้ว โจรผู้ร้ายก็ปรุงแต่งสังคม ทำให้สังคมมีความวุ่นวายเดือดร้อนมากขึ้น มีความระส่ำระสายมากขึ้น หรืออย่างเรื่องปัญหาเยาวชน มันก็ต้องเกิดมาจากสภาพทางสังคมเป็นปัจจัยด้วย เริ่มตั้งแต่ปัญหาครอบครัว ปัญหาสภาพแวดล้อมทางสังคม เรื่องสื่อมวลชน การค้าขายยาเสพติดอะไรเป็นต้นสุดแต่จะแยกแยะกันไป สิ่งเหล่านี้มันเข้ามาเป็นปัจจัยปรุงแต่งปัญหาเยาวชน ทีนี้ปัญหาเยาวชนเกิดขึ้นแล้วมันก็กลับมาปรุงแต่งสังคมต่อไป ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเรามองชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคมนั้นเรามองด้านเดียวไม่ได้ เราต้องมองกลับกันทุกอย่าง ในแง่หนึ่งชาวพุทธเป็นตัวปรุงแต่งชะตากรรมของสังคม แต่ในเวลาเดียวกันนั้นสังคมก็ปรุงแต่งชะตากรรมของชาวพุทธด้วย

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้อาตมภาพคิดว่าเราควรจะจำกัดขอบเขตพูดในแง่ที่ว่า ชาวพุทธจะเป็นตัวปรุงแต่งชะตากรรมของสังคมตามแบบแผนของชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธปรุงแต่งชะตากรรมของสังคมตามแบบของชาวพุทธละก็ มันจะต้องเป็นการปรุงแต่งที่ดี เพราะเราถือว่าชาวพุทธคือคนที่ได้ฝึกอบรมตนแล้ว เป็นคนมีหลักการ เป็นคนที่ประพฤติปฏิบัติธรรม พูดง่ายๆ ว่าเป็นคนดี เมื่อคนดีมาเกี่ยวข้องกับชะตากรรมของสังคม ก็ต้องหมายความว่าจะมาปรุงแต่งชะตากรรมของสังคมไปในทางที่ดี แต่การที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ชาวพุทธที่ว่านี้จะต้องเป็นชาวพุทธที่แท้ หรือว่าเป็นชาวพุทธที่ทำหน้าที่ถูกต้องตามฐานะหน้าที่ของตน เป็นชาวพุทธที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา หรือว่าเป็นชาวพุทธที่นำหลักการของพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติ จึงจะเป็นผู้ปรุงแต่งชะตากรรมของสังคมไปในทางที่ดี แต่ถ้าชาวพุทธไม่มีความเป็นชาวพุทธที่แท้ หรือไม่ได้นำหลักการของพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ เราก็มองชาวพุทธนั้นว่าเป็นคนที่เป็นผลผลิตของสังคมเฉยๆ หรือถ้าชาวพุทธได้ไปนำเอาสิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนามาปฏิบัติ ทำในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธ ปฏิบัติผิดฐานะ ผิดหน้าที่ของชาวพุทธ แล้วปรุงแต่งชะตากรรมของสังคมไปในทางที่ไม่ดี กรณีอย่างนี้ก็ให้ถือว่าไม่ใช่การกระทำของชาวพุทธ อาจจะมีผู้คัดค้านว่าถ้าปฏิบัติถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา อาจทำให้สังคมไม่เจริญก็ได้ โดยเขาอ้างหลักธรรมข้อโน้นข้อนี้ว่า ทำให้คนไม่เจริญไม่ก้าวหน้าเป็นต้น ในที่นี้จะไม่โต้เถียงในเรื่องนั้น ขอให้ถือเป็นมติที่ยึดถือเอาไว้ก่อนว่า ถ้าชาวพุทธปฏิบัติตามหลักการของชาวพุทธที่แท้จริงถูกต้องแล้ว ก็จะปรุงแต่งชะตากรรมของสังคมไปในทางที่ดี ถ้าหากปรุงแต่งไปในทางที่ไม่ดี ก็ไม่ถือเป็นชาวพุทธ ถ้าตกลงอย่างนี้ละก็เข้าสู่เรื่องที่กำลังพูดในบัดนี้ว่าชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม ชาวพุทธในที่นี้หมายถึงชาวพุทธที่แท้

เมื่อพูดอย่างนี้แล้วก็เลยเกิดมีปัญหาต่อไปคือ ชาวพุทธที่แท้เป็นอย่างไร ใครคือชาวพุทธที่แท้ จึงจะต้องถือโอกาสเสียเวลาในเรื่องนี้กันนิดหน่อย ในที่นี้จะไม่พูดเข้าไปถึงหลักการในพระพุทธศาสนาว่า การเป็นชาวพุทธจะวัดด้วยข้อธรรมหรือหลักปฏิบัติอย่างไร จะมุ่งพูดในทางปฏิบัติอย่างเดียว ปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับการเป็นชาวพุทธคือ การแสดงออกหรือการปฏิบัติตัวตามหน้าที่ซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นในภายนอก จะขอแบ่งชาวพุทธออกเป็นหลายระดับ ชาวพุทธระดับที่หนึ่งซึ่งเห็นกันง่ายที่สุดก็คือพวกที่เรียกตนเป็นพุทธศาสนิกชน หรือเวลาจะเขียนลงในเอกสารก็เขียนว่า นับถือพระพุทธศาสนา อย่างนี้เราก็เรียกกันว่าเป็นชาวพุทธ อาจจะเรียกว่าชาวพุทธในนาม จัดเป็นขั้นเบื้องต้น ขั้นนี้หาได้ง่าย มีทั่วไป แต่คิดว่าเป็นเพียงขั้นนี้ยังไม่พอ ลองวัดกันให้ลึกซึ้งลงไปอีก คือวัดด้วยการนับถือพระพุทธศาสนา แต่จะเอาอะไรมาวัดว่านั่นถือพุทธศาสนา ขอยกตัวอย่างเช่นว่า พอได้ยินว่ามีพระประพฤติเสียหายทำไม่ดีไม่งาม บางท่านก็อุทานออกมาว่า พระเดี๋ยวนี้ไม่ดีเลย ไม่น่าเลื่อมใส พุทธศาสนานี้ไม่อยากนับถือ ในกรณีนี้เราก็วัดผลออกมาว่า ท่านผู้นี้ยังไม่ถือว่านับถือพุทธศาสนา ทำไมจึงยังไม่นับถือพระพุทธศาสนา ก็เพราะว่าความนับถือของเขายังไม่ถึงตัวพระพุทธศาสนา เขายังต้องเอาศรัทธาไปฝากไว้กับคนอื่น เอาฝากไว้กับพระบ้าง เอาฝากไว้กับวัดบ้าง ศรัทธายังเที่ยวฝากคนโน้นคนนี้อยู่ ยังไม่ถือว่านับถือพระพุทธศาสนา จะชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนาก็ต่อเมื่อศรัทธานั้นไปอยู่ที่ตัวพระพุทธศาสนา นับถือพระพุทธศาสนาเพราะเห็นคุณค่าของหลักธรรมะ เห็นคุณค่าของตัวพระพุทธศาสนาเอง ถ้าหากว่าศรัทธาหรือความนับถือของเขายังหวั่นไหว เวลาเห็นพระประพฤติไม่ดีก็เกิดจะไม่เลื่อมใสพุทธศาสนา ก็แสดงว่าเขายังไม่นับถือที่ตัวพระพุทธศาสนาแท้ ยังรออยู่ว่าจะนับถือหรือไม่ ยังอยู่วงนอก ถ้าเป็นผู้ที่นับถือตัวพระพุทธศาสนาแล้ว ศรัทธาอยู่ที่ตัวศาสนา เห็นคุณค่าศาสนาแท้จริง เวลาได้ยินพระประพฤติเสื่อมเสีย เขาจะนึกไปอีกอย่าง เขานึกอย่างไร เขาก็จะนึกว่าท่านผู้นี้ขนาดเข้าไปบวชใกล้ชิดพระพุทธศาสนาถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ได้รับประโยชน์จากศาสนาเลย หรือว่ายังได้รับประโยชน์จากศาสนาน้อยเหลือเกิน หรืออาจจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่าศาสนาช่วยเขาได้แค่นี้ นายคนนี้ถ้าเขาไม่บวชเขาจะเลวร้ายขนาดไหน ถ้าคิดไปอย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านผู้นี้นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ศรัทธาไปอยู่ที่ตัวศาสนาจริงๆ ไม่ได้ฝากไว้ที่พระหรือที่วัด หรือไปฝากผ่านคนอื่น นี้คือเครื่องวัดความนับถือพระพุทธศาสนา ทีนี้การนับถือพระพุทธศาสนามันจะไปสัมพันธ์กับอีกสิ่งหนึ่ง ที่อาจจะถือว่าลึกลงไปหรือต้องมาด้วยกัน คือความรู้สึกรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาตามฐานะและหน้าที่ของตน ความรับผิดชอบนี้เป็นเรื่องสำคัญ ชาวพุทธที่อยู่ในฐานะต่างๆ กัน ต่างก็มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาตามฐานะของตน อย่างพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในที่นี้ ก็เรียกว่าเป็นชาวพุทธเหมือนกัน แต่ท่านอยู่ในภาวะเพศอีกอย่างหนึ่งก็มีความรับผิดชอบอีกอย่างหนึ่ง สำหรับพุทธศาสนิกชน ชาวบ้านทั่วๆ ไป ที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธ ก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่อพุทธศาสนาตามฐานะ และภาวะของตนเช่นเดียวกัน ความรับผิดชอบนี้เป็นอย่างไร บางทีมองกันไม่ค่อยชัด เช่นชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ เป็นชาวบ้านมีความรับผิดชอบต่อพุทธศาสนาอย่างไร ความเข้าใจในเรื่องนี้สัมพันธ์กับความเข้าใจหลักการของพุทธศาสนาด้วย อย่างน้อยต้องรู้หลักการในการจัดชุมชนชาวพุทธเสียก่อน

พระพุทธศาสนาจัดแยกชุมชนชาวพุทธออกเป็นบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รวมให้สั้นเข้าอีกจัดเป็น ๒ เรียกว่าบรรพชิตกับคฤหัสถ์ บรรพชิตคือฝ่ายภิกษุ ภิกษุณี หรือพระภิกษุสงฆ์สามเณร ซึ่งเป็นผู้บวชแล้ว คฤหัสถ์คืออุบาสก หรือฝ่ายชาวบ้าน ความเข้าใจเรื่องนี้สำคัญมาก อาตมภาพอยากจะเน้นเรื่องนี้ เพราะมักจะมีความเข้าใจสับสนหรือบางทีก็คลาดเคลื่อนกันไปมาก ถ้าจะให้ชัดต้องใช้การเปรียบเทียบ คือเปรียบเทียบกับศาสนาอื่น ชาวบ้านจำนวนมาก แม้จะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่ยังมักมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพระภิกษุสามเณร เช่นเข้าใจว่าพระภิกษุสงฆ์เป็นเจ้าหน้าที่ทางศาสนาเช่นเดียวกับศาสนาอื่น ความเข้าใจเช่นนี้พูดทั่วไปอาจใช้ได้ แต่ถ้าจะให้เข้าหลักการที่แท้ของพุทธศาสนาแล้วไม่ถูก อันนี้ต้องใช้การเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นอย่างที่ว่ามาแล้ว ในที่นี้ขอเปรียบเทียบกับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค ขออภัยที่ต้องใช้การเปรียบเทียบแต่ไม่ใช่เปรียบเทียบในเรื่องที่ว่าใครดีกว่ากัน หรือไม่ดีกว่ากัน เป็นการเปรียบเทียบให้รู้ข้อเท็จจริงตามหลักการเท่านั้น ว่าหลักการของศาสนาเป็นอย่างนั้น ลองพิจารณาดูพระบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคว่าท่านมีฐานะเป็นอย่างไร เริ่มตั้งแต่การบวช บาทหลวงหรือนักบวชหรือพระในศาสนาคริสต์ท่านบอกว่า คือผู้ที่ได้รับกระแสเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าๆ มีกระแสเรียก ท่านจึงมาบวชอุทิศตนต่อพระผู้เป็นเจ้า พูดง่ายๆ ว่าพระเจ้าเลือกท่านเข้ามา สิทธิที่จะบวชไม่ใช่เป็นของท่านเอง แต่เป็นสิ่งที่พระเจ้าโปรดประทาน เมื่อบวชเข้ามาแล้วตามหลักการต้องเป็นนักบวชตลอดชีวิต แล้วทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ หรือเป็นสื่อกลางระหว่างสวรรค์กับโลก อันนี้เป็นหลักการของพระในคริสต์ศาสนา ทีนี้มาดูหลักการในพุทธศาสนา เห็นกันง่ายๆ พระสงฆ์คือใคร พระสงฆ์ก็คือพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และต้องการปฏิบัติธรรมให้จริงจัง ท่านเห็นว่าเพศคฤหัสถ์ คือการครองเรือน หรือดำรงชีวิตอย่างชาวบ้านนั้น มันมีห่วงใย มีกังวลมากมาย ทำให้ปฏิบัติธรรมไม่คล่อง ไม่ปลอดโปร่ง เพราะฉะนั้น ท่านจึงละความห่วงใยในทางโลกเสีย แล้วไปบวชเพื่อจะได้อุทิศตัวใช้เวลาในการปฏิบัติได้เต็มที่1 ผู้ที่จะบวชนั้นเลือกเอง คือคิดตัดสินใจเองว่าจะบวช ไม่ใช่เป็นผู้ถูกเลือก ในศาสนาคริสต์นั้นพระบาทหลวงเป็นผู้ถูกเลือกจากพระผู้เป็นเจ้า ส่วนพระในพระพุทธศาสนาเป็นผู้เลือกเองว่าเราจะบวชหรือไม่บวช และเมื่อบวชแล้วเห็นว่าไปไม่ไหว ชีวิตของพระลำบากยากแค้นเกินไป ความเพียรพยายามถดถอยลง ก็มีเสรีภาพที่จะสละเพศ คือสึกออกมาได้ เป็นอันว่าจะเลือกบวชหรือเลือกสึกก็ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะบวชและสึกเหมือนกัน และเมื่อบวชแล้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างสวรรค์กับมนุษย์อะไรทั้งนั้น แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ชาวบ้านอยู่ในบริษัท ๔ ก็ปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน เหมือนกันกับพระ ต่างกันตรงที่ว่า พระสงฆ์นั้นอุทิศตัวให้กับการปฏิบัติมากกว่า คือสละห่วงใยความกังวลในทางโลกเสีย ทำให้มีเวลาและกำลังงานที่จะอุทิศให้กับการศึกษา และการปฏิบัติได้เต็มที่ การที่พระสงฆ์เป็นบุคคลผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรมเช่นนี้ ได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ ระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้านขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง คือชาวบ้านมาคิดเห็นว่าพระสงฆ์นี้เป็นผู้ที่มีความเสียสละมาก มีจิตใจเข้มแข็ง ท่านได้อุทิศตัวให้กับการปฏิบัติ บุคคลอย่างนี้น่าเคารพน่ายกย่องสรรเสริญ เพราะฉะนั้น เราควรช่วยเหลือท่าน ท่านต้องการที่จะปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ จะมามัวหาเลี้ยงชีพก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราควรส่งเสริมท่านโดยถวายปัจจัย ๔ แก่ท่าน เมื่อชาวบ้านช่วยเลี้ยง ท่านก็ไม่ต้องมากังวลเรื่องปัจจัย ๔ แล้ว ท่านก็ได้ศึกษาปฏิบัติเต็มที่ เมื่อพระสงฆ์มีโอกาสในการศึกษาปฏิบัติมากกว่าชาวบ้าน ท่านรู้เข้าใจธรรมมากกว่า หรือได้บรรลุธรรมแล้ว ท่านก็ตอบแทนชาวบ้านด้วยความเมตตากรุณา โดยเอาธรรมที่เล่าเรียนปฏิบัติได้สูงกว่านั้นมาเผยแผ่แก่ชาวบ้าน นับว่าเป็นหลักการตอบแทนซึ่งกันและกัน เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ดังที่ท่านสอนเป็นหลักไว้ว่า พระสงฆ์อาศัยชาวบ้านในด้านอามิสทาน คือให้ปัจจัย ๔ ส่วนชาวบ้านก็อาศัยพระสงฆ์ในด้านธรรมทานคือการเผยแผ่สั่งสอนธรรมะ นับว่าเป็นการอาศัยซึ่งกันและกันโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินไปสู่การสิ้นทุกข์ หรือการหลุดพ้นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย2 นี่เป็นหลักการในทางพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น จึงมีศัพท์เรียกชุมชนชาวพุทธอีกอย่างหนึ่งนอกจากบริษัท ๔ คือท่านเรียกชาวพุทธทั้งหมดไม่ว่าเป็นชาวพระหรือชาวคฤหัสถ์ว่า สหธรรมิก อย่างที่อาตมภาพได้กล่าวทักทายพระภิกษุสงฆ์ในที่ประชุมนี้ในตอนแรกว่าสหธรรมิกนั้น ก็เพราะว่าไปตามความนิยมของเมืองไทย คือในเมืองไทยเข้าใจกันว่า เมื่อพูดถึงสหธรรมิกก็หมายถึงพระสงฆ์สามเณรเท่านั้น แต่ตามพระไตรปิฎก ‘สหธรรมิก’ แปลว่า ผู้ร่วมธรรมหรือผู้ร่วมประพฤติธรรมด้วยกัน หมายถึงชาวพุทธทั้งหมดไม่ว่าพระสงฆ์หรือคฤหัสถ์ ได้แก่ผู้นับถือศาสนาเดียวกันนั่นเอง ท่านว่าสหธรรมิกนั้นมี ๗ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา (คือนางสามเณรีที่กำลังเตรียมบวชเป็นภิกษุณี) สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา3 บรรดาสหธรรมิกทั้ง ๗ พวกนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงธรรมะทั้งหมด ในเมืองไทยเราเดี๋ยวนี้มาจำกัดคำว่า ‘สหธรรมิก’ ให้ใช้กับพระภิกษุ สามเณร ที่เป็นอย่างนี้เพราะไปถือตามอรรถกถา ความจริงอรรถกถาท่านก็ไม่ได้ผิด ท่านว่าของท่านถูกแล้ว คือท่านอธิบายความในวินัยตอนที่พูดถึงเฉพาะกรณี โดยบอกให้ทราบว่าในกรณีนั้นหมายถึงสหธรรมิก ๕ อย่างคือ ๕ พวกแรกในบรรดา ๗ พวก เราไม่ได้เข้าใจว่า ๕ ใน ๗ แต่เราไปยึดว่ามีแค่ ๕ กลายเป็นว่าสหธรรมิกหมายถึงผู้ที่บวชแล้วเป็นพระภิกษุสามเณรเท่านั้น ซึ่งความจริงในพระไตรปิฎกว่าไว้ชัดเจน ว่าสหธรรมิกนั้นมี ๗ พวกด้วยกัน คฤหัสถ์ก็เป็นสหธรรมิก คือผู้ที่ประพฤติธรรมพวกหนึ่งในเมื่อพูดอย่างนี้แล้ว เราก็จะเห็นฐานะของชาวพุทธชัดขึ้นว่า เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาและควรรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร พระพุทธเจ้านั้นเมื่อตรัสถึงการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา ก็จะตรัสอย่างฝากไว้กับบริษัททั้ง ๔ ว่า พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ยั่งยืนหรือไม่ จะเสื่อมหรือจะเจริญหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหมด ไม่ใช่จำเพาะแต่พวกใดพวกหนึ่ง

ในสมัยพุทธกาล ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์น่าจะมีบทบาทแข็งขันและเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดังจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงยกย่องบุคคลเป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ เช่นที่เรารู้จักกันดีว่าพระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา พระโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์ เป็นต้น เอตทัคคะเหล่านี้มีในบริษัททั้ง ๔ มิใช่มีจำเพาะในฝ่ายภิกษุ ภิกษุณีเท่านั้น ในฝ่ายคฤหัสถ์ ชาวบ้านก็มีเอตทัคคะมากมายเช่น จิตตคฤหบดีเป็นคฤหัสถ์ เอตทัคคะในทางธรรมกถึก คือเป็นธรรมกถึกเอก หรืออย่างนางขุชชุตตราเป็นเอตทัคคะในทางพหูสูต คือทรงความรู้มาก นางอุตตราอุบาสิกาก็เป็นเอตทัคคะในทางบำเพ็ญฌาน เป็นต้น ในสมัยพุทธกาลเราจะเห็นว่า ความสำคัญของอุบาสกอุบาสิกามีมาก แต่ตอนหลังนี้มักรู้สึกเหมือนว่าอุบาสกอุบาสิกาเป็นคนวงนอก ก็เลยมีความรู้สึกต่อไปว่าพระพุทธศาสนาอยู่ที่พระภิษุสามเณร ครั้นถึงเวลานี้ เมื่อเรามามีความรู้สึกกันว่าพระพุทธศาสนาเสื่อม เราจึงเพ่งมองไปที่วัด หรือพระภิกษุสามเณร สำหรับอาตมภาพ ถ้าใครบอกว่าพระภิกษุสามเณรเสื่อมทรามนัก ก็อยากจะขอพูดว่า ความจริงอุบาสกอุบาสิกาเสื่อมลงไปก่อนเสียนานแล้ว จนกระทั่งเดี๋ยวนี้อุบาสกอุบาสิกาบริษัทไม่มีเป็นชิ้นเป็นอันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จนกระทั่งความเสื่อมนั้นมันคืบคลานผ่านเข้ามาได้ถึงชั้นใน หรือว่ากำแพงชั้นนอกอาจแตกสลายพังไปแล้ว ภัยแห่งความเสื่อมจึงได้เข้ามาถึงชั้นใน หากอุบาสกอุบาสิกาบริษัทคือชาวพุทธฝ่ายชาวบ้าน ยังอยู่ในสภาพที่ดีแล้ว พระภิกษุสามเณรจะเสื่อมไม่ได้ นี้คือแง่ที่เราจะต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับฐานะภาระความรับผิดชอบของชาวพุทธกันให้ถูกต้อง ไม่ใช่มองความสัมพันธ์ระหว่างพระกับชาวบ้านเหมือนกับในศาสนาอื่นๆ หลักการนี้ทำให้เห็นว่า ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ก็มีฐานะมีหน้าที่ของตนต่อศาสนา ไม่ต่างจากพระภิกษุสามเณรมากเท่าใด เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ต่อไปนี้ก็อาจพูดถึงสภาพที่ชาวพุทธเป็นกันอยู่ในปัจจุบันว่า ถ้าเอาหลักทางธรรมมาวัดอย่างนี้ ชาวพุทธอย่างที่เป็นกันอยู่นี้เป็นชาวพุทธที่แท้หรือไม่ มีความพร้อม มีความสามารถที่จะปรุงแต่งชะตากรรมของสังคมไปในทางที่ดี ถูกต้องตามหลักการของพุทธศาสนาหรือไม่ ทีนี้เราก็ลองมาตรวจดูสภาพของสังคมในด้านพระพุทธศาสนา ว่าเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

ถ้ามองดูง่ายๆ ตามสภาพที่มองเห็นอย่างที่ว่าเป็นสภาพแบบพื้นผิว เท่าที่ปรากฏแก่สายตา ก็พูดได้ว่าเมืองไทยนี้เป็นดินแดนแห่งกาสาวพัสตร์ เรามีพระภิกษุสามเณรและวัดวาอารามมากมายเหลือเกิน พระเณรในเมืองไทยตามสถิติปี ๒๕๒๐ มี ๓๒๙,๐๐๐ รูป และวัดมี ๒๖,๐๐๐ กว่าวัด4 จำนวนอย่างนี้ทำให้เรารู้สึกสบายใจว่า พระพุทธศาสนายังรุ่งเรืองในประเทศไทย แม้ในด้านพิธีกรรมเราก็พรักพร้อม ดูพรั่งพรึบไปหมด แต่ละปีมีงานประเพณีพิธีกรรมตามวัดต่างๆ มากมาย ทั้งที่จัดกันในท้องถิ่น และที่เป็นการเดินทางจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง เช่น งานกฐิน งานทอดผ้าป่า เป็นต้น มีมากมายไม่จำเป็นต้องพรรณนา วัตถุก่อสร้างในวัดก็มีพูนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ เมรุหรือฌาปนสถานกันอย่างสวยงาม ในด้านการแสดงทางวาจา การเผยแพร่ธรรมะทางสื่อมวลชน ตลอดจนกระทั่งรายการเรี่ยไรก็ปรากฏระเบ็งเซ็งแซ่ นี่เป็นสภาพที่เราสามารถยกขึ้นมาพูด แสดงว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยมีความเจริญ แต่ในเวลาเดียวกันข่าวในทางไม่ดีว่าภิกษุประพฤติเสียหายก็มีมากเช่นเดียวกัน ไปพูดในที่ประชุมไม่ว่าที่ไหน ถ้าเปิดโอกาสให้ถาม ต้องมีพุทธศาสนิกชนมาซักถามในเรื่องพระสงฆ์ประพฤติเสียหาย หรือถามข่าวคราวในเรื่องเช่นนี้แทบไม่เว้นแต่ละครั้ง พร้อมกันนั้นก็มีสำนักต่างๆ เกิดขึ้นมากด้วย มีทั้งสำนักปฏิบัติ สำนักวิปัสสนา สำนักศึกษาธรรม เช่นสำนักศึกษาในด้านอภิธรรม เป็นต้น สำนักต่างๆ เกิดมีขึ้นแล้วก็มีปัญหาเกิดตามมา คือสำนักต่างๆ เหล่านั้นเกิดการโต้แย้งถกเถียงว่ากล่าวและแม้กระทั่งโจมตีซึ่งกันและกัน ว่าสำนักนั้นผิด สำนักโน้นไม่ถูก สำนักฉันจึงจะถูก สำนักนั้นไม่ดี สำนักนี้จึงจะดี ก็เกิดมีปัญหาขึ้นมา ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความสับสนวุ่นวายใจ เหล่านี้เป็นปัญหาส่วนหนึ่งของสังคมปัจจุบัน

จะขอผ่านจากสภาพที่มองเห็นง่ายๆ นี้ลึกเข้าไปอีก ลึกเข้าไปถึงสภาพที่เป็นทั้งสภาพผลพร้อมกับเป็นสภาพเหตุด้วยในตัว จะลองค่อยๆ เสนอข้อคิดแก่ท่านทั้งหลายในที่ประชุมช่วยพิจารณาด้วยว่าเป็นความจริงหรือไม่ ขอมองในด้านประชาชน หรือชาวบ้านชาวพุทธโดยทั่วๆ ไป ขณะนี้บางทีมีข้อสงสัยกันขึ้นว่าในหมู่ชาวพุทธนี้ไม่มีแกนที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็ง คือชาวพุทธไม่มีข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่เป็นของประจำตัว หรือเป็นข้อกำหนดที่แน่นอนว่า ถ้าเป็นชาวพุทธต้องปฏิบัติเช่นนี้ ในชีวิตประจำวันชาวพุทธต้องทำสิ่งนี้ จึงเป็นเหมือนกับว่าศาสนาไม่ได้อยู่ในเนื้อในตัวของประชาชน ไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิตของชาวบ้าน เพราะเหตุนี้แหละจึงทำให้ชาวบ้านต้องไปฝากศาสนาไว้กับพระกับวัด คือมองศาสนาไม่เห็นที่ตัวเอง เมื่อขาดหลักปฏิบัติประจำตัวในชีวิตประจำวันแล้ว ก็หมายความว่าความเป็นพุทธบริษัทในฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาขาดหายไป หรือสูญสิ้นหลักที่จะดำรงอุบาสกอุบาสิกาบริษัทไว้ และเพราะเหตุนี้เองอุบาสกอุบาสิกาบริษัทจึงตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าเราตั้งคำถามนี้ขึ้นมาจะรู้สึกเหมือนจะเป็นความจริงว่าในหมู่ชาวพุทธ ชาวบ้านไม่มีหลักปฏิบัติอันเป็นเครื่องกำหนดความเป็นชาวพุทธเลย เมื่อมองศาสนาที่ตัวเองไม่เห็น ชาวบ้านก็จึงมองศาสนาออกไปข้างนอกตัว เมื่อมองพุทธศาสนาออกไปนอกตัวจะเห็นพุทธศาสนาไปอยู่ที่ไหนบ้าง พุทธศาสนาก็ไปอยู่ที่ป่า ที่เขา ที่วัด คนที่เห็นอย่างนี้คือผู้ที่มองพุทธศาสนาเพียงแค่การละชีวิตจากชาวโลกออกไปบวช ออกไปหาความสงบชั่วคราว หรือเบื่อชีวิตชาวโลกจึงหนีออกไปเสียจากสังคม นี่พวกหนึ่ง คนอีกพวกหนึ่งมองพุทธศาสนาไปในแง่ของความหวังในชีวิตของเขาที่ศาสนาจะบันดาลให้ได้จากความศักดิ์สิทธิ์ คนพวกนี้จะมองเห็นพุทธศาสนาไปอยู่ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เขามองไปที่ผลประโยชน์ของเขาว่า ถ้าเขาต้องการลาภยศ ตำแหน่ง ฐานะ ทรัพย์สิน เงินทองต่างๆ พระศาสนาจะช่วยเขาได้อย่างไร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ก็เข้ามา ก็เลยมีพุทธศาสนิกชนมองศาสนาไป ๒ อย่างคือ มองเห็นพุทธศาสนาไปอยู่ที่ป่าที่เขาที่วัด แห่งหนึ่ง กับที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ อีกแห่งหนึ่ง เป็นการมองข้ามไปจากชีวิตของตนเอง มองไปข้างนอกทั้ง ๒ อย่าง พุทธศาสนาก็เลยไม่สัมพันธ์กับชีวิตชาวบ้าน ไม่สัมพันธ์กับชีวิตของแต่ละบุคคล การมองพุทธศาสนาให้ไปอยู่ที่ป่าเขาที่วัดหรือเป็นเรื่องของการปลีกตัวหลบหลีกออกไปจากสังคม ก็เป็นอันว่าเลยไปเสียทางหนึ่ง และทางนั้นน้อยเหลือเกินที่จะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ส่วนการมองในด้านหนึ่งคือ เห็นพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการแสวงหาผลจากอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล ก็จะทำให้พุทธศาสนาเข้ามาสัมพันธ์กับเรื่องลาภยศอำนาจและการพ้นภัยต่างๆ การมองศาสนาโดยสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ก็คือการเอาศาสนามาสัมพันธ์กับผลประโยชน์ส่วนตัว หรือมองศาสนาในแง่ผลประโยชน์ส่วนตัว จากนั้นศาสนาก็จะเลื่อนตัวเข้ามาใกล้เคียงกับเรื่องของการแย่งชิงผลประโยชน์ส่วนตัวกัน เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว บางทีชาวพุทธก็เลยนำเอาศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องของการเบียดเบียนกันได้ เพราะการมุ่งหวังผลประโยชน์ การแย่งชิงผลประโยชน์ทำให้ต้องมีการเบียดเบียน เพราะฉะนั้น แม้ท่านที่มีพระห้อยคอ บางทีพระห้อยคอนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความฮึกเหิม ทำให้กล้าในทางที่จะรุกรานหรือแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น กลายเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลส โลภะ โทสะ โมหะไปได้ รวมความก็คือ เรามองข้ามศาสนาที่อยู่ในชีวิตจิตใจของเรา ที่มันจะทำให้เราอยู่ดีและอยู่ร่วมกันได้ดีไปเสีย การที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตงอกงามดีขึ้น เพื่อให้ครอบครัวของเรา สังคมของเรานี้ดีงามขึ้น หรือการที่จะต้องประพฤติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน แก่อนุชนที่จะเกิดสืบต่อมา เพื่อให้ชีวิตงอกงาม ให้สังคมงอกงามดียิ่งๆ ขึ้นไป ความนึกคิดอย่างนี้ก็เลยไม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการมองพุทธศาสนาของชาวบ้าน อาตมาอาจจะมองในแง่ร้ายไปหน่อย ที่จริงพวกที่มองถูกก็ยังมี แต่เราต้องพูดถึงสภาพทั่วๆ ไป นี่เป็นเรื่องทางด้านประชาชน

ทีนี้หันมามองทางด้านพระสงฆ์ พระสงฆ์ในสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร เรามักจะมองกันในแง่ที่อาตมภาพได้บอกแล้วข้างต้นอย่างที่ว่า บางคนพอได้เห็นพระประพฤติไม่ดีก็ถึงกับจะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา แทนที่จะนึกว่าท่านผู้นั้นได้ใกล้ชิดกับพระศาสนาถึงขนาดนี้ ศาสนายังช่วยได้เพียงเท่านั้น ถ้าเขาไม่บวชจะยิ่งกว่านั้นอีกเพียงไหน ทีนี้ถ้าหากเป็นคนมีความรู้สึกรับผิดชอบ รู้จักมองลึกซึ้งถึงเหตุปัจจัย เขาจะมองมากไปกว่านั้น เขาอาจจะมองไปว่า การที่ท่านประพฤติเสียหายก็ดี ไม่ได้ช่วยเหลือสังคมเท่าที่ควรก็ดี มันเป็นเพราะเหตุปัจจัยอะไร บางทีท่านอาจจะมีพื้นฐานมีภูมิหลังหรือเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่น่าเห็นใจ น่าที่เราจะช่วยกันปรับปรุงแก้ไขได้บ้าง ถ้ามองลึกลงไปอีกอาจจะมองเห็นไปได้ว่า เราเองอาจจะมีส่วนทำให้พระต้องประพฤติไม่ดีอย่างนั้นด้วยก็ได้ และถ้าว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว สังคมนี้ทั้งหมดต้องช่วยกันรับผิดชอบ การที่พระสงฆ์ประพฤติไม่ดีอะไรต่างๆ นั้น โดยมากก็เกิดจากความรับผิดชอบโดยทั่วๆ ไปของชาวบ้านด้วย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม แต่จะเห็นหรือไม่ก็อยู่ที่ว่า เราจะมองหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าหากสามารถมองได้ถึงขั้นนี้จะดีมาก

ในสังคมไทยเรานี้ คงจะยอมรับกันได้โดยไม่ต้องมัวมาถกเถียงกันอีกว่า พระสงฆ์เป็นชุมชน หรือหมู่ชนที่มีศีลธรรมมากที่สุด ถ้ายอมรับกันอย่างนี้ และพร้อมกันนั้นถ้าเรามองพระตามหลักความสัมพันธ์กับสังคมอย่างที่พูดมาข้างต้น เราก็จะได้หลักการมองเป็น ๔ ข้อด้วยกัน คือ

๑. เมื่อพูดอย่างกว้างๆ หรือรวมๆ ไป พระสงฆ์เป็นคนประเภทที่มีศีลธรรมมากที่สุดในสังคมไทย

๒. พระสงฆ์ในพุทธศาสนาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานของศาสนา แต่คือชาวพุทธที่สมัครใจออกบวชเพื่อฝึกฝนปฏิบัติธรรมอย่างอุทิศตัวยิ่งกว่าคนอื่นๆ

๓. พระสงฆ์เป็นผลผลิตอย่างหนึ่งของสังคม คือ ถูกสภาพความเป็นไปในสังคมปรุงแต่ง

๔. พระสงฆ์เป็นปัจจัยปรุงแต่งสังคม ช่วยให้สังคมดีงามมีศีลธรรมมากขึ้น

เมื่อเรามองอย่างนี้แล้ว ถ้าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างที่พูดกันว่า พระสงฆ์ประพฤติเสียหายเสื่อมโทรมเหลือเกิน ทำแต่สิ่งไม่ดีไม่งามมากมาย เราก็จะได้ความคิดที่เป็นผลสรุป โดยมองตามหลักข้อ ๑ หรือหลักข้อ ๑ – ๒ รวมกับข้อ ๓ ว่า นี่ขนาดพระสงฆ์ที่เป็นคนประเภทเรียบร้อยมีศีลธรรมที่สุด ยังเสื่อมโทรมถึงเพียงนี้แล้ว สังคมไทยส่วนรวม หรือสังคมไทยทั่วๆ ไป จะเสื่อมโทรมเลวทรามหรือเหลวไหลเละเทะถึงเพียงไหน หรือถ้ามองตามหลักข้อ ๑ – ๒ รวมกับข้อ ๔ ก็จะได้ความคิดสรุปว่า ก็เมื่อคนประเภทที่ว่าเรียบร้อยดีงามนำสังคมในทางศีลธรรมยังมาเสื่อมทรามกันถึงเพียงนี้ แล้วจะให้สังคมส่วนรวมหรือสังคมทั่วไปเรียบร้อยดีงามมีศีลธรรมได้อย่างไร มองกันอย่างนี้จะเห็นทางสืบสาวหาเหตุผลและคิดแก้ไขปรับปรุงกันต่อไปได้ ดีกว่าจะมามองกันแค่ว่า พระสงฆ์ทำไม่ดี ไม่น่าเลื่อมใส เลิกนับถือศาสนาดีกว่า อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นความคิดแบบน้อยใจไร้เหตุผล ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวอะไร

คนที่รู้จักมองด้วยความรู้สึกรับผิดชอบตามหลักการนี้ ถ้าบังเอิญผ่านเข้าไปในวัดแห่งหนึ่งซึ่งสกปรกรกรุงรัง ไม่ค่อยมีระเบียบ พระเณรก็ไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่เอาใจใส่เล่าเรียน ฉันแล้วก็นอน เป็นอยู่ก็ฟุ่มเฟือย เขาก็จะคิดได้ในทางที่ถูกต้องว่า โอ้นี่นะ ท่านเหล่านี้พระศาสนายังช่วยไว้ได้บ้าง พวกเรายังช่วยไว้ได้บ้าง ถ้าพระศาสนาไม่ช่วยไว้ ถ้าพวกเรา (คือระบบวัฒนธรรมไทย) ไม่ช่วยไว้ ถ้าท่านไม่ได้มาบวช ท่านเหล่านี้คงไปจมอยู่ตามแหล่งอบายมุขต่างๆ เหมือนอย่างคนอีกจำนวนมากมายในสังคมไทยนี้ หรือไม่ก็คงกลายเป็นนักติดยาเสพติดต่างๆ ไปแล้ว หรือไม่ก็คงจะไปร่วมกันขยายแหล่งสลัมให้กว้างขวางขึ้น หรือไปสร้างสลัมแห่งใหม่ หรืออาจจะถึงกับเป็นโจรก่อความเดือดร้อนวุ่นวายแก่สังคมไปแล้วก็ได้ ที่ท่านมาบวชเสียได้ดีนักหนา น่าไหว้ คิดได้อย่างนี้แล้วก็กราบไหว้พระเหล่านั้นได้อย่างสนิทใจ ก็ทำไมจะไหว้ไม่ได้เล่า ธรรมดาประเพณีชาวพุทธนั้น ท่านให้เป็นผู้มีคุณธรรมสูง เมื่อคนต่ำคนทราม คนชั่ว กลับตัวละชั่วหันมาทำดีได้ หรือยกระดับตนสูงขึ้นได้ในทางคุณธรรม ชาวพุทธก็มีความดีพอที่จะยอมรับนับถือความดีของคนที่ละเลิกความชั่ว หรือปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ แม้ถึงองค์พระมหากษัตริย์เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ตรัสไว้ว่า แม้แต่โจรร้ายที่เหี้ยมโหดจอมชั่ว เมื่อเขากลับตัวมาบวชได้ พระองค์ก็จะทรงประสานอัญชลีนบไหว้ได้ทันที5 ที่พูดอย่างนี้มิใช่จะให้ท้ายพระและวัดที่ไม่เรียบร้อย แต่ความจริงเป็นเช่นนั้น และการคิดเช่นนี้เป็นทางที่จะให้มีการแก้ไขปรับปรุงกันได้ต่อไป เพราะจะได้มาพิจารณาศึกษาสภาพความเป็นจริง และสืบสาวค้นหาสาเหตุ คิดแก้ไขทำให้ดียิ่งขึ้นได้ต่อไป บางท่านอาจท้วงแทรกขึ้นมาว่า พระที่มาบวชนั้นจะเป็นใครก็ตามทีเถิด แต่เมื่อมาบวชแล้วก็ควรจะเรียบร้อย เจ้าอาวาสควรจะกวดขันฝึกอบรมให้ประพฤติดียิ่งกว่า ที่ว่ามานั้นถูกแล้ว ถ้าได้อย่างนั้นก็ยิ่งดี และควรนับถือยิ่งขึ้นไปอีก แต่ก็อย่าเพิ่งไปด่วนติท่าน ถ้าได้เพียงแค่ที่ว่าข้างต้นโน้น คนที่รู้จักรับผิดชอบเขาจะมองแม้แต่เจ้าอาวาสแล้วก็คิดว่า โอ้นี่นะ ท่านสมภารนี้ พระศาสนาได้ช่วยไว้ พวกเราได้ช่วยไว้ ท่านนี้ถ้าไม่ได้บวชคงจะกลายเป็นตาสีตาสา ไม่มีคนเห็นคุณค่าหรือความหมาย แต่พระศาสนาและพวกเรา (ระบบวัฒนธรรมไทย) ช่วยได้แม้แต่คนทื่อๆ ทึ่มๆ มีความรู้เพียงประถม ๔ ให้มาเป็นที่เคารพนับถือเกรงใจ แม้กระทั่งของโจรร้ายและพวกนักเลง ตลอดจนอารยชนในสังคมที่เจริญ ถ้าเจ้าอาวาสองค์ไหนได้เพียงประถม ๔ กับนักธรรมตรี แต่สามารถจัดวัดให้สงบเรียบร้อย ทำให้ลูกวัดมีการศึกษา ชักจูงให้อุบาสกอุบาสิกาปฏิบัติถูกหลักชาวพุทธได้ ก็ยิ่งควรได้รับความยกย่อง ดังจะเป็นอัจฉริยบุคคลทีเดียว คิดอย่างนี้แล้ว ก็จะได้พิจารณาหาเหตุผลที่ลึกซึ้งลงไปได้อย่างที่ว่ามาแล้ว

บางท่านหาวัดดีๆ เพื่อเป็นที่หลีกเร้น ตนเองจะได้หาความสงบ ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญประโยชน์ตน หรือบางท่านอาจบอกว่า วัดไหนเป็นระเบียบเรียบร้อย พระเณรประพฤติดีงาม เอาใจใส่ศึกษาปฏิบัติหรืออยู่สงบ เราควรไปแต่วัดนั้น และอุปถัมภ์บำรุงสนับสนุนวัดนั้น ความคิดอย่างนี้ก็เป็นความคิดของคนดีและก็ถูกต้อง แต่ท่านที่คิดอย่างนี้จะต้องกำหนดรู้จักตัวตามความเป็นจริงว่า เราเป็นคนดีชนิดพอรักษาตัวได้ หรือเป็นคนดีขั้นทรงตัวเท่านั้น ไม่พอที่จะเป็นผู้รับผิดชอบช่วยปรับปรุงส่งเสริมกิจการพระศาสนา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ความคิดอย่างที่ว่านั้นจะใช้ได้ ต่อเมื่อวัดทั้งหลายมีพื้นฐาน มีภูมิหลัง มีกำลังงาน กำลังบุคคล และแหล่งส่งคนผู้เข้ามารับฝึกที่เสมอเหมือนๆ กัน แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้นเลย บางวัดอาจมีกำลังฝ่ายภายในเช่นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิและกิจการที่มั่นคงสืบกันมา อีกทั้งคนที่จะเข้ามาฝึกก็รับเอาแต่ที่เป็นผู้ศึกษาอบรมมาดีแล้ว พร้อมมาแต่เดิมแทบไม่ต้องเสียเวลาฝึกขั้นต้นอะไรกันอีก แต่สำหรับวัดอีกมากมาย กำลังคนกำลังกิจการภายในก็ไม่เคยมีพรั่งพร้อม และแทบไม่เคยมีใครใส่ใจที่จะไปช่วยเหลือแก้ไข ฝ่ายคนที่สังคมนี้ส่งเข้ามารับการฝึกก็มีทุกอย่างแม้แต่ชนิดที่ยังไม่ได้ขัดได้เกลาอะไรเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่จะมาเริ่มฝึกกันแต่ขั้นเบื้องต้นก็เหนื่อยอ่อนแทบสิ้นกำลัง วัดอาจดึงคนเหล่านี้ขึ้นมาได้บ้างนิดหน่อย แต่บางทีเขาดึงวัดลงไปมากกว่า เพราะพื้นเดิมของวัดเองก็แย่อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ คนดีขั้นรับผิดชอบจะช่วยปรับปรุงส่งเสริมพระศาสนาจึงคิดเพียงแค่รักษาแต่พอตัวไม่ได้

ผู้มีความรับผิดชอบช่วยปรับปรุงกิจการพระศาสนาได้ คิดอย่างไร เขาย่อมคิดว่าวัดที่ฝึกอบรมดี วัดที่เรียบร้อย พระเณรประพฤติดี มีแต่คนมีการศึกษามาบวช นั้นก็ดีแล้ว น่าอนุโมทนา ควรส่งเสริมสนับสนุนไปด้านหนึ่ง แต่ที่ควรเอาใจใส่กันให้มากก็คือวัดที่ตัวเองก็ไม่พร้อม ขาดกำลัง คนที่มาบวชก็ยังดิบเสียเหลือเกิน วัดและพระเช่นนี้เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนใหญ่จึงต้องการความช่วยเหลือมาก จะต้องช่วยกันคิดแก้ไขปรับปรุงส่งเสริม เช่น ให้คนที่ไม่ควรบวชไม่ต้องบวช บวชแล้วให้ได้รับการศึกษาอบรมดีขึ้นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งแก่วัดแก่พระศาสนาและแก่สังคมส่วนรวม

ปัจจุบันนี้ เราตื่นตัวกันในเรื่องการแก้ปัญหาสังคม จุดสนใจอย่างหนึ่งคือสลัม แต่จะมีใครคิดบ้างหรือไม่ว่า วัดในกรุงนี้จำนวนมากทีเดียว ก็ทำหน้าที่ด้านหนึ่ง เป็นทางเดินของวัตถุดิบประเภทเดียวกันกับสลัมนั่นเอง นี่ก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้วัดไม่น้อยมีสภาพทรุดโทรมอย่างที่ติเตียนด่าว่ากัน แต่ถึงจะเสื่อมโทรมเท่าไร ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วัดก็ยังไม่ถึงขนาดเป็นสลัมแบบข้างนอกไปเสียทีเดียว ถ้าไม่รังเกียจในเรื่องถ้อยคำ จะเรียกวัดเหล่านี้ว่า เป็นสลัมเทียมสายวัฒนธรรมไทยที่อิงสถาบันศาสนา แล้วเรียกสลัมแบบที่รู้จักกันทั่วไปว่าสลัมสายสังคมใหม่ของฝ่ายบ้านเมืองก็คงพอได้ เสร็จแล้วก็ลองให้ผู้สนใจศึกษาเทียบกันดูระหว่างสลัมสองสายนี้ว่าเป็นอย่างไร สายหนึ่งมีระบบสังคมสงเคราะห์ แบบเป็นไปเองอย่างไม่รู้ตัวโดยแทรกรวมอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่รู้จักวิธีการช่วยเหลือในรูปองค์กรแบบสมัยใหม่ ส่วนอีกสายหนึ่งเจริญขึ้นมาในสังคมพัฒนานอกระบบวัฒนธรรมไทยเดิม ได้รับความช่วยเหลือตามระบบองค์กรแบบสมัยใหม่ ศึกษาดูแล้วจะได้ความอย่างไร ยังไม่ขอเกี่ยวข้อง สิ่งที่อยากให้ช่วยกันนึกไว้บ้างในที่นี้มีเพียงว่า ก็สลัมสายสังคมพัฒนาสมัยใหม่ เรายังชักชวนกันให้เอาใจใส่ระดมทุนระดมแรงไปช่วยอย่างแข็งขัน แล้วทำไมในฝ่ายสลัมเทียมสายวัด เราจะเพียงมองดูด้วยความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจ หรือรู้สึกมีส่วนร่วมรับผิดชอบบ้างไม่ได้เชียวหรือ ถ้าเรายังขืนอยู่กันด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับรู้สภาพความเป็นจริงของสังคมอย่างทั่วถึงกันอยู่ต่อไป สักวันสลัมเทียมสายเดิม ก็คงจะพลอยเป็นสลัมจริงไปด้วยอีกสาย ดังที่บางแห่งก็ทำท่าเดินไปสู่ทิศทางที่จะเป็นเช่นนั้นกันบ้างแล้ว

มีข้อควรคำนึงอีกอย่างหนึ่งว่า ในสภาพที่เกิดมีความเสื่อมโทรมและอ่อนแอขึ้นในวัดในพระสงฆ์ ในวงการพระศาสนานั้น วัดและพระศาสนาก็จะเสี่ยงต่อการกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ไปได้ง่ายๆ การแสวงหาผลประโยชน์จากความเสื่อมโทรมนั้น ก็จะมีเป็น ๒ แบบ คือพวกหนึ่งใช้วัดเป็นที่ทำมาเลี้ยงชีพ ถ้าไม่ใช้เป็นที่ค้าขายหาทรัพย์ให้ร่ำรวย อย่างน้อยก็บวชเข้ามาแอบแฝงอยู่สบายเกียจคร้าน ไม่ต้องเล่าเรียน ไม่ต้องทำการงาน อีกพวกหนึ่งใช้สภาพเสื่อมโทรมนั้นเป็นพื้นฉากเทียบให้มองเห็นตัวชัด หรือเป็นฐานสำหรับหยิบยกตัวขึ้นไป โดยวิธีหยิบยกเอาหลักการที่ดีบางอย่างในพระศาสนา หรือข้อปฏิบัติอัศจรรย์บางอย่างขึ้นมาเชิดชูถือไว้ และแสดงให้เห็นแปลกหรือพิเศษยิ่งกว่าพระสงฆ์ทั่วไป ยิ่งเป็นเวลาที่สภาพทั่วไปทรุดโทรมมากเท่าใด การกระทำเช่นนี้ก็ยิ่งเป็นที่สนใจ ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเท่านั้น เข้าทำนองว่า เมื่อมองหาพระอรหันต์จริงไม่เห็นมี คนก็เอาฤๅษีมาทำเป็นพระอรหันต์ หรืออาจเป็นว่า เมื่อพระแย่กันเต็มที ได้ฤๅษีก็ยังดีกว่าได้พระ จะอย่างไรก็ตาม การกระทำทั้งสองแบบนี้ เมื่อเกิดในสภาพที่เสื่อมโทรมแล้ว ก็ทำให้สภาพที่เสื่อมโทรมอยู่นั้น เสื่อมทรุดหนักมากเข้าอีก แบบแรกทำให้วัดและพระศาสนาไม่มีกิจการงานที่เป็นประโยชน์และเต็มไปด้วยคนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งจะมาช่วยกันซ้ำเติมสภาพเสื่อมให้โทรมหนัก แบบที่สองเป็นการกระทำชนิดที่ถ้าไม่ตีสภาพเดิมให้บอบช้ำหนัก เพื่อทะลึ่งตัวขึ้นไป อย่างน้อยก็เป็นการทำให้ละเลย ปล่อยทิ้งปัญหาของส่วนรวมไว้ให้หมักหมมทับถมมากขึ้น โดยไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข นอกจากนั้น ยังชักนำเอาคนที่พอจะช่วยกันแก้ไขปรับปรุงได้ให้พากันละทิ้งตามไป หรือถึงกับช่วยกันซ้ำเติมสภาพทรุดโทรมนั้นด้วย

อาจค้านว่า เมื่อแก้ไขปรับปรุง ก็ต้องยกเอาหลักการหรือข้อปฏิบัติที่ดีขึ้นมายึดถือ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น จะไปสำเร็จได้อย่างไร ที่ค้านนี้ ถูกต้องโดยหลัก จึงมิใช่ให้มองว่าใครทำดี แปลกขึ้นมาจะต้องเป็นการหาประโยชน์ส่วนตัวไปหมด ข้อสำคัญอยู่ที่เจตนา และการกระทำซึ่งออกมาจากเจตนานั้น จุดนี้แหละที่สำคัญ คนที่ทำดีโดยมุ่งปรับปรุงแก้ไขด้วยเจตนาค่อนข้างบริสุทธิ์ ควรสนับสนุนก็มีอยู่ไม่น้อย แต่กระนั้น ผู้เริ่มทำด้วยเจตนาดีนั้นเอง บางทีก็เผลอกลายเป็นผู้หาประโยชน์จากความเสื่อมโทรมไปได้เหมือนกัน เช่นเมื่อเกิดความหลงตัวเองขึ้นมาภายหลังเป็นต้น เลยกลายเป็นการทำดีชนิดก่อปัญหาใหญ่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจเสียแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนที่ได้ ดังนั้น ผู้ที่ทำดีโดยมุ่งที่จะแก้ไขปรับปรุงส่วนรวมที่เสื่อม จึงต้องคอยสำรวจพิจารณาตนเองอยู่บ่อยๆ ว่า ที่เราถือปฏิบัติ แสดงออกอะไรๆ อย่างนี้ เรามุ่งให้เป็นการปรับปรุงแก้ไข เรามุ่งให้ผลมาเกื้อกูลแก่ส่วนรวม เราไม่ได้มุ่งเชิดชูตัวเอาโด่งเอาเด่น หรือมีจิตกระทบกระทั่งแค้นเคืองแฝงอยู่ จึงอยากจะให้พวกที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมนั้นโค่นล้มประสบหายนะไปเสีย เมื่อมีเจตนาในทางแก้ไขปรับปรุง ในทางเกื้อกูล ในทางมีเมตตากรุณาต่อกันแล้ว เวลาปฏิบัติหรือแสดงออก มันก็จะเป็นไปในรูปของการเสนอหลักการที่ดีงามถูกต้อง ด้วยวิธีชี้แจงเหตุผลให้เห็นว่าที่ทำอย่างนั้นผิดพลาดเสียหายเพราะอย่างนี้ๆ ที่ถูกควรจะเป็นอย่างนี้ ควรจะปฏิบัติควรจะชักชวนกันให้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ห้ำหั่นกันว่าต้องอย่างฉันเท่านั้นจึงถูก ใครทำอย่างอื่นแปลกจากของฉันหรือไม่เหมือนที่ฉันทำไม่ได้ ต้องผิดทั้งนั้น อะไรทำนองนี้ จริงอยู่ผู้ทำการที่เก่งก็ย่อมมีความเชื่อมั่นว่าที่ตนทำนั้นถูกต้องแล้ว แต่ในการแสดงออกก็ต้องเผื่อไว้อยู่ดี คือต้องเคารพธรรม เอาธรรมเหนือตัว ไม่ใช่เอาตัวเหนือธรรม คือเสนอชี้แนะชักชวนออกไปโดยเหตุโดยผล เมื่อตัวถูกก็ดี ถึงผิดก็ไม่เสีย เพราะว่ากันจริงๆ บางทีหลักการดีที่ตนยึดถือและประกาศอยู่ว่าเป็นจริงเด็ดขาดนั้น อาจจะเป็นความเข้าใจผิดอย่างจังก็ได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นหนัก ให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัว มิฉะนั้นอาจจะกลายเป็นการทำดีอย่างอสัตบุรุษเข้าก็ได้ การทำดีนั้นดี แต่ผู้ทำดีก็กลายเป็นอสัตบุรุษไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน การทำดีอย่างอสัตบุรุษเป็นอย่างไร ท่านว่า ผู้ใดทำดีหรือบำเพ็ญความดีแล้ว เช่น ได้เล่าเรียนมากมีความรู้ดี เป็นผู้ทรงวินัยก็ตาม เป็นนักเทศน์ก็ตาม เป็นผู้ถือธุดงค์ เช่นอยู่ป่า อยู่โคนไม้ ฉันมื้อเดียว เป็นต้นก็ตาม ได้ฌานสมาบัติก็ตาม มาภูมิใจว่าเราทำได้ถึงอย่างนี้ เราเป็นถึงอย่างนี้ พระอื่นๆ ไม่ได้ไม่เป็นอย่างเรา แล้วยกตนข่มผู้อื่นด้วยความดีนั้น ผู้คิดนึกทำนองนี้ ท่านว่าเป็นอสัตบุรุษ6 ที่ท่านว่าอย่างนี้ เพราะการทำดีอย่างผิดๆ เป็นผลเสียทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม ในด้านตนเองถ้านึกเพียงว่า เราได้ทำความดี ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ได้ตั้งใจเล่าเรียนศึกษา ได้ตั้งใจประพฤติดี ศีล สมาธิ ปัญญาของเราเจริญงอกงาม เราก้าวหน้าในธรรมขึ้น ความเอิบอิ่มใจปีติปราโมทย์ก็เกิด มีความสุข นำให้เกิดสมาธิปัญญายิ่งขึ้น เป็นกุศล แต่พอนึกเลยไปว่าเราเก่งกว่าเขา เขาทำไม่ได้อย่างเรา ตอนนี้ไม่เป็นกุศล แต่กลายเป็นกิเลสไปแล้ว ไม่เกิดปีติปราโมทย์ แต่กลายเป็นมานะ อติมานะไป ส่วนในแง่ส่วนรวม ในเมื่อเป็นการกระทำที่เอาตนเป็นหลัก ไม่เป็นไปโดยเหตุผลบริสุทธิ์ ก็ย่อมมีทางเกิดโทษไปได้ต่างๆ ดังนั้นจึงควรระลึกว่า การทำดี แม้ทำได้แล้วก็ยังมิใช่ง่าย จะต้องให้เป็นดีอย่างสัตบุรุษด้วย พูดอย่างง่ายๆ ว่า ไม่พึงทำดีเพื่อเอาความดีมาเสริมตัวตน แต่พึงสละตนเพื่อเสริมความดี คนทำดีอย่างแท้จริง เสียสละได้แม้กระทั่งการที่จะให้คนอื่นรู้ว่าตนได้ทำความดี

ยกตัวอย่างง่ายๆ ไม่เอาเรื่องล้ำลึกอะไร ไม่ต้องถึงตัวศีล ตัวสมาธิ ตัวปัญญา เพียงเรื่องการฉันอาหารคลุกเคล้า ที่เรียกว่าอาหารสำรวม เราถือกันมาว่า การฉันอาหารสำรวมเป็นข้อปฏิบัติที่ดี เป็นการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง น่ายกย่อง สรรเสริญ พระรูปไหนจะถือเอาเป็นวัตรของตน คือเป็นข้อปฏิบัติขัดเกลาพิเศษ สนับสนุนการที่ได้รักษาศีลให้เคร่งครัดเข้มงวดยิ่งขึ้น ก็เป็นที่อนุโมทนาสาธุกัน แต่ถ้าบางท่านที่ถืออย่างนั้นแล้ว กลับยกเอาขึ้นมาพูดเชิดชูให้ความสำคัญจนเกินหลักไป หรือถึงกับพูดว่าต้องปฏิบัติอย่างนี้ อาหารพระต้องฉันสำรวมจึงจะถูกต้อง ตลอดจนพูดให้เข้าใจเป็นว่าจะต้องทำอย่างฉันนี้จึงจะถูก เมื่อพูดอย่างนี้ถืออย่างนี้เสียแล้ว จิตของพระสพรหมจารีผู้ได้ยิน ซึ่งตามปกติคงจะอนุโมทนาสรรเสริญก็อาจจะหันเหนึกไปในทางอื่น เช่น ท่านอาจจะพูดแย้งในหลักการว่าเรื่องฉันคลุกเคล้าหรือสำรวมนี้ เดิมทีก็เป็นเรื่องธรรมดาของการฉันอาหารบิณฑบาต คือเมื่อถือบาตรไปรับอาหารบ้านโน้นใส่บ้าง บ้านนั้นใส่บ้าง ข้าวของเขาก็ไม่ได้ห่อไม่ได้ใส่กระป๋อง มันก็ปะปนกัน ท่านก็ฉันไปตามที่ได้มา มันก็เป็นอาหารสำรวมอยู่เอง การที่พระอรหันต์ท่านจะฉันอาหารนั้น เมื่อเป็นอาหารได้มาถูกต้องชอบธรรม ท่านก็ฉันไปตามที่ได้มา พอให้เป็นเครื่องยังชีวิต มีกำลังกายจะได้บำเพ็ญกิจ ฉันให้เสร็จไปๆ ตามที่เหมาะสม ไม่ต้องให้มาวุ่นวายเสียเวลาอะไรกันนักกับเรื่องอาหารว่าจะต้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันแบบนั้นแบบนี้ เรื่องก็เท่านั้น ส่วนการที่จะเจาะจงฉันสำรวมนี้ ก็เป็นข้อฝึกหัดสำหรับขัดเกลากิเลสของตน โดยเฉพาะก็เหมาะดีสำหรับท่านที่เคยเป็นคนมัวเมาในรสอาหารมาก่อน ที่ท่านว่าอย่างนี้ ก็ถูกของท่านอีกนั่นแหละ หรือบางท่านอาจพูดไปเสียอีกแง่หนึ่งว่า อย่ามัวมายุ่งกับเรื่องฉันสำรวมไม่สำรวมอยู่นักเลย มองดูพระเณรที่มาศึกษาเล่าเรียนอยู่บางแห่งบางหมู่ มีอาหารทั้งมื้อเช้ามื้อเพลเพียงข้าวกับไข่เค็มใบเดียว จะเอาอะไรที่ไหนมารวม เมื่อเป็นอย่างนี้ การกระทำที่ตามปกติก็ถือกันว่าเป็นสิ่งดีงาม ยกย่องสรรเสริญกัน ก็เลยกลายมาเป็นเหตุของการทะเลาะวิวาทขัดแย้ง และแตกแยกกันไปโดยไม่สมควร ทางที่เหมาะน่าจะเสนอแนะหรือแนะนำชักชวนกันว่า การปฏิบัติอย่างนี้นะ ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้ว มองเห็นประโยชน์อย่างนั้นๆ มีเหตุผลอย่างนั้นๆ ท่านทั้งหลายลองทำดูเถิด อะไรอย่างนี้ แต่ไม่ควรไปดูถูกคนอื่นที่เขาไม่ทำ หรือยึดเอาตายตัวว่า ถ้าไม่ทำอย่างฉันละก็เป็นไม่ถูก หรืออย่างเรื่องการกินอาหารมังสวิรัติ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน โดยเฉพาะในสภาพปัจจุบันที่คนชอบประพฤติ แม้แต่สิ่งสามัญให้วิปริตไปอย่างมากมาย การดึงอย่างแรงในทิศทางตรงข้ามย่อมมีประโยชน์ แต่กระนั้นก็ต้องระวัง ถ้ามังสวิรัติแบบพระเจ้าอโศกก็ถูกหลักน่านับถือ แต่ถ้ามังสวิรัติแบบพระเทวทัตก็จะผิดหลักและเสียหายทั้งแก่ศาสนาและประชาชน หรืออีกตัวอย่างหนึ่งการไปเผยแพร่ธรรมตามท้องถิ่นชนบท เราก็รู้จักอยู่ว่า พระสงฆ์บ้านนอกท่านมีพื้นฐานความรู้น้อย ทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านก็ถือปฏิบัติพุทธศาสนากันมาตามพื้นความรู้ของท่านสืบมาจากอาจารย์ในถิ่น หรือตามที่ท่านมองไปเห็นเช่นในกรุง บางแห่งก็ถูกต้องดี บางแห่งก็ไม่ค่อยถูกต้อง แต่รวมแล้วท่านไม่ทันพวกมีความรู้สมัยใหม่ ทีนี้นักสอนธรรมที่มีความรู้สมัยใหม่เชี่ยวชาญพูด ไปเผยแพร่สอนธรรมในท้องถิ่น ก็ไปสอนชาวบ้าน ว่าพระในท้องถิ่นนั้นปฏิบัติผิด ไม่มีความรู้ ไม่ควรนับถือ กลายเป็นชวนให้ชาวบ้านเลิกนักถือพระสงฆ์ในท้องถิ่นของเขาเสีย ให้หันมานับถือตนแทน ชาวบ้านบางกลุ่มก็เลิกนับถือพระถิ่น ที่หนักก็ดูถูกพระท้องถิ่นไปเลย แล้วหันมานับถือกลุ่มที่เข้ามาใหม่ หรือบางทีก็เลิกนับถือศาสนาทิ้งไปเฉยๆ บางกลุ่มก็ยึดอยู่อย่างเดิม กลายเป็นปรปักษ์กันขึ้น การทำอย่างนี้ แม้ถึงหากสิ่งที่นำไปสอนจะถูกต้อง ก็ไม่น่านิยม สมควรด้วยซ้ำที่จะให้เขาระแวงเจตนาว่า ไปร้ายไม่ใช่ไปดี เพราะไปทำให้ชุมชนแตกแยกระส่ำระสาย ก็ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า พระท้องถิ่นท่านมีความรู้ความสามารถด้อยกว่าตน ท่านบกพร่องไม่น่าเลื่อมใส เราควรตั้งใจไปช่วยทำให้ท่านดีขึ้น น่าเลื่อมใสขึ้น ให้เขาอยู่กันด้วยดีต่อไปจึงจะถูก ส่วนเราไปทำธุระเสร็จแล้วก็ผ่านไป ไม่ควรไปยึดครองแยกท้องถิ่นเขาออกไป นอกจากว่าพระท้องถิ่นท่านเหลือเข็ญแล้วจริงๆ เจตนาก็ไม่ดี จึงค่อยคิดหาทางกันอีกที แต่ถึงอย่างไรก็ต้องพยายามในแนวทางที่ว่ามานั้นแหละ คือจะให้คนถิ่นนั้นเขานับถือปฏิบัติศาสนาถูกต้อง ก็หมายถึงคนทั้งถิ่นคือทั้งพระทั้งชาวบ้านหมด ไม่ใช่แยกชาวบ้านกับพระออกจากกันเอาเราไปใส่แทน

มองดูแง่หนึ่ง การที่มีกลุ่มมีคณะต่างๆ ตั้งขึ้นแปลกๆ ใหม่ๆ มากหลายคณะในสมัยปัจจุบันก็คือเครื่องฟ้องอยู่ในตัวถึงสภาพสถาบันพระศาสนาว่าได้เสื่อมโทรมลงไป อย่างน้อยก็ทำให้เห็นได้ว่า ชาวพุทธทั้งพระทั้งชาวบ้าน ถูกทอดทิ้งไว้ ไม่ได้รับการศึกษาจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นพุทธจริงหรือมิใช่พุทธ จนกระทั่งทุกวันนี้ใครจะเอาลัทธิเจ้าผี ลัทธิฤาษีชีไพร ลัทธินิครนถ์มาประกาศว่าเป็นพุทธศาสนา ก็จะมีพุทธศาสนิกชนพากันแล่นไปนับถือลัทธิละมากๆ เรื่องของพระสงฆ์นี้ ถ้าจะเข้าใจกันให้ชัดเจนและปฏิบัติให้ถูกต้อง ยังมีข้อที่จะต้องคิดต้องพิจารณากันให้กว้างออกไปอีก ลองย้อนไปมองดูสภาพพระสงฆ์ในปัจจุบันกันต่อไปอีก ขณะนี้พระสงฆ์ในประเทศไทยอย่างที่อาตมภาพได้บอกแล้วในเบื้องต้น มีประมาณ ๓๒๙,๐๐๐ รูป ในจำนวน ๓๒๙,๐๐๐ รูปนี้อยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ ๒๐,๐๐๐ รูป ที่เหลืออีก ๓๐๙,๐๐๐ รูป อยู่ในชนบท ที่ว่าอยู่ในกรุงเทพฯ ๒๐,๐๐๐ รูปนั้น ความจริงแล้วควรพูดว่าเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ๒๐,๐๐๐ รูป เพราะพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ประจำวัดเรียนหนังสืออยู่ก็ดี เป็นเจ้าอาวาสอยู่ก็ดี ทำหน้าที่อื่นๆ ของพระศาสนาอยู่ก็ดี ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นชาวชนบทห่างไกลด้วย รวมแล้วก็คือพระสงฆ์เกือบทั้งหมด ไม่ว่าพระสงฆ์ในกรุง ในเมือง หรือในต่างจังหวัด เป็นพระในชนบทแทบทั้งสิ้น มีพระที่เป็นชาวกรุงอยู่นิดเดียว คือพระที่ไปบวชชั่วคราวตอนเข้าพรรษา หรือไปบวช ๑ เดือน ๒ เดือนตามประเพณีตามวัดในกรุงหรือในเมืองในตลาด ท่านเหล่านี้เป็นชาวเมือง ชาวกรุง ชาวตลาด แต่พระที่อยู่ประจำนั้นไม่ใช่ อาจจะพูดเป็นคำสรุปไว้ด้านหนึ่งก็ได้ว่า ในเมืองไทยปัจจุบันนี้เราทิ้งภาระด้านศาสนาไว้ให้ชาวชนบท และสภาพเช่นนี้มันจะส่อไปถึงอะไรอีกหลายอย่าง เป็นอันว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท ทำไมบัดนี้กิจการด้านพระศาสนาในประเทศไทยจึงเป็นงานภาคชนบท หรือเป็นเรื่องของชาวชนบท ก็เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าความเจริญก้าวหน้าในสังคมไทยนี้เองบันดาลให้เป็นไป พระสงฆ์ที่เข้ามารับผิดชอบพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทที่เข้ามาเพื่อการศึกษาเล่าเรียน ตามระบบประเพณีของไทย และโดยมากก็คือผู้ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐไม่ได้ ส่วนชาวกรุงชาวเมืองไม่ได้ไปบวช ไม่ได้ไปรับผิดชอบพระพุทธศาสนาก็เพราะว่าเมืองไทยได้ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยแล้ว มีการศึกษาแบบสมัยใหม่ ชาวกรุงชาวเมือง และต่อมาชาวตลาดได้มีโอกาสเข้าศึกษาแบบสมัยใหม่ ก็เลยไม่ต้องไปบวชเรียน ทีนี้ชาวชนบทที่ห่างไกลและยากจนไม่มีโอกาส ก็เลยไปบวชเรียนอาศัยร่มเงาบารมีของพระพุทธศาสนา เมื่อพระสงฆ์ส่วนมากบวชเข้ามาในแนวทางของการศึกษาเช่นนี้ การที่จะเรียนสูงขึ้นไปก็ต้องเข้าสู่กรุง เมื่อพระสงฆ์เข้าสู่กรุงมากขึ้น และพระชาวกรุงเองที่จะบวชอยู่ก็แทบไม่มี หรือเรียกได้ว่าไม่มีเลย ในที่สุดพระสงฆ์ที่อยู่วัดในกรุงเทพฯ เป็นผู้รับผิดชอบพระพุทธศาสนา เป็นพระบริหาร เป็นพระเจ้าอาวาส ก็จึงเป็นพระชาวชนบทห่างไกลกันไปหมด สภาพอย่างนี้มันก็เป็นทั้งผลดีและผลร้าย ผลดีในแง่หนึ่ง คือว่าพระศาสนาได้ช่วยให้ชาวชนบทมีส่วนได้เล่าเรียน แต่ในเวลาเดียวกัน การที่สังคมไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้ ก็ทำให้สภาพของพุทธศาสนาพลอยเสื่อมถอยหนักลงไปอีก ขณะนี้เรามีพระเณรในชนบทดังที่กล่าวมาแล้ว ๓๐๐,๐๐๐ กว่ารูปทีเดียว พระเหล่านั้นเมื่อจะเรียนสูงขึ้นไป ก็ต้องเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อเวลาผ่านไปๆ ในชนบทก็มีแต่พระที่ได้เรียนน้อย มีการศึกษาต่ำ การศึกษาตามวัดต่างๆ ในชนบทเสื่อมถอยทรุดลงไปตามลำดับ ต่อมาปัจจัยอย่างอื่นๆ ประดังซ้ำเข้ามาอีก จนขณะนี้มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือวัดในชนบทหาพระยากขึ้น ไม่ต้องพูดถึงพระมีความรู้ แม้แต่พระที่บวชอยู่นานหน่อยก็หายากขึ้นทุกที ระยะเวลาบวชสั้นลงเพราะสภาพสังคมบันดาลให้เป็นไป แม้แต่ผู้ที่บวชตามประเพณีก็บวชสั้นลง จาก ๓ เดือน เหลือเดือนหนึ่งบ้าง ครึ่งเดือนบ้าง ตลอดจน ๗ วัน สภาพเช่นนั้นเริ่มขึ้นในเมืองก่อน แล้วก็แผ่ขยายออกไปในชนบทด้วย ชาวบ้านในชนบท ชาวไร่ ชาวนา ก็พลอยเป็นไปตาม เหลือบวชเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือน ๗ วัน ๓ วัน นี่ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้หาพระที่จะรับผิดชอบพระพุทธศาสนายาก ขณะนี้ได้มีในหลายถิ่นแล้วที่หาพระเป็นเจ้าอาวาสไม่ได้ แม้แต่ในเขตภาคกลาง อย่างเช่น ท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อคราวที่อาตมภาพพบราว ๕-๖ ปีก่อน ท่านก็พูดแล้วว่าถึงตอนจะเข้าพรรษาเห็นชาวบ้านมาเป็นขบวนละก็ ผมต้องรีบหนีไปก่อน เพราะรู้เลยว่าเขามานี้เพื่อจะมาขอพระเป็นเจ้าอาวาส แล้วเราก็ไม่รู้จะไปหาให้เขาที่ไหน นี้ก็เป็นตัวอย่าง ขณะนี้สภาพกำลังสำหรับรับผิดชอบพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะหวังให้พระพุทธศาสนาเจริญได้อย่างไร

ทีนี้เกิดมีปัญหาขึ้นอีกว่า พระสงฆ์ยังคงเป็นผู้นำในชุมชนชนบท เป็นผู้นำที่ชาวบ้านเชื่อถือ ไม่ว่าท่านจะสามารถหรือไม่สามารถก็ตามท่านต้องนำ ในเมื่อพระสงฆ์ในชนบทมีสภาพเฉลี่ยโดยทั่วไปมีการศึกษาต่ำ มีความรู้น้อย แต่สังคมส่วนใหญ่มีความเจริญตามแบบอารยธรรมสมัยใหม่ แผ่ขยายเข้าไปสู่ชนบท ไปเผชิญหน้ากับท่าน การรู้เท่าทันอารยธรรมสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะนำชาวบ้าน โดยเฉพาะในเมื่อเขาต้องการปรับตัวให้เข้ากับความเจริญสมัยใหม่ แต่พระสงฆ์เป็นลูกชาวบ้านนั่นเอง จบ ป.๔ มา บางทีไม่จบด้วยซ้ำ และยิ่งสมัยนี้หาพวกที่บวชมานานๆ อย่างสมัยก่อนได้ยาก เพราะผู้ที่บวชเณรน้อยลงไป ก็จะได้ผู้ที่เบื่อโลกแล้วหรือไปทางโลกไม่ไหวถึงได้มาบวช บางทีก็เลยไม่มีความรู้ทั้งที่จะนำชาวบ้านและทั้งที่จะบริหารวัดให้ถูกต้อง เมื่อท่านต้องมานำโดยที่ตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่มีพื้นฐานที่จะนำเขา แล้วชนบทของเราจะมีสภาพอย่างไร อีกด้านหนึ่งขณะนี้เราจะสร้างข้าราชการให้เป็นผู้นำที่ชาวบ้านเชื่อถือ แต่เราก็ยังสร้างไม่ค่อยสำเร็จ เรายังไม่มีผู้ที่ได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้านเท่าพระ ในเวลาเดียวกันพระที่ชาวบ้านเชื่อถือที่สุดให้เป็นผู้นำนั้น ก็ไม่มีความรู้พื้นฐานที่จะนำชาวบ้านให้ดีได้ อันนี้มันย่อมส่งผลต่อสภาพสังคมของเราเอง ส่วนพระที่จะมีความรู้หน่อยก็เข้ามาศึกษาในกรุง จนการศึกษาระบบวัดนี้กลายเป็นระบบที่แข่งกับรัฐ หรือตามอย่างรัฐ เมื่อพระเข้ามาในกรุง คือเรียนสูงขึ้นไปแล้วท่านจะลาสึกจะลาเพศไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาตามประเพณีบวชเรียนของไทยเรา ต้องยอมรับความจริงว่า ท่านก็ถูกกลืนหายไปในสังคมสมัยใหม่ สังคมเมือง สังคมกรุง นอกจากนั้น พระที่เข้ามาเรียนแล้วอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ ว่ากันไปแล้ว ในกรุงนี้เขาก็ไม่ต้องการให้ท่านนำ และท่านก็มีความรู้ความพร้อมไม่เพียงพอถึงขนาดที่จะไปนำเขาได้ ท่านมีความรู้ความสามารถพอที่จะนำชาวบ้านในชนบทได้ แต่ว่าท่านมาอยู่ในกรุงซึ่งท่านไม่พร้อมที่จะนำและเขาไม่ต้องการให้ท่านนำ ท่านก็เลยนำอะไรไม่ได้ ส่วนในชนบท พระที่เหลืออยู่ก็ไม่มีความรู้ที่จะนำ ตกลงก็เลยเสียผลทั้ง ๒ ฝ่าย ปัญหาเหล่านี้กำลังจะพอกพูนทวีขึ้น ขณะนี้พระเณรที่เข้ามาอยู่ในกรุง เป็นผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์แทบทั้งหมด ก็บวชมาจากชนบทตั้งแต่ยังเป็นเณร แต่ในขณะนี้ในชนบทที่มีความเจริญขึ้นมาเป็นตลาดเป็นเมืองแล้ว คนที่จะบวชเณรมีน้อย ถ้าท่านไปต่างจังหวัด ไปที่วัด ในเมืองหรือในตลาด ถ้าท่านเห็นสามเณร ลองไปถามดูว่าสามเณรนี่บวชมาจากถิ่นไหน ที่ไหน (อย่าถามเณรบวชหน้าไฟ ๓ วัน ๗ วัน หรือเณรบวชภาคฤดูร้อน) ก็จะได้ทราบว่า เณรที่เห็นในวัดในตลาดหรือในเมืองนั้นมาจากบ้านนอกที่กันดารห่างไกลออกไปแทบทั้งหมด ส่วนผู้ที่อยู่ในตลาด หรือในเมืองเขาไม่ได้มาบวชหรอก เขาก็ไปศึกษาในระบบของรัฐ เป็นอันว่าในเมืองก็ตาม ในกรุงก็ตาม ผู้ที่จะมาสู่วัดในพุทธศาสนา เวลานี้ก็คือผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล ซึ่งการศึกษาของรัฐยังไปไม่ค่อยถึง บริการของรัฐยังไม่มีให้ ท่านจึงต้องมาอาศัยระบบของพุทธศาสนา นี้เป็นสภาพที่เราต้องศึกษาและต้องเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าโดยสรุปขณะนี้วัดเป็นแหล่งให้บริการทางการศึกษา ๒ ด้านคือ

๑) การศึกษาสำหรับชาวชนบทที่เข้ามาสู่ระบบการศึกษาที่เทียมขนานกับระบบของรัฐ โดยพระสงฆ์ที่เล่าเรียนมีความรู้แล้วส่วนหนึ่งคอยให้ความรู้แก่พระเณรรุ่นหลัง ที่มาจากชนบท

๒) บริการศึกษาอบรมที่ให้แก่ชาวเมือง ผู้เข้าไปบวชชั่วคราว ๓ เดือน ๗ วัน ๑๐ วัน

เป็นอันว่าพระยังให้บริการอยู่ และเป็นบริการแก่สังคมแบบหนึ่ง แต่ท่านให้บริการนี้เบ็ดเสร็จอยู่ในวัด โดยผู้รับบริการต้องสมัครเข้าไปอยู่กินรับบริการที่ในวัดเอง ในรูปของการเป็นภิกษุสามเณร (อาจเทียบกับโรงเรียนกินนอนได้บางแง่) อย่างไรก็ตาม การให้บริการแบบนี้ในสมัยนี้ ที่ชาววัดกับชาวรัฐเหินห่างไม่ค่อยรู้เข้าใจกัน ได้ปรากฏผลออกมาอย่างหนึ่ง คือทำให้มองดูเหมือนว่าพระสงฆ์ไม่มีบทบาทในสังคม บทบาทที่ท่านทำถูกมองข้ามไป เพราะบริการสังคมนั้นท่านให้หมุนอยู่ภายในวัดของท่านเอง พลังงานที่จะให้บริการแก่ชุมชนชนิดปรากฏออกไปภายนอกก็แทบจะไม่มีเหลือ ยิ่งขณะนี้พระรุ่นหลังที่จะให้บริการแก่พระที่มาจากชนบทก็ลดน้อยลงไปทุกทีเพราะส่วนมากท่านก็ลาสิกขาไป ถูกกลืนเข้าไปในสังคมของชาวบ้าน เวลาเรียนท่านมาเรียนในวัดอาศัยบริการฝ่ายศาสนา แต่เวลาบริการท่านออกไปบริการให้แก่สังคมฝ่ายรัฐไป นี่ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เรามองไม่เห็นบริการ ที่ท่านทำให้แก่สังคม นี่เป็นสภาพของฝ่ายพระ ซึ่งมีข้อที่ได้ให้สังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า ชาวเมืองได้ทิ้งภาระฝ่ายศาสนาไว้ให้กับชาวชนบท

ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไป เห็นควรพูดถึงภาระบริการทางสังคมของพระสงฆ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และน่าเป็นห่วงมาก นี้คือ บริการในด้านพิธีกรรม หรือการบุญการกุศลต่างๆ ปัจจุบันนี้กิจของพระสงฆ์ในด้านพิธีกรรมมีมากมาย และเป็นเรื่องที่กินเวลาไปเป็นอันมาก ทั้งพิธีเกี่ยวกับการมงคล เช่น ทำบุญบ้าน งานฉลองต่างๆ แต่งงาน วันเกิด ทำบุญอายุและพิธีเกี่ยวกับการศพ เช่น งานตั้งศพสวดอภิธรรม งานฌาปนกิจ ทำบุญครบรอบวันตาย ภายหลังยังมีเพิ่มงานวางศิลาฤกษ์ เปิดป้าย เปิดกิจการและพุทธาภิเษกเป็นต้น เข้าอีก พระสงฆ์ต้องรับนิมนต์ไปในพิธี มีการเจริญพระพุทธมนต์ สวดพระพุทธมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา สวดมาติกา บังสุกุล เป็นต้น พิธีกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับประชาชน บางท่านเรียกว่าบทบาทในการบำรุงขวัญ เป็นเรื่องของศาสนาที่ผสมเข้ากับวัฒนธรรมประเพณีของสังคม บริการด้านนี้มีความสำคัญ และมีผลต่อความเจริญ และความเสื่อมของพระศาสนาอยู่ไม่น้อย ปัจจุบันเป็นยุคที่พิธีกรรมเฟื่องฟู หรือมองอีกอย่างหนึ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับสังคมส่วนใหญ่ค่อยๆ ร่วงหล่นหมดไป คงเหลืออยู่เพียงเงื่อนสุดท้าย คือพิธีกรรม พิธีกรรมจึงปรากฏเด่นขึ้นมา และคนจำนวนมากก็เห็นบทบาทของพระสงฆ์อยู่เพียงแค่นี้ (มองข้ามบริการทางการศึกษาเป็นต้นที่พูดมาแล้วไป) ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับบทบาทด้านพิธีกรรมของวัดและพระสงฆ์ โดยทั่วไปก็มีอยู่มาก แต่ในที่นี้ต้องขอข้ามไปก่อน จะเจาะจงพูดเฉพาะบทบาทและบริการด้านนี้ของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ซึ่งบริหารรับผิดชอบการพระศาสนาทั้งวัดทั้งเมืองหรือทั้งประเทศ เวลานี้เป็นที่รู้กันว่าพระผู้ใหญ่ต้องหมดเวลาไปกับภารกิจด้านนี้เป็นอันมาก ยิ่งเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น หรือได้รับความเคารพนับถือมากขึ้น ก็ยิ่งได้รับนิมนต์มากขึ้น จนวันเดือนปีหมดไปกับกิจเหล่านี้ แต่ละวันแทบไม่ได้อยู่กับวัด ครั้นกลับถึงวัดก็เหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียเสียแล้ว จากการที่ได้เดินทางไปเป็นต้น ยิ่งวัยของท่านก็มักจะสูงด้วย ก็ทำให้จำเป็นต้องพักผ่อน ยิ่งกว่านั้น เมื่อเสร็จพิธีหรือกลับมาถึงวัด ก็มักมีพุทธศาสนิกชนรอพบอยู่อีกมากหลาย และเรื่อยๆ บางทีก็เป็นผู้มานิมนต์เพื่อพิธีอื่นๆ ต่อๆ ไป จำต้องต้อนรับสนทนาปราศรัยเป็นต้น โดยนัยนี้วันหนึ่งๆ ก็หมดไปๆ จนท่านแทบไม่มีเวลาที่จะคิด ที่จะพิจารณาแก้ไขปรับปรุงวางแผนดำเนินงานกิจการพระศาสนาระยะยาว ได้แต่แก้ไขปัญหา จัดทำเรื่องเฉพาะหน้าให้เสร็จไปทีหนึ่งคราวหนึ่ง ภาวะเช่นนี้น่าเป็นห่วงในแง่ที่ว่า กิจการพระศาสนาโดยส่วนรวม เมื่อไม่ได้รับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง และดำเนินการอย่างจริงจัง อย่างทันกาลเวลา ก็จะย่อหย่อนอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดอาจถึงกับสูญสิ้นความหมายไปเลยก็ได้ พิธีกรรมเหล่านั้นเมื่อมองในแง่ความสัมพันธ์กับประชาชนและการบำรุงจิตใจชาวบ้าน ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่งานบริหารการพระศาสนาในความรับผิดชอบก็สำคัญมาก จึงเป็นเรื่องของการที่จะต้องเลือกและจัดให้เหมาะสม พระบางท่านอาจปลีกตัว ตัดกิจด้านพิธีกรรมได้เกือบจะสิ้นเชิง เอาแต่งานฝ่ายในของพระศาสนาอย่างเดียว แต่นั่นก็เป็นการปฏิบัติจำเพาะบุคคลจะให้พระทั่วไปทำอย่างนั้นกันหมด โดยเฉพาะพระฝ่ายบริหารที่ต้องสัมพันธ์กับประชาชนมาก ก็ไม่ได้ และอาจจะทำให้เกิดผลเสียหายได้มิใช่น้อยด้วย เคยมีพระรุ่นใหม่บางกลุ่มกล่าวรุนแรงว่า พระผู้ใหญ่ที่รับนิมนต์เหล่านั้น เห็นแก่ลาภสักการะบ้าง หรือว่าต้อนรับเฉพาะผู้มียศศักดิ์เป็นคุณหญิงคุณนายเป็นต้นบ้าง (ทำนองจะว่าเป็นศักดินา) คำกล่าวนั้นอาจมีส่วนถูกอยู่บ้าง ในบางรายบางกรณี และสำหรับท่านผู้ฟังที่ใจกว้าง รู้จักถือเอาประโยชน์ อาจถือเป็นเครื่องเตือนสติของตนก็ใช้ได้ แต่ถ้าจะพิจารณากันในแง่ความจริงความเท็จกันแท้ๆ คำกล่าวว่านั้นก็ไม่ให้ความเป็นธรรมเพียงพอ ตามที่จริงควรจะได้มองกันด้วยความเข้าใจและศึกษาสภาพความเป็นจริง พิจารณาเหตุผลความเป็นไปของแต่ละฝ่ายให้ชัดเจน พระผู้ใหญ่มักต้องคำนึงมากถึงความสัมพันธ์อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อุปถัมภ์บำรุงวัดนั้นๆ และความสัมพันธ์อย่างนี้ก็มีผลเป็นแหล่งเกื้อกูลแก่การให้บริการภายในวัดทั้งสองอย่างที่กล่าวมาข้างต้นด้วย เมื่อชาวบ้านเขาเกื้อกูลเกี่ยวข้องอยู่ ครั้นเขามีงานต้องการให้พระไปให้เขาบ้างเพียงแค่รับนิมนต์ไปทำบุญที่บ้าน บางทีครั้งเดียวตั้งแต่รู้จักมา บางทีเพียงปีละครั้ง เพียงเท่านี้ไปให้เขาไม่ได้ เขาย่อมกระทบกระเทือนใจ อาจคลายศรัทธาต่อวัดหรือต่อพระศาสนา ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่นับถือถึงตัวศาสนาจริง ครั้นมีผู้รู้จักมากกว้างขวางเป็นอย่างนี้มากเข้าก็เลยมีกิจนิมนต์ และผู้มาเยี่ยมหาสนทนาแทบไม่เว้นวัน และสำหรับพระผู้ใหญ่บางท่าน ลาภผลที่ได้จากกิจพิธีเหล่านี้ ก็เป็นของสำหรับท่านจะช่วยเหลือเกื้อกูลสงเคราะห์แก่พระผู้น้อยกว้างขวางออกไป ตลอดจนแม้กระทั่งในถิ่นชนบทห่างไกล และแม้การที่มีผู้เคารพนับถือนิมนต์ท่านมาก ก็มีผลแผ่ขยายการนับถือและการนิมนต์นั้นออกไปถึงพระใกล้เคียงหรือในปกครองพลอยได้รับผลไปด้วย สภาพเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญขั้นหลักอย่างหนึ่งที่ช่วยทรงชีพพระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ ในเมือง พร้อมทั้งบทบาทให้บริการ ๒ อย่างข้างต้น ที่ไม่ค่อยมีคนมองเห็นนั้นเอาไว้ได้ มิไยที่อาจจะมีข้อเสียพ่วงมาด้วย และมิไยจะมีบางกลุ่มบางคนติเตียนภาวะเช่นนี้อย่างไร แต่มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยค้ำชูสังคมนี้ไว้ไม่ให้ทรุดลงไปยิ่งกว่านี้ อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะมองเห็นผลในแง่ดีและมีเหตุผลที่น่าเห็นใจเพียงใดก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยอมให้ลดหย่อนการปฏิบัติหน้าที่หลักลงไปได้ เหตุผลและความเห็นใจนี้ จะห้ามความเสื่อมโทรมของพระศาสนาไว้ได้ก็หาไม่ การที่จะยอมให้กิจการพระศาสนาส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบเสื่อมเสียไปด้วยเหตุใดก็ตาม ย่อมไม่เป็นการถูกต้องอย่างแน่นอน การที่จะพอใจเพียงแค่ค้ำไว้ไม่ให้ทรุดอีก โดยไม่ปรับปรุงเสริมขึ้นไป ก็คือการปล่อยให้คร่ำคร่าชำรุดและพังทลายไปในที่สุด ดังนั้น ไม่ว่าการสัมพันธ์กับประชาชนเพื่อประโยชน์แก่วัดเป็นต้นจะสำคัญเพียงใด การปฏิบัติภารกิจในด้านบริหารกิจการพระศาสนา ก็จะต้องให้ดำเนินไปอย่างเต็มที่ให้จงได้ จะโดยการจัดแบ่งเวลาสำหรับกิจประเภทต่างๆ ให้แน่นอนก็ดี ขอให้ประชาชนเห็นใจเข้าใจพระ ยินดียอมรับพระที่ท่านให้ไปแทนหรือผ่อนเบาการใช้เวลาของท่านก็ดี หรือวิธีอื่นใดสุดแต่จะมองเห็น บางทีถ้าหมดทางอื่นแล้ว ก็คงต้องขอให้ท่านขยายเวลาทำงานหรือปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มออกไป เช่นขอให้พระผู้ใหญ่พักผ่อนได้วันละไม่เกิน ๓ ชั่วโมง แล้วบางทีกิจการพระศาสนาอาจฟื้นฟูมีชีวิตชีวาขึ้นได้บ้างกระมัง

ต่อไปมองดูชนชั้นนำหรือผู้นำของสังคม ชนชั้นปัญญาชนของเรา มองในแง่ของพระศาสนา อาตมภาพอยากจะพูดว่าเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมาก ที่ว่าน่าเป็นห่วงมาก ก็เพราะว่า จนถึงบัดนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ปัญญาชน หรือชนชั้นนำของเรายังไม่ค่อยมีความรู้ หรือเข้าใจสภาพสังคมของตนเอง โดยเฉพาะไม่เข้าใจเรื่องราวของชุมชน ที่ตนจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ ถ้าอาตมภาพพูดแรงไป ต้องขออภัยในตอนนี้ คือเวลาเราจะมีนักบริหาร นักการปกครอง ยังมีบ่อยๆ ที่เราเหมือนกับเอาคนที่เป็นฝรั่งกลายๆ ไปปกครองชุมชนไทย นี่เป็นการพูดให้แรง เพื่อสะกิดสำหรับคนที่จะไปทำงานช่วยเหลือสังคมไทย ธรรมดาคนที่จะไปนำสังคมถ้าจะให้ดี จะต้องรู้จะต้องเข้าใจสังคมนั้น ต้องรู้เรื่องของชุมชนนั้นดีกว่าชาวบ้าน คือดีกว่าคนที่ตนไปนำ รวมทั้งในทางพระศาสนา อาตมภาพอยู่ฝ่ายศาสนาก็เน้นในเรื่องศาสนา และศาสนาก็ยังเป็นหลักสำคัญของสังคมไทยอยู่ ยังมีอิทธิพลมาก แต่เมื่อมองในแง่ศาสนาแล้ว ชนชั้นนำหรือปัญญาชนของไทย ยังมีความเข้าใจน้อยเหลือเกิน ไม่ต้องหลักลึกซึ้งหรอก เอาแค่หลักที่จะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน คือพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในวัฒนธรรมของไทย ชาวบ้านพูดจะต้องมีศัพท์ทางพระปนเข้ามา พูดออกมาเป็นเรื่องกรรม เรื่องบุญ เรื่องกุศล เรื่องเมตตากรุณา เหล่านี้เป็นเรื่องที่มีประจำอยู่ทั่วไปในหมู่คนไทย ทีนี้คนชั้นนำของเราจะไปนำชาวบ้าน ก็ควรมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ดีกว่าชาวบ้าน ดีถึงขั้นเข้าใจเขาได้ ถ้าเขาเชื่อผิดต้องนำเขาให้พ้นจากความผิดนั้นได้ แต่ปัญหาปัจจุบันคือ เรามีชนชั้นนำหรือปัญญาชนที่รู้เรื่องศาสนาเพียงแค่ตามชาวบ้าน คือรู้ตามที่ชาวบ้านรู้หรือเรียนจากชาวบ้าน ซึ่งการที่จะเอาความรู้จากชาวบ้านมาเป็นมาตรฐานว่าพระพุทธศาสนาสอนอย่างนั้น ความจริงไม่ถูก บางท่านนอกจากรู้พระพุทธศาสนาตามชาวบ้านแล้ว ยังวัดหรือตัดสินพระพุทธศาสนาด้วยความรู้นั้นเสียด้วย คือถือว่าความรู้ที่ชาวบ้านว่ามาและตนเองเรียนไปนั้นแหละคือตัวพระพุทธศาสนา ซึ่งอันนี้ตามหลักทั่วไปแล้วจะเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่นอย่างในเรื่องวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านใช้ผลประโยชน์จากเทคโนโลยี ใช้ผลประโยชน์จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เขาผลิตไปให้ใช้ แกรู้บ้างไม่รู้บ้าง แกก็พูดไป เช่นอย่างพูดถึงเครื่องบันทึกเสียง ชาวบ้านก็อาจจะบอกว่า เครื่องบันทึกเสียงนี่มันดี มันเก็บเอาเสียงไว้ได้ อันที่จริงถ้าว่ากันตามวิทยาศาสตร์แล้ว เครื่องบันทึกเสียงมันไม่ได้เก็บเสียง ผู้ที่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะบอกว่าชาวบ้านนี่พูดเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ถูกต้อง เพราะเสียงที่เขาบันทึกไว้ เขาไม่ได้เก็บเป็นเสียง มันเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานอย่างอื่น หรือวิทยุมันก็ไม่ได้ส่งเสียง ชาวบ้านก็อาจจะบอกว่าวิทยุนี้มันดี สามารถส่งเสียงได้ไกลเป็นร้อยพันกิโล แต่ว่าผู้รู้วิทยาศาสตร์ก็คงบอกว่าไม่ใช่หรอก มันไม่ได้ส่งเสียงไปอย่างนี้เป็นต้น ปัญญาชนเราก็รู้ว่าอันนี้ชาวบ้านกำลังพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ที่ชาวบ้านพูดไม่จำเป็นต้องถูกตามหลักวิทยาศาสตร์ เรื่องพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านพูดถึงหลักของพุทธศาสนา เราก็รู้ว่าเขาพูดเรื่องพุทธศาสนา แต่จะเอาความรู้ที่ชาวบ้านพูดไปวินิจฉัยพุทธศาสนาไม่ถูก นี้ก็แบบเดียวกัน ถ้าหากว่าชนชั้นนำของเราไม่เรียนรู้หลักไว้ ก็จะมีความรู้แบบชาวบ้านเท่านั้น และจะวัดพุทธศาสนาด้วยความรู้ของชาวบ้าน ไม่สามารถจะไปนำให้ชาวบ้านพ้นจากความเชื่อผิดเข้าใจผิดได้ หากว่าชาวบ้านมีความเข้าใจในพุทธศาสนาผิดพลาดไป ชนชั้นนำควรจะแนะนำชี้แจงให้เขาเปลี่ยนความเข้าใจให้ถูกได้ หรืออย่างน้อยก็รู้จุดรู้แง่ที่จะเชื่อมให้เขาไปได้ความรู้ที่ถูกต้อง เช่นจากพระเป็นต้น เพื่อให้ความรู้ทางพุทธศาสนาของชาวบ้านเป็นไปในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและชุมชนของเขา เพราะในสังคมไทยเราปัจจุบันนี้ พุทธศาสนายังมีส่วนมากในการที่จะบันดาลให้เกิดทั้งความเจริญและความเสื่อม ถ้าเขาเข้าใจถูกปฏิบัติถูก ก็จะทำให้เกิดความเจริญได้ ถ้าเขาเข้าใจพุทธศาสนาผิด เขาอาจจะทำให้เหมือนกับว่าพุทธศาสนาทำให้สังคมเสื่อม ถ้าหากชนชั้นนำของเรารู้เรื่องพุทธศาสนาดีก็อาจจะไปแก้ไขข้อนี้ได้ ที่ว่านี้รวมถึงความรู้เกี่ยวกับสถาบันด้วย ถ้าคนชั้นนำของเราไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับวัดเสียเลย ไม่รู้ว่าพระสงฆ์เป็นใครมาอย่างไร ก็จะมองสังคมกันอย่างผิวเผินอย่างที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากเราเข้าใจเรื่องวัดเรื่องพระดีแล้ว เราจะปฏิบัติต่อสังคม ต่อชุมชน และต่อชาวบ้านแต่ละคนได้ดีขึ้น สถาบันพุทธศาสนาเป็นสถาบันใหญ่ในสังคมไทยสถาบันหนึ่ง ซึ่งอาตมภาพเข้าใจว่า คนชั้นนำของเราควรจะศึกษาให้เข้าใจพอสมควร เพื่อจะได้มารับผิดชอบสังคมได้ถูกต้อง อาตมภาพคิดว่าพูดไว้เท่านี้ควรจะผ่านไปก่อน

ขอสรุปเหตุต่างๆ ที่ทำให้สภาพชาวพุทธของเราเป็นอยู่อย่างนี้ เรื่องชะตากรรม เราก็ต้องดูจากเหตุเหล่านี้ เหตุเป็นอย่างไรก็จะส่อถึงผล เหตุทั้งหลายนี้ที่ควรจะเน้นก็คือ ชาวพุทธทั่วไปไม่ค่อยมีความรับผิดชอบต่อศาสนาตามฐานะและหน้าที่ของตน เพราะฉะนั้นเมื่อจะทำอะไรสักอย่าง เราก็จะมองในแง่ประโยชน์ที่เราจะได้ เพราะว่าได้มองศาสนาอย่างที่เคยกล่าวแล้วคือ มองไม่เข้าไปอยู่ในเนื้อตัวตนเอง หรือในชีวิตประจำวัน แต่มองไปที่ป่า ที่วัด ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะบันดาลผลประโยชน์ให้แก่ตน มองในแง่ว่าจะได้อะไรตอบแทน เช่นผลประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียง ได้ลาภ ได้เกิดในสวรรค์ เราไม่มองในแง่ที่ว่า นี่นะเราก็มีส่วนรับผิดชอบในการทำให้ศาสนาคงอยู่ ในการที่จะให้หลักธรรมดำรงอยู่ในโลก เราควรจะทำอะไรที่จะช่วยให้พระศาสนา ให้ธรรมะ ให้ความดีนั้น มันแผ่กว้างไป เราควรจะสนับสนุนผู้ปฏิบัติธรรม ให้ท่านได้เลี้ยงชีวิตโดยไม่ต้องกังวล จะได้ปฏิบัติธรรมได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเรามองในแง่อย่างนี้ มันจะช่วยแก้ปัญหาการกระทำนอกรีตนอกรอย และจะเป็นการช่วยกันรับผิดชอบศาสนาได้อย่างดีด้วย การไม่เข้าใจเรื่องนี้ เป็นเหตุให้ชุมชนชาวพุทธของเราสับสน อาจจะพูดให้แรงได้ว่า ในขณะนี้สังคมชาวพุทธของเราแตกสลาย แตกเป็นเสี่ยงๆ ในชุมชนเมืองสังคมชาวพุทธ พระสงฆ์กับชาวคฤหัสถ์สัมพันธ์กันน้อยเหลือเกิน และสภาพนี้กำลังแผ่ขยายไปในชนบท พระในชนบทเป็นผู้นำชาวบ้าน แต่การนำนี้เริ่มจะลดน้อยลง สภาพเช่นนี้ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ และในระดับสูงสุด รัฐกับคณะสงฆ์ก็ไม่ประสานกันเหมือนสมัยโบราณ สมัยโบราณนี้พระสงฆ์กับพระเจ้าแผ่นดิน แม้จะเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ยังมีความใกล้ชิด รู้เรื่องกันดีกว่าคณะสงฆ์กับรัฐบาลสมัยนี้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสถาบันสงฆ์ยังมีอิทธิพลมากในเมืองไทย ถ้าหากว่าสถาบันทั้งสองฝ่ายนี้ได้ประสานกันดี ก็จะช่วยให้การดำเนินกิจการด้านต่างๆ เป็นไปได้อย่างถูกต้องดียิ่งขึ้น ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องการให้พระสงฆ์ไปมีอิทธิพลครอบงำรัฐ เพียงแต่ต้องการให้เป็นสื่อช่วยอำนวยความรู้ความเข้าใจและเกื้อกูลแก่กันและกัน เพราะการที่ไม่เข้าใจและไม่ประสานกันอย่างถูกต้องระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์นี่แหละ จึงทำให้สังคมพุทธมีความอ่อนกำลัง โดยทั่วไป ความอ่อนกำลังนี้จะปรากฏในด้านต่างๆ เช่นการศึกษาของพระสงฆ์ เป็นต้น การศึกษาของพระสงฆ์เดี๋ยวนี้เรามีถึงเปรียญ ๙ ประโยค ซึ่งเป็นระบบที่มีมานานเป็นศตวรรษแล้ว แต่ขณะนี้สถิติสอบบาลีลดลงเรื่อยๆ เมื่อสัก ๗ -๘ ปีมาแล้ว มีพระสงฆ์สอบบาลีประมาณ ๑๒,๐๐๐ รูป ปี ๒๕๒๐ เหลือ ๑๐,๐๐๐ รูป7เศษ ไม่ถึงพัน แล้วจำนวนผู้ขาดสอบมีมากเหลือเกิน ยิ่งกว่านั้นพระสงฆ์จะเรียนไปได้แค่ไหนก็ตาม จะจบเปรียญ ๙ หรือจบมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ตาม ก็อยู่เพียงระดับไม่เต็มที่ของปริญญาตรี ในขณะที่มหาวิทยาลัยทางโลกได้ดำเนินการศึกษาทางด้านบาลีและพุทธศาสนาถึงปริญญาโท ปริญญาเอกแล้ว อย่างที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มีปริญญาโท-เอก ทางภาษาบาลีแล้ว หรืออย่างแผนกปรัชญาของคณะอักษรศาสตร์นั้น นักศึกษาก็อาจทำวิทยานิพนธ์ เพื่อปริญญาเอกในทางพุทธปรัชญา หรือที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีโครงการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบระดับปริญญาโทมาหลายปี ปีนี้เปิดโครงการศาสนศึกษาให้ถึงปริญญาเอก ก็หมายความว่าเดี๋ยวนี้การศึกษาของพระ เจ้าของเรื่องพุทธศาสนาและภาษาบาลีเองยังต่ำกว่าชาวบ้านในเมืองไทยด้วยกันเองแล้ว อันนี้เราไม่ต้องไปพูดถึงต่างประเทศ เพราะว่าสถาบันทางโลกของเราในระดับปริญญาโทปริญญาเอก ก็ย่อมไปเอาอย่างหรือเอาแนวมาจากฝรั่ง โดยที่ฝรั่งเขามีการศึกษาพุทธศาสนาและภาษาบาลีถึงปริญญาโทปริญญาเอกมาก่อนแล้ว เมืองไทยจึงไปเอามาปรากฏขึ้นที่มหาวิทยาลัยฝ่ายโลก ส่วนพระเราก็ยังศึกษาไม่ถึงปริญญาตรี ในฝ่ายบาลีพุทธศาสนาอยู่ต่อไป สภาพนี้จะเป็นอย่างไร มันก็ส่อถึงสภาวการณ์ ที่เกี่ยวกับชะตากรรมของพุทธศาสนาในประเทศไทยด้วย

เท่าที่อาตมภาพพูดมานี้ รู้สึกว่าเป็นเรื่องในทางร้าย แต่ความจริงความเป็นไปในทางดีก็มีเหมือนกัน เช่นจะเห็นว่าในสมัยปัจจุบันนี้ ชนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเหมือนกัน เขามองเห็นสภาพความเสื่อมโทรมในทางศาสนา จะเสื่อมจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เขาเข้าใจว่าเสื่อม เช่นมองเห็นว่าความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหลวไหลต่างๆ แพร่หลายดาษดื่นมากขึ้น เขาต้องการสิ่งที่เป็นพุทธศาสนาที่แท้จริง ก็เที่ยวศึกษาแสวงหากัน อะไรทำนองนี้ ในเวลาเดียวกันก็มีผู้นำในทางความคิดมาสนองความต้องการอยู่บ้าง ตัวอย่างที่รู้จักกันเช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นต้น สิ่งที่ท่านเหล่านี้คิด พูด ทำขึ้นมานั้น ไม่จำเป็นว่าเราจะเห็นด้วยไปหมด บางอย่างเราอาจเห็นด้วย บางอย่างเราไม่เห็นด้วย การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผลที่ปรากฏก็คือว่า ท่านได้ช่วยให้เกิดผลดีแก่พระศาสนาและแก่สังคม ช่วยให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงบางอย่าง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการศึกษาค้นคว้าหาความจริง และก็ช่วยได้พอสมควรทีเดียว อันนี้ก็เป็นการมองในส่วนที่ดี อย่างไรก็ตามสำหรับคนรุ่นใหม่ หนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาผู้แสวงหาพุทธธรรมที่แท้ หรือบางทีคิดปรับปรุงพุทธศาสนาด้วยนี้ ดูเหมือนจะมีข้อสังเกตที่เป็นเครื่องเตือนสติกันไว้บ้างเหมือนกัน บางพวกก็เข้าคติที่ว่า คนเราเบื่อทางหนึ่งแล้วมักจะวิ่งไปสุดโต่งอีกทางหนึ่ง ออกจากกามสุขัลลิกานุโยค แล้วก็เลยไปอัตตกิลมถานุโยคเสียบ้าง มุ่งไปแต่สมาธิกรรมฐาน ไม่สนใจด้านสังคมเลยบ้าง คิดจะแก้ไขปรับปรุงพุทธศาสนา มุ่งแต่เนื้อหาธรรม แต่ไม่เข้าใจสภาพสถาบันเสียเลยบ้าง บางทีมุ่งดี แต่รู้เหตุปัจจัยเกี่ยวข้องไม่เพียงพอ การกระทำอาจมีผลเป็นการทำลายสิ่งที่ดีงามบางอย่างลงโดยไม่รู้ตัวเข้าก็ได้

อนึ่ง ในสังคมปัจจุบันที่มีความวุ่นวายมากนี้ คนเริ่มมีความรู้สึกตัวกันถึงความที่เทคโนโลยี และความเจริญสมัยใหม่ต่างๆ นี้ มันไม่สามารถให้ความหมายที่แท้จริงแก่ชีวิตได้ มันไม่สามารถนำมนุษย์ไปสู่ความสุขที่แท้จริงได้ จึงเกิดมีการแสวงหากันขึ้น สำหรับท่านที่แสวงหาความสุขในทางจิตใจ หาความสงบ ความวิเวก ก็มีสำนักปฏิบัติวิปัสสนามาช่วย สำนักที่ได้รับความเคารพนับถือก็มีมากมายหลายแห่ง นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เป็นเรื่องในฝ่ายดีเช่นเดียวกัน หรือในด้านชนบทที่ว่าพระของเรากำลังโน้มไปในทางที่ขาดความเป็นผู้นำ น่าเป็นห่วง แต่ก็ยังมีพระสงฆ์บางรูปที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน สามารถนำชาวบ้านไปในทางที่ดีงาม ทำการพัฒนาอะไรต่างๆ เหล่านี้ ยังใช้ความเป็นผู้นำของท่านให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลได้ ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างไม่ถึงกับหมดสิ้นเสียทีเดียว อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อควรสะกิดเตือนให้คิดอยู่เหมือนกันคือถ้าว่ากันตามหลักแล้วงานพัฒนาอะไรเหล่านี้ ควรจะเป็นเรื่องของอุบาสกอุบาสิกามากกว่า แต่คงจะเป็นเพราะพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ของเรานี้ห่างเหิน หรืออาจจะเสื่อมถอยไป ผลที่สุดภาระนี้จึงมาตกอยู่ที่พระ เมื่อต้องการจะฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นอีก พระจึงต้องมาเน้นในเรื่องการพัฒนาอะไรต่างๆ แต่ต่อไปในระยะยาวคิดว่างานเหล่านี้คงเป็นภารกิจของฝ่ายอุบาสกอุบาสิกามากกว่า ดังจะเห็นว่าเอตทัคคะฝ่ายสังคหวัตถุนี้ เป็นตำแหน่งของฝ่ายอุบาสก

โลกปัจจุบันนี้ ได้ประสบความเปลี่ยนแปลงผันผวนกันมา จนกระทั่งให้เราต้องมาทบทวนพิจารณาความหมายของวิทยาการและอุปกรณ์ต่างๆ ของความเจริญ ตลอดถึงอารยธรรมทั้งหมดว่าเท่าที่เป็นมาแล้วถูกต้องหรือผิดพลาด ในสภาพที่มนุษย์ในโลกทั้งหมด เริ่มมีความสับสนมีความไม่แน่ใจในอารยธรรม ในวิทยาการ ในเทคโนโลยี เห็นว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดโทษ ถ้าชาวพุทธเราเริ่มต้นให้ถูกต้อง ทำกันให้จริงจัง ค้นเอาพุทธธรรมออกมาแสดง อาจจะเสนอให้ปรัชญาหรือหลักการที่ดีงามแก่โลก นำทางหรือชี้ทางให้แก่โลก ทำให้โลกเดินต่อไปอย่างถูกต้องได้ ถ้ามองกันในแง่ของความทุกข์ โลกนี้ก็ประสบปัญหามีความทุกข์มากมายเหลือเกิน จนกระทั่งบางทีก็รู้สึกกันว่าความเจริญสมัยใหม่ถึงความมืดตันแล้ว และสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุก็คือความงมงายในวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ทำให้เกิดโทษแก่โลกนี้มามากพอสมควร อาตมภาพใช้คำว่า “ความงมงาย” ในวิทยาศาสตร์ ความจริงวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของความงมงายก็จริง แต่คนสามารถงมงายในวิทยาศาสตร์ได้ และเป็นกันไม่น้อยเสียด้วย การนับถือในเรื่องอะไรก็ตามแม้เป็นสิ่งที่มีเหตุผล แต่ถ้าคนนับถือถือไปโดยไม่รู้ไม่เข้าใจสักแต่ว่ายึดตามเขาไป เช่นถือว่าอันนี้นักวิทยาศาสตร์เขาว่าไว้ก็ต้องถูก ไม่ว่าอะไรเขาสอนมาในตำราวิทยาศาสตร์ก็ต้องจริงหมด หรือเชื่อว่าโลกจะรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ประสบสันติสุขถึงที่สุดด้วยวิทยาศาสตร์ โดยที่ตนเองก็ไม่รู้วิทยาศาสตร์จริงจังอะไร ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าความงมงายในวิทยาศาสตร์ คือถือวิทยาศาสตร์ด้วยความงมงาย ข้อนี้ก็เหมือนกับพุทธศาสนา แม้ว่าพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาแห่งเหตุผล แต่คนอาจงมงายในพุทธศาสนาได้เหมือนกัน คือ นับถือพุทธศาสนาโดยความงมงายของตนเอง ความงมงายในวิทยาศาสตร์เป็นโทษ เพราะส่วนหนึ่งของความงมงายในวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลออกมาทางเทคโนโลยีไม่ใช่หรือ ที่ทำให้สังคมหรือโลกปัจจุบันได้รับผลที่เป็นปัญหาและความทุกข์เช่นในเรื่องของพิษร้ายต่างๆ ที่เกิดแก่สภาพแวดล้อมเป็นต้น อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราสอนกันว่าให้มีท่าทีวิทยาศาสตร์ แต่ควรย้ำว่าเราจะต้องมีท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์ต่อวิทยาศาสตร์เองด้วย คนที่นับถือวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นจะต้องมีท่าทีเป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อเห็นโทษของความงมงายในวิทยาศาสตร์ แล้วก็จะหันมามองหาแนวทางที่ถูกต้องกันใหม่ และในเรื่องนี้ถ้าหากพระพุทธศาสนาจะเสนอทางออกที่เหมาะสมให้ได้ ก็จะช่วยโลกได้เช่นเดียวกัน

เอาละเมื่อพูดถึงสภาพทั่วๆ ไปมาแล้ว ก็ควรจะพูดถึงข้อที่ว่าจะช่วยกันแก้ไขปรับปรุงได้อย่างไรด้วย เรื่องแนวทางที่ควรจะช่วยกันแก้ไขปรับปรุง เพื่อสร้างชะตากรรมของสังคมในทางที่ดีงาม หรือให้ชาวพุทธทำหน้าที่ของชาวพุทธที่แท้จริงในการกำหนดชะตากรรมของสังคมนั้น อาตมภาพจะลองเสนอดูเพื่อช่วยกันพิจารณา ข้อเสนอที่ ๑ ก็คือเราอย่ามัวมองพุทธศาสนาเลยไปเลยมา คือเลยไปด้านหนึ่ง ไปอยู่ที่ป่าเขา หรือที่วัด ออกจากสังคมไปเลย หรือเลยไปอีกด้านหนึ่งก็ข้ามไปมองหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์ที่จะบันดาลลาภผลประโยชน์ให้แก่ตัว เราจะต้องมองพุทธศาสนาให้มาสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันให้มาอยู่ที่เนื้อตัว แนวทางหนึ่งที่จะเสนอได้อย่างรวดเร็ว คือ การรู้จักประสานประโยชน์ในทางพุทธศาสนา ประโยชน์ในทางพุทธศาสนา หรือสิ่งที่พุทธศาสนาวางไว้เป็นจุดหมายของชีวิตมี ๓ ประการ ต้องขอใช้ศัพท์ธรรมะ สิ่งที่เป็นจุดหมายของมนุษย์ในการมีชีวิตอยู่ มี ๓ ประการเรียกว่า “อัตถะ”

อย่างที่หนึ่งเรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ทันตาเห็น ประโยชน์เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เรื่องความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุหรือปัจจัย ๔ ความมีลาภ มียศ มีตำแหน่ง มีฐานะ มีมิตรไมตรี เรื่องที่มองเห็นกันง่ายๆ ด้วยสายตาธรรมดาอย่างนี้เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ

ประโยชน์อย่างที่ ๒ เรียกว่า “สัมปรายิกัตถะ” ประโยชน์ที่เป็นเบื้องหน้าหรือลึกเข้าไป คือประโยชน์ที่เกี่ยวกับคุณค่าของชีวิต และความมีจิตใจเจริญงอกงามในคุณธรรม อย่างนี้เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ

ส่วนประโยชน์ที่ ๓ เป็นประโยชน์สูงสุด เรียกว่า “ปรมัตถะ” คือการมีจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้นจากความครอบงำของโลกธรรม มีจิตใจผ่องใสเบิกบานบริสุทธิ์อยู่เสมอ คือสามารถทำให้จิตใจมีความสุขได้ในท่ามกลางสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกระทบกระทั่งทั้งดี และร้าย ที่เรียกว่าโลกธรรมทั้งหลาย เช่นการได้ การสูญเสีย การเด่นดัง การตกอับ นินทา และสรรเสริญ เป็นต้น

นี้เรียกว่าประโยชน์ ๓ ประการ หรือมองอีกแง่หนึ่งเรียกว่าอัตถะ ๓ เหมือนกัน คือประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) และ ประโยชน์ร่วมกันทั้ง ๒ ฝ่าย (อุภยัตถะ) เราสามารถนำเอาพุทธศาสนาเข้ามาถึงเนื้อถึงตัวได้ โดยใช้หลักอัตถะ ๓ ประการนี้ คือเมื่อจะทำกิจการงานใดหรือทำอะไรก็ตามต้องมองให้ทะลุถึงประโยชน์ ๓ ประการ จะมองได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้ยศศักดิ์ มีอำนาจ มีเกียรติ ก็เป็นอัตถะ ประการหนึ่ง เรียกว่า ทิฎฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์อย่างนี้ตามองเห็นกันธรรมดา เป็นประโยชน์ที่ควรจะมี แต่เราจะต้องมองต่อไปให้ทะลุทั้ง ๓ ประโยชน์ ถ้ามองไปถึงปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด ก็คือการที่เรามีจิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระไม่ตกอยู่ในความครอบงำของยศ ศักดิ์ อำนาจ ที่ได้มานั้น จิตใจเราไม่เหลิงลอยไม่มัวเมาไปตาม อันนี้เป็นประโยชน์ขั้นที่ ๓ ทีนี้ ประโยชน์ขั้นที่ ๒ เป็นอย่างไร ขอยกตัวอย่าง เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก จารึกที่ ๑๐ ได้ตรัสไว้ว่า เราไม่ปรารถนายศหรือเกียรติ เว้นแต่ว่ายศหรือเกียรตินั้นจะเป็นเหตุให้ประชาชนทั้งหลายตั้งใจสดับธรรมะที่เราประกาศ และตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมะนั้น ด้วยเหตุอย่างนี้ เราจึงควรปรารถนายศหรือเกียรติ อันนี้เป็นประโยชน์ขั้นที่ ๒ หมายความว่า คนที่เป็นชาวพุทธเมื่อได้ลาภ ได้ยศ ได้เกียรติ ได้อำนาจ ก็มองยศ มองเกียรติ มองอำนาจ ในฐานะสิ่งที่จะมาเป็นสะพาน เป็นสิ่งเอื้ออำนวยให้ทำความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์ได้มากยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้เราเอาความดีความสามารถของเรานั้นไปช่วยเหลือผู้อื่น ให้ประโยชน์มันแผ่กว้าง เพราะธรรมดาคนเราแม้จะมีความดีงาม มีความสามารถ แต่ถ้าไม่มียศ ไม่มีเกียรติ ไม่มีอำนาจ มันก็ทำความดีทำประโยชน์ได้ในขอบเขตจำกัด แต่ถ้าเกิดได้ยศ ได้เกียรติ ได้อำนาจแล้ว ความดีงาม ความสามารถของตนนั้นก็มีช่องทางที่จะได้แผ่ขยายกว้างขวางออกไป คนที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะทำอะไรก็ตาม มองกิจกรรมแต่ละอย่างมองให้ทะลุว่ามันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๓ ขั้น ถ้าได้อย่างนี้ละก็มันก็จะถูกหลักชาวพุทธ เป็นการนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ถ้าไม่มองอย่างนี้ เวลาได้ยศ ได้เกียรติ ได้อำนาจ มันก็อาจจะมองในแง่ว่าเป็นสิ่งที่จะมาช่วยให้เรามีโอกาสมากขึ้น มีช่องทางมากขึ้นในการที่จะแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว หรือจะบำรุงบำเรอตนให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพียงแค่นี้เราก็สามารถนำเอาธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงทำอะไร ก็จะทรงมองอย่างนี้ เช่นพระพุทธเจ้า ตามปกติจะปลีกพระองค์เข้าไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัด อยู่ในป่าเป็นบางครั้งบางคราว พระองค์ตรัสว่าที่ทรงทำเช่นนี้เพราะทรงเห็นประโยชน์สองประการ ประการที่ ๑ คือ เล็งเห็นการอยู่สบาย เป็นการพักผ่อนของพระองค์เองในปัจจุบัน ประการที่ ๒ เพื่ออนุเคราะห์ชุมชนผู้จะเกิดมาภายหลัง คือเป็นตัวอย่างที่ดีไว้ ส่วนประโยชน์อันเป็นปรมัตถ์ ก็คือการที่พระองค์ได้มีจิตหลุดพ้นอยู่แล้วเป็นธรรมดา จึงไม่ต้องพูดถึงอีก ถ้าจะทำอะไรมองประโยชน์ได้ทั้ง ๓ อย่างนี้ แล้วมันจะทำให้เราเอาธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ แม้แต่การที่จะศึกษาเล่าเรียนอะไรก็มองประโยชน์ทั้ง ๓ อย่าง ถามตัวเองว่าเราจะศึกษาเล่าเรียนไปเพื่ออะไร ตอบว่าอย่างที่ ๑ เราเรียนสำเร็จไปแล้ว เราก็จะได้มีอาชีพการงาน มีปัจจัย ๔ เลี้ยงชีวิตของตนเอง รับผิดชอบตนเองได้ เป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ อย่างที่ ๒ เราสามารถจะใช้ความรู้วิชาการที่ได้เล่าเรียนมา ใช้ตำแหน่งหน้าที่ที่มีอยู่เป็นฐานหรือเป็นอุปกรณ์ที่จะทำงาน ทำความดี บำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม นี่มองในแง่สัมปรายิกัตถะ แล้วในเวลาเดียวกันมองเป็นปรมัตถ์ว่า เราจะต้องทำจิตใจของเราให้เป็นอิสระ ไม่ติดอยู่ในลาภผล ไม่มัวเมาเกียรติยศที่เราได้มานั้น และพยายามทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส ให้บริสุทธิ์เบิกบานอยู่เสมอ อย่างนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง หรือจะมองแบบที่รู้จักกันมาก คือ เอาศีล ๕ เป็นหลัก อย่างนี้ก็ใช้ได้ ถ้ามองในแง่ศีลก็คือ มองในแง่การไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ถ้าจะใช้ศีลเป็นหลักเราก็ควรจะมีสติ เวลาจะทำการอะไรก็สำรวจตัวเองอยู่เสมอว่า ที่ทำครั้งนี้เป็นการเบียดเบียนคนอื่นหรือไม่ เป็นการบำรุงบำเรอตนเองเกินไปหรือไม่ เป็นการเกื้อกูลแก่ผู้อื่นหรือเปล่า สำรวจตนเองเป็นขั้นๆ ถ้าสำรวจแล้วเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบก็หยุดเลิกเสีย หรือเห็นว่าเราไม่ได้เอาเปรียบ แต่เกิดได้เปรียบขึ้นมาทั้งที่เราไม่ต้องการจะเอาเปรียบ คือมันอยู่ในฐานะได้เปรียบอย่างนั้นเอง ถ้าอย่างนี้เราก็ต้องหาทางทำอะไรบางอย่างเพื่อผู้อื่น ให้มันคุ้มกับการที่เราได้เปรียบนั้น ถ้าเราตั้งสติอย่างนี้ เราก็จะนำเอาธรรมะมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ อันนี้อาตมาเสนอไว้เป็นตัวอย่าง

เอาละรู้สึกว่าเวลาได้ล่วงเลยไปมากแล้ว ขอก้าวเลยไปสู่ข้อเสนอที่ ๒ คือ ชาวพุทธจะต้องเป็นชาวพุทธตามหลักการของชาวพุทธ ซึ่งเป็นผู้ปรุงแต่งสังคมไปในทางที่ดีงาม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผลผลิตของสังคมเท่านั้น การที่จะเป็นตัวปรุงแต่งหรือพลังปรุงแต่งสังคมได้ ชาวพุทธจะต้องมีความก้าวหน้าในความเป็นชาวพุทธ ความเป็นชาวพุทธก็มีเป็นขั้นๆ ขั้นต้นคือยังเป็นโลกียปุถุชนๆ นี้ ทำอะไรยังคำนึงถึงผลตอบแทน อย่างนึกถึงว่าถ้าเราจะทำความดีสักอย่าง เราจะได้อะไรตอบแทน เราจะได้มีลาภมากขึ้น เราจะได้ร่ำรวย ตลอดถึงว่าเราจะได้ไปเกิดในสวรรค์ หรือจะไปเกิดในที่ดีอะไรทำนองนี้ ขั้นสูงขึ้นไป คือเป็นอริยสาวก ถ้าเป็นอริยสาวกขั้นโสดาบัน เราก็รู้อยู่แล้วตามหลักว่าพระโสดาบันนั้น ถึงไม่ทำบุญทำความดีอะไรอีกก็ได้ไปสวรรค์แน่ แต่ทำไมท่านจึงได้ทำบุญกุศลกันนัก ท่านเคยคำนึงเพื่อจะได้ไปสวรรค์ เพื่อได้ลาภยศหรือเปล่า ก็เปล่าทั้งนั้น ท่านทำความดีเพราะท่านรักธรรม รักที่จะทำดี ทำให้ชีวิตนี้มีสิ่งดีงามเพิ่มพูนขึ้น มีความก้าวหน้าทางธรรม ต้องการให้ความดีงามหรือธรรมแผ่ขยายออกไปในสังคม เพื่อให้คนทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้นในธรรม เพราะฉะนั้น ลักษณะการทำบุญจึงเปลี่ยนไป เปลี่ยนจากการทำบุญเพื่อหวังประโยชน์ตอบแทนแก่ตนที่จะได้ไปเกิดที่ดีในชาติหน้า เพื่อจะได้ลาภได้ร่ำรวย เปลี่ยนเป็นว่าทำบุญเพราะมีความรับผิดชอบต่อศาสนา ทำบุญเพื่อว่าจะได้สนับสนุนผู้ที่ปฏิบัติธรรม ให้ท่านปฏิบัติธรรมได้ดีขึ้น ทำบุญเพื่อนำธรรมไปเผยแพร่ความดีงามจะได้เพิ่มมากขึ้นในสังคม ถ้าชาวพุทธเราก้าวหน้าไปสู่ขั้นนี้ มันจะช่วยเปลี่ยนชะตากรรมของสังคมไปในตัว เพราะพื้นฐานทัศนคติมันเปลี่ยนไปแล้ว การกระทำมันจะพลอยเดินไปเอง หากยังทำให้สมบูรณ์ไม่ได้ ก็เอามาสลับกัน เช่น ทำบุญวันหนึ่งมองในแง่ต้องการผลตอบแทนเช่นโชคลาภแก่ตัวเราเอง ทำบุญอีกวันหนึ่งมองในเเง่ความรับผิดชอบต่อศาสนาบ้าง หรืออย่างน้อยก็มองพร้อมกันไปทั้งสองแง่เลย ค่อยๆ ทำอย่างนี้ก็ได้ บางทีมันจะเกิดประโยชน์มากขึ้น ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางจริยธรรมขั้นหนึ่ง และสำหรับปุถุชน ความก้าวหน้าอย่างนี้ต้องอาศัยความเข้มแข็งทางจริยธรรมด้วย ขณะนี้หลายท่านพูดกันว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน คนขาดความกล้าทางจริยธรรม และเป็นอย่างนี้กันมาก อาตมภาพอยากเสริมอีกอย่างหนึ่ง คือความเข้มแข็งทางจริยธรรม ความกล้าทางจริยธรรมก็สำคัญ เราขาดกันมาก แต่นอกเหนือจากนั้น เรามักขาดอีกอย่างหนึ่ง ขอยกตัวอย่างเช่นบางคนทำความดี ทำไปได้ครึ่งๆ กลางๆ หรือทำไปได้สักนิดหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่าเราทำดีไม่ได้ดี ก็เลยหยุดเลิกหรือท้อถอยเสีย อย่างนี้เรียกว่าขาดความเข้มแข็งทางจริยธรรม การที่เราจะเข้มแข็งทางจริยธรรมได้ เราจะต้องมีความรักธรรม พระพุทธเจ้าสอนเน้นธรรมะไว้ข้อหนึ่งว่าเป็นธรรมสำคัญมาก คือกุศลธรรมฉันทะ แต่เราไม่ค่อยเอามาพูดกัน พระองค์ตรัสว่า กุศลธรรมฉันทะเป็นสิ่งหนึ่งที่หาได้ยากในโลก กุศลธรรมฉันทะ คือฉันทะในกุศลธรรม หรือเรียกง่ายๆ ว่าฉันทะในธรรม หมายถึงความรักธรรม รักความจริง ความดีงาม รักสิ่งที่ถูกต้อง เช่นถ้าเรารักชีวิตของเราด้วยธรรมฉันทะ เราก็ต้องการให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ชีวิตมีความดีงามยิ่งขึ้น หรือเรามีธรรมฉันทะต่อสังคม เราก็ต้องการให้ความดีงามแผ่ขยายไปในสังคม ต้องการให้มีคนทำความดีกันมากขึ้น ต้องการให้สังคมมีความอยู่ร่วมกันด้วยดี มีความเรียบร้อยสงบสุข ถ้าเรามีความรักอันนี้แล้วเวลาทำบุญ ความรู้สึกที่จะหวังผลตอบแทนก็จะหายไป เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าเรามาเน้นมาห่วงกันมากในเรื่องที่ว่าทำดีได้ดี ทำดีไม่ได้ดี ไม่ค่อยเน้นกันในเรื่องความมั่นคงทนทานในการทำดี ทีนี้ทำดีไม่ได้ดี ทำดีได้ดี ชนิดที่เน้นที่ห่วงกันนั้น ก็มักมาเล็งที่ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ตนเท่านั้น เรื่องนี้ควรทำความเข้าใจกันสักหน่อย ผลดีที่ว่าทำดีได้ดี หรือไม่ได้ดีนี้ ผลดีมีสองอย่างคือ ผลดีตามธรรมชาติตามกฎธรรมดาของมัน กับผลดีในทางสังคม ทีนี้ผลดีที่เรามองกันมากก็คือผลดีขั้นสังคม ผลดีทางสังคมเป็นผลดีที่สังคมบัญญัติ สิ่งที่สังคมบัญญัติขึ้นนี้ไม่แน่นอน ต้องขึ้นอยู่กับสภาพสังคมส่วนใหญ่และความนิยมตามกาลเวลา พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วถ้าสมัยไหนสังคมเสื่อม มีคนไม่ดีมาก คนที่ไหนเขาจะมาช่วยเหลือ หรือมาเอาใจใส่เชิดชูยกย่องตอบแทนคนดี ฉะนั้น ในสมัยที่สังคมเสื่อมถอย คนไม่ดีมีในสังคมมาก คนดีก็ย่อมอับเฉา8 นี่ว่ากันตามหลักที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ถ้าพระพุทธเจ้าจะมัวมาเล็งถึงผลดีตามนิยมของสังคม หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ก็ไม่มี พระพุทธเจ้าก็บำเพ็ญบารมีไม่ได้ พระพุทธเจ้าทำความดีพระองค์ไม่มัวมาเล็งถึงผลตอบแทน ที่มองกันว่าจะได้ลาภ ได้ยศ ได้อะไรอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้เล็งอย่างนี้จึงบำเพ็ญบารมีได้ บางทีพระองค์ทำความดีแล้ว เขากลับเอาพระองค์ไปฆ่า ไปแกงอะไรทำนองนี้ก็ได้ โลกต้องการคนดี มิใช่เพื่อให้มารับรางวัล แต่เพื่อมาช่วยทำชีวิตและสังคมให้มันดี ผลดีที่แท้ตามธรรมดาธรรมชาติ ก็คือตัวธรรมตัวกุศล ได้แก่ความดีงามของชีวิต ของสังคม การบรรลุธรรมบริสุทธิ์ ความหลุดพ้นหรือโพธิญาณ การที่จะมองเห็น และดำรงอยู่เพื่อผลดีในขั้นนี้ได้จะต้องมีความเข้มแข็งทางจริยธรรม สมัยก่อนนี้ในคัมภีร์ก็มีเล่าอยู่เสมอ เราก็ได้ยินกันแต่เราไม่ได้คิด หรือมองข้ามกันไปเสีย สมัยก่อนนี้ท่านทำความดีจนกระทั่งพระอินทร์อาสน์ร้อน ท่านทำความดีไม่ได้หวังพึ่งและไม่ได้ขอร้องให้เทวดามาช่วยเหลือ ทำความดีด้วยตัวของท่านเองไม่ยอมท้อถอย จะมีอุปสรรคอย่างไร จะมีใครมากลั่นแกล้ง ก็ไม่ยอมหยุดเลิก ทำจนกระทั่งว่าพระอินทร์ทนอยู่ไม่ได้ ก็ต้องมาช่วยเอง แต่สมัยนี้เรายังไม่ทันทำความดี พอจะเริ่มทำก็ขอร้องเทวดาเสียก่อนแล้ว ยิ่งกว่านั้นบางทียังอ้อนวอนขอเอาผลอย่างเดียวโดยไม่ต้องทำเลย มันกลับกัน นี่แสดงว่าเราไม่มีความเข้มแข็งทางจริยธรรม คนที่จะทำความดีด้วยเหตุผลของตนเองและทนทำเรื่อยไปไม่หวั่นไหว จนกระทั่งพระอินทร์อาสน์ร้อนแทบจะไม่มีแล้ว มีแต่คนที่จะขอผลโดยไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อเรากระทำอย่างนี้เราต้องนึกว่าเราอาจจะทำให้เทวดาเสียคน (ที่ถูกเป็นเสียเทวดา) เทวดาส่วนมากก็เป็นปุถุชน โดยเฉลี่ยแล้วเทวดาท่านจะมีความดีสูงกว่ามนุษย์บ้าง นี้ว่าโดยเฉลี่ย แต่ถ้าว่าโดยระดับแล้วก็พอๆ กัน เป็นพวกกามาพจรเหมือนกัน ทีนี้เทวดาท่านเป็นปุถุชนท่านก็ยังมีกิเลส เราไปคอยแต่อ้อนวอนบวงสรวงเซ่นสังเวยท่านบ่อยๆ ท่านก็อาจจะติดใจ อาจจะเคยตัว อาจจะมัวเมา ต่อไปเราจะได้แต่เทวดาที่ชอบเครื่องเซ่นสังเวยมา เทวดาที่ดีคอยจะช่วยคนดีจะหายสูญไป เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง เราจะพลอยทำให้เทวดาเสียด้วย โลกสวรรค์จะพลอยมอมแมมตามโลกมนุษย์ไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องของความเข้มแข็งทางจริยธรรม ขอผ่านไปก่อน

ต่อไปข้อเสนอที่ ๓ เกี่ยวกับพระสงฆ์ อาตมภาพคิดว่าจะต้องให้พระสงฆ์คงภาวะเป็นผู้นำทางปัญญา และคุณธรรมไว้ และความเป็นผู้นำของท่านนี้ จะต้องเป็นไปในลักษณะที่ว่า ให้พุทธจักรเกื้อกูลแก่อาณาจักร เท่าที่ถูกต้องตามธรรมวินัย แต่เดิมมาสถาบันพระสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องควบคุมทางสังคม และในสมัยโบราณสถาบันสงฆ์หรือพระสงฆ์ได้เป็นเครื่องเชื่อมระหว่างราชกับราษฎร์ ราชอย่างแรกหมายถึงราชา คือพระเจ้าแผ่นดิน ราษฎร์ที่สองคือราษฎร หรือประชาชนพลเมือง พระเป็นเครื่องเชื่อมราช-ราษฎร์ทั้งสองไว้ ปัจจุบันก็ต้องเชื่อมเหมือนกันคือ เชื่อมรัฐกับราษฎร์ หรือฝ่ายปกครองกับราษฎร เชื่อมในทางที่จะให้เป็นประโยชน์ เกิดความสุขแก่ส่วนรวม ให้เชื่อมกันได้ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านขึ้นไป เดี๋ยวนี้พระสงฆ์ก็ยังมีส่วนช่วยเชื่อมอยู่ แต่การเชื่อมนั้นเป็นประโยชน์ได้เท่าที่ควรหรือไม่ นี่แหละเป็นปัญหา ดังได้กล่าวมาแล้วว่าภาวะผู้นำของพระสงฆ์ในชนบท อยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง (ความจริงก็น่าเป็นห่วงหมดทั้งคณะสงฆ์) และถ้าหากเรายังยอมรับความจริงที่เป็นอยู่ว่า ในชนบทพระสงฆ์ยังต้องเป็นผู้นำชุมชน เพราะถึงท่านจะไม่เป็น ชาวบ้านก็บังคับให้ท่านเป็น เมื่อท่านต้องเป็นอย่างนี้ เราต้องหาทางช่วยกันให้ท่านเป็นผู้นำที่มีประโยชน์ ช่วยสังคมได้ในทางที่ดีงาม น่าเป็นห่วงว่าขณะนี้พระสงฆ์กำลังหมดฐานะลงไปทุกที อย่างที่อาตมภาพพูดแล้วว่า ในชนบทนั้นพระที่มีอยู่ไม่สามารถนำ เขาก็ให้ท่านนำ ส่วนพระที่จะนำในชนบทได้ก็มาอยู่เสียในเมือง ซึ่งท่านยังไม่พร้อมพอที่จะนำและเขาก็ไม่ได้ต้องการให้ท่านนำ มันก็เลยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย อันนี้ขอผ่านไปก่อน

ข้อเสนอต่อไปก็มาถึงอุบาสกอุบาสิกาบริษัท คือชาวพุทธฝ่ายชาวบ้าน คราวนี้จะต้องช่วยกันปลุกขึ้นมาให้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง และแบ่งงานกับพระสงฆ์ให้ถูกต้อง ขณะนี้เมื่อเราบอกว่าเกิดความเสื่อมและจะฟื้นฟูพุทธศาสนากัน เราเร่งให้พระสงฆ์หันมาทำงานอะไรหลายอย่าง ทั้งๆ ที่บางอย่างตามหลักควรเป็นภาระของฝ่ายญาติโยมฆราวาส อุบาสกอุบาสิกาบริษัท แต่พระสงฆ์ต้องทำในระยะนี้ก็อาจจะถือว่าเป็นภาระชั่วคราว ในตอนที่กำลังจะเริ่มฟื้นฟูกัน ยังใหม่อยู่ จะต้องทำอย่างนั้น แต่ต่อไปต้องขอให้อุบาสกอุบาสิกามาช่วยกันรับภาระนี้ไป เวลานี้ถ้าเรายอมรับว่าอุบาสกอุบาสิกาบริษัทแหลกสลายหรือล้มฟุบไปแล้ว ก็ต้องเริ่มด้วยการชุบชีวิตหรือตั้งอุบาสกอุบาสิกาบริษัทนั้นขึ้นมาใหม่เสียก่อน การจะตั้งอุบาสกอุบาสิกาบริษัท ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติตามหลักการให้พุทธศาสนามาอยู่ที่ตัวของเราเอง แล้วทำความดีหรือทำบุญอย่างผู้มีความรับผิดชอบมีธรรมฉันทะ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็จะมีกลุ่มชาวพุทธที่เข้มแข็งทำงานของพุทธศาสนาได้ พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ก็กลายมาเป็นส่วนที่รับผิดชอบ สมตามพุทธพจน์ที่บอกว่าให้บริษัท ๔ รับผิดชอบต่อความเจริญของพุทธศาสนาด้วยกัน ไม่ใช่ฝากไว้ที่วัดให้พระสงฆ์อย่างเดียว

ทีนี้ต่อไปอีกข้อหนึ่งก็คือว่า ชาวพุทธอย่าอยู่กันอย่างสับสน ปล่อยอะไรต่ออะไรไปตามเรื่องตามราว อย่างที่เรียกกันว่าตามยถากรรม ในสังคมของเราทางด้านพุทธศาสนา มีอะไรบางอย่างที่ควรจะตกลงกันให้แน่นอน สังคมพุทธไทยควรจะมีรูปร่างเป็นอย่างไร ควรตกลงกันให้แน่ ตัวอย่างเช่น เดี๋ยวนี้ชาวพุทธในกรุงในเมือง บางทีต่อว่าพระที่บวชมาแล้วสึกไปว่าบวชมาทำไม มาเรียนหนังสือเอาเปรียบชาวบ้านแล้วสึกไปทำมาหากินแย่งอาชีพชาวบ้าน อะไรทำนองนี้ การพูดมาว่าไปอย่างนี้เป็นการกระทำที่ผิวเผินเหลือเกิน ซึ่งน่าจะแก้ไขปรับปรุง เราควรจะศึกษากันให้ลึกซึ้งลงไปว่า เหตุในเรื่องนี้เป็นอย่างไร พระท่านเป็นอย่างไร เหตุใดจึงมาเรียนและต้องสึกไป ไม่ควรอยู่เพียงแค่มาว่ากัน ถ้าเราเข้าใจเหตุผลแล้ว มาตกลงกันให้แน่ว่าจะเอาอย่างไร แล้วแก้ไขไปตามนั้น มิฉะนั้นสังคมไทยจะอยู่เพียงในระดับของการซัดกันไปซัดกันมา ด่ากันไปด่ากันมา หรืออย่างดีก็เป็นแค่นักปรับทุกข์ แก้อะไรก็ไม่ได้ ถ้าเป็นกันอยู่อย่างนี้ น่ากลัวว่า แม้จะไปมีอุดมคติมีอุดมการ ก็จะได้แต่อุดมคติอุดมการที่ฟ่ามๆ พองๆ การมีอุดมคติมีอุดมการเป็นสิ่งที่ดี น่ายกย่องสรรเสริญ แต่อุดมคติหรืออุดมการอย่างเดียวไม่พอ จะต้องปฏิบัติการด้วยความรู้ความเข้าใจด้วย จะเป็นเรื่องที่น่าสงสารถ้าปฏิบัติการด้วยอวิชชา ถึงแม้จะมีอุดมคติมีอุดมการก็ตามที ตอนนี้เรายังไปไม่ค่อยถึงขั้นทำกันหรอก ยังมักอยู่กันขั้นพูด และแม้แต่ขั้นพูด ก็พูดกันพอผ่านๆ โดยรู้สิ่งที่พูดอย่างผิวเผิน อย่างเรื่องว่าพระที่พูดมานี้เป็นต้น เราไม่ค้นหาเหตุให้เห็นชัดว่าทำไมพระท่านมาบวช บวชแล้วมาเรียนหนังสือ เรียนแล้วสึกไป เป็นเพราะอะไร รูปแบบและสภาพสังคมส่วนโน้นส่วนนี้ของเรา มันเป็นอย่างไรแน่ ลองมาดูกันสักนิด พระท่านมาจากไหน ก็มาจากลูกชาวบ้านนอกมาตามประเพณีบวชเรียนโบราณ ถ้าเราไม่ต้องการให้พระสึก ไม่ต้องการพระมาบวชแล้วสึก เราก็ควรจะไปเลิกประเพณีบวชเรียนสมัยโบราณเสีย ประเพณีที่ให้เด็กมาบวชโดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มาบวชตั้งแต่จบ ป. ๔ โดยยังไม่รู้เลยว่าพุทธศาสนาเป็นอย่างไร บวชแล้วตัวเองจะเป็นไปอย่างไร บวชแล้วก็เรียนไปตามทางเดิมที่มีอยู่ตามที่คนก่อนๆ เขาเดินกันไป คือถือว่าเอาคนมาบวชตามประเพณี บวชสึกได้ตามชอบใจ เขาจะอยู่ได้แค่ไหนก็ช่าง แต่เราฝึกให้ดีขึ้นบ้างก็แล้วกัน อยู่ไม่ได้ก็สึกไป อย่างน้อยเขาก็คงเป็นพลเมืองดี ถ้าคนไหนเรากล่อมเกลาให้มีอุปนิสัยอยู่ได้ก็อยู่ต่อไป กลายเป็นพระผู้ใหญ่รับผิดชอบพระศาสนา เรามีประเพณีนี้มา ประเพณีนี้เป็นของเก่า เอาวัดและกาสาวพัสตร์เป็นทั้งที่ฝึกพระและฝึกคน คือเป็นทั้งที่สร้างผู้สืบศาสนาและสร้างพลเมืองดี แต่ในปัจจุบันนี้มีระบบการศึกษาของรัฐ มาแยกเอาคนส่วนชั้นบนของสังคมออกไปส่วนหนึ่ง ปล่อยคนส่วนชั้นล่างส่วนหนึ่งให้เดินตามระบบเดิมต่อไป เสร็จแล้วเวลาพระที่มาตามระบบโบราณสึกไปเราก็ว่าเอาๆ นี่เรากำลังทำผิดคือ ประเพณีบวชเรียนเก่าเราก็ยังไม่เลิก แต่เราจะไปกักพระไว้ กักพระไว้วิธีนี้ไม่ถูก ทำให้พระจำใจอยู่ จำใจอยู่นี้มีโทษมาก สำหรับอาตมภาพนั้นเห็นว่าถ้าประเพณีบวชเรียนเก่ายังอยู่ ถ้าเรายังคงไว้ สังคมยังปล่อยปละละเลยเราก็ต้องยอมให้ท่านสึกอย่างเต็มที่ ใครสึกได้สึกไป อยู่ไม่ได้จะสึกหมดก็ช่างปะไร ถ้าเณรพูดบ้างว่าฉันถูกสังคมนี้ทั้งหลอกทั้งบีบให้มาบวช อยู่ให้แค่นี้ก็ดีถมไป เราจะเอาอะไรไปเถียงเณร อย่างดีก็ได้แค่ประนีประนอม ขอเงื่อนไขว่า ก่อนจะไปขอให้ดีขึ้นบ้างและไปดีก็แล้วกัน นี่แหละเรื่องทำนองนี้เป็นสิ่งที่ควรศึกษาให้รู้เข้าใจเหตุผล เมื่อรู้เข้าใจแล้ว อย่างน้อยถ้ายังไม่แก้ไขไม่ทำอะไร ก็ยังจะได้ก้าวหน้าดีขึ้นอีกนิด คือแทนที่จะวิจารณ์บ่นว่าพระบวชเรียนแล้วสึก ก็อาจจะเลื่อนขั้นไปวิจารณ์บ่นว่าประเพณีโบราณของไทยและพฤติกรรมของชาวไร่ชาวนา ตาสีตาสาบ้านนอก แต่ถ้าจะแก้ปัญหาจริงจังก็ต้องมาตกลงตัดสินใจกัน สังคมพุทธจะต้องกำหนดเอากันให้แน่ ประเพณีบวชเรียนจะเอาไว้หรือไม่เอา ถ้าไม่เอาก็จัดการเลิกล้มมันเสียให้เสร็จสิ้น แต่อันนี้เอาเข้าจริงเวลานี้ก็ได้แค่พูดเท่านั้น ทำไม่ได้ ในปัจจุบันเราอยากเอาไว้หรือไม่เอา ก็ไม่มีทางเลือก มันต้องอยู่เพราะเหตุปัจจัยอื่นยังซ้อนอยู่อีกขั้นหนึ่ง ทีนี้ในเมื่อมันยังต้องมีอยู่เราก็ควรยอมรับความเป็นจริง ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง เอาไปจัดแก้ไขปรับปรุงวางรูปร่างให้ถูกต้อง ปัญหาปัจจุบันก็คือว่าเราเพียงแต่เห็นว่ามันมีอยู่เราไม่ชอบใจ แล้วก็ว่ากันไป แต่เราไม่ได้ใส่ใจที่จะศึกษาให้รู้ชัดและปฏิบัติอย่างไรให้แน่นอน

ต่อไปก็เรื่องในระดับบริหารกิจการพระศาสนา การที่จะสร้างพระสงฆ์ให้มีความเป็นผู้นำในทางปัญญา และในทางคุณธรรมได้ การศึกษาหรือศาสนศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องถือเอาการศึกษาเป็นหลัก เป็นนโยบายใหญ่ที่สุดของการพระศาสนา รวมทั้งถือเป็นรากฐานของการปกครองคณะสงฆ์ ขณะนี้รู้สึกว่าจะถือการปกครองเป็นหลักใหญ่ และเป็นเรื่องต่างหากจากการศึกษา ที่จริงนั้นในฝ่ายพระศาสนา การศึกษาเป็นรากฐานของทุกอย่าง ทั้งของการปกครองและของกิจการที่เราจะทำทุกอย่างด้วย แต่ก่อนนี้สร้างเสนาสนะในวัดเช่นเราสร้างกุฏิเพราะอะไร เพราะจะให้พระอยู่ คือลูกหลานชาวบ้านจะได้มาบวชมาเล่าเรียนศึกษา เขาจะได้เป็นคนดีของสังคมต่อไป เดี๋ยวนี้เราสร้างโบสถ์สร้างวัด สร้างเสนาสนะ สิ่งก่อสร้างในวัด แต่สภาพศาสนศึกษาเสื่อมโทรมลงไปหรือหายไปเสียแล้ว ตอนนี้เวลาสร้างก็เลยไม่รู้ว่าสร้างไปทำไม เราก็เลยสักแต่ว่าสร้าง ถ้าว่ากันจริงๆ ชักบอกไม่ถูกว่าจะสร้างกันทำไม ก็เลยสร้างกันในเเง่ให้วัดสวยงาม ให้วัดนี้ดีกว่าวัดโน้น หรือว่าวัดฉันสวยกว่าวัดท่าน หรือวัดนี้เจริญกว่าวัดโน้น ตลอดกระทั่งในแง่ของการทำบุญก็อาจจะมองไม่เห็นบุญด้านที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน เลยจัดไปสัมพันธ์ได้เฉพาะกับบุญด้านที่เป็นประโยชน์ชาติหน้า คือการไปเกิดในสวรรค์อย่างเดียว ซึ่งความจริงตามหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสถึงผลดีของการทำบุญ จะตรัสในแง่เป็นเหตุเป็นผล เป็นกฎธรรมดา ว่าเมื่อทำบุญแล้วจะมีผลดีอะไรบ้าง ตรัสผลดีในชาตินี้ไป ๔-๕ ข้อ แล้วสุดท้ายจึงตรัสว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกจะได้ไปสุคติโลกสวรรค์ ก็ตรัสไปตามเหตุตามผล ตามกฎธรรมดาคือ เรารู้ไว้แล้วเกิดความมั่นใจ เพราะไม่จำเป็นต้องไปปรารถนาก่อนทำบุญ เมื่อทำบุญไปตามเหตุผลแล้ว ทำบุญเสร็จไปแล้วก็เป็นผู้มีสิทธิ์ไปเอง ถ้าอยากปรารถนาก็มีสิทธิปรารถนาได้ การที่จะไปได้หรือไม่ได้ก็เป็นไปตามกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล แต่ปัจจุบันนี้เราไม่ค่อยมีประโยชน์ปัจจุบันเอาไว้มอง เมื่อมองไม่เห็นประโยชน์ปัจจุบัน มันก็เลยต้องไปเน้นการปรารถนาหรือการหวังผลชาติหน้า แต่ก่อนนี้เวลาจะทำงานบุญอะไร ประโยชน์ในปัจจุบันที่กำลังจะทำ เป็นอันว่ารู้แก่ใจกันดีอยู่แล้ว เพราะเราทราบว่าวัดนั้นเป็นศูนย์กลางของชุมชน กิจการส่วนรวมไม่ว่าอะไรก็มาทำที่นั้น กุฏิที่สร้างให้พระเณรอยู่ ก็คือให้ลูกหลานชาวบ้านมาบวชอยู่เล่าเรียนกัน คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ปู่ย่าตายาย ก็ได้มาอยู่กุฏิหลังนี้ มาบวชเรียนหมุนเวียนกันไป แต่ในปัจจุบัน การก่อสร้างมองไม่ค่อยเห็นประโยชน์ด้านนี้ เพราะการศึกษาลดความสำคัญลงไป หรือถึงกับเลือนหายไปจากวัดส่วนมาก เมื่อการศึกษาเสื่อมไป ความสัมพันธ์ระหว่างพระผู้ใหญ่กับพระผู้น้อยก็ผิวเผิน หรือเป็นไปในทางแผดเผาตามแบบของอำนาจ ไม่เยือกเย็นจูงใจ ความสัมพันธ์นั้นก็เสื่อม การปกครองก็เรรวน กิจกรรมกิจการต่างๆ ขาดความหมายที่เป็นรากฐาน ก็คลาดเคลื่อนไขว้เขวเฉไปนอกทาง ในการแก้ไขนอกจากต้องถือการศึกษาเป็นกิจการใหญ่เป็นรากฐานแล้ว ศาสนศึกษาจะต้องมีนโยบาย มีจุดมุ่งหมายเช่นว่าเราต้องการให้พระเป็นอย่างไร เป็นพระที่มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อพระศาสนาและต่อชาวบ้านอย่างไร ควรมีความสัมพันธ์แนวใดกับประชาชนในสภาพสังคมปัจจุบัน ควรเป็นพระที่ช่วยสังคมปัจจุบันอะไรได้ไหม มีจุดมุ่งหมายของพระสงฆ์อย่างหนึ่งที่ควรจะยกขึ้นมาเน้นพิจารณา คือมีหลักพุทธศาสนาบอกว่าพรหมจรรย์หรือพุทธศาสนานี้มี ‘พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย’ แปลว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน9 เราน่าจะต้องมาพิจารณากันว่าพระศาสนาในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถาบันสงฆ์ ได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน แค่ไหนเพียงไร หรือว่าขณะนี้จำกัดตัวเองอยู่ มองดูอะไรๆ พิจารณากิจการอะไรๆ อยู่แค่ภายในวัด เป็นอย่างนี้หรือไม่ เราจำกัดตัวเองแคบเกินไปหรือไม่ เราได้มองในแง่ประโยชน์สุขของพหูชนแค่ไหนเพียงไร ความรู้สึกจำกัดตัวนี้อาจเกิดจากความติดในรูปแบบด้วย เรามักมีความรู้สึกยึดมั่นผูกพันเกี่ยวกับความเก่าแก่ แล้วก็เลยติดในรูปแบบที่เข้าใจว่าเป็นของเก่าแก่ แต่บางทีก็น่าตั้งคำถามสำรวจตัวเองกันบ้างว่า ถ้ายังรักเก่าแก่นั้น ก็ต้องปรับให้ลงกับของเดิมแท้ด้วย เก่าแก่ใดเป็นเรื่องเพิ่มขึ้นมาภายหลังเพื่อสนับสนุนค้ำจุนหลักการเดิมแท้ เก่าแก่นั้นก็ควรพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะแก่กาลสมัย เพื่อให้เป็นเครื่องสนับสนุนที่ได้ผลจริง เรื่องการศึกษา และระบบการศึกษาก็รวมอยู่ในข้อพิจารณานี้ด้วย อันนี้เป็นข้อที่เกี่ยวกับสถาบันสงฆ์

ส่วนในด้านปัญญาชนหรือชนชั้นนำก็ได้พูดไปแล้ว ขอทบทวนเพียงว่า เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจสังคมของตนเองให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเมื่อพระศาสนายังมีอิทธิพลต่อสังคมเฉพาะในชนบท การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างคนชั้นนำหรือปัญญาชนขึ้น การศึกษาของเรานี้ควรเป็นการศึกษาที่ผลิตคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำได้จริง คือเป็นคนที่รู้จักสังคมไทย เป็นคนที่พูดกับชาวบ้านรู้เรื่อง อยู่กับชาวบ้านได้ เป็นคนที่ชาวบ้านเชื่อถือและนับถือจนนำชาวบ้านได้ ไม่ใช่เป็นการศึกษาที่แยกคนรุ่นใหม่ออกจากสังคมไทย ทำให้คนไทยกับคนไทยรู้สึกแปลกหน้ากัน แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ทำให้คนไทยเข้าใจกัน คนไทยกับคนไทยเข้าใจกัน และรู้เท่าทันคนนอก ไม่ใช่สร้างคนไทยที่ฝากใจกับคนข้างนอก แล้วเข้ามาแยกตัวกับคนข้างใน การศึกษาเป็นตัวบันดาลผลอันนี้ได้ ในหมู่นักการศึกษา คงยอมรับกันว่าการศึกษาเท่าที่เป็นมาได้มีส่วนแยกคนไทยออกจากสังคมไทยไม่น้อย เราจึงจะต้องพยายามสร้างคนไทยชั้นนำรุ่นใหม่ที่เป็นคนของสังคมไทยเองให้มานำชุมชนไทย

นอกจากนี้คงไม่มีอะไรจะพูดอีกมาก มีแต่เพียงว่าในสมัยปัจจุบัน ในเมื่อสถานการณ์อยู่ในยุคของความเปลี่ยนแปลง บางทีเรารู้สึกกันว่า พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในด้านพระสงฆ์มีเรื่องราวที่น่าเป็นห่วงมาก เราก็พยายามคิดแก้ไขปรับปรุง ในตอนนี้ผู้ที่ว่าปรารถนาดี อยากให้มีการปรับปรุงแก้ไข บางทีก็เลยไปถึงการด่าว่ากันรุนแรง อันนี้น่าจะต้องมีการขอร้องหรือติงๆ กันไว้บ้าง ธรรมดาผู้ที่จะด่าว่าคนอื่นนั้น ถ้าเป็นศาสนาเดียวกันก็คือผู้ที่เป็นครู อาจารย์ หรือเป็นศาสดา ศาสดาหรือครูอาจารย์ก็คือผู้ที่ลูกศิษย์ยอมให้ฝึกหรือมอบตัวให้ แล้วท่านจะตักเตือนว่ากล่าวเขาอย่างไรก็ได้ อาจจะรุนแรงเป็นดุด่าก็ได้ ถ้าไม่ใช่ศาสดาหรือครูอาจารย์ ผู้ที่จะด่ากันก็ต้องเป็นคนต่างลัทธิศาสนา เมื่อเป็นคนละลัทธิศาสนา ก็พยายามชี้แจงลัทธิศาสนาของตนเองว่า ของฉันเป็นอย่างนี้ ดีอย่างนี้ บางทีก็อาจลามปามไปว่ากล่าวด่าผู้อื่นไป แต่ถ้าหากว่าเป็นลูกศิษย์ศาสดาเดียวกัน มาด่าว่ากันแล้วก็กลายเป็นทะเลาะกัน และอันนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดี ในสภาพสังคมปัจจุบัน ในเมื่อชุมชนชาวพุทธเรามีเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก มีเรื่องที่ต้องช่วยกันทำหลายอย่าง บางคนอาจจะทำดีได้อย่างหนึ่ง บางคนอาจทำได้หลายอย่าง แต่ว่าทำดีให้จริงจังได้คนละอย่าง ก็ช่วยพระศาสนา ช่วยประเทศชาติได้มาก ใครค้นอะไรดีได้ก็เอามาบอกกล่าวแก่กันด้วยเมตตา ถ้าทำดีคนละด้านแล้วเอาดีคนละอย่างนั้นมาเสริมมาทบกัน มันก็อาจจะได้ประโยชน์มากขึ้น ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่าง ท่านมหาจุนทะเคยกล่าวไว้ มีพระพวกหนึ่งเป็นฝ่ายนักบำเพ็ญฌาน และอีกพวกหนึ่งเป็นพระชอบค้นคว้าธรรม ชอบแสดงธรรมเป็นพระธรรมกถึก ปรากฏว่าพระที่เป็นนักค้นคว้าแสดงธรรม ก็ติเตียนว่าพระที่เป็นนักบำเพ็ญฌานว่า ท่านพวกนี้วันๆ หนึ่งไม่ได้ทำอะไร เอาแต่นั่งเข้าฌานเพ่งจ้องนั่งซบเซาอยู่นี่ ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ ฝ่ายพระนักบำเพ็ญฌานก็โต้ว่า พวกพระที่เป็นนักค้นคว้าแสดงธรรมไม่ได้เรื่อง ปากกล้า ได้แต่พล่ามพูดไปวันๆ ไม่ได้ความอะไร แล้วท่านมหาจุนทะก็สอนว่า วิธีการนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน วิธีที่จะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชนก็คือ ฝ่ายพระนักบำเพ็ญฌานก็มานึกถึงพระที่เป็นนักค้นคว้าแสดงธรรม ว่าท่านเหล่านี้มีปัญญาเก่งแท้ สามารถวิเคราะห์เนื้อหา เข้าใจธรรมแตกฉาน เอามาพูดให้คนอื่นฟังได้อย่างนี้นับว่าเป็นคนหาได้ยาก ต้องถือว่าเป็นอัจฉริยบุคคล ฝ่ายพระที่เป็นนักค้นคว้าแสดงธรรมก็พูดถึงพระนักบำเพ็ญฌาน ว่าท่านที่สามารถเข้าฌาน สามารถสัมผัสอมตธรรม สิ่งล้ำลึกด้วยตัวของตัวเองได้อย่างนี้ เป็นผู้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องนับว่าเป็นอัจฉริยบุคคล โดยนัยนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็เอาสิ่งที่ดีงามของอีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาพูดกัน ท่านเรียกว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน ในตอนนี้เมื่อจะมีการฟื้นฟูพุทธศาสนา ชนชาวพุทธก็จะมีทางทำดีได้คนละอย่างสองอย่าง แล้วเอาดีนั้นๆ มาเสริมมาทบกันเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น แต่ว่าที่จริงก็น่าเห็นใจ ในระยะเวลาที่ประสบแต่เหตุการณ์ที่เราถือว่าเป็นสภาพเสื่อมโทรมอย่างมากมาย เราเห็นเรารู้สึกว่าอะไรที่มันไม่ดีไม่งาม เราก็อยากจะแก้ไขปรับปรุง ทีนี้พอเห็นอันนี้ก็ต้องแก้ไข อันนั้นก็ต้องปรับปรุง อันโน้นทำไมยังไม่ปรับปรุง อะไรๆ มากมาย บางทีก็ใจร้อนอยากจะให้เป็นอย่างใจ และบางกรณีก็เต็มที่จริงๆ จนน่าจะเหลืออด ก็เลยว่ากันรุนแรงหน่อย กลายเป็นด่าเป็นทะเลาะกันไป ซึ่งก็น่าเห็นใจ แต่ถ้าหากว่าสามารถสะกดใจและทำออกมาด้วยความเมตตากรุณา ก็จะดีขึ้นอีกขั้น เพราะในยามที่สังคมต้องการการปรับปรุงแก้ไขนี้ การเป็นคนดีที่น่าเห็นใจเท่านั้นไม่เพียงพอ เราต้องการคนดีชนิดที่จะนำคนไปในความดีงามโดยถูกทางด้วย

เรื่องคนดีที่น่าเห็นใจนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ให้เห็นว่า คนดีก็อาจก่อให้เกิดผลเสียหายได้เหมือนกัน การระวังตัวไม่ให้เป็นแต่เพียงคนดีที่น่าเห็นใจจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ทางพลาดของคนดีที่น่าเห็นใจมีหลายอย่าง นอกจากทำการด้วยจิตกระทบกระทั่งเมื่อปรับปรุงไม่ได้อย่างใจ หรือทำการด้วยความน้อยอกน้อยใจ เพราะถูกกดถูกบีบคั้นในการทำความดีแล้ว คนดีอาจทำดีอย่างอสัตบุรุษข้างต้น คือมีความดีหรือทำดีแล้วเกิดความหลงตัวเอง หรือแม้แต่ภูมิใจตัวเอง แล้วนึกเหยียดหยามดูถูกผู้อื่น เช่น เห็นว่าตนถือศีลและวัตรที่ดีกว่าพิเศษกว่าคนทั่วไป หรือเห็นว่าตนเป็นคนไม่หลงไหลงมงาย เมื่อมีเหตุต้องไปร่วมในพิธีกรรมของชุมชนที่เขาถือปฏิบัติยอมรับกันมา จิตก็มีแง่งอนแข็งกระด้างเป็นอกุศล บางทีก็อาจถึงกับแสดงอาการดูถูกเหยียดหยามออกมา ทำให้เข้ากันไม่ได้ แทนที่จะมองเขาด้วยท่าทีแห่งความเข้าใจกัน มีเมตตากรุณา เห็นเขาล้าหลังอยู่ ก็คิดในทางที่จะช่วยเหลือยกเขาขึ้นมาต่อไป แม้แต่คนดีมีอุดมคติก็มีทางเสียไม่น้อย การมีอุดมคตินั้นเป็นสิ่งที่ดีและไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ต้องอาศัยความเข้มแข็งมั่นคง และความใฝ่ดีอย่างแรงกล้า และปัญหาความเสื่อมโทรมต่างๆ ของสังคมปัจจุบันนี้ จะแก้ไขได้ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องอาศัยคนมีอุดมคติทำการกันอย่างแน่วแน่แข็งขันจึงจะแก้ได้ เราจึงชักชวนสนับสนุนกันนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ ให้เป็นคนมีอุดมคติ ยึดมั่นในอุดมการ คนมีอุดมคติจึงนับว่าเป็นคนดีมาก ควรเชิดชูยกย่องสรรเสริญ แต่กระนั้นก็อย่าประมาทคนดีมีอุดมคติก็ทำให้เสียได้ ทางเสียของคนดีมีอุดมคติก็คือการถืออุดมคติโด่ไว้ ยึดมั่นถือมั่นอย่างรุนแรง โลดแล่นไปด้วยอุดมคติอุดมการอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนอุดมคติหรืออุดมการนั้นกลายเป็นเครื่องจำกัดตัวให้แคบ เป็นเครื่องกีดกั้นปิดบังปัญญาของตนเอง ถ้ามองตามหลักพุทธศาสนา การยึดถืออุดมคติอุดมการยังอยู่เพียงในขั้นของศรัทธา ศรัทธาอาจเป็นไปอย่างงมงายก็ได้ อาจเป็นไปด้วยเหตุผลมีปัญญากำกับก็ได้ ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น การปฏิบัติที่ถูกต้องให้เกิดผลดีจะต้องประกอบพร้อมด้วยองค์ทั้งสาม คือศีล สมาธิ และปัญญา ตัวอุดมคติเองเป็นเรื่องในขั้นสมาธิ เกี่ยวด้วยความมีกำลังใจ ความแกล้วกล้า ความเข้มแข็งมั่นคงในคุณธรรมและต่อจุดหมายบางอย่าง คนมีอุดมคติจะต้องมีศีล คือมีศีลธรรมประพฤติตนตามหลักจริยธรรม และที่สำคัญที่สุดก็คือคนมีอุดมคติจะต้องใช้ปัญญากำกับอุดมคติหรืออุดมการของตนอยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่พิจารณาว่าอุดมคติหรืออุดมการที่ตนยึดถือไว้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามแท้จริง ไม่ถือเอาไว้เพียงด้วยความยึดมั่นถือรั้นงมงาย และต้องมองดูสิ่งอื่นๆ โดยรอบด้าน รู้จักรับฟังและหาความรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จากผู้อื่นและจากแง่มุมอื่นๆ เพื่อป้องกันความมีทัศนะคับแคบ และการที่อุดมคติหรืออุดมการจะกลายเป็นพลังในทางทำลาย หรือมีผลในทางลบ ตลอดจนคอยสำรวจตนเองทั้งในด้านเจตนาและการกระทำโดยทั่วไป ถ้าไม่ใช้ปัญญาคอยสำรวจพิจารณาอย่างนี้ บางทีคนดีที่มีอุดมคติก็กลายเป็นคนใจคับแคบ เช่นติดในรูปแบบของการทำดี เช่นแทนที่จะคิดเพียงว่า เราเป็นอยู่และทำงานอย่างนี้นับว่าได้เป็นผู้มีความเสียสละแล้ว แต่คิดนึกเลยไปว่า คนที่จะเรียกว่าเสียสละต้องเป็นอยู่ทำการอย่างเรานี้ หรือแบบนี้ใครไม่อยู่ไม่ทำอย่างนี้ ไม่เป็นคนเสียสละ เลยปิดปัญญาของตนไม่ให้มองเห็นลึกและศึกษาให้กว้างออกไปอีกว่า คนอื่นที่เขาเสียสละในรูปแบบอย่างอื่นๆ ที่เงียบๆ หรือมองภายนอกไม่ค่อยเห็นก็มี และเขาอาจเสียสละยิ่งกว่าเราหรือยิ่งกว่าแบบที่เรารู้จักนี้ก็มี

ตัวอย่างการมองให้หลายแง่เช่น เดี๋ยวนี้ เราชวนกันให้สนใจช่วยแก้ไขปัญหาแหล่งสลัมกันมากขึ้น และได้ขยายมาชวนแม้แต่พระสงฆ์ให้หันไปร่วมช่วยเหลือด้วย ใครไปช่วยทำงานบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาวสลัม เราต้องยอมรับว่านั่นเป็นความดี เป็นการกระทำของคนมีอุดมคติที่ควรยกย่องสรรเสริญมาก พระสงฆ์ที่ไปช่วยอย่างนั้นก็น่าอนุโมทนาสาธุ ควรจะไปช่วยกันให้มากขึ้น นี้เป็นความสำคัญของงานช่วยแหล่งสลัม แต่จุดพอดีก็คงมี ลองมองข้อพิจารณาจากอีกมุมหนึ่งมาประกอบหรือมาดุลย์กันไว้บ้าง อีกฝ่ายหนึ่งเสนอให้มองว่า พระสงฆ์ได้ทำงานเกี่ยวกับสลัมอย่างหนึ่งมานานแล้ว และก็กำลังทำอยู่ด้วยเป็นงานขอบเขตกว้างขวางมากพอสมควร แต่ทำแบบเป็นบทบาทแฝงเร้น ไร้สำนึก ไม่มีใครมองเห็น เป็นงานด้านป้องกันการเกิดขึ้นของสลัม ถ้าพระสงฆ์ทั้งหลายประดังกันไปช่วยงานแหล่งสลัมข้างนอกวัดกันมากไป จนถึงขั้นละทิ้งงานที่เป็นพื้นฐานเดิมของตนนี้เสีย แทนที่จะช่วยแก้ปัญหาสลัม อาจจะกลายเป็นการผลักดัน ให้เกิดแหล่งสลัมมากยิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นได้ ฉะนั้นนอกจากพระบางส่วนจะไปช่วยแหล่งสลัมแล้ว งานหลักด้านนี้ของพระน่าจะหันมารื้อฟื้นปรับปรุงงานป้องกันสลัมที่ตนทำอยู่แล้วนี้ให้มันดียิ่งขึ้น ว่ากันไปงานป้องกันหรือห้ามกำเนิดสลัมนี้ เป็นงานพื้นฐานระยะยาวที่ต้องทำเรื่อยไปและเหมาะกันกับพระดีด้วย

บางท่านตำหนิบทบาทของวัดที่ทำสืบๆ กันมาอย่างหนึ่งคือ การมีงานวัด และมีมหรสพต่างๆ ในวัด เอาเป็นหลักฐานชี้แสดงถึงความเสื่อมโทรมของวัด ว่าพระสงฆ์ปล่อยให้วัดเป็นที่สนุกสนานบันเทิง มาวุ่นวายกับเรื่องของชาวโลก เสื่อมจากสภาพที่เป็นสถานวิเวกสงัดของผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ฟังดูคำกล่าวว่านี้ก็น่าจะเห็นจริง แต่ฟังดูข้อเสนอจากอีกแง่มุมหนึ่งว่า พุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยได้ประสบความสำเร็จสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่นำคนเข้าสู่ธรรมหรือควบคุมทางศีลธรรมโดยสนองความต้องการของคนได้ทุกระดับจิตใจและทุกระดับวัย มีทั้งวัดป่าที่มุ่งจำเพาะความวิเวก มีทั้งวัดบ้านที่พระสงฆ์เกี่ยวข้องสงเคราะห์ชาวบ้านประจำวัน วัดเหล่านั้น ซึ่งยามปกติเป็นที่สงบสงัดกว่าบ้าน เป็นที่พวกผู้ใหญ่ไปมาปรึกษาพระและหาความสงบพักใจยามว่างอยู่เป็นประจำ ครั้นถึงเทศกาลก็กลายเป็นสถานบันเทิงมีการละเล่นเป็นที่สนุกสนาน ให้โอกาสแก่เด็กและคนหนุ่มสาว และคนที่ยังนิยมเริงรมย์ทางโลก พอได้ผ่อนคลายหรือได้สลับบรรยากาศ แต่ถึงแม้จะมีการละเล่นมหรสพสนุกสนานต่างๆ และแม้บางครั้งก็จะออกหยาบโลนเกินไปบ้าง แต่ในเมื่ออยู่ในวัด ใกล้พระ ก็ยังคุมๆ กันไว้ให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม นับว่าเป็นความฉลาดของบรรพบุรุษด้วยซ้ำที่เอามหรสพไปเล่นเสียในวัด ขอให้เทียบดูกับสมัยปัจจุบันนี้ ที่สถานเริงรมย์ต่างๆ มาอยู่นอกวัดสิว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ไปกันถึงไหน แม้ในวัดเองสมัยนี้การจัดงานก็หันไป เป็นทางการค้าอย่างข้างนอกเสียมาก ความหมายของงานวัดแบบเดิม ก็จึงเสื่อมทรามไป และการควบคุมทางศีลธรรมก็เลยพลอยเสื่อมไปด้วย จะอย่างไรก็ตาม คนสมัยนี้ที่เคร่งศาสนาก็ควรมีใจกว้างอย่างคนโบราณที่เคร่งศาสนา ซึ่งมีใจกว้างด้วยความเข้าใจสภาพรอบด้าน เป็นพื้นฐานด้วย

คนรุ่นใหม่ที่มีอุดมคติ บางทีก็นึกดูถูกคนรุ่นปู่ย่าตายายที่ทำบุญด้วยหวังจะไปสวรรค์ แต่บางทีลืมมองตัวเองว่าถ้าไม่ระวังให้ดี พวกตนก็อาจหลอกตัวเองหรือถูกหลอกด้วยอุดมคติอุดมการต่างๆ ที่ไม่ดีไปกว่าการหวังสวรรค์ของคนรุ่นคร่ำครึเหล่านั้นเลย บางทีพฤติกรรมของคนมีอุดมคติรุ่นโบราณ ก็อาจมีแง่ด้านที่เป็นบทเรียนให้แก่นักอุดมคติรุ่นปัจจุบันที่จะใช้สำรวจพิจารณาตนได้บ้าง อันนี้เป็นข้อที่น่าสนใจจึงนำมาเสนอกันไว้

อาตมภาพได้พูดมาเป็นเวลามากมายทีเดียว แต่ว่าได้ถามทางฝ่ายท่านผู้จัดก็ไม่ได้กำหนดเวลาอะไรแน่นอน ว่าจะต้องยุติเมื่อไร จึงพูดโดยไม่ได้ดูเวลาทั้งสิ้น คงสรุปด้วยคติพระพุทธศาสนาสักข้อหนึ่งคือ พระในเมืองไทยเรานี้เป็นแบบเถรวาท ฝ่ายเถรวาทนี้บางทีก็มีผู้ติ โดยเฉพาะท่านที่เป็นฝ่ายมหายาน มักตำหนิเถรวาทหรือหินยานว่าเอาแต่ตัว เอาตัวรอดคนเดียว เป็นลัทธิฝ่ายสาวกยานเป็นยานของสาวก เล็กน้อย ต่ำทราม เอาแต่ตัวรอดเท่านั้น ไม่ใช่ยานใหญ่ ไม่ใช่มหายาน อาตมภาพคิดว่าคำต่อว่านั้นคงยังไม่ถูกต้องทีเดียวนัก คติที่แท้ของเถรวาทคงจะเป็นอย่างนี้กระมัง คือเอาตัวแค่พอรอด แต่มุ่งหน้าทำสิ่งที่ดีงามเพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่พหูชน คตินี้แหละเป็นสิ่งสำคัญและเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน ถ้าเราไม่ถือคตินี้แล้วเราอาจจะไปถือคติของคนสมัยปัจจุบัน คติของคนสมัยปัจจุบันนั้นดูเหมือนจะเอาสบายแต่ตัว ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน คือถ้าเป็นคติเถรวาท ก็เอาตัวแค่พอรอด คือเอาตัวให้พอรอดแต่มุ่งหน้าทำเพื่อประโยชน์สุขแก่คนทั่วไป ถ้าเอาคตินี้มาใช้ก็คงจะแก้ไขปัญหาสังคมปัจจุบันนี้ได้มาก เพราะสังคมปัจจุบันมันจะเอียงไปทางคติอย่างที่ว่าแล้ว คือเอาสบายแต่ตัว คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ถ้าเราใช้ชาวพุทธเป็นผู้ปรุงแต่งบันดาลชะตากรรมของสังคมไปในทางที่ดีงาม ก็ต้องให้ชาวพุทธทำตามหลักการของพระพุทธศาสนา หลักพุทธศาสนาเป็นอย่างไรก็ดังที่อาตมภาพเสนอให้ฟังนี่สุดแต่จะพิจารณากัน เท่าที่ได้พูดมาก็คิดว่าเป็นเวลาอันสมควร ขออนุโมทนาต่อท่านสพรหมจารีและท่านพุทธศาสนิกชน สาธุชนทุกท่านในที่ประชุม ที่มีขันติธรรมรับฟังปาฐกถาของอาตมภาพมาโดยตลอด โดยเฉพาะทางคณะผู้จัดปาฐกถาครั้งนี้คือมูลนิธิโกมลคีมทอง ได้จัดให้มีรายการนี้ขึ้น ก็เพราะเป็นวันสำคัญที่ระลึกเกี่ยวกับบุคคลคือคุณโกมล คีมทอง ซึ่งเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญคุณความดีไว้เป็นที่ปรากฏ มูลนิธินี้จึงเอานามของท่านมาตั้งเป็นชื่อของมูลนิธิ ในวาระซึ่งตรงกับวันมรณกรรมของคุณโกมล คีมทอง นี้ อาตมภาพขอถือโอกาสอุทิศส่วนกุศลแก่คุณโกมล คีมทอง และในโอกาสเดียวกันนี้ขอตั้งจิตอวยพรแก่ท่านสาธุชนทุกท่าน ขอจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงามทั้งในส่วนชีวิตของตนเอง และในส่วนที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งหลาย และของประเทศชาติ ขอให้มีความสุข สงบ เจริญก้าวหน้าต่อไปด้วยดีทุกๆ ท่าน.

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปคำส่งท้าย >>

เชิงอรรถ

  1. คำปรารภของผู้ออกบวชตามแบบมีว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี (กิเลสหรือเรื่องวุ่นวาย) บรรพชาเป็นดังที่โล่งแจ้ง; การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงดังสังข์ที่ขัดแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย, ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริกเถิด” (เช่นในสามัญญผลสูตร, ที.สี. ๙/๑๐๒/๘๒)
  2. ดู พหุการสูตร, ขุ.อิติ. ๒๕/๒๘๗/๓๑๔
  3. ดู สารีปุตตสุตตนิทเทส, ขุ.ม. ๒๙/๙๓๕/๕๙๖ ; ม.อ. (ปปัญจสูทนี), ๒/๑๑
  4. อัตราเฉลี่ยวัดเกิดใหม่ในประเทศไทยเมื่อปีก่อนๆ คือ ๒ วันต่อ ๑ วัด ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น ๓ วันต่อ ๒ วัด ตัวเลขจำนวนวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ ว่า ๒๖,๒๙๑ วัด พ.ศ. ๒๕๒๑ เพิ่มเป็น ๒๗,๗๕๗ วัด ดูเหมือนจะเกินอัตราเฉลี่ยนั้นด้วยซ้ำ
  5. ดู องคุลิมาลสูตร, ม.ม. ๑๓/๕๒๗/๔๘๒
  6. ดู สัปปุริสสูตร, ม.อุ. ๑๔/๑๗๘-๑๙๗/๑๓๔-๑๔๔
  7. พึงดูตัวเลขตัวอย่างตามสถิติ (ต้องการแสดงตัวเลข พ.ศ. ๒๕๑๕ ด้วย แต่หาจำนวนภิกษุสามเณรทั้งหมดยังไม่ได้)

    พ.ศ. จำนวนภิกษุสามเณรทั่วประเทศไทย เข้าสอบบาลีประโยค ๑ ถึง ๙ สอบได้ สอบได้คิดเป็นร้อยละของภิกษุสามเณรทั้งหมด
    ๒๕๑๐ ๒๘๒,๔๙๐ ๑๒,๘๙๕ ๓,๓๗๘ ๑.๒๐
    ๒๕๑๗ ๒๘๖,๘๓๘ ๑๓,๑๔๑ ๒,๒๖๒ ๐.๗๙
    ๒๕๒๐ ๓๒๙,๕๐๐ ๑๐,๖๘๙ ๒,๐๑๕ ๐.๖๑
    ๒๕๒๑ ๓๒๗,๐๓๖ ๑๐,๔๗๑ ๑,๘๕๐ ๐.๕๗

     

    หมายความว่า   เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนโน้น พระเณรพันรูป สอบบาลีได้ ๑๒  รูป แต่ในปัจจุบัน พระเณรพันรูป สอบบาลีได้เพียง ๕ รูปเศษ

  8. ดูตัวอย่างใน อง.ทุก.๒๐/๒๘๔/๘๗
  9. เช่น สังคีติสูตร, ที. ป. ๑๑/๒๒๖/๒๒๕ ; ฯลฯ

No Comments

Comments are closed.