วิถีทางเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา

25 พฤษภาคม 2529
เป็นตอนที่ 1 จาก 5 ตอนของ

วิถีทางเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา1

ขอกราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุที่เคารพ พร้อมด้วยหลวงพ่อปัญญานันทะ ประธานจัดงานครั้งนี้ ท่านพระเถระที่เคารพนับถือ และขออำนวยพรแก่ท่านสาธุชนทั้งหลาย

ในการประชุมฟังอภิปรายวันนี้ จะขอใช้คำแทนชื่อผู้พูดว่า อาตมภาพ เสมือนกับว่ากำลังพูดกับฝ่ายญาติโยมคฤหัสถ์ ทั้งนี้เพราะว่า พระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไปนั้นก็เป็นผู้มีหน้าที่ที่จะแสดงธรรมแก่ญาติโยมอยู่แล้ว แม้ท่านจะมาอยู่ในสถานที่นี้ร่วมฟังการอภิปรายด้วย ท่านก็คงมีน้ำใจเอื้อเอ็นดู ในการที่จะแสดงธรรมแก่ญาติโยม และก็ร่วมฟังกับญาติโยมด้วย

ในการอภิปรายวันนี้ เรามีผู้ร่วมอภิปรายทั้งที่เป็นบรรพชิต และคฤหัสถ์คือ มีทั้งพระภิกษุและญาติโยมอีกด้วย และท่านที่เป็นวิทยากรก็เป็นผู้มีพื้นเพภูมิหลังอาชีพการงานต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายก็มีโอกาสที่จะรับฟังแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนานี้ ในหลายรสหลายแบบด้วยกัน อาจจะมีหนักบ้างเบาบ้าง และก็เป็นด้านคัมภีร์บ้าง ด้านเกี่ยวกับชีวิตคนทั่วไปบ้าง สำหรับอาตมภาพนี้ก็อยากจะเสนอในรสหนึ่งหรือแนวหนึ่ง คือเน้นหนักไปในทางคัมภีร์ก่อน

เมื่อกี้นี้ท่านผู้ดำเนินการอภิปราย คือท่านคุณหญิงเต็มศิริ บุณยสิงห์ได้เอ่ยถึงหนังสือธรรมนูญชีวิต ซึ่งหนังสือธรรมนูญชีวิตนั้น ก็เป็นหนังสือที่เนื่องด้วยคัมภีร์ หรือว่านำเอามาจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะก็คือพระไตรปิฎก หนังสือธรรมนูญชีวิตนั้นกล่าวถึงหลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติและคุณสมบัติของคนทั่วไป แบ่งแยกตามสถานะของการดำรงชีวิตทั้งชาวบ้านชาววัด เริ่มแต่ชาวบ้านที่เป็นคนทั่วๆ ไปผู้ครองเรือน เป็นหัวหน้าครอบครัว ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่เป็นลูกหรือว่าเป็นครูอาจารย์เป็นศิษย์ จนกระทั่งถึงในที่สุดว่าเป็นพระและเป็นผู้พ้นจากทุกข์หรือเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งหมดนั้น ถ้าเราจะมาแยกแยะดูและประมวลเนื้อหาทั้งหมดแล้ว เราก็จะมองเห็นหัวใจพระพุทธศาสนาได้เหมือนกัน ในที่นี้จะขอกล่าวตามแนวพระคัมภีร์ต่อไป

แม้ว่าในการอภิปรายครั้งนี้ ท่านผู้อภิปรายหลายท่านอาจจะพูดถึงหัวใจ โดยใช้คำพูดต่างกัน แต่ท่านทั้งหลายก็ไม่ต้องแปลกใจหรอก หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกัน แม้ท่านจะพูดว่าอันนี้อันโน้นเป็นหัวใจ ทำให้ดูคล้ายๆ ว่าต่างกัน แต่ในที่สุดแล้วก็คือหัวใจเดียวกัน ที่ต่างก็คือด้านโน้นด้านนี้ของหัวใจเท่านั้นเอง

เอาละทีนี้เราลองมาดูว่าตามแนวของคัมภีร์พระพุทธศาสนา จะว่าอย่างไร ก็คงจะต้องพูดถึงคำว่า “หัวใจ” ก่อน หัวใจเป็นคำในภาษาไทย คือ ผู้ตั้งชื่อหัวข้อการอภิปรายนั้นใช้คำภาษาไทย คำว่า “หัวใจ” นั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่า คือ อวัยวะที่สำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต ทีนี้หัวใจนั้นเราถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างยิ่ง หรือสำคัญที่สุดของชีวิต คนทั่วๆ ไปมักจะพูดกันว่า ถ้าหัวใจหยุดเต้นแล้วก็เป็นอันว่าตาย ก็เลยถือว่า หัวใจนั้นเป็นแกนสำคัญของชีวิตทั้งหมด เมื่อเรามาดูในทางพระพุทธศาสนา เรามักจะต้องมาดูว่า ในภาษาบาลีซึ่งเป็นต้นหลัก เป็นภาษาคัมภีร์ที่มาของพระพุทธศาสนานั้น มีคำสำหรับหัวใจว่าอย่างไร เราก็จะรู้ได้ทันทีว่า ได้แก่ “หทัย” คำที่ใช้กันอาจจะมีคำอื่นอีกบ้าง แต่คำที่ใช้มากก็คือ คำว่า “หทัย” เรามาดูว่า อะไรเป็น “หทัย” ที่แปลว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา ในทางพระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่าอย่างไร ลองเลียบๆ เคียงๆ ดูในพระคัมภีร์ ก็ไปเห็นว่าในคัมภีร์อภิธรรมคัมภีร์หนึ่ง ชื่อว่า คัมภีร์วิภังค์นั้น อธิบายหลักธรรมต่างๆ โดยวิเคราะห์แยกแยะออกไปมากมาย บรรดาหลักธรรมที่ท่านนำมาวิเคราะห์นั้น ท่านก็ใช้ตั้งชื่อบท ถ้าหากวิเคราะห์เรื่องขันธ์ ๕ ในบาลีก็เรียกว่า ขันธวิภังค์ ถ้าวิเคราะห์เรื่องอายตนะ ๑๒ ท่านก็เรียกว่า อายตนวิภังค์ อย่างนี้ไปจนกระทั่งถึงหมวดที่ ๑๘ ท่านตั้งชื่อว่า ธรรมหทัยวิภังค์ เป็นการวิเคราะห์เรื่องหัวใจของพระธรรม เราก็มาดูว่าในคัมภีร์พระอภิธรรมนี้ ที่ว่าพูดถึงหัวใจพระธรรมนั้นว่าด้วยอะไรบ้าง ปรากฏว่าอภิธรรมบทนี้ว่าด้วยเรื่องหลักธรรม สำคัญๆ ดังต่อไปนี้ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สัจจะ อินทรีย์ เหตุ อาหาร ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต ถ้าพูดอย่างนี้ หัวใจของพระพุทธศาสนาก็มีมากมาย แต่โดยสาระสำคัญก็คือ ได้แก่สิ่งที่ทางอภิธรรมเรียกกันว่า ปรมัตถธรรม หรือเป็นจำพวกสภาวธรรม สิ่งที่มีอยู่ตามสภาวะตามธรรมชาตินั่นเอง แต่ในที่นี้อยากจะขอพูดว่าอันนั้นเป็นการเทียบเคียงเท่านั้น เพราะว่ามันตรงโดยศัพท์ แต่บางทีศัพท์ที่ใช้ในภาษานั้น ไม่ใช่มุ่งความหมายตามตัวอักษร แต่เราต้องดูโดยใจความ ทีนี้กลับมาพิจารณาหัวข้อที่ตั้งไว้อีกที ที่ว่า วิถีทางเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนานั้น เราแยกตั้งเป็นหัวข้อขึ้นมา ๔ ข้อ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปอะไรคือ หัวใจของพระพุทธศาสนา >>

เชิงอรรถ

  1. หมายเหตุ : อภิปรายพิเศษเนื่องในงานธรรมสมโภช ๕๐ ปี ของ พระเทพวิสุทธิเมธี (พุทธทาสภิกขุ) วันที่ ๒๕ พ.ค. ๒๕๒๙ ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พิมพ์ครั้งแรกในพุทธจักร ปีที่ ๔๐ ฉบับ ๔๐-๔๑ ประจำเดือน สิงหาคม กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙

No Comments

Comments are closed.