แม้แต่สุขที่ชอบธรรม ถ้าปฏิบัติผิด สุขก็กลายเป็นเสื่อม

24 กรกฎาคม 2537
เป็นตอนที่ 7 จาก 10 ตอนของ

แม้แต่สุขที่ชอบธรรม
ถ้าปฏิบัติผิด สุขก็กลายเป็นเสื่อม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเป็นความสุขโดยชอบธรรมแล้วเรามีสิทธิ์เสวย ไม่ต้องไปสละละทิ้ง แต่ท่านสอนไม่ให้หยุดแค่นี้ เพราะถ้าเราปฏิบัติผิด พอเรามีความสุขแล้ว เราก็อาจจะพลาด

จุดที่จะพลาดอยู่ตรงนี้ คือ เรามีสิทธิ์ที่จะสุข และเราก็สุขแล้ว แต่เราเกิดไปหลงเพลิดเพลินมัวเมา พอเราหลงเพลินมัวเมา ความสุขนั้นก็จะกลับกลายเป็นปัจจัยของความทุกข์ได้ พอถึงตอนนี้ก็จะเสีย เพราะฉะนั้น ความสุขนั้นเราจะต้องรู้ทันด้วย

ความสุขก็เป็นโลกธรรมอย่างหนึ่ง คือ มันเกิดขึ้นแล้ว ก็ตั้งอยู่และดับไป เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงไปได้

ถ้าเรารู้ทันความจริงนี้ เมื่อสุข เราก็เสวยสุขนั้นโดยชอบธรรม แต่เราไม่หลงไหลมัวเมาในความสุขนั้น เมื่อรู้เท่าทันไม่หลงมัวเมาแล้ว มันก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์

แต่ถ้าหลงมัวเมา สุขก็เป็นปัจจัยแก่ทุกข์ อย่างน้อยก็ทำให้ติด แล้วก็เพลิดเพลิน หลงมัวเมา ไม่ทำอะไร ทำให้เกิดความประมาท

คนที่คิดว่า เราสุขแล้ว เราสำเร็จแล้ว เราเก่งแล้ว เราดีแล้วนี่ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความประมาท เพราะเกิดความพอใจ ก็ได้แต่มัวเสวยความสุขและความสำเร็จนั้น ไม่ทำอะไรที่ควรจะทำต่อๆ ไป หรือให้ยิ่งขึ้นไป มีกิจหน้าที่อะไรที่ควรทำก็ไม่ทำ อะไรเกิดขึ้น ควรตรวจตราแก้ไข หรือจัดดำเนินการ ก็ปล่อยก็ละเลย มัวแต่หลงในความสุข กลายเป็นทางของความประมาท แล้วก็เป็นความเสื่อมต่อไป

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า แม้แต่พระอริยะ อย่างพระโสดาบันก็ยังประมาทได้ ประมาทเพราะอะไร เพราะว่าไปเกิดความพอใจขึ้นมา อิ่มใจว่านี่เราได้บรรลุธรรมสูงถึงขั้นนี้แล้ว

พอพอใจขึ้น ความประมาทก็ตามมาทันที ก็ไม่เพียรพยายามเพื่อก้าวหน้าในคุณความดียิ่งขึ้นไป ก็กลายเป็นความเสื่อม

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เรื่องความเจริญงอกงามในกุศลธรรมนั้นหยุดไม่ได้ เราต้องพยายามยิ่งขึ้นไป

มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสว่า เราไม่สรรเสริญ แม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมจากกุศลธรรม เราสรรเสริญแต่ความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมเท่านั้น

ก็หมายความว่า เราจะต้องเพียรพยายามปฏิบัติเจริญกุศลธรรมให้ก้าวหน้าไป จนกระทั่งหมดกิเลส หมดความทุกข์ มีปัญญาสมบูรณ์ มีสติสมบูรณ์ที่สุด

ถ้าเราเกิดไปติดในความสุข ในความเพลิดเพลิน เราก็หยุด เราก็ไม่ขวนขวาย ไม่ปฏิบัติต่อไป ก็จะกลายเป็นทางของความเสื่อม เพราะฉะนั้น ความสุข ถ้าเราหลงติดมัวเมา ก็เป็นความผิดพลาด

เพราะฉะนั้น จึงต้องเสวยความสุขด้วยความรู้เท่าทัน แล้วความรู้เท่าทันที่เป็นตัวปัญญานี้ จะป้องกันไม่ให้สุขนั้นเกิดพิษเกิดภัย มันจะป้องกันเหตุร้าย ภัยพิบัติ และความเสื่อมได้ทั้งหมด

นี่ก็คือ การเสวยสุขโดยไม่ประมาทนั่นเอง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ทั้งโลกจะสุขสันต์ เมื่อคนมีสุขแบบประสานถึงจะสุข ถ้ายังไม่อิสระ ก็ไม่เป็นสุขที่สมบูรณ์ >>

No Comments

Comments are closed.