คนต้องมีปัญญาอย่างถึงธรรม การพัฒนาจึงจะเดินสู่จุดหมายที่แท้

7 พฤศจิกายน 2542
เป็นตอนที่ 17 จาก 18 ตอนของ

คนต้องมีปัญญาอย่างถึงธรรม
การพัฒนาจึงจะเดินสู่จุดหมายที่แท้

ตอนนี้ก็น่าจะถึงเวลาที่เราจะเป็นตัวของตัวเองด้วยปัญญาที่จะพิจารณาร่วมกับเขา มามองให้ดีว่าจุดหมายของการพัฒนาอยู่ที่ไหน โดยมองไปที่ “ธรรม” คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ในระบบชีวิต สังคม ธรรมชาติ ที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข ให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันด้วยดี เอื้ออาทร เกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน และธรรมชาติก็น่าอยู่อาศัย โลกนี้ดูแล้วสดชื่น อากาศดี น้ำดี ดินดี เป็นต้น

ว่าที่จริง ขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายก็เริ่มตั้งเค้าที่จะเข้ามาสู่แนวความคิดนี้แล้ว จึงเป็นจุดเริ่มจุดขยายที่อาจประสานกันได้ แต่เราอย่าเสียหลัก ต้องทำตัวเองให้ชัดเจนในจุดหมายนั้น มิฉะนั้นเดี๋ยวก็ส่าย เดี๋ยวนี้มีบางท่านบอกว่า อย่าไปพัฒนามันเลย ก็เลยกลายเป็นว่าคำว่าการพัฒนานี้มีปัญหาถึงขั้นว่าจะน่าพัฒนาหรือไม่

เรื่องนี้อยู่ที่เราเข้าใจความหมายของคำว่า “พัฒนา” ว่าคืออย่างไร และมีขอบเขตแค่ไหน

ความหมาย จุดหมาย และเกณฑ์วัดการพัฒนาที่ใช้กันมาตลอดยุคพัฒนานั้น ก็ประเทศพัฒนาหรือประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกนั่นแหละที่จัดตั้งวางขึ้น

ครั้นเมื่อพากันพัฒนาแบบนั้นผ่านมาหลายสิบปี ก็ประเทศพัฒนาหรือประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกอีกนั่นแหละ ที่เป็นหัวหน้าประกาศและร่ำร้องไปทั่วว่า ความคิดความเข้าใจและปฏิบัติการเกี่ยวกับการพัฒนา อย่างที่ตนนำหน้าเดินมานั้น เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ยั่งยืน

เมื่อประกาศกันออกมาแล้ว แต่ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนา ยังไม่สามารถถอนตัวขึ้นมาจากแนวคิดและปฏิบัติการแห่งการพัฒนาแบบที่ว่าไม่ยั่งยืนนั้นได้ ภาพรวมออกมายังคงเดินหน้าไปในทางเก่า ไม่ตั้งใจแก้ไขปัญหากันจริง เหมือนเสแสร้ง หรือไม่นำพา เหล่าสังคมที่กำลังพัฒนาก็ไม่ใส่ใจ หรือเหมือนกับมองข้ามการแก้ปัญหาไปด้วย แถมซ้ำจะมุ่งหน้าไปในการพัฒนาที่ถูกประณามว่าไม่ยั่งยืนนั้น ยิ่งกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเองด้วยซ้ำ

การที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ได้เดินตามแนวคิดความเข้าใจและดำเนินการพัฒนาแบบที่ว่าไม่ยั่งยืนนั้น ตามเขามาก่อนหน้านี้ ด้วยความอยากจะเป็นอารยประเทศนั้น ไม่น่าแปลกใจนัก แต่เมื่อโลกรู้ตัวประกาศกันทั่วแล้วว่า การพัฒนาแบบนั้นผิดพลาด จะต้องแก้ไข แล้วยังเดินตามเขาอีกสิ น่าแปลกใจมาก เพราะภูมิหลัง เหตุปัจจัย และสภาพพื้นเพต่างๆ ของเรากับของประเทศอุตสาหกรรมนั้นต่างกันไกล โอกาสที่จะถอนตัวหรือแก้ไขปรับตัวไม่เหมือนกัน และมีทางที่เราจะนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ดีกว่า แต่กลับทำเหมือนคิดรอตามเขาอย่างเดียว

น่าเห็นใจสังคมพัฒนาทางตะวันตก ที่พื้นเพเขาถูกธรรมชาติบีบคั้นรุนแรง และได้พัฒนาอารยธรรมขึ้นมาตามแนวคิด ปฏิกิริยา ที่มุ่งจะพิชิตธรรมชาติ และพลิกผันเอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ ทั้งความเจริญก้าวหน้าและความผิดพลาดในการพัฒนา เป็นผลโยงมาจากแนวคิดและปฏิบัติการตามแนวทางนี้ รวมทั้งความยากลำบากในการที่จะถอนตัวหรือแก้ไขปัญหานั้นด้วย เหมือนโลดแล่นอยู่ในหล่มลึก

การที่ฝรั่งถูกความบีบคั้นของธรรมชาติกดดันให้เกิดความใฝ่ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งเป็นแรงขับที่ทำให้เขาสร้างความเจริญก้าวหน้าพัฒนาอารยธรรมตะวันตกขึ้นมา จนมนุษย์คิดว่าตนเอาชนะและครอบงำธรรมชาติได้มากมายแล้วนั้น เมื่อปรากฎว่าการพัฒนานั้นกลายเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ถ้ามองให้ดีจะเห็นในทางกลับกันว่า อารยธรรมตะวันตกทั้งหมด มีพลังของธรรมชาติเป็นเงื่อนไขหรือเป็นตัวกำหนด แต่เป็นไปในลักษณะที่เป็นปฏิกิริยา คือเกิดจากท่าที่ขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ โดยผลรวมก็คือเป็นการเจริญมาภายใต้การครอบงำแห่งเงื่อนไขของธรรมชาติ

นับว่าเป็นความจริงย้อนแย้ง หรือ paradox ที่ว่า ความเจริญก้าวหน้าในการที่จะเอาชนะธรรมชาติของอารยธรรมมนุษย์นั้น เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการครอบงำของธรรมชาติเป็นตัวกำหนด

พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า อารยธรรมโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน เป็นความเจริญก้าวหน้าเพื่อสนองจุดหมายที่จำกัดตัว ภายใต้เงื่อนไขแห่งปฏิกิริยาต่อความบีบคั้นของธรรมชาติ

การพัฒนาเชิงปฏิกิริยาแบบนี้ มีจุดหมายที่เป็นปัญหาในตัวของมันเอง จึงไม่อาจนำไปสู่ผลดีแท้จริงได้ และจึงจำต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาให้สนองจุดหมายที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบชีวิต สังคม และโลกแห่งธรรมชาติทั้งหมด ที่เรียกว่า “ธรรม” นั้นให้ได้

รวมความว่า เราต้องเห็นใจฝรั่ง และเห็นใจอารยธรรมโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ที่เดินมาในแนวทางของฝรั่งนั้น แต่การเห็นใจเท่านั้นไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจ และเข้าใจทั้งฝรั่งและเข้าใจตัวเราเอง ให้ชัดเจน โดยมองเห็นทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่าง ข้อดีข้อด้อย ของเขาของเรา พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่สืบต่อมา รวมทั้งเข้าใจระบบชีวิต สังคม และโลกแห่งธรรมชาติทั้งหมดที่จะเรียกได้ว่า เห็นความจริง คือเห็นธรรม

แม้แต่ที่พูดตามๆ กันไปว่า การพัฒนาที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั้น ดูกันจริงๆ ของเขากับของเราก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเรียกของเขาว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ของเราอาจจะต้องเรียกว่าการพัฒนาเทียม (อย่างที่เคยมีคำวิจารณ์ว่า “ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา”) ถ้าของเขาเป็นการพัฒนาเทียม ของเราอาจจะเป็นการพัฒนาถดถอย อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งสาระก็คือไม่เหมือนกัน

ถ้าตั้งใจศึกษากันให้จริงจังชัดเจน จนมองเห็นความจริงอย่างถึงธรรม คือมองเห็นความจริงในระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย ทั่วทะลุตลอดสายแล้ว ก็จะวางหลักการและจุดหมายของการพัฒนา ตลอดจนแผนปฏิบัติการได้ตรงแท้ถูกตามความจริงหรือธรรมนั้นได้ และจึงจะเป็นการพัฒนาที่เป็นธรรม ซึ่งจะได้ ผลดีจริง

ถ้าพัฒนาได้ถูกต้อง ด้วยปัญญาที่ถึงธรรมจริง สังคมไทยก็จะเจริญงอกงาม มั่นคง มีสันติสุขอย่างเป็นอิสระ เป็นการพัฒนาที่ดี และให้โลกได้รับประโยชน์จากเราด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้ารู้เข้าใจชีวิตสังคมและธรรมชาติไม่ถึงธรรม การพัฒนาก็พลาดเพราะจุดหมายยังพร่าบูชาบูชนียชนอย่างดี โดยเอาตัวเรานี้บูชาธรรม >>

No Comments

Comments are closed.