มั่นคงนั้นดีแท้ แต่จะยั่งยืนต้องไม่ประมาทด้วย

12 มีนาคม 2546
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

มั่นคงนั้นดีแท้ แต่จะยั่งยืนต้องไม่ประมาทด้วย

ที่พูดมานั้น เป็นเรื่องของถ้อยคำและความหมาย ทีนี้มีข้อสังเกตที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ แม้ว่า security จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็มีแง่ที่ต้องระวังไว้เหมือนกัน หมายความว่าแม้ว่า security หรือความมั่นคงนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์และสำหรับสังคม อย่างคนทั่วไปนี้ถ้าไม่มีความรู้สึกใน security ก็ไม่มีความหวังที่ชัดเจน ไม่มีความมั่นใจ จะสร้างสรรค์ จะทำงานอะไรก็จะทำให้ไม่มุ่ง ไม่แน่ว ไม่เข้มแข็ง ไม่มีสมาธิ แม้กระทั่งไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม นี่แง่หนึ่ง

แต่อีกแง่หนึ่ง ในทางตรงกันข้าม ซึ่งฝรั่งก็รู้ตัวเหมือนกัน คือ security หรือความมั่นคงนี้ ถ้าไม่ได้พัฒนามนุษย์เพียงพอ มนุษย์เหล่านี้พอมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ก็จะเฉื่อยชา อย่างที่ฝรั่งก็พูดถึงว่าจะเกิด indolence ขึ้นมา คือเกิดความเฉื่อยชา หรือความขี้เกียจ พูดตามภาษาของเราก็คือ เกิดความประมาท ผัดเพี้ยน ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ซึ่งเป็นสภาพจิตสามัญของมนุษย์ปุถุชนที่ว่า พออยู่สบายก็ชักจะเฉื่อยชา

ฝรั่งที่เจริญมานี่ เขาก็เห็นคุณค่าของพวก stress, tension และ anxiety ซึ่งเวลานี้เป็นปัญหาของเขาเอง สังคมฝรั่งได้รับพิษภัยโทษของ stress, tension และ anxiety คือเรื่องของความเครียด ความกดดัน และความกระวนกระวายต่างๆ ในวิถีชีวิตของเขาที่เป็นมาตลอดยุคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เขามีความทุกข์มาก แต่ก็เพราะ stress, tension และ anxiety นี่แหละ จึงทำให้ฝรั่งต้องดิ้นรน กระตือรือร้น ขวนขวาย และทำให้เขาเจริญมาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้

ฉะนั้นในเรื่องเดียวกัน จึงมีมุมมองได้หลายแง่ ซึ่งต้องระวังที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อพูดตามหลักในพุทธศาสนา การที่จะกระตือรือร้น ขวนขวาย ก็คือความไม่ประมาท ฉะนั้น ถ้ามี security คือมีความมั่นคงปลอดภัย ก็ต้องระวังไม่ให้เกิดความประมาท ต้องระวังว่าสบายแล้วจะเฉื่อยชา อยากจะนอน อยากจะผัดเพี้ยน เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนาคนให้ไม่ประมาท

ถ้าพัฒนาคนให้ไม่ประมาทไม่สำเร็จ ก็อาจจะต้องยอมให้มี stress และ tension ไว้เป็นเครื่องบีบให้คนกระตือรือร้น ขวนขวาย

ต้องรู้ทันความจริงที่ว่า มนุษย์ปุถุชนที่ไม่ได้มีการพัฒนาเพียงพอ ที่ต้องอยู่ในวงจรของความเสื่อม-ความเจริญอยู่อย่างนี้ ก็เพราะว่าในตอนที่มีทุกข์ภัยบีบคั้น มีความเครียด ก็กระตือรือร้น เร่งรัด ดิ้นรน ขวนขวาย ทำให้เจริญก้าวหน้า แต่พอพ้นภัยอันตราย มีความสุข สบาย ก็เฉื่อยชา ผัดเพี้ยน ประมาท เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงให้แก้ด้วยการพัฒนาคนให้ไม่ประมาท

จะต้องระลึกและคิดเตรียมไว้ให้ดีว่า คู่กับ security คือความมั่นคงปลอดภัยนั้น จะต้องพัฒนาคนให้ไม่ประมาทไปด้วย มิฉะนั้นแล้ว security เองที่เป็นหลักแสนดีอย่างยิ่งนี้ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมได้เช่นเดียวกัน เพราะเหตุของความเสื่อมนั้นมาอยู่ที่ตัวคน เข้าหลักที่ท่านแสดงไว้ว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ และอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้

อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ก็เช่นความเครียด เป็นต้นนั้น มาเป็นปัจจัยให้เกิดการดิ้นรน ทำให้ขยันหมั่นเพียร ในส่วนที่กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล ก็คือ ความสำเร็จ ความมั่นคงปลอดภัย สบาย กลับไปเป็นปัจจัยแก่ความเฉื่อยชา ประมาท

ตัวแก้ก็คือ ต้องให้การศึกษาพัฒนาคน ที่จะให้ไม่ประมาทได้ทั้งที่อยู่สบาย หรือทั้งที่สบายก็ไม่ประมาท ต้องควบคู่กัน นี่คือความสำเร็จ

หมายความว่า ต้องมีทั้ง security ด้วย และจะต้องไม่มี negligence ไม่มี indolence แต่ต้องมี earnestness ตลอดเวลา และทำให้คนมี diligence การพัฒนามนุษย์อย่างนี้ จึงจะทำให้การพัฒนาสังคมสำเร็จได้

รวมความว่า พื้นฐานและจุดยอดของ security ทั้งหมดนั้น ไปรวมอยู่ที่ spiritual security คือความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งโยงไปหาปัญญา และจะต้องโยงมาหาหลักความไม่ประมาท ดังได้กล่าวแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จิตใจมั่นคงอย่างสมบูรณ์ เมื่อเป็นอิสระด้วยปัญญาคำปรารภ >>

No Comments

Comments are closed.