- บทบาทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในการเป็นผู้นำทางการศึกษาพระพุทธศาสนา
- (มองดูสภาพการศึกษาทั่วๆ ไปในโลกนี้)
- (หันกลับมามองใกล้ตัว)
- (สรุปเรื่องบทบาทความเป็นผู้นำการศึกษาทางพระพุทธศาสนา)
- (อุปสรรคและจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข)
- (สิ่งที่จะทำได้ในปัจจุบัน)
สรุปง่ายๆ ว่า ถ้าเรามองเรื่องความเป็นผู้นำการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในแนวดิ่งนี่พูดภาษาสมัยใหม่ แนวดิ่งก็คือการมองอย่างสูงหรือลึกนี่นะ เรายังไม่มีฐานะเป็นผู้นำแน่ แต่ในวงกว้าง พอจะเป็นได้เหมือนกัน แต่มองในแง่ปริมาณ สำหรับพระพุทธศาสนาในเมืองไทย คณะสงฆ์ยังเป็นผู้นำการศึกษาทางพระพุทธศาสนาอยู่ เรามีจำนวนผู้เรียนผู้สอบนักธรรมเป็นแสน มีผู้สอบบาลีเปรียญธรรมอยู่แถวๆ หมื่น บางปีก็ ๙ พันกว่า บางปีก็เหลือ ๘ พันกว่า บางปีก็ขึ้นไปหมื่นสอง แต่ในระยะ ๑๐ ปีมานี้ จำนวนตกลง แล้วตอนนี้ยังไม่ทราบชัดว่าจะขึ้นอีกหรือไม่ ตอนนี้ไม่ได้ติดตามสถิติ
ทีนี้ในปริมาณที่มากอย่างนี้ก็ย่อมเป็นไปได้ที่ว่า จะต้องมีผู้ที่มีความสามารถมีความรู้พระพุทธศาสนาอยู่บ้าง ซึ่งเมืองฝรั่งก็ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่มองมาหาเมืองไทยเสียทีเดียว เขาก็มองมาเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมดาที่ว่าในจำนวนหมื่นอาจจะมีผู้ที่นำได้สักห้า หรือสิบอะไรอย่างนี้ ก็เรียกได้ว่า พอจะอาศัย
ทีนี้ผู้ที่สามารถนำขึ้นมาได้อย่างนี้ก็อาจจะเป็นด้วยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เราจึงไม่อาจจะจัดได้ชัดว่าเกิดจากการกระทำหรือการดำเนินการของสถาบันหรือการคณะสงฆ์โดยส่วนรวม มันต่างกับของเขาที่ว่า ถ้าเขาศึกษาอย่างจริงจัง เขาเริ่มศึกษาสิบเขาอาจจะมีตัวดีที่เป็นผู้นำได้ห้า หมายความว่าของเราหมื่นหนึ่งเราอาจได้ห้าถึงสิบ ของเขาสิบอาจได้ห้าอะไรอย่างนี้ ก็เอาละยังพอไปได้ก็แสดงว่า เรายังมีอยู่นะ นี้ก็ว่าโดยปริมาณหรือมองมุมกว้าง ความเป็นผู้นำในกิจการการศึกษาทางพระพุทธศาสนาก็ยังพอมี แล้วเพราะเหตุที่เรามีปริมาณมากๆ ในระดับพื้นฐานนี้ เราก็จึงทำงานได้กว้าง เช่นอย่างเรื่องการให้การศึกษาอบรมเยาวชนวันอาทิตย์นี่ เราก็มีกิจการกว้างขวาง มีโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ทั่วประเทศไทยเราเกินกว่า ๓๐๐ แห่งแล้ว ก็นับว่ามากอยู่
ทีนี้ในแง่ของพระภิกษุสามเณรเราก็มีโรงเรียนปริยัติธรรมการสอนนักเรียนพุทธศาสนาจำนวนมากมาย เป็นพันๆ แม้ว่าบางสำนักจะเรียนเพียงเดือนเดียวสองเดือน หรืออาจจะมีนักเรียนเพียงห้าองค์ สี่องค์ สามองค์ อะไรอย่างนี้ก็แล้วแต่ แต่เราก็ยังมีมาก ฉะนั้น ก็ยังมีความเป็นผู้นำอยู่ในแง่การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในด้านวงกว้าง แต่เป็นเพียงผู้นำด้วยปริมาณบังคับ ไม่แสดงถึงความสามารถแท้จริง เราจะพอใจแค่นี้คงไม่ได้ ต้องมองในแง่แนวดิ่งหรือความลึกความสูงด้วย แล้วถ้ามองในแง่นี้มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ยังมีเกียรติคุณว่าในระยะเวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ให้การศึกษาชนิดที่ว่า ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วไปพูดกับคนสมัยปัจจุบัน รู้เรื่องสื่อความหมายกันเข้าใจ สามารถทำงานในยุคปัจจุบัน เผยแพร่พระพุทธศาสนาได้ดีขึ้น ก็เป็นส่วนที่ค้ำชู สถาบันคณะสงฆ์ หรือกิจการพระศาสนาได้อยู่
ส่วนในแง่การยอมรับของทางการก็อย่างที่ได้บอกเมื่อกี้แต่ต้นแล้วว่าโดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็บอกชัดอยู่แล้วว่าไม่เป็นผู้นำ เพราะมีปริญญาแค่ขั้นต้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ติเตียน พ.ร.บ. เพราะว่าถ้าไม่มี พ.ร.บ. ก็ไม่มีทางเดินต่อไป ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อจะให้ไม่เกิดความไม่ประมาท เมื่อได้มี พ.ร.บ. ขึ้นมาแล้วก็ให้ถือเป็นพื้นฐานที่จะเดินทางต่อไป แล้วทำอย่างไรจะเดินหน้าต่อไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเราจะต้องมองพ.ร.บ.นี้ในฐานะเป็นฐานเริ่มต้นเท่านั้น ทางเดินข้างหน้านั้นยังอีกไกลนัก
เมื่อพูดไปเรื่องบทบาทความเป็นผู้นำในการศึกษาพระพุทธศาสนานี้ ก็ไม่ใช่เรื่องบทบาทที่มีอยู่ แต่เป็นบทบาทที่ควรจะมี เมื่อเป็นบทบาทที่ควรจะมีก็หมายถึงเรื่องที่เราต้องการ เมื่อต้องการก็จะต้องมีคำถามต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะให้มีบทบาทเช่นนั้น อันนี้คือปัญหาสำคัญ มันสำคัญยิ่งกว่าว่าควรจะมีบทบาทอะไร คือใครๆ ก็อยากจะมีความเป็นผู้นำ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้นำได้
ในเรื่องความเป็นผู้นำนั้น เมื่อวานนี้อาตมภาพก็ได้มานั่งฟังการอภิปรายก็มีท่านอาจารย์ ที่เรื่องการเป็นเลิศทางวิชาการ โดยมุ่งมาที่ความเป็นเลิศในวิชาพุทธศาสตร์ ซึ่งก็แน่นอนว่าอันนี้คือ ความเป็นผู้นำในการศึกษาพระพุทธศาสนา มหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ หรือแม้กระทั่งการศึกษาของคณะสงฆ์ก็จะต้องสร้างความเป็นผู้นำหรือความเป็นเลิศนี้ให้เกิดขึ้นได้ แต่จะทำอย่างไร
ในการอภิปรายกันเมื่อวานนี้บางท่านก็ได้เสนอแนะให้ความเห็นไปแล้วว่าควรจะทำอย่างไรบ้าง อย่างอาจารย์สมาน งามสนิท ก็ได้พูดถึง หน้าที่ของมหา วิทยาลัย ว่าข้อที่หนึ่ง ผลิตบัณฑิต ที่ ๒ ดำเนินการค้นคว้าวิจัย ที่ ๓ ให้บริการการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนา และที่ 4 ทำนุบำรุงวัฒนธรรม หลักนี้ก็ใช้เป็นเครื่องวัดความเป็นผู้นำหรือความเป็นเลิศได้ หมายความว่าจะต้องมีความเป็นเลิศในสิ่งเหล่านี้ เช่นว่าในแง่ของการผลิตบัณฑิต ก็ต้องดูการเล่าเรียน ดูหลักสูตร เนื้อหาหลักสูตร เนื้อหาสาระในทางพระพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างไร มีความเป็นผู้นำได้ไหม ขั้นของปริญญานั้น ในแง่ของทางโลกแล้วก็ถือเป็นเรื่องสำหรับมาวัดกัน
ฉะนั้น ในการยอมรับของสังคมก็มีความสำคัญว่า มีการศึกษาถึงปริญญาเอกไหม หรือตลอดจนกระทั่งว่า เหนือปริญญาเอกมีไหมอะไรอย่างนี้
และที่สำคัญต่อไปคือคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา เรื่องการมีขั้นของปริญญานั้นก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือคุณภาพของผู้ได้ปริญญา ถ้าได้ปริญญาตรีมีคุณภาพ ของการสำเร็จปริญญาตรีดีไหม แค่ไหนเพียงไร หรือได้ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็มีคุณภาพของปริญญาเป็นอย่างไร อันนี้จึงจะนำความเป็นผู้นำหรือความเป็นเลิศมาให้แก่สถาบันได้อย่างแท้จริง ถ้าหากว่า สถาบันผลิตบัณฑิตได้ ผู้ที่มีความสามารถมีประสิทธิภาพสูง มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ก็จะเป็นแหล่งของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา เมื่อมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้ ต่อไปความเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้น เพราะว่านักปราชญ์เหล่านี้ หนึ่งโดยการผลิตตำรับตำราออกไป ตำรานั้นก็ถูกนำไปใช้ในการเล่าเรียนศึกษาในที่อื่นๆ ถูกนำไปอ้างอิง ตลอดจนตัวนักปราชญ์ เหล่านั้นเองก็มีคนมาปรึกษาไต่ถาม ต่อไปความเป็นศูนย์กลางก็เกิดขึ้น ความเป็นผู้นำก็เป็นไปเอง คุณภาพของผู้สำเร็จการ ศึกษานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราจะทำได้อย่างไร นี้เป็นเรื่องที่จะต้องคิด
สำหรับงานค้นคว้าวิจัยต่างๆ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้วิจัยมากมาย อย่างปัญหาที่อาตมภาพได้พูดมาแล้วก็เป็นเรื่องควรแก่การวิจัยหลายเรื่อง น่าจะยกมาพิจารณา เช่น แม้แต่เรื่องสภาพทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน เมื่อกี้นี้ลืมเล่าไปอันหนึ่งว่า ในเรื่องสภาพพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เมื่อกี้นี้พูดแต่เกาหลี ไม่ได้พูดถึงประเทศไทย ที่บอกว่าดูแล้วพระพุทธศาสนาจะแย่ไหม บางทีเราชอบพูดเรื่องดีและก็ใจชื้น แต่ที่จริงควรจะพูดเรื่องที่น่ากลัวบ้าง เราจะได้ไม่ประมาท เมื่อไม่กี่วันมานี้มีผู้มาบอกว่า พระสายวัดป่าสายหนึ่งท่านไปตั้งสำนักใหม่อยู่ในภาคกลาง และผลที่สุดต้องละทิ้งสำนักออกมา ถอนตัว ล้มเลิกสำนัก เพราะเหตุว่าบาทหลวงได้เปลี่ยนชาวบ้านทั้งหมู่บ้านให้เป็นคริสต์เสียแล้ว ไปบิณฑบาตไม่ได้ นี้ก็เป็นตัวอย่าง
ในเวลาเดียวกัน ถ้ามองออกไปทางด้านยุโรป ก็พระสายวัดป่าเหมือนกันกำลังเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้ผลเป็นอย่างดี อย่างสายอาจารย์ชาที่ประเทศ อังกฤษไปตั้งที่ซัสเซกส์ วัดชิดเฮิร์สท์ หรือ วัดจิตวิเวก ตอนนี้กำลังตั้งสาขาใหม่กระจายไปหลายแห่ง แห่งหนึ่งมาตั้งที่กรุงลอนดอน ชื่อวัดอมราวดี กำลังรุ่งเรืองขึ้นมา นี้เป็นเรื่องที่มองดูก็กลับกันอยู่ เอาละนอกเรื่องไปอีกแล้ว
เรื่องการค้นคว้าวิจัยโดยเฉพาะในปัจจุบัน ในเมื่อเหตุการณ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้แล้ว การวิจัยเกี่ยวกับสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนาก็มีความสำคัญมาก จึงเป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่เราจะควรทำการค้นคว้าวิจัย เมื่อวิจัยค้นคว้าแล้วก็มีการผลิตตำรับตำรา มันก็ไปพันกันกับเรื่องคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา การเป็นแหล่งนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ พอเราเป็นแหล่งของนักปราชญ์มีคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาดีแล้ว มันก็เป็น แหล่งบริการไปด้วยแน่นอน เพราะว่าใครๆ ก็มองมาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยก็ต้องให้บริการ การทำหน้าที่บริการก็ติดตามมาเองด้วยดี
บริการนี้ควรจะรวมถึงหอสมุดทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ด้วย ถ้ามองดูในการรายงานการประชุมบาทหลวงเมื่อกี้ก็จะเห็นว่า เป้าที่หนึ่งของเขา ก็คือ การสร้างหอสมุดที่เป็นศูนย์รวมคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งเก่าทั้งใหม่ ทีนี้เรามองดูฝ่ายพุทธศาสนาในปัจจุบัน ก็ปรากฏว่าไม่มีห้องสมุดพุทธศาสนาที่สมชื่อจริงๆ ที่ไหนเลย ในแง่ของวิชาการ หรือในแง่ของสถาบันระดับมหาวิทยาลัยนั้น ห้องสมุดถือว่าเป็นแกนเป็นหลักใหญ่ ถ้าจะทำหน้าที่บริการประชาชนเอื้อแก่สังคม หอสมุดก็เป็นแหล่งสำคัญที่น่าจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ น่าเป็นห่วงที่ว่าเราไม่สามารถจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จขึ้นมาได้ ตอนที่สร้างพุทธมณฑล ก็มีการพูดกันว่าจะสร้างหอสมุดพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วนานๆ มาจนบัดนี้คำพูดนั้นหายไปแล้ว และอาจไม่มีการนึกถึงกัน ว่าได้เคยคิดกันว่าจะสร้างหอสมุดพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พุทธมณฑล ถ้าหากไม่มีความคิดในเรื่องอย่างนี้ ต่อไปพุทธมณฑลก็อาจเป็นอย่างที่อาจารย์ท่านหนึ่งพูดแทรกขึ้นมา ท่านบอกว่า เป็นปาร์ค ก็อาจจะเป็นได้ คือเป็นสวนสาธารณะ แต่ก็เป็นที่ร่มรื่น ก็เป็นสิ่งที่มีความดีมีคุณค่าอย่างหนึ่ง แต่มันจะพอหรือ ก็เป็นข้อที่น่าคิดน่าพิจารณาอยู่เหมือนกัน
แล้วในยุคนี้ก็มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเขาเรียกว่าไฮเทคโนโลยี มีการใช้คอมพิวเตอร์ในกิจการแทบทุกอย่างในพุทธศาสนาก็ควรจะมีการใช้คอมพิวเตอร์เหมือนกัน เมื่อไม่นานมานี้ท่านก็คงจะได้ยินข่าวทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยออกติดๆ กันสองวัน องค์การศาสนาอิสลามได้ประกาศบอกว่าได้สามารถบรรจุคัมภีร์อัลกุรอ่านลงในเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว มีเป็นแห่งแรกของโลก ทีนี้ต่อไปการค้นคว้าพระไตรปิฎกก็ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์เหมือนกัน เวลานี้ก็มีสถาบันแห่งหนึ่งแล้วในประเทศไทยที่กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ทีนี้มหาจุฬาฯ ก็ไม่ทราบว่าจะคิดพิจารณากันอย่างไร นี้เป็นเรื่องของการที่จะใช้อุปกรณ์เข้ามาช่วยการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และบริการ การศึกษาทางพระพุทธศาสนา เพราะอุปกรณ์นี้ใช้ได้ทั้ง ๓ ด้าน
ต่อไปนี้ก็เกี่ยวกับความเป็นแบบอย่าง แบบอย่างนี้หมาย ถึงระบบแบบแผนในการจัดการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ซึ่งที่อื่นเห็นแล้ว อยากจะเอาเป็นตัวอย่างหรือดำเนินการ ไม่เฉพาะในด้านหลักสูตร หรือเนื้อหาวิชาการเท่านั้น แต่ในแง่ของระบบด้วยเช่น ความสามารถในการประสานปริยัติกับปฏิบัติให้เข้ากันเป็นต้น อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาที่จะเป็นแบบอย่างว่าทำได้สำเร็จผลแค่ไหน
ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องของสิ่งที่จะต้องทำ ส่วนวิธีทำก็คิดว่าเป็นเรื่องรายละเอียดที่เราจะต้องพิจารณากัน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคงจะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือกันเป็นพิเศษ
แต่อย่างหนึ่งที่พึงทำแน่นอนก็คือการติดต่อสัมพันธ์กับสถาบันที่ทำการศึกษาค้นคว้าพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก และการติดตามรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ข้อนี้ต้องยอมรับว่าเรามีข้อบกพร่องมาก การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปแล้วแทบจะไม่มีเลย แม้แต่เหตุการณ์ในประเทศเราก็ตามกันแทบจะไม่ทัน เราไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ในวงการทางพุทธศาสนาเอง ทั้งเหตุการณ์จากภายนอกที่เข้ามากระทบกระเทือนพุทธศาสนา อย่างเรื่องบาทหลวงคริสต์เข้ามาทำอะไรกระทบกระเทือนพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นไปในทางดี ทางไม่ดี หรือในทางบวกทางลบ เราก็ไม่รู้ หรือมารู้ตามหลังเรื่องตั้งเป็นสิบปี และที่รู้ก็เล็กน้อยเท่านั้น ความจริงเป็นเรื่องที่ต้องรู้ ถ้าเป็นเรื่องดีก็เป็นเรื่องช่วยเหลือกันได้ ถ้าเป็นทางไม่ดีก็จะได้ว่ากล่าวตักเตือนกัน แต่เราก็ไม่ค่อยได้รู้ข่าว ติดตามข่าวกันไม่ทัน ไม่เฉพาะข่าวในแง่การศึกษาเท่านั้น แม้ในวงกว้างถึง กิจการระหว่างประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ควรตระหนักไว้ และในการติดต่อกันนั้น ก็ควรมีการประสานงานกัน การร่วมมือกันในทางวิชาการต่างๆ การจะเป็นผู้นำเขาได้นั้น อันหนึ่งคือจะต้องร่วมมือกับเขาได้ การที่ผู้อื่นเขามาขอร่วมมือ ก็แสดงถึงความเป็นผู้นำเหมือนกัน เพราะว่าการที่เขาอยากมาร่วมมือกับเราก็เพราะเขามองเห็นว่าเราสามารถทำอะไรให้เขาได้
ต่อไปนี้ก็คือ การสนับสนุนผู้ศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือหน่วยงานอะไรก็ตามที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าหรือเป็นนักปราชญ์ในพระพุทธศาสนา เป็นวัด เป็นสถาบันที่เป็นศูนย์กลางในการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็ต้องหาวิธีเข้าสนับสนุนส่งเสริม คือไม่มาจำกัดตัวอยู่ภายในเท่านั้น จะต้องมองออกไปภายนอกว่ามีผู้ใดจะทำคุณประโยชน์ ทำความเจริญก้าว หน้าแก่พระพุทธศาสนา ก็ไปอุดหนุนค้ำชูช่วยเหลือ อันนี้อาจจะเป็นเรื่องเกินกำลัง เพราะต้องอาศัยความพร้อมหลายอย่าง รวมทั้งกำลังทุนด้วย
นอกจากนั้นเป็นเรื่องวารสารวิชาการ ซึ่งอาจจะมีความจำเป็น คือไม่ใช่วารสารที่มุ่งเผยแพร่เท่านั้น แต่วารสารทางวิชาการโดยเฉพาะจะต้องมีด้วยหรืออย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา เมื่อทำเรื่องในวารสารวิชาการให้ดีได้ ก็ก้าวไปสู่การผลิตตำราได้ดีด้วย เพราะวารสารนั้นสามารถเป็นจุดแรก หรือเป็นบันไดที่จะนำ ไปสู่การผลิตตำราขึ้นมา เรื่องที่ดีๆ ก็อาจออกไปทางวารสารก่อน เป็นการสนับสนุนเบื้องต้นให้เขาฝึกในทางวิชาการ เสร็จแล้วก็นำเรื่องนั้นไปพิมพ์เป็นตำรับตำรา หรือบุคคลที่ฝึกอย่างดีในทางวารสาร เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต่อไปก็ทำเป็นตำราใหญ่ขึ้น
แล้วก็ข้อที่ว่าเมื่อกี้คือ การประสานระหว่างการศึกษาและการปฏิบัติให้เป็นการศึกษาที่นำไปเป็นการปฏิบัติได้ การปฏิบัตินี้ก็เป็นการปฏิบัติหลายด้านหลายอย่าง ปฏิบัติอันหนึ่งก็คือ คำว่าปฏิบัติอย่างที่นิยมในเมืองไทยในปัจจุบัน ที่ว่าการปฏิบัติธรรมหมาย ถึงการเจริญกรรมฐาน ปฏิบัติที่สอง หมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ในกิจการงานหรือในชีวิตประจำวันทั่วไป การทำงานทำการ การเป็นนักเผยแพร่ที่ดี การทำงานในสำนักงาน การเป็นเลขานุการ อะไรต่างๆ ก็เรียกว่าเป็นปฏิบัติการเหมือนกัน จะต้องให้มีความสามารถในการปฏิบัติเหล่านี้ด้วย
นี่ก็เป็นเรื่องต่างๆ ที่ได้พูดคลุมๆ ไปทั้งเรื่องที่จะต้องทำ และวิธีที่จะทำ
No Comments
Comments are closed.