สันติภาพ เกิดจากอิสรภาพและความสุข

20 ธันวาคม 2537
เป็นตอนที่ 1 จาก 2 ตอนของ

สันติภาพ
เกิดจากอิสรภาพและความสุข1

สี่สิบเก้าปีล่วงมาแล้วใน พ.ศ. ๒๔๘๘ สงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลง เป็นการปิดฉากภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติได้เคยประสบ ทันทีที่สงครามยุติก็ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น อันเป็นความพยายามที่จะป้องกันมิให้มีภัยพินาศที่ยิ่งใหญ่เช่นนั้นเกิดซ้ำขึ้นอีก ดังที่ได้มีวัตถุประสงค์ข้อสำคัญ คือการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างชาติ แต่แทบจะทันทีทันใดที่ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาตินั้นขึ้นมา สงครามเย็นก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้น ถึงแม้ว่าบัดนี้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาก็ได้ปะทุขึ้น ณ ดินแดนต่างๆ มากมายหลายแห่งในโลก หนำซ้ำยังเกิดปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของธรรมชาติแวดล้อม ที่กลายเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อความอยู่รอดของมนุษย์ด้วย ถึงแม้ว่าความขัดแย้งต่างๆ ในโลกจะได้รับการแก้ไขเสร็จสิ้นไปได้บ้าง แต่สันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยที่แท้จริงของโลกก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริง

ดูเหมือนว่ามนุษย์จะมีความฝักใฝ่โน้มเอียงไปในทางที่จะก่อความขัดแย้งและความรุนแรงมากกว่าจะสร้างสรรค์สันติภาพ เห็นได้ชัดว่าการทำลายสันติภาพง่ายกว่าการรักษาสันติภาพ ดังปรากฏว่า การขัดแย้งและสงครามกลายเป็นปกติวิสัย ส่วนสันติภาพเป็นเพียงภาวะแทรกคั่นชั่วคราว อย่างไรก็ดี สภาพเช่นนี้มิใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ ความขัดแย้งเกิดขึ้นที่ใจ และที่ใจนั่นแหละเราจะแก้ไขความขัดแย้งได้

โดยที่แท้แล้ว ตัวเราก็คือใจของเรานั่นเอง เมื่อเราปล่อยให้ความอยากได้ผลประโยชน์ในทางวัตถุขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยไม่ได้ควบคุม เราจะมองเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นปฏิปักษ์ และมองเห็นธรรมชาติเป็นวัตถุที่จะเอามาใช้หาประโยชน์ ยิ่งเมื่อมีความเชื่อว่า ความสุขที่แท้จะลุถึงได้ด้วยการบำรุงบำเรอความสุขทางเนื้อหนัง เราก็ได้พัฒนาวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยมสุดโต่งขึ้นมา ทำให้การแข่งขันและการบริโภคกลายเป็นแบบแผนของการใช้ชีวิตและเป็นที่ทุ่มเทพลังงานของสังคม มนุษย์ได้กลายเป็น “นักบริโภค” ผู้อุทิศตัวให้แก่วิถีชีวิตแห่งการแข่งขันเพื่อการบริโภค แต่การแข่งขันนั้นได้ทำให้เราตกอยู่ในภาวะของการมี “สงครามเย็น” อย่างถาวรกับเพื่อนบ้านของเรา และวิถีชีวิตแบบนักบริโภคก็ทำให้เราเกิดปัญหากับสภาพแวดล้อม เมื่อไม่มีความสุขอยู่ข้างใน เราก็พยายามแสวงหาความสุขจากข้างนอก โดยการเสพสิ่งบำรุงบำเรอความสุขทางเนื้อหนัง เมื่อไม่มีสันติภาพและความมั่นคงภายในจิตใจ เราก็พยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาด้วยการไปบังคับควบคุมและข่มขี่ครอบงำผู้อื่น นอกจากนั้น การแบ่งแยกเชื้อชาติผิวพวกเผ่าพันธุ์ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น

แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกฝนพัฒนาด้วยการศึกษา ศักยภาพในการเป็นสัตว์ที่ฝึกได้และสามารถกระทำการที่สร้างสรรค์นี่แหละ ที่เป็นพรพิเศษของความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อการศึกษาขาดดุลยภาพ การศึกษานั้นก็ได้แต่ส่งเสริมความสามารถของมนุษย์ในการที่จะแสวงหาวัตถุสิ่งเสพมาบำรุงบำเรออินทรียสัมผัส การศึกษานั้นละเลยศักยภาพที่แท้จริงของเรา ทำให้เรามิได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข แม้ว่าวัตถุสิ่งเสพต่างๆ จะมีจำนวนเพิ่มพูนล้นเหลือมากขึ้น แต่ความสุขกลับลดน้อยลง

การหาความสุขภายนอกอย่างนั้นประกอบด้วยการแก่งแย่งช่วงชิง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เราเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ความเพียรพยายามของเราในการหาความสุขแบบนั้น ยังก่อให้เกิดความเสื่อมสลายแก่สภาพแวดล้อมอีกด้วย และคุณภาพชีวิตโดยรวมของเราก็ได้เริ่มถูกบ่อนทำลายลงไป ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากความสุขแบบนี้ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เราต้องฝากความสุขไว้กับวัตถุบำรุงบำเรอภายนอกมากยิ่งขึ้น แล้วก็ทำให้เราสูญเสียอิสรภาพ

ในทางตรงข้าม การศึกษาที่เป็นกุศลและมีดุลยภาพ จะฝึกฝนมนุษย์ให้พัฒนาความสามารถ มิใช่เพียงในการที่จะแสวงหาวัตถุมาเสพเท่านั้น แต่ให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย เมื่อเราเป็นคนที่มีความสุขง่ายขึ้น ความต้องการวัตถุมาเสพก็ลดน้อยลงไป ทำให้ทัศนคติในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวพลอยลดน้อยลงไปตาม คนที่มีความสุขอยู่ข้างในแล้วก็มีจิตใจโน้มน้อมไปในทางที่จะช่วยทำให้คนอื่นมีความสุข ในเมื่อวัตถุบำรุงบำเรอต่างๆ มิใช่เป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้เขามีความสุข เขาก็สามารถแบ่งปันวัตถุเหล่านั้นให้ผู้อื่นได้ ความสุขที่แต่ก่อนนี้เป็นแบบแก่งแย่งช่วงชิง ก็เปลี่ยนมาเป็นความสุขแบบเผื่อแผ่และประสานกลมกลืน

ในด้านจริยธรรม จริยศึกษาของเราในปัจจุบันได้เห็นตระหนักว่า ปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ เกิดจากการแข่งขันทะยานหาความสุขกันอย่างไม่มีขอบเขต จึงสอนคนให้รู้จักควบคุมตนเองโดยไม่ล่วงละเมิด “สิทธิมนุษยชน” ของคนอื่น เพราะฉะนั้น เราจึงมีชีวิตอยู่ในสังคมที่รักษาความสงบไว้ได้ ด้วยการวางกฎเกณฑ์ข้อบังคับ แต่จริยธรรมใดก็ตามที่ต้องใช้ความกลัวและความจำใจจำยอมเป็นพื้นฐาน ย่อมเป็นจริยธรรมที่ไม่อาจวางใจได้ จริยธรรมที่มีลักษณะแบบห้ามสั่งบังคับนั้นเป็นจริยธรรมที่ไม่เพียงพอ ในทางตรงข้าม จริยธรรมที่แท้จริงต้องมีพื้นฐานมาจากความประสานกลมกลืนและความสุข ชนเหล่าใดมีสันติภายในจิตใจและมีความสุขที่เป็นอิสระ ชนเหล่านั้นย่อมไม่ลุ่มหลงเอาทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องบำรุงบำเรอเสริมความยิ่งใหญ่ของตน แต่ทรัพย์และอำนาจนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์ จริยธรรมในทางสร้างเสริมเช่นนี้แหละคือสิ่งที่ต้องการในยุคสมัยปัจจุบันของพวกเรา

การให้การศึกษาของเราส่วนใหญ่มักเป็นไปในทางที่จะสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกอยากได้อยากเอา เด็กๆ ร่ำเรียนกันไปในแนวทางที่จะมองหาวัตถุบำรุงบำเรอเป็นจุดหมาย เราจะต้องปรับให้เกิดความสมดุลในเรื่องนี้โดยการศึกษาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ควรจะต้องปลูกฝังจิตสำนึกในการให้ การฝึกให้รู้จักให้จะสอนเด็กให้เกิดมีความสุขจากการให้ และก่อให้เกิดเมตตาธรรม เมตตาหรือความรักนี้หมายถึงความปรารถนาที่จะให้คนอื่นมีความสุข ด้วยการศึกษาอย่างนี้ เราจะรู้จักมองคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ ที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเช่นเดียวกับเรา เนื่องจากการให้เป็นการสนองความต้องการของเราที่อยากเห็นคนอื่นมีความสุขทั้งสองฝ่าย คือทั้งเราและเขา หรือทั้งผู้ให้และผู้รับ จึงต่างก็เป็น “ผู้ได้” และมีความสุขด้วยกัน โดยนัยนี้การให้ซึ่งตามธรรมดาถือกันว่าเป็น “การเสีย” ก็กลับกลายเป็น “การได้” ซึ่งทำให้เกิดความสุข ด้วยความสุขแบบประสานเช่นนี้ ความต้องการหาความสุขแบบเห็นแก่ตัวต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ทำให้ความตึงเครียดในสังคมลดน้อยลงไปด้วย

จริยธรรมแบบพอใจ กับจริยธรรมแบบจำใจ มีความแตกต่างกันมาก เมื่อเข้ามาในจริยธรรมแห่งความเอื้อประสานและความสุข วิธีคิดของเราจะเปลี่ยนไป เมื่อตั้งจิตคิดจะเอา เราจะมองคนอื่นเป็นคู่แข่งหรือเป็นเหยื่อ แต่เมื่อคิดจะให้ เราจะมองเขาด้วยความเข้าใจ และเกิดความเมตตากรุณา ความเข้าใจความหมายของถ้อยคำต่างๆ ที่สำคัญต่อชีวิตของคน เช่น คำว่า ความเสมอภาค และความสุข เป็นต้น ก็เปลี่ยนไป เมื่ออยู่ในระบบแข่งขัน คนจะมองความหมายของความเสมอภาคในแง่ของการปกป้องตัวเอง และเรียกร้องสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตน แต่ในระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามธรรม ความเสมอภาคกลายเป็นภาวะที่ช่วยให้เราเกิดมีโอกาสมากที่สุดที่จะร่วมมือสร้างสรรค์เอกภาพและประโยชน์สุขให้แก่สังคม ความสุขแบบแก่งแย่งแบ่งแยก กลายมาเป็นความสุขแบบประสานกลมกลืนกันได้ฉันใด ความเสมอภาคแบบแก่งแย่งแข่งขัน ก็เปลี่ยนมาเป็นความเสมอภาคแบบประสานกลมกลืนซึ่งกันและกันได้ฉันนั้น

ในระดับที่สูงขึ้นไปกว่านั้น มนุษย์สามารถฝึกฝนพัฒนาตนให้รู้จักสร้างความสุขภายในขึ้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุบำรุงบำเรอความสุขจากภายนอก การศึกษาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้คนเกิดความหลงผิดคิดไปว่า เขาจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อมีวัตถุเสพ จึงทำให้เขานำเอาเรี่ยวแรงความเพียรพยายามออกไปใช้ข้างนอก การพยายามหาความสุขจากภายนอกแบบนี้ ย่อมต้องมีความเครียดและความทุกข์แฝงมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเรานำเอาความเพียรพยายามนั้นเข้ามาใช้ข้างในให้มากขึ้นบ้าง โดยบำเพ็ญข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น การรู้จักมนสิการและการทำจิตภาวนา เราก็อาจจะได้พบกับความสุขแบบที่ประณีตและเป็นอิสระมากกว่า ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากจิตอันนิ่งสงบและปัญญาที่รู้ความจริงแล้ว ความสุขแบบนี้ก็จะช่วยให้เราหลุดพ้นไปจากการกระทำทั้งหลายที่เป็นการเบียดเบียนและเห็นแก่ตัว

ในขั้นสูงสุด การพัฒนาคนจะนำไปสู่การรู้แจ้งสัจธรรม และความเข้าใจทั่วตลอดถึงความสัมพันธ์อิงอาศัยกันและกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชีวิตของเรา ทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัว เมื่อปัญญารู้แจ้งสอดคล้องกับสัจธรรมแล้ว ก็จะเกิดความหลุดพ้นเป็นอิสระ และเมื่อนั้น สภาวะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย อันเป็นสามัญลักษณะของสังขารทั้งปวงในโลกนี้ ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดความเครียด ความกดดันวุ่นวายใจ และความทุกข์แก่เราได้อีกต่อไป นี่ก็คือการรู้แจ้งถึงสภาวะที่เป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และด้วยการตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เราก็จะประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย คือทั้งบุคคล สังคมและระบบนิเวศ ให้กลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

เมื่อเรามัวแต่วุ่นวายหาความสุข เราก็ไม่มีเวลาให้แก่ผู้อื่น พร้อมกันนั้นความสุขก็กลายเป็นสิ่งที่เราขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีในปัจจุบัน แต่รออยู่ข้างหน้า ต้องคอยตามหาด้วยความหวังว่าจะได้ในอนาคต ดังปรากฏว่าอาการหิวกระหายความสุขนี้แพร่ระบาดไปทั่ว ไม่ว่าจะในครอบครัวก็ตาม ในโรงเรียนก็ตาม ที่ทำงานก็ตาม ทั่วสังคมไปหมด สภาพจิตใจที่ขาดแคลนความสุขอย่างนี้ เป็นกันอยู่ดาษดื่นปรากฏให้เห็นทั่วไปในสังคมของเราทุกวันนี้

ความสงบเริ่มที่บ้าน เราจะต้องนำความรักและความสุขคืนมาให้แก่ครอบครัว นำความเอื้ออาทรและความสุขที่แบ่งปันได้คืนมาให้แก่โรงเรียน โดยสอนให้คนรู้จักความสุขแบบประสานที่ทุกคนมีส่วนร่วม คนมีความสุขก็จะแผ่ขยายระบายความสุขของตนออกไปแก่คนรอบข้าง และช่วยบรรเทาความขัดแย้งแก่งแย่งชิงดีกัน

จงถามตนเองให้น้อยลงว่า ฉันจะได้อะไร และจงถามตนเองให้มากขึ้นว่า ฉันจะทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้บ้าง ในทำนองเดียวกัน พึงมองเห็นคุณประโยชน์ที่ธรรมชาติได้ให้แก่เรา แทนที่จะเรียกร้องเอาจากมันมากยิ่งขึ้นไปอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน พึงเรียนรู้ด้วยใจชื่นชมโดยมีจิตสำนึกมองเห็นคุณค่าที่ธรรมชาติและผู้คนที่อยู่รอบข้างเราได้ช่วยเหลือเกื้อกูลให้เรามีชีวิตเป็นอยู่ด้วยดีในบัดนี้ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาวิธีคิดแบบกตัญญูรู้สำนึกคุณอย่างนี้ ความเอื้ออาทรและความสุขแบบประสานก็จะก่อให้เกิดสันติสุขขึ้น ทั้งที่ใจและในสังคม ความเอื้ออาทรและความสุขเช่นนั้นจะประสานสอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจที่หยั่งซึ้งลงไปถึงความเป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์กันของสรรพสัตว์ต่อหน้ากฎธรรมชาติ ในขั้นสุดท้ายเราจะบรรลุสันติภาพได้ก็ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยกรุณาดังกล่าวมานี้

ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราสามารถประนีประนอมกันได้ แม้แต่จะก้าวพ้นการประนีประนอมไปสู่ความประสานกลมกลืนกันด้วยอาศัยความรักและไมตรีก็ได้ แต่เราไม่สามารถประนีประนอมกับสัจธรรมหรือความจริงได้ เราจะสัมพันธ์กับความจริงหรือสัจธรรมนั้นได้ก็ด้วยความรู้และปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในการเกี่ยวข้องกับความจริง จึงควรจะต้องส่งเสริมการสากัจฉาและเสรีภาพในทางความคิด เราควรพัฒนาให้มีวัฒนธรรม ที่ความรักใคร่ไมตรีและการร่วมมือกันเป็นมาตรฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่พร้อมนั้นก็ให้เสรีภาพและการแสวงหาความรู้อย่างไม่ต้องประนีประนอมกัน เป็นมาตรฐานสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจธรรม

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในยุคสมัยที่ผ่านมานี้ โดยส่วนใหญ่ได้ถูกกำหนดโดยวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาและปรัชญาของตะวันตก ซึ่งทำให้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ วัตถุประสงค์ของวิทยาศาสตร์ก็คือการที่จะพิชิตและครอบครองธรรมชาติ แล้วนำเอาธรรมชาติมาจัดสรรสนองความต้องการในการหาผลประโยชน์ของมนุษย์ ทัศนคติแบบที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติเช่นนี้ซึ่งได้ปรับแปรออกเป็นปฏิบัติการในเชิงหาผลประโยชน์แบบเห็นแก่ตัวโดยอาศัยเทคโนโลยี ได้ก่อให้เกิดผลร้ายแก่สภาพแวดล้อมอย่างร้ายแรงดังที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ ถึงเวลาแล้วที่วิทยาศาสตร์ จะต้องกลับตัว เปลี่ยนท่าทีและนำอารยธรรมให้ก้าวหน้าไปในทิศทางใหม่ มนุษย์จะต้องแสวงหาความรู้ มิใช่เพื่อมุ่งแต่จะหาผลประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัว แต่จะต้องแสวงหาความรู้เพื่อเอามาเป็นประทีปส่องช่วยชี้ช่องทางให้เรามองเห็นวิธีที่จะได้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่ต้องทำร้ายมัน เทคโนโลยี จะต้องได้รับการกำหนดบทบาทให้ชัดเจนมากขึ้น โดยมุ่งที่จะใช้เป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมดำรงอยู่ร่วมกันได้อยางยั่งยืนและประสานกลมกลืน

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ต้องเริ่มที่ใจ ใจที่จะทำการเปลี่ยนแปลงนี้ได้สำเร็จ ก็คือจิตใจที่เข้าถึงความสงบ อิสรภาพและความสุขภายใน หากเราหวังจะสถาปนาสันติภาพในโลกนี้ให้สำเร็จ เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้สามารถประสบสันติสุขภายในและความสุขที่เป็นอิสระ ด้วยความหลุดพ้นจากความใฝ่ทะยานหาสิ่งเสพบำเรอสุข ความใฝ่แสวงอำนาจ และบรรดาทิฏฐิที่ก่อให้เกิดความแก่งแย่งและแบ่งแยกทั้งหลาย ภาวะนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องมีการฝึกฝนพัฒนาบุคคล ซึ่งก็คือภารกิจของการศึกษา

การริเริ่มให้รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพของยูเนสโก นับว่าเป็นการเดินหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง ในการสร้างสรรค์สันติภาพ ถือได้ว่าเป็นความเพียรพยายามที่น่าชื่นชม ข้าพเจ้าเข้าใจว่า รางวัลนี้มิใช่มีขึ้นเพียงเพื่อเป็นการยอมรับในผลสำเร็จที่บุคคลหรือองค์กรใดก็ตามได้กระทำแล้ว ในการสร้างสรรค์สันติภาพ เพราะเราจะต้องยอมรับความจริงว่า สันติภาพเช่นนั้น ยังหาได้เกิดมีขึ้นในโลกแต่อย่างใดไม่ แต่รางวัลนี้คงจะเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนใจ และส่งเสริมให้เรามาเพียรพยายามร่วมแรงร่วมใจกัน ในอันที่จะสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้สำเร็จ รางวัลนี้เป็นประดุจเสียงร่ำร้องเชิญชวนให้มากระทำการทุกอย่างยิ่งขึ้นไป เพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลที่แท้จริง คือโลกที่มีสันติสุขสำหรับมวลมนุษย์ รางวัลที่มอบให้ในวันนี้ จะได้รับจริง ก็ต่อเมื่อโลกมีสันติภาพอย่างจริงแท้ดังได้กล่าวนั้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปPeace Through Freedom and Happiness >>

เชิงอรรถ

  1. คำปราศรัยของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมปิฏก ในพิธีรับถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ (UNESCO Prize for Peace Education) ณ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๗

No Comments

Comments are closed.