สัมพันธ์กับคน ให้ได้ผลแก่งาน

3 เมษายน 2539
เป็นตอนที่ 17 จาก 20 ตอนของ

สัมพันธ์กับคน ให้ได้ผลแก่งาน

ต่อไปนี้อยากจะพูดอีกสักเรื่อง ๒ เรื่อง

ในการทำงานนั้น เราต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน เช่นเพื่อนร่วมงาน และผู้รับบริการ หรือโดยเฉพาะผู้บริหาร ก็ต้องทำงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลแถมเข้ามาด้วย

ในการเกี่ยวข้องกับผู้คนนั้น เราจะต้องมีหลักในการปฏิบัติ หลักการปฏิบัติต่อคนก็มีหลายอย่างหลายประการ แต่หลักธรรมที่ครอบคลุมที่สุดมีอยู่หมวดหนึ่ง ลองทายซิว่า หลักอะไร ที่ใช้ได้ครอบคลุมหมด หลักอะไรเอ่ย?

ได้ยินแว่วๆ พูดดังๆ หน่อย “พรหมวิหาร ๔” แน่นอนเลย พรหมวิหาร ๔ เป็นหลักที่ครอบคลุมสำหรับการที่มนุษย์อยู่ในโลก และเป็นส่วนร่วมของโลก

คำว่า “พรหมวิหาร” ก็บอกอยู่ในตัวแล้ว เพราะพรหมวิหาร แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม ก็คือ ธรรมประจำใจของผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทุกคนทำตัวเป็นพรหม โดยไม่ต้องรอเทพเจ้า คือพระพรหม

ขอขยายความว่าในศาสนาพราหมณ์ เขามีเทพเจ้าสูงสุด คือ พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และบำรุงเลี้ยงอภิบาลโลกไว้ พอครบกัปหนึ่งโลกทะลาย พระพรหมก็สร้างโลกขึ้นมาใหม่อีก พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ให้เราทุกคนทำตัวเป็นพรหมผู้ทำหน้าที่สร้างโลก โดยไม่ต้องรอพระพรหมเทพเจ้ามาสร้าง หมายความว่าให้เราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อภิบาลโลกเสียเอง

เราจะทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อภิบาลโลก ก็ต้องมีธรรมประจำใจของพรหม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ทำอย่างไรถึงจะมีพรหมวิหาร ๔ ประการนี้ได้ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ พูดโดยสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่จะต้องใช้ปฏิบัติ หลายคนแยกความหมายของ ๔ ข้อนี้ไม่ออก เช่น เมตตา กับกรุณา หลายท่านแยกไม่ได้เลยว่าต่างกันอย่างไร? แต่ถ้าใช้วิธีพูดแบบสถานการณ์ จะเข้าใจได้ทันที

เมตตา กับกรุณา คนไทยใช้มากจนเป็นภาษาไทย ส่วนมุทิตาใช้น้อยลงไป บางทีใช้เป็นพิธี เช่นไปแสดงมุทิตาจิต ส่วนอุเบกขา คนไทยไม่รู้เรื่อง แล้วยังใช้ผิดด้วย

ทีนี้ก็ดูว่า ๔ ข้อนี้มีความหมายอย่างไร โดยดูสถานการณ์ที่เราจะปฏิบัติ คือสถานการณ์ที่เกิดแก่คนอื่น เพราะธรรมชุดนี้เป็นธรรมที่จะใช้กับผู้อื่น เพราะฉะนั้นจะเข้าใจความหมายชัด เมื่อดูการใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น

สถานการณ์ที่ ๑ คนอื่นเขาอยู่เป็นปกติ เราก็ใช้ธรรมข้อที่ ๑ คือ เมตตา ได้แก่ ความเป็นมิตร

“เมตตา” มาจากรากศัพท์เดียวกับ มิตตะ ซึ่งแปลว่า มิตร เอา อิ ข้างหน้าเป็น เอ เอา อะ ข้างหลังเป็น อา ก็เป็น เมตตา มิตตะ เป็นคน เมตตา เป็นคุณธรรม

เมตตา ก็คือ คุณธรรมของมิตร ความเป็นมิตร น้ำใจของมิตร หรือคุณสมบัติของมิตรนั้นเอง ความเป็นมิตรก็คือ ความมีน้ำใจหวังดี ความปรารถนาดีต่อกัน อยากให้เขามีความสุข

พูดง่ายๆ เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็เป็นมิตร

สถานการณ์ที่ ๒ เขาเปลี่ยนจากปกติ เป็นตกต่ำลง เดือดร้อน มีความทุกข์ มีปัญหา เราก็ย้ายไปสู่ข้อที่ ๒ เป็นกรุณา

“กรุณา” แปลว่า พลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา พอเห็นคนอื่นมีทุกข์ ก็พลอยมีจิตใจไหวไปตามความทุกข์ของเขา ทนอยู่ไม่ได้ ต้องขวนขวายหาทางช่วยเหลือ ปลดเปลื้องความทุกข์ของเขา ให้เขาพ้นจากความทุกข์ หรือช่วยแก้ปัญหาให้เขา

จะเห็นว่า เมตตา กับ กรุณา ต่างกันชัดเลย

สถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ประสบความสำเร็จ ก้าวไปในการทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มีความสุข เราก็ย้ายมาใช้ข้อที่ ๓ คือ มุทิตา ได้แก่ พลอยยินดีด้วย เอาใจช่วย ส่งเสริมสนับสนุน

เขาทำความดี ทำถูกต้องแล้ว ก็ส่งเสริมเขา สนับสนุนเขาให้ทำดีมีความสุขสำเร็จยิ่งขึ้นไป ร่วมอนุโมทนาด้วย มุทิตาก็พลอย กรุณาก็พลอย กรุณานั้นพลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา มุทิตานั้นพลอยยินดีในความสุขของเขา

สถานการณ์ที่ ๔ ที่จะใช้อุเบกขา อันนี้ยากที่สุด

เมื่อกี้ ๓ ข้อ ทวนอีกทีหนึ่งว่า

สถานการณ์เขาเป็นปกติ เรามี เมตตา

สถานการณ์เขาตกต่ำเดือดร้อน เรามี กรุณา

สถานการณ์เขาขึ้นสูงได้ดีมีสุข เรามี มุทิตา

ต่อไปสถานการณ์ที่ ๔ เขาเป็นอย่างไร เราจึงจะมี อุเบกขา

ถ้าใครได้ข้อ ๔ ก็จะครบ แล้วธรรมะก็จะมีดุลยภาพ แต่ถ้าไม่ครบก็เสียดุลไปเลย ทั้งชีวิตก็เสียดุล สังคมก็เสียดุล

อย่านึกว่าธรรมะนั้นปฏิบัติไปแล้วจะดีหมด บางทีมันดีในแง่หนึ่งด้านหนึ่ง แต่อาจจะเสียดุล แล้วก็เกิดผลเสียอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้จะมีเมตตา กรุณา และแม้แต่มีมุทิตาด้วย ถ้าไม่มีอุเบกขา สังคมก็เสียดุล ที่เห็นง่ายๆ สังคมไทยนี่แหละเสียดุล เพราะขาดอุเบกขา

ทำไม? ก็เพราะไม่รู้จักสถานการณ์ที่ ๔ ที่จะต้องมีอุเบกขา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เปลี่ยน “อยากได้” เป็น “อยากทำ” คือจุดเริ่มที่จะนำสู่ความสำเร็จความสัมพันธ์จะได้ผลสมบูรณ์ ต้องรักษาดุลทั้งในใจและในสังคม >>

No Comments

Comments are closed.