หลวงพ่อที่ดัง มีเทวดาใหญ่เฝ้าดู

13 เมษายน 2550
เป็นตอนที่ 2 จาก 8 ตอนของ

หลวงพ่อที่ดัง มีเทวดาใหญ่เฝ้าดู

เมื่อกี้นี้ ท่านว่า ถ้าคนเป็นชาวพุทธจริง ก็ไม่ต้องห่วง ชาวพุทธจริง ถ้านับถือของพวกนี้ จะมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดผลเสียหายได้อย่างไร

เรื่องนี้มีอีกแง่หนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน คือการวางใจ วางท่าที คนในสังคมนี้ไม่ควรจะมัวมาเถียงกันแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย เป็นฝ่ายเอาจตุคามฯ กับฝ่ายไม่เอาจตุคามฯ

สำหรับพวกที่ไปตื่นหาจตุคามฯ นั้น ก็มีเรื่องที่ต้องเข้าใจเขาด้วย แล้วก็มีแง่ที่น่าเห็นใจอยู่บ้าง แต่ไม่มีแง่ที่จะตามใจ

อย่างที่เขาอ่อนแอคอยหวังผลหวังพึ่ง หรือเขาเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีความรู้เข้าใจเรื่องอย่างนี้ว่า จะปฏิบัติตัวอย่างไร ทำให้ตื่นตูมตามกระแสไปง่ายๆ อะไรอย่างนี้ ก็ต้องเข้าใจ และเห็นใจเขาบ้าง ต้องมองไปที่คนและสถาบันที่ควรจะทำหน้าที่รับผิดชอบ เช่นให้การศึกษาแก่เขา รวมทั้งพระนี่แหละด้วย แต่จะปล่อยให้จมกันอยู่อย่างนั้นก็ไม่ได้ นี่คือ เข้าใจ เห็นใจ แต่ไม่ตามใจ

สำหรับพวกที่เป็นชาวพุทธจริงนั้น เขามีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทวดา ซึ่งเข้าใจรู้กันมาอย่างเป็นระบบ ในที่นี้ควรทบทวนหลักที่เกี่ยวกับเรื่องเทวดาไว้ ๒ อย่าง คือ

๑) หลักความสัมพันธ์ระหว่างเทพทั้งหลายกับปูชนียวัตถุ-สถานในพระพุทธศาสนา

๒) หลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา หรือระหว่างคนกับเทพ

ถ้ารู้เข้าใจและทำตามหลักนี้แล้ว ก็จะไม่เสียหาย ชีวิตก็จะไม่เสื่อม สังคมก็จะไม่สลาย

ในข้อ ๑) อันนี้อาตมาเคยเล่ามาแล้วในเรื่องพระพรหม-พระภูมิ คือ คติของเราแต่โบราณเกี่ยวกับการนับถือพระศักดิ์สิทธิ์ อย่างพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร เป็นต้นนั้น คนก็ไม่ค่อยรู้เรื่องกัน คนจำนวนมากนึกไปเองว่า องค์หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้บันดาลโน่นบันดาลนี่ให้แก่ตน แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น องค์หลวงพ่อท่านไม่ต้องมาเหนื่อยอย่างนั้น

หลักมีอยู่ว่า ที่พระพุทธรูปสำคัญและพระสถูปเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้น มีเทพผู้ใหญ่เฝ้าหรือพิทักษ์รักษา และเทพเหล่านี้แหละคอยดูแลเหมือนเป็นผู้รับสนองงาน

หลักเรื่องนี้สืบมาจากคติเก่าแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นคติโบราณ จารึกไว้ในคัมภีร์ดั้งเดิม คือ เวลามีการสร้างสถานที่สำคัญอะไรต่างๆ แม้แต่บ้านของชาวบ้าน พวกเทวดาก็จะไปจับจองยึดครองสถานที่ ถ้าเป็นบ้านเศรษฐี ก็อาจจะไปอยู่ที่ซุ้มประตูบ้าน

อย่างในครั้งพุทธกาล ที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็มีเทวดามาอยู่ประจำที่ซุ้มประตู (ไม่ต้องสร้างศาลให้) หรือในตอนที่พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธสร้างเมืองปาฏลีบุตร (ต่อมาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันเรียกว่าเมืองปัตนะ หรือ Patna) เทวดาทั้งหลายก็มาครองสถานที่ต่างๆ ตามหมาะสมลดหลั่นกันไปตามศักดิ์ของตนๆ

ต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย เทวดาจำนวนมากก็มานับถือพระพุทธศาสนา หรือเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้วไปเกิดเป็นเทวดา เวลาเขาสร้างปูชนียสถานและพระพุทธรูปสำคัญ เทวดาผู้ใหญ่ที่เป็นชาวพุทธก็จะไปอยู่

โดยเฉพาะในสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญๆ เทวดาก็จะชอบเป็นธรรมดา เพราะจะได้ใกล้ชิดเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ แล้วก็ทำหน้าที่ดูแลรักษาไปด้วย เช่น เทวดาที่รักษาพระแก้ว ก็อาจจะอยู่ที่ฉัตร หรืออยู่ที่ฐานพระก็ได้ นี่ก็เป็นคติที่ว่ามีเทวดาคุ้มครองรักษาพระพุทธรูปสำคัญๆ

ทีนี้ ที่ว่าพระพุทธรูปองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์ บันดาลโน่น บันดาลนี่ ก็คือเทวดาที่พิทักษ์องค์พระนั่นเองเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องกิเลสของชาวบ้าน ไม่มาเที่ยวบันดาลลาภ บันดาลยศให้ใครหรอก และพระองค์ก็ปรินิพพานไปแล้ว มันเป็นเรื่องของเทวดาที่รักษา

แล้วก็เป็นธรรมดาว่า เทวดาที่มาอยู่กับหลวงพ่อองค์ใหญ่ ก็ย่อมเป็นเทวดาที่ยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์เดชศักดานุภาพมาก พร้อมกับที่จะต้องเป็นเทพที่ดีมีธรรมด้วย คือมีเมตตากรุณาสูงมาก อยากจะช่วยคนทุกข์ยาก และไม่กลั่นแกล้งข่มเหงรังแกคน ไม่เป็นอย่างเทวดาร้ายหลายองค์ที่ยิ่งใหญ่โต ก็ยิ่งเกรี้ยวกราดพิโรธเอาง่ายๆ คนก็เลยชอบไปหาหลวงพ่อ ไปบอกทุกข์ร้อนแก่หลวงพ่อ แล้วเทวดาที่นั่นก็จะดูแลรับสนองงานต่อไป ก็เป็นคติมาอย่างนี้

เมื่อมาดูในเรื่องนี้ ตำนานบางแหล่งก็ว่า ‘จตุคามรามเทพ’ เป็นเทพที่พิทักษ์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องก็มาลงตรงที่ว่า พระบรมธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช มีประวัติซึ่งเข้าคตินี้ คือเป็นเจดีย์ใหญ่ที่สร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า ก็มีเทวดามาเฝ้า ซึ่งบอกกันว่าชื่อ ‘จตุคามรามเทพ’

องค์จตุคามรามเทพนี้มีประวัติความเป็นมาหลายอย่าง บ้างก็ว่า เป็นกษัตริย์ศรีวิชัยมาก่อน บ้างก็ว่าเป็นกษัตริย์พี่น้อง ๒ พระองค์ จตุคามองค์หนึ่ง รามเทพองค์หนึ่ง ซึ่งเมื่อสวรรคตแล้ว ก็มาเป็นเทพพิทักษ์พระบรมธาตุ โดยหวังทำความดี จะได้บำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อการตรัสรู้ธรรมในภายภาคหน้า นี่ก็เป็นเรื่องตามคติพระพุทธศาสนาชัดๆ

ในรายละเอียดของบางตำนานที่ว่าเป็นกษัตริย์พี่น้อง ๒ พระองค์นั้น ก็ว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของเมืองและได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ และเมื่อสวรรคตแล้ว ประชาชนได้ยกย่องเทิดทูนให้เป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง แล้วยังมีรูปขนาดใหญ่ของทั้งสองพระองค์ประทับนั่งอยู่ข้างบันไดทางขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์ในวิหารพระทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารด้วย

เมื่อดูตามนี้ การที่องค์จตุคามและรามเทพจะทรงพิทักษ์พระบรมธาตุแล้วจะเป็นเทวดารักษาเมืองด้วย ก็ไม่แปลกอะไร เพราะตอนที่เป็นกษัตริย์ยังไม่สวรรคต ก็ทรงบูชาพระธาตุและรักษาเมืองอยู่แล้ว หลังสวรรคต ก็พิทักษ์พระบรมธาตุซึ่งเป็นหัวใจของเมือง พร้อมทั้งเป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง ซึ่งเหมือนรักษาร่างกายของเมืองด้วย เป็นอันว่ารักษาบ้านเมืองให้อยู่ดีพร้อมหมด ทั้งด้านร่างกาย และด้านจิตใจ

คนมาไหว้มาบูชาพระบรมธาตุ พิจารณาได้แล้วขั้นหนึ่งว่าเป็นคนดี ถ้าต้องการความช่วยเหลืออะไร ก็น่าจะควรแก่เมตตาการุณย์ขององค์จตุคามและรามเทพ ที่ดูแลพระบรมธาตุอยู่และกำลังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์

เลยพูดในข้อที่ ๑) คือคติเรื่องเทพเฝ้าพระพุทธรูปสำคัญและเทวดาพิทักษ์พระสถูปเจดียสถานมาเสียยืดยาว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สนทนาธรรม-คติจตุคามรามเทพที่ใหญ่แท้คือธรรม พึ่งกรรมดีกว่ารอเทวดา >>

No Comments

Comments are closed.