หลักการทั่วไปของการปฏิบัติธรรม: ชุดที่ ๒

15 กุมภาพันธ์ 2535
เป็นตอนที่ 4 จาก 6 ตอนของ

บทที่ ๔
หลักการทั่วไปของการปฏิบัติธรรม: ชุดที่ ๒

 

ส่วนทาน ศีล ภาวนา ที่เรียกว่าบุญสิกขา ก็มีสาระสำคัญอย่างเดียวกับไตรสิกขานี้เอง

๑. ทาน คือการให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือกัน เพื่อยึดเหนี่ยวสังคม และเพื่อส่งเสริมความดีงามและการทำสิ่งที่ดี

ทานเป็นเครื่องเสริมการอยู่ร่วมในสังคมให้เป็นไปด้วยดี มีระเบียบมั่นคงยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องฝึกหัดขัดเกลาทั้งพฤติกรรมภายนอกทางกาย วาจา และฝึกฝนอบรมจิตใจให้เจริญยิ่งขึ้นไปในคุณธรรม และความเอิบอิ่มเบิกบานผ่องใส

๒. ศีล ก็มีสาระอย่างศีลในไตรสิกขาข้างต้น

๓. ภาวนา แยกเป็นภาวนาในด้านสมาธิ และภาวนาในด้านปัญญา ตรงกับที่ได้บรรยายมาแล้ว

การปฏิบัติธรรมในความหมายที่เราพูดกันมาก ตามที่นิยมกันในปัจจุบันนี้ เป็นการจำกัดแคบในระดับภาวนา คือเป็นการปฏิบัติในระดับภาวนาและเน้นที่รูปแบบ เช่นไปนั่งสมาธิ เข้าไปในวัดที่วิเวก เข้าไปในป่า ก็เลยจะขอพูดเจาะจงเฉพาะระดับนี้เสียทีหนึ่งก่อน ว่าในแง่ที่เรานิยมปฏิบัติธรรมคือไปบำเพ็ญสมาธิเป็นต้นนี้ เราจะต้องรู้จักตัวภาวนาเสียก่อนว่ามันเป็นอย่างไร

ภาวนา นั้น จะต้องแยกจากภาวนาในภาษาไทยก่อน คือ ไม่ใช่เป็นเพียงมามุบมิบๆ แต่ปาก แล้วบอกว่าเป็นภาวนา หรือเอาถ้อยคำในภาษาพระ เอามนต์เอาคาถามาท่องมาบ่นแล้วว่าเป็นภาวนา ไม่ใช่อย่างนั้น

ภาวนา แปลว่า ทำให้เกิดให้มีขึ้น ทำให้เป็นขึ้น สิ่งที่ยังไม่เป็นก็ทำให้มันเป็น สิ่งที่ยังไม่มีก็ทำให้มันมีขึ้น เรียกว่าภาวนา เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปฏิบัติ ฝึกหัด หรือลงมือทำ ภาวนาจึงแปลอีกความหมายหนึ่งว่า การฝึกอบรม ฝึกนั้น เมื่อยังไม่เป็นก็ทำให้มันเป็น อบรมนั้น เมื่อยังไม่มีก็ทำให้มีขึ้น ยิ่งกว่านั้น เมื่อทำให้เกิดให้มี ให้เป็นขึ้นมาแล้ว ก็ต้องทำให้เจริญงอกงาม เพิ่มพูนพรั่งพร้อมขึ้นไปด้วยจนเต็มที่

ภาวนาจึงมีความหมายตรงกับคำว่า พัฒนา ด้วย และจึงแปลง่ายๆ ว่า เจริญ

ในภาษาไทยแต่โบราณมาก็นิยมแปล ภาวนา ว่าเจริญ เช่น เจริญสมาธิ เรียกว่าสมาธิภาวนา เจริญเมตตา เรียกว่าเมตตาภาวนา เจริญวิปัสสนา เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา

ตกลงว่า ภาวนา แปลว่าการฝึกอบรมหรือการเจริญ หรือการทำให้เป็นให้มีขึ้นมา และพัฒนาให้งอกงามบริบูรณ์

การภาวนาในระดับที่เราต้องการในที่นี้แยกเป็น ๒ อย่าง คือจิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจ อย่างหนึ่ง และปัญญาภาวนา การฝึกอบรมปัญญา อีกอย่างหนึ่ง

ถ้าใช้ตามนิยมของภาษาสมัยใหม่ เจริญ แปลว่า พัฒนา เพราะฉะนั้น จิตตภาวนา ก็แปลว่า การพัฒนาจิต หรือพัฒนาจิตใจ ส่วนปัญญาภาวนา ก็แปลว่า การพัฒนาปัญญา

จิตตภาวนานั้น เรียกง่ายๆ ว่า สมถะ บางทีก็เรียกว่าสมถภาวนา สมถะนี้ตัวแก่นของมันแท้ๆ คือสมาธิ เพราะสมถะนั้นแปลว่า ความสงบ ตัวแก่นของความสงบก็คือสมาธิ ความมีใจแน่วแน่ สมถะนั้นมุ่งที่ตัวสมาธิ จะว่าสมาธิเป็นสาระของสมถะก็ได้ ฉะนั้นก็เลยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมาธิภาวนา

คำว่าจิตตภาวนาก็ดี สมถภาวนาก็ดี สมาธิภาวนาก็ดี จึงใช้แทนกันได้หมด

ต่อไปอย่างที่สอง ปัญญาภาวนานั้น เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนา มุ่งให้เกิดปัญญา คือ ปัญญาที่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ปัญญาในขั้นที่รู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา แปลว่ารู้แจ้ง ไม่ใช่รู้แค่ทำมาหาเลี้ยงชีพได้เท่านั้น แต่รู้สภาวะ รู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย จึงเรียกว่า วิปัสสนา ซึ่งก็เป็นปัญญาระดับหนึ่งนั่นแหละ

เพราะฉะนั้น วิปัสสนาภาวนา ถ้าจะเรียกให้กว้างก็เป็นปัญญา­ภาวนา

ตกลงก็แยกภาวนาเป็น ๒ อย่าง

อย่างที่หนึ่ง เรียกว่า จิตตภาวนาบ้าง สมถภาวนาบ้าง สมาธิภาวนาบ้าง

อย่างที่สอง เรียกว่า ปัญญาภาวนา หรือเรียกให้แคบจำกัดลงไปว่าวิปัสสนาภาวนา

เอาละเรื่องภาวนาก็ทำความเข้าใจกันง่ายๆ อย่างนี้

อย่างไรก็ตาม ได้บอกข้างต้นแล้วว่า ทาน ศีล ภาวนานี้ ท่านมุ่งสำหรับคฤหัสถ์ ดังนั้น บุญสิกขาจึงเน้นข้อปฏิบัติขั้นต้นๆ หรือขั้นพื้นฐาน คือ ทานเน้นที่อามิสทาน ได้แก่การให้วัตถุ ศีลเน้นที่ศีล ๕ หรือขยับขึ้นไปอีกก็เป็นศีล ๘ ส่วนภาวนาในที่นี้ ก็เน้นแค่เมตตาภาวนา คือการเจริญเมตตาหรือไมตรี ที่จะเป็นพื้นฐานแห่งสันติสุขของสังคม ถ้าสามารถทำได้มากกว่านั้น ก็ขยายออกไปสู่จิตตภาวนาและปัญญาภาวนาเต็มรูปอย่างที่ว่าข้างต้น

ว่าที่จริง ทั้ง ๒ ชุด คือ ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ที่จริงก็เรื่องเดียวกัน แต่ชุดหนึ่งเน้นด้านภายนอก เน้นด้านหยาบ จัดเป็นทาน ศีล และภาวนา โดยขยายด้านนอกเป็น ๒ อย่าง คือ ทาน กับ ศีล เอาข้างใน ๒ อย่างคือ สมาธิ และปัญญา ไปยุบเป็นภาวนาอย่างเดียว

ส่วนชุดศีล สมาธิ ปัญญา นั้น เอาด้านในคือภาวนาไปแยกละเอียดเป็นจิตใจ (สมาธิ) กับปัญญา แต่ด้านนอกคือ ทานกับศีลนั้นรวมเป็นอันเดียว เพราะว่าศีลนั้นหลักการก็คืออยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ส่วนทานก็เป็นองค์ประกอบในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ก็เลยมารวมอยู่ในคำว่าศีล

เพราะฉะนั้น เมื่อท่านได้ฟังคำว่า ทาน ศีล ภาวนา กับ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ก็ให้ทราบว่าที่จริงเป็นระบบอันเดียวกัน แต่เราแยกเพื่อให้เห็นจุดเน้นที่ต่างกัน สำหรับคฤหัสถ์จะเน้นด้านนอก จัดเป็นทาน ศีล ภาวนา แต่สำหรับพระสงฆ์จะเน้นด้านใน วางหลักเป็นศีล สมาธิ ปัญญา

อนึ่ง ชื่อเรียกก็คล้ายๆ กัน ชุด ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกท่านรู้จักกันดีแล้วว่าไตรสิกขา ไตร แปลว่า ๓ สิกขา คือ การศึกษา รวมเป็นไตรสิกขา แปลว่า การศึกษา ๓ อย่าง

ส่วนชุดทาน ศีล ภาวนา เรียกชื่อต่างไปนิดหนึ่งว่า ปุญญสิกขา หรือ บุญสิกขา ก็คือ การฝึกฝนในเรื่องความดี หรือการฝึกหัดทำความดีนั่นเอง ปุญญ=ความดี สิกขา=การฝึกอบรม คือการฝึกฝนปฏิบัติอบรมในเรื่องความดี การทำให้คนเจริญงอกงามขึ้นในความดีต่างๆ ด้วยทาน ศีล ภาวนา

รวมแล้วทั้ง ๒ ชุดก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันที่จุดเน้นดังกล่าว

เมื่อปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขา หรือบุญสิกขา ๓ ประการ อย่างถูกต้องดีแล้ว ก็จะเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม มีความสุขที่แท้จริง โดยเข้าถึงธรรมและความสุขทั้ง ๓ ระดับ ได้จนถึงที่สุด ดังได้กล่าวแล้วแต่เบื้องต้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หลักการทั่วไปของการปฏิบัติธรรม: ชุดที่ ๑หลักพุทธธรรมเพื่อการปฏิบัติธรรม >>

No Comments

Comments are closed.