อนาคตของสังคมไทย เราจะให้เป็นอย่างไร

17 พฤศจิกายน 2538
เป็นตอนที่ 8 จาก 12 ตอนของ

อนาคตของสังคมไทย เราจะให้เป็นอย่างไร

ทีนี้ขอกลับมาพูดถึงการศึกษาและการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย คำว่าอนาคตของประเทศไทยนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีความชัดเจน แต่เวลานี้อนาคตของประเทศไทยยังเป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอย เรามีความคิดอยู่ในใจไหมว่าอนาคตของประเทศไทยที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร อนาคตอย่างไรที่เราต้องการ เราบอกว่าวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย แต่เราจะให้อนาคตนั้นเป็นอย่างไร จึงต้องพูดวิจารณ์เรื่องนี้

ถ้าเรามีแรงจูงใจถูกต้องที่เรียกว่า ฉันทะ คือ มุ่งจะหาความจริงให้ได้และทำให้มันดีให้ได้ อันนี้จะไม่ใช่เป็นเพียงเพื่ออนาคตของประเทศไทยเท่านั้น แต่จะหมายถึงอนาคตของประเทศไทยที่เป็นไปเพื่ออนาคตของมนุษยชาติทั้งหมด เราจะไม่มองเพียงเพื่ออนาคตของประเทศไทยด้วนๆ แต่จะต้องมองถึงอนาคตของประเทศไทยชนิดที่เอื้อต่ออนาคตของมนุษยชาติ เพื่อความดีความงามของมนุษยชาติทั้งหมด เพื่อมนุษยชาติที่อยู่ร่มเย็นเป็นสุข มีสันติสุขทั่วกัน

ถ้าอนาคตของประเทศไทยไม่ใช่เป็นไปเพื่ออนาคตของมนุษยชาติด้วยจะเป็นปัญหา และขณะนี้มันก็กำลังเป็นปัญหาอยู่เพราะว่าทุกสังคมในโลกขณะนี้กำลังมุ่งเพื่ออนาคตของประเทศของตน ในลักษณะที่เป็นไปเพื่อตัดรอนประเทศอื่น หรือสังคมอื่น เนื่องจากขณะนี้ลัทธินิยมตามคติแห่งการแข่งขันเพื่อเอาชนะในทางผลประโยชน์และอำนาจกำลังครอบงำโลกทั้งหมด ฉะนั้นทุกคน ทุกสังคม ทุกกลุ่ม ทุกหมู่ ตลอดจนทุกประเทศชาติต่างก็คิดอย่างเดียวเพื่อเอาชนะ และในการเอาชนะนั้นก็ต้องตัดรอนผู้อื่นลง ดังนั้นคำว่า “อนาคตของประเทศไทย” จะต้องถูกยกมาพิจารณาและมาตกลงกันให้ได้ เราอาจจะต้องแบ่งว่า อนาคตของประเทศไทยนั้น

๑. เพื่อเอาชนะการแข่งขันในเวทีโลก เช่น เพื่อชนะในภูมิภาคอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในภาคอาเซียทั้งหมด ตลอดจนชนะในโลกทั้งหมด

๒. เพื่ออนาคตของประเทศไทยที่จะช่วยนำโลกไปสู่ความดีงามและสันติสุข

เราจะเอาอย่างไหนหรือจะเอาทั้งสองอย่าง เรื่องนี้อาจจะต้องแบ่งเป็นขั้นตอน คือเราอาจจะต้องมีอนาคตของประเทศไทยในระยะสั้น และระยะยาว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงได้พูดแต่ต้นว่า คำว่า “ทำให้มันดี” กับ “ทำให้มันสำเร็จ” ไม่เหมือนกัน

เวลานี้โลกกำลังอยู่ใต้อิทธิพลความคิดในวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จ ฝรั่งวิเคราะห์ตัวเองออกมา แล้วบอกว่าเขาอยู่ใน culture of success คือวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จ คือทุกคนต่างก็มุ่งความสำเร็จทั้งนั้น เริ่มแต่ความสำเร็จของตัว ความสำเร็จของกลุ่ม ของหมู่ ของสังคม และของประเทศ ด้วยการเอาชนะผู้อื่น เมื่อจะชนะก็ต้องหาทางที่จะตีผู้อื่นลงให้ได้ นี่แหละคือกระแสความคิดที่ครอบงำโลกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จ เราจะต้องข้ามพ้นระบบแข่งขัน และวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จนี้ไปโดยมุ่งสู่จุดหมายว่าทำอย่างไรจะให้ชีวิตดีงาม ให้สังคมดี และให้โลกนี้ดี ด้วยเหตุนี้จึงต้องวางจุดหมาย ๒ ขั้นคือ

ขั้นให้สำเร็จ ได้แก่ ขั้นชนะการแข่งขันระหว่างประเทศหรือในเวทีโลก เป็นต้น

ขั้นให้ดี คือ ไม่ใช่เพียงให้สำเร็จ แต่ต้องให้เกิดความดีงามแก่ชีวิตและสร้างสรรค์โลกให้ดีงามมีสันติสุขด้วย

ที่พูดมานี้เป็นการทำความเข้าใจกว้างๆ พร้อมทั้งกำหนดจุดเน้นของการวิจัย ซึ่งในที่นี้จะขอทบทวนเพื่อเป็นจุดโยงไปสู่การที่จะพูดต่อไปอีกว่า การศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทยนั้น มีความหมายที่หนึ่งว่า เพื่อประเทศไทยที่ชนะ สู้ประเทศอื่นได้ ตลอดจนชนะทั้งโลก และอีกอย่างหนึ่งว่า เพื่ออนาคตของประเทศไทยที่เป็นส่วนร่วมที่จะนำโลกนี้ไปสู่ความดีงามและสันติสุขอย่างแท้จริง เรื่องที่ว่ามานี้เราจะต้องเลือกหรือจัดวางเป็นขั้นตอน แต่จุดหมายที่วางไว้สูงจะทำให้จิตใจของคนมีแรงมากขึ้น

ถ้าเรามองว่าเราจะต้องสร้างความดีงาม ทำโลกนี้ให้มีสันติสุข และประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นำโลกนี้ไปสู่สันติสุขให้ได้ อันนี้เป็นจุดหมายสูงสุดของเรา แต่ในขั้นต้นเราจะต้องผ่านการเป็นผู้ชนะก่อน เมื่อตกลงอย่างนี้เราก็อาจจะวางอนาคตเป็นสองขั้น แล้วก็จะมีอนาคตระยะสั้นและอนาคตระยะยาว เราบอกว่าจะเอาให้ได้ทั้งสองขั้น ประเทศไทยเอาไหม เราต้องกระตุ้นปลุกเร้ากันว่าให้เอา เราจะต้องมีจุดหมายสูง ถ้าจุดหมายไม่สูงก็ไปไม่ไกล

การที่จะวิจัยให้สำเร็จผลเพื่ออนาคตทั้งสองขั้นนี้จะทำอย่างไร ก็แยกการวิจัยเป็นสองระดับ คือ

๑. วิจัยเพื่อรู้จักตัวเอง เข้าถึงพื้นฐานของตัวเอง และทำตัวเองให้ดีให้ได้ แก้ปัญหาของตัวเองให้สำเร็จ ซึ่งจะต้องโยงไปหาข้อสองด้วย คือ

๒. วิจัยเพื่อรู้เท่าทันโลกและผู้อื่น ไม่ว่าจะเพื่อเอาบทเรียนมาใช้หรือเพื่อจะเอาชนะในการแข่งกับเขาได้

ทั้งสองกรณีนั้นจะต้องมีความรู้เท่าทัน ต้องทั้งรู้เขาและรู้เรา การวิจัยในแง่ตัวเองจะขอพูดทีหลัง

ในแง่ของการวิจัยเพื่อรู้เท่าทันโลก รวมทั้งการรู้ทันผู้อื่น และประเทศอื่น ก็แบ่งได้เป็น ๒ ระดับ คือ

๑. การวิจัยให้รู้เท่าทันประเทศที่นำการพัฒนาในปัจจุบัน หรือประเทศที่เป็นผู้นำของโลก เช่น อเมริกา และญี่ปุ่น อาตมาเคยพูดมานานแล้วว่าในการส่งนักศึกษาของเราไปศึกษาต่างประเทศ เราน่าจะมีจุดหมายในเรื่องนี้ด้วยและหนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้มาวิจัยแต่สังคมของเราเท่านั้น ทำไมเราไม่ถือโอกาสให้ไปวิจัยสังคมนั้นๆ ให้เรา

เรื่องกลายเป็นว่า นักศึกษาของเราโดยมากเวลาไปเมืองนอก พอทำปริญญาเอก ต้องทำงานวิจัย เราก็ชอบมาวิจัยเรื่องเมืองไทย ซึ่งก็ถูกในแง่หนึ่งเพราะเป็นประโยชน์ที่สังคมไทยเราต้องรู้จักตัวเอง แต่มันได้ข้างเดียว เอียงและแคบไป ทีนี้ฝรั่งก็ชอบ ฝรั่งหนุนเลย เพราะอะไร ฝรั่งต้องการรู้เราอยู่แล้ว เขาก็หนุน แล้วฝรั่งได้ประโยชน์หลายอย่าง หนึ่ง ตัวเราเป็นคนไทย เรารู้เรื่องของเราได้ดี (ในด้านหนึ่ง) และเขาจะได้รู้ว่าเรามองตัวเราเองอย่างไร สอง เขาไม่ต้องลงทุน ถ้าฝรั่งส่งคนของเขามาวิจัยจะต้องลงทุนมาก ซึ่งเขาก็ต้องทำอยู่แล้วเยอะแยะ แต่นี่คนของเราทำให้เขา เขาเลยสบาย เบาภาระลงไปเยอะ ฉะนั้นคนของเราที่ไปทำปริญญาเมืองฝรั่ง วิจัยเรื่องประเทศไทยให้ฝรั่งเยอะแยะเหลือเกิน

ในเรื่องนี้เราน่าจะให้ได้ดุลยภาพ ทำไมเราไม่มีนโยบายนี้ คือนโยบายส่งนักศึกษาไปต่างประเทศโดยหนุนให้นักศึกษาส่วนหนึ่งวิจัยเรื่องของประเทศนั้นๆ ให้ได้ อย่างเข้าถึงสังคมของเขา คนของเราบางทีมีแต่ภาพแห่งความหลงใหล นักศึกษาไทยไปโดยไม่รู้จักสังคมของตัวเองและกลับมาโดยไม่รู้จักสังคมฝรั่ง เลยไม่ได้ทั้งสองอย่างที่เป็นส่วนสำคัญด้านหนึ่งของการศึกษา ตอนไปก็ไม่รู้จักสังคมของตัวเอง ถึงเวลามาก็ไม่รู้จักสังคมฝรั่ง ถึงเวลามานานแล้วที่เราจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องนี้

แนวทางนี้อาตมภาพคิดมานานว่าทำอย่างไรจะให้คนของเราไปไม่เสียเปล่า เป้าหมายการวิจัย ต้องให้ได้ทั้งสองอย่าง หนึ่ง หนุนพวกที่มาวิจัยเรื่องสังคมของเรา ให้ตรงกับเรื่องราวด้านที่เราต้องการ สอง หนุนคนของเราให้วิจัยสังคมประเทศนั้นๆ ที่เขาไปศึกษา

๒. นอกจากประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้นำ อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องวิจัยมากคือประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่เราเกี่ยวข้อง พวกนี้ทิ้งไม่ได้ บางทีเราลืมประเทศเหล่านี้ไป เอาแต่ประเทศพัฒนาแล้วที่ห่างไกลตัว ประเทศเพื่อนบ้านนั้นจำเป็นต้องรู้ให้ลึก

เป็นอันว่าสองกลุ่มนี้สำคัญมาก คือ กลุ่มประเทศใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าใจ กลุ่มที่นำโลกก็ต้องรู้เท่าทัน อะไรที่มีอิทธิพลเราต้องพร้อมจะรับมือ ความคิดที่นำหน้าที่สุดของฝรั่งเราต้องทัน ฝรั่งมีความคิดอะไรใหม่เดินหน้าไปเราต้องถึง ไม่ใช่ไปตามเขาแด็กๆ อยู่ เขาคิดไว้ ๒๐ ปีก่อนแล้วเพิ่งไปตามเขา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องมีเป้าหมายมุ่งมั่นที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร

การวิจัยของสังคมไทยต้องแบ่งอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าระยะสั้นเฉพาะหน้าจะเอาชนะเขาแง่ไหน อย่างไร ในเขตไหน เป้าหมายต้องชัด ต้องแน่วแน่ ต้องมุ่งมั่น ต้องเอาให้สำเร็จ คนไทยขาดเรื่องนี้คือ การตั้งเป้าที่ชัดเจนและมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จให้จงได้ ถ้าไม่มีความจริงจังเด็ดเดี่ยวนี้ชีวิตส่วนตัวก็สำเร็จยาก สังคมก็สำเร็จยาก สังคมไทยเราคนก็เป็นอย่างนั้น สังคมก็เป็นอย่างนั้น คือไม่ค่อยมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว พระโพธิสัตว์ถ้าไม่มีความเด็ดเดี่ยวนี้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

บารมีของพระโพธิสัตว์อย่างหนึ่งท่านเรียกว่า อธิษฐานบารมี อธิษฐาน แปลว่า ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว หมายความว่า มุ่งสู่จุดหมายแน่วแน่เด็ดขาด ซึ่งจะทำให้ตัดเรื่องพะรุงพะรังไม่เข้าเรื่องออกไปได้ และทำให้มีพลังที่จะก้าวสู่จุดหมาย คนไทยเราเอาคำว่าอธิษฐานมาใช้แต่ทำให้ความหมายเพี้ยนไปกลายเป็นการปรารถนาว่าตนอยากจะได้อย่างไรขอให้ได้อย่างนั้น อธิษฐานเป็นศัพท์สำคัญ แปลว่า ตั้งใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นว่าจะต้องทำให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จจะไม่ยอมหยุด

การวิจัย ๒ ระดับอีกอย่างหนึ่งคือ ระดับวงแคบเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี เช่น เรื่องกิจการอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เรื่องของการทำมาหากินอาชีพว่าในท้องถิ่นนี้เป็นอย่างไร การประมงทำอย่างไร พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไร เรื่องเฉพาะวงแคบ เฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีนี้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องระดับวงกว้างที่เป็นสภาพทั่วไป เรื่องของระบบความสัมพันธ์แห่งสิ่งทั้งหลาย เรื่องที่เป็นกระบวนการใหญ่ ซึ่งจะต้องชัดว่าการวิจัยของเราจะเอาอย่างไร ให้สัดส่วนของสองเรื่องนี้อย่างไร

การวิจัย ๒ ระดับอีกอย่างหนึ่งคือ ระดับปฏิบัติการ กับระดับภูมิธรรมภูมิปัญญา ระดับปฏิบัติการก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่นในการพัฒนาแบบยั่งยืนปัจจุบันนี้ ทำอย่างไรจะแก้ปัญหามลภาวะได้ ทำอย่างไรจะปลูกป่าให้สำเร็จ ทำอย่างไรจะส่งเสริมระบบรีไซคลิ่ง ทำอย่างไรจะให้คนนิยมใช้ renewable resources คือ ทรัพยากรที่ฟื้นตัวได้ ฯลฯ นี่คืองานในระดับเชิงปฏิบัติการว่าจะทำอย่างไร ส่วนในระดับภูมิธรรมภูมิปัญญาก็ต้องวิเคราะห์ลงไปว่า พื้นฐานแนวความคิดอะไรอยู่เบื้องหลังที่จะทำให้การพัฒนาแบบยั่งยืนนี้สำเร็จได้ ถ้าไม่มีภูมิธรรมภูมิปัญญารองรับ การปฏิบัติก็ขาดฐานที่ตั้ง ก็จะเลื่อนลอย ไม่สำเร็จหรือความสำเร็จจะไม่ยั่งยืน

เวลานี้การวิจัยของเรารู้สึกว่าจะไปเน้นในด้านปฏิบัติการมาก ส่วนระดับภูมิธรรมภูมิปัญญา ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งที่ก่อปัญหาและแก้ปัญหานี้เราค่อนข้างขาด ฉะนั้นในยุคนี้จะต้องเน้นการวิจัยระดับนี้ให้ได้ด้วย

การวิจัยนั้นนำให้เกิดปัญญา เมื่อได้ปัญญามาแล้วในแง่กิจการของสังคม ก็มีปัญหาว่า

๑. ทำอย่างไรจะให้ปัญญานั้นแผ่ขยายไปสู่คนจำนวนมาก การวิจัยเวลานี้เมื่อได้ปัญญามาก็จำกัดอยู่ในกลุ่มคนสองคน สามคน มันไม่ออกไปสู่ประชาชน ไม่ออกไปสู่สังคม เพราะฉะนั้นจึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรจะให้ปัญญาที่ได้มาแผ่ขยายไปถึงคนทั่วทั้งสังคม หรือคนส่วนใหญ่ ให้คนส่วนใหญ่มีปัญญาอย่างนี้ด้วย รู้อย่างนี้ด้วย แล้วก็คิดอย่างนี้ด้วย

๒. ทำอย่างไรจะให้มีการนำไปใช้ประโยชน์จริง บางทีวิจัยอะไรกันมาเยอะแยะแล้วก็ทิ้ง ผลงานวิจัยนอนนิ่งจมอยู่เฉยๆ มันก็เลยไม่สัมพันธ์กัน และไม่นำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่วงการวิจัยจะต้องคิด

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พื้นฐานเดิมที่จะต้องพัฒนา เพื่ออนาคตของสังคมไทยวังวนแห่งกระแสโลก ที่รอรับการแหวกว่ายสู่อนาคตของสังคมไทย >>

No Comments

Comments are closed.