เคล็ดลับของการมีอายุยืน

4 เมษายน 2534
เป็นตอนที่ 3 จาก 6 ตอนของ

เคล็ดลับของการมีอายุยืน

แต่เท่านี้ท่านบอกว่ายังไม่พอ ความหมายในทางธรรมมีลึกซึ้งกว่านั้น

ตามความหมายในทางธรรม อายุคืออะไร อายุนี้ท่านอธิบายสำหรับพระก่อน แต่ก็ใช้สำหรับฆราวาสได้ด้วย อายุ คือ อิทธิบาท ๔

ขออธิบายสั้นๆ อิทธิบาท ๔ เป็นตัวอายุ ถ้าใครทำตามก็จะมีอายุได้จริงๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าพระองค์ปรารถนาจะอยู่ตลอดกัป ก็อยู่ได้ โดยเจริญอิทธิบาท ๔ นี้

คำว่ากัปในที่นี้ หมายถึง อายุกัป คือกำหนดอายุของมนุษย์ หมายถึงอายุ ๑๐๐ ปี พระพุทธเจ้าอยู่แค่ ๘๐ ปี แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าพระองค์ต้องการจะอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ก็อยู่ได้ โดยเจริญอิทธิบาท

คนอื่นก็เหมือนกัน ถ้าต้องการให้อายุยืนถึงกัป ก็ให้เจริญอิทธิบาท ๔

อิทธิบาท ๔ เป็นตัวอายุ ซึ่งทำให้ชีวิตยืนอยู่ได้ เป็นพลังหล่อเลี้ยงชีวิต ให้ยืนยาว

อิทธิบาทมี ๔ ประการ คืออะไรบ้าง

ขอพูดถึงชีวิตของคนในสภาพแวดล้อมปัจจุบันก่อน คนไม่น้อย พอเกษียณแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนเกษียณก็แข็งแรงดี สุขภาพดี ปราดเปรียว กระฉับกระเฉง แต่พอเกษียณไปไม่ช้าเลยก็เฉา แล้วไปๆ ไม่ช้าก็อายุหมด คือสิ้นชีวิต ให้ลองสังเกตดู นี่เป็นเพราะอะไร

อีกคนหนึ่งเป็นคนขี้โรค น่าจะย่ำแย่อายุสั้น แต่กลับอยู่ได้ทนนาน เจ็บๆ หายๆ ไม่ตายสักที อะไรที่เป็นกลไกสำคัญในเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งก็คือ อิทธิบาท ๔ นี้แหละ

อิทธิบาทเริ่มด้วย ฉันทะ คือมีสิ่งดีงามที่ใจใฝ่รักต้องการจะทำ ถ้าใครอยากอายุยืน ต้องมีจิตใจผูกอยู่กับการกระทำอะไรสักอย่างที่ดีงาม ใจคอยบอกตัวเองอยู่ว่า ฉันต้องการทำสิ่งนี้ให้ได้ หรือมีสิ่งดีที่ต้องการจะทำ แล้วใจรักที่จะทำ ตั้งขึ้นมาก่อน อย่างนี้เรียกว่าฉันทะ แล้วทำสิ่งนั้นจนไม่มีช่องว่าง ไม่เปิดช่องให้แก่ความห่วง ความกังวล ความกลุ้มใจ อะไรเลย ถ้าทำได้อย่างนี้ยิ่งดี

คนที่เขายุ่งอยู่กับงาน และงานนั้นเขาพอใจรัก เขาเห็นว่าดีงามมีคุณค่า และทำจนกระทั่งไม่ห่วงกังวลอะไร ในใจไม่มีช่องให้แก่เรื่องยุ่งวุ่นวายรำคาญใจ มีฉันทะนี้เป็นตัวแรก จะเป็นเคล็ดลับที่ทำให้อายุยืน

แม้แต่คนป่วยก็ให้ใช้หลักนี้ คือให้ตั้งอะไรไว้สักอย่าง ที่เป็นสิ่งดีงามซึ่งใจอยากจะทำ ใจรักจะทำ นี้คือฉันทะ ต้องตั้งฉันทะนี้ไว้ในใจอย่างหนึ่ง

โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่เกษียณแล้วที่อยู่ไม่ได้ยาวนาน ก็มักเป็นเพราะมีความเหี่ยวเฉา มีความรู้สึกว่างเปล่า ไร้ค่า ไม่มีอะไรจะทำ ชีวิตเหงาหงอย เปิดช่องปล่อยให้เรื่องจุกจิกรบกวนใจเข้ามาบั่นทอนพลังชีวิตคืออายุของตน

เพราะฉะนั้น พอเกษียณแล้ว ต้องตั้งใจไว้สักอย่างที่จะทำ หรือให้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่งดงามที่ตนเห็นคุณค่าเป็นประโยชน์ แล้วใจมุ่งไปทำสิ่งนั้น อาจจะเป็นการทำสวน หรืองานอดิเรกอะไรสักอย่าง หรือการศึกษาธรรมก็ได้

ตอนนี้แหละ ชีวิตก็จะมีพลังขึ้นมาทันที พลังนี้แหละคือตัวอายุ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเกิดจากฉันทะ และตอนนี้ ฉันทะก็เกิดขึ้นมาแล้ว

พอฉันทะเกิดต่อไปก็ถึง วิริยะ คือความมีกำลังใจเข้มแข็ง แกล้วกล้า ใจสู้ กล้าเผชิญความยากลำบากและอุปสรรค เห็นว่าสิ่งนั้นๆ ท้าทาย พยายามจะทำ เพียรพยายามที่จะเอาชนะทำให้สำเร็จให้ได้ มีความกล้าหาญที่จะทำ

ต่อไป คือข้อ จิตตะ หมายถึงการอุทิศตัวอุทิศใจให้กับสิ่งนั้น ใจมุ่งจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น

เมื่อใจจดจ่อ มุ่งอยู่กับเรื่องที่ทำ ใจก็ไม่เก็บเรื่องจุกๆ จิกๆ ที่ขัดหูขัดตากระทบใจหรือผ่านเข้ามา เดี๋ยวเดียวก็ลืม เพราะใจอยู่กับเรื่องที่คิดจะทำนั้น ก็ไม่มีเรื่องรบกวนรำคาญใจ ทำให้สงบมั่น แม้แต่ถึงขั้นเป็นสมาธิก็ได้

สุดท้ายก็มาถึง วิมังสา คือคอยใช้ความคิดพิจารณา เกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา หมั่นทบทวนตรวจสอบและทดลองค้นคว้าหาวิธีการต่างๆ ให้รู้ว่า ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเป็นอย่างไร มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข และจะปรับปรุงแก้ไขได้อย่างไร วุ่นอยู่กับเรื่องที่ทำนั้น และใจก็สนุกกับสิ่งที่ทำ มีความร่าเริงเบิกบานแจ่มใส ตกลงว่าเวลาผ่านไป ก็อยู่ได้เรื่อย

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าอิทธิบาท ๔ นี้เป็นตัวอายุ ท่านบอกว่า ผู้ที่ปรารถนาอายุ ไม่พึงพอใจอยู่กับการอ้อนวอนปรารถนาให้มีอายุ ซึ่งไม่ทำให้สำเร็จได้แท้จริง แต่ต้องทำตามข้อปฏิบัติที่จะให้อายุนั้นสำเร็จ และข้อปฏิบัตินั้น ก็คือ อิทธิบาท ๔ นี้คือเคล็ดลับ พระพุทธเจ้าสอนไว้ให้แล้ว ถ้าใครต้องการอายุยืน ก็ตั้งฉันทะขึ้นมาเลย จนครบอิทธิบาททั้ง ๔

ถ้าคนไข้ท้อแท้ ก็ต้องให้เขาหาสิ่งที่ดีสักอย่างที่จะทำ แล้วตั้งใจ ให้ใจไปอยู่กับสิ่งนั้น ตั้งเป็นเป้าไว้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าอธิษฐานเป็น จะเอาพร ๔ หรือพร ๕ ก็ได้ได้อะไรจึงจะคุ้มค่ากับเวลาที่ผ่านไป >>

No Comments

Comments are closed.