(เนื้อหา)

1 มกราคม 2538
เป็นตอนที่ 1 จาก 1 ตอนของ

ปุจฉา ความสันโดษโดยเชื่อว่าเป็นกรรมเก่าเป็นสิ่งไม่ดีหรือ

วิสัชนา ตามหลักพุทธศาสนา สันโดษถูกก็มี ผิดก็มี แต่สันโดษในกรณีนี้ผิด

การปฏิบัติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาต้องมีปัญญากำกับตลอดเวลา การปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้แบ่งเป็น ๒ ขั้น คือ

ขั้นแรก รู้ทันความจริงและยอมรับด้วยปัญญา (เอาความรู้มาปรับความรู้สึก)

ขั้นที่สอง ใช้ปัญญาพิจารณาค้นหาเหตุปัจจัยและดำเนินการแก้ไขตามเหตุปัจจัยนั้นๆ (ทำการด้วยปัญญา)

ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลดีครบทั้งสองขั้น คือ ๑. เพื่อปลงใจได้จะได้ไม่ทุกข์ ๒. เพื่อแก้ไขปรับปรุงอย่างได้ผล

ถ้าติดอยู่แค่ขั้นเดียวก็ผิด เหมือนอย่างคนถือหลักอนิจจัง ถ้าถือแง่เดียวผิดทันที

สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ต้องตั้งอยู่ดับไป เพราะฉะนั้น มีเจริญก็มีเสื่อมได้เป็นธรรมดา เมื่อมีเสื่อมมันแตกหักพังสลายไป ก็ต้องปลงใจ เป็นอนิจจังตามธรรมดาของมัน สบายใจจะได้ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ในแง่นี้ท่านถือว่าเป็นการยอมรับความจริงตามกฎธรรมชาติ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้วางใจได้ ก็ดีขึ้น หายทุกข์หรือทุกข์น้อยลง สร่างโศก อันนี้ท่านก็ให้เป็นส่วนหนึ่ง ได้คะแนนหนึ่ง

แต่ท่านไม่ได้หยุดแค่นั้น ท่านบอกว่าอนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป แต่มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลื่อนลอย มันไม่ได้อยู่ๆ ก็เปลี่ยนแปลง พระพุทธศาสนาถือหลักเหตุปัจจัย

สิ่งทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย การที่มันเจริญก็มาจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เจริญ การที่มันเสื่อมก็เกิดจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อม เราต้องการความเจริญ เราไม่ต้องการความเสื่อม ถ้าเช่นนั้นเราต้องศึกษาเหตุปัจจัยว่าอะไรจะทำให้เสื่อม อะไรจะทำให้เจริญ เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เสื่อม ก็แก้ไขป้องกันกำจัด เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เจริญ รู้แล้วก็ทำ ก็จะได้ความเจริญสมหมาย

เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องใฝ่ศึกษาใช้ปัญญา แล้วเราก็แก้ไขปรับปรุงอยู่เรื่อย อันนั้นก็คือ ความไม่ประมาท

หลักอนิจจังนี้ พระพุทธเจ้าจะสอนพร้อมกับความไม่ประมาท แม้แต่จะปรินิพพานก็สอนว่า วยธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา นี่คือท่อนที่หนึ่ง คืออนิจจัง

ท่อนที่สอง อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ เพราะฉะนั้นจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เพราะฉะนั้นจะมัวนิ่งนอนใจอยู่ จะมัวปล่อยปละละเลยไม่ได้ มีอะไรควรทำต้องรีบทำ ต้องรีบแก้ไขปรับปรุง ท่อนนี้สำคัญ เรามักจะทิ้งท่อนนี้ เป็นพุทธพจน์ที่เตือนแล้วเตือนอีก

หลักความไม่ประมาทนี้ ถือว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาอันหนึ่ง ธรรมทั้งหมดนั้นเหมือนกับอยู่ภายใต้ครอบคลุมของความไม่ประมาท จะมีประโยชน์ขึ้นมาก็เพราะไม่ประมาท จะได้ใช้มันก็เพราะไม่ประมาท เหมือนกับเอาเท้าช้างครอบคลุมรอยเท้าสัตว์ทั้งหลายอื่นได้หมด

ความไม่เที่ยงหรืออนิจจังจึงต้องโยงไปหาความไม่ประมาท อันนี้เป็นหลักสำคัญในเชิงปฏิบัติ ในขั้นที่หนึ่งนั้นสำหรับทำใจ ในขั้นที่สองนี่เชิงปฏิบัติ คือต้องทำการแก้ไขปรับปรุง

เพราะฉะนั้นเราไปหยุดแค่ว่าปล่อย เราอาจจะสบายใจแต่คือความเสื่อม เพราะฉะนั้นต้องมีขั้นที่สองด้วย คือพอรู้ว่าไม่เที่ยง อนิจจัง ต้องรีบใช้ปัญญาแล้วก็แก้ไขปรับปรุงในทางปฏิบัติ และเราก็จะได้ในแง่ที่ว่าเป็นวิธีการของปัญญา คือไม่เอาแค่เพียงความปรารถนาของตัวเอง ที่คิดจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

การที่เป็นอย่างนี้ จะเปรียบเทียบได้เหมือนกับว่าเป็นกระแสสองกระแส คือ กระแสคน กับกระแสของกฎธรรมชาติ

สิ่งทั้งหลายที่เราไปเกี่ยวข้อง เราก็จะมีความปรารถนาต่อมัน ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ความปรารถนาของเราก็คือกระแสอันที่หนึ่ง เป็นกระแสในใจของเรา ในความคิดของเรา ขอใช้คำว่ากระแสของคน คือกระแสความปรารถนาของเราต่อสิ่งนั้นว่าให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

พร้อมกันนั้นเอง สิ่งนั้นก็มีความเป็นไปตามธรรมชาติของมัน คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ความเป็นไปของสิ่งนั้นตามธรรมชาติของมันตามธรรมดานั้น ก็เป็นอีกกระแสหนึ่ง เรียกชื่อว่า กระแสของธรรมชาติ หรือเรียกสั้นๆ ว่ากระแสธรรม

ตกลงว่ามี ๒ กระแส คือกระแสความปรารถนาของคนอยู่ในใจของเราอย่างหนึ่ง แล้วก็กระแสของเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติอีกกระแสหนึ่ง สิ่งเดียวกันอยู่ใน ๒ กระแส ก็เลยเรียกง่ายๆ ว่ากระแสของคน กับกระแสของธรรมชาติ หรือกระแสของธรรม

สิ่งเดียวกันนั้นจะเป็นไปใน ๒ กระแสได้อย่างไร มันก็เป็นไปได้ในกระแสเดียว กระแสที่แท้จริงคือกระแสอะไร กระแสที่จริงคือกระแสธรรมชาติ หรือกระแสของเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน กระแสความปรารถนาของคนเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้น ปรุงแต่งขึ้นมาเฉยๆ ไม่มีในความจริง

สิ่งนั้นๆ เอาเข้าจริงมันจะเป็นไปตามกระแสเหตุปัจจัย มันไม่ได้เป็นไปตามกระแสความปรารถนาของเรา ทางพระเรียกกระแสความปรารถนาว่า กระแสตัณหา

ถ้าสิ่งนั้นเป็นไปตามกระแสเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามกระแสความปรารถนาของเรา พอเกิดเหตุเป็นไปอย่างใดขึ้นมา ก็เกิดการปะทะขัดแย้งกันระหว่าง ๒ กระแส

กระแสความเป็นไปของเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ก็ขัดแย้งปะทะกับกระแสความปรารถนาของคน กระแสความปรารถนาของคนเราแพ้ เราก็ถูกบีบคั้นกดดันกระทบกระแทก ทำให้เกิดความทุกข์ อันนี้คือทุกข์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากกระแสตัณหาที่ถูกขัด

พอมนุษย์พัฒนาขึ้นมา พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ใช้ตัณหา ให้ใช้ปัญญา พอเราใช้ปัญญาคือรู้เหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ปัญญามันก็ทำหน้าที่รู้ รู้ก็คือรู้เหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ ตอนนี้กระแสใหม่ของคนก็คือกระแสปัญญา

แต่กระแสของคนที่เป็นกระแสปัญญา เป็นกระแสดียวกันกับกระแสเหตุปัจจัยในธรรมชาติ เพราะมันรู้ตามกัน กลายเป็นว่าตอนนี้กระแสของคน กับ กระแสของธรรมชาติ กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน

เวลาคนพัฒนากระแสปัญญาแล้ว กระแสของคนก็ประสานเป็นอันเดียวกัน กลมกลืนกันกับกระแสของธรรม ไม่มีการขัดแย้งปะทะกันก็ไม่เกิดปัญหา ก็เลยหมดทุกข์ แล้วก็ได้ผลทั้งสองอย่าง

หนึ่ง มีอะไรก็รู้ตามเป็นจริง เพราะกระแสของคนคือกระแสปัญญา กลมกลืนกับกระแสกฎธรรมชาติ ไม่เกิดความทุกข์หรือทุกข์น้อย

สอง ทำกิจได้ผลด้วย เพราะว่ารู้ตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย ก็ทำตรงตามเหตุปัจจัย จิตใจก็ดี ทุกข์น้อย ทำอะไรก็ได้ผล ทำกิจทำงานได้ผลด้วย ได้ทั้งสองอย่าง

แต่ถ้าเอากระแสความปรารถนาคือกระแสตัณหาแล้ว จะเสียทั้งคู่ หนึ่ง ทุกข์มาก ถูกบีบคั้น ถูกกดดัน สอง ทำก็ไม่ได้ผล เพราะตัวไม่รู้ความจริง ไม่ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัย

อันนี้คือการพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้น การถือหลักกรรมก็ดี การปลงอนิจจังก็ดี ต้องได้ ๒ ขั้น จิตใจก็ต้องสบายด้วย การงานและการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตนก็ต้องได้ด้วย

คนอีกพวกหนึ่งคือคนที่ขยัน ไม่ประมาท ตั้งใจทำ แต่ทำแบบเร่าร้อนใจ มีแต่ความทุกข์ พวกนี้ก็ไม่รู้เท่าทันความจริงเหมือนกัน ปัญญาไม่พอ ก็เอาแต่ความปรารถนา แต่ไปใช้ในแง่เร่งรัดตัว แล้วก็มีความเร่าร้อนในการทำงาน เลยผิด

แต่ถ้าทำตามหลักธรรมแล้วได้ทั้งคู่ คือ ได้ทั้งจิตใจสบาย และทำงานก็ได้ผลด้วย

ตกลงอนิจจังท่านให้ใช้ ๒ ขั้น คือ หนึ่ง ต้องให้ใจสบาย สอง ต้องให้งานได้ผลด้วย ไม่ใช่ปล่อย

ถ้าเราปล่อย เราก็ทำกรรมชั่วซ้อน คือประมาท เป็นกรรมปัจจุบันซ้ำเติมเข้าไปอีก เอาความประมาทมาซ้ำตัวเอง

เรื่องสันโดษที่บอกว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไร ก็พอใจแค่นี้ สันโดษก็เลยพอใจ อย่างนี้เรียกว่าเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของสันโดษผิดหมด

สันโดษ แปลว่า ความรู้จักอิ่มรู้จักพอในวัตถุปัจจัยเครื่องบำรุงบำเรอความสุข

ท่านสอนคู่ไว้อีกว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นธรรมสำคัญ พระองค์ตรัสว่าที่เราตรัสรู้นี้ ได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการ คือ หนึ่ง ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สอง การทำความเพียรพยายามไม่ระย่อท้อถอย ตกลงว่า พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ไม่สันโดษ (ในแง่กุศลธรรม)

ความสันโดษ กับไม่สันโดษ มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน สันโดษหรือไม่สันโดษต้องมีตัวตาม ว่าสันโดษในอะไร ไม่สันโดษในอะไร ไม่ใช่ทิ้งไว้ลอยๆ

สันโดษ คือสันโดษในวัตถุปัจจัยเครื่องบำรุงความสุข อันนั้นท่านให้สันโดษ ไม่เห็นแก่ความสะดวกสบายบำรุงบำเรอตัวเอง แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ในสิ่งที่ดีงาม ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุข ความดีทำไปไม่รู้จักอิ่มจักพอ

พอเราสันโดษในวัตถุ เราก็จะสงวน ๑. เวลา ๒. แรงงาน ๓. ความคิด ไว้ได้ แล้วเอาสามอย่างนี้มาทุ่มให้กับความไม่สันโดษในกุศลธรรม เราจะสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามได้เต็มที่เลย

ถ้าคนที่ไม่สันโดษในวัตถุ เขาก็จะใช้เวลาหมดไปกับการแสวงหาวัตถุบำรุงตัวเอง ความคิดก็หมกมุ่น แรงงานก็ใช้หมดไปในการยุ่งกับเรื่องนั้น มัวแต่หาเสพหาบริโภคบำรุงบำเรอตัวจนไม่เป็นอันได้ทำกิจหน้าที่ทำความดี

เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนไว้คู่กัน ถ้าคนสันโดษในวัตถุบำเรอตัว เขาก็สงวนเวลาเรี่ยวแรงความคิดเอามาใช้ในการสร้างสรรค์กุศลธรรม เมื่อเขาไม่สันโดษในกุศลธรรม เขาก็ก้าวหน้าในกุศลธรรมต่อไป ก็ยิ่งดีใหญ่

บางคนพอไปสันโดษในวัตถุเข้า ก็นึกว่าสันโดษเพื่อมีความสุข ไม่เข้าใจความมุ่งหมายของสันโดษว่าเพื่อจะได้สงวนแรงงานเวลาและความคิด ไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ทำสิ่งที่ดีงาม

คิดว่าสันโดษเพื่อมีความสุข ก็เลยสบาย ขี้เกียจ นอนเลย คือปฏิบัติธรรมครึ่งเดียว ทำให้เอียงไปแถบเดียวก็ล้ม จะต้องมีดุลยภาพ ถึงจะยืนอยู่ได้ และก้าวไปถูกทาง

การกระทำของเราก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าเรามองว่าดวงดาวอะไรต่างๆ เป็นสิ่งแวดล้อมอิทธิพลภายนอก ซึ่งคล้ายๆ เป็นขีดจำกัดของการกระทำของเราว่าจะได้แค่ไหน แต่ในแง่ของเรา เราต้องพยายามให้ดีที่สุดของเรา แม้อิทธิพลภายนอกมาแต่ถ้าเรามีสติดี เราก็จะกันเหตุร้ายหรืออิทธิพลจากภายนอกได้มาก ถ้าไม่หมด ก็ลดความรุนแรงไป จึงถือว่าสติสำคัญมาก

สติอยู่ในตัว แก้ไขสถานการณ์ได้มาก แต่สติอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องปัญญาด้วย สติเป็นตัวเริ่มต้นให้ สติเป็นตัวส่งงานให้ปัญญา ปัญญาเป็นตัวทำงานที่แท้จริง แต่ถ้าสติไม่เริ่มต้นให้ ปัญญาก็ไม่รู้จะทำงานอย่างไร

ปุจฉา เราน่าจะลิขิตชีวิตตัวเองได้

วิสัชนา ก็มีส่วน คือในระยะยาว เราจะเป็นผู้มีส่วนลิขิตได้มากที่สุด แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกด้วย การเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของเราอีกว่าจะไปมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมได้มากแค่ไหน หรือว่ายอมให้อิทธิพลสิ่งแวดล้อมมาครอบงำเรา อันนี้ก็อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนจะแข็งกว่า

ทางพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องการพัฒนาตัวเรา เพราะเมื่อเราพัฒนาตัวเรา เราก็ยิ่งมีความสามารถในการไปมีอิทธิพลต่อสิ่งข้างนอกได้ หรือว่าอย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้ถูกครอบงำได้ดีขึ้น

ในทางพุทธศาสนาไม่ให้ยอม หมายความว่า ตัวเรานั้นเป็นตัวเก่า ซึ่งเป็นผลได้เท่าที่เรามี และเป็นทุนเท่าที่เราจะเอามาใช้หรือมาจัดการได้ เมื่อเราได้ทุนมาแค่นี้ เราจะใช้ทุนเท่าเดิมหรือว่าเราจะเพิ่มทุน ก็เป็นเรื่องของเรา เราจะเพิ่มทุนไหม

ถ้าเราไม่ยอมเพิ่มทุน เราจะใช้แต่ทุนเก่า ก็มีแต่จะหมดไป นั่นคือการกระทำที่เรียกว่าประมาท กลายเป็นว่าเราทำกรรมเพิ่มเข้าไปอีก คือความประมาท นี่คือกรรมของเรา คือเราจะต้องรับผลเป็นกรรมฝ่ายไม่ดี

ถ้าเราไม่ประมาท เราก็แก้ไข ที่มันร้ายแรง ก็กลายเป็นผ่อนหนักเป็นเบา ส่วนที่ดีน้อยอยู่แล้ว ก็ดีมากขึ้น

ปุจฉา ถ้าเราเสริมบุญขึ้นไปเรื่อยๆ กรรมจะตามไม่ทันจริงไหม

วิสัชนา มีอุปมาอันหนึ่ง เหมือนกับว่ามีแก้วน้ำ infinity แล้วในแก้วน้ำนี้มีน้ำสีกับน้ำใส สองอย่าง ตอนแรกใส่น้ำสีเข้าไป สีก็จะเข้มชัด มีอิทธิพลมาครอบงำให้เกิดสีของน้ำขึ้น

ทีนี้เรารู้ตระหนักถึงภัยว่าตอนนี้สีนี้มันเข้ม สีนี้มันแดง สีนี้มันไม่บริสุทธิ์ เราไม่ยอมเพิ่ม เราใส่แต่น้ำใสๆ จนกระทั่งน้ำสีแดงนั้นหมดอิทธิพลไปเลย เหมือนไม่มี ที่จริงน้ำสีแดงไม่ได้หายไปไหน ก็ยังอยู่ เหมือนกับเราทำกรรมดีเพิ่มเข้าไปจนกระทั่งกรรมไม่ดีนั้น แม้มีอยู่ ก็ไม่มีอิทธิพล

ปุจฉา กรรมดีที่เราปฏิบัติจะส่งผลถึงคนข้างเคียงได้ไหม

วิสัชนา จะส่งผลได้หรือไม่ได้ และได้มากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นต่อปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอก และส่งผลโดยตรงก็มี โดยอ้อมก็มี กรรมก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในบรรดาปัจจัยทั้งหลาย

เมื่อคนทำกรรม การกระทำของเขาก็แสดงออกต่อบุคคลบ้าง ต่อวัตถุสิ่งของในสภาพแวดล้อมบ้าง เกิดเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลทางกฎธรรมชาติอื่น เช่นทางอุตุนิยาม เป็นต้น ความเป็นไปทางด้านอุตุนิยามก็ส่งผลมาถึงคนอื่นได้ในลักษณะต่างๆ ซึ่งบางส่วนก็ขึ้นต่อผู้รับด้วย และตัวบุคคลที่ทำกรรมนั้น ก็อาจมีเจตนา กระทำต่อผู้อื่นในลักษณะที่เป็นกัลยาณมิตรหรือปาปมิตร เช่นโดยการส่งอิทธิพลชักจูง โดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ อันนี้ก็อย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวเขาเองจะทำของเขา พระท่านเรียกว่าอนุโมทนา ทำไมคนหนึ่งทำกุศลแล้วอีกคนหนึ่งกลับได้บุญ เพราะผ่านการอนุโมทนา ก็คือผ่านการยอมรับชื่นชมยินดี ด้วยการที่ชื่นชมยินดียอมรับ ก็เลยทำให้ได้รับผลไปด้วยได้ อันนี้เป็นด้านของปฏิกิริยาต่อกัน ที่คนหนึ่งได้รับการแสดงออกจากอีกฝ่ายหนึ่งแล้วมีท่าทีอย่างไร ก็จะมีผลต่อตัวเขาเองไปด้วย

เรื่องของกรรมส่งผลไปได้มากมาย กรรมที่เริ่มจากบุคคลหนึ่งอาจเป็นปัจจัยส่งผลตามระบบความสัมพันธ์ต่อทอดออกไป จนทำให้สังคมทั้งสังคมเคลื่อนไหวไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่พูดโดยสรุปก็คือ เรื่องของความเป็นไปในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.