(เนื้อหา)

23 มกราคม 2539
เป็นตอนที่ 1 จาก 2 ตอนของ

“อัปปมาทกถา”
พระธรรมเทศนาในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๙ เวลา ๑๘.๔๕ น.

 

การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
ตสฺมา หิ ตสฺส ภควโต สาสเน
อปฺปมตฺโต สทา นมสฺสมนุสิกฺเขติ ภควาติฯ
(๒๕/๔๒๑)

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนา พระธรรมเทศนาอัปปมาทกถา ฉลองพระเดชคุณพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี ในการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงบำเพ็ญถวายแด่สมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยอำนาจพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม อันสถิตมั่นในพระราชหฤทัย สมดังนัยแห่งพระพุทธภาษิตว่า ‘ความกตัญญูกตเวที เป็นภูมิธรรมของคนดี’ ที่เรียกว่า ‘สัปปุริสชน’

สมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงบำเพ็ญพระคุณูปการแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างไพศาลเป็นอเนกประการ ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในจิตใจของพสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดิน อันเป็นที่มาแห่งความจงรักภักดีอย่างบริสุทธิ์ใจ ดังที่ประชาชนทุกท้องถิ่นได้พากันแสดงออกอย่างเป็นไปเอง โดยมิต้องมีการเรียงร้องกำหนดใดๆ เป็นเช่นเดียวกันทั้งในสมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่ และเมื่อเสด็จล่วงลับแล้วสู่สวรรคาลัย อาการแสดงออกของราษฎรทั้งหลาย เป็นคำประกาศอันชัดเจนเหนือกว่าคำบรรยายใดๆ ดังตัวอย่างที่ประจักษ์ คือการที่ประชาชนทั้งในกรุง ในเมือง และทั่วทุกถิ่น แม้ห่างไกล ได้หลั่งไหลมาถวายบังคมพระบรมศพ นับแต่เสด็จสวรรคตอย่างเนืองแน่นตลอดมา

ความรู้สึกซาบซึ้งชื่นชมสนิทใจในพระเมตตาและมหากรุณาคุณของพระองค์นั้น ประชาชนได้แสดงออกแล้วในพระนามที่พร้อมกันน้อมถวายว่า ‘สมเด็จย่า’ และ ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นความรู้สึกตอบสนองต่อการที่ได้อุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรทั่วดินแดน ทั้งในเมืองและชนบท ตลอดจนหมู่ชนชาวเขาทั้งหลาย จนไม่จำเป็นต้องอธิบายขยายความ

หากจะกล่าวรวบรัดโดยสังเขป พระคุณของสมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่เป็นข้อยิ่งใหญ่ คงจะสรุปได้เป็น ๒ ประการ กล่าวคือ

ประการที่ ๑ ทรงเป็นพระบรมราชชนนี ทรงดำรงพระสถานะ แห่งพระบรมราชบุรพการี และโดยพระคุณแห่งความเป็นพระมารดาผู้ประเสริฐ ได้ทำให้ประเทศไทยมีสมเด็จพระมหาธรรมิกราชาธิราช ผู้ทรงพระคุณเป็นที่พึ่งพำนักอันยิ่งใหญ่ของประชาราษฎร์ นำประเทศชาติพ้นภยันตรายที่ร้ายแรงได้ตลอดมา

ประการที่ ๒ ทรงเป็นพระศรีนครินทรา ดำรงพระสถานะเป็นมิ่งขวัญแห่งแผ่นดินไทย ด้วยได้ทรงอุทิศทั้งพระวรกาย กำลัง พระหฤทัย และพระปรีชาญาณ ในการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน โดยเสด็จไปทั่วทุกถิ่นสถาน โดยเฉพาะถิ่นทุรกันดาร ทรงเป็นผู้นำในการบำเพ็ญการสงเคราะห์ประชาชนอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะทรงล่วงสู่วัยชรา จนตลอดถึงเบื้องปลายแห่งพระชนมายุก็ตาม

พระคุณแห่งสมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่ประเทศชาติ ประชาชน หรือสังคมไทย โดยตรงก็ตาม โดยอ้อมก็ตาม ทั้งสองประการนั้น ย่อมเกิดสืบเนื่องมาแต่พระคุณสมบัติแห่งพระองค์ ที่ทรงดำรงอยู่ในธรรม

ธรรมที่ทรงดำรงย่อมมีมากมาย ดังเช่น พระเมตตา พระกรุณา พระปรีชา พระจาคธรรม คือความเสียสละ พระวิริยะอุตสาหะ และพระราชศรัทธา เป็นต้น แต่พระคุณทั้งหมดนั้น ปรากฏผลจริงจังแจ้งชัด เพราะทรงบำเพ็ญด้วยความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท เป็นธรรมสำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเน้นตรัสย้ำจนกระทั่งแม้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เป็นพระดำรัสสอนครั้งสุดท้าย ที่เรียกว่า ‘ปัจฉิมวาจา’

ลักษณะสำคัญของความไม่ประมาท คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ สติ แปลว่า ความระลึก ความนึก หมายความว่า มีความตื่นตัว คอยระลึกคอยนึกอยู่ เพื่อดึง เพื่อตรึงจิตใจ เอาไว้ให้อยู่และให้ดำเนินไปกับสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เป็นคุณเป็นประโยชน์ และไม่ยอมให้จิตใจไถลออกไปกับความชั่ว และสิ่งที่เป็นโทษอันจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหาย

บุคคลที่ดำเนินชีวิตเป็นอยู่อย่างมีสติ จิตใจย่อมอยู่กับสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์ที่จะพึงกระทำ และไม่เลื่อนไหลไปตามสิ่งเสียหายเสื่อมทรามและความชั่วร้ายทั้งหลาย เพราะสติกำกับจิตใจไว้กับความดีงาม และกีดกั้นจิตใจออกไปจากความชั่วทรามเสียหาย

บุคคลผู้เป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ คือมีสติกำกับจิตใจในการดำเนินชีวิตอย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ความไม่ประมาทจึงหมายถึง ความไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง ไม่นอนใจ ไม่ปล่อยตัว ไม่ปล่อยเวลา ไม่เฉื่อยชา ไม่ผัดเพี้ยน ตลอดจนไม่หลงระเริงมัวเมา โดยเฉพาะการมีความกระตือรือร้นใส่ใจขวนขวาย ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกหรือถลำไปในทางความเสื่อมเสียหายและไม่ทิ้งโอกาสแห่งการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้างอกงาม

ความไม่ประมาทนั้นแสดงเด่นชัดออกมาที่การรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ดังพุทธพจน์ที่ตรัสสอนให้ใช้เวลาทุกขณะอย่างมีสติ ไม่ให้เสียเปล่า

ความว่า ขโณ โว มา อุปจฺจคา

แปลความว่า ขณะอย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย

หมายความว่า พึงใช้เวลาอย่างมีค่าให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทำชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้น แม้แต่ขณะเดียวก็อย่าให้ล่วงผ่านหมดไปเสียเปล่า

ทั้งนี้ อาจปฏิบัติผ่อนลงมาตามเถรภาษิตนี้ว่า

อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา

แปลโดยใจความว่า เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง

สิ่งที่ได้นั้น ย่อมมีหลายอย่างหลายประการ ตั้งแต่การได้วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง ได้งานการก้าวหน้าไป ได้บำเพ็ญประโยชน์ ได้ทำบุญทำทาน ได้เรียนรู้ศิลปวิทยาการ ได้เพิ่มพูนคุณธรรม ได้ความสุขความรื่นรมย์ใจ ได้ปัญญาที่มองเห็นโลก เข้าใจชีวิตอย่างรู้เท่าทัน กล่าวสั้นๆ ว่า ได้พัฒนาชีวิตจิตใจ และทำปัญญาให้เจริญงอกงามและได้ทำประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น

ถ้าทุกวันได้บ้าง แม้ไม่มาก ก็จะค่อยเพิ่มทวีขึ้นไปตามกาล วันเวลาก็จะไม่ว่างเปล่า เป็นการปฏิบัติในวิถีแห่งความไม่ประมาท ท่านจึงแนะนำให้ปฏิบัติให้ได้บ้างทุกวัน และพัฒนาให้ได้สิ่งที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามนัยแห่งธรรมภาษิตนี้

บุคคลผู้ประมาทนั้น มีอาการที่แสดงออกต่างๆ มากมายหลายอย่าง บ้างก็เกียจคร้าน เห็นแก่ความสะดวกสบาย จะเอาแต่ที่ง่ายๆ บ้างก็หลงเพลิดเพลินมัวเมาหมกมุ่นในความสุข บ้างก็ชอบตามใจตนเอง พ่ายแพ้แก่ใจที่ปรารถนา ไม่สามารถปฏิบัติไปตามเหตุผลหรือธรรมที่เห็นด้วยปัญญา สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ การมองข้ามความสำคัญของกาลเวลาที่ทำให้ผัดเพี้ยนอยู่ร่ำไป รวมทั้งความเมาวัย เมาในความไร้โรค และเมาชีวิต คิดว่าเรายังเด็กยังหนุ่มยังสาว จะอยู่ไปอีกนาน ร่างกายของเราแข็งแรงดี ไม่เป็นอะไร หรือมองเห็นชีวิตเหมือนดังจะเป็นอยู่ตลอดไป ไม่รู้จักแก่จักตาย ทำให้ปล่อยตัวปล่อยใจ และปล่อยเวลาผ่านไป ไม่เร่งรัดทำกิจการและบำเพ็ญความดี กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป

ในสังคมที่เรียกกันว่าเจริญนี้ มีเครื่องกล่อมจิตและผ่อนคลายชีวิตมากมาย ซึ่งหากไม่ระมัดระวัง และไม่รู้จักปฏิบัติให้ถูกต้องหรือให้พอดี ก็จะมีโทษเป็นเหตุให้เกิดความประมาท นำความเสื่อมความพินาศมาให้ทั้งแก่ชีวิตและสังคม

สิ่งกล่อมหรือเครื่องกล่อมนั้น หมายถึง สิ่งที่ประโลมใจให้ชุ่มชื่น ให้ผ่อนคลายสงบลง ให้เพลิดเพลินไปได้คราวหนึ่ง ระยะหนึ่ง แม้มีทุกข์บีบคั้น มีภัยคุกคามอยู่ ก็ช่วยให้ได้พักจิตใจ ลืมทุกข์ หลบปัญหาไปได้ตลอดเวลานั้นๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งกล่อมไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้ และไม่ได้ทำทุกข์ให้หมดไป หากติดเพลินอยู่กับสิ่งกล่อม ก็จะกลายเป็นความประมาท ที่จะนำสู่ความเสื่อมความพินาศต่อไป

สิ่งกล่อมบางประเภทมีโทษมากหรือร้ายแรง หาคุณได้ยาก โดยเฉพาะจำพวกอบายมุขทั้งหลาย เช่น การติดสุรา และสิ่งเสพติดทั้งหลาย ความเพลิดเพลินในการพนัน การหมกมุ่น สำส่อนในทางเพศ และการมั่วสุมต่างๆ ทั้งหลาย

กิจกรรม ความเชื่อถือ และข้อปฏิบัติบางประการ เป็นสิ่งกล่อมที่ประณีต บางอย่างไม่ใช่เป็นสิ่งกล่อมโดยตรง แต่อาจนำมาใช้เป็นสิ่งกล่อมได้ มีตัวอย่างดังเช่น การสนุกสนานบันเทิง รวมทั้งดนตรีและกีฬา ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนแม้แต่การบำเพ็ญสมาธิ และการปลงอนิจจัง ซึ่งจะต้องใช้ให้ถูกต้อง และโดยแยบคาย ไม่ให้คลาดเคลื่อนจากความมุ่งหมายที่แท้จริง ถ้าใช้เป็นสิ่งกล่อมก็ต้องให้อยู่ภายในขอบเขตที่พอดี เพียงให้เป็นที่พักใจชั่วครู่ยาม แต่ถ้าเลยไปเป็นความติดเพลิน หรือหวังพึ่ง ก็คือกลายเป็นความประมาท

กล่าวโดยรวบยอด ความสุข ๑ ความสำเร็จ ๑ ความดีงาม ๑ เป็นประดุจหลุมดักที่ทำให้มนุษย์ แม้ผู้ประเสริฐแล้ว ตกลงไปในความประมาท

ผู้เข้าถึงความสุขแล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะติดเพลินในการเสพเสวยความสุข ชอบผัดเพี้ยน ไม่ปรารถนาจะลุกขึ้นมาขวนขวายเดินไปข้างหน้า

ผู้ประสบความสำเร็จ ก็มีความโน้มเอียงที่จะหยุดรอเสวยผล อย่างน้อยก็มักจะชะลอตัว หรือเฉื่อยชาลง

ผู้ก้าวหน้าไปในความดีงาม ก็มักเกิดความภูมิใจและพอใจในความดีงามที่ตนได้ตนถึง ทำให้ความดีงามนั้นบังตนจากคุณงามความดีที่สูงขึ้นไป

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกแม้แต่พระอริยบุคคล ผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีภูมิธรรมสูงขึ้นไป แล้วเกิดความพึงพอใจ เฉื่อยชะลอการปฏิบัติลงว่าเป็น ‘ปมาทวิหารี’ แปลว่า ผู้อยู่ด้วยความประมาท

ความไม่ประมาทมีความสำคัญดั่งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสสอนย้ำเตือนให้ไม่ประมาท หมั่นศึกษาพัฒนาให้ยิ่งขึ้นไป ดังพุทธพจน์ที่ยกไว้เป็นนิกเขปบทว่า

ตสฺมา หิ ตสฺส ภควโต สาสเน เป็นต้น

แปลว่า เพราะฉะนั้นแล พึงเป็นผู้ไม่ประมาท มีใจนอบน้อมหมั่นศึกษาในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทุกเมื่อ ดังนี้

ในโลกนี้ คนจำนวนมากเมื่อประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ได้ลาภ ได้ยศ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง และยิ่งใหญ่ด้วยตำแหน่งฐานะแล้ว ก็เกิดความพองใจภูมิใจ บางทีก็หลงใหลมัวเมาในความสำเร็จนั้น มุ่งแต่จะเสวยผลแห่งความสำเร็จของตน หรืออาจจะใช้ทรัพย์และอำนาจของตนเป็นเครื่องมือข่มขี่บีบคั้นคุกคามผู้อื่น ทรัพย์และอำนาจหรือลาภยศนั้น ก็กลายเป็นพิษภัยแก่ชีวิตของตนและก่อโทษทุกข์แก่สังคม เรียกว่าเป็นผู้ประมาท

ส่วนท่านผู้ไม่ประมาท เมื่อประสบความสำเร็จ ได้ลาภและยศ มีทรัพย์และอำนาจแล้ว ไม่ลุ่มหลงมัวเมาเสวยผลนั้นอยู่ลำพังตน แต่มองเห็นเป็นโอกาสที่จะใช้ลาภและยศหรือทรัพย์และอำนาจนั้น เป็นทุนและเป็นเครื่องมือที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุข ทำสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไปๆ ให้กว้างขวางไพบูลย์และแผ่ไพศาล แม้เป็นชีวิตหนึ่งเดียวเกิดมา แต่ในช่วงเวลาไม่นานนั้น ก็สามารถสร้างสรรค์ก่อเกิดประโยชน์สุขแก่มหาชนมากมายเป็นอเนกอนันต์ เรียกว่า เป็นผู้มีชีวิตเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท

สมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระจริยาวัตร ดำเนินเด่นชัดในหลักแห่งความไม่ประมาท ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสสั่งสอนผู้ใกล้ชิดอยู่เนืองๆ ว่า คนเราไม่ควรหลงตัว ลืมตัว มีความอวดดีว่าตนเก่ง ซึ่งเกิดจากความประมาท ไม่ใช้ปัญญา และตรัสสอนให้รู้จักใช้ลาภยศ สิ่งสมมติ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ พระองค์ทรงถือพระคติธรรมนี้ ทั้งทรงสั่งสอนผู้อื่น และทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เอง

สมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงบรรลุพระสถานะแห่งลาภและยศ แต่ไม่ทรงลุ่มหลงมัวเมา เสวยผลแห่งลาภและยศนั้นลำพังเพื่อพระองค์ แต่ได้ทรงใช้ลาภและยศนั้นเป็นฐานและเป็นเครื่องมือที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ปวงประชาชนทั่วผืนแผ่นดินไทย และได้ทรงบำเพ็ญกิจกรณีย์เช่นนี้ด้วยความหมั่นเพียร เสียสละเป็นอย่างสูง ทรงเป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติชอบธรรมต่อลาภและยศ ด้วยความมีพระชนมชีพแห่งความไม่ประมาท

พระคุณดังกล่าวนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในจิตใจของประชาชนทั้งปวง ดังปรากฏออกมาเป็นอาการแสดงออกแห่งศรัทธาและความเคารพบูชาอย่างยวดยิ่ง หาที่เปรียบได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ดังที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายย่อมทราบดีว่า ตามหลักแห่งพระศาสนา การบูชาอย่างสูงสุดอันประเสริฐ ได้แก่การบูชาด้วยการปฏิบัติ อันเรียกว่า ‘ปฏิบัติบูชา’ การที่สมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญความเสียสละ สงเคราะห์ ช่วยเหลือประชาชนทั้งหมดนั้น ก็เพื่อเป็นฐานเกื้อหนุนให้ประชาชนเหล่านั้น สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม และนำสิ่งที่พระราชทานไปใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขยิ่งขึ้นไป เป็นการสืบทอดและสานต่อพระราชดำริและพระราชกรณีย์ให้บรรลุผลสมดังพระหฤทัยมุ่งหมาย

โดยนัยดังวิสัชนานี้ ประชาชนผู้จงรักภักดี หากปรารถนาจะทำความเคารพบูชาแด่พระองค์สมเด็จย่าให้สมบูรณ์ เป็นการบูชาอย่างแท้จริงสูงสุด ก็ไม่พึงหยุดอยู่เพียงแค่เป็นผู้เสพสุขเสวยผลจากการบำเพ็ญความสงเคราะห์ของพระองค์เท่านั้น อันจะเป็นเพียงกิริยาของผู้ประมาท แต่พึงอาศัยกำลังที่ได้จากการบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระองค์แล้วมีความหมั่นเพียร ลุกขึ้นมา อาศัยกำลังหนุนจากผลงานแห่งพระราชกรณีย์นั้น ทำการสร้างสรรค์ความดีงามและบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชีวิต แก่ชุมชน และแก่สังคมประเทศชาติยิ่งขึ้นไป

ชาวไทยพึงระลึกอยู่เสมอว่า ประเทศชาติจะเจริญได้ ประชาชนจะต้องไม่ประมาท หรือว่าประเทศชาติจะพัฒนา ชาวประชาต้องไม่ประมาท

สมเด็จย่าช่วยเราทั้งหลาย ก็เพื่อให้เรามีกำลังที่จะสร้างสรรค์ครอบครัวของเรา สร้างสรรค์ชุมชนของเรา ตลอดจนประเทศชาติ ท่านช่วยเรา เพื่อให้เราช่วยกันสร้างสรรค์ชุมชนและประเทศชาติ

สมเด็จย่าไม่ประมาทแล้ว เราทั้งหลายก็ต้องไม่ประมาทด้วย

ด้วยการปฏิบัติเช่นนี้ ประชาชนทั้งหลายก็จะชื่อว่า ได้บูชาสมเด็จย่าด้วยการบูชาอย่างสูงสุด พร้อมทั้งตนเองก็ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรมแห่งความเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท และประเทศชาติก็จะเจริญวัฒนาอย่างถูกทาง เป็นผลประสานแห่งอัปปมาทธรรม

ขออำนาจพระราชกุศลที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญตลอดมา พร้อมทั้งบุญกิริยาที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันประกอบโดยเสด็จพระราชกุศล จงอำนวยผลสัมฤทธิ์ แด่สมเด็จบรมบพิตร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อทรงเจริญยิ่งด้วยพระราชสุขสมบัติ โดยควรแก่พระราชฐานะ ในพระราชคติวิสัย สมตามพระราชอุทิศทุกประการ

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนา พระสงฆ์ผู้ได้รับอาราธนา จักทำคณสาธยายสวดคาถาธรรมบรรยาย เพื่อเพิ่มพูนอัปปมาทธรรม ในมหาสมาคม ณ กาลบัดนี้

ขอถวายพระพร

 

คำอธิบายเพิ่มเติม

(บทพระธรรมเทศนาเดิมยาวกว่าที่นำมาลงข้างต้น เห็นว่าจะใช้เวลามากเกินไป จึงตัดออกบ้าง ย่อลงบ้าง แต่เห็นว่าส่วนนั้นๆ อาจช่วยเสริมความให้ชัดยิ่งขึ้น จึงนำมาลงไว้ต่อไปนี้ : ๑ และ ๒ เป็นส่วนที่ตัดออกไป ๓ เป็นส่วนที่ได้ย่อลงเป็นย่อหน้าเดียว)

๑ สตินั้น ทำงานร่วมกันกับปัญญา โดยเฉพาะปัญญาที่เรียกว่าสัมปชัญญะ ปัญญารู้เข้าใจมองเห็นตระหนักในสิ่งใดว่า ถูกต้องดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์ จะนำไปสู่ความเจริญงอกงาม สติก็ระลึกถึงสิ่งนั้น และดึงจิตไว้ให้อยู่ให้ดำเนินไปหรือให้ทำสิ่งนั้น ปัญญารู้เข้าใจมองเห็นตระหนักว่าสิ่งใดชั่วร้ายเป็นโทษ จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียหาย สติก็ระลึกนึกได้ ดึงจิตไว้ไม่ยอมให้ปล่อยตัวปล่อยใจไถลตามสิ่งนั้นไป

๒ อนึ่ง โอกาสที่จะกระทำสิ่งถูกต้องดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์ให้สำเร็จ และจะทำได้มากน้อยเพียงไร ย่อมขึ้นต่อกาลเวลา หากปล่อยเวลาผ่านไป ย่อมหมายถึงการสูญเสียโอกาส แห่งการกระทำความดีงามและการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ ในทางตรงข้าม ถ้าปล่อยตัวปล่อยใจไปในทางไม่ดีไม่งาม หรือในทางแห่งความเสื่อมเสียหาย กาลเวลาที่ผ่านไปก็หมายถึงการสะสมเพิ่มพูนสิ่งชั่วร้ายและความเสื่อมให้ขยายตัวเพิ่มทวี

ยิ่งกว่านั้น กาลเวลาที่ผ่านไป ย่อมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดมีขึ้นต่อเนื่องไปตามเหตุปัจจัยอันปรากฏแก่มนุษย์ทั้งหลายว่าเป็นความไม่เที่ยงแท้ ไม่มั่นคงแน่นอน ไม่ว่าสิ่งทั้งหลายรอบตัวบุคคลก็ดี ผู้คนที่แวดล้อมก็ดี ตลอดจนแม้ชีวิตของตนเอง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีสติจึงตื่นตัวตระหนักว่า ไม่อาจจะนอนใจหรือวางใจ จะปล่อยเวลาผ่านไปเปล่ามิได้ จึงต้องขวนขวายเร่งรัดจัดดำเนินการทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น สร้างเสริมสิ่งที่ควรสร้างเสริม และแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุง ป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยส่วนร้าย และส่งเสริมเหตุปัจจัยฝ่ายดี เพื่อหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อม และให้เกิดมีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีงามเป็นความเจริญมั่นคง ทั้งนี้จะสำเร็จได้เพียงใด ย่อมขึ้นต่อปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย และวิสัยแห่งความเพียรพยายามที่จะกระทำให้มีให้เป็น

๓ สิ่งกล่อมบางประเภท มีคุณประโยชน์บ้าง ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกต้อง และจำกัดให้พอดี เช่น การสนุกสนานบันเทิง รวมทั้งดนตรีและกีฬา ที่ไม่เป็นโทษเป็นพิษเป็นภัยหรือก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนใคร หากรู้จักใช้ นอกจากเป็นที่พักจิตใจ คลายทุกข์แล้ว ยังอาจอำนวยประโยชน์อย่างอื่น เช่น การพัฒนาสุขภาพร่างกาย และส่งเสริมการใช้ปัญญา แต่ต้องให้อยู่ในขอบเขต ไม่เกินพอดี ดังที่ได้กล่าวแล้ว

แม้แต่ความเชื่อถือทางศาสนา บางครั้งบางระดับก็เป็นสิ่งกล่อมจิตประเภทหนึ่ง ดังที่พูดกันว่า ศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยเป็นเครื่องปลอบประโลมให้ผ่อนคลายความทุกข์ เช่น ความเชื่อในเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และไสยศาสตร์ทั้งหลาย แต่ในเรื่องนี้จะต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้าติดเพลินหมกมุ่นอยู่ ก็จะเกินความหมายแห่งความเป็นที่พักจิตประโลมใจให้มีกำลัง แต่จะกลายเป็นการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก กลายเป็นการมีสภาพจิตอ่อนแอ ชอบถ่ายโอนภาระ ไม่สู้ปัญหา จึงจะต้องระวังมิให้ความเชื่อถือทางศาสนา กลายเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประเภทดึงลงที่ทำให้ลุ่มหลงหมกมุ่นวนเวียนอยู่ในวังวนแห่งโมหะ หยุดจม ไม่พัฒนาชีวิตต่อไป แต่ต้องให้ศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประเภทที่เหนี่ยวขึ้นดึงขึ้น ช่วยให้ประชาชนมีหลักที่เกาะเกี่ยว เพื่อจะได้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป

ในทำนองเดียวกัน มิใช่เฉพาะความหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แม้การหวังพึ่งผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน ก็มักกลายเป็นสิ่งกล่อมที่นำไปสู่ความประมาทได้

แม้สิ่งที่ดีงามประเสริฐ เป็นส่วนแห่งการปฏิบัติธรรมที่สูงขึ้นไป ก็อาจนำมาใช้เป็นสิ่งกล่อม และถ้าไม่รู้จักพอดีก็เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทได้ ดังเช่น สมาธิที่เป็นองค์ธรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของไตรสิกขา แต่ถ้านำมาใช้เป็นเครื่องหาความสุขความสงบทางจิตใจ พอลืมทุกข์ ลืมปัญหาไปได้ ก็อาจทำให้หยุดจมตกอยู่ในความประมาท อาจเลยเถิดไปไกลจนเป็นอย่างฤาษีชีไพรที่ชำนาญสมาธิ มัวเล่นฌานกีฬา ทำเวลาให้หมดๆ ไปกับสิ่งกล่อมใจ ไม่ได้แก้ปัญหาที่ยังมีอยู่จริงในโลกและชีวิต หรือแม้ในการปฏิบัติในแนวทางของวิปัสสนา ถ้าปลงอนิจจัง แล้วสบายใจ คลายทุกข์ใจ สุขสงบลงได้ อาจกลายเป็นเพียงเครื่องกล่อมจิต เช่นเดียวกัน

ดังนั้น การปฏิบัติแม้ดีงามประเสริฐทั้งหลาย ก็พึงรู้ขอบเขตความพอดี และให้เป็นสัมมาปฏิบัติ คือรู้จักใช้ให้ถูกต้อง เช่น ใช้เพียงเป็นที่พักใจชั่วครู่ยาม เพื่อฟื้นฟูกำลังความสดชื่นที่จะเดินทางก้าวหน้าต่อไป โดยหมั่นใช้เกณฑ์ตัดสินที่สำคัญ คอยตรวจสอบการปฏิบัติของตน ไม่ให้ตกหล่นผิดพลาดจากหลักแห่งสิกขา แต่ต้องให้สอดคล้องเกื้อหนุนสิกขานั้น คือ ให้เป็นการปฏิบัติที่เป็นส่วนเสริมที่จะทำให้ชีวิต ทั้งความประพฤติ จิตใจ และปัญญา เจริญพัฒนายิ่งขึ้นไปจนกว่าจะสมบูรณ์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปคำนำของผู้จัดพิมพ์ >>

No Comments

Comments are closed.