แง่ที่ ๖ ศิลปศาสตร์มองในแง่การพัฒนาปัญญาที่เป็นแกน ของการพัฒนาศักยภาพและการเข้าถึงอิสรภาพ

14 กันยายน 2538
เป็นตอนที่ 20 จาก 20 ตอนของ

แง่ที่ ๖ ศิลปศาสตร์มองในแง่การพัฒนาปัญญาที่เป็นแกน
ของการพัฒนาศักยภาพและการเข้าถึงอิสรภาพ

 

ปัญญาในฐานะแกนกลางของการพัฒนาศักยภาพ

ในศักยภาพของมนุษย์นั้น สิ่งที่เป็นแกนกลางที่เราต้องการแท้จริงคืออะไร แกนกลางแห่งศักยภาพของมนุษย์ที่เราต้องการแท้จริงคือ ปัญญา ปัญญาเป็นองค์ธรรมที่ทำให้เรารู้ความจริงของธรรมชาติ ทำให้เราเข้าถึงสัจธรรม

เมื่อเราเข้าถึงสัจธรรม รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายแล้ว เราก็จะได้เอาความรู้ในความจริงนั้นมาใช้ประโยชน์ เช่น เมื่อเรารู้เหตุปัจจัย รู้องค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ถูกต้องแล้ว เรานำความรู้นั้นมาใช้ เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง รวมทั้งปฏิบัติต่อชีวิตถูกต้องด้วย เราก็แก้ปัญหาได้ถูกต้อง คือ แก้ปัญหาสำเร็จ และทำอะไรๆ ได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นแกนของการพัฒนาศักยภาพ

เราพัฒนาคุณสมบัติอื่นๆ ขึ้นมามากมาย ก็เป็นตัวประกอบเป็นบริวาร แวดล้อมปัญญานี้ ปัญญาเป็นตัวแท้ที่ต้องการ เป็นแก่นเป็นแกนแท้จริงอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ที่เราศึกษาศิลปศาสตร์นั้น ก็เพื่อให้รู้เรื่องเหตุปัจจัยภายในเงื่อนไขของกาลเวลา รู้ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นมาซึ่งสืบต่อจากอดีตถึงปัจจุบัน และส่งทอดไปยังอนาคต โดยรู้ในแง่เทศะ ทั้งตัวเองและผู้อื่น สังคมนี้และสังคมอื่น แล้วจึงจะทำให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง เป็นความสำเร็จผลของการศึกษาศิลปศาสตร์ จะเห็นว่าตัวแกนของเรื่องที่พูดมาทั้งหมดนั้น ก็คือ การรู้ และที่ว่ารู้นั้นก็คือ ปัญญา

 

คิดเป็นและคิดชัดเจน เป็นสาระของการพัฒนาปัญญา

ทีนี้ การที่จะเข้าถึงตัวปัญญาที่แท้จริงได้นั้น ก็จะต้องมีปัจจัยที่เราย้ำเน้นกันมากในปัจจุบัน คือ การคิดเป็น เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เมื่อมาถึงตัวปัญญาที่แท้นี้ แล้วเราจะต้องมาเน้นในเรื่องคุณลักษณะสำคัญที่ต้องการของปัญญา คือ การคิดเป็น

นอกจากคิดเป็นแล้วจะต้องเน้นเพิ่มขึ้นอีกว่า การคิดได้ชัดเจนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะถึงแม้จะบอกว่าคิดเป็น แต่ถ้าคิดไม่ชัดเจน การคิดเป็นนั้นก็ไม่สมบูรณ์และไม่เกิดประโยชน์เต็มที่

การคิดชัดเจนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมปัจจุบัน สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล มีข่าวสารข้อมูลมาก มีทั้งข่าวสารข้อมูล ที่เกะกะรกรุงรัง เป็นขยะข้อมูล และข่าวสารข้อมูลซึ่งเป็นตัวเนื้อแท้ที่ต้องการ คนที่ไม่รู้จักเลือก ไม่รู้จักใช้ปัญญา ไม่รู้จักพิจารณา คือ ไม่รู้จักสืบสวนค้นคว้า ไม่รู้จักเลือกสรร ตัวเองตกอยู่ท่ามกลางกองข้อมูล ก็เก็บเอาขยะข้อมูลมาใช้แล้วก็เกิดความผิดพลาด ไม่สำเร็จผลที่ต้องการ เพราะฉะนั้น เริ่มต้นจะต้องมีความสามารถในการที่จะเลือกรับข้อมูล เมื่อเลือกเฟ้นข้อมูลก็ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและได้ความรู้จริง เมื่อมีความรู้จริงก็สามารถที่จะคิดให้ชัดเจน

การคิดชัดเจนนี้ก็มีเป็นขั้นเป็นตอน ตอนแรกคิดชัดเจนเป็นเรื่องๆ และคิดชัดเจนในแต่ละเรื่อง ปรากฏการณ์ทั้งหลายโดยทั่วไป ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว ปรากฏการณ์หนึ่งๆ เหตุการณ์หนึ่งๆ สถานการณ์หนึ่งๆ จะประกอบด้วยกรณีหรือเหตุการณ์ย่อยหลายอย่างหรือหลายเรื่องมาประมวลกันขึ้น เมื่อชัดเจนในเรื่องย่อยแต่ละเรื่องแล้ว จากนั้นก็จะต้องมีภาพรวมที่ชัดเจนอีกชั้นหนึ่ง

การที่จะได้ภาพรวมที่ชัดเจน ก็เกิดจากการคิด เห็น เข้าใจ ชัดเจนในเรื่องที่เป็นส่วนย่อยแต่ละส่วน ความชัดเจนในแต่ละส่วนก็ต้องอาศัยการรู้จักคิดอย่างมีระเบียบวิธี โดยเฉพาะการวิเคราะห์องค์ประกอบ และการสืบสาวเหตุปัจจัย เมื่อความรู้ในแต่ละส่วนแต่ละอันชัดเจนแล้ว ก็มาโยงเข้าหากัน เมื่อโยงเข้าจากส่วนแต่ละส่วนที่ชัดเจนก็ได้ภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น

คนที่พลาดตั้งแต่ขั้นข้อมูล คือ เลือกข้อมูลไม่เป็นแล้ว ไม่รู้จักค้นคว้าสืบสวนข้อมูล ก็ไม่ได้ความรู้จริง แล้วก็คิดไม่ชัดเจนในเรื่องนั้นๆ เมื่อคิดไม่ชัดเจนในแต่ละเรื่องแล้วก็โยงเข้ามาในสภาพที่พร่าและสับสน ก็ได้ภาพที่ไม่ถูกต้องไม่ชัดเจน ก็แก้ปัญหาไม่ได้

เพราะฉะนั้น จะต้องมีการฝึกฝนในเรื่องความคิด ในการใช้ปัญญา และในการพัฒนาปัญญาให้มาก อันนี้คือจุดที่เป็นหัวใจ ซึ่งในที่สุดแล้วการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์จะมาเน้นที่จุดนี้ คือ ที่การพัฒนาปัญญาของมนุษย์ การที่จะให้เกิดความรู้จริง การที่จะคิดได้ชัดเจน แล้วผลที่สุดก็เห็นรอบด้าน

หมายความว่า เมื่อศึกษาเรื่องราว หรือปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ใช่เห็นในแง่มุมเดียว แต่เห็นรอบด้าน แต่ไม่ใช่เห็นรอบด้านชนิดพร่าและสับสน จะต้องเป็นการเห็นรอบด้าน ที่เกิดจากความชัดเจนในแต่ละเรื่องแต่ละด้าน แล้วมาโยงกันเป็นภาพรวมที่สมบูรณ์ ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

 

การพัฒนาปัญญามีจุดหมายเพื่ออิสรภาพ

ปัญหาพื้นฐานของชีวิตและของมนุษย์ทั้งหมด ได้แก่ ความติดขัดคับข้องบีบคั้น ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ที่คำเดิมใช้ว่า “ทุกข์”

ขยายความว่า มนุษย์จะต้องดำเนินชีวิตเคลื่อนไหวเป็นไปเพื่อสืบต่อชีวิตและสังคมของตน ก็จึงต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ชีวิตของตนเองไปทีเดียว เมื่อไม่รู้หรือยังไม่รู้จักว่า สิ่งนั้นๆ คืออะไร เป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ไม่ถูกต้อง เมื่อไม่รู้ที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็ไม่ลุล่วงผ่านพ้นปลอดโปร่งไป แต่กลายเป็นว่า เกิดความติดขัดคับข้องบีบคั้น เป็นปัญหาขึ้น หรือ เรียกว่าแก้ปัญหาไม่ได้ รวมพูดสั้นๆ ว่า เพราะไม่รู้ความจริงของโลกและชีวิต จึงทำให้เกิดความทุกข์

ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจสิ่งทั้งหลาย จนเข้าถึงความจริง เมื่อรู้จักและเข้าใจสิ่งทั้งหลาย คือรู้ความจริงของชีวิตและโลกนี้แล้ว ก็ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็ไม่เกิดความติดขัดบีบคั้น แก้ปัญหาได้ หรือไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้น ก็เกิดความลุล่วงทะลุปรุโปร่งปลอดพ้นไป เป็นอิสระ ซึ่งจะเรียกว่าอิสรภาพ หรือภาวะไร้ทุกข์ก็ได้ เมื่อถึงภาวะนี้ มนุษย์จึงจะมีความสุขที่แท้จริง จึงเห็นได้ว่า อิสรภาพ การดับปัญหาได้ หรือ ภาวะลุล่วงปลอดพ้นปัญหา หรือภาวะไร้ทุกข์ เป็นจุดหมายของชีวิต และเป็นจุดหมายของมนุษย์ทั้งหมด และก็จึงเป็นจุดหมายของการพัฒนาปัญญาด้วย การศึกษาศิลปศาสตร์ในความหมายที่เป็นแก่นที่สุด จึงหมายถึงการพัฒนาปัญญา เพื่อให้เข้าถึงอิสรภาพนี้ และวิชาต่างๆ ในศิลปศาสตร์ ก็เป็นองค์ประกอบด้านต่างๆ ของกระบวนการพัฒนาปัญญานี้ แต่จะต้องปฏิบัติต่อวิชาศิลปศาสตร์อย่างถูกต้องด้วย การพัฒนาปัญญาจึงจะเกิดขึ้น และจึงจะได้ความรู้ตามเป็นจริง ที่จะนำไปสู่อิสรภาพได้

 

ศิลปศาสตร์เพื่อการพัฒนาปัญญาที่ได้ผล

เพราะฉะนั้น ความสามารถในการแสวงหาความรู้โดยเลือกรับข้อมูลให้ได้ความรู้จริงนี้ เป็นความสำคัญประการที่ ๑ ความสามารถในการคิดให้ชัดเจนในแต่ละเรื่องเป็นความสำคัญประการที่ ๒ และสุดท้ายความสามารถในการโยงความรู้และความคิดแต่ละด้านเข้ามาหากันให้เกิดภาพรวมที่ชัดเจนเป็นความสำคัญประการที่ ๓ ที่จะต้องเน้นไว้นี้เป็นเรื่องของการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพ ในส่วนที่เป็นแก่นเป็นแกนคือ การพัฒนาปัญญา

เรื่องที่ได้พูดมา ๖ แง่ ๖ ด้านด้วยกัน มาถึงแง่สุดท้าย ก็เป็นแง่ที่เป็นแก่นเป็นจุดหมายสูงสุดของการศึกษาศิลปศาสตร์

ปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาศักยภาพนั้น ตัวแก่นตัวแกนอยู่ที่ปัญญา ยิ่งมาอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูลด้วยแล้ว ปัญญาก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะปัญญาเป็นตัวทำงานต่อข่าวสารข้อมูล ตั้งแต่รับเข้ามา จนกระทั่งเอาออกไปใช้ อย่างถูกต้องสำเร็จผล

ในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ข่าวสารข้อมูลได้เพิ่มขึ้นมามากมายอย่างท่วมท้น และแพร่หลายได้อย่างรวดเร็วยิ่งนัก ถ้าคนไม่รู้จักปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้อง ก็จะถูกข้อมูลนั้นท่วมทับครอบงำเอา ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ได้ แล้วก็จะกลายสภาพเป็นอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ เป็นผู้ถูกกระทำโดยข่าวสารข้อมูล เช่นเดียวกับที่เป็นผู้ถูกกระทำโดยความเปลี่ยนแปลง

ในทางที่ถูก เราจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการศึกษา ให้ตัวเรากลายมาเป็นผู้กระทำต่อข่าวสารข้อมูล รวมทั้งเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง ให้ถึงขั้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้น ในขณะที่สังคม กำลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลและก็ปรากฏว่า มีความไม่พร้อมเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลดังกล่าว โดยมีปัญหาต่างๆ มากมาย เนื่องจากการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อข่าวสารข้อมูลนั้น ถ้าการศึกษาศิลปศาสตร์จะเพียงแค่มาช่วยให้คนยุคปัจจุบันมีความสามารถที่จะปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลทั้งหลายอย่างถูกต้อง ทั้งในการผลิต นำเสนอ หรือเผยแพร่ และในการรับ บริโภค หรือใช้ประโยชน์ โดยให้รู้จักเลือกคัด ประมวล จัดสรร รู้จักวิเคราะห์สืบสาว สามารถคิดได้ชัดเจน และมองเห็นรอบด้าน ด้วยอาศัยแรงจูงใจใฝ่รู้แจ้งจริง ใฝ่สร้างสรรค์ และด้วยการใช้ปัญญา ที่มุ่งจะเข้าถึงความจริงแท้โดยซื่อตรง และที่จะใช้ความรู้ในความจริงนั้นสร้างประโยชน์สุข ด้วยความปรารถนาดีต่อชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง ถ้าทำได้แม้เพียงเท่านี้ ก็นับว่าการศึกษาศิลปศาสตร์ได้ทำหน้าที่ของมันแล้วอย่างสมคุณค่า และได้ทำประโยชน์แก่สังคมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้แล้วอย่างคุ้มค่า

วิชาศิลปศาสตร์ ดังเช่น ปรัชญา เมื่อเรียนและสอนอย่างถูกต้อง จะเป็นเครื่องพัฒนาปัญญา ด้วยการฝึกให้รู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์สืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้น ซึ่งเป็นการได้ผลตามความมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์นั้น แต่บางทีเราก็เผลอลืมการปฏิบัติเพื่อความมุ่งหมายนี้ไปเสีย เช่น เมื่อเรียนปรัชญา ก็มักจะมัวมุ่งแต่มองดูเขาถกเถียงกัน หรือก้าวพรวดเข้าร่วมการถกเถียง ด้วยท่าทีดังว่าตนได้เข้าร่วมกับฝ่ายโน้นหรือฝ่ายนี้ แทนที่จะหยิบยกเอาประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง และความคิดของผู้ถูกถกเถียงมาวิเคราะห์สืบสาวอย่างทั่วถึงตลอดสายและรอบด้าน ให้ได้ทั้งความเข้าใจชัดเจนในประเด็น การเข้าถึงความคิดของผู้ถกเถียงทุกฝ่าย พร้อมทั้งมีข้อเสนอทางความคิดที่แตกต่อออกไปใหม่ของตนเอง ซึ่งทำให้มีการพัฒนาปัญญาของตนเอง และทำให้เกิดพัฒนาการทางปัญญาของสังคม ไปพร้อมกับการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์

การศึกษาศิลปศาสตร์ จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาปัญญาในความหมายที่กล่าวมานี้ขึ้นให้ได้ จึงจะเป็นการเรียนการสอนที่ถูกต้อง และจึงจะบรรลุความมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์ แล้วเมื่อนั้น ความเป็นผู้กระทำต่อข่าวสารข้อมูล ไม่ใช่ถูกกระทำโดยข่าวสารข้อมูล ความเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง มิใช่ถูกกระทำโดยความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง จึงจะสำเร็จผลเป็นความจริงขึ้นได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แง่ที่ ๕ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์

No Comments

Comments are closed.