พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา

7 พฤศจิกายน 2542
เป็นตอนที่ 1 จาก 4 ตอนของ

พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา1

ขออนุโมทนาที่ทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดทำพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทย สำเร็จเรียบร้อย นับว่าเป็นงานใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่การพระศาสนา คือเป็นเครื่องรักษาพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญ ถือว่าเป็นงานที่สมกับเกียรติฐานะของมหาวิทยาลัยสงฆ์

มหาจุฬาฯใช้เวลา ๕ ปี ในการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับนี้ ให้สำเร็จเรียบร้อย นับว่าใช้เวลาไม่นาน เพราะงานที่จัดทำนั้น นอกจากเป็นงานที่ใหญ่ในตัวแล้ว ก็ได้จัดทำให้สมกับเป็นงานวิชาการด้วย หมายความว่า นอกจากเป็นงานสำคัญทางพระศาสนาแล้ว ก็มีความเป็นวิชาการอยู่ในตัว เช่น การที่ได้ทำบทนำ สรุปเนื้อหาสาระ จุดเด่น ลักษณะพิเศษ ของพระไตรปิฎกเล่มนั้นๆ ไว้ด้วย เป็นต้น

เมื่องานนี้สำเร็จลุล่วงไปจึงจัดงานฉลองขึ้น การสมโภชนั้นเท่ากับเป็นการประกาศให้รู้ทั่วกันด้วย คือไม่ใช่ฉลองแสดงความยินดีเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ประชาชนได้มีโอกาสรับทราบกว้างขวางออกไป จะได้ช่วยกันใช้พระไตรปิฎกฉบับนี้ให้เป็นประโยชน์ การใช้ให้เป็นประโยชน์ก็คือการนำไปศึกษา เล่าเรียน ค้นคว้า เพื่อเป็นฐานของการปฏิบัติต่อไป

การที่ขอให้แสดงปาฐกถานี้ ก็ขอบคุณที่ให้โอกาส แต่ไม่มีโอกาสที่จะไปร่วมงาน ยิ่งตอนนี้เกิดปัญหาซ้อนเข้ามาเฉพาะหน้า คือเป็นไข้ และคออักเสบอีก คงจะพูดเท่าที่เป็นไปได้ในหัวข้อเรื่อง “พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา

คำว่า “ธำรง” ในที่นี้ ถือว่ามีความหมายเหมือนกับคำว่า “รักษา” จะพูดรวมกันไปก็ได้ว่า “ธำรงรักษา” เรื่อง พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา จึงมีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องของพระไตรปิฎกกับการรักษาพระพุทธศาสนา

ธำรงพระพุทธศาสนา
ด้วยการรักษาพระไตรปิฎก

รักษาพระไตรปิฎก คือรักษาพระพุทธศาสนา

แม้แต่ในความหมายอย่างง่ายๆ ก็เห็นได้ทันทีว่าพระไตรปิฎกสัมพันธ์กับการธำรงพระพุทธศาสนาอย่างไร

พระพุทธศาสนาคืออะไร ตอบง่ายๆ โดยแปลตามตัวอักษรว่า พระพุทธศาสนา คือคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระไตรปิฎกคืออะไร พระไตรปิฎก ก็คือคัมภีร์ที่ประมวลเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ พระไตรปิฎกจึงเป็นที่รวบรวม บรรจุไว้ หรือจารึกไว้ ซึ่งพระพุทธศาสนานั้นเอง

ในเมื่อพระพุทธศาสนาแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น การรักษาพระไตรปิฎกจึงเป็นการรักษาพระพุทธศาสนา

ถ้าตอบอย่างสั้นที่สุด ก็พูดได้ว่า พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน การธำรงพระไตรปิฎก ก็คือการธำรงพระพุทธศาสนานี้ เป็นความหมายอย่างง่ายที่สุด

รักษาพระไตรปิฎก เท่ากับรักษาพระพุทธเจ้า

ถ้าพูดให้ลึกลงและให้กว้างออกไป พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาอีกหลายอย่าง นอกจากมองพระพุทธศาสนาในความหมายที่เป็นคำสั่งสอนแล้ว พระพุทธศาสนายังหมายถึง การเล่าเรียน การศึกษา การปฏิบัติ และการจัดการต่างๆ ให้มีการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัตินั้นทั้งหมด ซึ่งรวมถึงทุกอย่างที่เราเรียกว่า เป็นสถาบันและเป็นพระพุทธศาสนาที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจ ในความหมายนี้พระไตรปิฎกก็มีความสำคัญต่อการธำรงพระพุทธศาสนา ดูง่ายๆ ดังต่อไปนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองก่อนปรินิพพาน ซึ่งเราจำกันแม่นทีเดียวว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไป ไม่ได้ทรงตั้งพระภิกษุองค์ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้ชาวพุทธได้รู้กันว่า พระธรรมวินัยนั้นแหละเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ชาวพุทธจำนวนมากถึงกับจำพุทธพจน์ภาษาบาลีได้ว่า

โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปฺตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา

แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลที่เราล่วงลับไป

นี้คือพุทธพจน์ที่ให้เห็นว่า พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยนี้ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเอง พระธรรมวินัยจึงเท่ากับเป็นองค์พระศาสดา และเป็นตัวพระพุทธศาสนา

พระธรรมวินัยนี้ก็ประมวลอยู่ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นที่สถิตของพระธรรมวินัย

เมื่อพระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระธรรมวินัย พระไตรปิฎกจึงเป็นที่สถิตของพระบรมศาสดาของชาวพุทธ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกไว้ จึงเท่ากับดำรงรักษาพระพุทธเจ้าไว้ และรักษาพระพุทธศาสนาด้วยนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ในความหมายนี้ พระไตรปิฎกก็มีความสำคัญต่อการรักษาพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่

รักษาพระไตรปิฎก
คือรักษาผลงานและจุดหมายของการสังคายนา

ในแง่ของการสังคายนา ชาวพุทธก็รู้กันอยู่แล้วว่าการสังคายนาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการประมวลหรือรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

การสังคายนานั้น เริ่มมีมาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ดังที่พระองค์เคยปรารภกับพระจุนทะว่า ควรจะสังคายนาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ เพื่อให้พรหมจริยะคือพระศาสนาดำรงอยู่ได้ยั่งยืน

พระพุทธศาสนานั้นมีชื่อเรียกได้หลายอย่าง คำเรียกอย่างหนึ่ง คือที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “พรหมจริยะ” หรือ “พรหมจรรย์” พรหมจรรย์หรือพรหมจริยะนั้น คือพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรสังคายนาหลักธรรมคำสอนของพระองค์ เพื่อให้พรหมจริยะดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน

ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสารีบุตรได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้ ดังปรากฏในสังคีติสูตร ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๑

การสังคายนาพระธรรมวินัยเริ่มเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการใหญ่ของสงฆ์ส่วนรวมขึ้น หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เมื่อพระมหากัสสปเถระเป็นประธานทำสังคายนาครั้งที่ ๑

การสังคายนา ก็คือการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันได้แก่พระธรรมวินัย มาจัดวางไว้เป็นแบบแผน ให้ทรงจำไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักของพระพุทธศาสนาสืบมา

พระธรรมวินัยที่ได้สังคายนารวบรวมไว้นี้ ต่อมาก็เป็นพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นผลของการสังคายนา โดยเป็นที่รวบรวมพระธรรมวินัยที่ได้สังคายนาไว้นั้น

ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ให้สังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อให้พรหมจริยะคือพระศาสนายั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก พระไตรปิฎกก็คือผลงานที่เป็นประจักษ์พยานของการสังคายนานี้ เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎก จึงมีความสำคัญโดยเป็นที่รักษาพระพุทธศาสนาอยู่ในตัวของมันเอง

รักษาพระไตรปิฎก ทำให้พุทธบริษัท
มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระพุทธศาสนา

ก่อนจะปรินิพพานพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า พระองค์จะปรินิพพานต่อเมื่อพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายทั้งปวง คือพระภิกษุ ทั้งเถระ ทั้งมัชฌิมะ ทั้งนวกะ ภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ทั้งที่ถือพรหมจรรย์ และที่เป็นผู้ครองเรือนทั้งหมด ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาได้ คือ

  1. ต้องเป็นผู้
    ก) มีความรู้ เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ดี และ
    ข) ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ตรง เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ
  2. นอกจากรู้เข้าใจเอง และปฏิบัติได้ดีแล้ว ยังสามารถบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วย
  3. เมื่อมีปรัปวาทเกิดขึ้น คือ คำจ้วงจาบสอนคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ก็สามารถชี้แจงแก้ไขได้ด้วย

ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความสามารถอย่างนี้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานนั้น มารก็มากราบทูลว่า เวลานี้พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติพร้อมอย่างที่พระองค์ได้ตรัสเหมือนกับเป็นเงื่อนไขไว้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นอย่างนั้น จึงทรงรับที่จะปรินิพพาน โดยทรงปลงพระชนมายุสังขาร

พุทธดำรัสนี้ ก็เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ แต่ต้องมองให้ตลอดด้วยว่า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัทที่เป็นอย่างไร ซึ่งก็ตอบได้เลยว่า ทรงฝากไว้กับพุทธบริษัทที่มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวมาแล้ว เริ่มด้วยรู้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือถูกต้องตามธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

พระธรรมวินัยนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยก็อยู่มาจนถึงปัจจุบันไม่ได้

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธจะเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้ ก็โดยมีพระไตรปิฎก และเรียนรู้เข้าใจพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกนี้แหละ

เป็นอันว่า ในแง่นี้พระไตรปิฎกก็เป็นหลักของพุทธบริษัท ต้องอยู่คู่กับพุทธบริษัท โดยเป็นฐานให้แก่พุทธบริษัท ซึ่งจะทำให้ชาวพุทธเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้

นี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อการธำรงพระศาสนา

รักษาพระไตรปิฎก
ไว้เป็นฐานของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

อีกแง่หนึ่ง ขอให้มองว่าพระพุทธศาสนานี้คืออะไรบ้าง เราพูดกันว่า พระพุทธศาสนานี้ ตัวแท้ตัวจริงถ้าสรุปง่ายๆ ก็เป็น ๓ ดังที่เรียกว่าเป็นสัทธรรม ๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ พระศาสนาทั้งหมดก็มีเท่านี้ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

ปริยัติ ก็คือพุทธพจน์ที่เรานำมาเล่าเรียนศึกษา พุทธพจน์ที่เราจะเล่าเรียนนั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พุทธพจน์ก็ไม่สามารถมาถึงเราได้ การที่ท่านสังคายนา ก็คือนำพุทธพจน์มารวมไว้ให้อยู่ในพระไตรปิฎกนี่เอง พุทธพจน์ที่รวบรวมไว้เหล่านี้นี่แหละ เป็นปริยัติที่เราเล่าเรียน

ปริยัติเป็นผลจากปฏิเวธ และเป็นฐานของการปฏิบัติ

ที่ว่า ปริยัติเป็นผลมาจากปฏิเวธนั้น หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงปฏิเวธ คือทรงบรรลุผลการปฏิบัติของพระองค์แล้ว จึงทรงนำประสบการณ์ที่เป็นผลจากการปฏิบัติของพระองค์นั้นมาเรียบเรียงร้อยกรองสั่งสอนพวกเรา คือทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยไว้ คำสั่งสอนของพระองค์นั้น ก็มาเป็นปริยัติของเรา คือเป็นสิ่งที่เราจะต้องเล่าเรียน

ปริยัติที่เป็นผลจากปฏิเวธนั้น หมายถึงปฏิเวธของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ คือผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า และที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับเท่านั้น ไม่เอาผลการปฏิบัติของโยคี ฤาษี ดาบส นักพรต ชีไพร อาจารย์ เจ้าลัทธิ หรือศาสดาอื่นใด

ที่ว่าปริยัติเป็นฐานของการปฏิบัติ ก็คือ ถ้าไม่ได้เล่าเรียนปริยัติ ไม่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติ ก็เขว ก็ผิด ก็เฉไฉ ออกนอกพระพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติผิด ก็ได้ผลที่ผิด หลอกตัวเองด้วยสิ่งที่พบซึ่งตนหลงเข้าใจผิด ปฏิเวธก็เกิดขึ้นไม่ได้

ถ้าไม่มีปริยัติเป็นฐาน ปฏิบัติและปฏิเวธก็พลาดหมด เป็นอันว่าเหลวไปด้วยกัน

พูดง่ายๆ ว่า จากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า ก็มาเป็น ปริยัติของเรา แล้วเราก็ปฏิบัติตามปริยัตินั้น เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็บรรลุปฏิเวธอย่างพระพุทธเจ้า ถ้าวงจรนี้ยังดำเนินไปพระศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ยังคงอยู่

ปริยัติ ที่มาจากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า และเป็นฐานแห่งการปฏิบัติของพวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ก็อยู่ในพระไตรปิฎกนี้แหละ

ฉะนั้น มองในแง่นี้ก็ได้ความหมายว่า ถ้าเราจะรักษาปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธไว้ ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎกนั่นเอง

ตกลงว่า ในความหมายที่จัดแบ่งตัวพระศาสนาเป็นสัทธรรม ๓ หรือบางทีแยกเป็นศาสนา ๒ คือ ปริยัติศาสนา กับปฏิบัติศาสนานั้น รวมความก็อยู่ที่พระไตรปิฎกเป็นฐาน จึงต้องรักษาพระไตรปิฎกไว้ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกได้ ก็รักษาพระพุทธศาสนาได้

รักษาพระไตรปิฎกไว้ได้
พระรัตนตรัยจึงจะยังปรากฏอยู่

แม้แต่จะมองในแง่พระรัตนตรัย เราก็เห็นว่าพระไตรปิฎกนี้เป็นที่รักษาพระรัตนตรัยอีกเช่นกัน เราบอกว่าพระรัตนตรัยนั้นเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหลักแห่งความเชื่อหรือหลักแห่งศรัทธา

๑. พระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้า แม้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เราก็มีพุทธพจน์ตรัสไว้อย่างที่ได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไป ธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมวินัยก็อยู่ในพระไตรปิฎก แสดงว่า พระศาสดาของเรายังอยู่ พระพุทธเจ้ายังอยู่ และอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นเอง ดังที่บอกแล้วว่าพระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้า

๒. พระไตรปิฎกทำหน้าที่ของพระธรรม เรารู้จักพระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยนั้น เราเรียกสั้นๆ ว่า พระธรรม เวลาเราจะแสดงอะไรเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรม เราก็เอาพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นเครื่องหมายของพระธรรม เพราะพระธรรมอยู่ในพระไตรปิฎก

๓. พระไตรปิฎกเป็นที่รองรับพระสงฆ์ พระสงฆ์นั้นเกิดจากพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎก หมายความว่า พระภิกษุทั้งหลายที่รวมเป็นภิกขุสังฆะคือภิกษุสงฆ์นั้น บวชขึ้นมาและอยู่ได้ด้วยพระวินัย

วินัยปิฎกเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ กติกา คือพุทธบัญญัติที่รักษาไว้ซึ่งภิกขุสังฆะ สงฆ์อยู่ได้ด้วยวินัย วินัยนั้นเป็นที่ก่อกำเนิดและเป็นที่ดำรงไว้ซึ่งสังฆะ และสังฆะนั้นก็ทำหน้าที่เป็นผู้ที่จะรักษาสืบทอดพระศาสนา สังฆะจึงผูกพันเนื่องอยู่ด้วยกันกับพระไตรปิฎก

รวมความว่า พระรัตนตรัย ต้องอาศัยพระไตรปิฎกเป็นที่ปรากฏตัวแก่ประชาชนชาวโลก เริ่มตั้งแต่พุทธศาสนิกชนเป็นต้นไป พระไตรปิฎก จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นที่ปรากฏของพระรัตนตรัย

ดังนั้น การธำรงพระไตรปิฎกจึงเป็นการธำรงไว้ซึ่งพระรัตนตรัย ซึ่งก็คือการธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

รักษาพระไตรปิฎก คือรักษาไตรสิกขา ที่ทำให้
พระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในชีวิตของชาวพุทธ

อีกแง่หนึ่ง เราอาจมองลึกลงไปถึงขั้นที่เอาพระพุทธศาสนาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา หรือเป็นชีวิตของแต่ละคน

พระพุทธศาสนาในความหมายที่เป็นแก่นสารแท้ๆ ก็คือผลที่เกิดขึ้นเป็นความดีความงาม เป็นความเจริญก้าวหน้างอกงามขึ้น หรือเป็นการพัฒนาขึ้นของไตรสิกขาในชีวิตของเรานี้เอง

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาเจริญขึ้นเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา หรือเป็นชีวิตของเราที่ซึมซาบเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาไว้ในเนื้อในตัว

พระพุทธศาสนาชนิดที่เป็นเนื้อเป็นตัวเป็นชีวิตของเรานี้ ก็ต้องอาศัยพระไตรปิฎกอีกเช่นกัน เพราะว่าพระพุทธศาสนาในความหมายนี้ หมายถึงการที่สามารถละ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ การที่จะละ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ ก็ด้วยการปฏิบัติตาม ศีล สมาธิ ปัญญา

ถามว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เรารู้ได้จากไหน

ตอบว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องมีปริยัติเป็นแหล่งชี้บอก และแหล่งปริยัติที่ชี้บอกนั้นก็คือพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกที่แสดงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้นั้น ประกอบด้วย

๑. พระวินัยปิฎก เป็นแหล่งที่รวมศีลของพระสงฆ์ เพราะศีลของพระภิกษุที่เรียกกันว่าศีล ๒๒๗ อยู่ในพระวินัยปิฎก แต่ที่จริงไม่เฉพาะ ๒๒๗ ที่เป็นศีลในปาติโมกข์เท่านั้น แม้ศีลนอกปาติโมกข์ก็ยังมีในพระวินัยปิฎกนั้นอีกมาก และทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของวินัยหรือเรื่องศีล คือการฝึกหัดพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงออกในความสัมพันธ์ทางกาย และวาจา

๒. พระสุตตันตปิฎก ความจริงพระสูตรมีครบหมด มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา แต่เวลาจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ ท่านชี้ให้เห็นจุดเด่นของพระไตรปิฎกแต่ละปิฎก ท่านกล่าวว่า พระสุตตันตปิฎกนี้เน้นหนักในสมาธิ คือ การพัฒนาด้านจิตใจ

๓. พระอภิธรรมปิฎก เน้นหนักด้านปัญญา พูดอย่างปัจจุบันว่าเป็นเนื้อหาทางวิชาการล้วนๆ ยกเอาสภาวธรรมที่ละเอียดประณีตลึกซึ้งขึ้นมาวิเคราะห์วิจัย จึงเป็นเรื่องของปัญญา ต้องใช้ปรีชาญาณอันลึกซึ้ง

เป็นอันว่า พระไตรปิฎกนั้นท่านเอามาโยงกับข้อปฏิบัติที่เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่เกิดผลเป็นจริงในชีวิตจิตใจของคน อันจะทำให้พระพุทธศาสนาถูกย่อยเข้าไปเป็นชีวิตจิตใจของเรา

ถ้าใครปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา ที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก ชีวิตของผู้นั้นจะกลายเป็นเหมือนตัวพระพุทธศาสนาเอง เหมือนดังว่าเรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ด้วยชีวิตของเรา เพราะพระพุทธศาสนาเจริญขึ้นมาเป็นเนื้อตัวเป็นชีวิตของเราแล้ว ตราบใดชีวิตเรายังอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ เราอยู่ไหน เราเดินไปไหน พระพุทธศาสนาก็อยู่ที่นั่น และก้าวไปถึงนั่น

ข้อนี้เป็นขั้นที่สำคัญมาก คือ ชาวพุทธจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ดีที่สุด ด้วยชีวิตของแต่ละคน

เมื่อแต่ละคนนั้นมีทั้งความรู้ มีทั้งการปฏิบัติ และได้ประจักษ์แจ้งผลของพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธศาสนาก็เป็นเนื้อเป็นตัวของเขา เป็นชีวิตของเขา ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ เพราะอยู่ในตัวของแต่ละคน แล้วคนอื่นลูกหลานก็มาสืบต่อกันไป

อย่างนี้เรียกว่าพระพุทธศาสนาอยู่ด้วยวิธีการรักษาอย่างสูงสุด พูดได้ว่า พระไตรปิฎกเข้ามาอยู่ในเนื้อตัวของคนแล้ว ไม่ใช่อยู่แค่เป็นตัวหนังสือ

แต่ก่อนจะมาอยู่ในตัวคนได้ ก็ต้องมีคัมภีร์พระไตรปิฎกนี้แหละเป็นแหล่งบรรจุรักษาไว้ แม้แต่เราจะปฏิบัติให้สูงขึ้นไป เราก็ต้องไปปรึกษาพระอาจารย์ที่เรียนมาจากพระไตรปิฎก หรือจากอาจารย์ที่เรียนต่อมาจากอาจารย์รุ่นก่อนที่เรียนจากพระไตรปิฎก ซึ่งอาจจะถ่ายต่อกันมาหลายสิบทอด ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎกเองไม่ได้ ก็ไปถามพระอาจารย์ให้ท่านช่วยค้นให้ ถ้าเราค้นเองเป็น เราก็ไปค้นเอง เมื่อค้นได้ความรู้ในหลักคำสอนมาแล้ว เราก็สามารถปฏิบัติให้เจริญงอกงามใน ศีล สมาธิ ปัญญา ยิ่งขึ้นไป

สรุปว่า ชีวิตของเราชาวพุทธอิงอาศัยพระไตรปิฎกโดยตรง ด้วยการนำหลักคำสอนมาปฏิบัติให้เกิดผลในชีวิตจริง

นี้เป็นความหมายแง่ต่างๆ เกี่ยวกับความสำคัญของพระไตรปิฎก ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

เมื่อพระไตรปิฎกดำรงพระพุทธศาสนา เราจะรักษาพระพุทธศาสนา เราก็มาดำรงรักษาพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นการดำรงรักษาพระไตรปิฎกก็เท่ากับดำรงพระพุทธศาสนาไว้ด้วย

ธำรงพระพุทธศาสนาได้
เมื่อพระไตรปิฎกอยู่คู่พุทธบริษัท ๔

องค์ประกอบใหญ่ๆ ในการรักษาพระพุทธศาสนา มี ๒ อย่าง คือ

๑. ผู้ที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ก็คือพุทธบริษัท ๔ การที่จะรักษาก็ต้องมีคนที่จะรักษา ไม่อย่างนั้นจะไปรักษาได้อย่างไร คนที่จะรักษาพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า ได้แก่ พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เวลานี้ภิกษุณีไม่มีแล้ว ก็ไม่เป็นไร พุทธบริษัทที่อยู่นี่เราก็ถือว่าเหมือนกับบริษัท ๔ ยังทำหน้าที่กันอยู่ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบรรพชิต กับคฤหัสถ์ หรือชาววัด กับชาวบ้าน หรือพระสงฆ์ กับญาติโยม พุทธบริษัท ๔ เป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนา

๒. เนื้อตัวของพระพุทธศาสนาที่เราจะรักษานั้น ก็อยู่ที่พระไตรปิฎก เนื้อตัวของพระไตรปิฎก หรือตัวพระพุทธศาสนาแท้ๆ ที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้น เราเรียกว่าพระธรรมวินัย พระธรรมวินัยเป็นตัวหลักการ

เป็นอันว่ามี ๒ ฝ่าย คือ

  1. ตัวคนที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ได้แก่พุทธบริษัท ๔
  2. ตัวพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักการที่เราจะต้องรักษา ได้แก่พระธรรมวินัยที่อยู่ในพระไตรปิฎก

สองอย่างนี้อาศัยซึ่งกันและกัน พระธรรมวินัยที่เป็นหลักของพระศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะดำรงอยู่ และจะเกิดผลเป็นประโยชน์ ก็ต้องมาปรากฏที่ตัวพุทธบริษัท ๔ ต้องอาศัยพุทธบริษัท ๔ เป็นทั้งที่รักษาไว้ และเป็นที่ปรากฏผล หรือเป็นที่จะนำไปใช้ประโยชน์

พร้อมกันนั้นในเวลาเดียวกัน พุทธบริษัท ๔ จะมีความหมายเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้ และจะได้ประโยชน์เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ก็เพราะมีธรรมวินัยที่รักษาไว้ในพระไตรปิฎกเป็นหลักอยู่

ฉะนั้น สองอย่างนี้จึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เท่ากับเป็นเครื่องเตือนใจว่า เราชาวพุทธ หรือพุทธบริษัททั้ง ๔ นี่แหละ คือผู้มีหน้าที่ที่จะรักษาพระพุทธศาสนา และการรักษาพระพุทธศาสนานั้นก็ทำได้ด้วยการรักษาพระธรรมวินัย และจะรักษาพระธรรมวินัยได้ก็ด้วยการเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ ให้พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเกิดประโยชน์เป็นจริงขึ้นแก่ชีวิตของตนและแก่สังคมทั้งหมด

เราจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ก็ต้องให้พระไตรปิฎกยังคงอยู่คู่กับพุทธบริษัททั้ง ๔

ที่พูดมานี้มีความหมายว่า พุทธบริษัทจะต้องรำลึกตระหนักถึงความสำคัญของพระธรรมวินัย และพุทธบริษัทนั้นจะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ด้วยการเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ ทำให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน และนำไปขยายผลให้เกิดเป็นประโยชน์แก่สังคมและแก่ชาวโลกทั้งหมด

ทั้งนี้ ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พรหมจริยะ คือพระพุทธศาสนา ควรจะอยู่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน ถ้าพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ก็คือแก่มวลชน ตลอดจนให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหมด ตามคติที่ว่า โลกานุกัมปายะ

นั่นคือหน้าที่ของพุทธบริษัท โดยเฉพาะพระภิกษุ ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก

นี่แหละคือความสัมพันธ์ระหว่างพุทธบริษัท ๔ กับพระธรรมวินัย ซึ่งจะต้องระลึกตระหนักไว้ให้ดี

บัดนี้ พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ทั้ง ๔ มาประชุมพร้อมกันแล้ว เรากำลังทำหน้าที่ของชาวพุทธ คือการรักษาพระพุทธศาสนา โดยเริ่มต้นด้วยการเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก วันนี้เราจึงพร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก แสดงว่าอย่างน้อยเราเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกแล้ว แต่อย่าเอาแค่เห็นความสำคัญ

การเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกนั้น แน่นอนว่าสำคัญอย่างยิ่ง เวลานี้เรารู้จักพระไตรปิฎกกันน้อยไปหน่อย เห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกกันน้อยไปหน่อย ต่อไปนี้จะต้องรู้จักพระไตรปิฎกกันให้มาก และเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกกันให้มาก

เมื่อเห็นความสำคัญแล้วก็ชวนกันรักษา ชวนกันรักษาอย่างไร ก็มาเล่าเรียน มาชวนกันอ่าน มาชวนกันเรียน มาเล่าให้กันฟัง มาอธิบายให้กันฟัง ครั้นเล่าเรียนแล้วก็เอาไปใช้ปฏิบัติ โดยนำเอาความรู้เข้าใจที่ได้ศึกษามาแล้วนั้นไปพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ขัดเกลาพฤติกรรม กาย วาจา ของตน พัฒนาจิตใจของตน พัฒนาปัญญาของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นใน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะได้รับประโยชน์เสวยผลที่พึงเกิดมีจากพระพุทธศาสนา

ที่กล่าวมานี้คิดว่าเป็นคุณค่าซึ่งจะเกิดขึ้นจากการฉลองหรือสมโภชพระไตรปิฎกครั้งนี้ด้วย หมายความว่า การสมโภช ฉลองพระไตรปิฎกจะเกิดผลแท้จริง ก็ต่อเมื่อไปออกผลแก่ชีวิตและสังคมของชาวพุทธ ตลอดจนคนทั้งโลก เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ชาวโลกทั้งปวง

ขอให้การสมโภชเฉลิมฉลองพระไตรปิฎกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยครั้งนี้ จงเกิดผลอำนวยประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา แก่ชีวิตของชาวพุทธทุกคน และแก่ชาวโลกทั้งมวล ให้อยู่ในความดีงามและร่มเย็นเป็นสุข ตลอดกาลยั่งยืนนานทุกเมื่อ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปความสำคัญ และการรักษาพระไตรปิฎก >>

เชิงอรรถ

  1. ปาฐกถาธรรมของพระธรรมปิฎก โดยวีดิทัศน์ (ถ่ายที่วัดญาณเวศกวัน เนื่องจากพระธรรมปิฎกอาพาธ) ฉายในวันสมโภชพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

No Comments

Comments are closed.