– ๑ – พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้มวลมนุษย์

10 พฤษภาคม 2541
เป็นตอนที่ 2 จาก 4 ตอนของ

– ๑ –
พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้มวลมนุษย์

ความหมายของวันวิสาขบูชา โดยสัมพันธ์กับวันสำคัญอื่นๆ

วันวิสาขบูชามีความหมายอย่างไร? สำหรับที่ประชุมนี้คงไม่จำเป็นจะต้องอธิบายให้ละเอียดลออ เพราะว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธา มีความรู้ความเข้าใจอยู่พอสมควรแล้ว

เราทราบกันดีว่า วันวิสาขบูชานั้น เป็นวันที่เรามาประกอบการบูชา เพื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดา ในโอกาสแห่งวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระองค์

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการประสูติก็ตาม ตรัสรู้ก็ตาม ปรินิพพานก็ตามนั้น อย่างที่กล่าวเบื้องต้นแล้วว่าคงไม่จำเป็นจะต้องมาทบทวนกันในที่นี้ แต่สาระสำคัญของวันวิสาขบูชานั้น ก็เพื่อให้เราได้ประโยชน์ คือให้ประโยชน์เกิดขึ้น ทั้งแก่ตัวเรา คือชีวิตของเรา และแก่สังคมของเรา

การที่เราบูชาพระพุทธเจ้า ความจริงเราไม่ได้ทำเพื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คงไม่ทรงต้องการประโยชน์อะไรจากพวกเรา แต่การที่เราบูชานี้ ประโยชน์ก็เกิดแก่ตัวของพวกเราเอง ถ้าเรารู้ความหมายรู้เหตุรู้ผลในการบูชา รู้ว่าประโยชน์อะไรที่เราควรจะได้ และรู้ว่าเราควรจะบูชาอย่างไร ก็จะยิ่งได้ประโยชน์มาก เพราะฉะนั้น การบูชาที่จะมีผลดีก็คือการบูชาที่เกิดจากความรู้ความเข้าใจ

วิสาขบูชานั้น พูดสั้นๆ ว่ามีความหมายหลายอย่าง บางทีเราบอกว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า ทั้งนี้โดยเทียบกับวันอื่น กล่าวคือ ในบรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เราประกอบพิธีบูชากันในรอบปีนั้น เราถือว่า วันวิสาขบูชานี้ เป็นวันพระพุทธเจ้า เพราะเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

วันมาฆบูชา เราบอกว่าเป็นวันพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมที่เรียกกันว่า เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือไม่ทำชั่ว ทำดี และทำใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเราถือว่าเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา รวมอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักนี้ในวันมาฆบูชา ก็คือแสดงหัวใจของธรรม เราก็เลยเรียกวันมาฆบูชาว่าวันพระธรรม

ส่วนวันอาสาฬหบูชานั้น เราบอกว่าเป็นวันพระสงฆ์ เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มประกาศพระศาสนา โดยทรงแสดงปฐมเทศนา และในบรรดาผู้ที่ได้ฟังในวันนั้น ก็มีท่านหนึ่งที่ได้บรรลุธรรม ได้เป็นปฐมสาวก คือเป็นสาวกองค์แรก เท่ากับเกิดมีพระสงฆ์ขึ้นมา เราจึงเรียกว่าเป็นวันพระสงฆ์ ที่ว่านี้ก็เป็นความหมายอย่างหนึ่ง

ถ้าพูดให้สั้นกว่านั้น อาจจะบอกว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า โดยมีความหมายว่าเป็นวันปลุกใจชาวพุทธ และปลุกจิตชาวโลก เพราะคำว่า “พุทธะ” หรือ พระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้ตื่น ตื่นก็โยงไปถึงรู้ แล้วก็เบิกบาน คำสำคัญก็คือตื่น ซึ่งหมายความว่าตื่นจากหลับ และตื่นจากความหลงใหล พ้นจากอวิชชา พ้นจากโมหะ

เมื่อพระพุทธเจ้าตื่น พวกเราชาวโลกหรือสรรพสัตว์ทั้งหลายยังไม่ตื่น ยังหลับใหลอยู่เป็นจำนวนมาก พระองค์จึงมาปลุกให้ตื่นเพื่อจะได้เป็นพุทธะด้วย เพราะฉะนั้นวันพระพุทธเจ้าจึงมีความหมายว่าเป็นวันที่โลกบังเกิดมีท่านผู้ที่จะมาปลุกให้คนทั้งหลายตื่นขึ้นจากความหลับใหลด้วยกิเลส มีโมหะ เป็นต้น

สภาพของมนุษย์ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประกาศอิสรภาพ

อีกอย่างหนึ่ง เราอาจจะเรียกวันวิสาขบูชาว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์ อันนี้มีความหมายพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายยืดยาว ที่จริงเหตุการณ์แห่งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น แต่ละอย่างมีความหมายทั้งสิ้น

ในการประสูตินั้นมีพุทธพจน์กำกับอยู่ ท่านกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเมื่อประสูติได้ตรัสพระวาทะ ที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อาสภิวาจา (วาจาอาจหาญ) ว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เมื่อได้ยินคำนี้บางคนอาจจะมองว่า ทำไมพระพุทธเจ้ามาอวดอ้างพระองค์ จะต้องเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ เป็นการตรัสในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของมนุษย์ แต่ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ที่พัฒนาตนดีแล้ว

เมื่อมนุษย์พัฒนาตนสมบูรณ์แล้ว ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองนี้ มนุษย์ก็จะกลายเป็นผู้ประเสริฐ มนุษย์ที่เคยหวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ที่ดลบันดาลภายนอก ก็กลายเป็นผู้มีอิสรภาพ

เรื่องนี้ตรัสโดยสัมพันธ์กับสภาพของสังคมอินเดียโบราณ ซึ่งเป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น หรือพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ลองหันไปดูสังคมอินเดียโบราณ และแม้แต่ไม่โบราณ คือปัจจุบันนี้เอง ซึ่งอาจจะโยงมาถึงประเทศไทยด้วย ผู้คนทั้งหลายนั้น อยากจะดำเนินชีวิตที่ดี อยากจะมีความสุข อยากจะพ้นทุกข์พ้นภัย อยากจะได้สิ่งที่หวังที่ต้องการ เมื่อเขามีความปรารถนาอย่างนี้ เขามองไปที่ไหน เขามักจะมองออกไปข้างนอกว่าจะมีใครมาช่วยเรา โดยเฉพาะก็เชื่อว่ามีเทพเจ้าเป็นต้น ที่มีอำนาจดลบันดาล ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่การดลบันดาลของท่าน เราต้องฝากโชคชะตาไว้กับเทพเจ้าเป็นต้นเหล่านั้น ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ

เมื่อเชื่ออย่างนี้ คนอินเดียสมัยโบราณ ก็ต้องหาวิธีที่จะให้เทพเจ้าผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลนั้นมาช่วยเหลือ จึงได้ประดิดประดอยวิธีที่จะเอาอกเอาใจเทพเจ้า ที่เรียกกันว่าการเซ่นสรวงบูชา การประดิษฐ์ตกแต่งคิดหาวิธีเอาอกเอาใจเทพเจ้านี้ ได้พัฒนามาเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าการบูชายัญ ไม่ว่าที่ไหนในสมัยโบราณ ถ้าจะเอาใจเทพเจ้าก็มาลงที่การบูชายัญ

แต่การเอาอกเอาใจเทพเจ้าที่เราไม่รู้ว่าท่านต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไรนั้น เอาใจลำบากมาก เราจึงต้องคิดเอาเอง คิดไปคิดมาก็พยายามปรุงแต่งวิธีจนกระทั่งยิ่งใหญ่มาก คิดว่าเทพเจ้าท่านมีอำนาจมาก บางองค์ก็ดุ คงชอบชีวิต ก็เลยเอาสัตว์มาฆ่าบูชายัญ ถ้าแค่เรื่องเป็ด เรื่องไก่ ก็คงง่าย แต่ต่อมาก็เอาวัว เอาแกะ เอาแพะ มาบูชายัญ แล้วก็ต้องทำเป็นการใหญ่ทีละมากๆ เช่น วัว ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ เวลาผ่านมาคิดว่าเท่านี้เทวดาคงยังไม่พอใจ เทพเจ้าบางองค์อาจจะพอใจชีวิตคน ก็เลยเอาคนมาฆ่าบูชายัญ อย่างเจ้าแม่กาลี ก็ต้องเอาหญิงสาวพรหมจารีมาฆ่าบูชายัญ

การเอาอกเอาใจเทพเจ้าและอำนาจที่เรามองไม่เห็น ที่เราไม่รู้ใจอย่างนี้ จะเป็นเรื่องที่ไม่มีที่สิ้นสุด ให้มองได้เลยว่า ไม่ว่าใครถ้าอยู่ในลัทธิความเชื่ออย่างนี้ ก็จะเดินไปจนกระทั่งถึงจุดที่ว่านั้น และในที่สุดก็ต้องหาอะไรมาเป็นกรอบกั้น อย่างอินเดียนั้น เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้เอาคนไปฆ่าบูชายัญ อย่างนี้เป็นต้น สังคมปัจจุบันนี้ก็กำหนดจำกัดขอบเขตกันด้วยกฎหมายและให้มีการลงโทษ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เกิดความกลัว เป็นการยับยั้งด้วยความกลัว ไม่ใช่เรื่องของสติปัญญา

รวมความก็คือว่า มนุษย์มองไปข้างนอก แสวงหาและหวังผลสำเร็จจากอำนาจดลบันดาล และรอคอยความช่วยเหลือ เป็นกันมาอย่างนี้ บูชายัญกันอยู่อย่างนี้

วันวิสาขบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มวลมนุษย์

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ก็มาตรัสสอนใหม่ว่า อย่ามัวไปมองข้างนอกเลย ให้ดูความจริงที่ตัวเราเองนี่แหละ และดูโดยสัมพันธ์กับความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด ว่าชีวิตของเราก็ตาม สิ่งทั้งหลายรอบตัวของเราก็ตาม มันมีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เรียกง่ายๆ ว่ากฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ กำกับทุกสิ่งทุกอย่าง ผลเกิดจากเหตุ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อเราต้องการผลเราก็ต้องทำเหตุ แต่การที่จะให้เกิดผลสำเร็จคือการที่เราจะทำให้ตรงเหตุได้ เราจะต้องมีความรู้ คือต้องมีปัญญา

สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เราจะรู้และทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้นได้ เราก็ต้องมีปัญญา ทำอย่างไรเราจะมีปัญญา เราก็ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตัวเองให้มีปัญญานั้น เมื่อเรารู้ คือมีปัญญารู้เข้าใจเหตุปัจจัย เราก็ทำเหตุได้ถูกต้อง ผลที่ต้องการก็เกิดขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อผลที่เราต้องการนี้เกิดจากการทำเหตุ เราจะทำเหตุเราก็ต้องใช้เรี่ยวแรงกำลังของเราทำมัน คือต้องเพียรพยายาม เพราะฉะนั้น ผลสำเร็จที่เราต้องการ จึงเกิดจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตัวเราเอง นี้คือหลักของเหตุผล เป็นเรื่องของธรรม คือกฎธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัย และเรื่องของกรรม คือการกระทำของมนุษย์ที่จะให้เกิดผลตามธรรม คือตามกฎแห่งเหตุปัจจัยนั้น

จากหลักการที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าจึงดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม และพระองค์ก็สอนว่าธรรมนี้แหละสูงสุด เทพเจ้าถึงมีอำนาจมากมายยิ่งใหญ่อย่างไร ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของธรรม เทพทั้งหลายไม่เหนือธรรมไปได้ คือไม่เหนือความจริง ไม่เหนือกฎธรรมชาติ ตัวเทพทั้งหลายเองก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ และต้องวัดด้วยธรรม อย่างเทพที่ว่าไม่ดี เอาแต่ใจชอบของตัวเอง ใช้อำนาจข่มเหงให้มนุษย์เกรงกลัว ต้องเซ่นสรวงสังเวยบูชายัญ เอาใจไม่ถูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หรือเทพที่ดีที่ว่ามีเหตุมีผล ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้จะตัดสินด้วยอะไร ก็ตัดสินด้วยธรรม เป็นอันว่าเทพก็ต้องเอาธรรมเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้น ธรรมจึงสูงกว่าเทพ ธรรมต้องเหนือเทพ

ถ้าเราขึ้นสูงสุดไปนับถือธรรมเลย เราก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเทพ เพราะทั้งเทพและเราก็ต้องเคารพธรรมด้วยกัน เพียงแต่ว่าเราก็อยู่กับเทพอย่างเป็นมิตร มีเมตตา เราไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นท่าน แต่เราไม่ต้องขึ้นต่อเทพ เราไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือ ไม่ต้องหวังผลดลบันดาลจากท่าน เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามธรรม การถือธรรมเป็นใหญ่ ยกธรรมเป็นสูงสุดนี้ เป็นเกณฑ์ตัดสินความเป็นชาวพุทธอย่างสำคัญ

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนคนให้ย้ายจากเทพมาสู่ธรรม อันนี้คือความหมายสำคัญแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ คือ การประกาศหลักการที่ให้ถือธรรมเป็นใหญ่สูงสุด

จุดนี้เป็นข้อที่จะต้องย้ำเน้นกัน เพราะว่าแม้แต่ปัจจุบันนี้ ผู้ที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธจำนวนมาก ก็ยังพร่าๆ มัวๆ ยังไปถือเทพสูงสุด ทั้งๆ ที่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจธรรม

ถ้าเราเอาธรรมเป็นเกณฑ์แล้วหมดปัญหา อย่างที่บอกแล้วว่า เทพนั้นเราเอาใจไม่ถูก เราก็ได้แต่คอยตามดูว่าท่านจะชอบอะไร จะเอาอย่างไร ที่เราทำไปนั้นถูกใจท่านหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ผลที่ต้องการ เราก็นึกว่าท่านยังไม่ชอบใจ เราก็ต้องยักย้ายเปลี่ยนแปลงวิธีที่จะเอาใจใหม่ จนกระทั่งไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ถ้าเราถือธรรมเป็นใหญ่ เราจะเป็นตัวของตัวเอง เพราะธรรมมีกฎมีเกณฑ์ คือความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ขึ้นต่อปัญญาของเรา ถ้าเราพัฒนาปัญญาของเราให้รู้ธรรม คือ รู้เข้าใจกฎธรรมชาติแล้ว เราก็ทำได้ถูกต้องเอง ถึงตอนนี้เราก็ไม่ต้องเคว้งคว้าง ไม่ต้องวุ่นวายห่วงกังวลอยู่ภายนอก แต่หันมาตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาตัวเอง โดยพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ธรรม ให้เข้าถึงธรรม เพื่อจะทำอะไรๆ ได้ถูกต้อง

พูดสั้นๆ ว่า ถ้านับถือเทพเป็นใหญ่ ผลที่ต้องการจะได้หรือไม่ก็อยู่ที่ใจของเทพว่าท่านจะชอบหรือไม่ ทางฝ่ายเราก็ต้องคอยอ้อนวอนเอาใจท่าน และรอให้ท่านบันดาลให้ แต่ถ้านับถือธรรมเป็นใหญ่ ผลที่ต้องการจะได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ปัญญาของเราเอง ที่จะศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของเราเอง

ถ้านับถือเทพเป็นใหญ่ เราก็ต้องหวังผลจากการดลบันดาล และเป็นนักอ้อนวอน แต่ถ้านับถือธรรมเป็นใหญ่ เราต้องหวังผลจากการกระทำ และเป็นนักสร้างสรรค์

การที่มีปัญญารู้เข้าใจธรรมแล้วปฏิบัติได้ถูกต้องนี่แหละ คือการที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเป็นผู้ประเสริฐ ผู้มีชีวิตที่ดีงาม และมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากความทุกข์ ถึงตอนนี้แม้แต่เทพทั้งหลายก็หันมากราบไหว้บูชามนุษย์นั้น เพราะมนุษย์นั้นได้กลายเป็นพุทธะแล้ว

พูดสั้นๆ ว่า ด้วยการพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงธรรมที่สูงสุด มนุษย์ก็กลายเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเหนือเทพ

พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของมนุษย์ที่ได้พัฒนาตนแล้วสูงสุด เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ เทพและพรหมทั้งหลายก็หันมาน้อมนมัสการ จึงมีคำปลุกใจชาวพุทธอยู่เสมอว่า

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ เมื่อได้ฝึกฝนพระองค์ดีแล้ว มีพระหฤทัยที่อบรมถึงที่แล้ว…แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ”(องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๑๔)

ข้อความนี้เป็นการให้กำลังใจแก่ชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา ชาวพุทธจะต้องนึกถึงคติข้อนี้ อย่ามัวแต่มองหาที่พึ่ง หวังความช่วยเหลือ รออำนาจดลบันดาลภายนอก แต่ต้องถือธรรม คือตัวความจริง และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นใหญ่ แล้วก็พัฒนาปัญญาให้รู้ความจริง ให้เข้าถึงธรรมชาตินั้น แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงที่เรียกว่า “ธรรม” ชีวิตของเราก็จะดีงาม

หลักการที่ว่ามานี้เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาตัวเอง เข้าถึงธรรมอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐ เป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ทำอะไรๆ ได้อย่างเป็นอิสระ เป็นพุทธะที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่า แม้แต่เทพและพรหมก็น้อมนมัสการ

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยสาระก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า และการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการที่มนุษย์ได้พัฒนาปัญญา รู้แจ้งธรรมโดยสมบูรณ์ ถึงความเป็นอิสระ เป็นบุคคลผู้เลิศประเสริฐสูงสุด เหนือกว่าเทพพรหมทั้งปวง

ดังนั้นวันวิสาขบูชานี้จึงถือว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์ จะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ได้ เพราะก่อนหน้านั้นมนุษย์ทั้งหลายมีชีวิตและสังคมที่ขึ้นต่อเทพเจ้า มัวแต่หวังพึ่ง และกลัวการดลบันดาลจากอำนาจของเทพเจ้ากันตลอดมา ศาสนาทั้งหลายก็สอนกันมาอย่างนั้น จนถึงพุทธศาสนาจึงมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างที่กล่าวข้างต้น ดังวาทะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างที่ยกมาให้ฟังนั้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อาราธนาธรรม-(กล่าวนำ)– ๒ – ชาวพุทธต้องกู้อิสรภาพให้แผ่นดินไทย >>

หน้า: 1 2 3

No Comments

Comments are closed.