๑. วันวิสาขบูชา

10 พฤษภาคม 2543
เป็นตอนที่ 1 จาก 2 ตอนของ

-๑-

วันวิสาขบูชา

รู้ความหมาย และได้คติที่จะทำ

คำว่า วิสาขบูชา เป็นชื่อของพิธีบูชาและการทำบุญในพระพุทธศาสนา ที่ปรารภ วันประสูติ วันตรัสรู้ และ วันปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า

คำว่า วิสาขบูชา เป็นคำเรียกสั้นที่ตัดมาจากคำภาษาบาลีว่า วิสาขปุณณมีปูชา บางทีก็เขียนเป็น วิศาขบูชา ซึ่งเป็นรูปที่ตัดมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า วิศาขปูรณมีปูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๖

วันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งในรอบปี เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เหตุการณ์ทั้งสามร่วมกันในวันนี้เป็นมหัศจรรย์

 

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา

บรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประเภทรำลึกถึงเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในอดีต วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันสำคัญที่สุด ทั้งในแง่ที่เป็นวันเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ และในแง่ที่เป็นสากล คือเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มีการจัดงานฉลองกันทั่วไปในประเทศทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนา

ว่าถึงเฉพาะในประเทศไทย การจัดงานฉลองวันวิสาขบูชา คงจะได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยอาจจะสืบมาจากการติดต่อกับลังกาทวีป ที่มีงานวิสาขบูชามานานแล้ว และหนังสือเรื่องนางนพมาศ ก็เล่าเรื่องพิธีวันวิสาขบูชาในกรุงสุโขทัยไว้ด้วย ในสมัยอยุธยาก็เข้าใจว่ามีการฉลองใหญ่ ทั้งงานหลวงงานราษฎร์ ตลอด ๓ วัน ๓ คืน ครั้นกรุงแตกแล้ว ประเพณีจึงเสื่อมทรามไป จนมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระราชโองการ เมื่อ จ.ศ. ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๖๐) กำหนดให้มีงานสมโภชประจำปีเป็นการใหญ่ยิ่งกว่างานใดๆ อื่น1

ความในพระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา จ.ศ. ๑๑๗๙ ว่าทรงมีพระทัยปรารถนาจะบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลวิเศษยิ่งกว่าที่ได้ทรงกระทำมา จึงมีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นประธาน ซึ่งได้ถวายพระพรถึงโบราณราชประเพณีงานวิสาขบูชาดังสมัยพระเจ้าภาติกราช แห่งลังกาทวีป2 เป็นเหตุให้ทรงมีพระราชโองการกำหนดวันพิธีวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่ ครั้งละ ๓ วัน สืบมา

อย่างไรก็ตาม ครั้นกาลล่วงนานมา สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป งานวันวิสาขบูชาก็ค่อยซบเซาลงอีกโดยลำดับ

ในรัชกาลที่ ๔ คือประมาณ ๑๐๐ ปีเศษล่วงแล้ว เมื่อประชาชนยังยึดมั่นในประเพณีดีอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริถึงความสำคัญของการประชุมใหญ่แห่งพระมหาสาวกของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต จึงได้ทรงจัดงาน วันมาฆบูชา ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง

เวลาล่วงมาอีกนานจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นงานสมโภชครั้งยิ่งใหญ่ หลังเสร็จงานแล้ว คณะสงฆ์ไทยครั้งนั้น ได้ประชุมกันมีมติว่า วันเพ็ญเดือน ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระเบญจวัคคีย์ เป็นวันที่สำคัญมาก เพราะเป็นการประดิษฐานพระพุทธศาสนา สมควรจัดขึ้นเป็นวันสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองเป็นพุทธบูชาอีกวันหนึ่ง วันอาสาฬหบูชา จึงได้เกิดมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ยังมีวันสำคัญประเภทบูชาอีกวันหนึ่ง คือ วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่ระลึกงานถวายพระเพลิงพระบรมสรีระของพระพุทธเจ้า วันอัฏฐมีบูชานี้ แม้ว่าคงจะได้มีมาแต่โบราณใกล้เคียงกับวันวิสาขบูชา แต่ไม่มีประวัติเด่นชัด ทั้งไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และในปัจจุบันก็ไม่จัดเข้าเป็นวันสำคัญในทางราชการ จึงไม่จำต้องนำมาเปรียบเทียบด้วย

ส่วนในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ วันสำคัญที่รู้จักกันทั่วไปมีเพียงวันเดียว คือ วันวิสาขบูชา แม้ว่าการคำนวณวันเวลา และการเรียกชื่อวันจะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ประเทศพุทธศาสนาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานตามปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือน ๖ แต่ชาวพุทธญี่ปุ่นจัดงานฉลองวันประสูติพระพุทธเจ้าตามปฏิทินสุริยคติในวันที่ ๘ เมษายน คนไทยเรียก วิสาขบูชา คนลังกาเรียกเพี้ยนไปว่า วีสัค หรือ วีซัค (Vesak หรือ Wesak) ดังนี้ เป็นต้น แต่สาระสำคัญของงานก็คงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปัจจุบันในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ได้มีการพยายามชักชวนให้ชาวพุทธทุกประเทศจัดงานวันวิสาขบูชา พร้อมตรงในวันเดียวกัน คือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเรียกชื่อวันนั้นว่า “The Buddha Day”

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดา ผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาโดยตรง เมื่อมีวันวิสาขบูชาแล้ว จึงมีวันอาสาฬหบูชา และมาฆบูชา เป็นต้นได้ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติแล้ว มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว เหตุการณ์อื่นๆ เช่นการแสดงธรรม และการประชุมพระสาวกจึงติดตามมา แม้พิจารณาในแง่นี้ ก็ต้องนับว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด

การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ปรากฏขึ้นตรงในวันเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือน ๖ เป็นความประจวบพอดีที่หาได้ยากยิ่งนัก หรืออาจจะหาไม่ได้อีกเลย นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ทำให้วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดทั้ง ๓ อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระพุทธเจ้า ทั้งวันที่พระองค์อุบัติเป็นมนุษย์ ทั้งวันที่อุบัติเป็นพระพุทธเจ้า และวันที่สิ้นสุดพระชนมชีพ วันวิสาขบูชาจึงมิใช่แต่เพียงเป็นวันที่สำคัญอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่น่าอัศจรรย์อีกด้วย และความมหัศจรรย์ข้อนี้จัดได้ว่าเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งแห่งความเป็นอัจฉริยบุรุษของพระพุทธองค์

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในวันวิสาขบูชานี้ แม้ว่าจะสำคัญและน่าอัศจรรย์เพียงใด ก็เป็นคุณวิเศษจำเพาะของพระพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียว คุณค่าที่พุทธศาสนิกชนจะรับมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ก็เพียงแต่ให้บังเกิดความภาคภูมิใจในองค์พระบรมศาสดา และเป็นเครื่องเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธาให้แน่นแฟ้น แต่ก็คงสุดวิสัยที่จะนำมาเป็นแบบอย่างสำหรับปฏิบัติตาม

ความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ของพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่เป็นสิ่งซึ่งนำมาปฏิบัติได้ ให้ผลสมจริง เหตุการณ์ทั้ง ๓ ในวันวิสาขบูชา มีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ในทางปฏิบัติเช่นนี้ด้วย จึงนับได้ว่า เป็นความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ที่แท้จริง ยิ่งใหญ่กว่าความสำคัญและความน่าอัศจรรย์อย่างที่กล่าวมาในตอนแรกเสียอีก ความสำคัญและความน่าอัศจรรย์เช่นว่านี้ ก็คือความสำคัญและความน่าอัศจรรย์แห่งความหมาย ซึ่งเราทั้งหลายสามารถถือเป็นแบบอย่าง นำไปประพฤติปฏิบัติตามได้

ความประจวบพอดีกันของเหตุการณ์ทั้ง ๓ ในวันวิสาขบูชา มีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ โดยทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ และความเลื่อมใสศรัทธา แล้วกระทำอามิสบูชาต่อพระรัตนตรัย แต่ความหมายอันลึกซึ้งที่ประสานกันของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นมีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ โดยเป็นอนุสติเตือนใจให้เราระลึกถึงหลักธรรมแล้วกระทำปฏิบัติบูชา

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน และอาหาร แม้จะสำคัญก็ยังเป็นรอง ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรมจึงจะสูงสุดและสำคัญอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ทั้งแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ทั้งแก่สันติสุขของพหูชน และเป็นเครื่องสืบต่ออายุพระศาสนาที่มั่นคงแน่นอน เมื่อปฏิบัติบูชามีอยู่ อามิสบูชาก็เป็นกำลังสนับสนุนและพลอยมีความสำคัญ แต่ถ้าไร้ปฏิบัติบูชา อามิสบูชาก็หมดความหมาย

ความหมายของวันวิสาขบูชา
ในแง่คติจากพระชนมชีพของพระบรมศาสดา

การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นตรงกันในวันเดียว ความหมายของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นก็เกี่ยวพันประสานกันเป็นอันเดียว

การประสูติ ของพระองค์ มีความหมายเตือนให้เราระลึกว่า คนทุกคนแม้จะเริ่มต้นชีวิตโดยความเป็นมนุษย์มีกำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่ต่อจากจุดเริ่มต้นนั้นแล้ว มนุษย์ก็แสดงความเป็นสัตว์ประเสริฐออกมา ด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะฝึกฝนอบรม บุคคลผู้มีจุดหมายอันสูงส่ง มุ่งบำเพ็ญความดีงามปรับปรุงตนอยู่ตลอดเวลา อาศัยความเพียรและสติปัญญาฝึกฝนตนให้บรรลุความเป็นมนุษย์ผู้เยี่ยมยอดได้ กลายเป็นศาสดาที่เคารพบูชาของปวงเทพและหมู่มนุษย์ นำประโยชน์สุขมาให้ไม่เฉพาะแต่ตนเองผู้เดียว แต่เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดด้วย พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างแสดงประจักษ์พยานของภาวะเช่นนี้ ทุกคนจึงควรมีกำลังใจเพียรพยายามใช้สติปัญญาพิจารณา บำเพ็ญความดีงาม ฝึกฝนปรับปรุงตนให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

การตรัสรู้ เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า สิ่งสำคัญที่เป็นผลสำเร็จ และเป็นจุดมุ่งหมายแห่งความเพียรพยายามและการใช้สติปัญญาของพระพุทธเจ้า ซึ่งทำให้พระชนมชีพของพระองค์กลายเป็นสิ่งมีคุณค่าอย่างสูงสุดนั้น หาใช่การได้มาซึ่งสิ่งสำหรับปรนเปรอบำรุงบำเรอความสุขส่วนตนไม่ แต่เป็นการเข้าถึงความดีงามอย่างสูงสุดที่ทำให้พระชนมชีพของพระองค์เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ พร้อมทั้งเผื่อแผ่ขยายความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์นั้นออกไปให้แก่ชีวิตอื่นๆ ด้วย เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่โลก การเข้าถึงความดีงามนี้เอง ที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นมนุษย์ กลายเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ความดีงามที่ว่านี้ คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” หรือ “พระธรรม”

การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทำให้ธรรมปรากฏขึ้นในโลก ธรรมปรากฏขึ้นแล้ว ก็กระจายความดีงามออกไป ด้วยคำสอนที่สาดแสงสว่างส่องทางแห่งการดำเนินชีวิตที่ดีงาม นำไปสู่ประโยชน์สุขและความอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็น

นอกจากนี้ การตรัสรู้ยังสอนเราด้วยว่า การบรรลุผลสำเร็จที่ดีงามนั้น มิใช่จะกระทำได้ง่าย พระพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้ได้ ต้องทรงบำเพ็ญเพียรพยายาม ใช้สติปัญญาแสวงหาค้นคว้าทดลองด้วยความเด็ดเดี่ยวและอดทน จนบางคราวแทบจะสิ้นพระชนมชีพตลอดเวลายาวนานถึง ๖ ปี ครั้นตรัสรู้แล้ว เมื่อทรงนำธรรมอันเป็นหลักแห่งความจริงความดีงามนั้น ไปสั่งสอนผู้อื่น ก็ต้องทรงเสียสละลำบากพระกาย เสด็จเที่ยวไปทุกถิ่น แม้ที่แสนจะกันดารและฝ่าภยันตราย บุคคลที่จะทำความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่หมู่ชน ก็ควรดำเนินตามพุทธปฏิปทา โดยการเพียรพยายามด้วยความเสียสละ อดทน ไม่ยอมท้อถอย

การปรินิพพาน มีความหมายที่เป็นอนุสติ ให้ระลึกว่า พระชนมชีพของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นชีวิตมนุษย์ เมื่อถึงคราวสิ้นสุด ก็ดับสิ้นไปตามกาลเวลา แต่พระธรรมที่ได้ทรงค้นพบ เปิดเผยไว้ ทำให้ปรากฏในโลกแล้ว เป็นหลักแห่งความจริงและความดีงามอันอมตะ ไม่เคลื่อนคลาดแตกดับ เป็นสิ่งไม่ตาย ยังคงส่องทางแห่งปัญญาเพื่อบรรลุประโยชน์สุขแก่หมู่มนุษย์สืบต่อไป และทั้งพระพุทธเจ้ายังได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ไว้ทำหน้าที่รักษาสืบทอดส่งต่อประทีปแห่งธรรมแทนพระองค์ต่อๆ มาอีกด้วย แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงหยุดเลิกพุทธกิจ ก็ได้ทรงหยุดเลิกในเมื่อมีอมตธรรมสำหรับอำนวยอมตประโยชน์สืบต่อมา การปรินิพพานเป็นการดับสนิทในเมื่อกิจสำเร็จ การดำเนินให้เข้าถึงอมตธรรมและบรรลุอมตประโยชน์เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย ทั้งที่จะต่างคนต่างทำ และร่วมกันช่วยกันทำต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากจะมองความหมายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ย่อมเห็นได้ว่า บรรดาเหตุการณ์สำคัญ ๓ อย่าง ในพระชนมชีพของพระพุทธเจ้านั้น การตรัสรู้ ต้องนับว่ามีความสำคัญสุดยอด การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของชีวิตที่เรียกว่าการเกิด การตายนั้น มนุษย์ทุกคนมีเสมอเหมือนกัน แต่ข้อพิเศษอยู่ที่ชีวิต ซึ่งเป็นไปในระหว่างจุดต้นและสุดทั้งสองนี้

สิ่งที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้า และทำให้เราเคารพบูชาพระองค์ ก็คือการตรัสรู้อันพ่วงพร้อมมาด้วยการกระทำต่างๆ เพื่อการตรัสรู้ และพุทธกิจต่างๆ ที่ได้ทรงบำเพ็ญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรัสรู้ แต่เพราะพระชนมชีพของพระองค์ เป็นฐานที่ตั้งที่อาศัยแห่งการตรัสรู้และการบำเพ็ญพุทธกิจเหล่านั้น วันประสูติ และวันปรินิพพานของพระองค์จึงย่อมพลอยมีความสำคัญตามไปด้วย

ความเป็นพระพุทธเจ้าอันเกิดจากการตรัสรู้ และการทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติ ที่เรียกว่า “พุทธกิจ” นี้โดยแท้ ที่เป็นฐานรองรับความสำคัญ และความน่าอัศจรรย์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระองค์ เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเคารพบูชาพระองค์ และเป็นส่วนสาระสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะพึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระองค์ ดังคำพรรณนาแสดงพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่คนหลายราย หลายพวก หลายหมู่ ได้กล่าว และบันทึกเอาไว้เป็นประจักษ์หลักฐาน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป๒. มองวันวิสาขบูชา >>

เชิงอรรถ

  1. ประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ ตามคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาเล่าไว้
  2. ประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ ตามคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาเล่าไว้

หน้า: 1 2

No Comments

Comments are closed.