– ๒ – ดูแลครอบครัว

14 มิถุนายน 2543
เป็นตอนที่ 3 จาก 4 ตอนของ

เข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของวัตถุ

ปุจฉา: ในปัจจุบันมีสื่อต่างๆ เช่น ทีวี วิทยุ มาช่วยกระตุ้นความต้องการทางด้านวัตถุ ก็ต้องกลับไปสู่หลักเดิมที่ว่าควรจะดูเพื่อการศึกษา

วิสัชนา: ใช่แล้ว หลักของศีลบอกไว้ว่า ควรใช้ตา หู ดูฟังให้เป็น ตาดูเพื่ออะไร เรามีทีวีเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ที่แท้ก็เพื่อการสื่อสาร ให้ข้อมูล เพิ่มพูนความรู้ เพราะฉะนั้นสุขแท้ที่จะได้ก็คือความสุขทางปัญญา โดยมีการพักผ่อนหย่อนใจเป็นของแถม

ต้องถามตัวเองว่าเราได้สื่อเช่นทีวีมาแล้วเกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้นไหม มิใช่เกิดแต่ความหลง หมกมุ่น มัวเมา ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะกลายเป็นโทษมากกว่า แทนที่จะได้พัฒนาชีวิต ก็กลายเป็นถอยจมลงไป ต้องรู้ชัดว่าวัตถุอุปกรณ์ต่างๆ นี้คุณค่าที่แท้อยู่ที่ไหน

ดังนั้นการซื้อข้าวของ วัตถุ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องถามตนเองว่า วัตถุประสงค์ของการซื้ออยู่ที่ไหน ถ้าเราสามารถตอบได้ก็จะมีขอบเขตชัดขึ้นมาเลย แล้วเราก็จะกำหนดสเปค (specification) ได้ถูกต้อง

ปุจฉา: ที่เรียนถามเช่นนี้ เพราะว่าบางคนไม่ต้องการตามขอบเขต แต่เพื่อบำรุงบำเรอ

วิสัชนา: ก็มีสเปคเหมือนกัน แต่สเปคของเขาไม่ได้กำหนดด้วยปัญญา เป็นการกำหนดด้วยตัณหา สเปคของปัญญา กับสเปคของตัณหา ไม่ตรงกัน สเปคตัณหาจะไม่รู้จักพอ และไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของชีวิต ตรงนี้แหละเป็นข้อผิดพลาด แล้วต่อไปก็จะนำไปสู่การเบียดเบียน ตัวเองก็ไม่ได้พัฒนา

แต่ถ้าเรารู้จักคุณค่าที่แท้จริง เช่น ถ้าเรามีรถยนต์เราควรพิจารณาว่าคุณค่าที่แท้จริงก็คือ เพื่อให้เดินทางสะดวกรวดเร็ว ช่วยให้กิจธุระสำเร็จได้ดี เพราะฉะนั้นควรเน้นที่ความมั่นคง ปลอดภัย แข็งแรง ทนทาน ความสวยงามเป็นรอง แม้ว่าสังคมจะมีค่านิยมอย่างนั้น เราก็ยอมรับอย่างรู้ทัน ในด้านค่านิยม เราก็ไม่ให้เสีย แต่พร้อมกันนั้นเราก็ไม่ต้องตกไปเป็นทาสของค่านิยม เราจะเน้นในแง่คุณค่าแท้ ที่เป็นพื้นฐานก่อน เอาจุดนี้ให้ได้ก่อน แล้วที่เหลือก็ยอมให้สังคมบ้าง แต่ไม่มัวเมาหมกมุ่น ไม่เป็นทาส ท่านเรียกว่ามีปัญญารู้เท่าทันทั้งด้านดีด้านเสีย ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – เลี้ยงลูกสรุป >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9

No Comments

Comments are closed.