ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย

24 กรกฎาคม 2531
เป็นตอนที่ 8 จาก 12 ตอนของ

ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย

ปัญหาที่จะมีผลกระทบกระเทือนมากที่สุดในระยะยาว ก็คือปัญหาด้านพระธรรมวินัย เพราะพระธรรมวินัยเป็นรากฐานของพระศาสนา หรือว่าให้ถูกแท้ เป็นตัวพระศาสนาเอง ทีเดียว การกระทำต่อพระธรรมวินัย จึงเป็นการกระทำต่อตัวพระศาสนาโดยตรง

ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ อย่าง คือ ปัญหาระดับศีล กับปัญหาระดับทิฏฐิ ปัญหาระดับศีล คือ เรื่องความประพฤติเสียหายต่างๆ การทำผิดพระวินัย การเป็นอยู่นอกทางของสมณะ ปัญหาระดับทิฏฐิ คือ เรื่องความเห็นความเข้าใจ การตีความ ความเชื่อถือ การยึดมั่นในลัทธิว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะการถือผิดเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากหลักการที่แท้จริง รวมทั้งการยึดถือผิดเข้าใจผิดในศีลที่ปฏิบัติ

ปัญหาระดับศีล ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้น ส่วนมากก็เป็นเรื่องในระดับรูปแบบ และเป็นรูปธรรม จึงมองเห็นได้ง่าย เมื่อเกิดมีการผิดศีล คนก็จะรู้กันได้รวดเร็ว ส่วนปัญหาระดับทิฏฐิเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งกว่า ถึงเนื้อถึงตัวหรือแก่นของพระศาสนา จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเป็นนามธรรม มองเห็นได้ยาก อีกทั้งเป็นเรื่องระดับปัญญา คนทั่วไปจึงมักจะมองข้ามไปหรือมองไม่ถึง ปัญหาระดับศีลอาจทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่สงบ ในขอบเขตหนึ่ง แต่คนมองเห็นรู้อยู่ว่าผิดว่าเสียหาย จึงไม่ขยายวงกว้างขวางนักและไม่คงอยู่ยาวนาน แต่จะเกิดมีได้บ่อยๆ คือ เรื่องนี้หมดไป เรื่องนั้นโผล่ขึ้นใหม่ แต่ปัญหาระดับทิฏฐิเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง เกิดมีขึ้นแล้วก็แก้ไขได้ยาก และสามารถขยายตัวเป็นปัญหาที่ร้ายแรงยิ่งกว่าปัญหาระดับศีล เป็นอันมาก ถ้าปัญหาระดับทิฏฐิเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว จะเห็นว่า ปัญหาระดับศีล กลายเป็นเรื่องปลีกย่อย ลดความสำคัญลงไปมาก ปัญหาระดับทิฏฐิมีตัวอย่างถึงขั้นเป็นสงครามศาสนา สงครามระหว่างลัทธินิยม หรืออุดมการณ์ทางการเมือง คนที่ขัดแย้งกันในระดับทิฏฐิ อาจจะเป็นคนที่ได้ชื่อว่ามีศีลเคร่งครัดตามหลักของลัทธิหรือศาสนา ประพฤติตัวดีงามต่อคนในหมู่พวกตน แต่สามารถทำการต่างๆ เพื่อทำลายคนที่ถือต่างทิฏฐิ ต่างลัทธิ ต่างศาสนาได้อย่างรุนแรง และผูกปมไว้ตลอดระยะเวลายาวนาน ปัญหาในระดับทิฏฐิ จึงควรได้รับความเอาใจใส่ให้มาก แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาแห่งอหิงสธรรม ยากที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ แต่ก็ไม่พึงประมาท เพราะปัญหาระดับทิฏฐิ หมายถึงการมีความเห็นผิดจากพระธรรมวินัย ซึ่งอาจจะถึงกับเห็นนอกออกไปจากอหิงสธรรมก็ได้ ในอดีต ทั้งปัญหาระดับศีล และปัญหาระดับทิฏฐิ ได้เป็นเหตุปรารภของการทำสังคายนา โดยที่ปัญหาระดับศีลจะเป็นเรื่องที่พยายามแก้ไขกันในช่วงต้นของการที่จะสังคายนา แต่ปัญหาระดับทิฏฐิ จะเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นข้อพิจารณาของการสังคายนาเลยทีเดียว เพราะแม้แต่เรื่องศีล ที่จะเป็นปัญหาขึ้นมาอย่างแท้จริง ก็มีทิฏฐิเป็นฐานด้วย

ปัญหาด้านธรรมวินัยเกี่ยวกับสันติอโศก เมื่อพิจารณาตามหลักที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่า โดยพื้นฐานเป็นปัญหาระดับทิฏฐิ แม้มองทั่วๆ ไป จะเห็นเด่นในด้านศีล แต่แท้จริงก็เป็นทิฏฐิเกี่ยวกับศีล ถ้าพูดให้เห็นง่ายๆ ก็เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาการยึดถือผิดในข้อปฏิบัติที่ถูก หรือ การนำเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามมาถือปฏิบัติอย่างผิดๆ ตลอดจน การถือปฏิบัติเอาจริงเอาจังโดยมีความคิดความเข้าใจสับสน ไม่เป็นระบบไม่มีระเบียบ ตัวอย่างในคัมภีร์ คือ การถือศีลและวัตรเคร่งครัด แต่ถือด้วยทิฏฐิคือความเห็นความเข้าใจปักลงไปว่า จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร ดังนี้เป็นต้น

ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย เป็นเรื่องใหญ่ ดังได้กล่าวแล้ว ถ้าจะพูดเรื่องนี้กันจริงจัง ก็จะกินเวลามาก การมามัวพูดเกี่ยวกับเรื่องด้านลบ คือการแก้ปัญหา เป็นเรื่องเสียเวลามาก และหมายถึงการต้องยอมสละงานอื่นๆ ด้วย จึงจะพูดเพียงเท่าที่จำเป็นตามขนาดที่กระทบต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม สำหรับกรณีสันติอโศก ปัญหาด้านกฎหมายและการเมือง ก็น่าจะเพียงพออยู่แล้ว จึงจะพูดถึงปัญหาด้านธรรมวินัยเฉพาะบางเรื่องที่เด่นๆ (เท่าที่พบโดยมากจะติเตียนตอบโต้กันแต่ในเรื่องปลีกย่อย หรือแง่จุกจิกของเรื่อง)

๑. สิ่งหนึ่งที่ปรากฏตามหลักฐานว่า พระโพธิรักษ์ทำบ่อย หรืออาจจะเรียกว่าปฏิบัติเป็นอาจิณ อย่างน้อยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คือ การอวดอุตริมนุสสธรรม (การอวดคุณวิเศษ เช่นว่า ได้ฌาน ได้อภิญญา ได้บรรลุมรรคผล เป็นพระอริยะ เป็นพระโสดาบัน ฯลฯ เป็นพระอรหันต์) พระโพธิรักษ์ประกาศตนว่า บรรลุโสดาบัน สกทาคามีบ้าง (เช่น ตอบคำถามของพระศรีวราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครราชสีมา) ว่าเป็นอริยะบ้าง (จากแถบบันทึกเสียงรายการ “ชั่วอย่างช่างชี ดีอย่างช่างสงฆ์” สัมภาษณ์โดยนายเกริกไกร จีระแพทย์ และ ม.ร.ว.อภินพ นวรัตน์ ณ ที่ทำการของ อสมท. ๓ มีนาคม ๒๕๒๕ กบว. ห้ามออกอากาศ แต่มีผู้บันทึกเสียงไว้และเผยแพร่กันออกไป) การอวดคุณวิเศษเช่นนี้กลายเป็นตาข่ายดักตนเองของพระโพธิรักษ์ ที่รัดตัวเข้ามาเรื่อยๆ

ตามพระวินัย มีสิกขาบทหรือบทบัญญัติ ห้ามการอวดอุตริมนุสสธรรมอยู่ ๒ ข้อ คือ

๑) ภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน(แก่ใครก็ตามที่รู้ความ) ต้องปาราชิก คือขาดจากความเป็นภิกษุ (ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔)

๒) ภิกษุบอกอุตริมนุสสธรรมที่มีจริง แก่อนุปสัมบัน(คือผู้ที่มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี ได้แก่สามเณร และคฤหัสถ์ทั้งหลาย) ต้องปาจิตตีย์ (ความผิดเบาลงมาสถานหนึ่ง) (ปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๘)

ตามบทบัญญัติแห่งสิกขาบททั้งสองนี้

ก) ถ้าพระโพธิรักษ์ไม่ได้เป็นอริยะจริง ไม่ได้บรรลุโสดาบันสกทาคามีจริง ก็ต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เว้นแต่สำคัญผิด

ข) ถ้าพระโพธิรักษ์มีคุณวิเศษเช่นนั้นจริง หลักฐานบ่งว่า พระโพธิรักษ์อวดคุณวิเศษนั้นแก่อนุปสัมบันคือ คฤหัสถ์ด้วย พระโพธิรักษ์ต้องปาจิตตีย์

ค) พระโพธิรักษ์ให้ความหมายแก่คำว่า “อนุปสัมบัน” ใหม่ (ทำนองว่าตนรู้ความหมายนี้ด้วยญาณและเป็นความหมายที่แท้จริง แม้จะไม่ตรงกับในพระไตรปิฎก นับว่าเป็นการบัญญัติความหมายเอาเอง) ว่า อนุปสัมบันหมายถึงคนที่ยังไม่ได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้น ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสามเณรหรือเป็นคฤหัสถ์ แต่ผู้ใดได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภิกษุสามเณรหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ก็ไม่เป็นอนุปสัมบัน (เรียกว่า เป็นอุปสัมบัน) ดังนี้ แม้ท่านจะอวดคุณวิเศษแก่คฤหัสถ์ แต่คฤหัสถ์นี้ไม่เป็นอนุปสัมบัน ท่านจึงไม่ต้องปาจิตตีย์

แต่มีข้อแย้งที่ชัดเจนว่า สมมติว่ายอมรับความหมายของอนุปสัมบันตามที่พระโพธิรักษ์อ้าง แต่พระโพธิรักษ์อวดคุณวิเศษในรายการออกอากาศ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นการพูดแก่คนทั่วไป อย่างสาธารณะ ไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งเป็นธรรมดาว่าต้องมีคนที่ไม่ได้บรรลุภูมิธรรมถึงขั้นอยู่ด้วยมากมาย ในกรณีนั้น พระโพธิรักษ์จึงได้อวดอุตริมนุสสธรรมแก่อนุปสัมบัน ทั้งที่เป็นภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ (ตามความหมายของท่านเอง) เป็นอันไม่พ้นที่จะต้องปาจิตตีย์

ง) การที่พระโพธิรักษ์ให้ความหมายใหม่แก่คำว่า “อนุปสัมบัน” และว่าตนรู้ความหมายนั้นด้วยญาณ กลับเป็นการสร้างปมปัญหาซ้อนเข้ามาอีก เพราะเป็นเครื่องชี้บ่งต่อไปว่า

๑. ความหมายของอนุปสัมบัน ท่านกำหนดไว้ในพระไตรปิฎก โดยกำกับไว้กับบทบัญญัตินั้นชัดเจนทีเดียวว่า “อนุปสัมบัน ได้แก่ คนอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี” (วินย.๒/๓๐๖/๒๑๑) แต่พระโพธิรักษ์ไม่ยอมรับความหมายนี้ กลับให้ความหมายใหม่ เป็นการไม่ยอมรับพระไตรปิฎก เท่ากับกล่าวว่า พระไตรปิฎกผิด และเมื่อให้ความหมายใหม่ ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมาแสดง นอกจากว่ารู้ด้วยญาณ

๒. ในกรณีที่ว่ารู้ด้วยญาณ จะส่อแสดงต่อไป อีกว่า
ประการแรก พระโพธิรักษ์ไม่รู้จักว่าอะไรเป็นธรรม อะไรเป็นวินัย บทบัญญัติที่กล่าวถึงนี้เป็นเรื่องของวินัย วินัยเป็นเรื่องของระเบียบแบบแผนหรือระบบ ที่เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ กติกาทางสังคม อันผู้ปฏิบัติจะรู้ร่วมกันและปฏิบัติตามได้โดยมีเครื่องชี้บ่งที่ชัดเจนแน่นอนทางรูปธรรม ไม่ต้องตามพิสูจน์สืบค้นถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาในใจ เช่นในกรณีนี้ ตามพระไตรปิฎกกำหนดว่า อนุปสัมบัน คือคนอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี ชัดลงไปทันที ไม่ใช่อย่างพระโพธิรักษ์ที่บอกว่า อนุปสัมบัน คือผู้ไม่มีภูมิธรรมถึงขั้น ซึ่งกำหนดด้วยสภาวะในจิตใจ ที่คนทั่วไปไม่อาจตัดสินได้ และเมื่อมีการกล่าวอ้างก็ยากแก่การพิสูจน์ พระวินัยจะไม่เอาสภาพนามธรรมอย่างนี้มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน จะเห็นได้ในตัวอย่างที่ชัดอีกข้อหนึ่ง คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงความเคารพ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุแสดงความเคารพกัน ตามลำดับบวชก่อน บวชหลัง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ชัดเจน เป็นแบบแผนทางสังคมที่ปฏิบัติได้ ไม่ทรงกำหนดด้วยภูมิธรรม ที่มองกันไม่เห็น ตามพระวินัย แม้แต่พระอรหันต์เมื่อบวชทีหลัง ก็ต้องแสดงความเคารพตามวินัยต่อภิกษุปุถุชนที่บวชก่อน (เมื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถามความเห็นของภิกษุทั้งหลายก่อน บางท่านเสนอว่า ให้แสดงความเคารพกัน ตามลำดับภูมิธรรมที่ได้บรรลุ เช่น ปุถุชนก็ไหว้พระโสดาบัน พระโสดาบันไหว้พระสกทาคามี ฯลฯ พระอนาคามีไหว้พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิเสธ และทรงยุติให้ทำตามลำดับพรรษา -ดู วินย.๗/๒๖๑-๒๖๓/๑๑๔-๑๑๘)
ประการที่สอง พระโพธิรักษ์ว่าตนรู้ความหมายนี้ด้วยญาณ แต่ญาณคือความหยั่งรู้นั้นมี ๒ ประเภท คือ ญาณที่ผิดหรือหลอกตนเอง กับญาณที่ถูก มีทั้งมิจฉาญาณ และสัมมาญาณ สำหรับผู้ไม่รู้จักว่า อะไรเป็นธรรมอะไรเป็นวินัย มีความคิดความเข้าใจสับสน ดังได้กล่าวมา จะมีญาณที่ถูกต้องได้อย่างไร

จ) ถ้าพระโพธิรักษ์ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ตามข้อ ค) และจงใจทำความผิดนี้เป็นอาจิณ จะเป็นพระอริยะได้อย่างไร และถ้าไม่เป็นอริยะจริง อวดคุณวิเศษที่ไม่มีจริง ก็จะต้องปาราชิก เว้นแต่สำคัญตนผิด กรณีอวดอุตริมนุสสธรรมของพระโพธิรักษ์ ก็วนเวียนติดคาอยู่ในตาข่ายนี้เอง

๒. พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่พระโพธิรักษ์ปฏิบัติอยู่เสมอ คือการแปลความหมายศัพท์บาลีหรือถ้อยคำทางธรรมเอาเอง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลัก ดังเช่นคำว่าอนุปสัมบันเป็นต้น ที่กล่าวถึงในข้อก่อน และอ้างว่าตนรู้ด้วยญาณ

ประการแรก ที่ว่าพระโพธิรักษ์รู้ด้วยญาณ ญาณนั้นเป็นญาณถูกหรือญาณผิด ก็ดังได้กล่าวแล้วใน ข้อ ง) ประการที่สอง

ประการที่สอง ลักษณะการแปลความหมายของพระโพธิรักษ์ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยากสำหรับผู้ที่รู้ภาษาบาลีดี ซึ่งอาจจะรู้สึกขำขันบ้าง สังเวชบ้าง แต่จะอธิบายให้ผู้ไม่รู้ภาษาบาลีมองเห็นชัดเจน ก็ทำได้ยาก อาจจะยกตัวอย่างภาษาอังกฤษมาเทียบให้เห็น จะเข้าใจง่ายกว่า เพราะคนจำนวนมากเข้าใจภาษาอังกฤษกันอยู่บ้าง พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเรียนภาษาอังกฤษใหม่ๆ ได้เปรียบว่า การแปลคำบาลีของพระโพธิรักษ์ เหมือนกับคนที่พบคำว่า season(ฤดู) แล้วก็แยกศัพท์ออกจนได้ว่า เป็น sea + son แล้วค้นหาคำแปลทีละคำรวมกันแปลว่า ลูกชายของทะเล หรือถ้าเห็นคำว่า hesitate (ลังเล) ก็แยกว่ามาจาก he+sit+ate แปลว่า เขา นั่ง กิน แล้วก็อธิบายไปจนได้ว่า คือ คนไม่แน่ใจว่าจะนั่งหรือกิน จึงคือลังเล ฯลฯ

ตัวอย่างต่อไปนี้ จะแสดงให้เห็นลักษณะการแปลความหมายศัพท์ทางธรรมของพระโพธิรักษ์ ซึ่งพูดได้เต็มที่ว่าเป็นการว่าเอาเอง (ที่ท่านเองอ้างว่ารู้ด้วยญาณ) ซึ่งทำให้เกิดความสับสนทั้งในด้านตัวศัพท์และความหมายที่แท้จริง แม้แต่คำบาลี และสันสกฤตก็นำมาปะปนกันวุ่นวาย เช่นว่า

“มัจฉริยะ” จึงเป็นความตระหนี่ถี่เหนียว เป็นยอดแห่งความหวงแหน เป็นยอดแห่งความเห็นแก่ตัวสุดขีดสุดเขตจริงๆ และเป็นยอด “อาสวะ” ที่ร้ายกาจออกปานนี้จริงๆ

เมื่อจิตผู้ใดเป็นดังนี้แล้ว “มโนกรรม” ของเขาก็จะเป็นจอม”มายา” และเป็น”มายา” ที่เป็น “มารยา” (“มาร+ย”) หรือ มา+ย คือ ตัวที่ประกอบไปด้วยความยังไม่รู้แจ้งแล้วยิ่งจะมัวจะมืดยิ่งๆ ขึ้นด้วย ยังไม่ดีเยี่ยมสะอาดหมดจด ยังหมองยังมัว ยังมืดอยู่ จึงเรียกว่า “สย” (ส+ย หรือ สัย, ไสย) คือเหมือนคนหลับ คนบอด คนมืด คนมัว นั่นเอง ผู้จะเจริญยิ่งสุดยอดจึงจะต้องอย่าให้เหลือ “สย” แม้แค่ “อนุ” (เศษนิดเศษน้อย) ก็จะต้องทำความหลุดพ้นให้ได้ ทำความรู้รอบให้ได้ พ้น อนุ+สย=อนุสัย (หรือ “สย” แม้แค่ “อนุ”)ให้ได้ จนเป็นผู้มี “มายา” แบบ “มารดา” (มาร+ต) หรือ มาตา(มา+ตา) ให้ได้ กล่าวคือ เป็นผู้เกิดผู้ก่อ ก็เป็นอย่างผู้มี “สต” (ส+ต หรือ สติ) เป็นผู้รู้รอบถ้วน เป็นผู้มีสัมปชัญญะรู้อยู่เสมอ” (ทางเอก ภาค ๓, หน้า ๔๒๙)

คำว่า “สันต” ซึ่งแปลว่าสงบแล้ว มาจาก สมฺ(สงบ)+ต ปัจจัย ท่านก็แยกเอาเองว่าเป็น “สันต = ส+อันต ซึ่งหมายความว่า ประกอบพร้อมด้วยความเป็นที่สุด” (ทางเอก ภาค ๓, หน้า ๔๒๓)

ไม่เฉพาะภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น แม้แต่ภาษาอังกฤษ ท่านก็อธิบายไปตามที่ท่านคิดเอา เช่น คำว่า Zen ซึ่งมาจากภาษาญี่ปุ่น (พุทธศาสนานิกายเซน) ท่านก็อธิบายว่า “…หนักเข้า ก็เลยเอาแต่ความฉลาด เอาแต่ “ความรู้สึกนึกคิด”จัด ลัทธินี้จึงจะมาจบอยู่ที่ sense แล้วก็เพี้ยนเขียนกันเป็น Zen ในทุกวันนี้” (ทางเอก ภาค ๓, หน้า ๖๘)

ไม่เฉพาะการแปลความหมายศัพท์ธรรมเท่านั้น แม้แต่การอธิบายตัวหลักธรรมเอง ท่านก็ไม่คำนึงถึงหลักการใดๆ เมื่อคิดเห็นอย่างไรก็ว่าไปตามที่คิดว่ารู้ด้วยญาณ เช่น บอกว่า “ยิ่งเป็น “อรหันต์” ที่เก่งที่สูงเท่าใดๆ ยิ่งเป็น “โพธิสัตว์” สูงยิ่งเท่านั้นๆ” (ทางเอก ภาค ๓, หน้า ๓๗๑) พฤติกรรมอย่างนี้ ย่อมมีค่าเท่ากับว่า ขอให้กล้าพูดเพียงอย่างเดียว ก็พูดไปได้ทั้งนั้น จะผิดหรือถูกไม่ต้องคำนึง และถ้าใครๆ ต่างก็ทำกันอย่างนี้ ความเข้าใจธรรมวินัยจะวิปริตไปเพียงใด

เรื่องนี้ พูดพอให้เห็นตัวอย่างเล็กน้อยเท่านี้ก่อน ถ้ามีเวลาจึงค่อยหาตัวอย่างมาวิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น แต่จะต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าผู้รู้จะมองเห็นเป็นของน่าขำขัน แต่ในสภาพปัจจุบันต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ขำไม่ออก เพราะเป็นการทำธรรมวินัยที่เป็นหลักของพระศาสนา ให้คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไป นำไปสู่ความเห็นผิดนอกธรรมวินัย กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิโดยง่าย จะต้องถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าความผิดสถานอื่น เพราะเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาอย่างถึงรากถึงแก่นทีเดียว

๓. เรื่องหนึ่งที่สำนักสันติอโศกเน้นมาก และสั่งสอนอยู่เสมอ คือ การกินอาหารมังสวิรัติ ความจริงมังสวิรัติ เป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่ง และมีผู้ถือปฏิบัติกันมานานแล้ว ก่อนที่สำนักสันติอโศกจะนำมาถือปฏิบัติ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวมังสวิรัติเอง แต่อยู่ที่การถือผิดต่อมังสวิรัติ ตามหลักที่ว่า นำสิ่งที่ดีงาม มายึดถือปฏิบัติอย่างผิดๆ เช่นถือว่า ถ้าไม่ถือมังสวิรัติจะเป็นผู้ไม่มีศีล ถ้าไม่ถือมังสวิรัติจะบรรลุมรรคผล นิพพานไม่ได้ ฯลฯ

พระโพธิรักษ์กล่าวว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงถือ มังสวิรัติ โดยอ้าง Encyclopaedia Britannica เป็นหลักฐานยืนยัน (มติชนรายวัน ๒๑ ก.ค. ๒๕๓๑, หน้า ๒) ในกรณีนี้ ควรจะรู้ว่าอะไรเป็นหลักฐานชั้นต้น อะไรเป็นหลักฐานชั้นรอง อะไรเป็นเรื่องของตนเองที่เราควรรู้ดีกว่าเขา (ซึ่งเขาควรจะเป็นผู้มาเอาจากเราไปอ้าง) อะไรเป็นเรื่องของเขาที่เขาควรจะรู้ดีกว่าเรา ไม่ใช่จะต้องไปถืออยู่ว่า ถ้าเป็นหนังสือฝรั่งที่เป็นหลักฐานชุดนี้แล้วจะต้องถูกไปหมด จนเหนือกว่าแม้แต่พระไตรปิฎก ความจริง พวกฝรั่งที่เขียน Encyclopaedia Britannica นั่นเอง เมื่อเป็นเรื่องทางฝ่ายเรา เขาก็ต้องมาหาจากหลักฐานฝ่ายเรา บางทีก็เชิญให้คนฝ่ายเรานั่นเองเป็นผู้เขียนเรื่องนั้น เรื่องจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่แหล่งที่ได้ข้อมูลไป ในเมื่อเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า แทนที่จะอ้างพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักฐานต้นเดิม เอาไปยันหรือไปแย้งเขา กลับอ้างหนังสือซึ่งในกรณีนี้เป็นหลักฐานชั้นรอง เอามาตัดสิน ทั้งที่ตนมีหลักฐานต้นเดิมที่แน่นอนกว่า

สารานุกรมชุด Encyclopaedia Britannica ที่พระโพธิรักษ์อ้างนั้น พิมพ์ขึ้นเป็นชุดแรกเมื่อ ค.ศ. 1768 (พ.ศ. ๒๓๑๑) มี ๓ เล่มจบ และได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบัดนี้พิมพ์เป็นชุดละ ๓๒ เล่ม ในสารานุกรมชุดนี้ ฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1959 (พ.ศ. ๒๕๐๒) ในหัวข้อว่าด้วยภาษาและวรรณคดีไทย (เล่ม ๒๐ หน้า ๕๙๖) ได้แสดง อักษรไทยไว้ ที่น่าสังเกต คือ สระ อื เขาเขียนเป็น อิ, สระ ไอ ไม่มี มีแต่ ใอ, ตัว ท เขียนเป็น ห (และ ห ตัวจริงก็เขียนเหมือนกัน) ถ้าพระโพธิรักษ์จะยึดถือสารานุกรมชุดนี้ เป็นหลักฐานยิ่งกว่าเอกสารของไทยเราเอง พระโพธิรักษ์ก็จะต้องกล่าวยืนยันว่า ภาษาไทยไม่มีสระ ไอ, สระ อื ไม่มี มีแต่ อิ, เขียน ท ไม่ถูก ต้องเขียนเป็น ห เพราะหลักฐานใน Encyclopaedia Britannica แสดงไว้อย่างนั้น

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ถ้าหลักฐานชั้นต้นกว่านั้นมี ก็ต้องถือตามหลักฐานชั้นต้น (ในกรณีนี้ พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้นต้นกว่า Encyclopaedia Britannica) ถ้าเป็นเรื่องของเราที่เราควรรู้ดีกว่าเขา ก็ต้องเอาของเราตัดสินของเขา เมื่อเห็นของเขาเขียนแสดงไว้ผิดพลาด ก็ควรแจ้งให้เขาทราบ เพื่อเขาจะได้แก้ไขให้ถูกต้องในการพิมพ์คราวต่อๆ ไป ดังเรื่องภาษาไทยนี้ ต่อมา Encyclopaedia Britannica ฉบับพิมพ์ครั้งหลังๆ ก็แก้ไขให้ถูกต้องขึ้น

เรื่องมังสวิรัติ มีผู้เขียนวิจารณ์ ถกเถียง ชี้แจงกัน มามากแล้ว ในที่นี้จะยกข้อความที่เคยเขียนไว้นานแล้วมาลงประกอบไว้ (จาก ลักษณะสังคมพุทธ หน้า ๘๖-๙๒)

“ได้มีผู้ถามปัญหาเกี่ยวกับมังสวิรัติว่า การถือในเรื่องนี้ผิดหรือถูกอย่างไร เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงขอตอบไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เรื่อง มังสวิรัติ นี้ ขอให้พิจารณาด้วยใจเป็นกลาง ไม่ถือสาด้วยอารมณ์ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันดูจะกลายเป็นเรื่องฝักฝ่าย ถือรั้นเข้าหากัน

สำหรับพระภิกษุถือไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะถือฉันเนื้อ หรือถือมังสวิรัติ (ถือไม่ฉันเนื้อ) ข้อปฎิบัติที่ถูกต้องสำหรับพระภิกษุคือ ฉันอาหาร (ทั้งนี้หมายถึงพระภิกษุในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ส่วนพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายมหายาน ท่านเลิกฉันอาหารบิณฑบาตนานแล้ว ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีพระมหายานบิณฑบาตบ้าง ก็เป็นการกลับริเริ่มขึ้นใหม่บ้าง เป็นกิจที่คลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมบ้างแล้ว นับไม่ได้) ที่พูดนี้มิใช่เป็นการพูดเล่นสำนวน หมายความว่า พระสงฆ์ฉันอาหารตามที่ได้ สุดแต่ชาวบ้านถวาย เขากินอะไร ก็ได้ฉันตามนั้น ยกเว้นเพียงว่าในกรณีที่เป็นอาหารเนื้อสัตว์ ถ้าพระได้เห็น ได้ยิน หรือระแวงสงสัย ว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นโดยจำเพาะที่จะทำอาหารมาถวายแก่ตน อย่างนี้ฉันไม่ได้ มีความผิด หรือจะถือจำเพาะฉันอาหารมังสวิรัติ รังเกียจอาหารเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้ พระเทวทัตต์ก็เคยขอพุทธานุญาต แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต (วินย.๗/๓๘๔/๑๑๓) ชาวบ้านเขามีอะไร เขากินอะไร ก็พลอยได้ พลอยฉันตามนั้น เขามีแต่อาหารผัก ตัวอยากฉันเนื้อก็ไม่ได้ฉันอย่างใจ เขามีแต่อาหารเนื้อ ตัวอยากฉันมังสวิรัติ ก็หาได้ตามอยากไม่ ถ้าที่ไหนเมื่อใด ชาวบ้านเขากินมังสวิรัติกันหมด พระก็พลอยได้แต่ฉันอาหารมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องถือ พระจะสนับสนุนชาวบ้านให้ถือมังสวิรัติก็ย่อมได้ แต่ตนเองไม่ควรขวนขวายจุกจิกวุ่นวายให้ความสำคัญเกินไปจนเกิดความยากลำบากขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับเรื่องอาหาร สำหรับพระผู้อาศัยเขายังชีพ ต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย อาหารเป็นเรื่องหนึ่งที่ท่านต้องการให้มีกังวลน้อยที่สุด

สำหรับคฤหัสถ์คือชาวบ้าน ถือมังสวิรัติได้ และเมื่อถือ ก็มีแง่ที่ควรแก่การยกย่องชมเชย คือมีผลดีอยู่พอสมควร แม้จะเกินขีดความรับผิดชอบ เกินขั้นศีล อย่างน้อยก็ช่วยให้มีการเบียดเบียนสัตว์น้อยลงอีกส่วนหนึ่ง แม้จะไม่ถึงกับพ้นการเบียดเบียนได้สิ้นเชิง ดังตัวอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ชาวพุทธองค์สำคัญ ก็ทรงดำเนินพระจริยาวัตร นำไปในทางที่จะให้เกิดมังสวิรัติ (จารึกศิลา ฉบับที่ ๑) แม้แต่ประเพณีห้ามขายเนื้อขายปลาในวันพระของไทย ก็คงมุ่งหมายชักนำในทางนี้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม คฤหัสถ์ที่ถือมังสวิรัติ ควรรับฟังคำชมเชยสรรเสริญของผู้อื่นเท่านั้น ไม่พึงถือว่าตนดีกว่าผู้อื่นหรือใกล้พระนิพพานกว่าผู้อื่น เพราะการกินมังสวิรัติเลยเป็นอันขาด เพราะไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด มีแง่ที่ควรระลึกไว้เป็นเครื่องเตือนสติผู้ถือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดถึงการรับประทานมื้อเดียว และรับประทานน้อยที่สุด เป็นต้น อีกหลายอย่างเช่น

– ผู้ถือมังสวิรัติพึงสำนึกไว้เสมอว่า ตนเองไม่มีทางดีกว่าหรือประเสริฐกว่าคนอย่างน้อยอีกประเภทหนึ่งได้เลย คือ คนที่เขาไม่วุ่นวาย ไม่ให้ความสำคัญเกินพอดีกับเรื่องอาหาร พอมีอะไรที่ได้มาโดยสุจริต มีคุณค่าต่อชีวิต ช่วยรักษากายไว้ทำกิจได้ ก็กิน เสียเวลา เสียแรงงาน ห่วงกังวลกับเรื่องนี้น้อยที่สุด มุ่งแต่จะทำกิจที่พึงทำให้สำเร็จ คนประเภทนี้แหละ ดำเนินชีวิตอย่างชาวพุทธ

– มีคนอีกไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสจะเลือก ว่ากินมังสวิรัติหรือไม่มังสวิรัติ เพราะแทบจะไม่มีกินเลย คำถามของเขาไม่ใช่ว่ากินอย่างไหน แต่เป็นว่าจะมีอะไรกิน ควรจะเอาใจใส่กับปัญหาประเภทนี้ มากกว่ามายุ่งอยู่กับเรื่องมังสวิรัติหรือไม่มังสวิรัติ

– มีวัตรบางอย่างที่ยิ่งไปกว่าการถือมังสวิรัติ เช่น การถือวัตรกินเฉพาะผลไม้ที่หล่นเองจากต้น วัตรข้อนี้ นักบวชบางประเภทในสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาล (เช่น องฺ.ติก. ๒๐/๕๓๓/๓๑๐) เช่น ฤาษีชีไพร ได้ถือกันไม่น้อย แม้ในแง่ของการเบียดเบียน การถือวัตรข้อนี้ก็เลิศกว่าการถือมังสวิรัติทั่วไป วัตรข้อกินผลไม้ที่หล่นเองนั้นต้องจัดเป็นมังสวิรัติชั้นสูง เพราะทำให้พ้นจากการเบียดเบียนสัตว์อย่างชนิดแทบจะสิ้นเชิงทีเดียว เช่น ไม่มีการฉีดยาฆ่าแมลง การกำจัดทำลายสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อพืช ในการทำเกษตรกรรมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม พึงสังเกตว่า ฤาษีชีไพรและนักบวชผู้ถือวัตรข้อนี้ ก็ไม่ปรากฏว่าได้บรรลุมรรคผลแต่อย่างใด และพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสอนให้ชาวพุทธ ไม่ว่าพระหรือคฤหัสถ์ ดำเนินชีวิตด้วยการถือวัตรข้อนี้ แต่ท่านให้เป็นอยู่กับชีวิตจริง

– พึงระลึกว่า การถือมังสวิรัติไม่ใช่เป็นศีล เป็นเพียงวัตรเท่านั้น (การกินผลไม้ที่หล่นเองจากต้นไม้ที่กล่าวข้างบน ยังเป็นวัตรที่เคร่งครัดเข้มงวดยิ่งกว่า) แม้การถือกินน้อย กินมื้อเดียวเป็นต้น ก็เป็นวัตรเช่นเดียวกัน

ศีล เป็นหลักความประพฤติที่จำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมระดับนั้นๆ เช่น การเว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากพูดปด เป็นศีลสำหรับคนทั่วไป จำเป็นสำหรับสังคมสามัญที่จะอยู่โดยสงบสุข

วัตร เป็นข้อปฏิบัติที่ช่วยเสริมการดำรงอยู่ในศีล และข้อปฏิบัติอื่นๆ ให้มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่น ถ้าใครถือวัตรว่า จะแตะต้องของคนอื่น ต้องให้เจ้าของกล่าวคำเชิญหรืออนุญาตขึ้นก่อน ก็เท่ากับเขาตัดโอกาสที่ตนเองจะลักของคนอื่นออกไปเกือบหมดสิ้น หรือพระภิกษุคณะหนึ่งถือวัตรไม่พูดกันเลยตลอดพรรษา ก็ตัดโอกาสที่จะพูดเท็จ ตลอดจน พูดจาไม่ดีไม่งามอย่างอื่น ๆ ออกไปได้หมดสิ้น วัตรที่ถือไม่พูดจากันนี้ เคยมีพระภิกษุได้ถือกันมาแล้วจริงๆ ในสมัยพุทธกาล เรียกว่า มูควัตร และดูเคร่งครัดน่าเลื่อมใส แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน ก็มีนักบวชบางประเภทถือกันอยู่ทั้งในประเทศตะวันออกและตะวันตก และก็มีคนประเภทที่ชอบเคร่งครัดเข้มงวดพากันนิยมนับถือไม่น้อย แต่ตรงข้าม พระพุทธเจ้าหาได้ทรงยกย่องไม่ พระองค์กลับทรงตำหนิติเตียน ว่าเป็นการอยู่อย่างแพะแกะสัตว์เลี้ยง และทรงห้ามไม่ให้พระภิกษุทั้งหลายถือปฏิบัติ ใครถือปฏิบัติมีความผิด (วินย. ๔/๒๒๕-๖/๓๑๒-๓) นี้เป็นข้อเตือนสติสำหรับให้ระวังรู้จักความหมายว่า อะไรเป็นศีล อะไรเป็นวัตร และเป็นข้ออันพึงระลึกสำหรับคนที่นิยมเคร่งครัดเข้มงวดจนหลงงมงาย สักว่ายิ่งเคร่งครัดยิ่งเข้มงวดยิ่งดี จนไม่รู้ความหมายว่าอะไรเพื่ออะไร

วัตถุประสงค์ทั่วๆ ไปของวัตรส่วนมาก ก็คือ เพื่อส่งเสริมความมักน้อย สันโดษ ความเคร่งครัด ความอยู่สงัด ความขัดเกลากิเลส ในการที่ถือเพื่อขัดเกลากิเลสนั้น บางทีผู้ที่ถือเห็นว่า ตนเป็นผู้ลุ่มหลงมัวเมาหรือตามใจตนเองในเรื่องนั้นมาก หรือมากเป็นพิเศษ จึงเจาะจงถือ เพื่อกำราบกิเลสของตนในด้านนั้น เช่น เป็นคนเห็นแก่เอร็ดอร่อยกินมากไม่รู้ประมาณ จึงถือวัตรกำหนดว่าจะกินมื้อละเพียงเท่านั้นเท่านี้ เช่น กินข้าวมื้อละจานเดียว หรือครึ่งจาน เป็นต้น การถือวัตรฝึกตัวของเขา จึงเป็นความดีเฉพาะตัวของเขา ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมว่า เขารู้จักฝึกฝนแก้ไขตนเอง แต่ไม่เป็นเครื่องวัดว่าเขาจะดีกว่าใคร จะใกล้การบรรลุธรรม หรือจะใกล้นิพพานกว่าใคร ท่านวางหลักการถือไว้ว่า วัตรข้อใด ผู้นั้นถือแล้ว อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ พึงถือ วัตรข้อใด ผู้นั้นถือแล้ว กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ ไม่พึงถือ

– ตัวอย่างที่พูดถึงแล้ว เช่น การกินน้อย กินมื้อเดียวเป็นวัตรที่ดี ใครถือได้ก็เป็นความดีน่ายกย่อง ถ้าไม่มีปัญหาแก่สุขภาพและการดำเนินชีวิตของผู้นั้น ก็น่าถือ ยิ่งในการปฏิบัติธรรมขั้นปลีกตัวภาวนา ก็อาจเป็นผลดี เป็นเครื่องช่วยโดยอ้อม เช่น ตัดภาระกังวล ทำให้ใช้เวลาและแรงงานในการปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น และอาจช่วยให้ร่างกายเบา กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงซึมเพราะอาหารมากเกิน ช่วยการปฏิบัติภาวนาได้ดีเป็นต้น แต่ก็ไม่ได้เป็นของดีด้วยความเคร่งครัดเข้มงวดในตัวของมันเอง หรือจะเป็นหลักประกันว่าคนนั้นจะบรรลุมรรคผลได้ดีกว่าคนอื่น ที่ไม่ได้ถืออย่างนั้น ซึ่งเขาอาจจะมีดีอย่างอื่น ถ้ามองเอาที่ความเคร่งครัดเข้มงวดเป็นของดีของสำเร็จโดยตัวของมันเอง ผู้ถืออย่างนั้นก็ยังสู้นักบวชอีกหลายพวกไม่ได้ เพราะนักบวชนอกพุทธศาสนาหลายพวก ถือฉันอาหารจำกัดอย่างยิ่ง บางพวกถือวัตรฉันแต่ข้าวต้ม บางพวกกินแต่เผือกมัน บางพวกกินแต่กากข้าว บางพวกกินแต่รำเท่านั้น และก็มีคนนิยมเลื่อมใสไม่น้อย แต่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนไม่ให้สาวกถือวัตรเช่นนั้น

– ท่านที่ต้องการให้พระฉันอาหารมังสวิรัติ ไม่พึงพูดหรือเถียงอะไรกับใครทั้งนั้น สิ่งที่ต้องทำมีอย่างเดียวคือ นำอาหารมังสวิรัติไปถวาย หรือนิมนต์พระไปฉันแล้วถวายอาหารมังสวิรัติ พระก็กลายเป็นผู้ฉันอาหารมังสวิรัติไปเองในทันที ทั้งนี้เพราะในเรื่องอาหารนั้น กล่าวได้ว่า พระอยู่ในกำมือของชาวบ้าน ถ้ามัวพรรณนาแนะนำหรือถกเถียงว่าท่าน พระจะมีอาหารมังสวิรัติฉันขึ้นมาได้อย่างไร

ข้อปฏิบัติต่างๆ ในพระพุทธศาสนานั้น มีไว้เพื่อการฝึกหัดขัดเกลา พัฒนาตนเอง ให้เจริญก้าวหน้าในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ผู้ปฏิบัติพึงศึกษาให้รู้เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายตามเป็นจริง และปฏิบัติด้วยจิตสำนึกในการฝึกฝนตนเอง พร้อมนั้นก็หมั่นสำรวจตนเองว่า ได้ปฏิบัติอยู่ด้วยความรู้ความเข้าใจ ด้วยแรงจูงใจ และวางตัววางใจต่อการปฏิบัตินั้นอย่างถูกต้องหรือไม่ พุทธพจน์ต่อไปนี้คงจะเป็นเครื่องเตือนใจที่ดี และช่วยคุมให้การปฏิบัติดำเนินไปอย่างถูกต้อง

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่า ภิกษุผู้ถือห่มผ้าบังสุกุล ฯลฯ ภิกษุผู้ถือฉันมื้อเดียว ภิกษุผู้ไม่รับอาหารเพิ่มหลังเริ่มฉัน ภิกษุผู้ถือฉันอาหารในบาตร มี ๕ จำพวก คือ

  1. ผู้ถือ…เพราะโง่เขลางมงาย
  2. ผู้ถือ…ที่มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ
  3. ผู้ถือ…เพราะบ้า จิตฟุ้งซ่าน
  4. ผู้ถือ…เพราะเห็นว่า เป็นวัตรที่พระพุทธเจ้าและพุทธสาวกทั้งหลายสรรเสริญ
  5. ผู้ถือ…เนื่องจากความมักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความพอใจอย่างนั้น

บรรดาผู้ถือ… ๕ จำพวกนี้ ผู้ถือ…เนื่องจากความมักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความพอใจอย่างนั้น นั่นแหละ เป็นเลิศ ประเสริฐ นำหน้า สูงสุด ล้ำเลิศ”

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๘๑-๑๙๐/๒๔๕-๒๔๗)

“ภิกษุมองเห็นว่า เราเป็นพหูสูต ส่วนภิกษุอื่นๆ เหล่านั้น ไม่ได้เป็น…เราเป็นวินัยธร…เราเป็นธรรมกถึก…เราถืออยู่ป่า…เราถือห่มผ้าบังสุกุล…เราถือบิณฑบาตเป็นประจำ ฯลฯ เราถือฉันมื้อเดียว…เราได้สมาบัติ ฯลฯ ส่วนภิกษุอื่นๆ เหล่านั้น ไม่ได้เป็น(ไม่ได้ถือ), เธอยกตนข่มผู้อื่น เพราะเหตุที่ถือ…อย่างนั้น นี้แลคือ ธรรมของอสัตบุรุษ

“ส่วนสัตบุรุษย่อมมองเห็นดังนี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ จะถึงความเสื่อมสิ้นไป เพราะความเป็นพหูสูต…เพราะความเป็นวินัยธร…เพราะความเป็นธรรมกถึก … เพราะเป็นผู้ถืออยู่ป่า…เพราะเป็นผู้ถือห่มผ้าบังสุกุล … เพราะถือบิณฑบาตเป็นประจำ ฯลฯ เพราะถือฉันมื้อเดียว… เพราะได้สมาบัติ ก็หามิได้เลย, ถึงแม้ถ้าภิกษุจะไม่เป็นพหูสูต…ไม่เป็นวินัยธร…ไม่เป็นธรรมกถึก…ไม่เป็นผู้ถืออยู่ป่า… ไม่เป็นผู้ห่มผ้าบังสุกุล …ไม่เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นประจำ ฯลฯ ไม่เป็นผู้ถือฉันมื้อเดียว…ไม่ได้สมาบัติ ก็เป็นผู้ธรรมานุธรรมปฏิบัติ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เป็นผู้ที่ควรบูชา ควรสรรเสริญได้, เธอทำข้อปฏิบัติให้เป็นการภายใน(เป็นการส่วน ตัว) เท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะเหตุที่เป็นพหูสูต ฯลฯ เพราะเหตุที่เป็นผู้ได้สมาบัติ, ภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือ ธรรมของสัตบุรุษ(ม.อุ. ๑๔/๑๘๓-๑๙๑/๑๓๖-๑๔๑)

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พระสงฆ์กับการเมืองบทสรุป >>

No Comments

Comments are closed.