- กรณีสันติอโศก
- จับปัญหาให้ตรงประเด็น
- สันติอโศกเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ จริงหรือไม่?
- พระโพธิรักษ์มีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะลาออกจากคณะสงฆ์ไทย จริงหรือ?
- การอยู่มาได้นานโดยไม่ถูกจัดการ แสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย?
- แนวทางปฏิบัติที่ควรจะเป็น
- พระสงฆ์กับการเมือง
- ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
- บทสรุป
- คำปรารภ
- ชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อน
- อนุโมทนา
พระโพธิรักษ์มีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะลาออกจากคณะสงฆ์ไทย จริงหรือ?
พระโพธิรักษ์อ้างว่า ท่านมีเสรีภาพตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ ที่จะลาออกจากมหาเถรสมาคม ที่จะไม่อยู่ในคณะสงฆ์ไทย ที่จะไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือ ลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
“ในการใช้เสรีภาพในวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง มิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรม ตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น” (ที่พิมพ์ตัวหนา ตรงตามที่พิมพ์ไว้ในหนังสือของพุทธสถานสันติอโศก)
ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ ที่ยกมาอ้างนี้ ย่อมเป็นการชัดเจนว่า พระโพธิรักษ์มีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่จะสมัครเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ไทยด้วยการบวช (ถ้าท่านมีคุณสมบัติและสงฆ์ยอมรับ) สอดคล้องกับที่ได้ชี้แจงแล้วในข้อก่อน ซึ่งพระโพธิรักษ์ก็ได้ใช้เสรีภาพนี้แล้ว แต่เมื่อพระโพธิรักษ์สมัครเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์ไทยแล้ว ท่านก็มีพันธะโดยรัฐธรรมนูญอีกเช่นเดียวกัน ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์เสมอเหมือนกับภิกษุสามเณรทั้งปวง ไม่มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าภิกษุสามเณรอื่น ดังความในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓ ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และมาตรา ๔๙ ว่า “บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย”
ในทำนองเดียวกัน พระโพธิรักษ์ก็มีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่จะลาออกจากคณะสงฆ์ไทย เพื่อไม่ต้องขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม และการลาออกนี้ก็ทำได้ด้วยการลาสิกขาดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่ถ้าไม่ลาสิกขา ไม่ว่าท่านจะพูดจะเขียน จะป่าวประกาศขอลาอย่างไร ก็ไม่มีผล การลาออกก็ไม่สำเร็จ ท่านก็อยู่ในคณะสงฆ์ไทย ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของมหาเถรสมาคมอยู่นั่นเอง ดังได้กล่าวแล้วเช่นกัน
รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพบริบูรณ์แก่พระโพธิรักษ์ และคุ้มครองพระโพธิรักษ์โดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ในการที่ท่านจะใช้เสรีภาพในการลาออกจากคณะสงฆ์ไทย แต่การลาออกนั้นจะต้องเป็นไปตามวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เมื่อท่านปฏิบัติไม่ถูกต้อง ตามวิธีการที่จะลาออก ท่านก็ลาไม่ออก จึงเป็นอันว่า พระโพธิรักษ์ต้องการลาออก และท่านก็ได้ประกาศลาออก แต่ด้วยเหตุที่ท่านมิได้ปฏิบัติตามวิธีการลาออกที่ถูกต้อง ท่านจึงออกไปไม่ได้ และท่านก็ยังอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ไทยโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาในทางตรงข้าม สมมติว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ นั้น พระโพธิรักษ์มีเสรีภาพที่จะลาออกจากคณะสงฆ์ไทย พ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคมได้ ด้วยการพูด เขียน หรือประกาศแจ้งความประสงค์ โดยไม่ต้องลาสิกขา ถ้าเป็นอย่างนี้ กฎหมายคณะสงฆ์ก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายคณะสงฆ์นั้นก็เป็นกฎหมายของประเทศไทย อิงอยู่กับรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทย และตราขึ้นโดยรัฐสภาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญนั่นเอง รัฐสภาจะไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ ถึงกับตรากฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญขึ้นมาอย่างนั้นหรือ และถ้าขัดกันเช่นนั้นจริง เมื่อกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นก็ย่อมเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับใช้ ถ้ากฎหมายคณะสงฆ์เป็นโมฆะ มิใช่แต่พระโพธิรักษ์กับคณะของท่านเท่านั้น ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ พระภิกษุสามเณรทั้งปวงก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม และไม่ต้องขึ้นต่อมหาเถรสมาคมเหมือนกัน หากเป็นเช่นนี้จริง ก็ควรประกาศให้ทราบทั่วกันว่า กฎหมายคณะสงฆ์ เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับใช้ พระสงฆ์ทั้งหมดจะได้รู้ว่าตนมีเสรีภาพในความหมายใหม่นี้โดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ
อีกประการหนึ่ง การปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ มิใช่เป็นเพียงการปฏิบัติเกี่ยวกับการถือศาสนา หรือเป็นเรื่องของพิธีกรรมตามความเชื่อถือเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจว่า คณะสงฆ์ไทย เป็นสถาบันใหญ่ ที่รัฐได้ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยยกย่องเชิดชูให้มีสถานะพิเศษอย่างหนึ่ง กระนั้นก็ตาม เนื่องจากพระภิกษุสามเณรทั้งหลายในคณะสงฆ์ไทย ก็เป็นพลเมืองของประเทศไทย รัฐจึงได้จัดให้มีระบบการปกครองของคณะสงฆ์ขึ้นเป็นแผนกหนึ่ง ภายใต้การคุ้มครองและควบคุมของรัฐ โดยตราเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ ในการนี้ บทบัญญัติบางอย่างเกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองเป็นต้น ซึ่งรัฐได้กำหนดไว้สำหรับราษฎรทั่วไป ภายใต้บังคับของกฎหมายอื่นๆ รัฐก็จัดให้เป็นข้อยกเว้นสำหรับพระภิกษุสามเณร โดยนำเอาหน้าที่พลเมืองเป็นต้นเหล่านั้น มากำหนดไว้เป็นแผนกหนึ่งในกฎหมายคณะสงฆ์นี้แทน การที่พระภิกษุสามเณรต้องมีสังกัดวัด ก็ดี ต้องมีหนังสือสุทธิเป็นดังบัตรประจำตัว ก็ดี การตั้งวัด ตั้งสำนักสงฆ์โดยต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการ ก็ดี การจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ต่อเมื่อได้รับตราตั้ง ก็ดี ดังนี้เป็นต้น เป็นบทบัญญัติในประเภทที่กล่าวนี้ ซึ่งเทียบได้กับกฎหมายบางอย่างที่รัฐตราขึ้นไว้สำหรับทหาร หรือ ข้าราชการ โดยเฉพาะ อันล้วนเป็นบทบัญญัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและสันติสุขของสังคม ตามวัตถุประสงค์ของรัฐ หาใช่เป็นเรื่องของการถือศาสนา หรือ การปฏิบัติตามพิธีกรรม ตามความเชื่อถือไม่ ด้วยเหตุนั้น บุคคลจะยกเอาบทบัญญัติ ว่าด้วย เสรีภาพในการถือศาสนา และปฏิบัติพิธีกรรม ตามความในมาตรา ๒๕ แห่งรัฐธรรมนูญ มาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้มิได้ และพระภิกษุสามเณร ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ย่อมตระหนักเป็นอย่างดีว่า ตนไม่พึงฝ่าฝืนต่ออำนาจรัฐด้วยการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยอ้างว่าบทบัญญัติเหล่านั้นไม่มีในพระธรรมวินัย ทั้งนี้ เพราะสำนึกว่าตนก็เป็นพลเมืองของรัฐ และเพื่อเอื้อเฟื้อต่อกิจการที่รัฐจัดดำเนินเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังที่บทบัญญัติในพระวินัยเองหลายข้อ พระพุทธเจ้าก็ทรงกำหนดวางไว้โดยอ้างอิงกฎหมายของรัฐ (เช่น อทินนาทานสิกขาบท, ปาราชิก ข้อที่ ๒, วินย. ๑/๘๓/๘๓) และได้ทรงบัญญัติไว้เป็นหลักปฏิบัติอย่างหนึ่ง ในพระธรรมวินัย ว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุํ แปลง่าย ๆ ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อนุวัตรตามฝ่ายบ้านเมือง (วินย.๔/๒๐๙/๒๗๓)
ถ้าเห็นว่ากฎหมายไม่ชอบธรรม ไม่เหมาะสม หรือไม่มีประสิทธิภาพที่จะเอื้อต่อวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความเจริญมั่นคงแห่งพระศาสนาและประโยชน์สุขของประชาชน ก็ควรปฏิบัติการเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมาย ด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมาตามแบบแผนของสังคมประชาธิปไตย
No Comments
Comments are closed.