- กรณีสันติอโศก
- จับปัญหาให้ตรงประเด็น
- สันติอโศกเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกฎหมายคณะสงฆ์ จริงหรือไม่?
- พระโพธิรักษ์มีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะลาออกจากคณะสงฆ์ไทย จริงหรือ?
- การอยู่มาได้นานโดยไม่ถูกจัดการ แสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย?
- แนวทางปฏิบัติที่ควรจะเป็น
- พระสงฆ์กับการเมือง
- ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
- บทสรุป
- คำปรารภ
- ชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อน
- อนุโมทนา
การอยู่มาได้นานโดยไม่ถูกจัดการ แสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย?
หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า คราวที่ พล.ต. จำลอง ศรีเมืองไปปราศรัยเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ในระยะกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๓๑ ครั้งหนึ่ง มีผู้ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พล.ต. จำลอง ศรีเมือง กับสำนักสันติอโศก และกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ถือว่าสันติอโศกทำผิดกฎหมาย พล.ต. จำลอง ศรีเมืองได้กล่าวตอบตอนหนึ่งว่า “ถ้าวัด(สันติอโศก)ทำผิด ตำรวจ น่าจะจัดการมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว” (ไทยรัฐ, อาทิตย์ที่ ๑๙ มิ.ย. ๒๕๓๑)
ไม่ว่ารายงานข่าวนี้ จะตรงตามถ้อยคำของ พล.ต. จำลอง หรือไม่ก็ตาม แต่คงจะเป็นเพราะคำพูดที่ปรากฏในข่าวนี้ จึงปรากฏว่า ต่อมา มีผู้ใช้คำพูดทำนองนี้เป็นเหตุผลสำหรับยืนยันว่าสำนักสันติอโศกไม่ผิดกฎหมาย โดยกล่าวทำนองว่า การที่สำนักสันติอโศกอยู่มาได้นานตั้งหลายปีแล้ว แสดงว่าสันติอโศกไม่ผิดกฎหมาย เพราะถ้าสันติอโศกผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกจัดการไปนานแล้ว
ความจริง การอยู่มาได้นาน โดยไม่ถูกจัดการ เช่น จับกุม ดำเนินคดีเป็นต้นนั้น อาจเกิดจากเหตุผลอย่างอื่นๆ ก็ได้ เฉพาะอย่างยิ่ง อาจเกิดจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเนื่องจากอคติอย่างใดอย่างหนึ่ง การอยู่มาได้นานโดยไม่ถูกจัดการจึงไม่ใช่เป็นเครื่องยืนยันว่า จะไม่ได้ผิดกฎหมาย
สำหรับราษฎรสามัญ ถ้ามีผู้กล่าวถามอย่างข้างต้น การตอบว่า ถ้าสันติอโศกทำผิด ตำรวจน่าจะจัดการมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ก็อาจจะเป็นการเพียงพอ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้มากกว่านั้น แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่บริหารกิจการของบ้านเมือง คำกล่าวโจษขานว่ามีผู้ทำความผิดที่ลอยนวลอยู่ มีค่าเท่ากับเป็นคำร้องทุกข์ว่า อาจจะได้มีการปล่อยปละละเลยในหมู่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่จัดการตามกฎหมายกับผู้ที่ได้กระทำความผิด ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองได้ฟังแล้ว ไหวทัน ก็อาจจะตอบหรือปลอบไปหรือพูดต่อท้ายคำตอบของท่านว่า “ข้าพเจ้าจะขอไปตรวจสอบดูก่อน” หรือว่า “ข้าพเจ้าขอรับไปสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง” หรืออะไร ทำนองนี้ คำตอบของท่านก็จะให้ความอบอุ่น และความรู้สึกมั่นคงปลอดโปร่งใจแก่ประชาชนเป็นอันมาก
ถ้าหากว่าในบ้านเมืองมีสภาพและพฤติการณ์ต่างๆ ที่แสดงถึงความปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แพร่หลายดาษดื่น จนทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า คนทำผิดกฎหมายก็สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างดีในสังคม ก็น่าจะต้องถือว่าสัญญาณอันตรายต่อความสงบสุขของบ้านเมืองได้ปรากฏขึ้นแล้ว ยิ่งถ้าประชาชนมีความรู้สึกหรือถึงกับพูดกันว่า ในบ้านเมืองนี้ ใครมีอิทธิพล มีกำลัง หรือมีพวกมาก ก็ไม่ต้องทำตามกฎหมาย ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของประเทศชาติอย่างแน่นอน
No Comments
Comments are closed.