– ๓ – ทำอย่างไรจะสอนหลักกรรมให้ได้ผล

23 กันยายน 2515
เป็นตอนที่ 4 จาก 4 ตอนของ

– ๓ –
ทำอย่างไรจะสอนหลักกรรมให้ได้ผล

ต่อไปจะพูดถึงปัญหาเฉพาะหน้าว่า ทำอย่างไรจะให้คำตอบเรื่องกรรมนี้เป็นผลขึ้นมาในทางปฏิบัติ อาตมภาพคิดว่าการที่ท่านตั้งชื่อเรื่องว่า ทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรมนี้ ท่านคงมุ่งผลว่าทำอย่างไรจะได้ผลในทางปฏิบัติ คือ เด็กก็ตาม คนหนุ่มคนสาวก็ตาม คนผู้ใหญ่ทั่วไปในสังคมก็ตาม จะประพฤติปฏิบัติทำแต่กรรมดี ไม่ทำชั่ว เพราะกลัวผลชั่วอะไรทำนองนี้ ท่านคงมุ่งหมายอย่างนั้นเป็นเกณฑ์ คือทำอย่างไรคนทั้งหลายจะประพฤติกรรมดี แล้วก็หลีกเว้นกรรมชั่ว จึงจะพูดถึงในแง่ของถ้อยคำที่เขาพูดกันในปัจจุบัน

ค่านิยมกับกรรม

คนสมัยนี้เขามีศัพท์ที่ใช้กันคำหนึ่งเรียกว่า “ค่านิยม” โดยเฉพาะค่านิยมทางสังคม อันนี้กระทบกระเทือนต่อหลักกรรมมาก ในขณะที่เรายังไม่สามารถศึกษาและชี้แจงออกมาให้เห็นชัดกันในเรื่องหลักกรรม โดยให้เป็นเรื่องแพร่หลายที่สุดได้นี้ เราจะต้องมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องค่านิยมนี้ก่อน จะแก้ได้อย่างไร

ค่านิยมของสังคมที่ยกย่องนับถือมีอุปาทานในทางวัตถุมาก จะมากระทบกระเทือนต่อความเข้าใจในหลักกรรม ค่านิยมอย่างนี้ มองเห็นได้จากคำพูดที่เกี่ยวกับกรรมนั่นเอง เวลาเราพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนส่วนมากเข้าใจความหมายไปตามค่านิยมทางวัตถุ เช่นว่า ทำดีแล้วได้ลาภ หรือทำดีแล้วได้เลื่อนยศ เป็นต้น

ที่จริงนั้น คำว่า “ดี” ในนั้น จะว่าทำดีก็ตาม ได้ดีก็ตาม ยังไม่ได้บอกชัดเลยว่า อะไรดี เมื่อว่าตามหลักความจริงโดยเหตุผล ทำดีก็ย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว เป็นหลักธรรมดาตามธรรมชาติ ถ้าหากว่ามันผิด ก็แสดงว่าคนต้องมีความไม่ซื่อตรงเกิดขึ้นในเรื่องนี้ เพราะว่าตามกฎธรรมดานี้ เหตุอย่างไรผลอย่างนั้น เป็นหลักทั่วไป ไม่ว่าใครก็ต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี่เป็นหลักสามัญ เป็นกฎธรรมดา ถ้าคนไปเห็นว่าหลักนี้ผิด แสดงว่าต้องมีความไม่ซื่อตรงเกิดขึ้น คือคดโกงกันในหลักกรรมนี่แหละ

คดโกงในกฎธรรมชาติ เขาคดโกงกันอย่างไร ทำดีได้ดี ยังไม่ได้แจงออกไปว่าอะไรดี ในคำว่า “ทำดีได้ดี” ถ้าเราบอกว่า ดีตัวนั้นเป็นกรรม คือทำความดี ผลก็ต้องได้ความดี ทำความชั่วผลก็ต้องได้ความชั่ว นี่ตรงตามหลัก

แต่ความดีนี่คนชักงง พอพูดว่าความดี บางทีไปนึกเป็นความดีความชอบไปเสียอีก เอาอีกแล้ว เลยเถิดไป ความดีนี่คือตัวคุณธรรม หรือคุณสมบัติที่ดี เมื่อทำความดี ก็ได้ตัวความดี เมื่อเราสร้างเมตตาขึ้นในใจ เราก็ได้เมตตาเพิ่มขึ้นมา อันนี้ไม่มีปัญหา

ทีนี้คนจะคดโกงกับหลักนี้อย่างไร ถ้าขยายทำดีได้ดีออกไป ว่าทำความดีได้ความดี ก็ตรงไปตรงมา แต่คนไม่คิดอย่างนั้น เขามองว่า ทำความดีได้ของดี ทำความชั่วได้ของชั่ว หรือทำความดีได้ของชั่ว ทำความชั่วได้ของดี อะไรทำนองนี้ มันกลับกันไปเสีย

ทำความดีได้ของดี เช่น ฉันประพฤติความดี ฉันขยัน ฉันให้สิ่งของอันนี้ไป ฉันทำทานอันนี้ ฉันจะต้องถูกลอตเตอรี่ ฉันต้องได้รับคำยกย่อง ความดีในที่นี้ไม่ใช่ตัวความดีเสียแล้ว แต่เป็นของดีเช่นเงินลอตเตอรี่ อันนี้ไม่ตรงแล้ว กลายเป็นว่าทำความดีได้ของดีนี่คือคนไปบิดเบือนหลักเสีย นี่ไม่ซื่อตรงแล้ว ผิดต่อกฎธรรมชาติ ฉะนั้นความคลาดเคลื่อนก็เกิดจากความที่คนเราทั้งหลายไม่ซื่อตรงนั่นเอง ไม่ใช่หลักการผิดพลาดคลาดเคลื่อนอะไร

คนเราไม่ซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติเอง เราสร้างความหมายที่เราต้องการเอาเอง อะไรที่ถูกใจเรา เราก็ต้องการให้เป็นอย่างนั้น เมื่อไม่ได้อย่างใจเรา เราก็โกรธ เราก็หาว่าหลักนั้นผิด เราบอกว่าเราทำดีแล้ว ทำไมไม่ถูกลอตเตอรี่ มันจะไปเกี่ยวอะไรกันโดยตรง มันไม่เกี่ยวโดยตรง จะเกี่ยวกันได้ก็โดยอ้อม ความต้องการผลอย่างนี้ไม่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่ความซื่อตรงในหลักกรรมแล้ว นี้ก็อันหนึ่ง เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับค่านิยม คำที่ว่านี้แสดงค่านิยมในทางวัตถุของมนุษย์ในสังคม ซึ่งทำให้คนไม่ซื่อตรงต่อธรรม

ค่านิยมเป็นกรรม

ปัจจุบัน สิ่งที่ดีที่ประสงค์ในใจของมนุษย์นั้น มุ่งไปที่ผลได้ทางวัตถุเป็นสำคัญ ความสะดวกสบายทางวัตถุ และความมีทรัพย์สมบัติ จึงกลายเป็นเครื่องวัดที่สำคัญไป ความดี-ความเลว ความสุขความทุกข์ของมนุษย์ก็มาวัดกันที่วัตถุ คนเราก็ยิ่งนิยมวัตถุมาก

ทีนี้ในเมื่อนิยมวัตถุมากขึ้นๆ ความนิยมในทางจิตใจก็น้อยลงๆ จนความหมายแทบไม่มี แม้แต่เกียรติที่ให้กันในทางสังคม มันก็มุ่งไปทางวัตถุมากขึ้น ในเมื่อสังคมนิยมเกียรติที่วัดกันด้วยวัตถุอย่างนี้แล้ว มันก็เป็นการคลาดเคลื่อนจากความหมายกันอย่างชัดๆ คือคนเรานี้ไม่ซื่อตรงต่อหลักหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

เมื่อนิยมอย่างใด ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะต้องการให้ได้ผลอย่างนั้น แต่เมื่อผลไม่ตรงกับเหตุ มันก็เป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ เมื่อไม่ได้ เราก็หาว่าหลักนั้นไม่ถูกต้อง แล้วเราก็ว่าไม่เชื่อบ้าง อะไรบ้างก็ตามแต่ อันนี้ก็เป็นผลของกรรมที่คนทำกันในสังคมนั่นเอง คือกรรมของการที่เรามีค่านิยมทางวัตถุมาก มาเอาความดีความเจริญความก้าวหน้าความสุขกันอยู่แต่ที่วัตถุ เลยหลงลืมคุณค่าทางจิตใจ แล้วเราก็ได้รับผลกรรม คือ เราทำดีไม่ได้ดี เป็นผลของการที่เราทำกรรมไม่ดี อันได้แก่การหลงผิดเอาดีเป็นของดี

เป็นอันว่า ในเมื่อธรรมะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจอยู่มาก ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญทางด้านจิตใจหรือทางด้านคุณธรรมเสียแล้ว ธรรมะก็หมดความหมายลงไปสำหรับเราเป็นธรรมดา ถ้าเราต้องการให้คนมาประพฤติตามหลักธรรม เราก็ต้องช่วยกันเชิดชูคุณค่าทางจิตใจหรือคุณค่าทางฝ่ายคุณธรรมให้มากขึ้น เราจะต้องรู้จักขอบเขตของคุณค่าทางวัตถุ เราจะต้องวัดกันด้วยวัตถุให้น้อยลง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าสังคมของเรานิยมยกย่องวัตถุกันมาก มันก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนจะต้องวัดดี (วัดความดีและผลดี) กันด้วยวัตถุ การที่สังคมไปนิยมยกย่องวัตถุมาก ไม่ใช่กรรมของคนที่อยู่ในสังคมนั้นหรือ

กรรมที่หมายถึงการกระทำนั้นรวมทั้งพูดและคิด ความคิดที่นิยมวัตถุนั้น เป็นกรรมใช่หรือไม่ ในเมื่อแต่ละคนทำกรรมแห่งความนิยมวัตถุนี้ คือ มีความโลภในวัตถุมาก มันก็เป็นอกุศลกรรม เมื่อเป็นอกุศล ก็กลายเป็นว่า คนในสังคมนั้นทำอกุศลกรรมกันมาก เมื่อทำอกุศลกรรมกันมาก วิบากที่เกิดแก่คนในสังคมก็คือผลร้ายต่างๆ

มนุษย์จะต้องมองให้เข้าใจความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยอันนี้ จะต้องเข้าใจว่า สังคมที่เดือดร้อนวุ่นวายกันอยู่ มีความไม่ปลอดภัย มีภัยอันตรายเกิดขึ้นในที่ต่างๆ มากมาย ไปไหนก็หวาดผวาไม่สะดวกสบายนั้น มันเกิดจากกรรมของเราแต่ละคนด้วย เราต้องมองให้เห็นความสัมพันธ์ที่โยงกันซับซ้อนถึงขนาดนี้จึงจะได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วเราจะไม่เข้าใจซึ้งถึงเรื่องกรรมว่าเหตุกับผลมันสัมพันธ์ส่งถึงกันอย่างไร

บางคนมองผิวเผินก็คิดว่า เอ ที่มันเกิดภัยอันตรายโจรผู้ร้ายมากมาย คนไม่ค่อยประพฤติศีลธรรมกันนั้น ไม่เห็นเกี่ยวกับเราเลย คนอื่นทำทั้งนั้น นี่แหละ เราซัดความรับผิดชอบละ ที่จริงเป็นกรรมของแต่ละคนที่ช่วยกันสร้างขึ้น ตั้งแต่ค่านิยมที่อยู่ในใจเป็นต้นไป เพราะเรานิยมเรื่องนี้มากใช่ไหม ผลจึงเกิดในแง่นี้ เรื่องอย่างนี้พอจะเชื่อมโยงได้อยู่ ลองศึกษาให้ดีเถิด

เมื่อมีค่านิยมอย่างนี้ อะไรๆ ก็วัดกันด้วยวัตถุอย่างเดียวแบบนี้ คนก็ต้องพยายามแสวงหาวัตถุด้านเดียวไม่มียั้ง เมื่อแสวงหาแบบนั้นมันก็ขยายออกไปในรูปของการทุจริต อาชญากรรม ความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ ที่เป็นเรื่องของการแย่งชิงอะไรต่ออะไรกันมาก นี่ก็คือความนิยมที่เป็นมโนกรรมอยู่ในจิตใจของแต่ละคนนั่นเองเป็นเหตุให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาในระยะยาว

ถ้าสามารถมองจนเห็นว่า เหตุร้ายภัยพิบัติความเสื่อมเสียต่างๆ ที่เกิดในสังคมนี้เป็นผลวิบาก เกิดแต่กรรมของเราทั้งหลายนั้นเอง ถ้ามองทะลุไปได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าพอจะทำความเข้าใจในเรื่องกรรมกันได้บ้าง แต่ขั้นแรก ต้องให้เห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยก่อน

ประการต่อไป ว่าถึงในระยะยาวจะทำอย่างไร เรื่องกรรมนี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องคุณค่าทางนามธรรมที่มองเห็นได้ยาก จะต้องศึกษาใช้สติปัญญากันไม่ใช่น้อย การที่จะให้คนประพฤติปฏิบัติกันจริงจังได้ผลในระยะยาว จะต้องอบรมปลูกฝังกันจนเป็นนิสัย จะต้องให้การศึกษาตามแนวทางที่มีความเข้าใจในหลักกรรมเป็นพื้นฐาน คือ ต้องฝึกฝนอบรมตั้งแต่เด็ก ให้ประพฤติด้วยสำนึก รับผิดชอบต่อการกระทำของตนจนเคยชิน ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะได้ผลยาก

การศึกษาให้เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งนั้นเป็นเรื่องยาก แม้จะเป็นความจริงก็ตาม แต่สิ่งที่จะทำได้ในทางการศึกษาก็คือ สิ่งใดตกลงกันแน่ชัดว่าดีว่างามแล้ว เราจะต้องฝึกอบรมคนให้ใส่ใจรับผิดชอบตั้งแต่เล็กแต่น้อยไป

เมื่อเราต้องการให้สังคมเป็นสังคมที่ซื่อตรงต่อความจริงโดยนับถือหลักกรรม ก็ต้องฝึกอบรมกันตั้งแต่เด็ก ปลูกฝังผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกของสังคมนั้น ให้มีแนวคิดและความประพฤติปฏิบัติที่ซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติในเรื่องกรรม ตั้งต้นแต่ต้องปลูกฝังค่านิยมซึ่งมองเห็นคุณค่าทางจิตใจและทางปัญญาที่สูงขึ้น โดยเข้าใจความหมายขอบเขตแห่งคุณค่าและความสำคัญของวัตถุตามความจริงความควร ไม่วัดกันด้วยวัตถุมากเกินไป

ต่อไปนี้จะพูดถึงความซื่อตรงต่อความจริงเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง

คุณค่าแท้ กับคุณค่าเทียม

ในเรื่องวัตถุนั้น ไม่ใช่ว่าพุทธศาสนาจะปฏิเสธคุณค่าของวัตถุ หรือไม่เห็นความจำเป็นของวัตถุ ที่แท้นั้นพระพุทธศาสนาเห็นความสำคัญของวัตถุอย่างมาก ว่าวัตถุเป็นสิ่งจำเป็น ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งที่อุดหนุนให้ชีวิตของเราดำรงอยู่ได้ เริ่มตั้งแต่หลักที่ว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏิติกา สัตว์ทั้งปวงต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหาร ถึงที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ก็เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต

พุทธศาสนาเห็นว่า แม้แต่พระสงฆ์ ซึ่งต้องการวัตถุน้อยที่สุด ก็ยังต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ ขาดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องวัตถุจึงไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่ความสำคัญนั้นก็มีขอบเขตของมัน

คุณค่าของวัตถุนั้นเราอาจแยกออกได้เป็น ๒ ส่วน ขอให้ลองคิดดู อย่างง่ายๆ ๒ ส่วน คือ คุณค่าแท้ หรือคุณค่าขั้นต้น กับคุณค่ารอง หรือคุณค่าเทียม

ตัวอย่างเช่นปัจจัย ๔ เสื้อผ้านี้ คุณค่าต้นหรือคุณค่าแท้ของมันคืออะไร คือเพื่อปกปิดกาย ป้องกันความละอาย แก้ความหนาวความร้อนเป็นต้น นี่คือประโยชน์แท้ หรือคุณค่าแท้ของมัน

แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชนแล้ว มันไม่แค่นั้น มันจะมีคุณค่ารองที่ซ้อนเสริมเติมเข้ามาอีก คุณค่ารองคืออะไร คือความหมายที่จะให้เกิดความรู้สึกสวยงาม โก้ หรูหรา อวดกัน วัดกัน อะไรต่างๆ เรียกอีกอย่างว่าเป็นคุณค่าเทียม

อย่างเราใช้รถยนต์ มันก็มีคุณค่าแท้ที่ยืนตัวส่วนหนึ่ง และสำหรับหลายๆ คนก็จะมีคุณค่ารองที่เสริมเติมเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง

คุณค่าแท้คืออะไร คุณค่าแท้ก็ใช้เป็นยานพาหนะ นำเราไปสู่ที่หมายด้วยความรวดเร็ว แนวความคิดที่ควบคู่กับคุณค่านี้ก็คือ พยายามให้สะดวกและปลอดภัยทนทานที่สุด

คุณค่ารองก็คือ เราจะต้องให้โก้ เป็นเครื่องแสดงฐานะอะไรต่างๆ ความคิดที่ควบกับคุณค่าแบบนี้ก็คือ ต้องพยายามให้สวย ให้เด่น ให้โก้หรู ให้แพงที่สุด

ถึงสิ่งอื่นๆ ก็เหมือนกัน ที่อยู่อาศัยก็มีคุณค่าแท้ คือให้เป็นที่พักพิงหลบภัย และเป็นที่ที่เราจะได้ดำรงชีวิตส่วนเฉพาะของเรา ในครอบครัวของเรา ให้มีความสุข ฯลฯ แต่พร้อมกันนั้นมันก็มีคุณค่ารองซ้อนเสริมเพิ่มเข้ามาในความหมายของปุถุชน เช่น เป็นเครื่องแสดงฐานะ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ หรืออะไรก็ตามแต่

สำหรับหลายๆ คน คุณค่าเทียมที่ซ้อนเสริมเติมเข้ามานี้ ขยายใหญ่โตมากจนถึงกับบังคุณค่าแท้ให้จมหายไป มองไม่เห็นเลย อันนี้ดูเหมือนจะเป็นแนวโน้มหรือเป็นกระแสที่แรงมากขึ้น

สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทางวัตถุนี้ สำหรับปุถุชนมักจะมีคุณค่าทั้ง ๒ คือ คุณค่าแท้ กับคุณค่าซ้อนเสริม พระพุทธศาสนายอมรับคุณค่าแท้

คุณค่าแท้นี่แหละสำคัญ พระใหม่พอบวชเข้ามาท่านก็ให้พิจารณาอย่างที่เรียกว่า ปฏิสังขา-โย เช่น เวลาฉันบิณฑบาต ให้พิจารณาว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ แปลว่า ข้าพเจ้าพิจารณาโดยแยบคาย จึงฉันอาหาร พิจารณาอย่างไร ท่านก็อธิบายต่อไปให้รู้ว่า ฉันเพื่ออะไร ให้รู้ว่าที่เราฉันนี่ก็เพื่อให้มีกำลังกาย จะได้มีชีวิตเป็นไป แล้วเราจะได้ทำหน้าที่ของเรา หรือทำประโยชน์อะไรต่ออะไรได้ ตลอดจนเป็นอยู่สบาย นี่คือคุณค่าแท้

ต่อไปคุณค่ารองที่ซ้อนเสริมเข้ามาก็คือเอร็ดอร่อย อาจจะต้องมีเครื่องประกอบหรือประดับเสริม เช่นต้องไปนั่งในภัตตาคารให้โก้หรู อาจจะจ่ายมื้อละพันหรือมื้อละหมื่นก็มี แต่คุณค่าของอาหาร บางทีก็เท่ากับมื้อละ ๑๐ บาทหรือ ๕ บาท หมายความว่ามื้อละพันบาทกับมื้อละ ๕ บาท มีคุณค่าที่จำเป็น หรือคุณค่าแท้ต่อชีวิตเท่ากัน ต่างกันที่คุณค่ารองหรือคุณค่าเทียมไม่เท่ากัน

ในชีวิตของปุถุชนนี้ คุณค่ารองเป็นเรื่องสำคัญ แล้วคุณค่ารองหรือคุณค่าเทียมนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหาแก่มนุษย์มากที่สุด ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากความแร้นแค้นยากจนอันเป็นสาเหตุทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาสำคัญมาก พุทธศาสนายอมรับ แต่ความชั่วร้ายในสังคมที่เกิดจากคุณค่ารองหรือคุณค่าเทียมของสิ่งทั้งหลายนั้นมากมายกว่า

คนเรานี้แสวงหาคุณค่ารองหรือคุณค่าเทียมกันมากมายเหลือเกิน แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นนานาประการทีเดียว เป็นปัญหาขนาดใหญ่ และมีผลกว้างไกลว่าปัญหาที่คนยากจนสร้างขึ้น และเป็นตัวการสำคัญซ้อนอยู่เบื้องหลังการเกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรง

เพราะฉะนั้น สำหรับพระจึงต้องยืนหยัดรักษาปัญญาที่มุ่งคุณค่าแท้ให้คงอยู่ ส่วนฆราวาสนั้น ขอให้ตระหนักไว้ อย่าเพลิน อย่าลืม อย่าประมาท อย่าหลงเกินไป ฆราวาสเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่อย่างพระ แต่ก็อย่าหลงลืม อย่ามัวเมา ต้องพยายามคำนึง คอยตระหนักถึงคุณค่าแท้ไว้ด้วยว่าเราใช้สิ่งนี้เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร อย่าลืมตัวจนเลยเถิดไป

อันคุณค่าของวัตถุที่มี ๒ ชั้นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก วัตถุนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เมื่อเทียบกับนามธรรมหรือคุณธรรมแล้ว วัตถุเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ มีสภาพของความเสื่อมสลายทรุดโทรมอย่างเดียว จะเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม บ้านที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้อะไรก็ตาม ล้วนอยู่ได้ชั่วคราว ชั่วระยะกาลหนึ่ง ๕ ปี ๑๐ ปี สั้นกว่ายาวกว่าบ้าง แล้วมันก็ต้องสลายทรุดโทรมไป เป็นหลักธรรมดา นี้เป็นความไม่เที่ยงแท้ของตัววัตถุเอง

ส่วนคุณค่าของวัตถุนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่เที่ยงอย่างที่กล่าวแล้ว คืออยู่ที่ค่านิยมที่คนสร้างกันขึ้นเท่านั้น ค่านิยมที่ว่าเป็นกรรมอยู่ในใจของเรานี้เองสร้างมันขึ้น

ขอให้คิดดู เราอาจจะนึกว่า ต้องใส่เสื้อนอกให้เรียบร้อย ต้องซักต้องรีด รู้สึกว่ามันให้ความมีศรีสง่า เป็นสิ่งสำคัญในทางสังคม ทำให้มีความรู้สึกภูมิฐาน และอาจจะต้องไปนั่งในห้องแอร์คอนดิชั่นอย่างสบาย ทำงานอย่างภาคภูมิ

แต่มาถึงอีกสมัยหนึ่ง คนอีกรุ่นหนึ่ง (อย่างสมัยฮิปปี้) อาจจะเห็นว่า เอ พวกผู้ใหญ่ที่มัวใส่เสื้อนอกต้องรีดต้องแต่งต้องจัดให้เรียบร้อย ไปนั่งทำงานในห้องแอร์คอนดิชั่น ทำโต๊ะให้โก้สง่า แหม ไม่เห็นจะมีความสุขเลย ไม่ได้เป็นสาระอะไรเลย ต้องไปนั่งลำบาก นั่งต้องระวังเสื้อผ้าของตนเอง ต้องระมัดระวังท่าทางอะไรอย่างนี้ สู้เราที่ปล่อยตัวขะมุกขะมอมไม่ได้ สบายดีกว่า นอนกลางดินกินกลางทราย จะนั่งจะล้มจะก้มจะกลิ้งอย่างไรก็ได้

ที่เขาว่านั้นมันก็จริงของเขาอยู่เหมือนกัน ถ้าว่ากันไปแล้วใครจะสบายกว่ากัน คนหนึ่งปล่อยตัวขะมุกขะมอม เสื้อผ้าก็ไม่ต้องรีดไม่ต้องเอาใจใส่มันปล่อยไป ที่ทางก็แล้วแต่จะไปนอนที่ไหน อย่างไรได้ทั้งนั้น เขาก็ว่าของเขาสบาย

นี่แหละเรื่องของสังคมมันไม่แน่ คุณค่าที่ว่ากันก็ขึ้นกับความนิยม สมัยหนึ่งเราอาจจะเห็นว่าอย่างนี้ดีมีศักดิ์มีศรีมีภูมิมีฐาน ครั้นนานเข้าคนอีกสมัยหนึ่งเห็นความเจริญทางวัตถุมามาก กลับเบื่อหน่ายเสียแล้ว บอกว่าอย่างนี้ไม่ได้ความเลย หาความทุกข์ให้กับตัวเอง สร้างระเบียบสร้างอะไรต่ออะไรมาให้ตัวเองลำบาก อยู่กันด้วยระเบียบ อยู่กันด้วยมารยาททางสังคม ไม่มีดี เป็นทุกข์ สู้ไม่ต้องคำนึงไม่ต้องระวังสิ่งเหล่านี้ อยู่สบายกว่า คนอาจจะคิดขึ้นมาอย่างนั้นก็ได้ ในระยะยาว คนอยู่เมืองไปนานๆ อาจจะคิดอยากอยู่ป่าขึ้นมาบ้างก็ได้

การสอนหลักกรรมให้ได้ผล

ในเมื่อคุณค่าของวัตถุนี้มันไม่เที่ยงไม่แท้ อยู่ที่การสร้างค่านิยมสมมติกันขึ้น และค่านิยมนั้นก็เริ่มในจิตของเรานี่เอง นี้แหละจึงเป็นกรรมอันหนึ่งของสังคม สังคมจะเอาอย่างไรก็เป็นเรื่องของสังคม ในระยะยาวจึงว่า จะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก เราต้องการค่านิยมแบบไหน ก็วางกันไว้ โดยเริ่มกันแต่มโนกรรม คือค่านิยมนี้

เมื่อกำหนดได้ว่าอันนี้ถูกต้องแล้ว เราจะได้ปลูกฝังคนของเรา ให้สร้างความรู้สึกนิยมให้เป็นค่านิยมนี้ตั้งแต่เล็กแต่น้อย เมื่อเป็นความนิยมที่ดีที่งามถูกต้องแล้ว เป็นไปโดยที่เขาพอใจ ในระยะยาวก็ได้ผล

โดยเฉพาะค่านิยมในเรื่องความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ อันเป็นความสมดุลทางวัตถุกับทางจิตใจ เมื่อปลูกฝังกันต่อเนื่องจนคนในสังคมมีค่านิยมอย่างนั้นแล้ว ต่อไปก็ประพฤติกันได้ลงตัว เพราะว่ากรรมมันเริ่มมาจากมโนกรรม โดยมีความใฝ่ความชอบขึ้นก่อน มิฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะไปตรัสทำไมว่า ในกรรมทั้งหลาย คือ กายกรรมก็ตาม วจีกรรมก็ตาม มโนกรรมก็ตามนั้น มโนกรรมสำคัญที่สุด

ในลัทธินิครนถ์ เขาบอกว่า กายกรรมสำคัญกว่า เพราะกายกรรมนี้แสดงออกภายนอก คุณเอามีดมาฟัน ฉันก็ตาย แต่ถ้าคุณมาเพียงใจอย่างเดียว จะทำให้ฉันตายได้ไหม ก็ไม่ได้ อะไรทำนองนี้ แต่อย่าลืมว่านี่เขามองแคบสั้นเกินไป

ในระยะยาว การปลูกฝังทางจิตใจนี่สำคัญกว่า สังคมจะเป็นอย่างไร อารยธรรมจะไปทางไหน ก็เริ่มแต่มโนกรรมนี่ไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราปลูกฝังเด็กของเราให้มีค่านิยมถูกต้องแล้ว ให้ประพฤติตามแนวแห่งธรรมต่อไป ในระยะยาวก็จะได้ผล

กล่าวย้ำอีกครั้งอย่างสั้นที่สุดว่า จะต้องปลูกฝังมโนกรรมส่วนที่ขอเรียกว่าค่านิยมแห่งธรรม หรือค่านิยมแห่งความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ ให้มีขึ้นในสังคมให้ได้ โดยเฉพาะในหมู่อนุชนของสังคมนั้น และข้อนี้จะต้องถือว่าเป็นภารกิจสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของการศึกษา เพราะว่าที่จริงแล้วมันเป็นส่วนเนื้อหาสาระของการศึกษาทีเดียว

อาตมภาพเพียงเสนอความคิดเห็นไว้ จะเกิดมีเป็นประโยชน์เพียงไรก็สุดแต่ท่านจะพิจารณา ในฐานะที่ส่วนมากท่านที่ฟังก็เป็นผู้สนใจใฝ่ธรรมกันมาและได้ศึกษาธรรมกันอยู่ ที่อาตมภาพพูดมานี้ก็เป็นการพูดในฐานะนักศึกษาธรรมอีกผู้หนึ่ง ได้นำข้อคิดเห็นจากการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนไตร่ตรองพิจารณามาเสนอแก่ท่านเป็นการประกอบความคิดการพิจารณา ถ้าหากว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร แม้แต่จะเป็นประโยชน์สักเล็กน้อย ก็ขออนุโมทนา

เรื่องกรรมนี้เป็นเรื่องของความจริง มนุษย์นั้นก็อยู่กับความจริง และหนีความจริงไปไม่พ้น แต่มนุษย์ก็ไม่ค่อยชอบนักที่จะเผชิญกับความจริง ทั้งๆ ที่ตัวจะต้องอยู่กับความจริงและอยู่ในความจริง ก็ยังพยายามสร้างสิ่งเคลือบแฝงมาทำให้รู้สึกว่ามีรสชาติ มีความสนุกเพลิดเพลินยิ่งขึ้น

เหมือนอย่างในเรื่องคุณค่าที่ว่า มนุษย์เราใช้ปัจจัย ๔ โดยมีคุณค่าแท้กับคุณค่ารองนี้ ความจริงคือคุณค่าแท้นั้นปฏิเสธไม่ได้ แต่เพราะมนุษย์มักไม่ค่อยพอใจอยู่กับความจริง จึงเที่ยวหาสิ่งที่จะมาเป็นเครื่องประกอบเคลือบแฝง ทำให้รู้สึกมีรสชาติอร่อยสนุกสนานขึ้น เกิดเป็นคุณค่ารองซ้อนเข้ามา เป็นทางให้มนุษย์เกิดปัญหาได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนกรรมนี้เป็นเรื่องของความจริง ความจริงนั้นใครก็ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นเรื่องของชีวิตโดยตรง เราทุกคนต้องยอมรับความจริง แต่ในเมื่อมันเป็นความจริง ก็มักไม่สนุกสนานเอร็ดอร่อย การที่จะศึกษาให้เข้าใจชัดเจนก็ตาม การจะปลูกฝังกันขึ้นมาก็ตาม เป็นเรื่องยากเรื่องใหญ่ จะเอาปุ๊บปั๊บขึ้นมาไม่ได้ จะต้องทำความพยายามอย่างที่ว่า คือต้องปลูกฝังกันตั้งต้นแต่ค่านิยมในระยะยาว ดังที่อาตมภาพได้เสนอไว้ในเวลาอันสั้นนี้ และในตอนนี้ก็คิดว่าได้ล่วงเลยเวลามาพอสมควร จึงขอยุติเพียงนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – หลักกรรมที่แท้

No Comments

Comments are closed.