อนุโมทนา

5 มกราคม 2542

อนุโมทนา

ณ โอกาสสำคัญแห่งมงคลวารอายุครบ ๕ รอบ ที่จะมาถึงในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นี้ คุณสุจิต ปรีชาวิทย์ มีกุศลฉันทะจะบำเพ็ญธรรมทาน เพื่อให้เป็นกุศลที่อำนวยผลยั่งยืนนาน เป็นเครื่องดำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงแผ่ไพศาล และนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างเป็นแก่นสาร จึงได้แจ้งความประสงค์ขอพิมพ์หนังสือ เรื่อง ชีวิตที่สมบูรณ์ ผนวกเนื้อความที่ว่าด้วย “เกณฑ์วัดความเจริญของชาวพุทธ” จากหนังสือเรื่อง การเกิดเป็นทุกข์ เกิดดีเป็นสุข และบันทึกเรื่อง “ปัญหาวัดพระธรรมกาย” อาตมภาพขออนุโมทนาตามฉันทเจตนา

ความจริงคุณสุจิตได้แสดงความตั้งใจที่จะบำเพ็ญธรรมทานเนื่องในมงคลวารนี้มานานแรมปีแล้ว เพราะมีใจมุ่งที่จะให้ธรรมแผ่ไปในหมู่ประชาชน แต่แรกนั้น คิดจะพิมพ์เรื่องอื่น โดยเฉพาะคำสอนนาคในการอุปสมบท แต่เมื่อเวลากระชั้นเข้า อาตมภาพก็ยังไม่มีเวลาที่จะจัดการในเรื่องการตรวจชำระบทลอกเทปให้เสร็จทันได้ ในที่สุดคุณสุจิตจึงได้ตัดสินใจเลือกพิมพ์เรื่องที่กล่าวข้างต้น

น้ำใจที่มุ่งเพื่อธรรมนั้น เป็นคุณสมบัติที่ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง และสำหรับคุณสุจิต ปรีชาวิทย์นั้น น่าอนุโมทนาพิเศษ ทั้งส่วนอดีตและปัจจุบัน คือทั้งโดยพื้นฐานเดิมที่ได้เติบโตมาในตระกูลที่ใกล้ชิดพระศาสนา ได้อุปถัมภ์บำรุงช่วยเหลืองานของวัดวาอาราม โดยเฉพาะวัดบ้านกร่าง ที่มารดาคือคุณโยมยิ้มเป็นโยมอุปถัมภ์ ตลอดมา และมิใช่เพียงเจริญเติบโตมาในตระกูลของผู้ศรัทธาเท่านั้น ตัวคุณสุจิตเอง แม้ล่วงกาลผ่านเวลามายาวนาน ก็ได้มีความสนใจใฝ่ธรรม และชักนำบุตรหลานในทางบุญกิริยาและธรรมจริยาร่วมด้วย

อนึ่ง ในการบำเพ็ญธรรมทานครั้งนี้ ยังมีข้อพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือนอกจากขอพิมพ์ธรรมบรรยายและข้อเขียนทางธรรมแล้ว คุณสุจิตได้ขอให้ลงพิมพ์ประวัติของอาตมภาพในหนังสือธรรมทานวันเกิดของคุณสุจิตด้วย และยิ่งกว่านั้น ยังขอให้อาตมภาพเติมประวัติส่วนที่เข้าปฏิบัติวิปัสสนาลงไปด้วย โดยเฉพาะในส่วนนี้คุณสุจิตย้ำนักที่จะไม่ให้ลืมไปเสีย เพราะในประวัติของอาตมภาพเท่าที่ลงพิมพ์ตลอดมา ไม่ได้กล่าวถึงช่วงเวลาส่วนนี้ไว้

การที่คุณสุจิต ขอลงประวัติของอาตมภาพ และย้ำให้เพิ่มประวัติส่วนที่เข้าปฏิบัติวิปัสสนานี้ ก็ด้วยมีความปรารถนาดีทั้งต่อพระศาสนาและต่ออาตมภาพเป็นส่วนตัว โดยปรารภถึงการที่ได้ยินบางคนกล่าวว่าอาตมภาพเป็นพระฝ่ายคันถธุระ จึงอยากให้เขารู้ความจริง และไม่กล่าวด้วยความเข้าใจผิด

คุณสุจิตได้บรรพชาเป็นสามเณร เป็นศิษย์ร่วมพระอุปัชฌาย์เดียวกันกับอาตมภาพ คือ ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมสาร วัดบ้านกร่าง เจ้าคณะอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยบวชในปีเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ต่อมาเมื่ออาตมภาพไปอยู่เรียนที่วัดปราสาททอง ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี คุณสุจิต แม้ลาสิกขาแล้ว ก็ได้ไปเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัด โดยพำนักที่วัดเดียวกัน คุณสุจิตจึงทราบดีถึงประวัติของอาตมภาพในคราวที่เข้าปฏิบัติวิปัสสนาครั้งนี้

เมื่ออาตมภาพเข้าปฏิบัติวิปัสสนาครั้งนั้นจนสิ้นสุดตามกำหนดแล้ว พระอาจารย์ผู้ดำเนินการพอใจและได้ชวนให้อาตมภาพไปอยู่ในสำนักวิปัสสนากับท่าน อาตมภาพได้เดินทางไปขอความเห็นชอบจากโยมบิดามารดา แต่โยมบิดาไม่ยินยอม เพราะโยมบิดามีทัศนคติไม่ดีติดมานานต่อการเข้ากรรมฐาน เนื่องจากคนยุคนั้นโดยทั่วไปมองวิปัสสนาเป็นเรื่องประเภทอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์โดยเฉพาะการเห็นโน่นเห็นนี้ คล้ายอย่างการเห็นทางใน วิปัสสนาตามความหมายแท้จริงที่จัดขึ้นจึงเป็นการริเริ่มฟื้นฟูใหม่ อาตมภาพเอง หลังจากนั้นไม่นาน โยมบิดาก็นิมนต์เข้าไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ และได้มาอยู่ที่สำนักวัดพระพิเรนทร์สืบมา

ประวัติส่วนที่ว่านี้ ในหนังสือทั่วไปไม่ได้เขียนไว้ เพราะตามที่นิยมกัน มักเล่าประวัติแค่ว่าปีนั้นย้ายไปอยู่ที่นั่น หรือสอบชั้นนั้นได้ เรื่องนอกนั้นก็ถือเป็นส่วนรายละเอียดหรือส่วนพิเศษ อีกทั้งอาตมภาพเองไม่ติดใจที่จะยกขึ้นมาพูด เพราะเมื่ออธิบายหรือชี้แจงอะไรก็จะได้พูดไปตามหลักล้วนๆ โดยไม่ต้องอิงตัวบุคคล กรณีนี้จึงถือเป็นความปรารถนาดีพิเศษของคุณสุจิต และคราวนึ้ก็ได้เติมประวัติส่วนนี้เป็นการสนองตามความปรารถนาดีนั้นแล้ว

สาระสำคัญที่กล่าวมาทั้งหมด ก็รวมอยู่ที่บุญเจตนาของ คุณสุจิต ปรีชาวิทย์ ทั้ง ๓ ประการ คือ ศรัทธาที่จะเชิดชูธรรมเพื่อความเจริญแพร่หลายของพระพุทธศาสนา ความปรารถนาดีหวังที่จะให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมเพื่อให้ชีวิตและสังคมมีความสุขความเจริญ และความปรารถนาดีต่ออาตมภาพเป็นส่วนตัว

ในโอกาสมงคลอายุครบ ๖๐ ปี ณ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ นี้ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอภิบาลอำนวยพร ให้คุณสุจิต ปรีชาวิทย์ พร้อมทั้งครอบครัว ลูกหลาน ญาติมิตร ทั้งปวง จงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ก้าวหน้างอกงามประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต และการประกอบกิจหน้าที่การงาน สัมฤทธิ์ประโยชน์สุข ทั้งส่วนตน และส่วนรวมยิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดกาลนิตย์นิรันดร์

(พระธรรมปิฎก)
๕ ม.ค. ๒๕๔๒

No Comments

Comments are closed.