บันทึกและอนุโมทนา ของผู้เรียบเรียง

3 พฤศจิกายน 2536

บันทึกและอนุโมทนา
ของผู้เรียบเรียง

เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ ผู้อำนวยการบริหารสภาศาสนาโลก ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒ มีนาคม ๑๙๙๓ มานิมนต์ผู้เรียบเรียง ให้เข้าร่วมประชุมสภาศาสนาโลก ปี ๑๙๙๓ (The 1993 Parliament of the World’s Religions) และขอให้จัดทำสารบรรยายสำคัญ (Major Presentation) เพื่อกล่าวแก่ที่ประชุมด้วย พอถึงปลายเดือนเมษายน และต้นเดือนพฤษภาคม ก็ได้รับหนังสือของท่านเจ้าคุณพระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาส วัดธัมมาราม นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และเป็นสำนักงานใหญ่ของ American Buddhist Congress ในฐานะองค์กรหนึ่งที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพกับสภาศาสนาโลก ในการจัดประชุมครั้งนี้ ท่านได้แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติม และนิมนต์ไปบรรยายทั้งในที่ประชุมสภาศาสนาโลก และที่วัดธัมมาราม ที่จะมีการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นพิเศษในช่วงเวลานั้นด้วย พร้อมกับส่งกำหนดการประจำวันสำหรับผู้เรียบเรียง ตั้งแต่เดินทางไปจนกลับมาพร้อมเสร็จ

ต่อมา ดร.พระมหาชื่น โชติญาโณ (เพ็งแจ่ม) แห่งวัดธัมมาราม นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา (ทราบต่อมาว่าท่านเป็นกรรมการใน Board of Trustees ของสมัชชาผู้ดำเนินการจัดประชุมสภาศาสนาโลก ๑๙๙๓ และเป็นผู้ประสานงานเกี่ยวกับการประชุม ในฝ่ายพระพุทธศาสนาเถรวาท) ซึ่งได้เคยแจ้งเรื่องนี้แก่ผู้เรียบเรียงมาก่อนแล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๓๖ ก็ได้ติดต่อตามเรื่องและแจ้งข่าวตลอดมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ กับทั้งได้ขอชื่อเรื่องสารบรรยาย ซึ่งผู้เรียบเรียงได้คิดขึ้นเฉพาะหน้าและบอกไปทางโทรศัพท์ว่า “A Buddhist Solution for the Twenty-first Century”

ตอนแรก ผู้เรียบเรียงคิดว่าคงจะไม่ได้เดินทางไปประชุม เพราะมีงานเร่งที่คั่งค้างรออยู่มาก แต่ครั้นตัดสินใจว่าจะต้องไป พอถึงปลายเดือนมิถุนายน ก็ได้อาพาธด้วยโรคท้องเสียต่อด้วยไข้หวัดและโรคสายเสียงอักเสบที่ยืดเยื้อเรื้อรังจนใกล้ถึงกำหนดการประชุมที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหาย แต่ก็ได้ตกลงใจว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปหรือไม่ก็ตาม ก็จะต้องจัดทำสารบรรยายแก่ที่ประชุม ให้เป็นที่เบาใจแก่ท่านที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ดร.พระมหาชื่น โชติญาโณ ที่ได้ขวนขวายเอาใจใสด้วยน้ำใจงามและความตั้งใจจริง แต่ในเวลาที่กระชั้นชิด และระหว่างอาพาธซมอยู่ คงต้องใช้วิธีที่สะดวกสบาย และรวดเร็ว คือพูดไทยลงในเทป และขอให้อาจารย์บรู๊ส อีแวนส์ ช่วยแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังติดปัญหาว่าจะพูดลงเทปได้อย่างไร ในขณะที่สายเสียงอักเสบ ทั้งแทบจะไม่มีเสียง พูดยากลำบาก และจะทำให้โรคกำเริบแรงยิ่งขึ้น แล้วในที่สุดถึงวันที่ ๑๖ สิงหาคม เห็นว่าไม่อาจรั้งรอต่อไปได้ ก็ได้ใช้วิธีเอาไมโครโฟนจ่อที่ปากพูด พูดบ้างหยุดบ้าง จนจบแล้วฝากส่งเทปจากภูเขาเข้ากรุงเทพฯ

ด้วยความชำนาญทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งทางด้านธรรมะ แม้เสียงในเทปนั้นจะแหบเครือและเบา ทั้งมีอาการเลือนหาย ฟังได้ยาก แต่อาจารย์บรู๊สก็จับความได้แม่นยำ และแปลได้รวดเร็ว เมื่อแปลเสร็จและฝากส่งมาที่ภูเขาแล้ว ผู้เรียบเรียงก็นำมาตรวจเนื้อความ ปรับแต่ง ตัดและเติมอีกบ้าง จนเหลือ ๒๙ หน้า กะว่าพิมพ์แจกให้ผู้อ่านทั่วไปได้ความครบตามนั้น แต่ให้ผู้อ่านแก่ที่ประชุมอ่านข้ามไปได้บ้างในบางตอน พอให้จบในเวลาที่กำหนด เสร็จแล้วพระครูปลัดอินศร จินฺตาปญฺโญ นำไปจัดด้วยคอมพิวเตอร์ตามที่ตัดและเติมนั้นจนสำเร็จเป็นต้นแบบที่เรียบร้อย ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๖ และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากอาจารย์มนัส พวงลำเจียก ผู้จัดการโรงพิมพ์มหาจุฬาฯ ช่วยเร่งจัดการพิมพ์ให้เสร็จทันบ่ายวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๖ แล้วมอบให้พระครูปลัดอินศร จินฺตาปญฺโญ เป็นตัวแทนเดินทางนำสารบรรยาย เรื่อง “A Buddhist Solution for the Twenty-first Century” ที่พิมพ์เป็นเล่มแล้ว ไปมอบให้แก่ที่ประชุมสภาศาสนาโลก ที่เมืองชิคาโก

ณ ที่นั้น ดร.พระมหาชื่น โชติญาโณ (เพ็งแจ่ม) ได้ช่วยรับภาระหาชาวอเมริกันมารับหน้าที่เป็นผู้อ่านสารบรรยายในที่ประชุม และได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Dr.Jim Kenney ผู้เป็นรองประธานสมัชชาที่ดำเนินการจัดประชุมสภาศาสนาโลก (Vice Chairman, Council for a Parliament of the World’s Religions) และเป็นประธานคณะกรรมการจัดกำหนดการสำหรับการประชุมสภาศาสนาโลกนั้น (Chairman of Program Committee) รับทำหน้าที่อ่านสารบรรยายแทน ด้วยความเต็มใจ กำหนดเวลาบรรยายบ่ายวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๖ แต่พอถึงเวลาตามกำหนด เกิดปัญหาเวลาบีบรัดไม่พอ จึงเลื่อนไปอ่านในตอนเช้าวันที่ ๔ กันยายน

ตามความเป็นมาข้างต้นนี้ สารบรรยาย “พุทธวิธีแก้ปัญหาเพื่อศตวรรษ ที่ ๒๑” จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาเร่งด่วน และระหว่างเจ็บไข้ไม่สบาย อีกทั้งยังต้องตัดบางส่วนออกไปเพื่อให้ลงในกำหนดเวลาที่วางไว้ด้วย ผู้เรียบเรียงจึงนึกอยู่ว่าความบางตอนอาจยังไม่แจ่มแจ้งชัดเจนเพียงพอ รอไว้มีโอกาสจะได้ปรับปรุงเสริมเติมหรือขยายความให้ใกล้ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ต่อมา โยมคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้สนับสนุนเป็นอย่างมากในการเดินทางไปร่วมประชุมที่ชิคาโก ได้แจ้งบุญเจตนาที่จะพิมพ์สารบรรยายเรื่องนี้ เป็นธรรมทานในโอกาสทำบุญอายุมงคลครบ ๗๙ ปี ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๖ โดยกำหนดว่าจะพิมพ์ทั้งพากย์ภาษาอังกฤษ และพากย์ภาษาไทย

สำหรับพากย์ภาษาอังกฤษนั้นมีฉบับที่พิมพ์ใช้งานอยู่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะต้องคงไว้ตามเดิมนั้นก่อน เพราะกำหนดวันกระชั้นเข้ามา เวลาไม่เพียงพอที่จะปรับปรุงขยายความ อีกทั้งเป็นความประสงค์ของโยมผู้พิมพ์ด้วยที่จะพิมพ์ฉบับที่ถือเป็นทางการ ซึ่งใช้อ่านในที่ประชุม ส่วนพากย์ภาษาไทยยังเป็นคำพูดอยู่ในแถบบันทึกเสียง ผู้เรียบเรียงจึงได้นำเอาฉบับลอกเทป ซึ่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิพุทธธรรมได้จัดทำไว้มาตรวจแก้ขัดเกลา ตอนแรกคิดว่าจะตัดทอนและเพิ่มเติมให้ตรงและเท่ากันกับพากย์ภาษาอังกฤษ และก็ได้ตัดไปบ้างแล้วบางส่วน แต่เมื่อทำไปก็เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องให้ตรงเท่ากันทีเดียวก็ได้ เอาเพียงเป็นฉบับเทียบเคียงเข้าคู่กันไว้ ก็คงจะพอ เมื่อตกลงอย่างนี้พากย์ภาษาไทยจึงเป็นอิสระมากขึ้น ส่วนเนื้อความที่เขียนเพิ่มในพากย์ภาษาอังกฤษ ก็ได้แปลมารวมไว้ในพากย์ภาษาไทยด้วย เมื่อทำเสร็จแล้วก็ขอประมวลข้อที่จะทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างพากย์ภาษาไทยกับพากย์ภาษาอังกฤษ ไว้เป็นที่สังเกตอย่างคร่าวๆ ดังนี้

ก. การตัดเติม ในฉบับภาษาอังกฤษ ได้ตัดข้อความออกหลายตอน เพื่อให้อ่านได้จบในเวลาที่กำหนด แต่ก็ได้เติมข้อความใหม่เข้าไปอีกบ้าง ซึ่งไม่มีในเทปที่พูดเป็นภาษาไทย ส่วนในฉบับภาษาไทย ก็ได้ตัดข้อความบางส่วนออกเพื่อให้ตรงกับฉบับภาษาอังกฤษ แต่ส่วนมากไม่ได้ตัด และได้แปลเนื้อ ความที่เพิ่มใหม่ในฉบับภาษาอังกฤษมาเติมลงในฉบับภาษาไทยด้วยให้ครบ นอกจากนั้น ยังได้แทรกข้อความเพิ่มเข้าในฉบับภาษาไทยระหว่างตรวจแก้ ขัดเกลาอีกบ้าง ฉบับภาษาไทยจึงมีเนื้อหามากและยาวกว่าฉบับภาษาอังกฤษ ผู้อ่านที่ต้องการเทียบความในฉบับทั้งสอง เมื่อดูข้อความบางอย่างในฉบับภาษาไทยแล้ว หาไม่พบในฉบับภาษาอังกฤษ จะได้ไม่แปลกใจ

ข. การแปล ส่วนใหญ่เป็นการแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็มีบางส่วนที่เพิ่มในพากย์ภาษาอังกฤษก่อน แล้วแปลมาเป็นภาษาไทยทีหลัง แต่เป็นส่วนเล็กน้อย (โดยเฉพาะที่ยาวหน่อย คือ ต้นหน้า ๒๓ ถึงค่อนหน้า ๒๔ ในฉบับภาษาอังกฤษ)

ค. การจัดรูป ในฉบับภาษาไทย ได้ซอยย่อหน้าให้ถี่ขึ้นกว่าในฉบับภาษาอังกฤษ และยังได้ตั้งหัวข้อย่อยไว้ด้วยตลอดเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความสะดวก และจับความได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ง. การจัดลำดับ ในหนังสือนี้ ได้พิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษไว้ข้างหน้า ด้วยเหตุผลว่า เป็นฉบับทางการ ที่ได้จัดทำขึ้นตามคำนิมนต์ของสภาศาสนาโลกและใช้ในการประชุม


การประชุมสภาศาสนาโลก (Parliament of the Worlds Religions) นี้ เท่าที่วงการชาวพุทธเถรวาทรู้จักและจำกันได้ โดยมากคงเนื่องจากเป็นเรื่องที่มาเกี่ยวโยงกับท่านอนาคาริกธรรมปาละ ชาวพุทธยิ่งใหญ่ของศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย ที่ได้ทุ่มเทเสียสละพลังชีวิต ในการนำพระพุทธศาสนากลับสู่ชมพูทวีป โดยเฉพาะได้ทำให้นักบวชฮินดูกลุ่มมหันต์ผู้ครอบครองพุทธคยาไว้ ยอมปล่อยพุทธคยาให้เป็นสังเวชนียสถานที่ชาวพุทธจะจาริกไปนมัสการได้จนถึงทุกวันนี้

ท่านอนาคาริกธรรมปาละได้ไปร่วมประชุมสภาศาสนาโลกนี้ ครั้งก่อนในศตวรรษที่ล่วงแล้ว เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๙๓ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖) ท่านได้ไปพูดในที่ประชุมและประสบความสำเร็จ ได้กำลังสนับสนุนจากชาวอเมริกันในการดำเนินงานพระศาสนาของท่านในศรีลังกาและอินเดีย

ในปี ๑๙๙๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๓๖ นี้ การประชุมสภาศาสนาโลกได้เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่จัดประชุมถือว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี ของการประชุมครั้งก่อนนั้นด้วย แต่สำหรับการประชุมครั้งนี้ ผลติดตามต่อไปจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นต่อการสืบสานงานที่สืบเนื่องจากการประชุมนั้นเอง ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป

บัดนี้ คุณยงยุทธ์ ธนะปุระ ประธานกรรมการมูลนิธิพุทธธรรม ได้ติดต่อแจ้งความประสงค์ขออนุญาตพิมพ์หนังสือ “พุทธวิธีแก้ปัญหาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑” (A Buddhist Solution for the Twenty-first Century) เพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป อาตมายินดีอนุญาตการบำเพ็ญธรรมทานครั้งนี้ด้วยความเต็มใจ เช่นกับที่ได้เคยปฏิบัติตลอดมา

ขออนุโมทนามูลนิธิพุทธธรรมที่ได้มีจิตศรัทธาบำเพ็ญธรรมทานครั้งนี้ ซึ่งเป็นการช่วยกันเผยแพร่สัมมาทัศนะให้ขยายกว้างขวางออกไป อันจะเป็นรากฐานแห่งสัมมาปฏิบัติที่นำไปสู่สันติสุขอันแท้จริง ขอกุศลจริยาที่ได้ร่วมกันบำเพ็ญนี้ จงอำนวยผลเพื่อความเจริญมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา และประโยชน์สุขของมหาชน ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต)
๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๖

No Comments

Comments are closed.