สัมโมทนียกถา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

1 สิงหาคม 2529
เป็นตอนที่ 1 จาก 3 ตอนของ

สัมโมทนียกถา
ของ
พระราชวรมนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
เนื่องในโอกาสที่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา)
ณ อุโบสถวัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลา ๑๔.๓๐ น.

ขอประทานกราบเรียนพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์ประธานที่คารวะอย่างสูง ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ ขอเจริญพรท่านสาธุชนท่านทั้งหลาย

วันนี้ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านกรรมการสภากับทั้งฝ่ายบริหาร ซึ่งมีท่านอธิการบดี เป็นประธาน และรักษาการคณบดี คณะศิลปศาสตร์พร้อมด้วยคณะอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีวิทยานุเคราะห์แสดงน้ำใจเกื้อกูล เดินทางมาถวายมอบปริญญาบัตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่อาตมภาพ ถ้าว่าโดยทางส่วนตัวแล้ว ก็นับว่า เป็นข้อที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งในการที่ท่านผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านเป็นผู้มีภารกิจมากมาย เวลาของท่านก็มีค่าเป็นอย่างมาก แต่ท่านได้สละเวลานั้นมาเพื่อกิจกรรมจำเพาะในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี การที่ท่านมานั้น อาตมภาพเข้าใจว่า ท่านคงได้หยั่งเห็นความหมายที่กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปกว่าการที่จะมาเพียงในกิจกรรมจำเพาะบุคคลเท่านั้น กล่าวคือท่านมาเพื่อสนองวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งในบรรดาวัตถุประสงค์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนั้น ข้อที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการบำรุงส่งเสริมวิทยาการ ซึ่งมหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาย่อมมีบทบาทในการที่จะบำรุงส่งเสริมวิทยาการให้เจริญกาวหน้า และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ก็มีภารกิจในการที่จะยังวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ดังที่กล่าวนี้ให้สำเร็จ

เพราะฉะนั้น การที่ท่านได้เดินทางมาในวันนี้ ก็ย่อมมีความหมาย ในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมอันเป็นส่วนรวมด้วย หากว่าบุคคลที่ได้รับปริญญานั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะแก่ฐานะจริงๆ แล้ว ข้อนั้นก็เป็นเครื่องแสดงว่า มหาวิทยาลัยได้กระทำบทบาทของมหาวิทยาลัยได้ด้วยดี และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยก็ได้ยังวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ในการบำรุงส่งเสริมวิทยาการนั้นให้สำเร็จเป็นอย่างดีด้วย ซึ่งข้อนี้หากว่าจะสำเร็จเป็นความจริง ก็เป็นข้อที่ควรแก่อนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

มองในด้านหนึ่งสำหรับกิจกรรมจำเพาะในวันนี้ ก็อาจจะมองเห็นได้ว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับทางวิชาการ ก็ได้มีสายตากว้างขวางมองไปโดยรอบด้าน คือมองไปทุกด้านของวงวิชาการ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในวงจำกัดอันใดอันหนึ่งซึ่งแม้ในด้านที่เกี่ยวกับพระสงฆ์หรือคณะสงฆ์ ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ละเลยมองข้ามไป อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่บุคคลภายนอกเมื่อมองกิจกรรมของมหาวิทยาลัยแล้วก็อนุโมทนาด้วย

ส่วนในฝ่ายของผู้รับนั้นก็คงจะมิใช่เป็นเรื่องเฉพาะตนเองเท่านั้น คือมิใช่ว่าเป็นการที่ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ในทางส่วนตัว เพราะว่ามหาวิทยาลัยก็คงมิได้มุ่งหมายเช่นนั้น มองในแง่หนึ่ง ผู้ที่ได้รับปริญญา หรือได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเช่นนี้ก็เป็นเสมือนกับสื่อหรือทางผ่าน ให้แก่วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยในการที่จะบำรุงส่งเสริมวิทยาการ ถ้าหากว่าผู้ได้รับปริญญาหรือเกียรติฐานะเช่นนี้จะได้ปฏิบัติตนในทางที่จะช่วยให้วิทยาการเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปแล้ว อันนั้นก็จะเป็นการยังวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยให้สำเร็จบริบูรณ์ยิ่งขึ้น อาตมภาพเข้าใจว่าทางมหาวิทยาลัยคงจะได้มีความประสงค์ดังที่ได้กล่าวมานี้

สำหรับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นั้น คำว่าดุษฎีบัณฑิต เราเข้าใจกันดีว่า หมายถึงปริญญาเอก แม้ว่าคำว่าดุษฎีบัณฑิตนี้ จะเป็นคำบัญญัติขึ้นในภาษาไทย แต่ก็มีรากศัพท์ (รากฐาน) มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งโยงไปได้ถึงภาษาบาลี เราจะลองมาหาความหมายจากถ้อยคำกันดูก็ได้

ดุษฎีบัณฑิต อาจจะแปลว่า บัณฑิตผู้นำมาซึ่งความชื่นชมยินดี และพอใจ หรืออาจจะแปลว่า บัณฑิตผู้ประกอบด้วยความชื่นชมยินดีพอใจก็ได้

ในความหมายที่ ๑ ดุษฎีบัณฑิตในฐานะเป็นผู้นำมาซึ่งความชื่นชมยินดี ก็อาจจะมีความหมายทั้งอย่างแคบและอย่างลึกซึ้ง ความหมายอย่างแรกก็อาจจะแสดงว่า ได้เป็นผู้มีผลงานที่ทำให้ผู้พิจารณานั้นเกิดความชื่นชมยินดีหรือพอใจ อันนี้เป็นประการแรกซึ่งเราจะมองเห็นว่าความหมายยังจำกัดอยู่เฉพาะตัวบุคคลนั้น

แต่ในความหมายต่อไป ดุษฎีบัณฑิตน่าจะมีความหมายลึกซึ้ง กว้างขวางออกไปอีกว่า เป็นผู้ที่ได้ทำให้เกิดความชื่นชมยินดีแก่คนทั้งหลาย ด้วยสามารถทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมาก หรือแก่สังคม ด้วยอาศัยผลงานที่ตนได้กระทำขึ้น ถ้าหากว่าดุษฎีบัณฑิตสามารถปฏิบัติกิจหน้าที่ได้เช่นนี้ ก็คิดว่าความหมายของความเป็นดุษฎีบัณฑิตนั้น จะสมบูรณ์อย่างแท้จริง

ในความหมายที่ ๒ ดุษฎีบัณฑิตอาจจะแปลว่า บัณฑิตผู้ประกอบด้วยความชื่นชมยินดี หรือประกอบด้วยความพอใจ คำว่าดุษฎีก็ตรงกับ ภาษาสันสกฤตว่า ตุษฺฏิ หรือบาลีว่า ตุฏฺิ หรือตุฏฺี คำว่า ตุฏฺิ หรือ ตุฏฺี นั้น เราจะเห็นได้ว่าคล้ายกับคำที่เป็นศัพท์ธรรมซึ่งเป็นคำเต็มสมบูรณ์ในตัวว่า สนฺตุฏฺี สนฺตุฏฺีก็คือความสันโดษ ซึ่งแปลว่าความพอใจ หรือความยินดีในสิ่งที่เป็นของตน เป็นมงคลอันสูงสุดอย่างหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ความสันโดษนั้นเป็นหลักธรรมสำหรับบุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาการโดยเฉพาะที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะพระภิกษุนั้นจะมีคำสอนอยู่เสมอให้เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ความหมายของดุษฎีบัณฑิต ในฐานะของผู้ประกอบด้วยความสันโดษ หรือความพอใจยินดี ในที่นี้ก็คือเป็นผู้ประกอบด้วยความพอใจ ความรู้จักอิ่มรู้จักพอ ในปัจจัยเครื่องบำรุงบำเรอทางวัตถุหรือทางกาย แล้วอุทิศเวลาและพลังแรงกาย แรงใจ แรงบัญญาที่มีอยู่ให้แก่การปฏิบัติกิจหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของชนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นดุษฎีบัณฑิตในความหมายที่ ๒ นี้ ก็เป็นความหมายที่มีความลึกซึ้งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากว่าปฏิบัติได้จริงก็เป็นผู้ดำเนินในมรรคาของพระอริยเจ้า หรืออริยชนที่แท้ในความหมายของพระพุทธศาสนา

บัดนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงซึ่งน้ำใจประกอบด้วยเมตตาธรรมต่อท่านผู้ที่ตนเห็นว่าทรงไว้ซึ่งคุณวุฒิ ทรงไว้ซึ่งวิชาการ และได้แสดงออกโดยการกระทำกิจกรรมนี้ มาประกอบพิธีถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตแก่อาตมภาพ ซึ่งอาตมภาพก็เข้าใจว่ามิใช่มีวัตถุประสงค์เพียงเป็นเรื่องจำเพาะบุคคล แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะดำเนินให้เป็นไปตามบทบาทของมหาวิทยาลัยในการที่จะส่งเสริมวิทยาการให้เจริญก้าวหน้า และหากว่าจะพึงเป็นไปด้วยดีแล้วผู้รับปริญญานี้ ก็พึงเป็นทางผ่านที่จะช่วยให้วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยได้สำเร็จด้วยดียิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งเป็นเครื่องนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นอันมาก นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นการแสดงออกอันได้ปรากฏเป็นพิธีกรรม ซึ่งการทำพิธีเช่นนี้เราก็ถือว่าเป็นมงคล

มงคลนั้นที่เป็นส่วนพิธีแสดงออก ก็อย่างหนึ่ง แต่มงคลที่จะยั่งยืนที่แท้จริงนั้นตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็จะต้องเป็นธรรมมงคล เพราะธรรมมงคลนั้นเป็นมงคลอันเกิดจากการปฏิบัติธรรม เริ่มต้นตั้งแต่การยังธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อสามารถนำธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจได้แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่สามารถและมีความซื่อสัตย์สุจริตในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สำเร็จผลด้วยดี เพราะฉะนั้นการประกอบพิธีมงคลในวันนี้ ก็หวังว่าจะเป็นสื่อหรือจะเป็นปัจจัยให้เกิดธรรมมงคล อันมีผลยั่งยืนต่อไป สืบต่อไปชั่วกาลนาน

อีกประการหนึ่ง การที่อาตมภาพได้รับเกียรติจากทางมหาวิทยาลัยนี้ อาจจะเรียกกันได้ว่าได้บรรลุผลสำเร็จอย่างหนึ่ง การที่จะบรรลุผลสำเร็จเช่นนี้ได้ ก็ย่อมอาศัยปัจจัยเครื่องประกอบแวดล้อมมาอำนวยเกื้อหนุนหลายทาง ทั้งทางวิชาการ เช่นว่าครูอาจารย์ที่ได้สั่งสอนมาบ้าง หรือทางวัตถุปัจจัย ๔ เครื่องอุปถัมภ์บำรุงให้ดำรงชีวิตอยู่บ้าง จึงสามารถที่จะมาทำสิ่งที่เรียกกันว่า เป็นผลสำเร็จในบัดนี้ เพราะฉะนั้น ในโอกาสที่ได้ประกอบพิธีในวันนี้ ก็ขอให้เป็นการประกาศถึงการอุปถัมภ์ทั้งหลาย เท่าที่ได้มีมาว่า ได้อาศัยคุณความดีของท่านที่เป็นผู้มาก่อน เป็นบรรพบุรุษ เป็นบุรพาจารย์ ที่ได้อบรมสั่งสอนมา และให้ความเกื้อหนุน ขอสำนึกคุณของท่านเหล่านั้นไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

และกล่าวเฉพาะพิธีนี้เอง ที่จะประสบความสำเร็จขึ้นมาเป็นพิธีได้ ก็ด้วยอาศัยมีบุคคลช่วยกันหลายด้านหลายฝ่าย แม้ว่าโดยความจริงแล้ว จะมีความประสงค์ให้พิธีนี้เป็นพิธีที่เรียบๆ ง่ายๆ แต่เมื่อมีบุคคลหลายบุคคลหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มักจะมีการขยายงานออกไปให้กว้างยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปล้วนด้วยความปรารถนาดีทั้งสิ้น โดยเฉพาะก็เริ่มแต่ทางวัดพระพิเรนทร์นี้ ซึ่งมีท่าน พระครูสังฆรักษ์ประสม กิตฺติาโณ เป็นเจ้าอาวาส พระมหาอุทัย อุทโย ป.ธ. ๙ เป็นรองเจ้าอาวาส พระมหาอินศร จินฺตาปฺโ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส พร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณรในวัดพระพิเรนทร์ทั้งหมดทั้งปวง ก็ได้มีน้ำใจช่วยกันจัดสถานที่ ตระเตรียมการต่างๆ โดยมีพระสงฆ์วัดท่าพระหลายท่านมาร่วมแสดงน้ำใจ เกื้อกูล ซึ่งมีความมุ่งหมายประการสำคัญก็คือ จะจัดการต้อนรับให้เหมาะแก่เกียรติของมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีท่าน พระมหานคร เขมปาลี เลขาธิการ มานั่งอยู่ร่วมในพิธีนี้ด้วย ท่านเจ้าคุณ พระเมธีสุทธิพงศ์ รองเลขาธิการ ฝ่ายวิชาการ และท่าน พระมหาอารีย์ เขมจาโร รองเลขาธิการ ฝ่ายธุรการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อาจารย์ของมหาวิทยาลัย ก็ได้กรุณาเอื้อเฟื้อรับเป็นเจ้าภาพในฝ่ายของพระพิธีผู้เจริญชัยมงคลคาถา และจัดเตรียมหนังสือที่จะมอบเป็นธรรมบรรณาการแด่ท่านที่มาให้เกียรติและมาร่วมในพิธี นอกจากนั้นแล้ว โยมอุบาสกอุบาสิกา มีโยม คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ เป็นต้น ก็ได้เอื้ออำนวยด้วยประการต่างๆ เช่นนำวิทยาลัยครูสวนดุสิตได้มาช่วยจัดเตรียมในเรื่องเครื่องบูชาพระรัตนตรัย และในเรื่องเกี่ยวกับโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ อาตมภาพก็ขออนุโมทนา และการทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามที่อาตมภาพได้ กล่าวแล้วว่า จะต้องสำนึกอยู่ในวัตถุประสงค์ของพิธีนี้ ที่ว่าเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย ในการที่จะบำรุงส่งเสริมวิทยาการให้เจริญก้าวหน้า การรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ครั้งนี้ คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์มากขึ้น และกว้างขวางยิ่งขึ้น ก็ด้วยถือว่าเป็นผู้ได้รับในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่งที่เป็นเหมือนตัวแทนของพระ สงฆ์ทั้งหลาย ถ้าหากว่าผลอันนี้จะเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ โดยทั่วไปเป็นส่วนรวมหรือแก่คณะสงฆ์แล้ว อันนั้นก็จะชื่อว่าเป็นคุณประโยชน์ที่แท้จริง

ในโอกาสนี้ อาตมภาพก็ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันมีท่านนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธาน พร้อมทั้งฝ่ายบริหาร ซึ่งได้มีวิทยานุเคราะห์มาถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ โอกาสนี้

ขอให้ทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ จงได้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ในการที่จะยังประโยชน์สุขให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ อันเป็นกุศลของสถาบันอุดมศึกษา และมีความเจริญรุ่งเรืองงอกงามในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน กับทั้งขอคารวะขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ในเมตตานุเคราะห์ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ที่ได้มีเมตตานุเคราะห์มาเป็นประธานในพิธีครั้งนี้ ณ โอกาสนี้ด้วย ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปสัมโมทนียกถา มหาวิทยาลัยศิลปากร ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ >>

No Comments

Comments are closed.