กรณีพระคึกฤทธิ์ มาต่อติดลูกศิษย์หลวงตามหาบัว

19 พฤศจิกายน 2559

เรื่องที่มาต่อติดลูกศิษย์หลวงตามหาบัว

เมื่อ ๗ ปีก่อนนี้ คือใน พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้มีกรณีที่พระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เขียนเรื่อง “อัตตา อนัตตา นิพพาน” โดยนำเอาอาตมา (พระพรหมคุณาภรณ์) เข้าไปรวมอยู่ในเรื่องนั้นด้วย โดยพระคึกฤทธิ์ได้เขียนลงใน นิตยสาร เนชันสุดสัปดาห์ คอลัมน์ชื่อว่า “ธรรมวิจัย” ได้ความว่า มีความเห็นต่างกัน ๓ อย่าง คือ ธรรมกายว่านิพพานเป็นอัตตา พระพรหมคุณาภรณ์ว่านิพพานเป็นอนัตตา และหลวงตามหาบัวว่านิพพานคือนิพพาน ไม่ใช่ทั้งอัตตา อนัตตา

คราวนั้น พระพรหมคุณาภรณ์จึงได้เขียนอธิบายให้จบเรื่องไป ออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า พระไทย ใช่เขาใช่เรา? นิพพาน – อนัตตา: ฉบับเพียงเพื่อไม่ประมาท เป็นอันว่าผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว ท่านผู้ต้องการทราบ ก็หาอ่านได้ (ธ.ค. ๒๕๕๒)

คราวนั้น มีเรื่องพ่วง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดหรือความเท็จ ซึ่งได้ชี้แจงเสร็จไปด้วยแล้วในคราวเดียวกันนั้น คือกรณีลูกศิษย์หลวงตามหาบัว พูดแทรกเข้าไปในบันทึกคำ “เทศน์อบรมฆราวาส ที่วัดป่าบ้านตาด” ในเดือนมกราคม ๒๕๔๙ ตอนหนึ่ง บอกความทำนองว่าพระพรหมคุณาภรณ์ได้ไปหาที่วัดหลวงตา และไปยอมรับคำเทศน์ของหลวงตาที่ว่านิพพานเป็นนิพพาน ไม่เป็นอัตตา ไม่เป็นอนัตตา

เนื่องจากข้อความในบันทึกเทศน์นั้นบอกเรื่องราวที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง

ที่ว่า “เจ้าคุณประยุทธ์ ไปหาที่วัดหลวงตาในปี ๔๙” ก็ไม่เป็นความจริง

ที่ว่า “เจ้าคุณประยุทธ์ ยอมรับตามที่หลวงตากล่าว” ก็ไม่เป็นความจริง

แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดจากการพูดแทรกของลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว จึงยกประโยชน์ให้ว่า ความผิดพลาดนี้คงเกิดจากลูกศิษย์ของหลวงตา

(คราวนั้น ได้เล่าประกอบไว้ด้วยว่า เมื่อปี ๒๕๔๐ พระพรหมคุณาภรณ์ได้รับการผ่าตัดครั้งใหญ่ หลังจากนั้นมีสภาพร่างกายที่ทำให้ไม่ได้ไปในสถานที่สำคัญนอกวัดเลย แม้แต่พระมหาเถระที่เคารพนับถือ ซึ่งเคยไปนมัสการเมื่อเข้าพรรษาทุกปี ก็หยุดหมด จึงไม่มีทางเป็นไปได้ และไม่มีเหตุผลอันใด ที่จะไปที่วัดหลวงตามหาบัว หรือไปหาหลวงตามหาบัวในที่ไหนๆ)

เพื่อไม่ประมาท ถึงจะไม่ต้องการให้เป็นเรื่องราวเอะอะ ก็ไม่ควรปล่อยให้คนเข้าใจผิด อย่างน้อยก็ควรทำอะไรให้มีเป็นหลักฐานแสดงความจริงไว้

จึงให้ทำคำ “ชี้แจงข่าว” พิมพ์ไว้ใน ข่าวสารญาณเวศก์ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗ (มกราคม ๒๕๔๙) ซึ่งเผยแพร่อยู่ในวงแคบๆ (คราวนี้บอกความกำกับให้ชัดขึ้น) ดังนี้

(ข้อความในไฮไลท์ มีมาในใบที่ผู้หวังดีส่งมาให้ทาง ปณ. จึงแสดงไว้ด้วย)

ชี้แจงข่าว

มีผู้ส่งคำเทศน์ของหลวงตามหาบัวทางไปรษณีย์ (แต่ไม่ได้บอกชื่อที่อยู่ของผู้ส่ง คงจะส่งด้วยความหวังดีให้ทราบข่าว) เป็นคำเทศน์เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ นี้เอง ในตอนท้ายมีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“เพราะฉะนั้นคำว่าอัตตาอนัตตาจึงหมด แต่ก่อนเข้าไปแทรกไปแอบไปเป็นนิพพาน อัตตาก็แอบไปเป็นนิพพาน อนัตตาก็แอบไปเป็นนิพพาน เข้าใจไหม ใครก็แอบเป็นนิพพาน พอดีลงผางทีนี้นิพพานคือนิพพาน เป็นอื่นไปไม่ได้ แล้วอัตตาอนัตตาจะเข้าถึงได้ยังไง เป็นอื่นไปไม่ได้ อัตตาอนัตตามันก็เป็นอื่นใช่ไหมล่ะ มันก็เข้าไม่ถึงได้นั่น ถอดออกจากนี้ซิ (เสียงพูดแทรกจากข้างๆ คงเป็นลูกศิษย์ว่า “ธรรมกายเขาบอกเป็นอัตตา ทั่นเจ้าคุณประยุทธ์บอกเป็นอนัตตา”) เอ๊ ใคร ๙ ประโยคก็ไปหาเรา (เสียงพูดแทรกจากข้างๆ ว่า “เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต นี่ละครับ”) พอเราตอบอันนี้เสร็จประกาศลั่นออกไปไม่กี่วัน พอดีเจ้าคุณ ๙ ประโยคนี้ไปหาเรา แสดงมารยาทว่ายอมรับเข้าใจไหม แต่พอดีไม่เจอเราเสีย ไม่เจอก็ไม่เป็นไร นิพพานคือนิพพานเป็นอื่นไปไม่ได้ ก็พูดแล้วนี่ เจ้าของอยู่เจ้าของไปมีปัญหาอะไรเข้าใจเหรอ ไปละ”

ที่ยกมาให้ดูข้างบนนี้ คือบันทึกคำเทศน์ของหลวงตา มหาบัว ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่ออ่านดูก็เห็นได้ว่า คงเป็นเสียงของลูกศิษย์พูดแทรกบอกหลวงตา หลวงตาท่านก็คงเชื่อ หรือว่าไปตามลูกศิษย์ ไม่ต้องไปด่วนว่าท่าน ที่จริงนั้น เจ้าคุณประยุทธ์ไม่ได้ไปหาหลวงตามหาบัว และไม่ยอมรับคำที่หลวงตาพูดข้างบนนี้

เรื่องนิพพานไม่เป็นอัตตานั้น ท่านเจ้าคุณบอกว่าเอาหลักที่เป็นของกลางมาบอกให้ทราบไว้ หลักว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น ไม่ใช่เป็นความเห็นส่วนตัวของท่านเจ้าคุณเอง จึงไม่ต้องไปที่ไหน ไม่ต้องไปหาใคร ไม่ต้องไปฟังใครอีก

ขอย้ำไว้ให้ชัดแจ้งว่า ข้อความในบันทึกหรือในคำเทศน์ของหลวงตามหาบัวนั้น บอกเรื่องราวที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ไม่เป็นความจริง

ที่ว่า “เจ้าคุณประยุทธ์ ไปหาที่วัดหลวงตาในปี ๔๙” ก็ไม่เป็นความจริง

ที่ว่า “เจ้าคุณประยุทธ์ ยอมรับตามที่หลวงตากล่าว” ก็ไม่เป็นความจริง

อย่างที่บอกแล้วว่า ตามบันทึกเทศน์ของท่าน หลวงตามหาบัวก็คงเชื่อหรือว่าไปตามลูกศิษย์ คือพูดไปตามเสียงของลูกศิษย์ ที่พูดแทรกหรือแซงขึ้นมา จึงไม่ต้องติเตียนว่าท่าน ถือว่าเป็นปัญหาจากลูกศิษย์ของท่าน ซึ่งจะด้วยการพูดโดยไม่ดูให้ชัด พูดเรื่อยเปื่อย หรือเจตนาพูดเท็จก็ตาม ก็เป็นการทำความผิดความเสียหาย ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดี ก็จะทำให้หลวงตาเสียได้ (สำคัญที่ลูกศิษย์)

หลวงตาท่านเป็นพระมหาเถระผู้เฒ่าปูนนี้แล้ว ควรช่วยกันถนอมรักษาท่านไว้ให้ดี เมื่อเคารพรักท่านจริง ก็ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง

อย่างในกรณีนี้ ก็บอกว่าหลวงตาพูดไปตามเสียงที่ลูกศิษย์บอกว่าอย่างนั้นๆ เมื่อท่านพูดเผลอพูดพลาดไป ก็ควรให้อภัย แต่ถ้าพูดว่า หลวงตามหาบัวบอกว่าเจ้าคุณประยุทธ์ไปยอมรับกับท่าน หรือแม้แต่ว่าไปหาหลวงตา ก็จะกลายเป็นว่าหลวงตาพูดไม่จริง นี่ก็คือการที่ลูกศิษย์กลายเป็นผู้ประทุษร้ายหลวงตาเสียเอง

เรื่องนี้ ทั้งที่ได้แถลงชี้แจงชัดแจ้งไปนานมากแล้ว (๗ ปีแล้ว คือใน พ.ศ. ๒๕๕๒) แต่เมื่อเดือนมกราคม ปี ๒๕๕๙ นี้เอง ก็มีพระภิกษุนำบันทึกคำเทศน์ของหลวงตามหาบัว ที่มีข้อความที่พูดข้างต้น ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ มาให้ดู ทำให้ทราบว่าทางสายวัดหรือสำนักของหลวงตามหาบัว ยังเผยแพร่บันทึกคำเทศน์นี้อยู่

เรื่องนี้ แม้มิได้ประสงค์ให้เกิดความกระทบกระเทือนหรือความขุ่นมัวเศร้าหมองต่อท่านผู้ใด แต่จำเป็นต้องรักษาธรรม รักษาความจริงความถูกต้อง จึงต้องให้เรื่องปรากฏตามเป็นจริง เพราะคำพูดของบุคคลในบันทึกเทศน์นั้น จะเป็นของลูกศิษย์หรือคนใกล้ชิดหลวงตาหรือใครก็ตาม มีลักษณะเป็นการกล่าวตู่ มิใช่กล่าวตู่เจ้าคุณประยุทธ์เท่านั้น แต่เป็นการกล่าวตู่พระธรรมวินัย ซึ่งจะก่อความเสียหายอย่างยิ่งต่อสัจจะความจริง และต่อพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อวันที่ ๑๖ ต.ค. ๒๕๕๙ พระพรหมคุณาภรณ์จึงได้มีลิขิตไปยังเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี “เรื่อง ขอความร่วมมือทำความจริงให้ประจักษ์และให้เป็นหลักฐานยืนยันในระยะยาว”

ลิขิตนี้ มีข้อความ (ที่เป็นจุดสำคัญ) ว่า

“ในการนี้ …เจ้าของงานหรือผู้รับผิดชอบงานนั้น จะเผยแพร่เรื่องดังกล่าวนั้นต่อไปหรือไม่ ไม่ขอกล่าวถึง เป็นเรื่องของท่านที่จะพิจารณาเอง แต่ขอความร่วมมือดังนี้

๑. …ท่านที่พูดแทรกบอกแก่หลวงตามหาบัวว่า “ธรรมกายเขาบอกเป็นอัตตา ทั่นเจ้าคุณประยุทธ์บอกเป็นอนัตตา” และว่า “เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต นี่ละครับ” ขอท่านที่เป็นศิษย์หรือเป็นบุคคลใกล้ชิดผู้นี้ โปรดบอกนามเพื่อยืนยันตนเอง

…ถ้าท่านผู้นี้จะสงวนนาม ไม่เปิดเผยชื่อ ก็ไม่เป็นไร แต่โปรดบอกในข้อต่อไปว่า

๒. ที่ว่า เจ้าคุณประยุทธ์มาที่วัดหลวงตาบัว หรือมาหาหลวงตามหาบัว ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ นั้น คือมาเมื่อใด ในวันที่ เดือนใด ในปี ๒๕๔๙ นั้น หรือเมื่อใดก็ตามใน ๕ ปี หรือใน ๑๐ ปีใกล้ๆ นั้น แม้ถ้าจำไม่ได้ บอกตรงจำเพาะไม่ได้ว่าวันไหน ก็ขอให้บอกว่าในช่วงสัปดาห์นั้นๆ ทั้งนี้ เจ้าคุณประยุทธ์หรือพระพรหมคุณาภรณ์ จะได้บอกเล่าแจกแจงให้ทราบอย่างชัดแจ้งว่าในวันนั้นๆ พระพรหมคุณาภรณ์ทำอะไรอยู่ในที่ไหนๆ อันจะแสดงชัดว่าเจ้าคุณประยุทธ์ไม่มีโอกาส และไม่มีทางเป็นไปได้ ที่จะมาที่วัดหลวงตามหาบัว หรือที่จะไปหาไปพบหลวงตามหาบัวในที่ใดๆ”

จดหมายของพระพรหมคุณาภรณ์ ถึงเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด

ดังที่ว่าแล้ว เพื่อทำความจริงให้ประจักษ์ และให้เป็นหลักฐานยืนยันในระยะยาว จึงนำลิขิต/จดหมายของพระพรหมคุณาภรณ์ ที่เขียนไปถวายแก่เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด มาลงเป็นหลักฐานไว้ ดังนี้

ที่พักสงฆ์ในชนบท

ที่อ้างอิง วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ๗๓๒๑๐

๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๙

เรื่อง ขอความร่วมมือทำความจริงให้ประจักษ์และให้เป็นหลักฐานยืนยันในระยะยาว

เรียน พระอธิการสุดใจ ทนฺตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

ขอทวนความย้อนหลังว่า เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๙ วันหนึ่ง ผมได้รับเอกสารส่งมาทางไปรษณีย์ เป็นใบบันทึก “เทศน์อบรมฆราวาส ที่วัดป่าบ้านตาด” มีเพียงใบบันทึกคำเทศน์นั้น ไม่บอกว่าใครส่งมา แต่แน่ใจว่าเป็นผู้หวังดีส่งมาเพื่อให้ทราบเรื่อง

ใบบันทึกนั้น ซึ่งมีข้อความที่แสดงว่าเป็นเอกสารของวัดหรือองค์กรที่สนองงานของหลวงตามหาบัวนั่นเอง (เช่นบอกสถานีวิทยุ และ Web site ที่จะชมจะฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา) เป็นบันทึก “เทศน์อบรมฆราวาส ที่วัดป่าบ้านตาด” ในวันที่ ๑๐ ม.ค. ๒๕๔๙ มีคำพูดจาบอกเล่าของหลวงตา พร้อมทั้งคำแทรกเสริมของลูกศิษย์หรือผู้ใกล้ชิดในตอนนี้ว่า

“…อัตตาอนัตตามันก็เป็นอื่นใช่ไหมล่ะ มันก็เข้าไม่ถึงได้นั่น ถอดออกจากนี้ซิ (เสียงแทรกเข้ามาว่า “ธรรมกายเขาบอกเป็นอัตตา ทั่นเจ้าคุณประยุทธ์บอกเป็นอนัตตา”) เอ๊ ใคร ๙ ประโยคก็ไปหาเรา (เสียงตอบแทรกว่า “เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต นี่ละครับ”)

ในบันทึกเทศน์นั้น บอกต่อไปว่าพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์) ได้ไปหาที่วัดหลวงตามหาบัว และไปยอมรับคำเทศน์ของหลวงตาที่ว่านิพพานเป็นนิพพาน ไม่เป็นอัตตา ไม่เป็นอนัตตา

เนื่องจากข้อความในบันทึกเทศน์นั้นบอกเรื่องราวที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง

ที่ว่า “เจ้าคุณประยุทธ์” ไปหาที่วัดหลวงตามหาบัวในปี ๒๕๔๙ ก็ไม่เป็นจริง

และที่ว่า “เจ้าคุณประยุทธ์” ยอมรับตามที่หลวงตามหาบัวกล่าว ก็ไม่เป็นความจริง

ความผิดพลาดนี้คงเกิดจากลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว โดยลูกศิษย์หรือผู้ใกล้ชิดพูดบอกให้ท่านเข้าใจผิด ดังที่ยกมาดูข้างบน ผมจึงให้ทำคำ “ชี้แจงข่าว” พิมพ์ไว้ใน ข่าวสารญาณเวศก์ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗ (มกราคม ๒๕๔๙)

บัดนี้ เวลาผ่านมา ๑๐ ปีเศษแล้ว เมื่อ ๒-๓ วันนี้ ก็ยังมีพระบอกเล่าให้ทราบว่าคำเทศน์อบรมฆราวาสข้างต้นนั้น วัดหรือองค์กรที่สนองงานของหลวงตามหาบัวยังเผยแพร่อยู่

ในที่นี้ ไม่ต้องการให้เกิดความกระทบกระเทือนหรือเกิดความขุ่นมัวเศร้าหมองแก่ท่านผู้ใดเลย แต่เนื่องจากเป็นเรื่องของความจริงความถูกต้องอันสำคัญมากในทางธรรม เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับหลักธรรมสำคัญในเรื่องอนัตตาที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

เนื่องจากผมไม่ทราบเจ้าของงานหรือผู้รับผิดชอบสถานีวิทยุ หรือ Web site ข้างต้นนั้น แต่เนื่องจากเป็นกิจการที่เนื่องด้วยหลวงตามหาบัวและวัดป่าบ้านตาด จึงขอความร่วมมือท่านพระอธิการช่วยส่งเรื่องนี้ให้แก่ท่านเจ้าของงานหรือผู้รับผิดชอบงานนั้น

ในการนี้ การที่เจ้าของงานหรือผู้รับผิดชอบงานนั้น จะเผยแพร่เรื่องดังกล่าวนั้นต่อไปหรือไม่ ผมไม่ขอกล่าวถึง เป็นเรื่องของท่านที่จะพิจารณาเอง แต่ผมขอความร่วมมือดังนี้

๑. ถ้าไม่เป็นการลำบากใจ ท่านที่พูดแทรกบอกแก่หลวงตามหาบัวว่า “ธรรมกายเขาบอกเป็นอัตตา ทั่นเจ้าคุณประยุทธ์บอกเป็นอนัตตา” และตอบแทรกบอกแก่หลวงตาว่า “เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต นี่ละครับ” ขอท่านที่เป็นศิษย์หรือเป็นบุคคลใกล้ชิดผู้นี้ โปรดบอกนามเพื่อยืนยันตนเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ถ้าท่านผู้นี้จะขอสงวนนาม ขอไม่เปิดเผยชื่อ ก็ไม่เป็นไร แต่โปรดบอกในข้อต่อไปว่า

๒. ที่ท่านว่า เจ้าคุณประยุทธ์มาที่วัดหลวงตาบัว หรือมาหาหลวงตามหาบัว ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ นั้น คือมาเมื่อใด ในวันที่ เดือนใด ในปี ๒๕๔๙ นั้น หรือเมื่อใดก็ตามใน ๕ ปีหรือใน ๑๐ ปีใกล้ๆ นั้น แม้ถ้าจำไม่ได้ บอกตรงจำเพาะไม่ได้ว่าวันไหน ก็ขอให้บอกว่า ในช่วงสัปดาห์นั้นๆ ทั้งนี้ เจ้าคุณประยุทธ์หรือพระพรหมคุณาภรณ์ จะได้บอกเล่าแจกแจงให้ทราบอย่างชัดแจ้งว่าในวันนั้นๆ พระพรหมคุณาภรณ์ทำอะไรอยู่ในที่ไหนๆ อันจะแสดงชัดว่าเจ้าคุณประยุทธ์ไม่มีโอกาสและไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมาที่วัดหลวงตามหาบัว หรือที่จะไปหาไปพบหลวงตามหาบัวในที่ใดๆ

ทั้งนี้ พึงตอบหรือบอกแจ้งไปที่วัดญาณเวศกวัน ตามเลขหมายสถานที่ข้างต้น

ขอย้ำให้ได้โปรดสบายใจว่า ที่เขียนมานี้ ไม่ต้องการให้กระทบกระเทือนหรือแม้แต่ไม่สบายใจแก่ท่านผู้ใดผู้หนึ่ง แต่จำเป็นต้องปฏิบัติ เพื่อรักษาความจริงความถูกต้องตามธรรม เฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดต่อหลักธรรมข้อใหญ่ดังเช่น ความเป็นอนัตตา (อนัตตตา) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา หากจะทำให้เกิดความไม่สบายใจแก่ท่านผู้ใดโดยมิได้ตั้งใจ ก็ขออภัยด้วย

ขอให้เจริญงอกงามพรั่งพร้อมด้วยกันในพระธรรมวินัย

เรียนมาโดยธรรม

พระพรหมคุณาภรณ์

จดหมายตอบ จากเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด

ต่อมา ในวันที่ ๒ พ.ย. ๒๕๕๙ ได้รับจดหมายตอบจากเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ลงวันที่ ๒๘ ต.ค. ๒๕๕๙ ขอนำมาลงไว้ให้เห็นเรื่องชัดเจน ดังนี้

จดหมายตอบ จากเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด

ตามจดหมายที่นำลงนี้ ว่าได้ตัดเนื้อหาในกัณฑ์เทศน์ดังกล่าวออกแล้ว ดูก็น่าจะอนุโมทนาในแง่นั้น แต่ขอติงว่า ตามจดหมายของวัดป่าบ้านตาด ได้อ้างความที่กลายไปเป็นว่า จดหมายของพระพรหมคุณาภรณ์ขอให้แก้ไขพระธรรมเทศนาของหลวงตามหาบัว เมื่อว่าโดยธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ไม่มีสิทธิอะไรที่จะบอกจะขอให้แก้ไขพระธรรมเทศนาของหลวงตามหาบัว หรือของท่านผู้ใด เมื่อหลวงตาเทศน์ว่าอย่างไร คำเทศน์ของท่านก็ได้มีอย่างนั้น แต่จะเป็นอย่างที่ท่านเทศน์หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตามลิขิตของพระพรหมคุณาภรณ์นั้นชัดเจนว่า มิได้ขอให้แก้ไขคำเทศน์ของหลวงตา แต่ขอหลักฐานข้อมูลของเหตุการณ์ เพื่อให้พระพรหมคุณาภรณ์จะได้แจ้งข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐาน เพื่อร่วมมือกันทำความจริงให้ประจักษ์และให้เป็นหลักฐานยืนยันในระยะยาว ส่วนการจะทำอย่างไรกับคำเทศน์ของหลวงตา พระพรหมคุณาภรณ์ได้เปิดไว้แล้วว่าให้เป็นเรื่องของทางวัดป่าบ้านตาดที่จะพิจารณาเอง ดังนั้น การที่ได้ตัดเนื้อหาในกัณฑ์เทศน์ดังกล่าวออกไปดังที่แจ้งนั้น จึงเป็นไปตามการพิจารณาดำเนินการของทางสายของวัดหรือสำนักวัดป่าบ้านตาดเอง ขอทำให้เป็นความชัดเจนไว้ดังที่ว่านี้

ขอย้ำว่า ที่เขียนบอกกล่าวเล่าเรื่องนี้ไว้ มิได้คิดหมายที่จะให้เกิดความกระทบกระเทือนหรือเกิดความขุ่นมัวเศร้าหมองแก่ท่านผู้ใด แต่เนื่องจากเป็นเรื่องของความจริงความถูกต้อง เฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องของหลักพระธรรมวินัยโดยตรง และเป็นหลักใหญ่ด้วย อันจะต้องรู้เข้าใจให้ถูกต้อง และมิให้มีความเข้าใจเลือนรางสับสนแทรกปนเข้ามา ที่จะปิดกั้นขัดขวางหรือพาให้ไขว้เขวแก่เหล่าผู้ตั้งใจศึกษา อย่างน้อยให้หนทางของการศึกษาภาวนาโล่งสว่างตามที่ควรจะเป็น

เรื่องว่า นิพพานเป็นอัตตา หรือไม่เป็นอัตตา (พูดตามบาลีว่า อนัตตา) นั้น ได้อธิบายไว้แล้วในหนังสือเล่มที่ได้พูดถึงตั้งแต่ต้น ที่ชื่อว่า พระไทย ใช่เขาใช่เรา? นิพพาน – อนัตตา: ฉบับเพียงเพื่อไม่ประมาท จึงไม่ต้องอธิบายซ้ำที่นี่อีก เพียงแต่ขอยกตัวอย่างมาบอกกล่าวให้รู้เข้าใจกันแบบง่ายๆ

พูดแบบเข้าใจกันง่ายๆ คำว่า “อนัตตา” เป็นคำภาษาบาลี แปลเป็นไทยว่า “ไม่เป็นอัตตา” คนเขาถามเขาเถียงกันว่า อันนั้นเป็นอัตตา ใช่ไหม? อันนี้เป็นอัตตาหรือไม่? พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อนัตตา” คือตรัสสอนให้เขารู้ว่ามันไม่เป็นอัตตา อะไรๆ ก็ไม่เป็นอัตตา พูดแบบบาลีก็ว่า อนัตตา คือไม่เป็นอัตตา ก็แค่นั้นเอง

ไม่ใช่ว่า อัตตา ก็อันหนึ่งอย่างหนึ่ง อนัตตา ก็อีกอันหนึ่งอีกอย่างหนึ่ง แล้วมาถามว่า อันไหนเป็นอัตตา อันไหนเป็นอนัตตา การถามอย่างนั้น หรือพูดอย่างนั้น แสดงว่าไม่รู้ความหมายของคำบาลี พึงรู้ไว้ให้ชัดว่า ถ้าพูดว่าไม่เป็นอัตตา ก็คือคำบาลีว่า อนัตตา (=ไม่เป็นอัตตา) จบเท่านั้น ใครพูดว่า ไม่เป็นอัตตา ไม่เป็นอนัตตา ก็บอกในตัวเองว่าไม่รู้ความหมาย ไม่รู้คำแปล ไม่รู้จักคำว่าอนัตตานั่นเอง

ตัวอย่างที่จะเทียบให้เข้าใจ ก็ง่ายๆ อย่างที่เคยว่ามาแล้ว เช่นมีคนหนึ่งถามว่า ช้างเป็นแมว หรือช้างไม่เป็นแมว ถ้าเรารู้ ก็ตอบเขาไปสิว่า ช้างไม่เป็นแมว

เขาถามว่า นิพพานเป็นอัตตา หรือไม่เป็นอัตตา (ไม่เป็นอัตตา = บาลีว่า อนัตตา) ก็ตอบเขาไปสิว่า ไม่เป็นอัตตา (อนัตตา)

ถ้าใครตอบว่า นิพพานไม่เป็นอัตตา แล้วก็ไม่เป็นอนัตตา หรือว่า นิพพานนั้น อัตตาก็ไม่เป็น อนัตตาก็ไม่เป็น

นั่นก็เหมือนกับคนที่ พอถูกเขาถามว่า “ช้างเป็นแมว หรือช้างไม่เป็นแมว?” ก็ตอบว่า “ช้างก็เป็นช้าง ช้างไม่เป็นแมว และช้างไม่ใช่ไม่เป็นแมว” (หรือตอบว่า “ช้างเป็นแมว ก็ไม่ใช่ ช้างไม่เป็นแมว ก็ไม่ใช่”) พูดไปพูดมา ลงท้ายกลายเป็นบอกว่า ช้างก็เป็นช้าง และช้างก็เป็นแมว

เรื่องของภาษา เมื่อจะพูดจะตอบ ก็ต้องรู้เข้าใจความหมายของถ้อยคำ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะนึกเอาว่าเอา

อัตตา-อนัตตา ไม่ใช่เรื่องที่จะว่าใครมีความเห็นอย่างไร แต่เรื่องอยู่ที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างไร และทำปัญญาภาวนาให้ประจักษ์สภาวะนั้น มีพุทธพจน์ปิดท้ายว่า

ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า “มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่บุคคลผู้มีความเห็นถูกต้องสมบูรณ์ (คือตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป) จะพึงยึดถือสังขารใดๆ ว่าเที่ยง…จะพึงยึดถือสังขารใดๆ ว่าเป็นสุข…จะพึงยึดถือธรรมใดๆ ว่าเป็นอัตตา นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้” (ม.อุ.๑๔/๒๔๕/๑๗๐)

(ตอนที่ว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง สุขหรือทุกข์ เอาแค่สังขาร, แต่ตอนไม่ยึดเป็นอัตตาไปถึงธรรม คือคลุมหมด นิพพานก็เป็นธรรม – จึงเรียกว่า “นิพพานธรรม” จะให้หนักแน่นขึ้นอีกก็ว่า “อสงฺขโต นิพฺพานธมฺโม” หรือว่า “นิพฺพานธมฺโม นิโรโธ นิโรธสจฺจํ” ฯลฯ)

จบไว้เพียงนี้ก่อน

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

No Comments

Comments are closed.