จดหมายตอบ นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล เรื่อง “จิตวิญญาณ”

18 กรกฎาคม 2554

จดหมายตอบ นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
เรื่อง “จิตวิญญาณ”

วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก
อ.สามพราน จ.นครปฐม ๗๓๒๑๐

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔

เจริญพร คุณหมอ โดยสาราณียธรรม

ตามที่คุณหมอได้ขอให้อาตมาพิจารณาและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “(ร่าง) กรอบความคิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ” นั้น

เริ่มแรกขออนุโมทนา สปรส. ใน ๒ ประการ คือ ในการที่ได้ขยายขอบเขตแนวความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพให้กว้างออกไป และในการที่ให้โอกาสแก่คนภายนอกที่จะช่วยพิจารณาให้ความคิดเห็นกันหลายๆ ด้าน

ในส่วนที่อาตมาจะพูดหรือเขียนต่อไปนี้ ก็เป็นการตอบคุณหมอตามโอกาสที่ สปรส. ให้ไว้นั้น เป็นความรู้บ้าง ความเห็นบ้าง ในแง่ความรู้ ถ้าจะเป็นประโยชน์บ้าง ก็ขออนุโมทนา แต่ในส่วนความเห็นของอาตมา กรุณาไม่ต้องถือเป็นสำคัญ

เรื่องกรอบความคิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “สุขภาพดี” มีข้อควรพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับคำว่า “จิตวิญญาณ”

(ถ้าต้องการรวบรัด อาจข้ามไปอ่าน “สรุปข้อสังเกต” หน้า ๖-๗ )

เท่าที่อาตมาพอจะทราบหรือระลึกได้ คำว่า “จิตวิญญาณ” นี้เป็นคำที่ปรุงหรือจัดสรรหรือประกอบขึ้นใหม่ ไม่นานนัก ด้วยความพยายามที่จะสื่อความหมายที่ลึกซึ้งอย่างหนึ่ง ซึ่งรู้สึกกันว่าไม่มีคำใดที่เราใช้กันอยู่ในภาษาไทยเวลานี้ที่จะสื่อได้ โดยเฉพาะเมื่อจะแปลคำฝรั่งว่า spiritual และ spirituality

คำว่า “จิตวิญญาณ” ที่ประกอบขึ้นนี้ โดยทั่วไปนับว่าช่วยสื่อความหมายที่ต้องการได้ดีพอสมควรทีเดียว อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าหนักแน่นลึกซึ้งมากขึ้น ในขณะที่เรารู้สึกว่ายังหาคำที่ตรงแท้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จะใช้อย่างยุติหรือเป็นทางการให้เป็นหลักฐานแน่ลงไป คำว่า “จิตวิญญาณ” นี้ ยังมีจุดอ่อนหรือข้อท้วงติงที่ควรพิจารณาแก้ไขให้ลุล่วงหลายอย่าง โดยเฉพาะ

• “จิตวิญญาณ” เป็นคำที่ยังไม่ยุติเป็นหลัก หรือเป็นทางการ

• “จิตวิญญาณ” ที่เขียนไว้ใน (ร่าง)กรอบความคิดนี้ ซึ่งมีวงเล็บว่า (มโนธรรม) นั้น สองคำนี้มีความหมายไม่เหมือนกัน มโนธรรม เป็นเรื่องของความสำนึกในเรื่อง ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ที่จะปฏิบัติออกมาภายนอก แต่จิตวิญญาณเน้นด้านความรู้สึกที่เข้าถึงภาวะทางจิตที่ดื่มด่ำลึกซึ้งลงไปภายใน

• อย่างที่กล่าวแล้วว่า “จิตวิญญาณ” เป็นคำที่ประกอบขึ้นใหม่ ทั้งคำว่า “จิต” และ “วิญญาณ” ที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันนี้ เป็นคำศัพท์ที่เรานำมาจากพระพุทธศาสนา ซึ่งแต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ในตัวของมันเอง มีแต่ใช้แยกต่างหากกันหรือใช้แทนกัน ไม่ใช้รวมแบบต่อกันอย่างนี้

ข้อสำคัญในกรณีนี้ก็คือ การที่คำว่า “จิตวิญญาณ” สื่อความหมายที่เราต้องการนั้น เป็นเรื่องของความรู้สึก และคำอื่นที่ว่าไม่สื่อความหมายที่ต้องการก็เป็นเรื่องของความรู้สึก(ของคนสมัยนี้) จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ในสมัยอื่น (เช่นสมัยโบราณ) คำอื่นอาจเคยสื่อความหมายลึกซึ้งที่เราต้องการ ดังนั้นอาจจะต้องค้นหาถ้อยคำตัวจริงในภาษาไทย ที่ความหมายของตัวมันเองตรงกับความหมายที่เราต้องการโดยไม่ขึ้นต่อความรู้สึกของคนสมัยนี้ (=คำที่มีความหมายตรงกับความต้องการของเรา แต่คนสมัยนี้ไม่มีความรู้สึกว่ามันสื่อความหมายที่ต้องการ)

ที่จริงคำว่า “จิต” และคำว่า “วิญญาณ” แต่เดิมแท้ๆ มีความหมายใกล้เคียงกันมาก ในภาษาบาลีถือ ว่าเป็นไวพจน์กัน บางที่ก็ใช้แทนกันได้ การนำมาพูดต่อกันเป็นจิตวิญญาณ จึงเป็นการ ใช้คำซ้ำ คำซ้อน หรือคำซ้ำซ้อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในภาษาไทยมีการใช้คำซ้อน หรือคำซ้ำซ้อน หรือคำคู่ หรือหาคำสร้อยมาเติมกันไม่น้อย เพื่อให้รู้สึกว่ามีความหมายหนักแน่นลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น รุ่งโรจน์ สว่างไสว เรืองรอง พร้อมเพรียง ครบครัน เน้นย้ำ (หลายท่านอาจจะหาคำคู่ หรือคำซ้อนที่ชัดเจนดียิ่งกว่านี้ได้) ลักษณะนี้อาจเป็นความนิยมในภาษาไทยเนื่องจากเรามักใช้คำพยางค์เดียว ซึ่งในหลายกรณีรู้สึกว่าสั้นไป จึงชอบพูดซ้ำหรือซ้อนให้ได้ความรู้สึกหนักแน่นขึ้น

คำว่า “จิต” นั้น เป็นคำ(มาจาก)ภาษาบาลีซึ่งเดิมเป็น “จิตฺต” มีสองพยางค์ เราเอามาลดรูปเหลือพยางค์เดียว เป็น “จิต” แต่มีบ่อยครั้ง เราอยากพูดให้หนักแน่น ก็เอาคำว่า “ใจ” ซ้อนเข้าไปเป็น “จิตใจ” ทั้ง “จิต” และ “ใจ” ก็คือคำเดียวกัน (จิต มาจากบาลี ใจเป็นคำไทย) อาจเป็นได้ว่าเดิม “จิตใจ” ให้ความรู้สึกลึกซึ้งพอ แต่มาถึงปัจจุบันให้ความหมายที่คนสมัยนี้ไม่รู้สึกว่าลึกซึ้งพอ เราหันไปเอาคำว่า “จิต” กับ “วิญญาณ” ซึ่งมาจากบาลีทั้งคู่มาซ้อนกัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าคำ “จิตวิญญาณ” อาจให้ความหมายที่คนสมัยนี้หลายท่านรู้สึกว่าลึกซึ้งตรงกับความต้องการจริง แต่อาจก่อปัญหาใหม่ เนื่องจากทั้งสองคำเป็นคำมาจากภาษาบาลีด้วยกัน ความซ้อนนั้นอาจกลายเป็นความสับสน เพราะไปตีกันในภาษาเดิม ทำให้เกิดความยุ่งยากในเวลาศึกษาหาความรู้ทางวิชาการบางด้าน บางระดับ หรือกว้างออกไป จึงน่าจะไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กันเสมือนเป็นคำที่ลงตัวเป็นหลักหรือเป็นทางราชการ แต่ตรงข้ามน่าจะเตรียมป้องกันความสับสนไว้ก่อนแต่ต้น

อีกประการหนึ่ง เนื่องจาก “จิตวิญญาณ” เป็นคำที่ปรุงหรือประกอบขึ้นใหม่ ยังรู้เข้าใจกันในวงแคบหรือเฉพาะกลุ่ม และคำที่เอามาประกอบ ก็มีปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่แล้ว เช่น คนไทยจำนวนมากคิดว่า “วิญญาณ” หมายถึง ภูตผี เป็นต้น พอเอามารวมกันอย่างนี้ คนทั่วไปอาจจะงง สับสน หรือเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน อย่างน้อยก็พร่าๆ มัวๆ จึงน่าจะไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในเอกสารที่เป็นสาธารณะ

ส่วนการที่จะใช้คำนั้นคำนี้หรือคำไหน ไม่ใช่เป็นปัญหาว่า เป็นคำของศาสนาใด เพราะคำเหล่านี้เรานำมาใช้เป็นคำภาษาไทยไปแล้ว และคำไทยในระดับวิชาการแต่เดิมมาก็เป็นคำมาจากพระพุทธศาสนาเป็นธรรมดา ข้อสำคัญอยู่ที่ความถูกต้อง เข้าใจชัดเจน และความแม่นยำทางปัญญา (คำในภาษาอังกฤษไม่น้อยมาจากหรือใช้มาในศาสนาคริสต์บ้าง ศาสนากรีกโรมันโบราณบ้าง เป็นต้น ใช้กันจนเป็นสามัญ ก็ไม่ได้มัวคิดเกี่ยงกัน และวงการศาสนาอื่นที่มาเผยแพร่ในเมืองไทย ก็มักมาเลือกเอาคำจากภาษาบาลีไปใช้)

ถ้าต้องการปัญญา ก็ต้องเอาที่ความถูกต้อง และความถูกต้องทางปัญญานี้ก็ต้องการความหยั่งรู้ลึกลงไปถึงภูมิหลัง รากเหง้า และต้นตอด้วย

คำไทย โดยเฉพาะในระดับวิชาการของเรา เป็นคำจากภาษาบาลี ที่ใช้สืบมาในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อคนไทยเหินห่างจากการศึกษาพระพุทธศาสนา แต่เรายังใช้คำไทยเหล่านั้นอยู่ ความหมายของคำเหล่านั้นก็คลาดเคลื่อนหรือเพี้ยนออกไปไกลขึ้นๆ จนเกิดความสับสนและกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปัญญาในสังคมไทย กลายเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทย รวมทั้งในวงวิชาการไทย

คำว่า “จิต” และคำที่เกี่ยวกับจิต เป็นตัวอย่างของความพร่ามัวสับสนในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อไปสัมพันธ์กับคำศัพท์ทางวิชาการของตะวันตก เลยกลายเป็นความสับสนซับซ้อน

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ คำว่า “อารมณ์” ซึ่งเป็นคำจากบาลี หมายถึง สิ่งที่ถูกรับรู้ ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต้องกาย และเรื่องที่รู้-นึก-คิดในใจ ต่อมาในภาษาไทย คนรู้เข้าใจความหมายแคบลง กลายเป็นความรู้สึก หรือสภาพจิต จนไปคล้ายกับคำฝรั่งว่า emotion ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของจิตใจ

ทีนี้ ในวงการการศึกษาสมัยใหม่ ที่เราเล่าเรียนวิชาศึกษาศาสตร์แบบตะวันตก เมื่อพบกับ progressive education ที่เขาพูดถึง development ๔ ด้าน คือ physical, mental, emotional, social คนไทยก็ได้แปลกันมาว่า พัฒนาการ ทางกาย ทางจิตใจ ทาง อารมณ์ และทางสังคม

ถ้าวิเคราะห์ดู ก็จะเห็นปมปัญหา ๒ อย่าง คือ

๑. เกิดความซ้ำซ้อน และแคบหรือไม่เพียงพอในคำแปลภาษาไทย

๒. คำแปลภาษาไทย ไม่ตรง และไม่ครบตามคำเดิมในภาษาอังกฤษ

ในข้อ ๑. คำว่า “อารมณ์” ก็มีความหมายแคบและคลาดเคลื่อนมาก่อนขั้นหนึ่งแล้ว คือคลาดจาก sense-object และ
mind-object เพี้ยนมา เป็น emotion และเมื่ออารมณ์กลายเป็น emotion แล้วก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจิต คือสภาพจิต เช่น รัก โกรธ ฯลฯ จึงกลายเป็นว่า คำแปลว่า ทางจิตใจ กับทางอารมณ์นั้น ซ้ำซ้อนกัน

ส่วนด้านภาษาอังกฤษ เมื่อ mental มาคู่กับ emotional คำ ว่า mental หมายถึง intellectual (ซึ่งพวกนัก progressive education ก็ใช้ intellectual เป็น alternative term สำหรับ mental) เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ถูกต้อง พัฒนาการ ๔ ด้านน่าจะแปลว่า (พัฒนาการ) ทางกาย ทางปัญญา ทางจิตใจ และทางสังคม นี่ก็คือคำแปลแบบไทยขาดหายไปทางหนึ่ง ไม่ครบตามเดิมของฝรั่ง

ครั้นมาไม่นานนี้ นักวิชาการไทยบางท่าน คงจะเห็นว่า พัฒนาการ ๔ ด้านที่พูดกันมาว่า ทางกาย ทางจิตใจ ทางอารมณ์ และทางสังคม นั้นไม่เพียงพอ จึงเติมทางปัญญาเข้ามา ดังที่เคยได้ยินทางวิทยุ เป็น (พัฒนาการ) ทางกาย ทางจิตใจ ทางอารมณ์ ทางสติปัญญา และทางสังคม กลายเป็นความซ้ำซ้อนในความสับสน

หันมาพูดถึงคำว่า “จิต” ตามความหมายเดิมของตัวศัพท์ที่เป็นคำบาลี และเราเรียนมาจากพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนามองชีวิตเป็นที่ประชุมหรือประกอบขึ้นด้วยรูปธรรม และนามธรรม (พูดแบบไทยว่า กายกับใจ) แต่ถือว่าเป็นองค์รวมขององค์ร่วม ๒ อย่าง ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียว จึงเรียกเป็นคำเอกพจน์คำเดียว (แต่มี ๒ ศัพท์ประกอบกัน) ว่า “นามรูป” (บาลี เป็นเอกพจน์ว่า “นามรูปํ”)

จากองค์ร่วมหรือองค์ประกอบ ๒ อย่างนี้ ก็แยกส่วนย่อยออกไปได้หลายระดับ แล้วแต่จะต้องการความชัดเจนแง่ไหนแค่ไหนในกรณีนั้น เช่น อาจแยกเป็น ขันธ์ ๕ (กอง หรือหมวด หรือส่วนทั้ง ๕) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ในกรณีที่แยกแบบขันธ์ ๕ อย่างนี้ ด้านรูปธรรมยังพูดรวมๆ ไว้ ไม่แยกย่อย แยกย่อยเฉพาะด้านนามธรรม เป็น ๔ อย่าง คือ เวทนา (ความรู้สึกสุข-ทุกข์-ไม่สุขไม่ทุกข์) สัญญา (การจำหมาย จำได้หมายรู้ เรียกเก็บ ข้อมูล) สังขาร (กระบวนการคิดปรุงแต่ง) วิญญาณ (การรู้ต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งที่ปรากฏ)

ในการแยกแบบขันธ์ ๕ นี้ เมื่อพูดอย่างเคร่งครัด วิญญาณ ตรงกับคำว่า “จิต” ส่วนเวทนา สัญญา และสังขาร เป็นอาการและคุณสมบัติเป็นต้น ของจิต เรียกว่าเจตสิก (แปลว่า สิ่งที่เกิดร่วมกับจิต หรือส่วนประกอบของจิต) ถ้าพูดว่าด้านจิต หรือด้านจิตใจ ก็คือพูดรวมทั้ง ๔ อย่างนี้ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

มีข้อสังเกตว่า ในการแยกส่วนอย่างนี้ ปัญญารวมอยู่ในข้อสังขาร (กระบวนการคิดปรุงแต่ง) ซึ่งมีองค์ประกอบย่อยๆ มากมาย (อภิธรรมแยกเป็น ๕๐ อย่าง) คืออยู่ในด้านจิตใจที่คู่กับด้านร่างกาย

ดังนั้นจึงพูดถึงชีวิตของมนุษย์นั้นๆ ว่า มีด้านกาย กับด้านจิต หรือด้านจิตใจ

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์หรือแยกส่วนแบบนี้ เป็นการมองดูองค์ประกอบของชีวิตตามธรรมชาติของมันว่า “ชีวิต” ประกอบด้วยอะไรบ้าง เหมือนดูส่วนประกอบของรถที่จอดอยู่ คือดูตัวรถเอง

แต่ในกรณีที่เป็น “การดำเนินชีวิต” คือการบริหารและพัฒนาชีวิต เพื่อให้เป็นอยู่และดำเนินไปด้วยดีในโลก หรือท่ามกลางสิ่งแวดล้อมซึ่งชีวิตจะอยู่ได้และอยู่ดีต้องมีการเรียนรู้ (สิกขา) รวมทั้งปรับตัว และปรับปรุงตัวตลอดเวลา พุทธศาสนาแยกส่วน “การดำเนินชีวิต” นี้ ออกไปเป็น ๓ ด้าน คือ

๑. การติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยอินทรีย์ต่างๆ และกายวาจา พร้อมทั้งฝึกหัดพัฒนาปรับตัวในด้านนี้ เรียกว่า ศีล

๒. ความตั้งใจ แรงจูงใจ ความรู้สึก คุณสมบัติ และอาการความเป็นไปต่างๆ ภายในจิตใจ ที่อยู่เบื้องหลังการติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ ทั้งหมด นี้เป็นด้านจิต ซึ่งก็ต้องมีการฝึกหัดพัฒนาปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น เรียกสั้นๆ ว่า สมาธิ

ด้านจิตใจ หรือด้านที่ต้องใช้สมาธินี้ แยกย่อยโดยอนุโลมให้คนสมัยใหม่เข้าใจง่ายขึ้น เป็น ๓ ด้านย่อย คือ

๑) คุณสมบัติ หรือคุณภาพ ด้านความดี ความชั่ว กิเลส และคุณธรรมต่างๆ เช่น ความรัก ความโกรธ ความ อยากได้ ความเห็นแก่ตัว ความมีเมตตา กรุณา หิริ โอตตัปปะ ความริษยา มุทิตา ศรัทธา เป็นต้น

๒) สมรรถภาพ และประสิทธิภาพของจิตใจ เช่น ความเข้มแข็ง ความหนักแน่นมั่นคง ความเพียรพยายาม ความขยัน ความอดทน ความยับยั้งชั่งใจ การบังคับควบคุมตนได้ ความแน่วแน่ สติ สมาธิ เป็นต้น

๓) สภาพจิต หรืออาการของความสุข ความทุกข์ เช่น ความขุ่นมัวเศร้าหมอง ความเครียด ความเร่าร้อนใจ ความ ร่าเริง สดชื่น เบิกบาน ผ่องใส ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มใจ ความสุข เป็นต้น

๓. ความรู้ ความเข้าใจ การหยั่งรู้ การรู้เข้าใจสิ่งนั้นๆ ตามที่มันเป็น การมองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย โดยอาการต่างๆ เช่นว่า คืออะไร เป็นอย่างไร ประกอบด้วยอะไร เกิดจากอะไร เป็นมาอย่างไร เพราะเหตุใด สัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเหตุปัจจัยแก่กันอย่างไร มีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไร จะนำไปใช้จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร จะทำอะไรอย่างไรต่อไป เป็นต้น เรียกสั้นๆ ว่า ปัญญา

ในการวิเคราะห์หรือแยกส่วนของ “ชีวิต” แบบแรก ถือว่าปัญญาเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ประกอบอยู่กับจิตใจ

แต่ในการแยกหรือจำแนก “การดำเนินชีวิต” ปัญญาถูกแยกออกมาเป็นด้านหรือแดนหนึ่งต่างหาก เพราะปัญญาเป็นตัวเชื่อมโยงมนุษย์ให้เข้าถึงสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง หรือโลกทั้งหมด (เชื่อมต่อกับธรรมชาติทั้งหมด) รวมทั้งให้ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิตหรือการที่จะเป็นอยู่อย่างดี ซึ่งต้องมีการเรียนรู้ ปรับตัว ฝึกหัด พัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คุณสมบัติอย่างอื่นของจิตใจเป็นเรื่องของชีวิตนั้นๆ เอง ซึ่งจะต้องพัฒนาให้เป็นฐานปฏิบัติการที่ดีของปัญญา

การเป็นอยู่-ดำเนินชีวิต ทั้งหมด ทั้งด้านติดต่อสัมพันธ์กับโลกหรือสิ่งแวดล้อม เช่น พฤติกรรม การแสดงออกต่างๆ และด้านความเป็นไปของจิตใจ ต้องอาศัยปัญญาชี้นำ บอกช่องทาง และเป็นไปได้ภายในของเขตของความรู้เข้าใจหรือปัญญานั้น ต้องอาศัยปัญญามาช่วยขยายขอบเขตให้เคลื่อนไหวแสดงออก มีพฤติกรรมพูดทำอะไรๆ ได้ กว้างขวางลึกซึ้งซับซ้อนและได้ผลมากขึ้น ต้องอาศัยปัญญาเป็นตัวปรับแก้ (เช่น เห็นคนอื่นหน้าบึ้ง ไม่รู้เข้าใจ ไม่ใช้ปัญญา ก็ไม่พอใจ โกรธเขา แต่พอรู้เข้าใจว่าเขามีทุกข์มีความกังวล ปัญญามา ก็เปลี่ยนจากโกรธเป็นสงสาร) และปัญญาเป็นตัวปลดปล่อยให้เป็นอิสระ (เช่น เจออะไร ไม่รู้ว่าคืออะไร จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ก็อึดอัด ติดขัด บีบคั้น เกิดปัญหา เป็นทุกข์ แต่พอรู้ก็โล่ง ดับปัญหาพ้นทุกข์ทันที)

การเรียนรู้ ฝึกฝนปรับตัวพัฒนาตัวที่จะให้มีชีวิตอยู่อย่างดี คือสิกขา ๓ ด้าน = ไตรสิกขา นี้ ดำเนินไปด้วยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน ประสานกัน ให้ชีวิตมีคุณภาพดียิ่งขึ้น เป็นอยู่ได้ดียิ่งขึ้น รวมเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียว ชีวิตทั้งชีวิต หรือมนุษย์ทั้งคนจึงพัฒนาไปเป็นองค์รวม

การพัฒนาคนนี้ ใช้ศัพท์เฉพาะว่า “ภาวนา” เมื่อจะวัดผลการศึกษาที่เรียกว่าไตรสิกขานั้น จะแยกวัดผลตามการพัฒนาที่เรียกว่า ภาวนา ๔ ด้าน คือ

๑. พัฒนาการติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านวัตถุ เช่น ปัจจัย ๔ สิ่งของเครื่องใช้ สิ่งเสพบริโภค และสิ่งที่รับรู้ด้วยอินทรีย์ต่างๆ เรียกว่า กายภาวนา เป็นการพัฒนาด้านกาย

๒. พัฒนาการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น อยู่ร่วมกันด้วยดี เกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน เรียกว่า สีลภาวนา เป็นการพัฒนาด้านพฤติกรรมกายวาจา

๓. พัฒนาสภาพจิต แรงจูงใจ คุณธรรม คุณสมบัติต่างๆ สมรรถภาพ และความสุข ความสดชื่น ร่าเริง เบิกบานของจิตใจ เรียกว่า จิตตภาวนา เป็นการพัฒนาด้านจิต

๔. พัฒนาความรู้ความคิดความเข้าใจ เริ่มแต่การรับรู้ ดู ฟัง เป็นต้น ให้เกิดปัญญามองเห็นตามเป็นจริง คือตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน จนถึงขั้นมีความรู้เท่าทันต่อสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ทำจิตใจให้เป็นอิสระ หลุดพ้นจากกิเลส ไร้ทุกข์ และมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา เป็นการพัฒนาด้านปัญญา

ถ้าผู้ใดพัฒนาเต็มที่ทั้ง ๔ ด้านนี้แล้ว ก็เป็นภาวิตัตต์ เรียกว่า เป็นพระอรหันต์

มีจุดเน้นว่า การพัฒนาพฤติกรรมจะได้ผลดี ต้องมีการพัฒนาจิตใจเป็นฐานรองรับ จิตใจจะพัฒนาสมบูรณ์ จนมีความสุข พ้นทุกข์พ้นปัญหาได้จริง ต่อเมื่อพัฒนาปัญญาจนเกิดความเห็นแจ้งความจริง เพราะปัญญาเป็นตัวปรับแก้ และปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ ทำให้จิตลงตัวมีดุลยภาพโดยสมบูรณ์ เป็นจิตใจไร้พรมแดน (วิมริยาทิกตจิต) ถ้าจะใช้คำของตะวันตก ก็เป็นสุดยอดของ emotional intelligence และเป็น E.Q. ที่สมบูรณ์

ถ้านำหลักที่ได้อธิบายนี้ มาใช้พิจารณาความหมายที่เขียนไว้ใน “(ร่าง) กรอบความคิด ระบบสุขภาพแห่งชาติ” ที่ว่า

“สุขภาพดี คือสุขภาวะที่สมบูรณ์ และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม อย่างสมดุล ทั้งมิติทางจิตวิญญาณ (มโนธรรม) ทางสังคม ทางกาย และทางจิต”

จะเห็นว่าที่เขียนไว้นี้ก็นับว่ามองได้กว้างทีเดียว แต่ยังขาดความชัดเจนในองค์ประกอบด้านปัญญา (ปัญญาถูกนำไปแทรกไว้ในด้านจิต) การใช้คำว่า “จิตวิญญาณ” คงมุ่งให้มีความหมายเชิงปัญญาด้วย แต่ปัญญาก็ไม่ออกมาชัดเจน และไปซ้ำซ้อนกับคำว่า “ทางจิต” ที่มีอยู่ท้ายสุดอีกด้วย

ปัญญานั้นขาดไม่ได้สำหรับการที่จะมีสุขภาพดี คนยิ่งด้อยปัญญา ก็ยิ่งมีโอกาสน้อยลงที่จะมีสุขภาพดี เพราะแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้ามีปัญญาน้อย การมีสุขภาพดีจะเป็นแบบพึ่งพา ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาก ถ้ามีปัญญาแท้จริง ก็จะเป็นอิสระ และมีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ (spirituality ก็ดีมาก แต่ไม่เป็นหลักประกันให้มีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ บางที่กลับทำให้มีปัญหาทางจิตลึกๆ)

ถ้าเปลี่ยนคำว่า “ทางจิตวิญญาณ” เป็น “ทางปัญญา” หรือ ถ้าไม่ใช้คำตรงอย่างนั้น จะใช้คำอื่นที่หมายถึงปัญญาก็ได้ ก็จะชัดเจนลงไปและครบถ้วนสมบูรณ์ (ส่วนคำว่า “มโนธรรม” คงไม่จำเป็น แต่ถ้าจะคงไว้ ก็อาจจะเขียนไว้เป็นคำอธิบายส่วนหนึ่ง ของ “ทางจิต”)

ขอวิจารณ์เพิ่มอีกนิดว่า คำว่า “ทางสังคม” น่าจะต้องให้ความหมาย ที่ครอบคลุมเรื่องศีลธรรมด้วย (จะเห็นว่าของพระ คำว่า “ทางสังคม” ท่านใช้ว่า “ด้านศีล” จึงเป็น ๔ คือ ทางกาย ทางศีล ทางจิต ทางปัญญา)

อาตมาเขียนมายืดยาวมากไปเสียแล้ว ควรจะพอเท่านี้ แต่ก่อนจะขอจบ

สรุปข้อสังเกต บางประการ ดังนี้

๑. เท่าที่ได้ยินได้ฟังและอ่านผ่านมา เห็นว่า คำว่า “จิตวิญญาณ” ยังเป็นคำประเภทช่วยเสริมความรู้สึกให้หนักแน่น มากกว่าจะเป็นคำที่มีความหมายของตัวมันเอง

๒. ความหมายของคำ “จิตวิญญาณ” ที่ใช้กันอยู่ เห็นได้ว่ายังใช้ต่างๆ กันไม่ลงตัว ลองดูหนังสือพิมพ์เพียง ๓-๔ วัน ผู้เขียนบางคอลัมน์ใช้ในความหมายว่า จิตสำนึก หรือความรู้ดีรู้ชั่ว บางท่านใช้ในความหมายว่าแก่นแท้สาระ (เช่นในคำว่า จิตวิญญาณของจังหวัดลพบุรี) คล้ายกับที่เคยใช้คำว่า ชีวิตจิตใจบ้าง วิญญาณโดดๆ บ้าง บางท่านใช้ในความหมายว่าเป็นเรื่องทางด้านผีสางและฤทธิ์ปาฏิหาริย์บ้าง

๓. ในขณะที่มีการใช้ในความหมายต่างๆ กันอย่างนี้ คำว่า “จิตวิญญาณ” เองก็ไม่มีความหมายเดิมที่จะเป็นหลัก หรือเป็นฐานที่จะตัดสินหรือจำกัดให้ลงตัวได้ เพราะ “จิตวิญญาณ” เองก็เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ใหม่ด้วยเช่นกัน

๔. ทางแก้ไขคือ ต้องมีสถาบันหรือองค์กรที่ยอมรับเป็นทางการ เช่น ราชบัณฑิตยสถาน กำหนดความหมายให้ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการบัญญัติความหมายเป็นทางการอย่างที่ว่านั้น

๕. ในการบัญญัติความหมายเช่นนั้น วิธีหนึ่งที่อาจทำได้คือ กำหนดให้ “จิตวิญญาณ” เป็นคำแปลภาษาไทยของคำภาษาอังกฤษว่า spiritual และ spirituality

เหมือนอย่างที่เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน ได้มีการบัญญัติคำว่า “จริยธรรม” ขึ้นมาให้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า “ethic” และยึดถือความหมายตามคำภาษาอังกฤษนั้นเป็นฐานหรือเป็นหลักตัดสิน

๖. อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ คนไทยและภาษาไทยน่าจะมีถ้อยคำของตัวเอง พร้อมทั้งแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำนั้น อยู่ในรากฐานทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาของตนเพียงพอ จึงไม่น่าจะจำเป็นต้องไปเอาคำฝรั่งมาเป็นหลัก

๗. อีกประการหนึ่ง คำว่า spiritual เอง ถ้ามองจากฐานทางความคิดของเรา ก็เห็นได้ว่า ยังเป็นคำที่เสี่ยงหรือกำกึ่ง เช่น อาจเป็นการไปเอียงสุดตรงข้ามกับ material

อย่างพวกฤาษีชีไพร ไปอยู่ป่ากินเผือกกินมัน ตัดขาดจากสังคม เล่นฌานกีฬากัน ก็เป็นเรื่อง spiritual ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นชอบด้วย

แม้แต่ฝรั่งเอง ที่ศาสนาของเขาหนักไปทาง faith หรือศรัทธา บางคราวก็จะดื่มดำลงไปทาง spiritual มาก และไปๆ มาๆ พวกลงลึกทาง spiritual แบบนี้ก็ทำสงครามศาสนากัน ซึ่งเราก็ถือว่าเป็นปัญหาทางจิตอย่างหนึ่ง

พระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับด้าน spiritual ที่ดื่มด่ำในทาง faith เกินไป จึงให้เอาปัญญามาเป็นตัวแก้อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งถือว่าเรื่องจิตใจจะขาดปัญญาไม่ได้ (ถ้าใช้คำของคนสมัยนี้ ก็ว่า ต้องเอาปัญญามาปรับแก้อารมณ์ อีกทีหนึ่ง จึงจะปลอดภัยและปลอดพ้นจริง)

๔. ถ้าว่ากันให้ถึงศัพท์จริงๆ เรื่อง spiritual ก็อยู่ในขอบเขตของจิตนั่นเอง เพียงแต่เรารู้สึกว่า คำว่า “จิต” และแม้แต่ “จิตใจ” เดี๋ยวนี้ให้ความรู้สึกไม่หนักแน่นพอ ก็เลยหาคำเช่น “จิตวิญญาณ” นี้มาพูดให้จับจิตถึงใจมากขึ้น

พอใช้เป็นทางการหรือเป็นเรื่องวิชาการ ถ้านำคำว่า “จิต” กับ “จิตวิญญาณ” มาไว้ด้วยกัน ก็เลยไม่มีทางที่จะให้ความหมายแยกกันจริงๆ ได้ ก็ต้องก่าย-เกย-คาบเกี่ยว-ซ้อนกันอยู่นั่นเอง ซึ่งที่จริง “จิตวิญญาณ” ก็มีความหมายที่รวมอยู่ในคำว่า “จิต” นั่นเอง

๙. ตามความหมายที่ สปรส. เขียนไว้ใน (ร่าง) ก็เห็นได้ว่า ความหมายของ “จิตวิญญาณ” เองยังไม่ชัด ดังที่มีคำว่ามโนธรรมรวมอยู่ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นคนละความหมาย และยังมีคำอธิบายที่ซ้ำซ้อนเกยกันกับความหมายของ “จิต” ที่นำมาเขียนไว้เป็นต่างข้อในชุดเดียวกัน

ข้อสังเกตนี้ก็คงมาลงที่คำพูดข้างต้นว่า คำว่า “จิตวิญญาณ” เป็นคำประเภทเสริมความรู้สึกให้หนักแน่น ซึ่งในแง่นี้ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งในทางภาษา ถ้าใช้ในขอบเขตที่เหมาะสม (เช่น ใช้เป็นภาษาพูด แต่ใช้เป็นภาษาทางการไม่ได้ เป็นต้น)

อาตมาเขียนตอบมาอย่างที่ว่าอาจจะยืดยาวเกินไปเสียแล้ว จึงขอโอกาสจบ และขออนุโมทนาคุณหมอ ไว้ ณ ที่นี้

ขอเจริญพรโดยสาราณียธรรม
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)

No Comments

Comments are closed.