- กล่าวนำ
- งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข
- ทำงานคือทำสัมมาชีพ ทำสัมมาชีพคือทำชีวิตและสังคมให้พัฒนา
- ต้องการผลตอบแทน สุขไม่มาจนกว่าได้เงิน ต้องการผลของตัวงาน สุขงอกงามไปกับการทำงาน
- ทำถูกกฎธรรมชาติ: งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข ทำแค่กฎมนุษย์: งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์
- มนุษย์สร้างอารยธรรมเจริญขึ้นไป แต่รักษาฐานเดิมในธรรมชาติไว้ไม่ได้
- สูตรหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ : สังคมยิ่งพัฒนา คนยิ่งฆ่าตัวตาย
- งานจะเสียฐาน ถ้าคนเสียต้นทุนแห่งความสุข ๓ ประการ ธรรมเป็นแกนประสานให้ทุกอย่างลงตัวบังเกิดผลดีทุกประการ
- สูตรหนึ่งของธรรมชาติ: คนยิ่งพัฒนาตน สังคมยิ่งพ้นปัญหา
- ถ้ามองวัตถุเสพเป็นจุดหมาย การทำงานก็กลายเป็นความทุกข์ ถ้ามองวัตถุเสพเป็นปัจจัย งานยิ่งได้ผลคนยิ่งเป็นสุข
- ถ้าพัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาเสพ จะต้องสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
- ต้องรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ จึงจะพัฒนาความสุขต่อไปได้
- สันโดษ พัฒนาคนให้พ้นจากสุขด้วยเสพ ขึ้นสู่สุขจากการทำงานสร้างสรรค์
- ไม่สันโดษมาขานรับกับสันโดษเมื่อใด เมื่อนั้นเมืองไทยจะก้าวไกลในการพัฒนา
- วัดความสำเร็จที่ไหน? ได้กำไรสูงสุด หรือช่วยให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่ดี
- เปลี่ยน “อยากได้” เป็น “อยากทำ” คือจุดเริ่มที่จะนำสู่ความสำเร็จ
- สัมพันธ์กับคน ให้ได้ผลแก่งาน
- ความสัมพันธ์จะได้ผลสมบูรณ์ ต้องรักษาดุลทั้งในใจและในสังคม
- จะประสานงาน ต้องประสานคน ให้อยู่ในเอกภาพ และสามัคคี
- งานจะบรรลุจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้ เมื่อคนสุขในการสร้างสรรค์และทำให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข
ทำถูกกฎธรรมชาติ: งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
ทำแค่กฎมนุษย์: งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์
มนุษย์มักจะหลงในเรื่องนี้ คือเรื่องกฎ ๒ ชั้น หรือความจริง ๒ ชั้น ในเรื่องคนทำสวน มีความจริงซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น
ชั้นที่ ๑ คือ กฎธรรมชาติ ได้แก่ความเป็นจริงตามเหตุผลของธรรมชาติว่า “การทำสวนเป็นเหตุ การงอกงามของต้นไม้เป็นผล”
ชั้นที่ ๒ คือ กฎมนุษย์ ที่คนเรามาตกลงวางกันขึ้นเป็นเงื่อนไขว่า “การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือนเป็นผล” กฎมนุษย์นี้ เรียกว่าเป็นกฎสมมติ
สมมติ แปลว่า มติร่วมกัน มาจากคำว่า สํ+มติ สํ แปลว่า ร่วมกัน มติ แปลว่า การยอมรับ หรือตกลง สมมติจึงแปลว่า มติหรือการยอมรับหรือข้อตกลงร่วมกัน หมายความว่า กฎมนุษย์ตั้งอยู่บนสมมติ หรือตั้งอยู่บนการตกลงยอมรับร่วมกัน ถ้าไม่มีสมมติกฎมนุษย์ก็หายไปเลย การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล ต้องมีสมมติรองรับ ถ้าไม่มีมติร่วมกัน หรือไม่มีการยอมรับร่วมกัน กฎนี้ก็ไม่มี กฎจะหายไปทันที ถ้าคนไม่ยอมรับ คุณไปทำสวน ๑ เดือน เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทก็ไม่มี เพราะโดยธรรมชาติ ทำสวนแล้วเงินจะเกิดขึ้นมา มีที่ไหนในโลก โดยธรรมชาติไม่มี มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ตกลงกันกำหนดขึ้น
มนุษย์มีอารยธรรม มีความสามารถในการสมมติ การสมมติได้นี้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ แต่ในการสมมตินั้นเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ผลตามกฎธรรมชาติ การที่เขาสมมติว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนั้น ที่จริงเขาต้องการอะไร ตอบได้ชัดเจนว่าเขาต้องการผลตามกฎธรรมชาติ คือต้องการให้มีคนมาทำสวนแล้วต้นไม้จะได้เจริญงอกงาม ตราบใดที่เรายังสามารถโยงกฎ ๒ อย่าง คือกฎสมมติของมนุษย์กับกฎแท้จริงของธรรมชาติให้ถึงกันได้ ตราบนั้นก็ไม่มีปัญหา และจะได้ผลดีแก่โลกมนุษย์ด้วย
เราตั้งกฎมนุษย์โดยสมมติ คือตกลงกันว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ก็เพื่อว่า จะได้มีการทำสวนอย่างจริงจังเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ได้ผลตามเหตุผลของกฎธรรมชาติว่าต้นไม้จะได้เจริญงอกงาม ถ้าคนทำสวนมาทำสวนโดยต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เขาไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ เขาก็ทำสวนโดยรักต้นไม้ อยากทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม เมื่ออยากให้ต้นไม้เจริญงอกงามแล้ว เขาก็ตั้งใจทำงานอย่างดี เมื่อทำงานที่สนองความต้องการ เขาก็จะมีความสุขในการทำงาน พร้อมกันนั้น กฎมนุษย์ที่ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็มาช่วยสนับสนุนให้เขาตั้งหน้าตั้งตาทำสวนไปได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัจจัยยังชีพ เขาก็ทำงานได้เต็มที่ โดยมีความสุขเต็มที่ เรียกว่า “งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข”
แต่ทีนี้มันมีปัญหาก็คือว่า มนุษย์เกิดความแปลกแยกกับกฎธรรมชาติ พอเกิดความแปลกแยกแล้วก็มาติดอยู่แค่สมมติ เขาก็เอาแค่ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เมื่อเขาไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เขาก็คิดถึงการที่จะได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท อย่างเดียว เมื่อไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ก็รอแต่เงินว่า เมื่อไรจะมา ใจไม่อยู่กับงานที่ทำ การทำสวนกลายเป็นการที่ต้องทำและจึงเป็นความทุกข์ทรมาน เวลาแต่ละขณะที่ผ่านไปเป็นเวลาแห่งการรอคอย และเพราะมันทำให้เขาต้องรอนานกว่าจะได้เงิน ระหว่างนั้น เวลาแต่ละขณะที่ผ่านไป กลายเป็นเวลาแห่งการรอคอยที่ตนเองจะต้องจำใจทนอยู่กับการทำงาน ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเลย การทำสวนจึงทำให้เขาทรมาน ทำให้เกิดความทุกข์ตลอดเวลา
เมื่อทุกข์ใจเขาก็ไม่ตั้งใจทำ เมื่อไม่เต็มใจทำ งานก็ไม่ได้ผลดี ก็เลยแย่ไปด้วยกัน ชีวิตของเขาเองก็ทุกข์ทรมาน และสังคมก็เสียประโยชน์ เพราะงานก็ไม่ดี เรียกว่า “งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์” นี่คือ ความบกพร่องในสังคมมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์เมื่อเจริญด้วยอารยธรรมขึ้นมาแล้ว กลับไปหลงติดในสมมติที่ตนเองสร้างขึ้นมา แล้วก็แปลกแยกจากธรรมชาติ จึงทำให้ตัวเองสูญเสียและสังคมก็เดือดร้อนด้วย
No Comments
Comments are closed.