ครอบครัว คือชะตาของสังคม พ่อแม่ คือผู้สร้างอนาคตของโลก

16 กุมภาพันธ์ 2544
เป็นตอนที่ 13 จาก 16 ตอนของ

ครอบครัว คือชะตาของสังคม
พ่อแม่ คือผู้สร้างอนาคตของโลก

คุณธรรม ๔ อย่างนี้ เรียกว่า ฆราวาสธรรม คือธรรมสำหรับการครองเรือน ซึ่งจะทำให้ชีวิตคู่ครองเจริญมั่นคงและมีความสุข

นอกจากมีความสุขในครอบครัวแล้ว ก็จะแผ่ความสุขไปให้แก่สังคม เป็นส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ เพราะเรามองว่า ครอบครัวนี้ไม่ใช่แค่ชีวิตของคนภายในเริ่มแต่สามีภรรยา แล้วก็ไม่ใช่รวมทั้งลูกเท่านั้น แต่ครอบครัวนี้เป็นสังคมย่อย หรือเป็นฐานของสังคมทั้งหมด

สังคมทั้งหมดมาจากครอบครัว ถ้าแต่ละครอบครัวดีแล้ว สังคมของเราก็จะดี เมื่อมองในแง่นี้ครอบครัวจึงสำคัญมาก

เราต้องการให้สังคมประเทศชาติของเราเจริญมั่นคง มีความร่มเย็นเป็นสุข ก็ทำได้โดยทำครอบครัวแต่ละครอบครัวนี้ให้ดี

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นนักเรื่องหน้าที่ของพ่อบ้าน แม่บ้าน โดยเฉพาะเมื่อเป็นบิดา มารดา เพราะเป็นผู้ที่จะสร้างโลก คือสังคมมนุษย์ทุกระดับ ต้องมี “พรหมวิหาร” คือ ธรรมประจำใจของพระพรหม

พระพรหมในศาสนาพราหมณ์นั้น เขาถือว่าเป็นผู้สร้างโลก แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าไม่ต้องไปรอพระพรหม ที่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก คนนี่แหละเป็นผู้สร้างโลก แล้วโดยเฉพาะคนที่สำคัญ ก็คือบิดามารดาเป็นผู้สร้างโลก เพราะโลกจะเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่จุดเริ่มตั้งแต่สร้างครอบครัวให้ดี ถ้าสร้างครอบครัวดีแล้วเราจะได้สังคมที่ดี แล้วโลกนี้จะร่มเย็นเป็นสุข

โลกของมนุษย์ ก็คือสังคมมนุษย์นี่เอง และโลกคือสังคมมนุษย์นั้น ก็เกิดจากการสร้างของมนุษย์เอง

มนุษย์ที่ดี ก็จะสร้างโลกที่ดี สร้างสังคมที่ดี สังคมที่ดีก็มาจากครอบครัวที่ดี เพราะฉะนั้น จึงต้องมองให้ถึงความหมายนี้ด้วย

การเริ่มชีวิตสมรส ก็คือการเริ่มต้นทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์โลกนี้ ซึ่งเป็นการเริ่มความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญ คือการที่จะต้องสร้างครอบครัวที่ดีงาม มีความสุขความมั่นคงขึ้นให้ได้ เหมือนกับมันท้าทายเราอยู่ในบัดนี้แล้วว่า ทั้งสองคนนี้จะต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่า การสมรสนี้ไม่ใช่เป็นการมามีชีวิตคู่ครองเท่านั้น แต่หมายถึงการได้มารวมกำลังกันในการทำการสร้างสรรค์ เช่น สร้างสังคม เป็นต้น หรือเราอาจจะมีจุดหมายที่ดีงามอื่นๆ เราก็มารวมกำลังร่วมกันทำ

ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จิตใจของเราจะมองกว้าง มองไกล ไม่ใช่มองกันอยู่แค่ชีวิตของสองคน แล้วก็อาจจะมัวเกี่ยงกันว่า ใครจะได้แค่ไหน ใครจะเสียเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อย อย่ามัวคิดเลย

ควรคิดแต่ว่า ทำอย่างไรเราสองคนจะมารวมกำลังกันทำการสร้างสรรค์เพื่อจุดหมายที่ดี เพื่อชีวิต เพื่อสังคม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เสียสละได้ มีน้ำใจต่อกัน ครอบครัวจึงจะสุขสันต์ยั่งยืนชีวิตคือ การศึกษา มนุษย์ฝึกฝนพัฒนาจึงประเสริฐ >>

No Comments

Comments are closed.