ชีวิตสมรสเริ่มด้วยรัก แล้วเดินหน้ากว้างออกไป ไม่ใช่ถอยหลังลงมาทวงสิทธิกัน

16 กุมภาพันธ์ 2544
เป็นตอนที่ 7 จาก 16 ตอนของ

ชีวิตสมรสเริ่มด้วยรัก แล้วเดินหน้ากว้างออกไป
ไม่ใช่ถอยหลังลงมาทวงสิทธิกัน

อย่างที่พระสอนไว้ให้มีการศึกษาพัฒนาตัวเองนั้น ก็เป็นการพัฒนาไปสู่ความหมดตัว

“หมดตัว” นั้นมีความหมาย ๒ อย่าง หมดตัวในแง่หนึ่งก็คือ หมดทรัพย์ เงินทองไม่มีเหลือ ไม่มีจะใช้ อย่างนี้ก็หมดตัว

แต่หมดตัวอีกอย่างหนึ่ง หมายความว่า หมดความยึดถือในตัวตน

จุดหมายของการพัฒนาชีวิตของคนเราในทางพระศาสนานั้น มุ่งให้พัฒนาไปจนกระทั่งหมดความเห็นแก่ตัว และหมดความยึดถือในตัวตน เพราะฉะนั้น พระอรหันต์อย่างพระพุทธเจ้าจึงทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ โดยไม่มีอะไรจะต้องเอาเพื่อตัวเอง

แต่ที่จริงก็คือ ตัวเองนั้นมีความสมบูรณ์ มีความสุข มีชีวิตที่เต็มเปี่ยมแล้ว จึงไม่ต้องคำนึงถึงตัวเอง ท่านเรียกว่า ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองต่อไป จึงสามารถเดินทางไป จาริกไป นอนกลางดินกินกลางทรายอย่างไรก็ได้

นึกถึงแต่ว่า เออ คนนั้นมีความทุกข์อันนี้ คนนั้นควรจะได้ประโยชน์นี้ ควรจะได้รู้หลักธรรมนี้ คิดแล้วก็เดินทางไปเพื่อช่วยเขา ไปสอนเขา และเมื่อทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะเสียสิทธิเสียอะไร และก็มีความสุขที่จะทำอย่างนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น การคำนึงในเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ ถ้ามากไป อาจจะเป็นสุดโต่งไปข้างหนึ่งก็ได้ ซึ่งมนุษย์จะต้องระวัง คือต้องวางท่าทีให้ถูกต้อง คล้ายๆ ว่ามันเป็นหลักประกันของสังคมในขั้นเบื้องต้นหรือพื้นฐาน แต่มันไม่ใช่เป็นเครื่องหมายของสังคมที่ดี

สังคมที่ดีจะต้องเจริญงอกงามสูงขึ้นไปกว่านั้น คือ อยู่กันไม่ใช่เพียงแค่รักษาสิทธิ แต่ให้ได้เหนือกว่านั้น คือให้เป็นสังคมของความดีงามและคุณธรรม แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะละทิ้งมัน เราก็ต้องมีไว้ด้วย

อย่างที่ว่าแล้ว สิทธิมนุษยชนนี้มีไว้เป็นหลักประกันพื้นฐาน จะได้มีขีดขั้น เหมือนเป็นเกณฑ์อย่างต่ำ เช่น เมื่อคนหนึ่งรัก ทำให้ทุกอย่าง ยอมเสียสละเต็มที่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมีแต่เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีน้ำใจเลย ไม่เห็นอกเห็นใจ ปล่อยให้เขาคับแค้นทุกข์ยาก ถ้าอย่างนี้ สิทธิมนุษยชนก็จะช่วย คือเอาไว้ป้องกันคนที่ไม่มีอารยธรรม

แต่คนที่มีอารยธรรม จะก้าวเลยขั้นของการเรียกร้องสิทธิ ไปถึงขั้นให้ความสุขแก่กัน

ที่พูดนี้ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องมาประสานกับเรื่องความหมายของความรักอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเรามีแต่ความรักประเภทที่ว่าอยากได้เพื่อให้ตัวเองเป็นสุข ก็จะต้องพูดกันมากในเรื่องสิทธิ ว่าการได้ตามสิทธิของเขา กับสิทธิของเรา จะเสมอภาคกันไหม ซึ่งเมื่อมองในแง่หนึ่งก็จะเป็นไปเพื่อการเกี่ยง การแก่งแย่ง การเพ่งจ้องระแวง แล้วก็มีความขัดแย้งกันได้ง่าย

แต่ถ้าเมื่อไรใจเรามีความรักอีกประเภทหนึ่ง คือความอยากให้เขาเป็นสุข ตอนนี้เราไม่คำนึงถึงตัวเองแล้ว มีแต่คิดว่า ทำอย่างไรเขาจะเป็นสุขได้ เราก็จะพยายามทำเพื่ออย่างนั้น

ถ้าอย่างนี้ ก็จะได้ความมีน้ำใจ และความสดชื่น มีชีวิตชีวา ไม่แห้งแล้ง แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเรียกร้องสิทธิ ก็แห้งแล้งแน่นอน

การที่แต่งงาน มาเป็นคู่ครองกันนั้น แน่ชัดอยู่แล้วว่า ไม่ใช่เป็นความคิดที่จะเกี่ยงจะแย่ง แต่เป็นความตั้งใจ และเป็นความเต็มใจที่จะมาร่วมกัน ร่วมแรงกัน ร่วมมือ ร่วมใจกัน จะมาให้แก่กัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สิทธิมนุษยชนเป็นหลักประกันเบื้องต้น แต่ไม่พอที่จะให้บรรลุจุดหมายของมนุษย์ถ้าก้าวหน้าไปในความรัก ชีวิตสมรสก็จะเป็นชีวิตแห่งการสร้างสรรค์ >>

No Comments

Comments are closed.