ความสัมพันธ์จะได้ผลสมบูรณ์ ต้องรักษาดุลทั้งในใจและในสังคม

3 เมษายน 2539
เป็นตอนที่ 18 จาก 20 ตอนของ

ความสัมพันธ์จะได้ผลสมบูรณ์
ต้องรักษาดุลทั้งในใจและในสังคม

ก่อนที่จะพูดถึงสถานการณ์ที่ ๔ นี้ ขอทำความเข้าใจทั่วไปก่อนว่า ที่ท่านสอนให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา นี้เป็นการมุ่งที่จะให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี มีการช่วยเหลือกัน มีความสัมพันธ์และความรู้สึกที่ดีต่อกัน นี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ถ้ามนุษย์มี ๓ ข้อนี้เราก็อยู่ร่วมกันด้วยดี เขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตาเป็นมิตร เขาตกต่ำเดือดร้อน เราก็กรุณาช่วยเหลือเขา เมื่อเขาประสบความสำเร็จทำดีทำได้เราก็มีมุทิตาพลอยยินดีด้วยช่วยส่งเสริมสนับสนุน อย่างนี้ก็เรียกว่ามีความสัมพันธ์ที่ดี อยู่ร่วมกันด้วยดี

อย่างไรก็ดี โลกหรือสังคมมนุษย์นี้ ลำพังเพียงแต่ว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กันดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันดีเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะอยู่ได้ด้วยดี เพราะว่าเบื้องหลังโลกหรือสังคมมนุษย์นี้ ยังมีสิ่งที่เป็นฐานรองรับอยู่อีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่รองรับโลก หรือสังคมมนุษย์ไว้ ก็คือ “ธรรม” อันได้แก่หลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และความเป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย นี่คือโลกของมนุษย์นี้ยังต้องขึ้นอยู่กับกฎของธรรมชาติ โลกมนุษย์มิใช่จะอยู่ได้ลอยตัวเป็นอิสระ

แม้มนุษย์จะมีความสัมพันธ์กันดี ช่วยเหลือกันดี แต่ถ้ามนุษย์ไม่รักษาธรรม ไม่รักษาหลักความจริง ความดีงาม ความถูกต้องตามเหตุและผลของกฎธรรมชาติ โลกมนุษย์นี้เองก็จะวิบัติ เพราะฉะนั้น จะต้องไม่หลงลืมว่า นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหมู่มนุษย์แล้ว มนุษย์จะต้องไม่ทำลายหลักการแห่งความจริง ความดีงาม และความถูกต้องตามเหตุผล ที่เรียกว่าธรรมนั้น มนุษย์จะต้องรักษาหลักการคือธรรมนี้ไว้ อันนี้คือ สถานการณ์ที่ ๔

เป็นอันว่า สถานการณ์ที่ ๔ คือ เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าข้อ ๑ ก็ตาม ข้อ ๒ ก็ตาม ข้อ ๓ ก็ตาม จะส่งผลกระทบ เสียหาย ละเมิด หรือทำลายธรรม คือหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ความจริง ความถูกต้องดีงาม ความเป็นธรรม ชอบธรรม ความตรงตามเหตุผล เมื่อนั้นความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นจะต้องหยุด นี่คือ อุเบกขา

“อุเบกขา” จึงหมายถึง การวางตัวเป็นกลางตามธรรม โดยเฉยต่อคนนั้น บอกว่าฉันไม่เอาด้วยกับคุณละนะ ฉันจะต้องทำตามธรรม ถ้าฉันช่วยคุณ ฉันก็กลายเป็นคนที่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรม อุเบกขาเพื่อไม่ก้าวก่ายธรรม เพื่อให้ธรรมอยู่ได้ เพราะธรรมนี้รักษาสังคม ถ้าฉันไม่รักษาธรรม สังคมนี้ก็จะเซจะล่มไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นฉันต้องหยุด แล้วทีนี้ก็จัดการว่ากันไปตามธรรม คือตามความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หลักการ กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย ว่าอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น

เหมือนอย่างพระสงฆ์มีกฎ มีบัญญัติ มีวินัย เมื่อมีใครทำผิด เข้าสู่ที่ประชุม ที่ประชุมบอกว่าต้องทำไปตามหลักการ กฎ กติกา ท่านผู้นี้ทำความผิด ต้องถูกลงโทษ แต่ที่ลงโทษนี้ไม่มีใครลงโทษท่านนะ ภาษาพระใช้ว่า หลักการคือตัว “ธรรม” ลงโทษท่าน ไม่มีใครลงโทษหรอก ทุกองค์ยังมีเมตตาตามปกติ ทุกท่านในที่ประชุมมีความรักความปรารถนาดีต่อท่าน แต่เราปฏิบัติไปตามหลักการ พวกเราเป็นเพียงกระบอกเสียงของธรรม เป็นเพียงปากหรือเป็นช่องทางแสดงตัวให้กับธรรมเท่านั้น ผู้ที่ทำหน้าที่คือธรรม

ธรรมจะมาทำหน้าที่เองไม่ได้ ก็เลยต้องอาศัยที่ประชุม ผู้ตัดสิน หรือบุคคล เช่น ผู้พิพากษาเป็นทางผ่าน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าธรรมลงโทษเขา คือตัวหลักการลงโทษเขา ไม่ใช่ใครคนไหนลงโทษทั้งสิ้น นี้คือข้อ ๔ อุเบกขา

เป็นอันว่าขอย้ำอีกทีว่า สถานการณ์ที่ ๔ คือ สถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าในทางใด จะไปละเมิดทำความเสียหายต่อธรรม คือหลักการ จึงต้องมีอุเบกขา คือหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้น เพื่อไม่แทรกแซงก้าวก่ายตัวธรรม และจะได้รักษาหลักการ กฎเกณฑ์กติกาไว้ให้มีผลตามเหตุของมัน

หลักการนี้จัดเป็น ๒ ชั้น คือ

๑. หลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้องชอบธรรมตามธรรมชาติ

๒. หลักการของมนุษย์ ที่เราบัญญัติจัดตั้งขึ้นเป็นกฎ เป็นกติกาสังคม เป็นกฎหมาย เป็นวินัยของชุมชน เป็นระเบียบของโรงพยาบาล เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ อุเบกขามารักษาคุมหมด เพราะฉะนั้น ๔ ข้อจึงย่อเหลือ ๒ ฝ่ายคือ

– ๓ ข้อแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคน และ

– ข้อ ๔ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในกรณีที่เกี่ยวกับธรรม หรือพูดสั้นๆ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมหรือหลักการ

ข้อ ๔ คืออุเบกขา ข้อสุดท้ายนี้คุมทุกอย่างให้อยู่ในดุลยภาพ เป็นตัวรักษาขั้นสุดท้ายให้สังคมนี้อยู่ได้

สังคมที่เสียหลัก คือสังคมที่เอาแต่เพียงข้างใดข้างหนึ่ง ดังจะเห็นว่า บางสังคมก็เอียงไปในข้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล บางสังคมก็เอียงไปในแง่รักษาหลักการอย่างเดียว ไม่เอากับคนเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นสังคมก็เสียดุล แล้วก็จะเกิดผลร้าย

ในสังคมที่เสียหลัก ซึ่งหนักไปในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนก็จะช่วยเหลือกันจนกระทั่งหลงลืมมองข้ามหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ลงจะช่วยกันแล้ว ก็เอาความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นใหญ่ กฎเกณฑ์ กติกา ไม่เอาทั้งนั้น ทำลายได้หมด นี่เป็นผลเสียอย่างแรก

ผลเสียอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้คนหวังพึ่งผู้อื่น เพราะว่าเมื่อคนมีเมตตา กรุณา พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน คนที่ตกต่ำเดือดร้อน ประสบเหตุการณ์ร้าย แร้นแค้นขาดแคลน ก็หวังว่าจะพึ่งเพื่อนคนนั้นได้ ผู้ใหญ่คนนี้ได้ ญาติคนโน้นได้ แล้วความหวังพึ่งนั้น ก็จะทำให้ไม่ดิ้นรนขวนขวาย กลายเป็นคนอ่อนแอ และตกอยู่ในความประมาท ไม่รู้จักฝึกตนขึ้นไปให้เป็นคนผู้มีตนที่พึ่งได้ แล้วก็พึ่งตนเองไม่ได้ ทำให้สังคมอ่อนแอ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเอาข้อ ๔ มาดุล มาคุมไว้อีกทีหนึ่ง คนจะได้รู้จักเหตุผล มีความรับผิดชอบ

อุเบกขารักษาดุลช่วยให้เกิดความพอดี คือคุมไว้ วางขอบเขตไว้ว่า การช่วยเหลือกันหรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะต้องไม่ให้เสียธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเป็นธรรม หรือความชอบธรรม ไม่ให้เป็นการละเมิดทำลายหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย เป็นต้น ที่เป็นมาตรฐานรองรับสังคมมนุษย์ไว้ และการช่วยเหลือกันนั้นจะต้องเป็นการชอบด้วยเหตุผลหรือสมเหตุผล หรือช่วยอย่างมีเหตุผล มิใช่ช่วยเรื่อยเปื่อยจนทำให้เขากลายเป็นคนอ่อนแอ เกียจคร้าน เฉื่อยชา เสียนิสัย ไม่รู้จักพึ่งตัวเอง

พูดอีกทีว่า อุเบกขาคุมการช่วยเหลือกันของคนไว้ในขอบเขตของะรรม ทำให้คนรู้จักฝึกตัวเองให้เป็นคนผู้มีตนที่พึ่งได้ แล้วก็พึ่งตนเองได้ ไม่ให้ช่วยกันจนคนกลายเป็นนักรอรับความช่วยเหลือ ช่วยให้เขาเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่ช่วยให้เขาอ่อนแอลง และอีกด้านหนึ่งก็ ทำให้คนได้รับการปฏิบัติจัดการให้เข้าอยู่ในธรรมโดยคนด้วยกัน ไม่ต้องไปทำร้ายแก้แค้นกัน เป็นต้น

ในการเลี้ยงลูกก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่เอาแต่ ๓ ข้อแรก ลูกจะไม่โต ถ้ามีอะไรที่ลูกจะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของตน รับผิดชอบต่อสังคม และรับผิดชอบต่อความเป็นจริงของโลกและชีวิต ซึ่งเขาจะต้องเผชิญในอนาคต พ่อแม่จะต้องฝึกเขาไว้ เช่นว่า มีอะไรที่เด็กจะต้องหัดทำให้เป็นเพื่อให้สามารถรับผิดชอบชีวิตของตนได้ต่อไป ก็ต้องใช้อุเบกขา เป็นแค่ที่ปรึกษา คือดู-บอกให้เขาหัดทำ ให้ทำเองเป็น ไม่ใช่เอาแต่เมตตากรุณาแล้วไปทำแทนให้หมด จนลูกไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนในสังคมที่หนักไปทางอุเบกขา เอาแต่กฎกติกาหลักการอย่างเดียว ไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างคนเลย ก็จะเกิดผลเสียคือคนไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้สังคมแห้งแล้ง ขาดความอบอุ่น เครียด แต่ก็มีผลพลอยได้ที่ดี คือ เมื่อตัวใครตัวมัน หวังพึ่งกันไม่ได้ ก็บีบให้คนต้องดิ้นรนขวนขวาย ถ้าไม่ดิ้นก็ตาย ทำให้เป็นคนเข้มแข็ง

สังคมฝรั่งเป็นตัวอย่างของสังคมที่เอียงข้างอุเบกขา เขาเฉย เขาไม่เอาด้วย คุณจะทำอะไร ทำไป อย่าละเมิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์กติกาก็แล้วกัน ทำไปเถิด แต่ถ้าละเมิดผิดกฎเมื่อไร ให้กฎหมายจัดการเลย อย่างนี้เรียกว่าสังคมอุเบกขา ก็รักษาหลักการกฎเกณฑ์กติกาไว้ได้ เอากฎหมายเป็นบรรทัดฐาน

สังคมไทยเป็นสังคมที่เอียงดิ่งไปข้างความสัมพันธ์ระหว่างคน เพราะผู้คนมีข้อ ๑-๒ หรือ ๑-๒-๓ แต่โดยมากจะอยู่แค่ ๑ คือเมตตา และ ๒ คือกรุณา ส่วนข้อ ๓ มุทิตา มักจะอ่อนหรือหย่อนไป

ในสังคมไทยนี้ คนจะช่วยเหลือกันดี ช่วยเหลือกันจนกระทั่งว่า ไม่เอากฎเอาเกณฑ์ เสียหลักการหรือเสียความเป็นธรรมไปเลย นี่ก็เสียอีก

จึงเห็นได้ว่า โลกมนุษย์นี้ ที่จะให้เป็นพรหมซึ่งต้องครบ ๔ นั้น ยากจังเลย เราเป็นพรหมกันได้ยากนัก เป็นแค่ ๑-๒ บ้าง ๑-๒-๓ บ้าง มีแต่ ๔ บ้าง พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ดำรงรักษาโลกมนุษย์ไว้ด้วยธรรมทั้ง ๔ ข้อ ซึ่งต้องปฏิบัติให้ครบ จึงจะเป็นธรรมของพรหม คือผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอภิบาลโลก เพราะฉะนั้น จะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญว่า พรหมวิหาร ๔ จะต้องใช้ให้ครบ

ขอแถมหน่อยว่า ความหมายของอุเบกขาอีกแง่หนึ่งที่ควรทราบไว้ด้วยก็คือ ในกรณีที่ผู้อื่นทำการละเมิดเสียหาย หรือกระทบกระทั่งต่อตัวเราเอง อุเบกขา หมายถึงการรักษาจิตใจของตนเองไว้ได้ ด้วยการดำรงอยู่ในธรรม อยู่ในหลักการ อยู่ในความดีงาม ไม่หวั่นไหว ไม่โวยวาย ไม่เอนเอียง ไม่เสียดุล คือยังคงรักษาดุลยภาพในจิตใจของตนไว้ได้ ซึ่งก็คือรักษาธรรมนั่นเอง

ในสังคมไทยนี่ เป็นปัญหามากเหลือเกินที่เราไม่เข้าใจว่าอุเบกขาคืออะไร ไปถามที่ไหนๆ อธิบายกันไปคนละทิศสองทิศ จับหลักไม่ได้ ไม่รู้ว่าหลักการเป็นอย่างนี้ ถ้าจับหลักได้ ก็จะชัดไปเลยว่า มันเป็นการรักษาดุลยภาพในสังคมมนุษย์ ตลอดลงมาจนถึงดุลยภาพในใจของบุคคลทุกคน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สัมพันธ์กับคน ให้ได้ผลแก่งานจะประสานงาน ต้องประสานคน ให้อยู่ในเอกภาพ และสามัคคี >>

No Comments

Comments are closed.