- มติชนสัมภาษณ์ กรณี พระยันตระ อมโร
- คุณธรรมของชาวพุทธ ในยุคข่าวสารข้อมูล
- คำนำ
คุณธรรมของชาวพุทธในยุคข่าวสารข้อมูล
ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทุกท่าน วันนี้อาตมาภาพได้รับนิมนต์มาที่วัดสวนแก้วอีกครั้งหนึ่ง ที่ว่ารับนิมนต์มาอีกครั้งหนึ่งก็เพราะเคยรับนิมนต์มาแล้ว บางทีไม่ได้รับนิมนต์แต่มา พอมาแล้วได้พบ ท่านนิมนต์ให้พูดก็เคย
สำหรับวันนี้เป็นเรื่องนิมนต์จริงๆ ที่มานี้พอดีประจวบกับมีเหตุการณ์ที่ชาวไทยหรือพุทธศาสนิกชนกำลังสนใจมาก บางท่านก็อาจจะเข้าใจเป็นว่า อาตมามาเกี่ยวกับเรื่องนั้นหรือเปล่า ก็ไม่เกี่ยวกัน เพราะอาตมาได้รับนิมนต์ไว้ตั้งนานแล้ว ได้รับหนังสือนิมนต์ของพระอาจารย์พยอม ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ตอนนั้นก็ยังไม่มีเหตุการณ์เรื่องราวอะไร
ก็อย่างที่ทราบกันแล้ว งานนี้เป็นงานพิเศษประจำปีของวัดนี้ คือ งานเสริมธรรม-เสริมปัญญา
อาตมามาวันนี้ก็ไม่ได้คิดจะพูดเรื่องหลักอะไรสำคัญเป็นพิเศษ มาพูดกับโยมให้เรื่องที่สบายๆ แล้วก็แทนที่จะพูดคุยเป็นการบรรยายธรรม ก็อยากจะให้เป็นการตั้งคำถาม และแทนที่จะให้โยมถามอาตมา กลายเป็นอาตมาเป็นฝ่ายถามโยม เพราะฉะนั้นวันนี้จะตั้งคำถามให้โยมตอบ
ถ้าจะให้โยมตอบออกมาจริงๆ ก็จะใช้เวลามาก จะวุ่นวายสับสน อาตมาจึงจะขอใช้วิธีถามไป แล้วให้คิดดู และขอให้ลองตอบดูในใจว่าจะตรงกันหรือเปล่า
คำถามที่จะถามก็อย่างที่ว่าไว้ในตอนต้นแล้วว่า วันนี้จะพูดอย่างสบายๆ ก็ไม่ใช่เป็นการถามเรื่องหลักธรรมลึกซึ้งอะไร ถามเรื่องง่ายๆ ที่เราควรจะรู้ควรจะสนใจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน
อาตมามานึกว่า เราควรจะให้ความสนใจแก่หลักพระศาสนาให้มาก คือเกิดการสังเกตว่า ประชาชนหรือที่เรียกกันว่าชาวพุทธปัจจุบันเนี่ย มีความแกว่งไกวมาก แกว่งไกวไปตามเหตุการณ์ แกว่งไกวไปตามเรื่องราว แกว่งไกวไปตามบุคคล ไม่ได้หลัก
ถ้าหากเป็นคนที่ได้หลัก รู้หลักพระศาสนาแล้ว ก็ยืนอยู่กับหลัก เหตุการณ์เรื่องราวอะไรต่างๆ ผ่านมา ถ้าเรายืนอยู่กับหลักแล้ว เราก็ไม่หวั่นไหว เรามองเราอาจจะเห็นแล้ว สิ่งนั้นก็ผ่านไป ยิ่งกว่านั้น เรามีหลักแล้ว เราจะสามารถวินิจฉัยได้ด้วยซ้ำไปว่า สิ่งเกิดขึ้น การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้น ถูกต้องหรือไม่ แทนที่จะต้องฟังทางนู้นทีทางนี้ที ก็อาจทำให้หวั่นไหวไป
ถ้าหากดำรงตัวไม่ดี ดีไม่ดีหล่นไปจากพระพุทธศาสนาเลย ถ้าเป็นคนที่มีหลักแล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วง อยู่ได้ตลอดเวลา
เวลานี้จะต้องให้คนสนใจเรื่องหลักพระศาสนาให้มาก แล้วก็อยู่กับหลักให้ได้ อย่างที่พูดบ่อยๆ ว่า อย่าเอาพระศาสนาไปแขวนไปไว้กับบุคคล บุคคลมีอันเป็นอะไรไป พระศาสนาของเราก็ร่วงหล่นไปด้วย
ถ้าเรามีหลักแล้ว พระศาสนาก็อยู่ที่ตัวเรา เป็นของเรา ท่านที่มีความรู้ เป็นนักปราชญ์แสดงธรรมอะไรต่างๆ ก็มาช่วยให้เราเข้าใจ มั่นในหลักยิ่งขึ้น ไม่ใช่ออกจากหลัก ถ้าทำไม่ถูกต้อง ก็ออกจากหลัก วิ่งเตลิดไปเลย ตกลงว่าวันนี้ เน้นความสำคัญเรื่องหลัก
ทีนี้หลักที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่หลักธรรมสำคัญอะไรนักหรอก เป็นเรื่องง่ายๆ แต่บางทีก็ไม่ค่อยได้คิดกัน
อาตมาจะตั้งคำถามเล็กๆ น้อยๆ ตั้งไปสัก ๔-๕ ข้อก่อน ถ้าหากว่าตอบจบแล้ว มีเวลาค่อยถามต่อ คำถาม ๔-๕ ข้อนี้ จะถามไปเลยทีเดียวให้ช่วยกันคิด
คำถามข้อที่ ๑ บอกว่า ยุคนี้เขาเรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล ชาวพุทธมีคุณสมบัติอะไรที่สำคัญมากสำหรับปัจจุบันนี้ ที่เรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล
ขอให้นึกดู คนที่จะตอบได้ก็ต้องรู้ว่าชาวพุทธนี้มีคุณสมบัติอะไร หรือจะเรียกให้แคบเข้ามาก็คืออุบาสกอุบาสิกา ขอถามย้ำอีกทีว่า คุณสมบัติข้อไหนของชาวพุทธที่สำคัญสำหรับยุคปัจจุบันที่เรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล
ต่อไปข้อที่ ๒ ถามว่า การนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง คือนับถืออย่างไร อันนี้ถามเกี่ยวคติพระโพธิสัตว์ แล้วก็ถามเนื่องออกไปว่า ระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไรในการทำความดี
ต่อไปข้อ ๓ ถามว่า พระอริยะกับผู้วิเศษ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร แล้วก็อาจจะถามเนื่องกับข้อนี้ว่า
ใครจะรู้หรือตัดสินได้ว่า ผู้ใดเป็นอริยะ ตลอดจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
อีกข้อหนึ่ง (ข้อที่ ๔) ถามว่าปาฏิหาริย์มีกี่อย่าง ต่างกันอย่างไร ในพระพุทธศาสนาท่านให้นับถือปาฏิหาริย์หรือเปล่า
ถามติดกันอย่างนี้โยมอาจจะงงเลยนะ หลายข้อ แต่ถ้าเป็นผู้รู้หลักดีอยู่แล้ว ไม่ทันต้องคิดพิจารณาอะไรหรอก เอาละ เอาแค่นี้ก่อน เยอะแล้ว แต่ที่จริงเป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดาชาวพุทธควรจะรู้ตั้งแต่แรก คือถ้ารู้หลักเหล่านี้แล้วเราจะอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดี
อาตมาก็จะเริ่มตั้งแต่คำถามข้อที่ ๑ ที่ว่าคุณสมบัติของชาวพุทธข้อไหนมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับปัจจุบันที่เรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล โยมก็ต้องทราบว่า ชาวพุทธนั้นมีคุณสมบัติอะไรบ้าง อาตมาก็ขอทวนว่า องค์ธรรมของอุบาสกอุบาสิกานั้น ที่ถือกันเป็นหลักสำคัญทั่วไปมี ๕ ประการ คือ
มีศรัทธามั่นในพระรัตนตรัย เชื่อมีเหตุผล ไม่งมงาย นี่หนึ่งแล้ว
สอง มีศีล คือมีความประพฤติดีงามสุจริต ตั้งอยู่ในศีล ๕ อย่างน้อย
สาม ไม่ตื่นข่าวมงคล (ถือมงคลตื่นข่าว) หวังผลจากกรรม ไม่หวังผลจากมงคล
ข้อที่สี่ ไม่แสวงหาทักษิณาภายนอกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
ข้อที่ห้า เอาใจใส่สนับสนุนส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา
โยมฟังแล้วเห็นว่าข้อไหนสำคัญมากสำหรับยุคปัจจุบัน
ก็บอกแล้วว่ายุคข่าวสารข้อมูล คำว่าไม่ตื่นข่าวมันก็ตรงอยู่แล้ว ฉะนั้นข้อที่ ๓ ถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับยุคนี้ ขอแปลว่าไม่ตื่นข่าวมงคล ภาษาพระท่านเรียกว่า ไม่เป็นคนชนิด โปตุหะระมังคลิกะ ตื่นเต้นตื่นตูมไปตามข่าวมงคล คือได้ยินว่ามีขลังที่โน่น มีศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ มีฤทธิ์ที่นั่น พระดังที่โน่น ก็ตื่นกันไป ไปโน่นไปนี่จนไม่เป็นอันได้ทำกิจการงาน ไม่เป็นอันได้ฝึกฝนพัฒนาตน ไม่เป็นอันได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม เป็นอันว่าไม่มีหลัก ถ้าตื่นข่าวมงคลไม่มีหลัก
อันนี้โยมจะหาคำถามในข้อต่อไป
ชาวพุทธที่อยู่ในหลักที่ถูกต้อง ก็จะหวังผลในกรรม เชื่อกรรม เชื่อกรรมก็คือว่าหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตน โดยใช้สติปัญญาพิจารณาจัดทำตามเหตุตามผล อันนี้ก็จะเป็นทางให้เราพัฒนาตนเองได้ ถ้ามัวแต่ตื่นข่าวมงคลอยู่แล้วก็เสียเวล่ำเวลา แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่ควรจะทำก็ไม่ได้ทำ แล้วก็เลยไม่ได้พัฒนาตัวเองด้วย เพราะว่าไปมุ่งหวังพึ่งปัจจัยภายนอกเสีย
เราต้องมาหวังผลจากการกระทำ ชาวพุทธเชื่อกรรม หลักกรรมนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราจะเชื่ออะไรที่เป็นพิเศษออกไป สิ่งนั้นจะมาขัดขวางหลักกรรมไม่ได้ มีแต่ว่าจะต้องให้มาสนับสนุนหลักกรรม สนับสนุนอย่างไร ก็คือว่าจะต้องมาทำให้เรามีความมั่นคง มีกำลังใจเข้มแข็งในการกระทำสิ่งที่ควรจะทำ หรือหน้าที่ หรือทำความดีนั้น ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นคนที่นั่งนอนรอคอยโชค หวังผลจากการดลบันดาล
ถ้ามัวหวังผลจากการดลบันดาล นั่งรอคอยโชคก็เป็นอันว่า ผิดหลักกรรมไป อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องตรวจสอบตัวเอง และยึดหลักนี้ไว้ให้มั่น อันนี้อาตมาก็จะขอผ่านไป
ทีนี้ข้อที่ว่าด้วยปาฏิหาริย์ พุทธศาสนาท่านสอนให้เชื่อในปาฏิหาริย์หรือเปล่า ข้อนี้ถ้าตอบไม่ดีผิดนะโยม ให้เชื่อหรือเปล่า (หันไปถามญาติโยม) โยมบางท่านก็สั่นศีรษะ แสดงว่า บอกว่าไม่ให้เชื่อ เดี๋ยวต้องแยกแยะก่อน
ปาฏิหาริย์นั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้มี ๓ อย่าง ดังนั้นจึงยังตอบทันทีไม่ได้ว่าให้เชื่อหรือไม่เชื่อ ปาฏิหาริย์มี ๓ อย่างคืออะไรบ้าง
หนึ่ง อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์ คือการแสดงฤทธิ์ หรือความเป็นผู้วิเศษทำอะไรได้ เช่น การดลบันดาลอะไรต่างๆ เหาะเหินเดินอากาศ หูทิพย์ตาทิพย์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี้เรียกว่าพวกอิทธิปาฏิหาริย์ พวกฤทธิ์
สอง อาเทสนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการทายใจได้ ทายใจโยมได้ว่า อ้อโยมกำลังคิดเรื่องนี้ โยมกำลังคิด คิดว่า หลังจากฟังธรรมนี้แล้วจะไปโน่น หรือว่าฟังองค์แสดงธรรมแล้วคิดต่อ องค์แสดงธรรมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรทำนองนี้คือทายใจได้ อันนี้เรียกอาเทศนาปาฏิหาริย์
ต่อไป ๓ อนุศาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือคำสอนที่เป็นอัศจรรย์ คำสอนที่แสดงความจริงให้ผู้ที่ฟังนี้ รู้เข้าใจ มองเห็นความจริงเป็นอัศจรรย์ แล้วก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติตาม ได้ผลจริงเป็นอัศจรรย์ คือทำให้โยมเกิดปัญญา รู้ความจริง
ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ อย่างนี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญอย่างไหนบ้างหรือไม่ หรือว่ายกย่องทั้งหมดเลย
ไม่ทั้งหมด พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก คือ อิทธิปาฏิหาริย์ การแสดงฤทธิ์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ การทายใจได้
แต่สรรเสริญข้อที่ ๓ ได้แก่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ คือคำสอนที่ให้รู้ความจริง เกิดปัญญาได้เป็นอัศจรรย์ อันนี้สำคัญ
ชาวพุทธก็ต้องรู้จักปาฏิหาริย์ ๓ นี้ แล้วก็ต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างไร พระองค์สอนไว้ว่า พระองค์ไม่ได้ยกย่องสรรเสริญปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก ทรงสรรเสริญแต่ข้อที่ ๓ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ล่ะ อ้าวใครแสดงฤทธิ์ได้ก็เก่งมากนะซิ ทำไมพระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญล่ะ แล้วเราก็ได้ยินเรื่องราวนี่ว่า พระพุทธเจ้าก็มีฤทธิ์เหมือนกัน เอ! เป็นเพราะเหตุอะไร อ้าวทีนี้ก็ลองมาดูกัน
เอาง่ายๆ ๒ ข้อแรกนี้เอาเป็นเรื่องฤทธิ์เรื่องความสามารถทางจิตก็แล้วกัน ก็มาแยกระหว่างข้อ ๑-๒ เป็นพวกหนึ่ง ข้อ ๓ เป็นพวกหนึ่ง
เมื่อพระพุทธเจ้าสรรเสริญข้อที่ ๓ ก็เป็นอันว่าข้อ ๑-๒ นี่ เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ยกย่อง ทีนี้ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่ยกย่องปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก
เราจะมองเห็นความแตกต่างระหว่างปาฏิหาริย์ ๒ แบบนี้ ปาฏิหาริย์ประเภทฤทธิ์นี่ เวลาแสดงไปแล้ว คนที่ดูคนที่ฟังเป็นยังไง คนที่ดูที่ฟัง ฟังเสร็จแล้วก็งงไปเลย งงงันก็มองว่าท่านผู้แสดงนี้เก่งใช่ไหม แต่ตัวโยมเองน่ะได้อะไรบ้าง? มีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม? ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็อยู่เท่าเดิม แต่อาจจะแย่ลงเพราะว่างงใช่ไหม เดิมยังไม่งง พอดูท่านผู้แสดงฤทธิ์เสร็จงงไปเลย งงนี้ต้องระวัง ขออภัย เดี๋ยวจะกลายเป็นโง่ไป ก็คือเป็นโมหะ กลายเป็นว่า พอดูท่านแสดงฤทธิ์เสร็จ ตัวเองกลับโมหะมากขึ้น ไปดีที่ไหน? ไปดีที่คนแสดง คนแสดงก็เด่นยิ่งขึ้น ตกลงเราก็ต้องไปหวังพึ่งท่านผู้แสดงฤทธิ์อยู่เรื่อย ไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว คอยรอหวังผลว่าท่านจะทำอะไรให้
ทีนี้เรามาดูอนุศาสนีปาฏิหาริย์ข้อที่พระพุทธเจ้ายกย่อง
คนฟังแล้วเป็นไง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไหม? เปลี่ยนแปลงได้อะไร พอแสดงอนุศาสนีปาฏิหาริย์เสร็จ อะไรเกิดขึ้นในใจผู้ฟัง? ปัญญาเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นแล้วเป็นยังไง? เป็นของผู้นั้นเอง ผู้ที่ฟังเมื่อปัญญาเกิดแล้ว ปัญญาก็อยู่กับตัว ไปไหนก็พาปัญญาไปด้วย ใช่ไหม คราวนี้ไม่ต้องมามัวฟังผู้ที่แสดงปาฏิหาริย์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้คือผู้ฟัง ส่วนผู้ที่แสดงอยู่แล้ว ท่านก็แสดงของท่านไป ท่านไม่ได้เพิ่มอะไร ท่านรู้อยู่แล้ว ท่านก็มีความชำนาญมากขึ้นในสิ่งที่แสดง แต่ว่าผู้ฟังนะสิได้จริง แล้วก็เป็นอิสระ คือได้แล้วก็รู้ ก็เข้าใจ เป็นปัญญาของตัว ท่านผู้แสดงท่านแสดงให้เห็นความจริงอะไร ผู้ฟังก็ได้เห็นความจริงนั้นแล้ว ผู้ฟังก็เป็นอิสระแก่ตัวเอง เพราะผู้แสดงได้เห็นอะไร ผู้ฟังก็ได้เห็นความจริงอันนี้ แล้วก็จบ เพราะฉะนั้น ผู้ฟังเป็นอิสระ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในผู้ฟัง ผลได้เกิดขึ้นแก่ผู้ฟังคือปัญญาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญแต่อนุศาสนีปาฏิหาริย์
ในเมื่ออิทธิปาฏิหาริย์พวกฤทธิ์นี่โยมไม่รู้ด้วย ดูการแสดงแล้วตัวเองก็ได้แต่งง มันก็จะเป็นทางของความหลอกลวง เพราะตัวเองไม่รู้ว่าจริงไม่จริง ไม่มีทางวินิจฉัยได้ จึงมีผลเสียหลายประการ พระพุทธเจ้าก็ไม่สรรเสริญ ทั้งที่พระพุทธเจ้าก็มีฤทธิ์
พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์ก็เพื่อจะใช้ในการทำงานประกาศพระศาสนา ยุคพุทธกาลนั้น คนกำลังยกย่องสรรเสริญนับถือการมีฤทธิ์เป็นอย่างมาก ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มีฤทธิ์ การประกาศศาสนาก็มีอุปสรรค พระพุทธเจ้าต้องเจอกับพวกมีฤทธิ์ แล้วเขาก็จะต้องอวดเก่ง หรือว่าอย่างน้อยเขาก็ไม่ยอมฟังพระองค์จนกว่าจะเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีฤทธิ์อย่างเขาหรือเก่งกว่าเขา พระพุทธเจ้าจึงต้องมีฤทธิ์ในฐานะที่เป็นพระศาสดา จนตั้งพระศาสนาให้สำเร็จ เลยต้องเอาฤทธิ์ไปปราบฤทธิ์ก่อน เราจะเห็นได้ว่าเรื่องในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าใช้ฤทธิ์ไปปราบฤทธิ์ทั้งนั้น พอปราบฤทธิ์จบแล้วให้อนุศาสนีปาฏิหาริย์ สำหรับพระพุทธเจ้า พระองค์ต้องมีฤทธิ์ทั้ง ๓ อย่าง มีทั้งอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุศาสนีปาฏิหาริย์ แต่จบด้วยอนุศาสนีปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรกเพื่อใช้กำราบเขา เพราะว่าพวกนั้นจะถือตัวว่ามีฤทธิ์ ถ้าหากไม่มีฤทธิ์อย่างเขาแล้วเขาไม่ฟังเลย ยกตัวอย่างเช่นชฎิล ๓ พี่น้อง พระพุทธเจ้าจะเข้าไปประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ ในเมืองราชคฤห์ คนในเมืองราชคฤห์นี้เชื่อถือนับถือชฎิล ๓ พี่น้องมาก ถ้าพระพุทธเจ้าเข้าเมืองราชคฤห์โดยไม่ได้ไปสั่งสอนชฎิลให้ยอมเสียก่อน พวกชาวเมืองราชคฤห์ก็จะไม่ยอมฟังพระองค์ พระพุทธเจ้าก็เลยคิดว่าจะต้องไปสอนชฎิลซะก่อน แทนที่จะเข้าเมืองราชคฤห์ พระองค์จึงตรงไปยังสำนักของชฎิล ๓ พี่น้อง โดยเข้าไปสำนักชฎิลผู้เป็นพี่ก่อน คือ อุรุเวลากัสสปะ
พอเห็นพระพุทธเจ้าเข้าไป ชฎิลก็ทดสอบความสามารถด้านฤทธิ์เพราะเขาเน้นเรื่องฤทธิ์นี่ เขาถือฤทธิ์เป็นสำคัญ เขาก็มองว่าพระพุทธเจ้านั้นจะไม่มีฤทธิ์อย่างเขา แล้วก็ทดสอบว่าจะผ่านไหม พระพุทธเจ้าก็ผ่านหมด จนกระทั่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์นี่เก่งกว่าเขา พอเก่งกว่าเขา เขาก็ยอมรับ พระองค์จึงสอนธรรมะ ใช้อนุศาสนีปาฏิหาริย์ปิดท้าย พวกชฎิลก็ได้เห็นสัจธรรมความจริง เกิดปัญญากับตัวเอง ก็เลยเลิกเรื่องอิทธิฯ กันเลย เลิกกันก็จบ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเพียงแต่เอาฤทธิ์มาปราบฤทธิ์เท่านั้นเอง ปราบเสร็จพระองค์ก็หยุด ต่อจากนั้น พระองค์ก็ใช้แต่อนุศาสนีปาฏิหาริย์ให้เขาเกิดปัญญา ให้เขาได้เอง เพราะว่าถ้าขืนไปแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อยู่ ตัวผู้แสดงเท่านั้นได้ ตัวโยมก็คอยตามเรื่อยไป โยมก็จะไปหวังผลในเรื่องทางโลก บางทีก็เพื่อสนองความต้องการเรื่องลาภยศ เป็นเรื่องของโลภะ (ความโลภ) ไม่ใช่เป็นการก้าวในทางธรรมที่แท้จริง
ในการที่จะก้าวไปตามทางแห่งธรรมะที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องของอนุศาสนีปาฏิหาริย์ อันนี้ก็ตอบในเรื่องปาฏิหาริย์ ๓ ตกลงว่า พุทธศาสนานั้นยกย่องอนุศาสนีปาฏิหาริย์ ที่ทำให้ผู้ฟังได้สิ่งที่เป็นของตัวเองคือปัญญา รู้ความจริง แล้วก็เป็นอิสระไป
ต่อไปก็เลยตอบคำถามที่ต่อเนื่องกันกับเรื่องปาฏิหาริย์ ๓ คือ
พระอริยะกับผู้วิเศษต่างกันอย่างไร
ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ได้ เราก็จะอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีขึ้น เพราะว่าประชาชนในปัจจุบันนี้สับสนมาก มักจะเอาความเป็นผู้วิเศษกับความเป็นอริยะนี่เป็นอันเดียวกันเสีย ถ้าอย่างนี้แล้วหลักพระศาสนาก็จะสับสน แล้วก็เสื่อมไปด้วย ผู้วิเศษคืออะไร เรามักจะเรียกคนมีฤทธิ์นั่นเองว่าเป็นผู้วิเศษ อย่างโยคีฤาษีดาบสก่อนพุทธกาล ก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น ก็มีฤาษีดาบสเกิดขึ้นเยอะ อยู่ในป่า ได้ฌานสมาบัติ ได้โลกียอภิญญา มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ หูทิพย์ตาทิพย์อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราเรียกกันได้ว่าเป็นผู้วิเศษ ก็มีฤทธิ์นั่นเอง
ลองมาดูความหมายของพระอริยะว่าคืออะไร?
พระอริยะ คือท่านผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ประเสริฐเพราะไกลจากกิเลส ไกลจากกิเลสก็คือว่า กำจัดความโลภ โกรธ หลง ให้ลดน้อยเบาบางลง กิเลสน้อยลงไปๆ จนกระทั่งเป็นอริยสงฆ์คือเป็นพระอรหันต์ ก็หมดกิเลสทั้ง ๓ อย่างคือ โลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีเลย ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ ประเสริฐสูงสุด
อย่างนี้แยกได้หรือยัง?
ผู้วิเศษไม่จำเป็นต้องเป็นอริยะ อาจจะมีฤทธิ์ มีความสามารถ ก็อย่างโยคีก่อนพุทธกาล และก็ไม่ได้เป็นอริยะกันเลย พระพุทธเจ้าก็เข้าไปเรียนไปศึกษาในสำนักของพวกโยคี ไปสำนักของอาราฬดาบสก็ได้ฌานสมาบัติ ถึงขั้นอรูปฌานขั้นอากิญจัญญายตนสมาบัติ เห็นว่าน้อยไป ไม่จบ ก็เข้าสำนักอุทกดาบสรามบุตร ก็ได้สมาบัติขั้นสูงสุดเป็นอรูปฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนะ จบความรู้ที่มีของพวกนักพรตนักบวชสมัยนั้น พระองค์ก็เห็นว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง จึงได้ละออกไป แล้วก็ไปแสวงหาหนทางของพระองค์เอง ได้บำเพ็ญตามมัชฌิมาปฏิปทา จนกระทั่งได้ตรัสรู้ อันนี้พระองค์ก็ทรงชี้ให้เห็นว่า ทางที่มาสู่ความเป็นผู้วิเศษมีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คือมันไม่ช่วยให้หมดกิเลส
สิ่งที่สำคัญก็คือการมีปัญญารู้แจ้งสัจธรรม รู้สภาวะ รู้เท่าทันความจริงของสังขารโลกและชีวิต ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ หมดทุกข์ได้ หมดกิเลสได้ อันนี้จะเป็นวิถีทางของพระอริยะ แต่ก็มีพระอริยะบางองค์หรือหลายองค์ พระอรหันต์หลายองค์ ท่านได้ฤทธิ์ได้ฌานได้สมาบัติด้วย
ถ้าท่านได้ฤทธิ์ ได้ฌาน ได้สมาบัติ อภิญญาพวกโลกีย์ หูทิพย์ตาทิพย์ได้ด้วย ก็เป็นความรู้พิเศษ คุณสมบัติพิเศษของท่านเป็นความสามารถพิเศษที่นำมาใช้ประโยชน์ในการประกาศพระศาสนาด้วย อาตมาเทียบว่าเหมือนเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ถ้าใช้เป็น
ถ้าอยู่กับคนชั่วใช้ไม่ดีก็มีโทษ เอาไปฆ่า ไปฟันคน หรือเอาไปทำร้าย ก่อเหตุที่ทำให้เกิดความพินาศแก่สังคมมนุษย์ได้ เช่น อาจจะทำลูกระเบิดก็ได้ เทคโนโลยีถ้าคนชั่วใช้ก็เป็นโทษ ถ้าคนดีใช้ก็กลับเป็นประโยชน์ เช่น คอมพิวเตอร์ ถ้าใช้ในทางสร้างสรรค์ก็เป็นประโยชน์ได้เยอะ ก็เป็นความสามารถพิเศษ สำคัญที่ว่าใช้อย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว
พวกฤทธิ์พวกความวิเศษนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไปอยู่กับคนชั่ว ก็ใช้ในทางร้าย เอาไปหาลาภสักการะเพื่อตนเอง เอาไปทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น เอาไปหลอกลวงประชาชน
ถ้าเป็นคนดี ท่านก็เอามาใช้ในการทำงานพระศาสนา เรื่องนี้ดีชั่วจึงอยู่ที่ผู้ใช้และเจตนาที่ใช้
เรื่องความวิเศษหรือผู้วิเศษก็อย่างโยคี ฤาษีดาบส จนกระทั่งพระเทวทัต โยมก็คงรู้จักพระเทวทัต ชาวพุทธไม่มีใครไม่รู้จักพระเทวทัต พระเทวทัตก็เป็นผู้วิเศษ เพราะว่าท่านได้ฤทธิ์ ได้อภิญญา เก่งมาก มาแสดงฤทธิ์จนกระทั่งพระเจ้าอชาติศัตรูตอนเป็นพระราชกุมารเชื่อ หลงใหลในพระเทวทัตมากและเป็นลูกศิษย์ จนกระทั่งมาคบคิดกันในการจะชิงพระราชสมบัติแล้วก็จะครอบครองคณะสงฆ์
หรืออย่างในประวัติทางโลกก็อย่างรัสปูติน ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซียล่มไปเลย ก็เป็นผู้วิเศษมีพลังจิตสูง คือถ้าคนชั่วได้ฤทธิ์แล้ว ต้องใช้ในทางชั่ว อย่างน้อยก็หาลาภสักการะ หวังผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ถ้าเป็นพระอริยะแล้ว ถ้าเกิดมีความวิเศษด้วยอย่างพระโมคคัลลานะ ท่านก็เอามาใช้ในทางที่ดีเพื่อการพระศาสนา แต่ว่าท่านที่ใช้ในทางที่ถูกต้องท่านจะไม่ล่อให้ประชาชนหลงใหล เพราะอะไร? เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่าพระองค์สรรเสริญแต่อนุศาสนีปาฏิหาริย์
คนดีและพระอริยะทั้งหลายท่านจะใช้เฉพาะเป็นทางที่จะให้ญาติโยมเกิดปัญญา ได้ปัญญาที่เป็นของตัว ไม่ต้องมาพึ่งท่านผู้วิเศษต่อไป โยมจึงต้องแยกให้ถูกระหว่างผู้วิเศษกับพระอริยะ
ความวิเศษเช่นมีฤทธิ์เป็นต้น ไม่ใช่เครื่องตัดสินความเป็นพระอรหันต์หรือความเป็นพระอริยะ อย่างที่บอกแล้ว ผู้มีฤทธิ์มากมายก็เป็นมนุษย์ปุถุชนอย่างพระเทวทัตซึ่งมีกิเลสมากมาย
แล้วก็ถ้าหากว่าหลงใหลในความวิเศษในฤทธิ์เหล่านี้ ต่อไปก็จะเสื่อมจากฤทธิ์นี้ด้วย เพราะว่ากิเลสนั้นจะเป็นเครื่องบังปัญญา ทำให้เกิดความหลงมัวเมา ในทางตรงกันข้าม พระอริยะก็อาจจะไม่มีฤทธิ์อะไรเลย อยู่ที่ว่ากิเลสน้อยเบาบาง มีโลภะโมหะโทสะน้อย มีความบริสุทธิ์มีคุณธรรม เพราะฉะนั้นพระอริยะหรือแม้อรหันต์บางท่านหลายท่าน ท่านไม่มีหรอกความวิเศษที่จะให้โยมไปเห็นฤทธิ์ ท่านจะไปไหนท่านก็ไป โยมก็ไม่ตื่นเต้น อาจจะเห็นพระอริยะ พระอรหันต์ไม่ตื่นเต้นอะไรเลย ตรงกันข้ามกับเห็นผู้วิเศษ ดังนั้นจึงต้องแยกให้ถูกว่า ใครคือ ผู้วิเศษ ใครคือ พระอริยะ ถ้ารู้หลักพระศาสนาแล้วก็แยกได้ ก็จะหมดปัญหา
ทีนี้ตอบคำถามที่เนื่องกันไปนิดหน่อยว่า การจะรู้ว่าใครเป็นพระอริยะ ใครเป็นพระอรหันต์ ใครเป็นผู้ตัดสิน
ผู้ที่จะรู้ได้ว่าใครเป็นพระอริยะก็ต้องเป็นอริยะเองก่อน คือต้องเป็นระดับเดียวกันหรือสูงกว่า อันนี้เป็นหลักทั่วไป เอาแค่หลักทั่วไปก่อน ฉะนั้น ถ้าจะรู้ว่าท่านผู้ใดเป็นพระอรหันต์ ตนเองต้องเป็นพระอรหันต์
ข้อนี้ต้องระวัง ประชาชนปัจจุบันนี้มีความโน้มเอียงในทางที่จะไปตั้งพระ ตั้งพระองค์โน้นเป็นพระอรหันต์ ตั้งองค์นี้เป็นอริยะ
ระวังเถิดมันเป็นเรื่องที่จะทำให้เสียหลักพระศาสนา ต้องสำนึกไว้ในหลักการสำคัญว่า เราเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า ที่จะไปตัดสินว่าท่านผู้นั้นให้เป็นอรหันต์หรือท่านผู้นั้นเป็นพระอริยะ ประชาชนไม่ควรจะคิดไปตั้งท่านผู้นั้นท่านผู้นี้
แต่ว่าเรามีหลักที่จะพิจารณาด้วยปัญญา เรามีหลักเราก็ตรวจสอบได้ว่า พระองค์นี้มีความประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในหลักพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า น่าเลื่อมใสหรือไม่ เราอาจจะสันนิษฐานอะไรก็อยู่ในใจของเรา แต่จะไปตัดสินไม่ได้ เรามีสิทธิ์จะฟังธรรมของท่าน มีศรัทธาอะไรก็ทำไป อันนี้ก็จะอยู่กันได้โดยเราก็ได้พัฒนายิ่งขึ้น เราก็จะไม่เสียหายแก่พระศาสนาด้วย เรื่องพระอริยะกับผู้วิเศษก็ขอผ่านไป
ต่อไปก็มีอีกเรื่องซึ่งเกี่ยวกับความวิเศษด้วยเหมือนกัน บางทีก็สับสนกับความเป็นพระอริยะ-พระอรหันต์ คือเรื่องพระโพธิสัตว์
ในพระพุทธศาสนาก็มีเรื่องพระโพธิสัตว์ เราก็นับถือพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คือใคร ไม่ต้องตอบก็ได้ โยมก็รู้อยู่แล้ว พระโพธิสัตว์ก็คือ ท่านบำเพ็ญบารมีเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าของเรานี้ ก่อนจะตรัสรู้ก็เคยเป็นพระโพธิสัตว์ ตอนที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกมาบรรพชาแล้วเข้าไปแสวงหาธรรมอยู่ในป่า ก็เป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ จนกระทั่งตรัสรู้ในวันเพ็ญวิสาขบูชา คือวันเพ็ญเดือนหก เสร็จแล้วจึงเป็นพระพุทธเจ้า ก่อนเป็นพระพุทธเจ้าจึงเป็นพระโพธิสัตว์มาตลอด เราจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ในปัจจุบันชาติก็คือก่อนจะตรัสรู้ คือตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วเราก็มีเรื่องเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติก่อนชาตินี้อีกมากมายที่เราเรียกว่าชาดก ๕๔๗ เรื่อง แสดงถึงการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี่เอง เรียกว่า ๕๐๐ ถ้วนหรือ ๕๕๐ ชาติ แต่นับกันที่ได้มีตัวเลขจริง ๕๔๗ ชาติ
ทีนี้เรามีพระโพธิสัตว์ เรานับถือพระโพธิสัตว์ เรานับถืออย่างไรจึงจะถูกต้อง
เวลานี้ก็มีพระโพธิสัตว์เกิดขึ้น อย่างที่กำลังนิยมมากก็คือ เจ้าแม่กวนอิม แล้วโยมรู้ไหม พระโพธิสัตว์ที่เรียกว่ากวนอิมนี้คือใคร? มีความเป็นมาอย่างไร? บางทีก็เรียกตามๆ กันไปว่าพระโพธิสัตว์ แต่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าท่านมาจากไหน ไปยังไงมายังไง เป็นพระโพธิสัตว์อย่างไร
อย่างน้อยโยมต้องรู้หลักก่อนว่าความเป็นพระโพธิสัตว์นี่อยู่ที่ว่าต้องบำเพ็ญบารมี บำเพ็ญคุณธรรมอย่างยวดยิ่ง อย่างที่คนธรรมดาทั่วไปจะบำเพ็ญกันไม่ไหว ตั้งใจจะบำเพ็ญความดีข้อไหน เช่น บำเพ็ญทาน ก็บำเพ็ญได้อย่างสูงสุดจนกระทั่งสละชีวิตของตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เรียกว่าให้ชีวิต จะบำเพ็ญความเพียรพยายาม เพียรพยายามอย่างยวดยิ่ง ไม่มีระย่อท้อถอย แม้ต้องสิ้นชีวิตก็ยอม ก็คือการบำเพ็ญบารมีนั่นแหละ คือคุณธรรมที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่ง
พระโพธิสัตว์เมื่อบำเพ็ญบารมีครบแล้ว ก็ได้พัฒนาพระองค์อย่างเต็มที่ ก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วเรานับถือพระโพธิสัตว์นั้นนับถืออย่างไร? นับถือเพื่ออะไร?
ก็ขอตอบสั้นๆ คือนับถือเพื่อเอาเป็นแบบอย่าง เอาพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างอย่างไร?
พระโพธิสัตว์นี่กว่าจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทำความดีมากมาย เพียรพยายามทำมายาวนาน ยากลำบากมาก ประสบอุปสรรคมาก ทำมาไม่มีระย่อท้อถอยจนประสบความสำเร็จ ก็เป็นตัวอย่างในการทำความดีของเรา
พระโพธิสัตว์นั้นท่านมีปณิธานด้วย คือตั้งใจจะทำความดีอันไหนก็ทำจริงๆ ทำเต็มที่แล้วก็มั่นคงด้วย เราก็ต้องพยายามทำอย่างนั้น โดยมีพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่าง จนกระทั่งเราสามารถเสียสละตัวเองได้เพื่อทำความดีนั้น ตลอดจนกระทั่งว่า พระโพธิสัตว์นี่เสียสละตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เราก็ต้องสามารถเสียสละผลประโยชน์ของตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อช่วยเหลือสังคม นี่ก็คือคติพระโพธิสัตว์ อันนี้ก็โยงมาหาพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นหลัก พระพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ได้ เป็นมาด้วยความเพียรพยายามและทำความดีมามากมาย อันนี้ก็ทำให้เราเกิดความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้า นี่ประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็คือ การเตือนตัวเราให้สำนึกในหน้าที่ที่จะพัฒนาตัว ที่จะทำความดีเพื่อจะบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง
การที่จะบรรลุสิ่งที่ดีงามประเสริฐสูงสุดเป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาด้วยการหวังอ้อนวอนเฉยๆ จะต้องเพียรพยายามทำ ฉะนั้น คนเราทุกคนจะต้องพัฒนาตัวเอง ต้องตั้งใจทำความดี คติพระโพธิสัตว์ก็เตือนใจเราว่า เราจะตั้งใจทำความดี บำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ ก็เป็นกำลังใจแก่เรา ในเมื่อเราได้เห็นประวัติของพระโพธิสัตว์ว่า ท่านทำความดีมากมาย เราได้เห็นตัวอย่างแล้ว เราก็มีกำลังใจที่จะทำความดีนั้น บางทีเราทำความดีไป เราเป็นปุถุชน บางทีเรามีความอ่อนแอ ไปพบอุปสรรคบางอย่างหรือไม่ได้รับผลที่ปรารถนา เราก็เกิดความท้อแท้ เกิดความผิดหวัง คนจำนวนมากจะเป็นอย่างนี้ ทำความดีไประยะหนึ่งก็ไม่เข้มแข็งจริง ไม่มั่นคงจริง ไปประสบอุปสรรค หรือไม่ได้รับผลตอบแทนที่ต้องการ ก็เกิดความท้อถอยแล้วก็บ่นเพ้อ เอ้อเราอุตสาห์ทำดีมานักหนา ไม่เห็นได้ดีเลย แล้วก็มองไปในด้านตรงข้ามว่า อ้าวคนนั้นคนนี้เขาทำไม่ดี เขาทำชั่วด้วยซ้ำ ทำไมได้ดี อย่างที่พูดกันว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” อะไรต่างๆ ก็จะตัดพ้อร้องทุกข์ขึ้นมา ก็จะพาลพาโลพาเล เลยเลิกทำความดี อันนี้จะเป็นผลเสีย
เมื่อได้เห็นประวัติพระโพธิสัตว์ก็จะเกิดกำลังใจว่า พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ท่านทำความดี ท่านลำบากกว่าเราเยอะแยะอย่างที่ว่าเมื่อกี้ บางทีต้องเสียสละชีวิตก็มี บางทีพระองค์ทำความดีมากมายเขาไม่เห็นความดี เขาเอาพระองค์ไปฆ่า พระองค์ก็ไม่ท้อถอยทำความดีต่อไป เรามานึกดู ตัวเราทำความดีแค่นี้แล้วมาท้อถอยอะไร พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ลำบากกว่าเรา ทำมากกว่าเรา ประสบอุปสรรคมากกว่าเรามากมาย ไปท้อถอยทำไม พอเห็นคติพระโพธิสัตว์อย่างนี้ เราก็มั่นคงในความดี สู้ต่อไป นี่แหละเป็นแบบอย่าง นี่คือการนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง ท่านสอนมา ท่านเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์มา ก็เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เราในการทำความดี เตือนใจเราไว้ ทำให้เรามีกำลังใจไว้ เราก็เดินหน้าเรื่อยไปไม่มีท้อถอย
ตอนหลังมันมีอันหนึ่ง มันเกิดปัญหา คือพระพุทธศาสนาในอินเดียในระยะหลังแข่งกับศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์เดิมนั้น โยมก็รู้อยู่แล้ว เขานับถือเทพเจ้าต่างๆ มากมาย การนับถือเทพเจ้านั้นเพื่ออะไร? ก็เพื่อจะได้ไปอ้อนวอนขอผลนั่นเอง ไปอ้อนวอนเซ่นสรวงบวงสรวง ตลอดจนการบูชายัญ คิดหาทางเอาอกเอาใจเทพเจ้า จะให้ท่านบันดาลสิ่งที่ต้องการให้ คนอินเดียจึงติดเรื่องเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน ต้องอ้อนวอนเทพเจ้า เทพเจ้าก็มีฤทธิ์สามารถเก่งกาจเหลือเกิน
พระพุทธศาสนาอยู่ในอินเดียนานๆ มา บางทีก็ชักไม่มั่นคงในหลักเหมือนกัน ชักอยากจะสนองความต้องการของประชาชนที่อยากจะมีผู้มาช่วยดลบันดาลอะไรที่ต้องการให้
เมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเขามีเทพเจ้าไว้ให้อ้อนวอน เอ๊ะศาสนาพุทธเราไม่มีทำไงดี ก็มานึกว่าพระโพธิสัตว์ท่านเป็นผู้เสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เราจะต้องให้คนมานับถือพระโพธิสัตว์แล้วอ้อนวอนขอผลจากพระโพธิสัตว์ ให้พระโพธิสัตว์ท่านมาช่วย ก็จะมีคู่แข่งที่จะมาแทนเทพเจ้าของฮินดูได้ ตกลงพุทธศาสนายุคหลังก็มีพระโพธิสัตว์อีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่พระโพธิสัตว์แบบเดิม คงจะมาคิดว่า เอ๊ะพระโพธิสัตว์นี่ท่านมาช่วยมนุษย์ทั้งหลาย ท่านมีมหากรุณา แต่ทีนี้จะมาช่วยอย่างไร พระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าที่เล่ากันมาในชาดกท่านก็สิ้นชีวิตไปหมดก่อนแล้ว ก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าใช่ไหม ไม่งั้นพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าสิ้นไปหมดแล้ว พระพุทธเจ้าเองก็ปรินิพพานไปแล้ว ทำยังไงดี ก็มีหลักว่า พระพุทธเจ้าองค์ใดก็ตาม แม้จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ก็ต้องเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน เราทำยังไงจะให้พระโพธิสัตว์ยังอยู่แล้วก็มาช่วยคนได้ ก็ต้องเอาพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่หวังพึ่งพระโพธิสัตว์เก่าๆ ไม่ได้แล้ว ต้องเอาพระโพธิสัตว์ใหม่ๆ จึงได้เกิดมีพระโพธิสัตว์หลายองค์เลย ในอินเดียก็เกิดมีพระอวโลกิเตศวร พระมัญชุศรี พระอะไรต่างๆ หลายองค์ พระโพธิสัตว์เกิดในอินเดียยุคหลังนี้จึงมาก
ในสมัยพุทธกาลนี้ พระโพธิสัตว์ที่มีชื่อเหล่านี้ไม่มี มามีในสมัยยุคปลายในประเทศอินเดีย เมื่อมีพระโพธิสัตว์ท่านเหล่านี้ ท่านยังอยู่เพราะจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต จึงสามารถมาช่วยคนได้ ตกลงเราจึงหวังอ้อนวอนจากท่านเหล่านี้ได้ ใครมีความเดือดร้อนเป็นทุกข์ อยากพ้นทุกข์ อยากจะได้ผลประโยชน์อะไร ก็ไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์เหล่านี้เอา ใช่ไหม?
ตกลงว่ามีพระโพธิสัตว์มาคอยช่วย เทียบกันได้กับศาสนาฮินดูที่เขามีเทพเจ้ามาช่วย พอแข่งกันได้ ไปคิดแข่งในแง่นี้
มาตอนนี้คติพระโพธิสัตว์มันกลับกัน คือเดิมนั้นพระโพธิสัตว์ท่านเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ทำความดี เราก็ต้องเอาแบบอย่างพระองค์ เราก็ต้องเสียสละบำเพ็ญความดีช่วยเหลือผู้อื่นอย่างนั้น
ตอนนี้เราคิดว่า เรามีผู้ที่จะช่วยอยู่แล้ว จึงพากันไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากท่าน แทนที่จะคิดดีอย่างพระโพธิสัตว์ในอดีต
นี่คือคติพระโพธิสัตว์ที่เพี้ยนผิดไป
โยมจะต้องรู้ทัน ความหมายเดิมนั้น ท่านให้นับถือพระโพธิสัตว์ ให้เราทำดีอย่างท่าน เสียสละอย่างท่าน แต่มาปัจจุบัน กลายเป็นไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ไป
อันนี้จะผิดหรือจะถูกตัดสินได้เองเลยใช่ไหม พระโพธิสัตว์ตามในพุทธศาสนามหายานที่มีชื่อเสียงมากก็คือพระอวโลกิเตศวร เพราะเป็นผู้มีมหากรุณา ช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นี้ เมื่อพระพุทธศาสนามหายานเข้าสู่ประเทศจีน เป็นต้น พระอวโลกิเตศวรก็เข้าไปด้วย ต่อมาในประเทศจีน พระอวโลกิเตศวรได้เปลี่ยนนามเป็นพระกวนอิม ก็คือองค์เดียวกัน พระอวโลกิเตศวรนั้นเดิมเป็นผู้ชาย แต่พอไปเมืองจีนไม่ช้าก็เปลี่ยนเป็นผู้หญิง ทำไมเปลี่ยนเป็นผู้หญิง ก็เป็นเรื่องของตำนาน ก็มีตำนานหลายตำนาน ตำนานหนึ่งเล่าว่า พระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนประชวรเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แพทย์หลวงแพทย์ชาวบ้านอะไรก็ไม่มีใครรักษาหาย จึงร้อนถึงพระโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวรกวนอิม นี่ต้องมารักษา แต่จะเข้าไปรักษาได้อย่างไรเป็นผู้ชาย พระราชวังฝ่ายในเขามีกฎมณเฑียรบาลห้ามผู้ชายเข้าไป ก็ต้องแปลงร่างเป็นผู้หญิง แล้วเข้าไปรักษาพระราชธิดา จนกระทั่งหายจากโรคนั้น แต่ไม่ได้กลับร่างเป็นผู้ชาย จึงเป็นผู้หญิงมาจนบัดนี้ นี่คือเจ้าแม่กวนอิม ตอนนี้เจ้าแม่กวนอิมก็เข้ามาประเทศไทย เราก็นับถือเจ้าแม่กวนอิมให้ถูก ถ้าเรานับถือพระโพธิสัตว์อย่างถูกต้อง จะต้องนับถือในแง่ที่ท่านเป็นผู้มีคุณธรรมความดีสูงส่ง เป็นผู้มีมหากรุณา เสียสละบำเพ็ญคุณธรรม ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้อื่น ทำความดีไม่ย่อท้อ เราก็เช่นกัน เราก็จะต้องบำเพ็ญคุณธรรม ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่ไปหวังพึ่งอ้อนวอนขอผลประโยชน์จากท่าน เพราะอันนั้นจะทำให้ผิดหลักพระศาสนาคือผิดหลักกรรม คือไม่หวังผลจากการกระทำ กลายเป็นหวังผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป
อันนี้เป็นเรื่องตั้งเป็นข้อสังเกตให้โยมได้พิจารณาในสภาพปัจจุบัน เพราะเราจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้มาก ถ้าเราตั้งตัวไม่ถูก ไม่อยู่ในหลัก เราก็พลาดไปจากพระศาสนา
ดังนั้น ยังไงๆ ต้องยึดหลักกรรมไว้ให้ได้ คือหวังผลจากการกระทำ ไม่หวังผลจากความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ การดลบันดาลของผู้วิเศษ เอาละอันนี้ก็ขอผ่านไป
คำถามอีกข้อหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ เรารู้ว่าความหมายต่างกัน พระโพธิสัตว์นั้นยังบำเพ็ญบารมีอยู่ จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไป แต่ตอนนี้ยังไม่หมดกิเลส ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นผู้ที่หมดกิเลสแล้ว ละโลภะ โทสะ โมหะได้หมด
พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง คำว่าพระอรหันต์นี้กว้าง อย่าไปนึกว่าพระพุทธเจ้าต่างจากพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งเราเรียกว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเติมพระอรหันต์เข้าไปข้างหน้า หมายความว่า พระอรหันต์นั้นมีหลายประเภท
พระอรหันต์ที่ได้ตรัสรู้เอง ค้นพบสัจธรรมด้วยพระองค์เอง แล้วสามารถที่จะประกาศธรรมสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วยเรียกว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธ นี่เป็นอรหันต์ประเภทที่หนึ่ง
ประเภทที่สอง คือ ประเภทรู้สัจธรรมด้วยตนเอง แต่ไม่ถนัดในการที่จะไปสั่งสอนประกาศธรรมให้ผู้อื่นได้รู้ตาม คือ ขาดความสามารถในเชิงการสั่งสอน เรียกว่า ปัจเจกพุทธ แล้วก็พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วได้รู้ตาม ไม่ได้ค้นพบสัจธรรมเอง ต้องมาเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า นี่เป็นพระอรหันต์ประเภทที่ ๓ เรียกว่า อนุพุทธ พระสาวกทั้งหลายก็เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น คือเป็นพระอรหันตสาวก พระอนุพุทธ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัสชิ พระอุรุเวลกัสสปะ ที่เคยเป็นชฎิลมาก่อน พระมหากัสสปเถระ ที่เคยเป็นประธานในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ พระอัญญาโกณฑัญญะ ที่อยู่ในปัญจวัคคีย์และอีกมากมาย รวมแล้วล้วนเป็น พระอรหันต์
พระอรหันต์ เป็นผู้ที่หมดกิเลส จึงต่างกันกับพระโพธิสัตว์ แต่ทั้งพระโพธิสัตว์และพระอรหันต์ ท่านต่างทำความดีทั้งนั้น ไม่ทำความชั่ว
พระโพธิสัตว์ ก็ตั้งใจทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น พระพุทธเจ้า ก็ช่วยเหลือสัตว์มนุษย์ทั้งหลาย จาริกไปประกาศพระศาสนา สั่งสอนเพื่อจะให้สรรพสัตว์ได้พ้นจากความทุกข์ ประสบความสุขที่แท้จริง พระองค์ก็ทำงานไม่ได้หยุดได้หย่อน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อช่วยมนุษย์ทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน พอมีพระอรหันต์ไม่กี่องค์ พระพุทธเจ้าก็ส่งไปประกาศพระศาสนา บอกว่า จงจาริกไปประกาศธรรมะ แสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
นี่เรื่องของพระอรหันต์ ท่านก็ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษย์ เพราะฉะนั้นท่านก็ทำความดี พระโพธิสัตว์ก็ทำความดี ต่างก็ทำความดี ถามว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรระหว่างการทำความดีของพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ อันนี้เป็นอีกหลักหนึ่ง ถ้าโยมตอบได้ก็แสดงว่าเข้าใจหลักพระศาสนาลึกซึ้งยิ่งขึ้น คิดในใจดูก่อน แล้วอาตมาจะตอบให้ฟัง
ทีนี้จะตอบแล้ว มีความแตกต่างกันอยู่ที่เป็นสำคัญ ๒ ประการ
การทำความดีของพระโพธิสัตว์นั้นมีความไม่สมบูรณ์ หรือจะเรียกจุดอ่อนก็ได้ ๒ ประการ
ประการที่หนึ่ง พระโพธิสัตว์ที่ทำความดีนั้นทำด้วยปณิธาน หมายความว่า มีความตั้งใจไว้จะบำเพ็ญบารมี ก็เอาปณิธานหรือความตั้งมั่นนั้นมาเป็นเครื่องนำตัวเอง ทำให้เกิดพลังในการที่จะทำความดี ทำความดีแน่วแน่ ทำความดีไม่ท้อถอย แล้วท่านก็ทำความดีเต็มที่ เพราะฉะนั้น เราจะว่าทำความดีหย่อนก็ไม่เชิง เพราะท่านทำจริงๆ ไม่ย่อหย่อน แต่ว่าการที่ไม่ย่อหย่อนนั้นมีความไม่สมบูรณ์ในตัวคือ ท่านต้องอยู่ด้วยปณิธาน ที่ท่านทำไปนั้นทำไปด้วยปณิธาน ท่านตั้งปณิธานไว้ท่านจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านจะทำความดีอันนี้ ท่านก็ทำไปใหญ่เลย มีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในการกระทำนั้น แต่เรียกว่าทำด้วยปณิธาน
ตอนนี้มาดูพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทำความดีด้วยอะไร อะไรเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทำความดี โยมตอบได้ไหม? ไม่ใช่ด้วยปณิธาน ลักษณะที่สำคัญของพระอรหันต์ท่านเรียกว่าเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว หมายความว่า ตัวเองได้เข้าถึงจุดหมายแล้ว ประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาตนเข้าถึงแล้ว เข้าถึงนิพพานแล้ว
พระอรหันต์เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรจะทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป จึงเป็นชีวิตที่เป็นอยู่ ทำอะไร? ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว ที่ทำอย่างนั้นทำด้วยอะไร? เพราะเป็นธรรมชาติของท่านอย่างนั้น เป็นธรรมดาของท่าน เพราะท่านไม่มีอะไรทำเพื่อตัวเองแล้ว
พระโพธิสัตว์ยังต้องทำเพื่อตัวเองนะถ้าว่าให้ลึกซึ้งลงไป เพราะว่ายังต้องทำให้ตัวเองให้ตรัสรู้ จะต้องทำด้วยปณิธาน คือการตั้งความปรารถนาเพื่อตัวเองจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อตัวเองจะได้บรรลุพระนิพพาน แต่พระอรหันต์นั้นท่านบรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรจะทำเพื่อตัวเองอีก จึงเป็นธรรมดาของท่านที่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นตามเหตุตามผลไปโดยไม่ต้องอาศัยปณิธาน
อันนี้เป็นความแตกต่างระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระอรหันต์ในการทำความดีประการที่หนึ่ง
ต่อไปประการที่สอง ความไม่สมบูรณ์ในการทำความดีของพระโพธิสัตว์
เพราะเหตุที่พระโพธิสัตว์ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ยังไม่รู้แจ้งสัจธรรม การทำความดีของท่านนั้น ทำโดยยังไม่มีปัญญาสูงสุดที่รู้ธรรมะแจ่มแจ้ง ความดีนั้นเป็นเรื่องของธรรมะ แต่ผู้ที่จะประพฤติธรรมได้สมบูรณ์นั้นจะต้องรู้สัจธรรม รู้ความจริงของธรรมชาติทั้งหมด ทีนี้ความดีที่เรานำมาประพฤติปฏิบัติตั้งอยู่บนฐานของสัจธรรมคือตัวความจริงในธรรมชาติ ในกฎธรรมชาติ
พระโพธิสัตว์ยังไม่รู้ยังไม่เข้าถึงความจริงอันนั้น แล้วท่านทำความดีได้อย่างไร? ท่านก็ทำตามที่รู้ที่เข้าใจยึดถือกันอยู่ในโลก ในสังคมมนุษย์ในยุคนั้นๆ ที่ยึดถือว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี เป็นความดี ท่านทำเต็มที่ ท่านทำได้ถึงที่สุดอย่างที่ไม่มีคนอื่นทำได้ ในความหมายของความดีที่มนุษย์จะทำได้ทั่วไป พระโพธิสัตว์ต้องยอดเยี่ยมทำได้สูงสุด
แต่ว่าจุดที่ไม่สมบูรณ์อยู่ที่ว่า ท่านทำได้แค่นั้นแหละ แค่เท่าที่มนุษย์รู้ว่าอะไรคือความดี ท่านไม่ได้ทำด้วยปัญญาที่รู้แจ้งสัจธรรม ไม่เหมือนพระอรหันต์ที่ท่านทำด้วยรู้ มีปัญญาหยั่งถึงสัจธรรม ด้วยความจริงสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ ด้วยปัญญาถ่องแท้
อาตมาเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เราจะได้มีความรู้เข้าใจ ถ้าเรามีความรู้เข้าใจเป็นหลักอยู่อย่างนี้แล้ว เราจะไม่หวั่นไหว เราจะวางตัวได้ถูกต้อง และเราก็จะเดินในทางที่จะเดินไปสู่ความก้าวหน้าในหลักพระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป
มิฉะนั้นแล้ว เราจะถูกดึงเฉออกไปจากหลักพุทธศาสนา จากหลักการที่ถูกต้อง นอกจากหล่นจากพุทธศาสนาแล้ว ก็อาจจะแกว่งไกวไปสู่ความเสื่อมได้
ขอให้เรามีศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างน้อยให้มีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ซึ่งข้อ ๑ เริ่มต้นด้วยศรัทธาที่ศรัทธาได้ถูกหลักพระศาสนา เชื่ออย่างมีหลักการ มีเหตุผล ไม่งมงาย มั่นในคุณพระรัตนตรัย เป็นต้น ไปจนกระทั่งข้อที่ ๓ ที่ยกมาพูดเป็นพิเศษ ที่ว่าสัมพันธ์ในยุคนี้ก็คือว่า ไม่ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากกรรม ไม่หวังผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ขอให้โยมมีความเจริญงอกงามในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปโดยทั่วกันทุกท่าน…เทอญ.
No Comments
Comments are closed.