มติชนสัมภาษณ์ กรณี พระยันตระ อมโร

28 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 1 จาก 3 ตอนของ

มติชนสัมภาษณ์ กรณี พระยันตระ อมโร1

– มีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับข้อขัดแย้งกรณีพระยันตระ

อาตมาไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องขัดแย้งอะไร เป็นเรื่องที่ว่า ปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรมากกว่าจะไปมองเป็นข้อขัดแย้งเห็นจะไม่ถูกต้อง คือหลายท่านก็คงอยากจะให้ปัญหาหมดไป แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า โดยวิธีการอาจจะรู้สึกว่าขัดแย้งกัน ถ้าทุกคนตั้งใจว่าเราจะแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เรื่องเรียบร้อยไป และเกิดผลดีต่อพระศาสนาหรือสังคมส่วนรวม ถ้าทำใจอย่างนี้ก็ทำให้ทุกอย่างได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ถ้าไปตั้งใจในทางขัดแย้งกันก็จะเกิดยุ่งขึ้น เพราะว่าเอาแพ้เอาชนะกัน เราต้องคิดว่าจะเอาความจริงเอาประโยชน์แก่พระศาสนาและสังคมต้องมุ่งประโยชน์นี้

เฉพาะกรณีเดียวนี้ อาตมาไม่ค่อยเอาใจใส่ อยากให้มองเรื่องที่เป็นพื้นฐาน ให้ดูที่หลักการใหญ่และประโยชน์ความดีงามในระยะยาวมากกว่า ถ้าเรามองเฉพาะกรณีนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเท่าไร เรื่องนี้จะเป็นผลดีก็ต่อเมื่อเรามองให้ถึงเรื่องที่เป็นหลักของสังคมนี้และมองในระยะยาว

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องชั่วคราว แต่มันไปกระทบกับส่วนรวมเข้า จึงขอแยกเป็น ๒ ส่วนด้วยกัน สำหรับเรื่องเฉพาะกรณีขณะนี้ อาตมาอยู่ห่างไกลเรื่อง ไม่ได้รู้ข่าวสารข้อมูลโดยตรง ก็รู้จากหนังสือพิมพ์บ้าง มีท่านผู้อื่นเล่าให้ฟังบ้าง ก็ฟังไปๆ แต่จะแสดงความเห็นอะไรก็ต้องรอให้เกิดความชัดเจน แต่พูดได้เป็นหลักๆ ว่าในกรณีอย่างนี้ ถ้าวางวิธีปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาโดยไม่สมควร

ฉะนั้นถ้าจะให้เรื่องเป็นไปด้วยดีก็น่าจะให้มีบุคคลหรือคณะบุคคล เช่นกรรมการที่เป็นหลักขึ้นมา ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรณี เป็นผู้รวบรวมประมวลเรื่องรับข้อมูลและเป็นผู้ที่จะติดตามพิจารณาแก้ไขปัญหา ตัดสิน วินิจฉัย ในกรณีนี้ ถ้าได้หลักขึ้นมาแล้วก็จะเป็นศูนย์รวม ทั้งในแง่ที่ว่าคนทั้งหลายจะคอยฟัง คอยติดตามที่นี่ และในแง่ที่ว่าคนทั้งหลายมีข้อมูลอะไร ก็จะเอามาให้ที่นี่ ถ้าที่นี้เป็นศูนย์รวมเป็นหลักให้อย่างนี้แล้ว เรื่องต่างๆ ก็จะมีที่อ้างอิงและจะเบาลง

แต่ถ้าไม่ทำให้มีบุคคลหรือกรรมการหรือคณะที่เป็นหลัก ที่จะเป็นศูนย์รวมให้ประชาชนรับฟังและเป็นที่เก็บรวบรวมข่าวสารข้อมูล แต่ละท่านก็จะดิ้นรนหาความจริงด้วยตัวเอง ก็จะทำให้เรื่องบานปลายอื้อฉาวมาก

เพราะฉะนั้น จุดสำคัญจึงบอกว่า ถ้ามีหลักอย่างที่ว่านี้ขึ้นมาแล้วหลายท่านก็จะมองว่า อ้อ! มีแล้ว แหล่งที่จะหาข้อมูล เราอยากรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็รอฟังและไปถามจากที่นี่ ประชาชนจะได้คอยฟัง แต่ตอนนี้ประชาชนไม่รู้จะยึดอะไรเป็นหลัก ฟังท่านโน้นบ้างท่านนี้บ้างก็เกิดความแตกแยก สำหรับอาตมาเองจะพูดในเรื่องหลักการ แต่เฉพาะกรณีนี้ อาตมายังไม่เป็นผู้วินิจฉัยว่าใครถูกใครผิด

– คิดว่าการร้องเรียนของโยมผู้หญิงมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด

อาตมา ตอนนี้ไม่ให้ความเห็นแบบวินิจฉัย แต่ต้องการให้มีบุคคลหรือคณะที่เป็นหลักมาเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ ตอนนี้ทำอย่างไรเราจะได้หลักนี้ เพราะถ้าช้า ต่อไปใครๆ ก็จะถามกันอยู่อย่างนี้ และผู้ออกความเห็นก็จะมากขึ้น

– มีความเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการและองค์กรคณะสงฆ์เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้จริงจังมากน้อยเพียงใด

นี่แหละ ที่อาตมาตอบไปคลุมคำถามนี้หมดแล้ว ตอนนี้ปัญหาคือว่า เรายังไม่ได้หลักในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือคณะกรรมการหรือคณะบุคคลก็ตามที่เป็นหลัก

– เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศของพระยันตระนี่ไปแต่ละครั้งนาน ๖-๗ เดือน ท่านคิดว่ามากน้อยเพียงใด

อันนี้อยู่ที่ศาสนกิจที่ไปทำ สำคัญว่าไปทำอะไรมากกว่า พระที่ท่านไปทำงานอยู่นานๆ ก็มี อย่างพระธรรมทูต ไปปฏิบัติศาสนกิจต่างประเทศ บางทีก็มีช่วงเวลาปฏิบัติงาน ๒ ปี ๓ ปี ก็ไปได้ อยู่ที่ว่าไปทำงานอะไร เพราะฉะนั้น เรื่องกาลเวลานี่ มันไม่สำคัญเท่าตัวงานหรือกิจธุระหรืออะไรที่ไปทำ

– คิดว่ามหาเถรสมาคม จะออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างไร ?

ก็ได้ยินว่ากรรมการบางท่านก็ออกมาบ้างเหมือนกันในฐานะส่วนตัวของท่าน แต่ในส่วนรวมของตัวองค์กร คิดว่าประชาชนก็รอฟัง อาตมาก็รอฟังอยู่

– ที่ว่ามีความกระทบกระเทือนต่อพระศาสนา มีความคิดเห็นอย่างไร ?

เรื่องเฉพาะกรณีนี้ก็กระทบกระเทือนบ้าง แต่ถ้าจะกระทบกระเทือนมากก็อยู่ที่ตัวประชาชนเอง

องค์ประกอบที่จะทำให้กระทบกระเทือนมากหรือน้อย คือ

๑. ตัวกรณี

๒. ผู้ที่แก้ปัญหา และวิธีแก้ปัญหา

๓. ประชาชน

นี่เป็นผู้มีส่วนที่ทำจะให้เกิดผลกระทบต่อพระศาสนาและสังคม

ตัวกรณีเองที่ว่าเป็นเรื่องเสียหาย ถ้าเป็นจริงก็เกิดความเสียหาย เกิดผลกระทบ

สอง การแก้ปัญหา ถ้าแก้ไม่ถูกต้อง แก้ไม่ดีไม่ถูกทาง ก็ทำให้เกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น

สาม องค์ประกอบที่สำคัญคือประชาชน ประชาชนนี้ ถ้าเป็นผู้มีทัศนคติถูกต้อง เป็นผู้มีหลัก ก็จะไม่ค่อยเกิดผลเสียหายเท่าไร บางทีกลับจะได้ประโยชน์ด้วย คือได้บททดสอบหรือบทเรียน

แต่ถ้าประชาชนวางใจไม่ถูกและไม่มีหลักก็แน่นอน จะเกิดผลเสียหายมาก ฉะนั้นอาตมาจึงบอกว่า อาตมาสนใจเรื่องหลักการและปัญหาระยะยาวมากกว่า

กรณีอย่างนี้ถ้ามองในแง่หลักและเวลาระยะยาว ก็เป็นเครื่องฟ้องถึงสภาพของกิจการส่วนรวมของสังคม ทั้งพระศาสนา และประชาชน และไม่ใช่แค่ฟ้องเท่านั้น แต่เป็นเครื่องเตือนว่า ความบกพร่องย่อหย่อนในการประพฤติปฏิบัติ และการมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทางพระศาสนาในสังคมไทยนี้ ได้เป็นมานานแล้ว อันนี้เป็นทั้งเครื่องฟ้องและเป็นเครื่องเตือนว่า น่าจะได้ทบทวนกันเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว

แก้ปัญหาระยะยาวอย่างไร คือเรื่องนี้แสดงว่าประชาชนของเราไม่ค่อยมีหลัก และนับถือพระศาสนาไม่ค่อยถูกต้อง จึงหวั่นไหวแกว่งไกวไปตามเรื่องราวเฉพาะกรณี เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงควรจะรู้หลักพระพุทธศาสนา ว่าคืออะไร การรู้หลักพระศาสนาจะมีประโยชน์ คือ

๑. ถ้าประชาชนรู้หลักก็จะตัดหรือป้องกันปัญหาได้แต่ต้น พอมีบุคคลไม่ว่าพระหรือคฤหัสถ์ประพฤติปฏิบัติอะไร พูดอะไร สอนอะไร ประชาชนจะรู้แต่ต้นเลยว่า ท่านพูดผิด หรือพูดถูก สอนผิดหรือสอนถูก ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก ในเรื่องที่เป็นพื้นๆ หรือขั้นพื้นฐาน เมื่อท่านปฏิบัติไม่ถูก สอนไม่ถูก ประชาชนก็ไม่ตื่นไปตาม ไม่หลงไปตาม ไม่ว่าจะมีอะไรๆ ก็ตาม ถ้าประชาชนมีหลักมีปัญญาก็จะไม่ตื่นไปตามง่ายๆ จึงป้องกันปัญหาได้ตั้งแต่ต้น

๒. ถึงแม้ไม่ทันรู้ตัวมาแต่ต้น แต่เมื่อเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นแล้ว ถ้าประชาชนมีหลัก พระศาสนาก็อยู่ที่ตัวประชาชน คือ คนแต่ละคนเมื่อรู้หลักพระศาสนาๆ ก็อยู่ที่ตัวของเขา พระศาสนาก็เป็นของเขา คนอื่นใครจะเป็นอย่างไร พระศาสนาก็ไม่หล่นตามไปด้วย พระศาสนาก็คงอยู่ที่ตัวบุคคลนั้น แต่เพราะว่าประชาชนไม่รู้หลัก ไม่มีพระศาสนาอยู่ที่ตัวเอง เอาศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคลโน้นบุคคลนี้ พอบุคคลนั้นมีอันเป็นอะไรไป พระศาสนาก็หล่นไปด้วย จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญ

เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนรู้เข้าใจหลักพระศาสนาแล้ว ก็ไม่ค่อยเป็นปัญหา เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมาประเดี๋ยวหนึ่งก็ผ่านไป จะกระทบกระเทือนบ้างก็ชั่วเวลาหนึ่ง แต่พระศาสนาส่วนรวมยังอยู่ ประชาชนจะแยกได้ระหว่างพระศาสนากับตัวบุคคล และหลักพระศาสนาก็อยู่ที่ตัวประชาชนนั่นเอง

– แผนนารีพิฆาตเชื่อว่ามีจริงหรือไม่

อาตมาก็รับฟัง เมื่อเรายังไม่รู้เห็นชัดเจน มันก็อยู่ในขั้นของความเป็นไปได้ จะด่วนวินิจฉัยไม่ได้ เมื่อยังไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ค้นคว้าเรื่องนี้ให้เห็นจริง เราก็ต้องวางใจเป็นกลางไว้ก่อน ข้อมูลเข้ามาเราก็รับฟัง แต่จะเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นอีกตอนหนึ่ง ถ้ามีข้อน่าสังเกตและมีเหตุผลในการพูดของเขา ถ้าเราต้องการความจริงและถ้าเรามีเวลา และเรามีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบ เราก็สืบสาวหาความจริง ก็ต้องทำเป็นขั้นตอน อย่าไปตัดสินแค่ได้ยินได้ฟัง ไม่พอ

จึงอยู่ที่ว่า ทำอะไรก็ทำให้มันถูกขั้นตอน ตรงไปตรงมาในขั้นนั้นๆ ตอนนี้มีข้อมูลเข้ามาเราก็รับฟัง ถ้าพูดมีเหตุผลน่าฟัง ก็อาจจะเชื่อบ้าง แต่จะตัดสิน ต้องสืบสาวหาความจริงให้เห็นชัดก่อน

– กรณี ดร.ระวี ภาวิไล ว่าพระยันตระขโมยกลอนไป คิดว่าเป็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ อย่างไร ?

อันนั้นไม่ต้องให้อาตมาตอบหรอก คนอ่านดูหลักฐานก็วินิจฉัยเอาเองได้ ไม่เห็นว่าอาตมาจะต้องไปวินิจฉัยอะไรเลย ก็วินิจฉัยเอาเองสิ แต่ละคนเมื่อเห็นความจริงก็วินิจฉัยเอาเอง ไม่ต้องไปถามให้คนนั้นคนนี้วินิจฉัยว่าเป็นไหมๆ

ทางด้านอาจารย์ระวี ถ้าท่านต้องการให้คนรู้ ก็แสดงหลักฐานของท่าน หลักฐานนั้นประชาชนก็ดูเอาเอง เมื่อเห็นแล้วก็วินิจฉัยเอาเอง หลักมีว่าอย่างไร วินัยมีว่าอย่างไร ก็เอาบัญญัติในวินัยนั้นมาแสดง เมื่อเอาบัญญัติวินัยนั้นมาแสดงแล้ว แต่ละคนก็สามารถวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นอาตมาว่า ไม่ต้องมาถามอาตมา นี่แหละที่บอกว่าให้ประชาชนมีหลัก

หนังสือพิมพ์ก็ช่วยได้ ไม่จำเป็นต้องไปเที่ยวถามคนนั้นคนนี้ หนังสือพิมพ์ช่วยคือช่วยเอาหลักมาแสดง บอกว่าวินัยข้อนี้มีว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว ประชาชนเขาจะวินิจฉัยได้เอง ยุคนี้เป็นยุคที่เราจะพัฒนาคนให้มีปัญญา เพราะฉะนั้น เราต้องช่วยพัฒนาปัญญาให้ประชาชนรู้จักคิด หน้าที่ของเราก็คือ นำข้อมูลมาให้และนำหลักมาให้ว่าหลักพระศาสนาหรือวินัยข้อนี้ว่าอย่างนี้ ถ้าคุณถามว่าวินัยข้อนี้ว่าอย่างไร อาตมาตอบได้ แต่จะให้อาตมาวินิจฉัยกรณีนี้ อาตมาไม่มีหน้าที่วินิจฉัย

– โดยส่วนตัวเชื่อหรือไม่ว่าพระยันตระมีความสัมพันธ์กับสีกา เทปลับจะผูกมัดได้มากน้อยแค่ไหน

เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ต้องสอบหลักฐานกัน อาตมาไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องนี้ อาตมาสนใจว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีหลัก อาตมาสนใจในการแก้ปัญหาระยะยาวมากกว่า หนังสือพิมพ์ก็ต้องช่วยในการที่จะพัฒนาสังคมพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล เป็นยุคที่ว่าข่าวสารข้อมูลเข้ามามาก ถ้าคนปฏิบัติไม่ถูกก็เป็นโทษ แต่ถ้าปฏิบัติถูกก็จะเป็นเครื่องพัฒนามนุษย์ซึ่งจะทำให้มีปัญญา

ยุคข่าวสารข้อมูลนี้ มองกันผิวเผินก็ถือว่าเป็นยุคที่ประชาชนจะมีปัญญามาก เพราะมีความรู้กันมาก แต่เอาเข้าจริง อาจจะไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าคนพัฒนาไม่ทัน ถึงแม้โลกเจริญด้วยข่าวสารข้อมูล แต่คนก็ไม่เท่าทันข้อมูล ปัจจุบันนี้กลายเป็นว่า แทนที่ข่าวสารข้อมูลจะช่วยให้คนพัฒนามีปัญญาดี กลับทำให้คนมีโมหะมากขึ้น ประชาชนเป็นเหยื่อของการหลอกลวงมากขึ้น ใช้ข่าวสารข้อมูลเป็นเครื่องหลอกล่อกันและกัน

ชาวพุทธเองในฐานะเป็นมนุษย์ที่อยู่ในยุคนี้ด้วย เท่าที่เราเห็นสภาพในปัจจุบันนี้ก็คือ ชาวพุทธมักไม่เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี มันจึงเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น ถ้าชาวพุทธรู้หลัก แล้วประพฤติตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน เช่นในเรื่องคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาซึ่งมีหลายข้อ ในหลายข้อนั้นมีอยู่ข้อหนึ่งว่า ไม่ตื่นข่าวมงคล การที่เกิดข่าวร้ายเสียหายในปัจจุบันเพราะอะไร มันเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยหรือเปล่า คือชาวพุทธไม่เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี เพราะตื่นข่าวมงคลจึงหวั่นไหวไปตามเสียงลือ เสียงดังที่โน้น ข่าวดังที่นี่ องค์โน้นเป็นอย่างนั้น องค์นี้ขลังอย่างนี้ ไปกันใหญ่ ไม่มีหลักของตัวเอง ถ้ามีหลักของตัวเองก็สามารถมองว่า สิ่งที่เป็นข่าวขึ้นมานี่ถูกต้องหรือผิด อย่างที่พูดมาแต่ต้น แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ชาวพุทธที่ดีจะรู้มาตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า พระองค์นี้ท่านสอนผิดหรือสอนถูก ท่านปฏิบัติผิดหรือถูก เมื่อเห็นมาแต่ต้นแล้ว ก็ไม่ตื่นตามไปตั้งแต่ต้นแล้ว เรื่องก็จะไม่บานปลายมาจนเกิดปัญหาในปัจจุบัน

ฉะนั้นอาตมาจึงสนใจปัญหากว้างๆ ที่เป็นหลักการในระยะยาว ในแง่พระศาสนา ก็ให้ประชาชนหรือชาวพุทธเป็นผู้มีหลัก รู้หลักพระศาสนา ให้พระศาสนาอยู่ที่ตัวเอง ไม่ต้องเอาพระศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคลไหนๆ ถ้าอย่างนี้ บุคคลมีอันเป็นไปก็ไม่พาพระศาสนาหล่นไปด้วย เพราะพระศาสนาอยู่ที่ตัวของแต่ละบุคคลแล้ว นี้พูดในแง่ของพระศาสนา

ทีนี้พูดในแง่ของสังคมส่วนรวม อย่างที่เน้นอยู่เสมอว่า เป็นปัญหาในเรื่องการศึกษาด้วย อันนี้เท่ากับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ฟ้องและเตือนให้ผู้รับผิดชอบการศึกษาได้หันมาพิจารณาการศึกษาของเราว่า น่าจะยังไม่ค่อยได้ผลดี ไม่ทำให้ประชาชนรู้เท่าทันยุคสมัย ประชาชนไม่เท่าทันข่าวสารข้อมูล หลายคนตามทันข่าวสาร แต่ไม่รู้เท่าทันข่าวสารนั้น โลกพัฒนามาสู่ยุคข่าวสารข้อมูลแล้ว เราถือว่าเราจะพัฒนาปัญญากันใหญ่ แต่ปรากฏว่า ประชาชนไม่ได้พัฒนาตัวเองให้เป็นผู้มีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการที่จะอยู่ด้วยดีในยุคข่าวสารข้อมูล แทนที่จะรู้เท่าทันข้อมูลแล้วนำข้อมูลข่าวสารมาใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับกลายเป็นเกิดผลเสีย กลายเป็นเหยื่อข่าวสาร

หนึ่ง ก็กลายเป็นคนผิวเผิน รับฟังข้อมูลข่าวสารอย่างผิวเผิน แล้วก็ไม่รู้เท่าทัน จึงถูกหลอกล่อง่าย จึงมีคนเอาข้อมูลข่าวสารไปใช้เป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องหลอกประชาชนให้ตื่นไปตามเรื่องต่างๆ แล้วก็ได้ผลประโยชน์มากๆ นี่คือปัญหาของสังคม

ถ้ามองในแง่นี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าทางพระศาสนาหรือทางสังคม ก็แบบเดียวกัน มันไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะเรื่องที่กำลังพิจารณากันหรอก มันเป็นปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด มันโยงกันหมด โยงปัญหานี้ไปหาปัญหาอื่นๆ เกิดจากสภาพปัญหาอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผู้รับผิดชอบการศึกษาของรัฐจะต้องคิดทบทวน และพิจารณาปรับปรุงการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการน่าจะทำหน้าที่ด้านนี้ให้ดีขึ้น

– การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน คิดว่ามีความเป็นกลางมากน้อยเพียงใด

ก็นั่นสิ ตอนนี้อาตมาจึงบอกว่าต้องได้คณะบุคคลที่เป็นหลัก คำว่าเป็นหลักก็หมายความว่า ทำให้คนทั้งหลายเขายอมรับ ที่เขาแยกกันเป็นฝ่ายๆ นี่ ก็หาหลักมาให้เขายอมรับเสีย พอเขายอมรับแต่ต้นแล้ว ตอนนี้ก็เท่ากับเป็นสัญญาประชาคมว่า เอาละนะ ต่อไปนี้คุณต้องฟังนะ คุณจะไปเที่ยววุ่นวายอะไรไม่ได้ ตอนนี้เราไม่มีหลักอันนี้ แต่ละท่านก็เลยต้องเที่ยวพูดเที่ยวจากันไป เรื่องราวมันก็กระจาย มันพร่า มันบานปลายออกไป

– การที่มีรัฐมนตรีออกมาปกป้องท่านเห็นเป็นอย่างไร?

นี่อาตมาพูดไปหมดแล้ว ก็ให้ไปเอาหลักแล้วก็เอาหลักนั้นไปใช้ แล้วคนนั้นก็ตอบได้เอง ไม่ต้องไปวิจารณ์รัฐมนตรี ไม่ต้องไปวิจารณ์คนไหน เอาหลักไปใช้ก็รู้ว่าใครทำถูกหรือไม่ นี่แหละ อาตมาจึงว่าไม่ต้องไปพูดมาก เที่ยวไปถามว่ารัฐมนตรีคนนี้เป็นอย่างไร อะไรนี่ มันทำให้ทะเลาะกัน เอาหลักมาบอก แล้วประชาชนดูได้เองว่า รัฐมนตรีทำถูกหลักไหม เราเอาหลักมาให้ดีกว่า เรามุ่งประโยชน์แก่สังคม ว่าทำอย่างไรจะทำให้สังคมนี้มันดี ช่วยพระศาสนาแก้ไขสถานการณ์

รวมความว่า หนึ่ง ขอให้ได้หลัก สอง ขอให้ได้ประโยชน์ระยะยาวแก่พระศาสนาและสังคม ขอให้เรื่องอย่างนี้เป็นบททดสอบความเป็นชาวพุทธว่าสอบตกไหม ตอนนี้เราจะเห็นว่า ชาวพุทธส่วนมากหรือจำนวนมากสอบตกแล้ว ทีนี้ถ้าสอบตกแล้ว ก็เอาเป็นบทเรียนต่อไป จะได้สอบใหม่ ถ้าสอบตกแล้วยังไม่ได้บทเรียนด้วยก็แย่เลย ต่อไปก็ไม่เจริญไม่พัฒนา

– การที่พระพยอมออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ มีความคิดเห็นอย่างไร ?

ถ้าไม่มีหลักให้เป็นที่รับฟัง แต่ละท่านก็ต้องดิ้นรน พยายามหาความจริง ก็คงจะไม่ใช่เฉพาะท่านพระพยอม คนอื่นก็ต้องดิ้นแบบนี้ ในเมื่อไม่มีหลักให้ยึดถือ ถ้ามีหลักให้ยึดถือแล้ว อาตมาว่าพระพยอมก็ต้องรอฟังว่า ท่านผู้นี้จะว่าอย่างไร หรือคณะกรรมการนี้จะว่าอย่างไร พระพยอมท่านมีหลักฐานอะไรก็ต้องเอาไปให้คณะกรรมการนี้ ไม่ต้องมาพูดกับประชาชนอย่างนี้ อาตมาว่าอยู่ที่วิธีการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง ถ้าใช้วิธีแก้ปัญหาดีก็ไม่ค่อยเกิดผลเสีย

ตกลงว่าองค์ประกอบที่จะทำให้กระทบกระเทือนต่อพระศาสนาและสังคมมี หนึ่ง ตัวกรณีเอง สอง การแก้ปัญหา ทั้งวิธีการและบุคคลที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ซึ่งจะรับผิดชอบเรื่องนี้ และ สาม ประชาชน

เฉพาะตัวกรณี เมื่อข่าวเกิดขึ้น แล้วเป็นเรื่องเสียหาย ก็ต้องกระทบกระเทือนบ้าง แต่ถ้าข้อสอง และข้อสามดี ก็เกิดความกระทบกระเทือนนิดเดียว คือในการแก้ปัญหาก็แก้ถูกจุดถูกเรื่องถูกทางถูกวิธี ส่วนประชาชนก็มีสติดี ปฏิบัติตามหลักพระศาสนา เป็นคนมีหลักแล้ว เรื่องนี้ก็มีผลเสียนิดเดียว เป็นเรื่องชั่วคราว ผ่านแวบไป แต่ถ้าแก้ปัญหากันไม่ถูกทาง โดยเฉพาะถ้าประชาชนไม่มีหลัก ต่อไปกรณีอย่างนี้ก็จะเกิดขึ้นเรื่อย และผลเสียก็จะมากขึ้นด้วย เพราะไม่รู้จักบทเรียนให้เป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น หนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนก็ช่วยได้ในแง่นี้ คือช่วยให้ประชาชนเข้าสู่หลักนี้ เมื่อเรื่องร้ายเกิดขึ้นแล้ว เราก็ถือโอกาสใช้มันให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อาตมาถือว่าเหตุการณ์ร้ายนี้ มองอีกแง่หนึ่งมันเป็นประโยชน์ บางทีเป็นการดีด้วยซ้ำที่เกิดเหตุการณ์เสียตอนนี้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะต้องเอาสถานการณ์มาใช้ และใช้สถานการณ์ให้เป็น โดยทำให้ประชาชนหนักแน่นขึ้น และเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง ถ้าเรื่องร้ายไม่เกิดขึ้น ก็หลงทางกันอยู่นี่แหละ ไม่รู้จักเข้าสู่ทางเสียที คราวนี้ได้โอกาสแล้วทำไมไม่ใช้ ถ้าดึงประชาชนเข้าสู่ทางที่ถูกต้องได้ก็กลับเป็นประโยชน์ แต่ถ้าไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ก็น่าเสียดาย ก็แย่ต่อไปและยิ่งหนักเข้าไปอีก

– มีบางคนให้แก้ปัญหาโดยการตรวจเลือดเด็กหญิงคนหนึ่ง มีความเห็นอย่างไร ?

อันนั้นเป็นเรื่องของข้อปลีกย่อย ในการพิสูจน์หาความจริง ถ้ามันช่วยในการแก้ปัญหา ก็ต้องเอามาพิจารณา หลักการคืออะไร ก็คือเราต้องการความจริงใช่ไหม วิธีการในการหาความจริงก็ทำกันไปสิ อันนั้นเป็นรายละเอียด ไม่ต้องมาถามอาตมา ถ้ามีกรรมการที่ถูกต้องขึ้นมา ก็นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาด้วย อยู่ที่ว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้เรารู้ความจริงที่จะแก้ปัญหาได้ มันก็เป็นประโยชน์

– คิดว่าความขัดแย้งเรื่องนี้จะบานปลายแค่ไหน

ก็จะไปบานปลายอะไร ถ้าปฏิบัติตามที่อาตมาพูดไม่มีบานปลาย ได้ประโยชน์ด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปห่วง ขอให้ปฏิบัติ

– การที่พระยันตระแต่งตัวเหมือนกับเจงกีสข่านและใส่รองเท้า(บู๊ต) มีความเห็นอย่างไร ?

ก็นี่แหละ ถ้าประชาชนรู้หลักพระวินัย ประชาชนก็วินิจฉัยได้ตั้งแต่ต้น นี่ก็ชอบถามเรื่องปลีกๆ ย่อยๆ ถามเรื่องเหล่านี้มันไม่มีประโยชน์ มันไม่รู้จักจบ อาตมาบอกแล้วไงว่า หลักการสำคัญมาก ให้ประชาชนรู้หลักพระศาสนา อย่าไปแขวนพระศาสนาไว้กับบุคคล พอเรารู้หลักแล้ว ประชาชนจะวินิจฉัยได้แม้ตั้งแต่ต้นว่า ท่านผู้นี้พูดอย่างนี้ สอนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ถูกไหม

ในสมัยโบราณอาจจะมีข้อดีกว่าสมัยนี้ตรงนี้หน่อย คือ ชาวบ้านใกล้ชิดกับวัด และชาวบ้านรู้หลักพระศาสนา โดยเฉพาะผู้ชายก็บวชเรียนกันมาแทบทุกคน เพราะฉะนั้นรู้วินัยพระดี พระองค์ไหนมาประพฤติปฏิบัติถูกผิดก็รู้แต่ต้น และตรวจสอบได้ตลอด มันก็ไม่เกิดปัญหาบานปลาย

– ในกรณีมีพระภิกษุบางรูปออกมาท้าพระพยอมชกต่อย มีความเห็นอย่างไร ?

ประชาชนก็วินิจฉัยกันได้อยู่แล้วว่า ถูกหรือผิด ต้องมาถามอาตมาให้วินิจฉัยอะไรอีก ประชาชนเห็นอยู่แล้วว่ามันถูกหรือมันผิด อาตมาว่าเรื่องอย่างนี้ไม่ต้องถามหรอก คนที่ดู คนที่อ่านเขารู้เอง บอกแล้วว่าอาตมาสนใจแต่เรื่องที่เป็นหลักๆ ที่เป็นประโยชน์ระยะยาว

– มองบทบาทสื่อมวลชนขณะนี้อย่างไรในการเสนอข่าวพระยันตระ ?

สื่อมวลชนต้องมีเป้าหมายที่มุ่งทำเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนาและสังคม คือมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้น เราต้องการความแจ่มกระจ่างและต้องการแก้ปัญหาเพราะอะไร ก็เพราะต้องการที่จะช่วยเหลือสังคมและพระศาสนาในระยะยาว เมื่อตั้งใจดีอย่างนี้ก็ช่วยกันในการแก้ปัญหา แล้วก็จะไม่ทำให้บานปลาย

อยากจะให้ลงเรื่องหลักๆ บ้าง การไปลงในแง่ว่า คนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ มันก็น่าสนใจหรอก แต่ประชาชนจะไม่พัฒนา จะไปสนองความต้องการของประชาชนที่อยากจะตื่นเต้นอะไรต่ออะไร แล้วก็เต็มไปด้วยโมหะ กลายเป็นไปกระตุ้นเร้าประชาชนให้วุ่นวนไปด้วย โทสะ โมหะ โลภะ ไม่ได้เกิดปัญญา ทำอย่างไรเราจะช่วยให้เขาเกิดปัญญา จะได้พัฒนากันเสียที หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนทั้งหลายควรให้ข้อมูลที่เป็นหลัก ให้ข้อคิดที่เป็นหลัก ให้หลักการของพระพุทธศาสนา และให้เขาคิด

อาตมาว่าตามปกติประชาชนในเมืองเราตอนนี้ ก็ไม่ค่อยสนใจในเรื่องที่เป็นหลักการอยู่แล้ว และการที่จะให้เขาสนใจขึ้นมาก็ยาก เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นอย่างนี้ เราก็ถือเป็นโอกาสที่จะจับเอาหลักเหล่านี้มาพูดให้เขาสนใจได้บ้าง ซึ่งบางทีมันก็ช่วย เพราะเขาตื่นเต้นอยากรู้อยู่แล้ว ถ้าทำให้เขามาสนใจหลักได้ ก็เท่ากับช่วยพระศาสนาและสังคม นี่จะเป็นบทบาทที่น่าภูมิใจของสื่อมวลชน

– มองการที่มีผู้ศรัทธาพระยันตระจำนวนมาก คิดว่าเป็นการยึดตัวบุคคลหรือศาสนา

อาตมาพูดไปแล้วครอบคลุมหมดเลย ประชาชนฟังที่อาตมาพูดก็ใช้ปัญญาพิจารณาตอบเอาสิ วินิจฉัยได้เองว่าที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร จะถามอีกกี่ข้อ พอรู้หลักและฝึกฝนปัญญาแล้วตอบได้หมด ฉะนั้น อาตมาไม่ต้องไปวินิจฉัยอีก นี่คือการให้หลักเพื่อให้คนได้พัฒนาปัญญา เราจะเข้าสู่รายละเอียดไปตอบแทนเขาทำไม ไม่รู้จักคิดบ้างหรือ เราบอกข้อมูลและหลักให้ประชาชนแล้ว ก็ให้ประชาชนรู้จักคิดเองบ้าง ไม่ต้องให้คนอื่นมาช่วยจี้ นี่แหละเป็นการพัฒนาปัญญา ใช้ข่าวสารข้อมูลให้เป็นประโยชน์

ข่าวสารที่เป็นเรื่องตื่นเต้น เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้เขารู้ว่าเป็นเรื่องประกอบ พร้อมกันนั้นส่วนที่เป็นหลักก็ให้เขาบ้าง แล้วเขาจะมีหลักที่จะพิจารณาวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรที่จะช่วยให้ประชาชนมาสนใจในเรื่องที่เป็นหลักพระศาสนา หากทำได้จะเป็นความสำเร็จของสื่อมวลชน

สิ่งที่สื่อมวลชนยุคนี้น่าจะช่วยก็คือ พัฒนาสังคม พัฒนาประชาชน เพราะว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการให้การศึกษา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ บางทีเด็กเชื่อสื่อมวลชนมากกว่าครู ครูมีอิทธิพลน้อยกว่าสื่อมวลชน เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนก็จะต้องทำหน้าที่ในการให้การศึกษาอย่างดีที่สุด และใช้โอกาสต่างๆ อย่างนี้ให้เป็นประโยชน์ในการให้การศึกษาแก่ประชาชน ให้เขาพัฒนาปัญญา

อาตมาว่าอย่าไปสนใจเรื่องปลีกย่อยนักเลย เอาเรื่องหลักดีกว่า ว่าทำอย่างไรเราจะช่วยสังคม ให้ประชาชนสนใจหลักเหล่านี้ขึ้นมา และรู้จักคิดพิจารณาด้วยตัวเอง แล้วเราจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้สังคมของเราพัฒนา ประชาชนมีสติปัญญามากขึ้น มีวิจารณญาณมากขึ้น

ในสังคมประชาธิปไตย เราต้องการให้ประชาชนมีปัญญาที่จะตัดสินวินิจฉัยเลือกเองได้ นี่เราไม่ได้พัฒนาปัญญาให้ประชาชนรู้จักวินิจฉัยตัดสินเรื่องราวต่างๆ เองได้ ถ้าเราจะต้องไปคอยจี้ว่าต้องเชื่ออย่างนี้ๆ ก็ไม่ไหว ประชาชนอย่างนี้สร้างสังคมประชาธิปไตยไม่สำเร็จ ตอนนี้สื่อมวลชนมีหน้าที่พัฒนาประชาชน พัฒนาสังคมในด้านสติปัญญาอย่างนี้ ซึ่งเป็นการทำประโยชน์แก่ส่วนรวมทั้งหมด

– คิดว่าคณะสงฆ์ควรจะออกมาอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อาตมาบอกแล้วว่า ให้มีบุคคลที่เป็นหลัก มีคณะบุคคลหรือกรรมการที่เป็นหลักขึ้นมา ก็ได้ข่าวว่า รมต.ศึกษาธิการพูดว่าจะขอหรือได้ขอให้มหาเถรสมาคมตั้งกรรมการขึ้น คิดว่าประชาชนคงจะรอ อาตมาไม่ได้ไปถามท่านเอง จะตอบได้อย่างไรว่าทำไมท่านจึงช้าอยู่ แต่อาตมาพูดได้ว่า อาตมาได้ยินข่าว มีหนังสือพิมพ์ลง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ท่านให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้จะขอให้ตั้งคณะกรรมการ อาตมาคิดว่าประชาชนคงรออยู่

– แล้วเกี่ยวกับการหาทางออกต่อเหตุการณ์นี้ พอจะพูดได้ไหม?

การหาทางออกก็พูดไปหมดแล้ว คือ หนึ่ง เฉพาะตัวกรณี สอง การแก้ปัญหา สาม เรื่องระยะยาว ระยะยาวนี่สำคัญที่สุด ให้ประชาชนได้ประโยชน์จากบทเรียนหรือบททดสอบ อันนี้เป็นประโยชน์ที่สำคัญที่สุด เป็นประโยชน์ที่แท้จริง

ตกลงอย่าเอาศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคล ให้ประชาชนรู้หลักพระศาสนา มีศาสนาอยู่ที่ตัวเอง แล้วศาสนาก็เป็นของแต่ละคน ใครจะไปจะมา ศาสนาก็อยู่ ไม่หล่นไม่หายไปด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หลักความจริงก็มีอยู่อย่างนี้ๆ ตถาคตคือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ค้นพบความจริงแล้วก็นำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง อธิบาย ทำให้เข้าใจง่าย เสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ พระองค์ชี้แจง นำเราเข้าสู่หลักความจริงแล้ว เราก็อยู่กับความจริง พระองค์ก็เสด็จไป ถ้าเราวางใจอย่างนี้ เราก็อยู่กับหลัก

หลักความจริงมันมีอยู่เป็นธรรมดาแล้ว แต่เราไม่รู้ ท่านมาชี้แจงให้เรารู้ เมื่อเรารู้แล้ว เราก็อยู่กับหลักความจริงนั้น ถึงแม้บุคคลจะเปลี่ยนแปลงไป หลักมันก็อยู่อย่างนั้น ท่านก็บอกไว้แล้ว พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด ความจริงมันก็มีอยู่อย่างนั้น แล้วจะไปคำนึงถึงบุคคลเล็กน้อยอะไร ขนาดพระพุทธเจ้ายังบอกอย่างนี้ พระองค์เสด็จมาแล้ว พระองค์ก็เสด็จไป พระองค์อุบัติขึ้น ประสูติแล้วก็ปรินิพพาน ใครมาคนรุ่นหลังๆ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ยิ่งทำหน้าที่เพียงแต่นำคนเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แค่นั้นก็จบ คนนั้นก็อยู่กับหลักความจริงนั้น อยู่กับธรรมะ อยู่กับตัวหลักแล้วไม่มีปัญหา

ขอย้ำซ้ำๆ ว่า เมื่อเราเข้าสู่ทางที่ถูกแล้ว ศาสนาอยู่กับตัวเรา เป็นของเรา ไม่มีใครจะทำให้หลุดหายไปไหนได้ ขอฝากไว้แค่นี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปคุณธรรมของชาวพุทธ ในยุคข่าวสารข้อมูล >>

เชิงอรรถ

  1. ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้ไปสัมภาษณ์ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ณ สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม เขาดงยาง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๓๗ และได้ลงพิมพ์ใน มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๓๐ มกราคม และวันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๗ ในที่นี้ได้ตรวจแก้ข้อความและถ้อยคำให้ถูกต้องเรียบร้อยและปรับปรุงให้เต็มความ

No Comments

Comments are closed.