ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 9 จาก 24 ตอนของ

ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล
มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน

เพราะฉะนั้น การที่พระอวดอุตริมนุสธรรม คือบอกว่าตนบรรลุคุณพิเศษ ได้มรรคผลนิพพาน เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยะนี่ แม้จะเป็นจริง ถ้าเอามาอวดบอกญาติโยม ก็มีความผิด พระพุทธเจ้าปรับอาบัติไว้1 เพราะอะไร เพราะท่านไม่ต้องการให้เอาความเด่นไปไว้ที่บุคคลเดียว แล้วทำให้สงฆ์เลือนลับหาย แต่ท่านต้องการให้สงฆ์อยู่

เมื่อสงฆ์อยู่ พระศาสนาก็อยู่ แล้วประชาชนก็ต้องมาเอาใจใส่ช่วยกันขวนขวายว่าจะทำอย่างไรให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติดี และมีความพร้อมต่างๆ ที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้

การที่พระรูปใดมีคุณสมบัติดีเด่นขึ้นมา ก็ให้เป็นประโยชน์แก่สงฆ์ เพื่อจะได้มาช่วยกันปรับปรุงสงฆ์ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปเอาเด่นเอาดีให้มหาชนมายึดติดเป็นเครื่องเชิดชูตัว เมื่อเรามีความสามารถขึ้นมา เราต้องเอาความสามารถนั้นไปช่วยสงฆ์ ว่าทำอย่างไรจะให้คุณสมบัติส่วนรวมดีขึ้นมาได้ และให้พระศาสนาอยู่ ให้บุคคลดี โดยเอื้อประโยชน์แก่สงฆ์ ให้สงฆ์ดี เพื่อเกื้อกูลแก่การพัฒนาบุคคล

นี่คือ ไม่ใช่ให้บุคคลดี เพื่อดูดเอาประโยชน์ไปจากสงฆ์ และไม่ใช่ให้สงฆ์ดี เพื่อผลประโยชน์ของบุคคล ตลอดจนอย่าให้พระศาสนาล่มหายไปกับบุคคล พระพุทธเจ้าเองทรงเป็นตัวอย่างมาแล้ว พระองค์ตั้งพระศาสนาเสร็จ พอสงฆ์พร้อม พระองค์ก็มอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ เป็นหลักของพระศาสนาสืบมา

เหตุผลอื่นยังมีอีก อย่างที่ได้พูดมาแล้วว่า การบรรลุธรรมเช่นความเป็นพระอริยะนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นภายในเฉพาะตัว คนอื่นรู้ไม่ได้ นอกจากผู้ที่บรรลุธรรมระดับเดียวกันหรือสูงกว่า

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวทรงเป็นผู้รับรองว่าใครได้บรรลุแล้ว สำหรับชาวบ้านหรือมหาชนผู้ไม่มีความรู้เพียงพอ บางทีก็มองการบรรลุธรรม ความเป็นพระอรหันต์ ความเป็นพระอริยะ เหมือนอย่างความเป็นผู้วิเศษหรือความศักดิ์สิทธิ์ พอได้ยินว่าท่านผู้ใดเป็นอริยะ หรือเป็นพระอรหันต์ ก็พากันตื่นเต้นมาหลงตอมติดตาม หวังผลบุญจากการระดมอุปัฏฐากบำรุง ซึ่งนอกจากทำให้มองข้ามสงฆ์ส่วนรวมแล้ว ตัวชาวบ้านเหล่านั้นเองก็ละเลยกิจในการฝึกฝนพัฒนาตนยิ่งๆ ขึ้นไป

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ เพราะเหตุที่ชาวบ้านและหมู่มหาชนนั้นไม่อาจรู้ความเป็นพระอริยะหรือความเป็นพระอรหันต์เป็นต้น ในตัวบุคคลที่อวดอ้างนั้นได้ ว่าเป็นจริงหรือไม่ การอวดอ้าง จึงเป็นช่องทางของการหลอกลวง

หลายคนที่หลอกลวงจะเป็นคนที่ฉลาด และเพราะเหตุที่ตั้งใจจะหลอกลวง คนเหล่านี้ ก็จะจัดแต่งเตรียมการปั้นแต่งท่าทีให้ดูน่าทึ่งน่าเชื่อ จูงความเลื่อมใสสนใจของมหาชนผู้ไม่รู้ให้ได้ผลที่สุด เช่น แสดงให้เห็นว่าเคร่งครัดขัดเกลาหรือเข้มงวดในการปฏิบัติต่างๆ จนเกินไปกว่าที่เป็นคุณสมบัติแท้จริงของพระอริยะหรือพระอรหันต์เป็นต้นนั้น ทำเกินพอดีสำหรับผู้รู้เท่าทัน แต่กลายเป็นน่าทึ่งน่าอัศจรรย์สำหรับมหาชนที่ไม่รู้เท่าทัน พากันหลงเลื่อมใสตายใจเชื่อเหลือเกิน จนพระอริยะหรือพระอรหันต์จริงๆ ที่ปฏิบัติไปตามธรรมดาสภาวะของท่าน ก็ถูกมหาชนมองข้าม ไม่สนใจ หรือถึงกับดูแคลนเอา สภาพอย่างนี้มีแต่จะนำความเสื่อมมาให้ทั้งแก่หมู่ชนนั้นเอง แก่สังคม แก่สงฆ์ และแก่พระศาสนาส่วนรวมทั้งหมด

ในเมื่อไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่อวดจะเป็นจริงหรือไม่ และคนส่วนมากก็ไม่ค่อยรู้เข้าใจหลักพระศาสนาที่จะเอามาวัดหรือตรวจสอบ จึงมีการเอาอิทธิฤทธิ์ความขลังหรือความเคร่งครัดเข้มงวดมาหลอกกันได้ ท่านจึงไม่ให้อวดอ้างคุณพิเศษ

แต่ท่านเปิดปล่อยไว้ให้ประชาชนใช้สติปัญญาเท่าที่ตนมีอยู่ พิจารณาด้วยวิจารณญาณ ตรวจดูตามเหตุผล อันเป็นไปตามหลักการในวิสัยของตนเองว่า ท่านผู้ใดมีพฤติกรรมอาการที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งโลภะ ไม่เป็นที่ตั้งแต่โทสะ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งโมหะ แล้วเลื่อมใสศรัทธาฟังธรรม ตลอดจนอุปถัมภ์บำรุงภายในขอบเขตที่จะไม่กลายเป็นการเอาพระศาสนามาตันอยู่ที่ตัวบุคคล แต่ให้บุคคลเป็นเครื่องนำเข้าสู่พระศาสนา และเป็นจุดเริ่มกระจายสู่สงฆ์

ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ กิจการเพื่อความดำรงอยู่ของพระศาสนาก็จะดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ก็จะไม่ฮวบฮาบฮือฮาอยู่ชั่วคราว และตัวประชาชนนั้นเองก็จะพัฒนาไปด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคมแยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ >>

เชิงอรรถ

  1. ดู พุทธบัญญัติ ใน ภาคผนวก

No Comments

Comments are closed.