เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 4 จาก 24 ตอนของ

เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม

ศรัทธาเป็นคุณสมบัติของพวกเรา ที่เป็นพุทธศาสนิกชนในเบื้องต้น แต่พระอรหันต์เป็นบุคคลที่ไม่ต้องมีศรัทธา ศรัทธาไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ ท่านเรียกพระอรหันต์ว่าเป็น อสฺสทฺโธ ด้วยซ้ำ ถ้าแปลตรงตามศัพท์ ก็ว่า “ไม่มีศรัทธา” แต่ประเดี๋ยวจะแปลความหมายผิด

ที่ว่าไม่มีศรัทธานั้นอย่างไร อย่าเข้าใจเป็นเรื่องเสียหาย ในกรณีนี้คือ พระอรหันต์นั้นท่านขึ้นถึงระดับปัญญา รู้แจ้ง ซึ่งเลยขั้นศรัทธาไปแล้ว ท่านมองเห็นสิ่งที่เราศรัทธานั้นด้วยตัวท่านเองแล้ว ท่านจึงไม่ต้องอยู่ด้วยศรัทธา ไม่ต้องอาศัยความเชื่อ เป็นผู้พ้นหรืออยู่เหนือศรัทธา เพราะฉะนั้น ที่ว่าพระอรหันต์ไม่มีศรัทธา ก็คือ ไม่ต้องมีศรัทธา

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสารีบุตรเกี่ยวกับหลักธรรม พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวก สามารถแสดงธรรมได้เทียบเทียมพระพุทธเจ้าทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านมาก พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า สารีบุตร เธอเชื่อไหมว่าอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น พระสารีบุตรทูลตอบว่า ข้าพระองค์เห็นว่าเป็นอย่างนั้น อย่างที่พระองค์ตรัส

พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ที่เธอกล่าวว่าดังนี้ กล่าวเพราะเชื่อต่อเราหรืออย่างไร พระสารีบุตรกราบทูลว่า ที่ข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ มิใช่เพราะเชื่อต่อพระองค์ แต่เพราะได้เห็นความจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่คือลักษณะของพระอรหันต์ที่ไม่ต้องขึ้นต่อศรัทธา

แต่มิใช่ว่าพระอรหันต์ไม่เคารพพระพุทธเจ้า ท่านเคารพมาก เคารพอย่างยิ่งเลย แต่อันนี้เป็นเรื่องของสัจธรรม พระอรหันต์เป็นผู้เห็นความจริง พระพุทธเจ้าได้เห็นความจริงอะไร ท่านก็เข้าถึงความจริงนั้น เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่ต้องพูดไปตามความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่ว่าท่านไม่เชื่อพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าต้องการให้เราเข้าถึงความจริงอย่างเดียวกับที่พระองค์เห็น แล้วเราก็จะเป็นอิสระของเราเอง ไม่ต้องขึ้นต่อพระองค์ นี่เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือไม่ต้องการให้สาวกขึ้นต่อพระองค์ และให้ทุกคนเป็นไทแก่ตัวเอง เป็นอิสระแก่ตนเอง เพราะจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ วิมุตติ อิสรภาพ ความหลุดพ้น ความเป็นไท ความที่ไม่ต้องอยู่ด้วยศรัทธา แต่เป็นการเข้าถึงด้วยปัญญา รู้ความจริงแจ้งประจักษ์

อย่างไรก็ตาม ควรจะเตือนใจกันไว้เล็กน้อยว่า สำหรับพวกเราที่ยังไม่รู้แจ้งสัจธรรมถึงที่สุดนี้ ยังจะต้องมีทั้งศรัทธาและปัญญาคู่กันไป ให้ทั้งสองอย่างดุลกันไว้

สำหรับคนเริ่มแรก ศรัทธาที่ถูกต้องจะช่วยได้ดีที่สุด ศรัทธาที่ถูกต้อง ก็คือต้องมีปัญญาช่วยตรวจตรา ถ้าปฏิบัติได้ดี ศรัทธาจะช่วยให้มีทิศทาง มีจุดเน้น และมีเรี่ยวแรงในการแสวงปัญญา และสำหรับผู้แสวงปัญญานั้น บางคนมีความโน้มเอียงที่จะเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นผู้รู้ ผู้มีเหตุผล แล้วมีท่าทีอาการแบบภูมิลำพอง ท่านจึงให้มีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนประกบตัวไว้ เพราะในการแสวงปัญญาอยู่เสมอนั้น เราไม่ควรมุ่งมองในแง่ที่ว่าตนรู้แล้ว แต่ควรมองหนักไปในด้านที่ตนยังไม่รู้ ซึ่งควรจะรู้ต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใครพึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ >>

No Comments

Comments are closed.